“ทั้งรัก ทั้งชัง”
คือคำจำกัดความง่าย ๆ ที่ ชานันท์ ยอดหงษ์ นักเขียน และนักวิชาการด้านความเท่าเทียมทางเพศ นิยามให้กับความสัมพันธ์ภายในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ระหว่างไทย และฟิลิปปินส์ ตั้งแต่การแข่งขันกีฬา เวทีนางงาม ที่ไม่ว่าเจอกันเมื่อไร คอมเมนต์ในโลกออนไลน์ระหว่างด้อมทั้ง 2 ประเทศ เดือดและเข้มข้น ไม่แพ้บรรยากาศการแข่งขันเลยทีเดียว
ชานันท์ เล่าย้อนไปไกลกว่านั้น ในยุคสงครามเย็น ไทยกับฟิลิปปินส์ ถือเป็นประเทศโลกเสรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญในเวลานั้น จึงมีโมเดลที่เป็นอเมริกันเหมือนกัน โดยเฉพาะ แจ็กเกอลีน เคนเนดี โอนาสซิส สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อ LGBTQIAN+ รวมถึงผู้หญิงไทย และฟิลิปปินส์ ต้องสวยเหมือนแจ็กเกอลีนแทบทั้งหมด
เมื่อถึงยุคประกาศเป็นประเทศโลกเสรี เกิดการแข่งขันขึ้นมากมาย เช่น กีฬาโอลิมปิก แต่พื้นที่สำหรับการประกาศตัวตนของผู้หญิงในเวลานั้นยังถูกกีดกัน ด้วยเหตุแห่งเพศ
จนมาถึงการประกวดนางงามเกิดขึ้นที่ประเทศไทยใน ปี 2477 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 โดยใช้ชื่อว่า ‘นางสาวสยาม’ ขณะที่ฟิลิปปินส์ จัดประกวดเวที บีนีบีนิงปีลีปีนัส หรือ ‘มิสฟิลิปปินส์’ ขึ้นครั้งแรกเช่นกัน ในปี 2507 เพื่อประกาศตัวแทนความงามต่อสายตาทั่วโลก ทำให้ 2 ประเทศมีความคล้ายคลึงกันมากยิ่งขึ้น
“ในโลกของกะเทย และเกย์ การประกวดนางงามประหนึ่งกับโลกของคนที่ตรงเพศ แต่เราจะส่งนักรบผู้หญิงสวยไปประกวดแข่งขันกัน จึง เป็นการช่วงชิงความเป็นหนึ่งระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ ในฐานะตัวแทนกลุ่ม Southeast asia แต่ในระดับโลก ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งเข้ารอบลึก ๆ เราก็จะยินดีด้วย ความสัมพันธ์ที่ผ่านมาจึงเป็นทั้งเพื่อนบ้าน เป็นทั้งคู่แข่งขัน จะมีจิกกัด แขวะกันไปมา”
แล้วเราจะนั่งเชียร์นางงามด้วยกัน เหมือนเดิมได้ไหม…?
คำตอบของคำถามนี้ หากจะเปรียบกับกรณีเหตุการณ์ #สุขุมวิท11… ชานันท์ บอกว่า ต้องแยกให้ออก คือ เรื่องของย่านท่องเที่ยว และผู้ประกอบการผู้ทำอาชีพบริการ ที่เป็นกลุ่มกะเทยในพื้นที่ตรงนั้น และธุรกิจที่ทำให้กะเทยในพื้นที่ ถูกแสวงหาผลประโยชน์ มีมาเฟีย อยู่นอกกรอบของกฎหมาย เป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งทั้งไทยและพิลิปปินส์มีอยู่แล้ว วิธีนี้จัดการได้ด้วยกฎหมาย และทำให้อาชีพพนักงานบริการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดการรวมกลุ่มในลักษณะนี้เพื่อทวงศักดิ์ศรี ทวงความยุติธรรม
กับอีกหนึ่งเรื่อง คือ การกระตุ้นชาตินิยม ประเทศที่ถูกปลูกฝังความเป็นชาตินิยมสูง พร้อมที่จะปะทะกันอยู่แล้ว เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น จึงมีทั้งความเป็นชาตินิยม ความเกลียดชัง หมั่นไส้ที่เป็นทุนเดิม ทั้ง 2 เรื่องนี้ต้องแยกกันให้ออก ก็จะเห็นว่า เป็นความขัดแย้งกันของคน 2 กลุ่ม ที่พัฒนาไปจนถึงการใช้ความรุนแรง
