‘ตะวัน’… สึนามิ ภาพจำ ความสูญเสีย : พลิกอดีตเป็นพลัง (คนรุ่นใหม่) ‘จัดการภัยพิบัติ’


ในโอกาสครบรอบ 20 ปีสึนามิ ตะวัน ทรายอ่อน เยาวชนวัย 21 ปี ลูกหลานบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ตั้งใจกลับบ้านมารำลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้ง ปู่ ย่า และอา ที่ต้องจากไปเพราะมหันตภัยสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547

หลังไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย และต้องอยู่ห่างบ้าน ตะวัน จึงถือโอกาสนี้มาเยี่ยมพ่อ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากสึนามิครั้งนั้น ทุกภาพความสูญเสีย ยังอยู่ในความทรงจำ และเป็นบาดแผลที่ไม่เคยลืม

“วันนั้นพ่อออกทะเลไปกับปู่ของตะวัน คลื่นมันสูงมากจนเรือล่ม ปู่ถูกน้ำพัดเสียชีวิต พ่อรอดมาถึงฝั่ง ก็พบว่าแม่ หรือ ย่า กับ น้องสาวตัวเอง หรืออาของตะวัน เสียชีวิตที่บ้านหลังนี้แล้ว”

อาทิตย์ ทรายอ่อน (พ่อ ของตะวัน)

“ส่วนผม แม่อุ้มผมวิ่งหนีขึ้นต้นไม้ ผมก็เลยรอด ตอนนั้นผมแค่ 1 ขวบเอง”

ตะวัน ทรายอ่อน

ตะวัน ทรายอ่อน – อาทิตย์ ทรายอ่อน (พ่อ)

เพราะเกิดและโตมากับทะเล ประมงจึงเป็นอาชีพหลักของพ่อ ที่หาเลี้ยงตะวันมาจนเติบใหญ่ แต่ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อรายได้และอาชีพหลักของพ่อและคนในชุมชน

“วันนี้พ่อไม่ได้ออกเรือ ลมแรง ออกไปไม่คุ้มค่าน้ำมัน ทุกวันนี้หาปลาได้น้อยลง เมื่อเทียบกับสมัยก่อนเกิดสึนามิ ตอนนั้นปลามีเยอะมาก พ่อมองว่าปริมาณปลาที่น้อยลงอาจมาจากหลายสาเหตุ แต่เรื่องที่เขาว่ากัน ทั้งโลกร้อน โลกรวน สภาพอากาศต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ก็มีผลแน่ ๆ”

ตะวัน ทรายอ่อน

ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ยากจะควบคุม รวมทั้งความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินอย่างมหาศาลจากสึนามิ ชาวบ้านริมชายฝั่งอันดามัน จึงตกอยู่บนความเสี่ยง นี่เป็นเหตุผลให้ ตะวัน ตั้งใจเข้ามามีบทบาทจัดการภัยพิบัติให้กับชุมชน

“เปลี่ยนบาดแผล ความสูญเสีย มาเป็นพลังจัดการภัยพิบัติให้กับชุมชน แม้เราห้ามภัยพิบัติไม่ได้ แต่เราสามารถป้องกัน รับมือ เพื่อลดความรุนแรง ความเสียหายสูญเสียให้น้อยลงได้ สิ่งสำคัญคือเราจะต้องเดินหน้าให้ชาวบ้าน พ่อแม่พี่น้องซึ่งมีอาชีพหลักเป็นชาวประมง ที่อยู่ตรงริมหาดตรงนี้ ให้อยู่รอดปลอดภัย”

ตะวัน ทรายอ่อน

อาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย ที่ศูนย์เตรียมความพร้อมบ้านน้ำเค็ม เป็นจุดเริ่มต้นที่ตะวัน เข้าไปมีบทบาท จนนำไปสู่การมีส่วนร่วมจัดการ ซักซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติ ให้กับชุมชนทุกปี

และเพื่อให้เข้าถึงองค์ความรู้อย่างจริงจัง ตะวัน จึงเลือกเรียนต่อ สาขาการจัดการภัยพิบัติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎ์ธานี


และตอนนี้เขาฝึกงานอยู่ที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.พังงา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยอยู่ที่ ปภ.ส่วนกลาง นี่จึงเป็นความตั้งใจ ที่ตะวันหวังให้สิ่งที่เขาร่ำเรียนมา มีส่วนช่วยให้ชุมชนรับมือ และลดความสูญเสียจากภัยพิบัติให้ได้มากที่สุด

“ตอนนี้งานหลัก ๆ ของผม คือทำแผนเผชิญเหตุสึนามิ ประจำปี 2568 เนื่องจากเรามีแค่แผนปี 2565 เลยต้องปรับปรุงให้ตอบโจทย์บริบทในปัจจุบัน เพื่อปรับปรุงแผน เป็นแผนออกมา เวลาเกิดภัยให้รับมือได้ ทั้งการเผชิญเหตุ แผนอพยพต่าง ๆ ที่สำคัญคือต้องดึงเอาชุมชนมามีส่วนร่วม และถ้าเราเอาแผนไปให้โดยเขาไม่มีส่วนร่วม ผมถือว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราช่วยสอนเขา มาร่วมกันทำ ผมว่ามันไปได้สวย และแผนการรับมือภัยพิบัติโดยชุมชนก็จะไปได้ดี

ตะวัน ทรายอ่อน

บาดแผล ความสูญเสียจากภัยพิบัติในอดีต ไม่สามารถกลับไปเปลี่ยนแปลงได้ แต่จากนี้บทเรียน และองค์ความรู้ของ ตะวัน กำลังจะถูกใช้เพื่อมาเปลี่ยนแปลงอนาคต และ ไม่ว่าจะเผชิญกับภัยพิบัติรูปแบบใด ชุมชนต้องอยู่รอดให้ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