ถ้าเรารักใครมาก ๆ เราจะทนได้หรอ ถ้าวันหนึ่งเราต้องเสียเขาไป แล้วไอ้การจากลามันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จะเป็นไปได้เหรอ ที่เราจะรักใครโดยไม่กลัวการสูญเสีย
…แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่า แล้วมันจะเป็นไปได้เหรอ ที่เราจะอยู่ได้โดยไม่รักใครเลย
“รักแห่งสยาม 2550”
ไม่กี่วันก่อนผู้เขียนมีโอกาสกลับมาชมภาพยนตร์ “รักแห่งสยาม” อีกครั้ง แม้ setting ของเรื่องราวจะอยู่ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส แต่ก็ให้ความรู้สึกคล้ายกับห้วงเวลาเดียวกับวันนี้ซึ่งตรงกับวัน “วาเลนไทน์” ที่คู่รัก ครอบครัว จะออกไปใช้ช่วงเวลาแห่งความสุข ความสัมพันธ์ที่มีร่วมกัน
ผ่านมา 17 ปี แต่คำพูดของ “มิว” ตัวละครในเรื่อง ที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียในชีวิต 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ เสียอาม่า และครั้งที่ 2 คือ “โต้ง” ที่เงื่อนไขในชีวิตทำให้ต้องเลิกกัน ซึ่งในภาพยนตร์ก็กำหนดไว้ให้ตรงกับวันคริสต์มาสพอดี คล้ายจะวางให้ชีวิตของมิว ต้องอยู่กับความเหงา ว้าเหว่ภายในใจไปตลอด คำพูดนี้ยังติดอยู่ในความรู้สึกของผู้เขียน ว่าเราจะอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขได้อย่างไรกับความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะ จากเป็น หรือ จากตาย
เมื่อคุยกับ ครูมะขวัญ – วิภาดา แหวนเพชร อาจารย์ผู้สอนวิชาทักษะความสุข มนุษยสัมพันธ์ ให้กับนักศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คำถามแรกที่เราทักทายกันคือ วาเลนไทน์ ทำอะไรได้บ้างถ้ายังคิดถึงคนที่จากไป?
ครูมะขวัญ อธิบายว่า ในขั้นแรกสุดเราต้องกลับมาที่รักตัวเองเป็นอันดับแรกก่อน การจะก้าวออกไปทำอะไรให้กับคนอื่นต้องแน่ใจว่าทำแล้วเราจะมั่นคงแข็งแรง และเข้าใจมากขึ้น โดยอยากให้ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงของวันนี้ ในการเดทกับตัวเอง พาตัวเองไปทำอะไรที่อยากทำ กินของอร่อย แต่งตัวสวย ซื้อดอกไม้ให้ตัวเอง ไปดูหนัง ทำอะไรที่ให้ตัวเองรู้สึกสดชื่นก่อน เพื่อบอกรักตัวเราให้ใจมั่นคง แล้วถ้าเรารู้สึกว่าพร้อม วันนี้รู้สึกมีสิ่งที่อยากทำอะไรให้เขา อยากกลับไปสถานที่แรกที่เราเคยคุยกัน ไปร้านอาหารแรกที่เราเคย เดทกัน หรือถ้าเขาเสียชีวิตไปแล้วเราอยากเข้าวัดทำบุญเพื่อระลึกถึงสิ่งดี ๆ ที่เคยมีด้วยกัน เพื่อเข้าใจคุณค่าของความสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น สามารถทำได้เลย
ความสัมพันธ์ที่แท้จริงมีแก่นอยู่แล้ว เราไม่ได้เกิดมาเพื่อซัปพอร์ตหรือทำร้ายกัน แต่เพื่อเรียนรู้และเติบโตจากอีกคนในบางเรื่องที่เรายังไม่เข้าใจ ดังนั้น ถ้าวาเลนไทน์ทำอะไรให้เขาแล้วเข้าใจธรรมชาติของความสัมพันธ์มากขึ้น ว่าเขาต้องไปในเวลาที่เขาต้องไป และเราก็ได้เรียนรู้เติบโตขึ้นจากการไปของเขาแบบนี้ก็ได้