แต่สิ่งที่ ชานันท์ กังวล คือทันทีที่เป็นเรื่องของ กะเทยตีกัน มักจะถูกนำเสนอเป็นเรื่องตลก เรื่องขำขัน ราวกับว่าเป็นหนังหอแต๋วแตกผสมบางระจัน ไม่ได้ดูถึงต้นตอของปัญหาคืออะไร แรงงานพลัดถิ่น หรือในพื้นที่นั้นมีการแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างไรบ้าง ไม่มีการพูดถึงว่าอาชีพที่อยู่พ้นสายตากฎหมาย ทำอย่างไรให้สามารถจัดระเบียบ สร้างความปลอดภัยให้กับคนทำงานในพื้นที่นั้น มีแต่พูดถึงเรื่องของความสะใจ ความตลกขบขัน ความรุนแรงในนามของชาตินิยม
“Community ของ LGBTQIAN+ ทั้งไทย และฟิลิปปินส์ ค่อนข้างเข้มข้น มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนกันอยู่แล้ว เป็นไปได้ที่ว่าตอนนี้เหมือนการยกพวกตีกัน และจุดชนวนชาตินิยมเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ในสภาวะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถ้ารัฐ ตำรวจไทย สามารถจัดการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นชาติใด คิดว่าจะช่วยลดทอนปัญหาความขัดแย้งได้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นชาวฟิลิปปินส์ อาจจะบอกว่าประเทศไทยป่าเถื่อนจัง คนไทยก็มองว่าฟิลิปปินส์ มาตีก่อน มารุมก่อน คิดว่าถ้าจัดการปัญหาตรงนี้ได้ สร้างความยุติธรรมได้ จะลดทอนความบอบช้ำและบาดแผลได้”
#กะเทย ไทย-ฟิลิปปินส์ มีศัตรูตัวเดียวกัน คือ ‘ความไม่เท่าเทียม’
หากพูดถึงความสัมพันธ์อื่น ๆ ระหว่าง 2 ประเทศ พบว่ามีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม, อุตสาหกรรมบันเทิงค่อนข้างมาก ยกตัวอย่าง หนังเรท R, ซีรีย์วาย ซึ่งจุดนี้ ชานันท์ มองว่า หากไทย และฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับ LGBTQIAN+ พยายามพูดถึงประเด็นนี้ในมิติบวก ที่สามารถเชื่อมกันได้ มองเห็นการใช้วัฒนธรรมเหล่านี้ในการสร้างความหมายใหม่ หรือพูดถึงในประเด็นใหม่ ๆ จะเกิดคุณค่าไม่น้อย
และอีกประเด็นที่ถือว่ามีความสำคัญต่อ LGBTQIAN+ ทั้ง 2 ประเทศ คืองานในด้านวิชาการ ซึ่งถือว่าทั้งไทยและฟิลิปปินส์ จับมือทำงานร่วมกันมาต่อเนื่อง เป็นมิตรกันมาโดยตลอด เช่น งานด้านป้องกัน HIV มีองค์กรอย่าง LoveYourself จากฟิลิปปินส์ ทำงานร่วมกับ มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) จากประเทศไทย
รวมถึงงานด้านสังคมสงเคราะห์ ผู้สูงอายุ เป็นหลักฐานยืนยันว่า คุณภาพชีวิตของ LGBTQIAN+ ทั้ง 2 ประเทศ อยู่ในสถานการณ์ที่เผชิญปัญหาใหญ่มาร่วมกัน
“สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทย และฟิลิปปินส์ เผชิญเหมือนกัน คือ การกดทับ กีดกันในสังคมของกลุ่ม LGBTQIAN+ อย่างเข้มข้น ทำให้นักวิชาการทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำงานร่วมกัน แน่นอนว่านั่นเป็นคนละเรื่องกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่เราจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือเหมารวมว่ากรณีใดกรณีหนึ่ง คือปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดของ 2 ประเทศ”
‘ยามศึกเรารบ’ จึงไม่ใช่แค่ความหมายของการขัดแย้ง ความรุนแรงระหว่างกันเสมอไป โดยเฉพาะกรณีของ #กะเทย ไทย และ ฟิลิปปินส์
เพราะในเมื่อ ‘ความไม่เท่าเทียม’ ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ จึงหนีไม่พ้นที่ สังคมของกลุ่ม LGBTQIAN+ ทั้ง 2 ประเทศ ต้องร่วมกันต่อสู้ เปิดศึกกับข้อจำกัดเหล่านั้น เพื่อความหวังของการก้าวไปสู่สิทธิ ‘ความเสมอระหว่างเพศ’ ที่เป็นจริง