ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ก.ค. 2562 คณะรัฐมนตรี โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงนโยบายด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ และคุ้มครองวิถีชีวิตของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อรัฐสภา ด้วยการกำหนดให้มีกฎหมาย “การส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์“ ที่ปรากฏในภาคผนวก 1 ร่างกฎหมายที่สำคัญ ที่คณะรัฐมนตรีจะตราขึ้น เพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสังคม ที่รัฐบาลจะต้องผลักดันให้มีพระราชบัญญัติเขตส่งเสริมและคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งตามกรอบต้องให้แล้วเสร็จทันในรัฐบาลชุดนี้
แต่หากนับถอยหลัง ห้วงเวลาที่เหลืออยู่อีกไม่มากของรัฐบาล กลายเป็นคำถามว่าร่างกฎหมายที่จะเป็นการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมของผู้คนในสังคม จะยังฝากความหวัง และเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ตามที่แถลงต่อรัฐสภาได้หรือไม่
ร่างกฎหมายชาติพันธุ์ฯ ในมือนายกฯ และรัฐบาลปัจจุบัน ที่ยังไกลเส้นชัย
แม้ร่างกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ที่เข้าชื่อเสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ขณะนี้จะได้รับการบรรจุระเบียบวาระ เพื่อรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่เนื่องจากร่างกฎหมายอีก 3 ฉบับ คือ 1) ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่เสนอโดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ และเครือข่ายชาติพันธุ์ 2) ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคก้าวไกล
และ 3) ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ถูกตีความเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง
หากนับจากห้วงเวลาที่กลุ่มพีมูฟชุมนุมเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ เร่งลงนามรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2565 จนถึงขณะนี้ที่นายกรัฐมนตรีต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ หลังรับคำร้องเพื่อวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี และถึงแม้รักษาการนายกรัฐมนตรี จะมีอำนาจในการลงนามรับรองได้ แต่ความหวังก็ยังเลือนลาง เพราะที่ผ่านมาในยุครัฐบาลนี้ ยังไม่มีการลงนามรับรองร่างกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงิน หรือเรียกได้ว่า ถูกตีตกแทบทั้งสิ้น
ส่วน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ของกระทรวงวัฒนธรรม โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่มีสถานะเป็นร่างกฏหมายของรัฐบาลตามแผนปฏิรูปประเทศ และคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้อยู่ในกระบวนการกลั่นกรอง เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบ ที่ล่าช้าตามที่หลายฝ่ายประเมิน เนื่องจากมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทับซ้อนหลายหน่วยงาน และมีการทักท้วงไม่เห็นด้วยในบางประเด็น เช่น กรณีการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมที่อาจจะทับซ้อนกับพื้นที่เขตอนุรักษ์ และการไม่ยอมรับนิยามคำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง จึงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ยิ่งทำให้ทอดเวลาออกไป ซึ่งหากไม่เร่งรัดให้ผ่านการพิจารณาของ ครม. การจะไปถึงให้ถึงเส้นชัยผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติก็ริบหรี่ เพราะเงื่อนเวลาที่เหลืออยู่ของสภา จะมีเวลาอีกประมาณเพียงแค่ 7 เดือนเท่านั้น