“สูญเสีย” เพื่อไปสู่ “การเริ่มต้นใหม่” กลไกธรรมชาติที่อนุญาตให้ตัวเองมีความสุข
ครูมะขวัญ ยอมรับว่าอาจฟังเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับคนที่เคยผ่านการสูญเสียในชีวิตมาแล้วเช่นกัน บอกว่า การจากลามีบาดแผลเกิดขึ้นจริง แต่ทุกการจากลาทุกรูปแบบสามารถดีขึ้น และหายได้เร็วกว่าที่เราคิด ค่าเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน-2 ปี หากเข้าใจกลไกของร่างกาย ผ่าน 5 สถานะของความสูญเสีย (5 Stages of Grief)
ระยะที่ 1 ภาวะช็อกและปฏิเสธความจริง (Shock and Denial) เริ่มสูญเสียและติดอยู่ในช่วงช็อก ปฏิเสธ ไม่รับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความจริง บางคนยึดติดอยู่กันมาครึ่งชีวิตอาจจะติดอยู่ในช่วงนี้ระยะยาว เหม่อลอย หรือสร้างโลกจินตนาการขึ้นมาว่าเราอยู่กับเขา ควรสังเกตดูว่าถ้าเราอยู่ในระยะนี้หรือไม่ หรืออาจต้องพบจิตแพทย์เพื่ออยู่กับความจริงว่าเรามีสิทธิที่จะกลับมามีความสุขและดีขึ้นได้ และถ้าเรารักเขาจริงคนที่ตายไปน่าจะอยากเห็นเรามีความสุข อยู่ในโลกใบนี้มากกว่าที่จะเห็นเราเป็นทุกข์ และน่าจะอยากเห็นเราใช้ชีวิตต่อไป
ระยะที่ 2 ความโกรธ (Anger) ช่วงนี้อาจจะโกรธทุกสิ่ง ใครพูดไม่เข้าหูก็โกรธ บางทีอาจจะโกรธคนที่ตายไปว่าทิ้งเราไปทำไม ชิงตายก่อนเราไปทำไม โกรธพระเจ้า สวรรค์ นักจิตบำบัดอาจแนะนำให้เราระบายอารมณ์ ไปเล่นกีฬา ทำให้ความรู้สึกโกรธตามธรรมชาติของจิตใจออกมา
ระยะที่ 3 ลดคุณค่าในตัวเอง (Bargaining) จิตใจจะรู้สึกไร้ค่า เป็นขั้นที่ยากและอาจจะรู้สึกซึมเศร้า การสูญเสียคนรักทำให้เราไปต่อไม่ได้ ขั้นนี้ให้เราไปทำอะไรที่เรารู้สึกมีคุณค่ากับตัวเอง ไปทำงานอาสา ปลูกต้นไม้ ให้เราได้รู้สึกว่าเรามีค่าจริง ๆ กับโลกใบนี้ เรามีค่ากับตัวเองมากเลย
ระยะที่ 4 โศกเศร้าเสียใจ (Depression) ซึมเศร้า ตามกระบวนการของร่างกายจะรู้สึกเศร้า หมดเรี่ยวแรง ตลอดเวลาช่วงนี้คนจะเป็นซึมเศร้าเร็ว คำแนะนำให้เราไปออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายสดชื่นหรือระบายให้เพื่อนฟัง แต่ถ้าการจากลานั้นเป็นแผลรุนแรง เช่น เกิดอุบัติเหตุร่วมกัน เราคือคนที่รอดแต่คนรักคือคนที่ตาย หรือเราเห็นคนรักถูกฆ่าตายต่อหน้า ถ้ามีแผลหนักจากเหตุการณ์แบบนี้ เราสามารถพบนักจิตบำบัด จิตแพทย์ ให้ช่วยพาเราข้ามช่วงนี้ไปได้ เพราะบาดแผลนั้นอาจจะรุนแรงต่อจิตใจ
ระยะที่ 5 การยอมรับ (Acceptance) ในขั้นนี้เราจะเริ่มตกตะกอนว่าเราได้เรียนรู้ เข้าใจอะไรในเรื่องนี้ เราจะเริ่มเข้าใจชีวิต เข้าใจโลก เข้าใจการสูญเสีย เข้าใจธรรมชาติของทุกสิ่งมากยิ่งขึ้น และก้าวต่อไปเอง
ซึ่ง 5 ระยะที่กล่าวไป อาจจะมีความแตกต่างในแต่ละบุคคล ระยะอาจจะสลับกัน
