จับสัญญาณ “เปิดเหมือง” จากปมสุขภาพ ผังเมือง และกฎหมายแร่ฉบับใหม่
ผลกระทบทางสุขภาพที่ยังไร้คำตอบ กับเบื้องหลังการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับบริษัททุนข้ามชาติที่ไม่เคยเปิดเผย
…สู่การเดินหน้า นโยบายเหมืองแร่ทองคำรอบใหม่
อนาคตของพื้นที่ศักยภาพแร่ ที่อาจกลายเป็นเหมืองทองคำ จึงเต็มไปด้วยความหวาดกลัว
เด็กโลหะหนัก
คำกล่าวที่ว่า “ความสุขมักอยู่ในช่วงเวลาสั้น ๆ” คงจะจริงสำหรับ “รำไพวรรณ ธรรมพเวช” เด็กหญิงวัย 11 ปี ที่ตรวจพบสารหนู แมงกานีส และไซยาไนด์ ในร่างกายมาตั้งแต่อายุ 4 ปี
ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ แต่ การปิดเหมืองทองอัครา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สุขภาพของเธอค่อย ๆ ดีขึ้น สารโลหะหนักในร่างกายลดลง
ย้อนกลับไป เด็กหญิงเล่าว่า ช่วงดึกเธอมีอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณต้นขา และบางวันก็ไข้ขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลทางการแพทย์ที่ระบุว่า อาการพิษเรื้อรังที่พบในคนได้รับสารหนูในปริมาณไม่มาก จะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
“จิรฐา ธรรมพเวช” แม่ของเธอเชื่อว่าสารโลหะหนักที่พบในร่างกายของลูกสาว ปนเปื้อนจากฝุ่นและกองสินแร่บนเหมืองทอง ซึ่งห่างจากบ้านไปเพียง 1 กิโลเมตร และยังมีเด็กรอบเหมืองคนอื่น ๆ ที่พบสารในร่างกาย ไม่ต่างจากลูกของเธอ แม้สุขภาพของเด็ก ๆ จะดีขึ้น แต่สิ่งที่จริฐายังกังวล คือพัฒนาการของลูกในการเรียนรู้ที่ช้าลง
“ตอนนี้ลูกพี่ การพูดจาฉลาดมากนะ แต่การเรียนเหมือนอ่านหนังสือไม่ได้ ท่องจำเอามากกว่า”
ปี 2559 “นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำ ได้รับมอบหมายให้ตรวจปัสสาวะและพัฒนาการของเด็กรอบเหมือง
ผลตรวจปัสสาวะเด็กรอบเหมือง 205 คน พบ 73 คน หรือ 35% ที่มีสารหนูเกินค่ามาตรฐาน แต่สามปีต่อมา หลังปิดเหมือง สารหนูในเด็กกลุ่มชั้นเรียนเดิมลดลงถึง 12 เท่า
ขณะที่เมื่อนำกลุ่มเด็กที่พบสารโลหะหนัก มาตรวจสอบความสามารถในการเรียนรู้ การอ่านและคำนวณ พบว่า เด็กชายมีภาวะการเรียนรู้ล่าช้า 56% และเด็กหญิงมีภาวะการเรียนรู้ล่าช้า 43%
“ต่อให้สารหนูในร่างกายลด แต่ IQ (ความฉลาดทางปัญญา) กับ LD (การเรียนรู้บกพร่อง) ซึ่งบ่งบอกถึงสมองที่เสียฟังก์ชันไป ทำงานไม่เต็มที่กว่าจะฟื้น รัฐบาลมีข้อมูลแบบนี้ เป็นห่วงประชาชนก็ต้องหยุดไว้ก่อน อันนี้ก็ถูกต้องไหมล่ะ หากอาจจะมีเหตุให้ไปทำลายสมองเด็ก ควรจะหยุดไว้ก่อนไหม แล้วพิสูจน์ให้ชัดก่อน”
ข้อมูลเหล่านี้เป็นหลักฐานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มอบให้กับคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้ในการต่อสู้ในชั้นศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ที่ “บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด” บริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ฟ้องรัฐบาลไทย เรียกค่าเสียหายเกือบ 3 หมื่นล้านบาท หลัง คสช. สั่งปิดเหมือง
การตรวจสุขภาพในเด็กช่วยลบหลายข้อกังขา โดยเฉพาะพฤติกรรมสุขภาพของผู้ใหญ่ที่อาจเสี่ยงสารพิษ จากชีวิตการทำงานประจำวัน การดื่มกิน จึงมองว่าเป็นหลักฐานที่หนักแน่นมากพอที่จะชี้ผลกระทบในระดับหนึ่ง และเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นของการสั่งปิดเหมืองทองครั้งนั้น
การเจรจาลับ
