“จบแล้วไปไหน ?”
ประโยคเดียวที่ไม่ว่าผ่านมากี่ปี ก็ยังกลายเป็นคำถามให้กับบัณฑิตจบใหม่ทุกรุ่น เพราะชีวิตหลังสิ้นสุดชีวิตในรั้วอุดมศึกษา นั่นคือชีวิตการทำงานจริง ที่ยิ่งกว่าในนิยาย…
ในฐานะที่ผู้เขียน ผ่านช่วงชีวิต เด็กจบใหม่ มาครบหนึ่งปีเศษ ๆ จึงขอใช้โอกาสนี้หันกลับมามองสภาวะแวดล้อม ความเป็นอยู่ และทำความเข้าใจกับมนุษย์เพื่อนกลุ่ม Gen Z จบใหม่ สักหน่อย
ชีวิตของหลาย ๆ คน ที่ค่อย ๆ เคลื่อนไปอย่างช้า ๆ หลังเรียนจบ แต่เราก็ได้เห็นชีวิตของเด็กจบใหม่จำนวนไม่น้อยเลย ที่พุ่งเร็วไปสู่เงินเก็บก้อนแรก ก่อนเข้าสู่วัยทำงาน ผ่านโครงการอย่าง Work and Travel
บางคนไม่รอช้า ตัดสินใจเรียนต่อทันที หรือโชคดีหน่อยได้งานสมใจอย่างที่หวังอย่างรวดเร็ว ส่วนตัวเราเองกลับเลือกใช้ชีวิตในโลกที่ไม่มีคำว่าเปิดเทอม ปิดเทอม ไปกับอิสรภาพที่เนปาลอยู่ร่วมเดือน ก่อนจะกลับมาพักผ่อน แล้วจึงค่อย ๆ หางานที่ตรงกับความฝัน
เรื่องราวชีวิตอันสวยงามเหล่านี้ เราพบเห็นได้จากสตอรี่ อินสตาแกรม หรือแอปพลิเคชันหางานอย่าง LinkedIn ได้ไม่ยาก หรือไม่ก็ใช้วิธีการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบระหว่างกลุ่มเพื่อน ซึ่งก็ได้คำตอบเป็นภาพวิวทะเล วิวจากเครื่องบิน รอยยิ้มบนโต๊ะอาหารหรู ๆ หรือการได้ทำงานบางงานที่สร้างผลลัพธ์ดี ๆ ให้กับตัวเอง
ตรงกันข้ามคนรอบตัวที่ใกล้ชิดเราจำนวนไม่น้อยอีกเช่นกัน ที่ต้องอยู่ในภาวะ ไม่มีงานทำ หรือต้องทน ทำงานที่ไม่ชอบ จากหลายเหตุผล ทั้ง ตำแหน่งในฝันไม่เปิดรับสักที, ยอมทำงานที่ไม่ชอบแต่ได้เงินเดือนเยอะกว่า, โดนใช้งานอย่างหนัก บางคนยอมทำงานในตำแหน่งเล็ก ๆ ไม่ต่างจาก เด็กฝึกงาน ได้เงินบ้าง ไม่ได้เงินบ้าง แม้เรียนจบมาแล้ว
หรือผิดที่วัย 13 ถึงวัย 28
ช่วงอายุ 13 – 28 ปี คือวัยของ Generation Z ในปี 2025 ซึ่งนับตั้งแต่วัยมัธยม ไปจนถึงคนทำงานมาแล้วหลายปี ตัวเลขนี้บอกถึงความเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มที่เกิดและโตมากับเทคโนโลยีที่จ่อตรงหน้าแทบทุกวัน และกลุ่มที่เกิดมาก็ต้องเจอกับความไม่แน่นอน (ตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิอันดามัน, วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์, น้ำท่วมกรุงเทพฯ, รัฐประหาร, วิกฤตโควิด จนมาถึงภัยพิบัติ แผ่นดินไหว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา)
สังคมและสภาพแวดล้อมในช่วงวัย 13 – 28 ปี เป็นผู้สร้างคุณลักษณะของคน Gen Z และเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้สถานการณ์ตลาดแรงงานในปัจจุบัน อาจจะยังไม่โอบรับเด็กจบใหม่ได้อย่างเต็มที่

เราลองมาดูสถานการณ์ตลาดเด็ก Gen Z เด็กจบใหม่ยุคนี้ บางทีอาจสะท้อนสถานะในตลาดแรงงานของพวกเขาได้เช่นกัน