เราสามารถอยู่ไปตลอดชีวิตโดยคิดถึงเขา แล้วสามารถที่จะมีความสุขยินดีที่ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นได้ และเห็นในสิ่งดี ๆ ของมันได้จริง ๆ ท้ายที่สุดจะค่อย ๆ เข้าสู่ขั้นตอนการยอมรับได้แบบหมดใจ กลับมาสงบนิ่งปกติ วันวาเลนไทน์เราก็จะไม่เจ็บปวดแบบคิดถึงจนปวดใจ แต่ว่าจะไม่อันตรายจนเราพาตัวเองไปสู่จุดดำดิ่ง หรือสูญเสีย
ไม่ไหว…(อย่า) บอกไหว การมีตัวช่วยดูแลทางใจเป็นเรื่องสำคัญ
ครูมะขวัญ ย้ำว่า หากความเจ็บปวดนั้นเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ไม่ทุเลาลง อยากให้ลองดูว่าบาดแผลนั้นเชื่อมโยงไปถึงเรื่องในครอบครัวไหม ครอบครัวเราเคยสร้างบาดแผล เช่น จากลาแบบคนรักทุบตีก่อนลาจากเราไป ส่วนในอดีตพ่อแม่เราเคยทุบตีเราแบบเดียวกันไหม แผลแบบนี้สามารถดีขึ้นได้โดยการพบนักจิตบำบัด หาบาดแผลตัวเองให้เจอ ผู้เชี่ยวชาญจะชวนเราทบทวนและตกตะกอนความรู้สึก กลับมารักตัวเอง เป็นบ้านที่มั่นคงให้ตัวเอง
แต่ต้องยอมรับว่า เรามีบุคลากรเหล่านี้ไม่เพียงพอ ในส่วนของนักจิตบำบัดต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยโปรแกรมละ 1,200 บาท ซึ่งถือว่าลำบากเหมือนกันกับความสัมพันธ์ที่ไม่เลือกฐานะ อาชีพ ซึ่งครูมะขวัญคิดว่ากระบวนการเหล่านี้ ควรจะเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา เช่น ผ่านวิชาแนะแนว เพราะเด็ก ๆ รู้จักวิธีการปฐมพยาบาลร่างกาย แต่ไม่รู้ว่าจิตใจเวลาเจอปัญหาเด็กจะตั้งหลักได้อย่างไร และในโลกของผู้ใหญ่ อยากให้เรื่องความรัก ความสัมพันธ์ การจากลา แทรกซึมไปอยู่ในรายการทีวีที่จะเข้าถึงคนได้มากขึ้น ฮีลใจตัวเองเบื้องต้นอย่างที่คนทั่วไปทำได้
เราทิ้งท้ายบทสนทนาก่อนจาก กันด้วยประโยคว่า “เป็นกำลังใจให้นะ” เพราะคาดว่าเราทั้งคู่ก็ต่างพบความสัมพันธ์ที่ล้วนต้องจากลา และเช่นกัน นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ทุกคน เพียงแต่ว่าเราจะก้าวผ่านวันแห่งความรัก หรือ ทุก ๆ วินาทีที่เคลื่อนผ่านไป ไม่ว่าจะจดจำคนในความสัมพันธ์นั้น หรืออยากลืม ไปได้อย่างไร คำตอบอาจอยู่ที่การผู้ให้คำปรึกษาดี ๆ มีสถานที่สักแห่งที่เติมกำลังใจให้กับตัวเอง เพื่อไม่ให้เราต้องสูญเสียตัวเอง หรือสิ่งสำคัญในชีวิตอีกมากมายไปอีก
เช่นเดียวกับการตกผลึกฉากสุดท้ายของ รักแห่งสยาม เมื่อผู้เขียนกลับมาดูอีกครั้งในวัยที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น บทสรุปของ มิว ที่แม้จะเสียศูนย์กับการจากลา แต่เพื่อนและดนตรีคือสิ่งมีค่าที่ทำให้เห็นถึงคุณค่าในการมีชีวิตอีกครั้ง ก่อนจะกลับมานอนที่บ้านหลังเดิม ที่ที่มีความทรงจำดี ๆ ร่วมกับโต้ง และพูดประโยคเดิมเหมือนกับทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิตของมิวเสมอ
“ขอบคุณนะ”