ทว่า สัญญาณล่าสุดจากศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศใน “คดีเหมืองทองคำ” ระหว่างรัฐบาลไทย กับ บริษัท คิงส์เกตฯ เลื่อนการชี้ขาดไปจนถึง 31 ธ.ค. 2565 โดยไม่ได้บอกเหตุผล ขณะที่บริษัท อัคราฯ กำลังเริ่มระดมทุน เตรียมการต่าง ๆ เพื่อเปิดเหมืองอีกครั้ง
ระหว่างที่ศาลเลื่อนการตัดสินออกไปเรื่อย ๆ เกิดการเจรจา ระหว่าง “รัฐบาลไทย” กับ “บริษัทเหมืองทอง” สัญชาติออสเตรเลียหลายครั้ง นำมาสู่ข้อสังเกตว่า เป็นการนำทรัพยากรทางธรรมชาติและเงินแผ่นดินไปแลกกับการใช้อำนาจพิเศษที่ผิดพลาดของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในขณะยังเป็นหัวหน้า คสช. กรณีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปิดเหมืองทอง เมื่อปลายปี 2559 หรือไม่
ในที่สุด บริษัท อัคราฯ ได้รับการต่ออายุใบประทานบัตร 4 แปลง จำนวนกว่า 4 แสนไร่ไปอีก 5 ปี ในจังหวะที่ศาลเลื่อนชี้ขาดออกไปหลังซ่อมบำรุง รับสมัครพนักงาน ก็คาดว่าจะกลับมาพร้อมเดินเครื่องถลุงแร่ 100% ราวเดือน ก.ค. 2565 การกลับมาเปิดเหมืองครั้งใหม่ทั้ง ๆ ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ผลกระทบได้ จึงกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่ในพื้นที่…
“นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เคยรับเรื่องร้องเรียน คดีเหมืองทองคำ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีความเห็นว่าก่อนจะเดินหน้าทำเหมืองกันอีกครั้ง จะต้องเคลียร์ปัญหาและพิสูจน์ผลกระทบให้ชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่ารัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการนำผลประโยชน์ของชาติไปแลกกับการต่อสู้คดีความในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
“มีการเจรจากันถึง 3 ครั้ง แต่ละครั้งยิ่งขยายผลประโยชน์ให้กับเหมืองทอง ตรงนี้มันเป็นดีลที่หากรัฐบาลทำถูกต้อง มันต้องเปิดเผยโปร่งใส จึงเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นปัญหาที่ซ้อนปัญหา รัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาให้ถูกแล้วทำวิธีการที่ไม่ถูกต้องซ้ำเติมไปอีก คุณว่ามันโจทย์ยากหรือง่ายล่ะ”
ปมสุขภาพไร้คำตอบ
การที่ บริษัท อัคราฯ จะกลับมาเดินหน้าเหมืองทองอีกครั้ง ท่ามกลางหลายคำถาม “คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ” (กมธ. ป.ป.ช.) ลงพื้นที่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สนใจประเด็นผลกระทบทางสุขภาพมากที่สุด
“สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร” รายงานต่อ กมธ. ป.ป.ช. ว่า จากปี 2557 ถึงปี 2564 มีการตรวจเลือดประชาชนรอบเหมืองไปแล้วถึง 8 ครั้ง แบ่งเป็นการตรวจก่อนเหมืองปิดกิจการ 3 ครั้ง และตรวจหลังเหมืองปิดกิจการแล้ว 5 ครั้ง พบว่าสารโลหะหนักกลุ่มแมงกานีสและสารหนูในเลือดของประชาชนรอบเหมืองลดลงหลังเหมืองปิด แต่ปริมาณไซยาไนด์ ยังพบมากขึ้น
“นพ.พนม ปทุมสูติ” รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ยอมรับว่า ตัวอย่างการตรวจในแต่ละครั้งเฉลี่ยเพียง 200 คน ซึ่งไม่มากพอที่จะชี้ชัดถึงผลกระทบ
แม้จะยังไม่ชี้ชัดถึงผลกระทบว่ามาจากเหมืองหรือไม่ แต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากเหมืองทอง นำโดย “สื่อกัญญา ธีระชาติดำรงค์” ก็รวมกลุ่มกันจำนวน 400 คน ไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง โดยขอให้บริษัท อัคราฯ ในฐานะผู้ก่อมลพิษจ่ายค่าชดเชยเยียวยาและค่ารักษาพยาบาล คนละ 1.5 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด ศาลเลื่อนนัดไต่สวนพยานหลักฐานออกไปจนถึง เดือน ก.พ. 2566 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