- อัตราการว่างงานของเยาวชนทั่วโลก (อายุ 15 – 24 ปี) อยู่ที่ 13.57% ในปี 2024 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า
- Gen Z ประมาณ 1 ใน 3 คน คาดหวังที่จะได้ทำงานในตำแหน่งบริหารภายใน 5 ปีหลังเรียนจบ (คิดเป็น 32%)
- เพียง 20% ของ Gen Z ที่ทำงานในสายพนักงานออฟฟิศ และไม่ประสบปัญหาในการหางานที่ดีขึ้น (อีก 80% รายงานว่า รู้สึกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ซบเซา อัตราการจ้างงานต่ำ โอกาสการหางานในช่วงต้นของการทำงานค่อนข้างยาก)
- Gen Z 22% อยากให้ชีวิตการทำงานของพวกเขาเป็น การแสดงออกถึงบุคลิกภาพตัวเอง นั่นคือการมุ่งมั่นลงมือทำ กระตือรือร้นที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และสร้างผลกระทบต่อโลก
- หลังจากได้เห็นความยากลำบากที่พ่อแม่ต้องเผชิญในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ มีเพียง 23% ของ Gen Z ที่ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องทำงานหนัก อีก 77% คาดว่าพวกเขาจะต้อง ทำงานหนักกว่าคนรุ่นก่อน ๆ เพื่อจะประสบความสำเร็จ
- จากคนไทยในช่วงวัย Gen Z 50 คน มีถึง 23 คน ที่ตั้งใจที่จะเปลี่ยนงานภายใน 6 – 12 เดือนหลังการจ้างงาน โดยให้เหตุผลหลักคือ นายจ้างปัจจุบันตอบสนองความต้องการเขาไม่ได้ (คิดเป็น 46%)
- ในสหรัฐฯ อัตราการว่างงานในคนวัย 20 – 24 ปีในปี 2024 เพิ่มขึ้น 2.8% จากปีก่อนหน้า ชี้ให้เห็นว่ามีคนรุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดแรงงานแต่ไม่มีงานรองรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
หรือ Gen Z จะเป็นตัวต้นเรื่อง…
สิ่งที่ต้องกังวลมากกว่า คือ คนรุ่นใหม่มีความคิด ความต้องการเรื่องงานอย่างไร ? ในวันที่เด็กจบใหม่หลายคนต้องยอม “ทำอะไรได้ก็ทำ ๆ ไปก่อน”
เพื่อให้เข้าใจเรื่องราวที่ชัดเจนมากขึ้น เราชวนตัวแทน Gen Z มาร่วมถ่ายทอดมุมมอง ความรู้สึก และความฝัน ของช่วงชีวิตที่เพิ่งเคลื่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานในนาม First Jobber ลองดูว่าอาชีพที่ใช่ ชีวิตที่ชอบ สำหรับพวกเขาแล้ว เป็นอย่างไร ? ยากแค่ไหน ? กว่าจะไปถึงฝัน
เขต : ศิลปินที่อยากให้ละครเวทีเป็นอาชีพหลัก
เขต จบด้านการแสดง ปัจจุบันกำลังทำละครเวที เรียกตัวเองเป็นศิลปินอิสระ และทำงานฟรีแลนซ์ เป็นพี่เลี้ยงค่ายสอนภาษาอังกฤษ เพื่อให้มีรายได้พอดูแลตัวเอง เขายอมรับว่า ไม่ค่อยพอใจแต่ก็ไม่ได้ไม่มีความสุข เมื่อเทียบกับการทำงานออฟฟิศในบริษัทอีเวนต์เดิมที่เคยทำก่อนหน้านี้ ซึ่งขโมยเวลาชีวิตไปมาก และทำให้รู้สึกหมดไฟ ขาดความมั่นใจในตัวเองจนตัดสินใจลาออก

“ตอนนั้นคิดว่า ถ้าบริษัทเสียกูไป บริษัทก็หาคนมาแทนได้ แต่ถ้าเราเสียสุขภาพจิต เสียตัวตนไป กว่าจะกลับมาทดแทนมันยากมาก เลยขอตายเอาดาบหน้า ลาออกมาเลยดีกว่า”
