‘บ้านเรียน’ ไม่ใช่การศึกษานอกระบบ แต่เป็นการศึกษาอีกหนึ่งระบบ: รัชพล ฟักทอง
มีใครคนหนึ่งเคยพูดไว้ว่า Home school หรือบ้านเรียน คือการศึกษาแบบนอกระบบ พ่อแม่จะต้องจัดการเรียนให้ลูกเองที่บ้านไม่ต้องไปโรงเรียน ออกแบบการเรียนเอง สอนเองที่บ้าน หรือบางคนจ้างครูมาสอนพิเศษที่บ้าน ฉะนั้นการเรียนลักษณะนี้ จะเกิดขึ้นแค่กับบ้านที่รวยเท่านั้น เพราะประชาชนทั่วไปคงไม่มีกำลังเงิน หรือความรู้มากพอที่จะทำได้
จริงหรือ? นี่คือคำถามหลังจากได้ยินคำนิยามนั้นจบ
หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีใครมาค้าน หรือให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง Home school อีกเลย หลายปีผ่านไป ความคิด และข้อสงสัยนี้ถูกพับเก็บและถูกสิ่งอื่นที่หวือหวากว่าทับถมจนลดความสำคัญในความสงสัยนี้ไป
กระทั่งในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่โหมดประชาธิปไตย(เทียม) เพราะแม้จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ด้วยระบบที่เรียกว่า ประชาธิปไตย แต่ความตลกร้ายการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ขึ้น อยู่กับ สมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง ซึ่งมีพลังมากกว่าเสียงของประชาชนหลายล้านเสียง ส่งผลให้ประชาชนเริ่มไม่เห็นด้วยและไม่พอใจกับสถานการณ์นี้ บวกกับช่วงที่มีการระบาดของโควิด ทำให้หลายกระทรวงในประเทศปั่นป่วนและถูกตั้งคำถามกับการปฏิบัติงานว่าไม่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือระบบ การศึกษา
นั่นทำให้ข้อสงสัยที่ถูกกลบไป ถูกขุดให้กลับขึ้นมามีความสำคัญอีกครั้ง และนั่นเป็นช่วงที่เราได้มีโอกาสคุยกับผู้คนมากมาย และเข้าถึงข้อมูลการศึกษาที่หลากหลายขึ้น
เว็บไซต์ House of Griffin ให้ข้อมูลว่า Home School คือ รูปแบบการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่ผู้เรียนเลือกใช้บ้านเป็นฐานการเรียนรู้แทนการไปเรียนที่โรงเรียนแบบปกติ มีพ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นครูผู้สอน มีการจัดทำแผนการศึกษาโดยอิงจากความสนใจของลูกเป็นหลัก การเรียนแบบนี้ค่อนข้างยืดหยุ่น เพราะมุ่งเน้นที่ความสนใจของเด็ก เพื่อนำไปสู่การค้นพบความถนัดที่แท้จริง ไม่ได้เรียนจากการตั้งกรอบ แล้วให้เด็กไปถึงกรอบนั้น แต่เป็นการเรียนที่ให้เด็กค้นพบศักยภาพของตัวเอง แล้วก็ค่อย ๆ ให้เด็กพัฒนาไปถึงจุด ๆ นั้นด้วยตัวเอง
ขณะที่เว็บไซต์ ignite by OnDemand บอกว่า Home School หรือ การเรียนที่บ้าน โดยมีพ่อแม่เป็นคนออกแบบจัดการเรียนการสอน โดยจะเน้นความสนใจของเด็กเป็นหลัก โดยให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เปรียบเสมือนบ้านเป็นฐานความรู้ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และสังคมรอบตัว เปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นหาตัวเองแล้วพัฒนาไปเรื่อย ๆ ด้วยตัวเอง Home School โดยส่วนมากนั้น จะมีผู้ปกครองเป็นผู้สอนเอง หรือ จ้างครูมาสอนเฉพาะก็ได้