“สมพร เพ็งค่ำ” นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่านโยบายเหมืองแร่ทองคำต้องมีการทบทวนใหม่ทั้งหมด โดยเสนอว่า ควรรอคำพิพากษาจากศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินออกมา ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะควรเปิดเผยคำตัดสินสู่สาธารณะ โดยในระยะยาวควรสร้างระบบการเฝ้าระวังแบบมีส่วนร่วม ออกแบบวิธีการพิสูจน์ร่วมกันให้ข้อมูลมีชุดเดียว เพราะระบบที่ผ่านมาสร้างให้เกิดความขัดแย้ง
“รัฐจะเปิดให้เขาทำเหมืองต่อ หน่วยงานที่อนุญาตต้องชี้แจงต่อสาธารณะว่า ที่คนสงสัยว่าที่ผ่านมาเกิดผลกระทบคืออะไร และคือเหตุผลสำคัญที่ให้เขาทำต่อ”
เดินหน้าบนความไม่ชัดเจน
อะไรทำให้บริษัทมั่นใจที่จะเดินหน้าทำเหมืองทองคำต่อไป?
การที่ไม่มีหน่วยงานราชการใดกล้าฟันธงว่าผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดกับคนรอบเหมืองมาจากเหมืองหรือไม่ กรณีนี้กลายเป็นหนึ่งในข้อต่อสู้ในคดีความระหว่างประเทศอีกด้วย
“นโยบายการทำเหมืองแร่ทองคำ” เคยยุติไปจากคำสั่ง คสช. แต่กลับมาเดินหน้าอีกครั้ง หลังมีพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ บริษัท อัคราฯ ใช้ช่องทางนี้ในการเข้ายื่นขอต่ออายุใบอนุญาตประทานบัตรในพื้นที่เดิม นำไปสู่การเปิดเหมืองอีกครั้ง
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หน่วยงานอนุญาตมีหนังสือชี้แจงยืนยันว่าบริษัท อัคราฯ ได้ต่ออายุประทานบัตรในพื้นที่เดิมจึงไม่ต้องประกาศเขตแหล่งแร่และเปิดประมูลใหม่ตามที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดไว้
ขณะที่ “กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ” หรือ ปปท. พบข้อสังเกตในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 19 และมาตรา 21 ซึ่งเป็นกติกาในการทำเหมืองตามกฏหมายฉบับใหม่ ที่เพิ่งออกมาเมื่อปี 2560 ที่ให้ ตั้งต้นการขออาชญาบัตรและประทานบัตรใหม่ทั้งหมด
กรณีเหมืองอัครา กลับมาเปิดได้อีกครั้งยังมีข้อถกเถียงในเชิงกฎหมายที่เขียนไว้ว่า บรรดาคำขอต่าง ๆ ให้ยึดหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายใหม่กำหนด คือต้องมีการทำ “แผนแม่บทกำหนดเขตแหล่งแร่”
แผนแม่บทนี้เป็นการทำร่วมกันระหว่าง “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” กับ “กระทรวงอุตสาหกรรม” แต่จนถึงตอนนี้แผนแม่บทดังกล่าวยังทำไม่เสร็จ ซึ่งหลังจากแผนแม่บทกำหนดแหล่งแร่เสร็จแล้ว จึงจะสามารถนำพื้นที่ที่กำหนดในแผนแม่บทฯ และมาประมูลให้กับเอกชนที่ต้องการทำเหมืองได้
“วันเพ็ญ พรมรังสรรค์” รองประธานกลุ่ม ปปท. ยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า อาชญาบัตรและประทานบัตรของบริษัท อัคราฯ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะมีการตัดสินตีความกฎหมายกันอย่างไร
แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคงต้องจับตาดูปฏิกิริยาในพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นเขตแหล่งแร่ หากแผนแม่บทดังกล่าวทำเสร็จ พร้อม ๆ กับคำถามที่ตามมาว่าการกำหนดเขตแหล่งแร่ เปิดให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน เพราะนั่นหมายถึงอนาคตในพื้นที่ต่าง ๆ ที่อาจกลายเป็นเหมือง…
การต่อสู้ของประชาชน