เขต สะท้อนจากใจ
ความฝันสูงสุด : เขต อยากทำงานหลักเป็นผู้สร้างสรรค์ละครเวที ที่สามารถเลี้ยงชีพได้ และไปไกลถึงการได้รับรางวัล Tony แต่เขามองว่า เป็นเรื่องยากมากในประเทศไทย เพราะวงการละครเวทีไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนต่างประเทศ ทำให้หลายคนทำงานละครเป็นงานอดิเรก ปัญหาหลักของ เขต คือ เงินทุน ทั้งการใช้ชีวิต และการสร้างสรรค์ผลงาน
ละครของ เขต ไม่สามารถกำหนด ราคากลาง ที่เหมาะสมกับงบฯ คนดูและรายได้ของคนทำงานได้ เขา ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างที่ภาครัฐ ไม่สนับสนุนพื้นที่สำหรับวงการละครเวทีอย่างเพียงพอ ทำให้ค่าใช้จ่ายการทำละครสูง และคนไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการเสพศิลปะมากนัก
“เศรษฐกิจไทยไม่ได้ดีในตอนนี้ ไม่ได้ดีแต่ไหนแต่ไร คนไทยเลยไม่ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิต การบำบัดใจด้วยศิลปะ ศิลปะในสังคมไทยเลยกลายเป็นเรื่องชนชั้นสูงหรือคนที่มีเงินพอจะเสพมันได้”
เขต สะท้อนมุมมอง
Gen Z กับ ปัญหาการทำงาน : เขต มองว่า คน Gen Z โดยเฉพาะกลุ่มเควียร์ มักจะไม่สามารถเข้ากับโลกการทำงานแบบ ไบนารี่ (Binary) ที่ถูกกำหนดโดยทุนนิยม ซึ่งมองมนุษย์เป็นเครื่องจักรผลิตแรงงาน และจำกัดกรอบความคิด รวมถึงการใช้ชีวิตให้เป็นไปตามแบบแผนดั้งเดิม ซึ่งขัดกับธรรมชาติของ Gen Z ที่หลายคนต้องการแหกขนบ
“เราเองในฐานะเควียร์ ในฐานะมนุษย์ เราไม่ได้อยากมองอนาคต เราไม่ได้รู้สึกว่าความสุขของเราคือการทำงานหนักให้ตายไปเลยแล้วมีเงินเก็บในบั้นปลายชีวิต”
เขต เชื่อแบบนั้น
ในปัจจุบัน เขต ตัดสินใจลาออกทิ้งงานที่มั่นคง มาทำฟรีแลนซ์ในสายงานต่าง ๆ เต็มตัว เพื่อเก็บเงินทำตามความฝันด้านละครเวที แม้จะไม่มั่นคง เพราะต้นทุนการทำละครเวทีก็สูง แต่ฝันของเขาก็คือการอยากทำละครที่เข้าถึงคนได้มากขึ้น
“ลาออกมาไม่มีงานเลยนะ ต้องรอให้มีคนติดต่องาน ซึ่งก็ไม่ปลอดภัย เหมือนกันเพราะเราอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเงิน ตอนนี้ทำได้แค่หวังว่า เวลา จะทำให้อยู่ต่อไปได้ ตอนนี้อยู่ด้วยความหวังล้วน ๆ เลย แต่ก็คิดว่าถ้าต้องกลับไปทำงานจริง ๆ ก็คงไม่ได้แล้ว”
เขต ทิ้งท้าย
เบิ้ล : พนักงานออฟฟิศที่มีชีวิตปกติ กับงานที่ฝัน
เบิ้ล เรียนจบด้านภาษาจีน และเพิ่งหมดสัญญาจากงานที่แรกหลังจากเรียนจบ เคยทำงานประสานงาน และฝึกงานล่ามภาษาจีนในโรงงานต่างจังหวัด แต่พบว่า ตัวเองไม่ถนัดงาน ซึ่งการรู้ตัวเรื่องภาษา ทำให้ทางเลือกอาชีพของเบิ้ลแคบลง