Home School เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย ยิ่งในช่วงการระบาดของ โควิด-19 การเรียนส่วนใหญ่ปรับเป็นการเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน พ่อแม่หลายคนจะต้องสอนลูกเอง และช่วงเวลานั้นผู้ปกครองอาจได้เห็นถึงพัฒนาการลูกอย่างใกล้ชิด เห็นถึงจุดเด่นและจุดที่อาจจะต้องพัฒนาต่อของเด็ก ผู้ปกครองหลายคนก็มองหาตัวเลือกอื่น ๆ ในการส่งเสริมการเรียนของลูกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การเรียนแบบ Homes School ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจมากในปัจจุบัน
การเรียนแบบนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ
โจ้ -จุมพฏ ศรียะพันธ์ ผู้ก่อตั้ง Home school Network ผู้ที่คุกคลีกับการทำ Home School มาเป็นทศวรรษ เคยให้สัมภาษณ์เรื่อง Home school ในประเทศไทยไว้ว่า ไทยแบ่งเป็นสองช่วง 1 ช่วงก่อน พ.ร.บ. การศึกษา 2545 โดยกล่าวว่า ตอนนั้นการทำ Home School ยังผิดกฎหมายอยู่ มีการมีการลักลอบทำการเรียนด้วยการเอาชื่อไปฝากไว้ที่โรงเรียน แต่ไม่ไปเรียน ก่อนหน้านั้นก็มีอยู่เป็นประเด็นบ้าง
แต่หลังจาก 2545 ที่มี พ.ร.บ. การศึกษา มาตรา 12 อนุญาตให้ครอบครัวสามารถจัดการศึกษาได้ เรียกตามภาษากฎหมายคือการจัดการศึกษาโดยครอบครัว พ่อแม่สามารถไปแจ้งกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าประสงค์จะจัดการศึกษาให้ลูกเอง หลังจากจดทะเบียนผ่านเรียบร้อยก็สามารถจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายถึงตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้
สถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ที่จดทะเบียนอยู่ที่ประมาณ 1,000 ครอบครัว ตัวเลขนี้ขึ้นลงบ้างเพราะบางคนก็เข้าออกโรงเรียน แต่ก็มีอีกหนึ่งกลุ่มที่จดทะเบียนผ่านหน่วยงานอื่น ๆ ต่างประเทศไม่ได้มีการสำรวจอยาางจริงจัง ตัวเลขก็อยู่ที่ประมาณหลักหมื่น
183 – 3,033 คือตัวเลขโดยประมาณของผู้เรียน Home School ในประเทศไทย ช่วง10 ปีที่มีการเก็บข้อมูล โดย ศูนย์ประสานสิทธิการศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย ได้เปิดเผย จากการเก็บข้อมูล ทำให้เห็นตัวเลข ในช่วง 2563 ที่เป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 จากตัวเลขหลักร้อย เพิ่มมาเป็นหลักพันในจำนวนนี้ยังไม่รวมคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเขต และต่างประเทศด้วย
ขณะที่ โจ้-จุมพฏ ได้ให้คำนิยาม Home School ไว้ว่า บ้านเรียนคือเรียนอะไรก็ได้ ที่สอดคล้องกับ พัฒนาการของเด็ก ส่วนรูปแบบอื่นขึ้นอยู่กับว่าเราไปจดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนในสังกัดของใคร อีกทั้งกล่าวว่า ตามหลักรัฐธรรมนูญที่พูดถึงสิทธิมนุษยชนบอกว่าเด็กมีสิทธิพ่อแม่มีสิทธิ ครอบครัวมีสิทธิ ดังนั้นตอนนี้เรื่องของ ‘บ้านเรียน’ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนแต่ละคนอยู่แล้วที่เราควรจะมีสิทธิ จัดการศึกษาให้ลูกได้ตั้งแต่แรก ว่ามีสิทธิที่จะเลี้ยงลูก รัฐไม่มีสิทธิที่จะมาพรากตรงนี้ออกไปด้วยการดึงเด็กเข้าสู่การศึกษาแบบของรัฐ