นอกจากจะได้รับการต่ออายุใบประทานบัตร 4 แปลง พื้นที่กว่า 4 แสนไร่ จนถึงปี 2571 และเตรียมเดินหน้าทำเหมืองต่อในช่วงกลางปีนี้แล้ว “สุรชาติ หมุนสมัย“ ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บริษัท อัคราฯ ยืนยันกับ The Active ว่าเพิ่งได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์เนื้อที่อีกกว่า 600 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหากพบว่ามีศักยภาพในการทำแร่ทองคำก็พร้อมจะขอใบอนุญาตประทานบัตร เพื่อขยายพื้นที่ทำเหมืองต่อ
The Active ลงพื้นที่บ้านเนินสวรรค์ ตำบลวังหิน อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งปรากฏในเอกสารคำขออาชญาบัตร ของบริษัท อัคราฯ
“ภัทรศยา จรรยาเกษตรกร” ชาวตำบลวังหินเล่าว่าครอบครัวถือสิทธิ สปก. มาแต่เดิมตั้งแต่ปี 2537 แต่เมื่อเธอไปขอเปลี่ยนสิทธิการถือครองจากแม่สู่ลูกเมื่อปี 2563 กลับไม่สามารถเปลี่ยนสิทธิได้
เธอรู้ภายหลังจากเอกสารต่าง ๆ ว่ามีการปรับผังเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ กลายเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์เมื่อปี 2560 ก่อนที่บริษัท อัคราฯ จะยืนคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ในพื้นที่เดียวกันในปี 2563
แม้เป็นเพียงการสำรวจแร่ แต่ดูเหมือนจะสั่งคลอนอาชีพชาวสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก ที่ได้ชื่อว่าปลูกบนดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุมากที่สุดแห่งหนึ่ง ทำให้มะม่วงที่นี่มีรสชาติดี ต่างจากที่อื่น
“วันเพ็ญ มั่นมา” ตัดสินใจทิ้งชีวิตที่กรุงเทพมหานครกลับมาเป็นชาวสวนมะม่วงที่บ้านเกิด เพียงเพื่อต้องการจะใช้ชีวิตอย่างสงบและเรียบง่าย มีรายได้อยู่อย่างพอเพียง แต่กลับต้องมาต่อสู้ร่วมกับกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ หลังพบความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง
“รู้สึกไม่วางใจ เพราะมีความเสี่ยงในที่ดินทำกินของตนเอง รู้สึกถึงความมั่นคงในที่ดินทำกิน และอาจนำไปสู่การเหมืองทอง เราไม่ต้องการเหมืองทอง”
มีข้อมูลจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ว่ามีคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำค้างอยู่ 177 แปลงในพื้นที่สายแร่ทองคำพาดผ่าน เช่น จังหวัดเพชรบูรณ์ สระบุรี ลพบุรี และจันทบุรี เป็นต้น รวมพื้นที่ 1 ล้าน 6 แสนไร่
กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ซึ่งเป็นประชาชนใน 5 จังหวัด ที่พบอาชญาบัตรขอสำรวจแร่ มารวมตัวคัดค้านการให้ประทานบัตรบริษัท อัคราฯ โดยจับตาการเดินหน้าเหมืองทองคำในพื้นที่ของตนเองอย่างใกล้ชิด
ที่ผ่านมา ภาคประชาชนกลุ่มนี้รวบรวมหลักฐาน ยื่นเรื่องร้องเรียนไปในหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษและ ป.ป.ช. เป้าหมายสูงสุดคือต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ประกาศแหล่งแร่ เพื่อกำหนดทิศทางว่าชุมชนควรจะมีเหมืองแร่หรือไม่
สรุปคดีเหมืองทองคำ
- คดีเหมืองทอง ใน DSI
ปี | คดี | สถานะคดี |
---|---|---|
2559 | ถือครองหุ้นแทนบุคคลต่างด้าว ในลักษณะนอมินี | แจ้งข้อกล่าวหา |
2559 | ทำเหมืองนอกเขตประทานบัตร | อัยการสั่งสอบเพิ่ม 5 ประเด็น |
2559 | เลี่ยงภาษีสำแดงเท็จ | รอผลจากคดีทำเหมืองนอกประทานบัตร |
2559 | บ่อเก็บกากแร่รั่ว | อยู่ระหว่างสอบสวน |
2559 | ขยายโรงงานโลหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต | อยู่ระหว่างสอบสวน |
2564 | ฮั้วประมูลอาชญาบัตร | อยู่ระหว่างพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ |
2565 | ต่ออายุประทานบัตรมิชอบ | อยู่ระหว่างพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ |
- คดีเหมืองทองใน ปปช.