ความฝัน : การเป็น พนักงานออฟฟิศ ที่มีชีวิตประจำวันปกติ ได้ออกไปทำงาน เจอเพื่อนร่วมงาน มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และเดินทางกลับบ้าน ความฝันนี้มาจากประสบการณ์ฝึกงานในโรงงานต่างจังหวัด เขามองว่า งานออฟฟิศอาจจะเปิดโอกาสให้ได้ใช้ชีวิตนอกเหนือจากการทำงาน ให้ใกล้กับฝันในอดีตที่อยากเป็น สจ๊วต เพื่อเปิดโลกและได้เดินทางอย่างอิสระ แต่ก็ไม่มั่นใจว่า สถานการณ์งานออฟฟิศในตอนนี้จะเปิดให้เบิ้ลได้ทำสิ่งที่อยากทำหรือไม่
“พูดตามหลักความจริง ที่เราพูดไปทั้งหมดมันแทบเป็นไปไม่ได้เลย บางคนกว่าจะเลิกงานก็มีโอที สองสามทุ่มก็ไม่มีเวลาใช้ชีวิตแล้ว”
เบิ้ล รับสภาพความเป็นจริง
Gen Z กับ ปัญหาการทำงาน : สำหรับ เบิ้ล แล้วยังอยู่ในขั้นตอนการหว่านใบสมัครไปยังบริษัทต่าง ๆ ด้วยข้อจำกัดเรื่องการที่ยังไม่ได้เกณฑ์ทหาร และยังถูกกดดันจากครอบครัวที่บอกว่า “ทำอะไรได้ก็ทำ ๆ ไปก่อน” ทั้งหมดนี้ทำให้ เบิ้ล ยังคงตามหาอาชีพใหม่ที่ตรงใจ และมีรายได้ตามที่หวังต่อไป
“ถ้าอายุยังไม่ถึงสามสิบก็คงอยากนั่งทำงานเก็บเงินไปก่อน ยังไม่คิดถึงภาพอนาคตครอบครัว แค่อยากเก็บเงินให้ได้ใช้ชีวิตไปก่อนดีกว่า”
เบิ้ล มองภาพฝันของตัวเอง
ถึงตรงนี้ เบิ้ล ยืนยันว่า การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของความฝัน และอยากให้งานนั้นเปิดโอกาสไปสู่ความฝันได้ นั่นคือการได้ใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน และการได้ท่องเที่ยวไปรอบโลก หลังจากสมัครงานมาเรื่อย ๆ อาชีพสจ๊วตอย่างที่ฝันไว้ ก็ค่อย ๆ ลดลงมา
“เราก็ค่อนข้างที่จะเลือกงาน บางทีมีงานมาแล้วรู้สึกว่า งานนี้ไม่ไหว ก็ไม่ทำ อยากได้งานที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ไปก่อน ชีวิตงานที่ตื่นมา ทำงาน แล้วก็นอน มันเหมือนไม่ได้ใช้ชีวิตจริง ๆ ถึงแม้จะมีเงิน แต่ก็ไม่ได้มีความสุขขนาดนั้น การได้ออกไปใช้ชีวิต มันเป็นการหาความสุขให้ตัวเองในทางอ้อม เหมือนเป็นการพักผ่อน”
เบิ้ล เผยความตั้งใจ
เนย : เจ้าของกิจการสร้างเพลง ที่กำลังสร้างตัว
เนย เป็นเด็กสายดุริยางค์จบใหม่ ที่ทำงานสอนพิเศษ รับทำเพลง และทำสกอร์โน๊ต ไปพร้อม ๆ การร่วมกับเพื่อนปั้นบริษัททำเพลง ให้เป็นรูปเป็นร่าง
เธอ ย้ำว่า ตอนนี้พอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ โดยให้ถึง 8 คะแนน เพราะมีรายได้ดี และมีโอกาสเติบโต แม้จะไม่มั่นคงเท่าพนักงานบริษัท

“เราเป็นคนที่เอาทุกอย่างรอบตัวมารวมกันเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะคนที่บ้าน สิ่งที่เราดู สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราอยากจะเป็น เราชอบเพ้อฝัน แม่งโคตรเจ๋งเลยถ้าเราได้ยืนจุดนั้น”
เนย ตอกย้ำความรู้สึก
อาชีพในฝัน : การเป็น เจ้าของค่ายเพลง หรือ เจ้าของบริษัททำเพลง โดยตรง เป็นสิ่งที่เธอตั้งใจจะไปให้ถึง เพราะต้องการอิสระการทำงาน และสามารถรับงานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ปัจจุบันกำลังร่วมกับเพื่อนก่อตั้งบริษัททำเพลงโฆษณา แต่ยังอยู่ในช่วงเก็บพอร์ตโฟลิโอ และสร้างการรับรู้ แลกประสบการณ์ไปก่อน