“นอกจากรัฐจัดระบบการศึกษาให้มันเป็นคอมมูนิตี้ของรัฐเอง รัฐควรช่วยเหลือเรา ไม่ใช่ภาคบังคับที่ว่าต้องดึงลูกออกจากเราไปอยู่กับการศึกษาของเขาเท่านั้น”
ซึ่งการเรียน แบบ Home school พ่อแม่คือครูประจำห้อง มีนักเรียนคือลูก และบ้านเรียนเรียนอะไรก็ได้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะต้องทำแผนการเรียนเอง และจะต้องมีเจ้าหน้าที่ศึกษานิเทศของสำนักงานเขตนั้น ๆ ช่วยรีวิวแผน ถ้าตกลงกันได้ว่าแผนที่เราออกแบบสอดคล้องกับพัฒนาการเด็กก็สามารถจัดการศึกษาตามแผนนั้นได้ และต้องไปจดทะเบียนประสงค์จัดการเรียนการสอนโดยครอบครัวกับเขตนั้น ๆ การสอบวัดผลจะเป็นไปตามเขตนั้น ๆ ดูแลและกำหนด
ส่วนรูปแบบอื่นขึ้นอยู่กับว่าเราไปจดทะเบียนหรือไปอยู่ในสังกัดของใคร อย่างเช่น การทำบ้านเรียนออนไลน์เราสามารถซื้อหลักสูตรต่างประเทศมาแล้วขอจดทะเบียนในประเทศไทยก็ได้ หรือบางคนไม่ต้องจดหลักสูตรต่างประเทศเรียนไปเรื่อย ๆ ดีกรีต่างประเทศ จบ ม. 6 สามารถเทียบวุฒิไทยได้เหมือนกัน ศูนย์การเรียนห้องเรียนบางโรงเรียนที่มีหลักสูตรบ้านเรียนก็สามารถทำได้
การจัดการศึกษาโดยครอบครัว จะขึ้นทะเบียนกับสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งผู้ปกครองจะต้องแจ้งกับเขต เพื่อจดทะเบียนการศึกษาโดยครอบครัวกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามพื้นที่อาศัยอยู่ โดยสามารถจดทะเบียนได้ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมปลาย
การสอบเทียบเพื่อรับวุฒิการศึกษาจาก กศน. ตามการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษา หรือ ฝากชื่อ จดทะเบียนกับโรงเรียนที่เปิดรับเด็ก Homeschool สอบเทียบวุฒิมัธยมปลายด้วยหลักสูตรต่างประเทศอย่าง GED (General Educational Development) หรือ IGCSE (Intranational General Certificate of Secondary Education) เพื่อนำไปยื่นเทียบวุฒิการศึกษามัธยมปลาย และสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เช่นกัน
ในประเทศไทย โจ้- จุมพฏ แบ่ง Home School ออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1. การจัดการศึกษาโดยครอบครัว ซึ่งกลุ่มนี้จะขึ้นกับสังกัด สพฐ. 2. กลุ่มศูนย์การเรียน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย 2.1 กลุ่มที่เหมือนโรงเรียน แต่ไม่เข้าข่ายกฎหมายโรงเรียน อย่างเช่น ปัญญาภิวัฒน์ 2.2 กลุ่มที่จดเพื่อรองรับเด็ก Home School กระบวนการเรียนแบบ Home School แต่ต้องประเมินร่วมกับศูนย์การเรียนนั้น ๆ 3. หมู่บ้านเด็ก 4. สถาบันการศึกษาทางไกล ( สทก.) ตั้งอยู่ที่ท้องฟ้าจำลอง เอกมัย กทม. เป็นสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