หลายพรรคตบเท้า หนุนร่าง ก.ม.ชาติพันธุ์ ทุกฉบับ เร่งรัฐบาลพิสูจน์ความจริงใจต่อกลุ่มชาติพันธุ์
ถือเป็นทิศทางที่ดี เมื่อเวทีเสวนาสาธารณะผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่อาคารสัปปายะสภาสถาน รัฐสภา มีตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้ง พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน รวมถึงตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา ตบเท้าเข้าร่วม พร้อมประกาศสนับสนุนการผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทุกฉบับ
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 70 บัญญัติไว้ รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดํารงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุขฯ โดยไม่ถูกรบกวน ด้วยเหตุนี้ คงไม่มีใคร ที่จะไม่สนับสนุนและส่งเสริม
“แม้แต่นายกรัฐมนตรีเอง ถ้าไม่เซ็นรับรอง เพราะเป็น พ.ร.บ.การเงิน ถือว่าท่านใจดำ ประเด็นปัญหาคือวันนี้กฎหมายฉบับนี้เข้ามา ซึ่งการเกิดกฎหมายทุกฉบับ ต้องเกิดเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน วันนี้รัฐธรรมนูญสั่งให้เปิดแล้ว และปวงชนส่วนหนึ่ง อย่างพรรคผม อยู่ในภาคใต้ ถือว่าเป็นชนกลุ่มหนึ่งในชาติพันธุ์ เราเห็นด้วยว่าต้องมีกฎหมายฉบับนี้ ผมให้คำมั่นสัญญา ว่าทางกระบวนการนิติบัญญัติ เราสนับสนุนให้มีร่างกฎหมายนี้เต็มที่“
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ
ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2562 นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฏร จะผลักดัน ก.ม. ที่จะคุ้มครองสิทธิวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะต้องแล้วเสร็จในปี 2563 แต่ถึงตอนนี้กลับเดินหน้าไม่ถึงไหน แต่ตนมองว่าการเมือง คือ เรื่องของความเป็นไปได้
ที่บอกว่าการเมืองมีความเป็นไปได้ คือสิ่งที่คิดว่าไม่น่าเกิดขึ้น หรือเป็นไปไม่ได้มันเกิดขึ้นแล้ว ยกตัวอย่างร่างกฎหมายซ้อมทรมาน ที่เราคิดว่ารัฐบาลไม่ยอมรับ และไม่นำเข้าสู่การพิจารณา แต่ผู้นำฝ่ายค้านใช้เวลา 4 นาที ใช้มติที่ประชุมวิปฝ่ายค้าน เจรจาพูดคุยกับวิปรัฐบาล และขอให้นำร่างกฎหมายนี้เข้าในวันที่เกิดเหตุกรณีผู้กำกับซ้อมผู้ต้องหาเสียชีวิต ที่ จ.นครสวรรค์, กฎหมายสุราก้าวหน้า หลายคนบอกเป็นไปไม่ได้ ต่อสู้กลุ่มทุน แต่วันนี้รับหลักการ เช่นเดียวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก็รับหลักการแล้ว
“ผมคาดหวังว่ากฎหมายชาติพันธุ์ของรัฐบาล ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ดำเนินการคงจะแล้วเสร็จแล้ว ตอนนี้จึงเป็นเรื่องที่ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ต้องนำเสนอใน ครม. และส่งร่างให้เร็วที่สุด เพราะรับปากไว้ตั้งแต่ปี 2563 แต่นี่ปี 2565 แล้ว ผมเชื่อว่ากระบวนการและเวลาที่เหลือเป็นไปได้ ที่จะทันถูกบรรจุวาระ หากไม่ทันสมัยการประชุมนี้ ก็มีอีกสมัยประชุม แม้นายกฯ อาจจะต้องออกไปก่อน ส่วนพรรคก้าวไกล ยืนยันเจตจำนงทางการเมือง และเห็นว่าเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เรื่อง ส.ส. ส.ว. อย่างเดียว เป็นเรื่องของคนทุกคน หากตระหนักในสิทธิ ช่วยกันเดินหน้า จะนำไปสู่การเดินหน้ากฎหมายนี้“
ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อดีตอนนี้คือมีหนึ่งร่างที่รอในระเบียบวาระประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และไม่ต้องกังวลว่าอีก 4 ร่างจะเข้าได้ไม่ได้ เพราะใช้กลไกสภาได้ หรือถ้าเป็นร่างกฎหมายทางการเงิน ต้องได้รับการรับรองจากนายกฯ แต่ที่ผ่านมานายกฯ คนนี้ไม่เคยรับรองกฎหมายทางการเงินที่ส่งจากสมาชิกสภาฯ จากภาคประชาชนเลย แต่ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนสามารถเสนอเข้าไปได้
“พวกเราเสียงข้างน้อย แต่ตอนนี้ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ตรงนี้ ทั้งวิปฝ่ายค้าน วิปรัฐบาล เราสามารถเจรจาเลื่อนเรื่องมาพิจารณาลำดับต้น ๆ ได้ สำคัญคือต้องช่วยกันเร่งรัดส่งเสียงบอกนายกฯ อีกส่วนคือ การทำเป็นลายลักษณ์อักษร มีหนังสือถึงเลขานายกฯ ให้กฎหมายในสภาที่มีความหลากหลายในการนำเสนอไปประกบกัน และในส่วนสภาฯ ฝ่ายค้านรับไปให้สมาชิกยกขึ้นในการปรึกษาหารือ เพื่อให้มีกฎหมายนี้ในระเบียบวาระ ส่วนอีก 4 ฉบับ ที่ตีเป็นกฎหมายการเงิน ไม่ต้องกังวล เพราะในชั้นการพิจารณา เมื่อมีมติให้รับหลักการ พวกท่านจะได้สัดส่วน กมธ. 1 ใน 3 ก็ให้ท่านเตรียมร่างตัวเองแต่ละร่าง เข้าสู่ชั้น กมธ. ไปแปรญัติเสนอความเห็นสอดเข้าไปแต่ละหมวด คือการเอากฎหมายไม่ผ่านการรับรองนายกฯ แต่เราเอาไปใส่ในชั้น กมธ. ได้ ก็จะเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์“
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ยุพราช บัวอินทร์ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฏร ในฐานะตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในนามพรรคประชาธิปัตย์ และในนามพรรคร่วมรัฐบาล ขอร่วมสนับสนุนผลักดันร่างกฎหมายนี้ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้บ้านนี้เมืองนี้ สามารถลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมให้มีอยู่จริง และไม่อยากให้เกิดขึ้นจริงเฉพาะแค่ตอนหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งนี้ เชื่อว่าทุกพรรคก็ต่างร่วมเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้
นอกจากนี้ยังมี ศุภชัย ใจสมุทร เป็นตัวแทนพรรคภูมิใจไทย ที่แม้ไม่ได้อยู่ร่วมเวทีเสวนา เนื่องจากติดภารกิจ แต่ได้รับหนังสือและรายละเอียดร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ จากตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
ด้าน เนาวร้ตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา อนุกรรมมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนาคุณธรรมจริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา กล่าวว่า หากร่างกฎหมายนี้ผ่านมาถึงวุฒิสภา ต้องเข้า กมธ.การศาสนาฯ แน่นอน ซึ่งตนเห็นว่าไม่น่าเป็นปัญหา เพราะสหประชาชาติก็ให้การรับรองแล้ว ขอเพียงให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมา รับรองในชั้น ส.ว. นั้นผ่านแน่นอน และหน้าที่หลักของวุฒิสภาคือติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดในส่วนหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ เข้าใจว่าร่างรัฐบาลที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เป็นผู้ร่าง มีความยาก ด้วยระบบราชการ แต่เห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดผลักดันให้เร็ว
เมื่อองคาพยพฝ่ายนิติบัญญัติล้วนเห็นพ้อง แสดงเจตจำนงในการร่วมผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 5 ฉบับ คงต้องติดตามว่า ต้นทางคือรัฐบาล ที่แถลงนโยบายให้ความสำคัญในการผลักดันร่างกฎหมายเหล่านี้ จะพิสูจน์ความจริงใจในการดันร่างกฎหมายดังกล่าว สู่เส้นชัยแล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้ทันต่อการพิจารณาของรัฐสภาที่เหลือระยะเวลาไม่ถึง 7 เดือนนี้หรือไม่