ความท้าทาย Gen Z กับการทำงาน : การบริหารเวลาของแต่ละคนในทีม ถือเป็นความท้าทายที่ในตอนนี้ เนื่องจากเพื่อนส่วนใหญ่ก็มีงานประจำอยู่แล้ว รวมถึงการสร้างชื่อเสียงและการเป็นที่รู้จักในวงการ อย่างไรก็ตาม เนย มีความมุ่งมั่นสูงและพร้อมทุ่มเทเพื่อไล่ตามความฝัน ที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจดนตรีให้สำเร็จภายใน 5 ปี โดยให้ความสำคัญกับ เม็ดเงิน เป็นอันดับแรก เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตและการลงทุนในธุรกิจ
“จุดนึง ถ้าเราได้เป็นเจ้าของกิจการ ทำได้ขนาดนั้น มันก็คงมั่นคงมากกว่าฟรีแลนซ์ กว่าจะถึงจุดนั้นบริษัทก็ต้องสำเร็จก่อน เราก็ต้องสู้กับบริษัทตรงนี้”
เนย เผยถึงความฝันที่ต้องไปให้ถึง
สำหรับ เนย แล้วชัดเจนว่าความฝัน คือ การได้เป็นเจ้านายตัวเอง แทนที่จะเลือกเส้นทางที่มั่นคงอย่างการไปทำงานอยู่ในบริษัทใหญ่ ๆ ถึงอย่างนั้น ปัจจัยด้านรายได้ หรือผลตอบแทน ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เธอตัดสินว่า จะสู้หรือไม่สู้กับบริษัทนี้
“จริง ๆ เรารู้ว่ามันเสี่ยงมาก ๆ แต่ว่าเราต้องหาทางไม่ให้ความเสี่ยงเป็นข้อจำกัดของเราได้ สมมุติงานฟรีแลนซ์ตรงนี้หายไป เราก็ต้องหาอีกอันที่สามารถทำได้ เราไม่ค่อยมองโครงสร้างเศรษฐกิจเท่าไร เพราะจริง ๆ เรายังเชื่อว่า บริษัทมันสำเร็จได้ รู้สึกว่า ถ้ามันทำได้ ยังไงมันก็ทำได้”
เนย เผยความตั้งใจ
หนุน : นักอนุรักษ์ที่ปรับความฝันเพื่อความมั่นคง
หนุน เพิ่งเรียนจบและทำงานในวงการท่องเที่ยว เธอเพิ่งย้ายมาสู่บริษัทที่ใหญ่ขึ้น โดยให้คะแนนความพึงพอใจกับงานปัจจุบันที่ 7 คะแนน เพราะยังคงสนุกและตื่นเต้นอยู่บ้าง
ความฝันในวัยเด็ก : การเป็น นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจแรกจากค่ายวิทยาศาสตร์ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง แต่ความฝันนี้ต้องถูกพับเก็บไปเนื่องจากปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการสนับสนุนการศึกษา โอกาสในตลาดแรงงานที่จำกัด และค่าตอบแทนที่น้อยในสายอาชีพนี้ ทำให้เธอรู้สึก หมดหวัง กับการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

“สิ่งที่ทำให้เราไปไม่ถึงสายสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะเป็นปัจจัยด้านสังคม ถ้าเรียนต่อสายนี้ พ่อแม่อาจจะมองว่าไม่มั่นคงรึเปล่า จบไปแล้วทำอะไร ยิ่งถ้าในอนาคตมีแพลนอยู่ประเทศไทย ก็เลยไม่ไปต่อ”
หนุน สะท้อนความคิด