ทั้งนี้ หากขึ้นทะเบียนหรือเข้าสู่กระบวนการแบบ 4 กลุ่มนี้จะมีกฎหมายรองรับได้รับสิทธิในการดูแล มีงบประมาณชัดเจน แต่มีอีก หนึ่งกลุ่ม ที่ โจ้- จุมพฏ เรียกว่า “กลุ่มดำดิน” เป็นกลุ่มที่ 5 ที่อยู่นอกกฎหมายการศึกษาจะรองรับ แบ่งย่อยออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มเด็กเปราะบางไร้สัญชาติ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเครือข่ายไหน หรือกลุ่มไหนจะเข้าไปดูแล อาจเป็นกลุ่ม NGO หรือมูลนิธิต่าง ๆ และกลุ่มเด็กที่รอสอบต่างประเทศ ซึ่งใน 5 กลุ่มนี้ก็ยังไม่มีจำนวนตัวเลขที่แน่ชัดมากนัก ว่ามีเด็กที่อยู่ในสังกัด ของ สพฐ. เท่านั้น หากจะดูจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา หรือเด็กที่ ทำบ้านเรียน จะต้องสำรวจในแต่ละกลุ่มที่ดูแล ซึ่งแน่นอนว่า มีกลุ่มที่เราไม่สามารถที่จะหาตัวเลขได้แน่ชัดเลยคือกลุ่ม ดำดิน ซึ่งนั่นทำให้เห็นถึงจุดอ่อนของหน่วยงานในไทยเรื่องการเก็บ DATA
ในส่วนค่าใช้จ่ายหากอยู่ในระบบตามที่กฎหมายรองรับจะได้รับงบประมาณจากสังกัดนั้น ๆ ก็จะได้สิทธิเหมือนที่เด็กในโรงเรียนได้รับ ก็คือ “เงินอุดหนุนการศึกษา” โดยเงินอุดหนุนการศึกษาจะแบ่งออกเป็น 5 หมวดด้วยกัน ทั้งค่าเครื่องแบบ ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าจัดการเรียนการสอน และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
รัชพล ฟักทอง หรือ แชมป์ เขาคือหนึ่งในบุคคลที่เคยเรียน Home School มีความสนใจด้านศิลปะเป็นพิเศษโดยเฉพาะดนตรี ค้นพบว่าตัวเองชอบกีตาร์และใช้เวลาเรียนรู้มันอย่างเต็มที่ด้วยการเรียนแบบบ้านเรียน เขาเดินทางไปเรียนกับผู้มีความรู้ด้านกีตาร์หลายคน ตามกำลังแรงและกำลังเงินที่มี นำประสบการณ์จากการที่ได้จากการเดินทาง มาฝึกฝนอยู่กับตัวเองจนเก่งขึ้น
เขามีความฝันอยากทำเพลง อยากเป็นศิลปิน จากการพูดคุยเขาบอกว่าตัวเองเริ่มเรียน Home School ตั้งแต่ ป.3 ถึง ม.6 ตอนแรกวางแผนจะทำสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างเต็มที่ทุ่มเวลาให้กับมัน แต่ก็ต้องชะงักก่อนเพราะเขากังวลว่าต้องเกณฑ์ทหาร ในชีวิตวัย 21 ปี หากติดขึ้นมาจริง ๆ ในช่วงที่ทำงาน เขาจะต้องพักความฝันนั้นไว้กลางทางเป็นแน่ และยิ่งเขาจบเพียงแค่วุฒิ ม.6 นั่นหมายถึงว่า ถ้าได้ใบแดงเขาจะต้องพักความฝันไว้ถึง 2 ปี เขาจึงตัดสินใจสอบเทียบ และเข้าเรียนในระบบมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เพื่อที่จะแลกกับการได้ผ่อนผันทหาร หรือถ้าเกิดติดขึ้นมาอย่างกังวลจริง เขาก็จะไม่ได้เสียเวลาถึง 2 ปีในการพักความฝัน
ย้อนกลับไปราว ๆ 4 ปี ซึ่งตอนนั้นเขาเรียน Home School อยู่ เรามีโอกาสได้รู้จักเขาในช่วงที่ตัวของเขาเองไปเป็นอาสาสอนเทควันโด้ ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ในเวลาที่เราได้เจอเขา เขาก็ใช้ช่วงเวลาที่เหลือจากการสอนไปเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน ด้วยรถตู้คัน เก่า ๆ โทรม ๆ ของครอบครัว
เขาเล่าว่า บ้านเรียน คือแนวคิด เรียนอะไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ แล้วมันเริ่มจากที่บ้านแค่นั้นเอง เขาอ้างอิงวิธีที่คนเฒ่าคนแก่ สอนพ่อกับแม่มา สอนตากับยายเรามา แล้วเขาอยู่ได้ เหตุใด ทำไมเขาถึงอยู่ได้ โดยที่ไม่ต้องเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือการศึกษาที่สูงอะไรขนาดนั้น