ปี | ข้อกล่าวหา | ผู้ถูกร้อง | ความคืบหน้า |
---|---|---|---|
2560 | อนุญาตเปลี่ยนผังเหมืองแร่ผิด ก.ม. | – สมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดี กพร. | ชี้มูลความผิด ส่งฟ้องศาล |
2560 | อนุญาตโรงงานโลหกรรมมิชอบด้วย ก.ม. เพราะไม่มีอำนาจอนุญาต | – สมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดี กพร. | สอบสวนพบมีมูลเบื้องต้น |
2562-2565 | ละเว้นไม่เพิกถอนประทานบัตร กรณีบริษัทขุดถนนทำเหมืองนอกประทาน/บ่อกากแร่รั่ว/เปลี่ยนผังเหมืองแร่ | – สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อก. – วิษณุ ทับเที่ยง อธิบดี กพร. – นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดี กพร. | อยู่ระหว่างสอบสวน |
2563 | อนุญาตอาชญาบัตร จ.เพชรบูรณ์ ขัดมติ ครม. 10 พ.ค. 2559 | – สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อก. – วิษณุ ทับเที่ยง อธิบดี กพร. | อยู่ระหว่างสอบสวน |
2564 | เดินหน้าอนุญาตประทานบัตร ผิด ก.ม. | – สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อก. – นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดี กพร. | อยู่ระหว่างสอบสวน |
2565 | ฮั้วประมูลอาชญาบัตร/ประทานบัตร | – สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อก. – นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดี กพร. | อยู่ระหว่างสอบสวน |
The Active รวบรวบ (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค. 2565)
บทส่งท้าย
มหากาพย์เหมืองทองอัคราเริ่มขึ้นเมื่อ 4 กรกฎาคม ปี 2530 กระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศกำหนดพื้นที่เพื่อพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่เพื่อเชิญชวนให้ผู้ลงทุนยื่นขอสิทธิ์สำรวจและทำเหมืองแร่
กระทั่ง ปี 2536 บริษัท คิงส์เกตฯ จากออสเตรเลียเริ่มลงทุนในไทยผ่านบริษัท อัครา ไมนิ่ง ชื่อในขณะนั้น เพื่อทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ จน ปี 2544 บริษัท อัคราฯ เริ่มดำเนินการผลิตทองคำเชิงพาณิชย์ พร้อมกันนั้น เริ่มมีปัญหาความขัดแย้งและผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่
ปี 2557 กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง ยื่นร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรี นำไปสู่การตรวจเลือดชาวบ้านรอบเหมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังมีความเป็นไปได้ว่า บ่อทิ้งกากแร่ อาจรั่วซึมออกมาปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก
กระบวนการพิสูจน์ผลกระทบอย่างจริงจัง เริ่มนับตั้งแต่ ปี 2557 เป็นต้นมา ปัจจุบัน ยังเป็นปริศนาไม่สามารถชี้ชัดได้ กระทั่งปี 2559 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปิดเหมืองทอง กลายเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ยืดเยื้อจนถึงเวลานี้
การฟ้องรัฐบาลไทยในศาลอนุญาโตตุลาการ นำมาสู่การเรียกค่าเสียหายหมื่นล้าน และเวลานี้กำลังจะมีการเปิดเหมืองอีกครั้งใน ปี 2565 ภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ ที่เตรียมลุกฮือคัดค้าน นับเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ ที่ยังไม่มีตอนจบ…