มุมมองปัจจุบัน : หนุนเลือกให้ความสำคัญกับ ความมั่นคงในชีวิต มากกว่า และมองว่าการเป็นพนักงานออฟฟิศเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในตอนนี้ เธอเชื่อว่า สามารถเติมเต็มความฝันด้านสิ่งแวดล้อมได้ในรูปแบบอื่น เช่น การเป็นกระบอกเสียงหรือสนับสนุนชุมชนที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงปัญหาที่ First Jobber หลายคนต้องเผชิญ เช่น การขาดประสบการณ์เมื่อต้องแข่งขันในตลาดแรงงาน และแรงกดดันจากสังคมที่เปรียบเทียบความสำเร็จของคนอื่น
“มันก็ยากมาก ๆ ในก้าวแรก รู้สึกสับสนว่าจะเลือกอะไรดีระหว่างสิ่งที่เรารักหรือสิ่งที่จะให้ความมั่นคงกับเรา ในช่วงเวลานี้ อยากจะลองทำอะไรก็ลองทำไปเลยดีกว่า”
หนุน ฝากทิ้งท้าย
ถ้าลองหาบทสรุปของเหล่าตัวแทน Gen Z ที่เราพูดคุยด้วยจะสังเกตได้ประเด็นร่วมได้คร่าว ๆ เสมือนธีมความต้องการที่แตกต่างแต่เหมือนกัน เช่น
- ความมั่นคงในอาชีพและการเงิน : ทุกคนต่างให้ความสำคัญกับรายได้ และความมั่นคงเป็นหลัก แม้จะมีความฝันหรือความสนใจเฉพาะทาง แต่ปัจจัยทางการเงินมักเป็นข้อจำกัดสำคัญ
- ความไม่พอใจกับระบบแบบดั้งเดิม : โดยเฉพาะงานออฟฟิศที่เน้นการทำงานตามเวลา (หรือล่วงเวลา) การขาดความยืดหยุ่น รู้สึกว่าคุณค่าลดลงจากระบบงานแบบเก่า ๆ หรือบางคนก็พอใจกับงานประจำ หากมีเส้นทางงานให้ไปต่อ
- ความต้องการอิสระและความสุข : หลายคนโหยหาการทำงานที่ยืดหยุ่น อิสระในการใช้ชีวิต และทำงานที่ชอบได้อย่างมีความสุข โดยมองว่างานไม่ใช่แค่การหาเงิน แต่ต้องตอบไลฟ์สไตล์ด้วย
- ความอ่อนไหวต่อสังคม : สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ส่งผลต่อการเลือกอาชีพและการทำตามความฝัน และยังมีการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นในสังคมออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งแรงกดดัน
- ผลจากการศึกษาและตลาดแรงงาน : การศึกษาในปัจจุบันบางครั้งยังไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานจริง และข้อจำกัดด้านคุณสมบัติ เช่น การเกณฑ์ทหารหรือใบปริญญาโท ก็เป็นอุปสรรคในการหางาน
ฟังความอีกข้าง จากฝั่งตลาดแรงงาน
หลังจากเสียงของ Gen Z หรือเด็กจบใหม่ กับเสียงสะท้อนว่างานไม่ตอบโจทย์ ไม่ตรงใจ หรือไม่ได้รับการพัฒนาอย่างที่คาดหวัง ก็ถึงเวลาที่เราควรฟังมุมมองจากอีกฝั่ง นั่นคือ ผู้ประกอบการ และ นายจ้าง กับความเป็นจริงที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย ต่อการดึงดูดและพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงาน
อภิชาติ ขันธวิธิ ที่ปรึกษาธุรกิจและบริหารทรัพยากรมนุษย์ ผู้ก่อตั้งเพจ HR – The Next Gen ได้เล่าถึงความซับซ้อนของปัญหานี้ ซึ่งไม่ได้มีแค่ฝั่งเดียวที่ผิด แต่เป็นเรื่องของการปรับตัวสองทาง ที่ต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
มุมมองจากองค์กร : งานที่ไม่แน่ใจว่า Gen Z ทำได้หรือเปล่า ?