“ทั้ง ๆ ที่คุณย่าคุณยายเรียนจบแค่ ป.4 ก็สามารถอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ ทุกอย่างมันคือองค์ความรู้ ที่สามารถเรียนรู้ในชีวิต Home School คือการเอาหลักการนั้นมาใช้แค่นั้นเอง พ่อแม่รู้อะไรสอนลูกแบบนั้น ลูกสนใจอะไรก็ส่งเขาไปเรียนอันนั้น จุดของมันคือตรงนี้“
Home School อนุญาตและให้โอกาสกับเด็กที่จะเลือกว่าเขาอยากจะเรียนอะไร และให้เวลากับเขาอย่างเต็มที่ และจริงจังกับสิ่งที่เด็กอยากจะเรียนจริง ๆ และพ่อแม่มีหน้าที่ ที่จะสนับสนุน และในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของเด็กคือ ตอนเด็กมาจนถึงวัยรุ่น เขาได้อยู่กับพ่อแม่หรือครอบครัวได้อย่างเต็มที่ อันนี้คือแนวคิดหลัก ๆ ที่ส่วนตัวคิดว่า Home School เป็น
“พอแยกออกมามันไม่ใช่นอกระบบ แต่เป็นอีกระบบหนึ่ง อันนี้คือทางครอบครัวผม หรือเครือข่าย Home School พยายามจะพูดกัน”
ตัดสินใจเรียน Home school ตั้งแต่เมื่อไร ตัดสินใจเองหรือครอบครัวตัดสินใจให้
พ่อแม่ตัดสินใจ แล้วก็ถามว่าจะออกมาจากโรงเรียนไหม คือถาม เพื่อให้เราตัดสินใจเองด้วย ตอนนั้นถามพ่อกับแม่ว่าจะยังได้เจอเพื่อนที่โรงเรียนไหม พ่อก็บอกว่าต้องได้เจอแหละ แต่ว่าความเป็นจริง คือไม่ได้เจอนะเพราะว่า สุดท้ายแล้วเขาก็มีชีวิตในเมืองเราก็อยู่อีกที่หนึ่ง แล้วก็ไม่ได้เจอกัน และไม่รู้จะนัดเจอกันอย่างไร ช่วงนั้นก็ยังไม่มีเฟซบุ๊ก แต่ยุคนี้มีแล้ว นั่นแหละประเด็น
“ขอกลับไปที่คำถามก่อนหน้า ตอนแรกก็เป็นการตัดสินใจของพ่อกับแม่ เขาก็เล็งอยากทำบ้านเรียนมาตั้งนานแล้ว ก็เลยมาถามเรา เราก็ถามว่ายังเจอเพื่อนอยู่ไหม ถ้าเจอเราก็โอเค เอาก็ได้ แต่ว่าพอเรียน 1-2 ปี เราก็รู้ว่าเราเลือกถูก มันดี และท้ายสุดเราเจอทางที่เราชอบจริง ๆ และใช้เวลาอยู่กับมัน
อันนี้สำคัญมากที่ต้องพูด คือตอนเรียนในโรงเรียนไม่มีปัญหาอะไรเลยนะ รักโรงเรียนมาก เพราะผมเป็นคนชอบเข้าสังคม แล้วที่โรงเรียนผมก็สนุกเวลาอยู่กับเพื่อน บางคนก็จะคิดว่ามีปัญหากับโรงเรียน หรือไม่ชอบอะไรสักอย่างในโรงเรียน แต่จริง ๆ คือ ไม่ บางคนอาจมีปัญหาจริง ๆ แล้วออกมาทำก็เป็นอีกบ้านหนึ่ง แต่บ้านผมคือไม่เลย บ้านที่เป็นเพื่อนผมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีปัญหา อะไรขนาดนั้น แต่พอเราคุยกันไปลึก ๆ ก็รู้อยู่ดีว่า ในระบบมันมีอะไรที่ไม่โอเคบ้าง ทุกคนก็รู้กัน
ถ้าเลือกได้เราก็จะเลือกอันที่ดีที่สุดให้กับลูก เพราะฉะนั้นผมว่าคุ้มที่ออกมา มันอาจจะมีบางช่วงที่คิดว่า ถ้าเราอยู่ในโรงเรียน ช่วงเวลานี้ต้องสนุกมากแน่ ๆ มันก็ต้องมีอยู่แล้วเพราะเราเติบโตมากับสังคมที่ ทุกคนอยู่ในโรงเรียน ภาพ จินตนาการ ของชีวิตในรั้วโรงเรียนมันเยอะ พอลองคิด พ่อกับแม่ก็ถามตลอดว่า อยากกลับไปโรงเรียนไหม จะมีจังหวะนี้กันอยู่ เพราะว่าเพื่อนผมหลายคนก็เป็น คือจังหวะที่พ่อแม่หยอดถามว่าอยากลองเข้าโรงเรียนไหมอะไรแบบนี้