“ถ้าเป็นสถานการณ์ตอนนี้ ด้วยบริบทสังคม เศรษฐกิจ ทำให้องค์กรส่วนใหญ่ การที่เขาจะเลือกใครสักคนเข้าไปทำงาน เขาต้องการคนที่พร้อมวิ่งไปกับเขาเลย”
อภิชาติ เปิดประเด็น

จากมุมมองขององค์กร เวลาที่ Gen Z เข้ามาทำงานโดยไม่มีประสบการณ์ ในขณะที่ลักษณะงานต้องการการกระจายงานให้แต่ละคนทำ และให้สิทธิในการตัดสินใจเต็มที่ ซึ่งมาด้วยความไว้วางใจ เมื่อเด็ก Gen Z เข้ามาโดยไม่มีหลักฐานว่าทำงานได้ เขาอาจมีชุดความรู้ มี know-how แบบใหม่ ๆ แต่มันไม่ได้พิสูจน์ว่าน้อง ๆ ทำงานจริงได้แค่ไหน
ทำให้โอกาสในการได้รับมอบหมายงานที่ Gen Z ได้ทำ กลายเป็นงานซ้ำไปมาค่อนข้างเยอะ อาจจะเป็นจุดที่ Gen Z ไม่ชอบ รู้สึกว่าไม่มีคุณค่า พี่ ๆ ในออฟฟิศก็เปิดโอกาสให้ทำได้แค่เท่านี้ เพราะธุรกิจเองก็ไม่สามารถกล้าเสี่ยงให้ลองทำได้ในปัจจุบัน
นี่คือความจริงที่กระทบตรงจุดอ่อนของ Gen Z ที่เพิ่งจบใหม่ ในยุคที่ธุรกิจต้องเคลื่อนไหวรวดเร็ว องค์กรจำนวนมากไม่มีความพร้อมในการจะพัฒนาคนไปพร้อมกับการทำงาน พวกเขาต้องการคนที่เข้ามาทำงานแล้วทำได้เลยทันที
แล้ว Gen Z ไม่ดีตรงไหน ?
“สิ่งที่ Gen Z ต้องการค่อนข้างชัดเจน คือ ต้องการความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง องค์กรพยายามเพิ่มความยืดหยุ่นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ความยืดหยุ่นที่ว่าอาจจะยังไม่พอดีตัว”
นั่นคือความต้องการความยืดหยุ่นสูงของ Gen Z กับความสามารถของบริษัทในการปรับโครงสร้างให้ยืดหยุ่นได้ เกิดเป็นจุด Mismatch หรือ จุดที่ขัดแย้งกัน ซึ่ง อภิชาติ ยอมรับว่า ทำให้พวกเขายังไม่สบายตัวกับงานเท่าที่ควร ผนวกไปกับการรู้ความต้องการของตัวเองอย่างชัดเจน และอีโกที่ขัดกับคนรุ่นก่อน
“การเข้ามาของ Gen Z ในวันนี้ ไม่ต่างมากกับตอนยี่สิบปีที่แล้วที่ Gen Y เริ่มเข้าวงการการทำงาน”
อภิชาติ เปรียบเทียบ
พร้อมทั้งเตือนว่า ปัญหาลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อ Gen Y เข้ามาทำงาน ก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีวิธีคิดเดียวกันกับพี่ ๆ ที่ทำงานมาก่อน
แต่ในการทำงาน อภิชาติ คิดว่า Gen Z ควรไม่ตัดสินใจเร็วเกินไป อาจจะเร็วเกินไปในการบอกว่า เรื่องนี้ทำได้ไหม ชอบไม่ชอบ ควรให้เวลากับมันมากขึ้น อาจจะเป็นสิ่งที่ต้องขยับระยะเวลาให้ตัวเอง และองค์กรด้วย
“การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่จำเป็นต้องทำตั้งแต่วันแรก ทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะเปลี่ยนก่อน เพนอยู่ไหน เปลี่ยนเป็นอะไร ลองลดอีโก้ความเป็นคนใหม่ แล้วฟังคนอื่นเพิ่มขึ้น”
อภิชาติ ให้คำแนะนำ
ถึงเวลาองค์กรปรับตัว
สำหรับ Gen Z แล้ว ช่องว่างที่ใหญ่มาก ๆ คือ ทักษะที่ใช้ทำงานจริง พวกเขามีความรู้ในหัวไม่น้อย แต่ดึงศักยภาพออกมาได้ไม่เต็มที่
“ถ้าองค์กรเห็นโอกาส สิ่งที่องค์กรต้องมอบให้ คือลองมีพื้นที่ในการกล้าเสี่ยง บางส่วนให้เขาได้ทดลองทำงานใหม่ ๆ ก็ควรต้องมีบัดดี พี่เลี้ยง ทำหน้าที่คอยสอนคอยโค้ช”
อภิชาติ ฝากถึงการปรับตัวขององค์กร
การมีระบบพี่เลี้ยงเพื่อเร่งให้ความรู้ know how จากผู้มีประสบการณ์ไปสู่ Gen Z จะช่วยเสริมประสบการณ์และเร่งให้พวกเขาเข้าสู่ระบบการทำงานได้เร็วขึ้น

อนาคตแห่ง ‘โอกาส’ ที่มากพอ ๆ กับ ‘ความเสี่ยง’!!