“บางคนก็กลับไป น้องผมที่สนิทกันเขาก็กลับไปเป็นโรงเรียนสาธิต ที่แนวใหม่มาก ๆ แต่เขาเลือกได้ไง แต่ประเด็นคือเขาอยากกลับเข้าระบบ และเขาก็ตัดสินใจ โอเคว่า อาจจจะเป็นโรงเรียนที่แปลกหรือดี แต่ประเด็นของมันก็คือ อยากเข้าระบบไหม เขาบอกว่าอยาก พ่อแม่เขาก็พาเขาไป แค่นั้นจริง ๆ เขาเปิดกว้างกับเด็กมาก เห็นความต้องการที่แท้จริง ของเด็กคนนั้นคืออะไร”
การศึกษา แบบ Home School เป็นทางเลือกไหม
ใช่ มันเป็นทางเลือก อีกระบบหนึ่ง ทุกอย่างมันต้องมีการจัดการ ระบบหมายถึงการจัดการ Home School ก็ต้องมีการจัดการ มันจะอยู่ได้ยังไง ยั่งยืนได้อย่างไร ถ้าไม่มีการจัดการ ใครทำอะไรก็ได้ ใช่ไหม แต่ว่าเรื่องนี้แหละที่เป็นหลักการที่ Home School เขาให้ความสนใจ เด็กต้องการเรียนรู้อะไร พ่อแม่มีหน้าที่สนับสนุนให้ถึงที่สุด แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ว่า เรื่องนี้ คอร์สนี้ พ่อกับแม่ยังไม่สามารถที่จะส่งไปเรียนได้ ก็แก้ปัญหา และว่ากันไป เอาไปเรียนอย่างอื่นที่สนใจก่อน ทดลองไปกับบางสิ่ง เล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน
แล้วโรงเรียนที่ดีคืออะไร ก็เป็นคำถามออกมาอีก ซึ่งสุดท้ายก็กลับมาที่ ถ้าถามว่าอะไรดีกว่ากันสุดท้ายมันก็อยู่ที่ว่า คุณเป็นใครและทำอะไร คำตอบก็คืออะไรเหมาะสมที่สุดต่างหาก ซึ่งบ้านผมพ่อกับแม่เป็น ฟรีแลนซ์เราสามารถเลือกได้ว่า Home School เราทำอย่างไร เราทำได้ ทำไหวเราก็ทำ
มายาคติ Home School คือโรงเรียนคนรวย
ในยุคแรกมันไม่มีโมเดลให้คุณ ว่าจะเป็นไปได้อย่างไรกับการเรียนที่คุณไม่ได้อยู่ในโรงเรียน ฉะนั้นก็ต้องลองผิดลองถูก และการลองผิดลองถูก มันล้วนแล้วแต่มีอะไรรองรับ คือบ้านผมไม่ได้ยากจน แต่เราเติบโตมาจากชาวนาซึ่งถูกเรียกว่า ชนชั้นรากหญ้า แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จน เรื่องนี้ค่อนข้างเซนซิทีฟว่า เอาอะไรมาวัด ว่าจนหรือรวย เราต้องมองข้ามเรื่องนี้ไปก่อน บ้านเรามีต้นทุนทางที่ดิน เราปลูกผักกินเองได้ เรามีปลา เรามีน้ำ ถึงเราไม่มีเงินเลย เราก็อยู่รอดได้อันนี้คือต้นทุนของเรา และพ่อกับแม่เคยมาทำงาน และเรียนในกรุงเทพฯ แบบนี้ในแง่ของความรู้ก็พอมีบ้าง และรู้สึกว่าวิธีชีวิต เป็นวิธีชีวิตที่พ่อกับแม่เลือกแล้วว่าต้องใช้ยังไง กลับมาอยู่กับตัวเองเป็นนายตัวเองไม่ได้อยากเป็นลูกจ้างใคร
ด้วยต้นทุนทั้งหมดนี้ เราก็เลือกที่จะทำ และมันก็ลำบากมาพอสมควร ลำบากในที่นี้ ไม่ใช่จากบ้านเรียน แต่ลำบากจากสภาพคนปกติ ทุกคน ทุกบ้านมีปัญหา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ ‘บ้านเรียน’ ปกปติผมอยู่กับพ่อกับแม่ เพราะฉะนั้นคนจะกลัว ว่าถ้าเอาลูกออกนอกโรงเรียนจะต้องส่งลูกไปเรียน นู่นนี่นั่นไหม อย่าพึ่งคิดไปไกล เอาที่มี ที่เหลือก็จัดการเอา ว่าจะส่งเสริมลูกไปยังไง เพราะสุดท้ายแล้วการศึกษา ก็มีธุรกิจ มีค่าเทอม คุณก็เอาค่าเทอมมาเลี้ยงลูกก็ได้ เพราะฉะนั้นมุมมองของผมก็เลยรู้สึกว่า ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องรวย คนชั้นกลางค่อนไปล่างก็ยังทำได้ง่าย ๆ ขึ้นอยู่กับว่าวิธีชีวิตคุณเอื้อไหม