เมื่อถามถึงแนวโน้มในอนาคตว่าเด็กจบใหม่จะได้ทำงานในฝันมากขึ้นหรือน้อยลง อภิชาติ ชวนมองว่า การทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้ทำงานในฝัน อาจจะต้องพึ่งพาระบบการศึกษาที่ทำให้พวกเขารู้จักฝันของตัวเอง แบบที่มีทางเลือกมากกว่าความฝันอันดับ 1
“คำว่าทำงานตรงสาย ตรงใจแต่ละคน อาจจะต้องเริ่มจากในมุมของทุกคนมาพิจารณาว่า เรามีความชอบ และถนัดกี่เรื่องและกี่ประเด็นบ้าง และไม่ใช่ว่าอาชีพที่ทำนั้นจะต้องตอบโจทย์กับความชอบความสนใจอันดับ 1 เพียงอย่างเดียว”
สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้และอนาคต อภิชาติ เชื่อว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่โอกาสเยอะมาก โอกาสเจองานก็ค่อนข้างเยอะ แต่โอกาสเยอะ ก็มาพร้อมความมั่นคงที่อาจลดน้อยลง เพราะทุกงานมีโอกาสถูกทดแทนได้เสมอ เช่น จากเทคโนโลยี AI ที่เข้ามา
“เป็นช่วงที่หนักสำหรับ Gen Z และน้องจบใหม่ แต่ผู้บริหารหลายคนก็รู้ดีว่ามีปัญหานี้อยู่ และพยายามหาตัวช่วยให้ Gen Z เข้ามาอยู่ในระบบการทำงานได้ Gen Z เองก็ต้องบวกลบความต้องการตัวเอง ก็น่าจะเจอจุดบาลานซ์ที่อยู่ร่วมกันได้”
อภิชาติ ฝากทิ้งท้าย
ถึงตรงนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะบอกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (องค์กร การจ้างงาน หรือ เด็กยุคใหม่ Gen Z) ใครเป็นคนผิด เพียงแต่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระดับโลกที่ขัดแย้งกัน และยังเป็นปัญหาที่อาจนำไปสู่การขาดแคลนแรงงาน จนไปถึงปัจจัยที่อาจทำให้เด็กจบใหม่หมดไฟฝันมากขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่านั้นสิ่งที่อยากเน้นย้ำ คือ เชื่อว่า ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ปรับตัว หาจุดสมดุลที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้
และหากมองเจาะมาที่สถานการณ์ประเทศไทย ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โจทย์การหางานที่มั่นคงของเด็กรุ่นใหม่ก็จะยากขึ้น และเต็มไปด้วยงานที่ไม่รองรับศักยภาพ หรือเป้าหมายของคนเหล่านี้
ถึงวันนั้น บางทีเด็กจบใหม่ก็อาจเผชิญกับงานที่ไม่ชอบ ไม่ตอบโจทย์ และต้องทนทำต่อไป หรือนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คน Gen Z “เสี่ยงจน” มากขึ้นด้วยปัจจัยการทำงาน ที่ทำยังไงก็หาทางออกไม่ได้สักที