สุดท้ายปัจจัยหลักของมันก็คือ วิถีชีวิต ปัจจัยของผมคือผมทำได้ บ้านทำได้เพราะพ่อกับแม่เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองรู้ และมันขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของพ่อกับแม่ด้วย คือพ่อแม่ต้องอย่าลืมนะว่าเขาก็ถูกเลี้ยงมาในสังคมแบบเก่า ซึ่งสังคมแบบเก่านี่แหละเป็นตัวสร้างบรรทัดฐานที่ว่า ความรู้คืออะไร แล้วจะต้องอยู่ระดับไหน
ความรู้คืออย่างน้อย คุณต้องรู้คณิตศาสตร์ บวก ลบ คูณ หารเป็น แล้วขณะที่ตอนนี้ผมอายุ 21 ยังท่องสูตรคูณไม่ได้ เข้าใจไหมครับ แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกเป็นปัญหาของผม เพราะผมมีเครื่องคิดเลข เรามีเครื่องมือ ทำไมเราไม่ใช้ อะไรแบบนี้ มันก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องจัดการว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร แล้วพอเลือกวิถีชีวิตแล้วก็ต้องดูว่าเราสามารถที่จะเลี้ยงดูลูกของคุณได้แบบไหน ในแบบที่คุณไม่ได้คาดหวัง แค่คุณรู้สึกว่า โอเคที่ได้พาลูกออกมา
หนึ่งปลอดภัย ทั้งภายในและภายนอก ภายนอกก็คือเขาจะไม่ได้รับอันตราย ภายในคือเขาจะได้รับความสบายใจ และรู้สึกได้เป็นตัวเอง เพราะหัวใจหลักของมันคือเด็กได้ค้นพบตัวเอง ค้นหาตัวเอง
Home School เป็นหลักสูตรทางเลือกได้ไหม
คำตอบนี้มันขึ้นอยู่กับว่าคุณใช้ตัววัดอะไร เพราะว่าคำว่าหลักสูตร Home School มันไม่มีอยู่จริง วิธีการเรียนการสอนแบบบ้านเรียน คือพ่อแม่จัดหลักสูตรให้กับลูก แล้วไปส่งให้กับคนที่ขึ้นทะเบียนว่าคุณทำหลักสูตรแบบนี้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง จะให้ผ่านไหม ถ้าผ่านก็ไปสอนลูกตามนั้น นี่ก็เป็นอีกหนึ่งที่ทำให้ผมมีปัญหากับเขตในตอนที่อยู่ ม.1 แล้วเราไม่อยากมาเรียนที่กรุงเทพฯ เพราะเราอยู่พิษณุโลกมันไกลมากแล้วเราไม่มีเงินค่าเทอมขนาดนั้น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเคลียร์กับเขต แต่เขตเราไม่เข้าใจ
มันมีเขตที่เข้าใจ และไม่เข้าใจเพราะแต่ละเขตก็มีคนจัดการเขตอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราต้องทำข้อตกลงกับคนในเขต แต่พอเขาอ่านหลักสูตรแล้วเขา ไม่เข้าใจมันเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ หรืออะไรก็ว่ากันไป เหมือนเขาจะเข้าใจ แต่อยู่ ๆ เขาก็บอกจะไปเยี่ยมบ้านนะ แล้วคนก็แห่มา 10 กว่าคน แล้วแต่ละคนเป็นครูคนละวิชาแล้วแต่ละคนก็มาถามผมว่า หนูเรียนคณิตฯ ยังไง อังกฤษยังไงซึ่งมันโหดมากสำหรับเด็ก ม. 1
“ตอนนั้น ผมเอ๋อไปเลย แล้วพ่อผมที่ไม่ได้ทำเอกสาร เลยไม่รู้รายละเอียดของหลักสูตร ส่วนใหญ่แม่เป็นคนดีลหลักสูตร พ่อจะสอนเทควันโด และวิธีชีวิตเป็นหลัก อะไรแบบนี้ ส่วนเรื่องวิชาการแม่จะเป็นคนพยายามจะสอน ต้องบอกว่า พยายามจะสอน เพราะผมไม่เรียน เห็นไหมว่าสุดท้าย แล้วถึงพ่อกับแม่จะบังคับ ยังไงถ้าลูกไม่เรียนก็คือไม่เรียน แล้วทุกวันนี้ผมก็ใช้ชีวิตได้ปกติสุขดี”
เขตไม่เข้าใจเรื่องหลักสูตร ตัววัดที่เป็นหลักสูตรแบบที่เด็กปกติโรงเรียนในระบบ มันไม่มีสำหรับเด็กใน Home School มันมีสอบแต่สอบของเรามันไม่ใช่เด็กเอากระดาษกับปากกาไปเขียนคำตอบแบบปรนัย อัตนัย มันไม่มี แต่สอบของผมจากประสบการณ์ตรง ตอน ป.4 – ป.6 ในหนึ่งปี จะมี 3 วันที่เด็กบ้านเรียนที่ขึ้นทะเบียนที่นี่ จะต้องมารวมตัวกัน ที่นี่คือหมู่บ้านเด็กที่กาญจนบุรี แล้วจะเป็น 3 วันแห่งปีที่เราจะได้เจอเพื่อน ซึ่งเพื่อนที่บ้านเราก็มี แต่นี่จะเป็นเพื่อนที่เป็น Home School ซึ่งยุคนั้นมันจะน้อยมาก ไม่มีคำถามที่ว่านายเรียนอยู่ที่นี่หรอ เพราะเรามีกันอยู่น้อยมาก ร้อยกว่าครอบครัว เพื่อนที่เป็นบ้านเรียนเราจะได้เจอกันจริง ๆ ปีละครั้ง และเราจะไปเล่นสนุกกัน ที่นั่นเราเรียกว่าการประเมิน แต่การประเมินของเราก็คือ เด็ก ๆ อยู่ด้วยกัน แล้วมันเป็นยังไง เขาอยู่ในสังคมได้ไหม คำตอบคือได้ และไม่ได้
แต่มันก็มีรายละเอียดปีกย่อยที่ในหลักสูตรจะมีแบบประเมินที่พ่อกับแม่เคยเขียนหลักสูตรเอาไว้ แล้วลูกทำอันนี้ได้แล้ว อันนี้ลูกยังทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้แล้วเขาอยู่ในสังคมได้ไหม คำถามสุดท้ายคือเขาอยู่ในสังคมได้ไหม และคำตอบที่ทำให้เราผ่านขึ้นมาได้ คือเราอยู่ได้ไง นั่นแหละประเด็น และมันไม่มีเด็กคนไหนสอบตกในที่นี้ เพราะว่ามันวัดจากอะไรสอบตกหรือสอบผ่าน
อย่างการวาดรูป ซึ่งผมก็วาดการ์ตูนไปเรื่อย ๆ ไม่มีสาระอะไร ที่เด็กในระบบเขาวัดกัน ผมบอกว่าวิชาศิลปะสามารถที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ดีก็คือศิลปะในโรงเรียนคือการที่วาดรูปตามโจทย์แล้วครูก็ให้ดาวห้าดาวคะแนนเต็ม 100 จะให้เท่าไหร่แต่ศิลปะจริง ๆ มันไม่มีคะแนน มันคือคุณรู้สึกยังไงกับงานศิลปะชิ้นนี้แค่นั้นเลยมันง่ายมาก มันก็เห็นถึงความเหมือนและความต่าง
ระบบหลักสูตรมันถูกออกแบบมาเมื่อ 100 ปีเพื่อที่จะพาเด็กโตไปเป็นผู้ใหญ่อย่างไร เพื่อที่จะทำอะไร แต่พอเป็นบ้านเรียนกลับเป็นการตั้งคำถามที่ว่าเขา จะโตไปแล้วค้นพบตัวเองอย่างไร แล้วชีวิตนี้เขาจะทำอะไรมันก็แค่นั้น
“นั่นแหละครับผมเลยว่าหลักสูตรของบ้านเรียนไม่มีอยู่จริง แล้วมันเปลี่ยนไปตลอดเวลาเปลี่ยนไปทุกปีตามความสนใจของเด็ก เรามีผู้ใหญ่มาถามว่าบ้านเรียนเป็นอย่างไรบ้าง ต้องมองว่าผู้ใหญ่ที่โตมาในสังคมที่คิดบรรทัดฐานและค่านิยมอันหนาเตอะ เขาจะต้องหาว่าอะไรดีกว่า แต่ประเด็นที่ผมจะบอกคือมันไม่มี
นี่คือสิ่งที่ผมพูดกับพวกเขาอยู่ตลอดถ้าคุณรู้สึกว่าทำแล้วมันต้องทำให้ลูกคุณว่าติดอยู่ในกรอบใหม่ ไม่ต้อง สู้ไปหาเงินแล้วพาลูกคุณไปเรียนในโรงเรียนที่จะทำให้ลูกคุณไม่อยู่ในกรอบดีกว่า ประเด็นของมันอยู่ตรงนี้แต่ถ้าเกิดว่าคุณเอาลูกออกมาจากโรงเรียนแล้วก็ยัดลงไปในกรอบใหม่มันก็เท่านั้น เพราะฉะนั้นหลักการที่ทำให้บ้านเรียนมันแตกต่างคือสิ่งนี้แหล่ะ อิสรภาพในการเลือกของเด็ก
บทสนทนาของเรากับแชมป์ จบด้วยการเน้นย้ำจากเขาว่า บ้านเรียนไม่ใช่การศึกษานอกระบบ แต่เป็นการศึกษาอีกหนึ่งระบบที่ตั้งต้นจากความชอบของผู้เรียน