สุขในบั้นปลาย? ฝันให้ตาย…ก็ไปไม่ถึง

‘วันผู้สูงอายุสากล’ (International Day of Older Persons) ที่องค์การสหประชาชาติ กำหนดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ก็เพื่อแสดงให้เห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

แต่ในวันที่ทรัพยากรบุคคลวัยนี้ ไม่ใช่แรงงานหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมที่ไร้ซึ่งสวัสดิการ ชีวิตที่ไร้งาน ไร้เงินเก็บ อาจทำให้ช่วงบั้นปลายของใครหลาย ๆ คน มองไม่เห็นทางไปต่อ

โดยเฉพาะหากใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลาง ‘ความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย’ หนึ่งในปัญหาที่ถูกเรียกร้องกันมาทุกปีเนื่องใน ‘วันที่อยู่อาศัยสากล’ 3 ตุลาคม สิ่งนี้กำลังบ่งบอกว่านี่คือปัญหาร่วมระดับชาติ ที่ทุกฝ่ายไม่ควรมองข้าม

หนึ่งในนั้น คือ ‘เป้า พรหมใจ’ หรือ ป้าเป้า ในวัย 65 ปี เธอสะท้อนเรื่องราวผ่าน The Active ว่า แม้จะก้มหน้าก้มตาทำงานมาทั้งชีวิต แต่จนตอนนี้ก็ยังไม่มีเงินเก็บ ไม่ต้องคิดไปถึงการจะมีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะห้องเช่าเล็ก ๆ ที่เรียกว่าบ้านในเวลานี้ ก็กำลังจะถูกไล่รื้อ ยิ่งกว่านั้นอาจถึงขั้นต้องแยกทางกับสามีด้วยความจำเป็น

ป้าเป้า อาศัยอยู่ย่านตลาดน้อยมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ สมัยนั้นยังไม่ได้จ่ายค่าเช่าเป็นตัวเงินแต่จ่ายเป็นค่าแรงแทน พอที่ดินถูกขายเปลี่ยนมือ เจ้าของเอกชนจึงทำสัญญาให้เช่าในภายหลัง

ตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ เป็นหนึ่งในหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ ที่นี่ติดกับถนนเยาวราช, สําเพ็ง, คลองถม และเสือป่า เต็มไปด้วยห้างร้าน ตลาด ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และถนนคนเดิน บวกกับรูปแบบการเดินทางที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างสะดวกมากขึ้นตั้งแต่มีรถไฟฟ้าใต้ดินวัดมังกร ย่านนี้จึงถือเป็นพื้นที่เมืองชั้นดี ที่ดึงดูดผู้คนหลากหลาย

ชะตาชีวิตแรงงานราคาถูก

หนึ่งในนั้นคือ แรงงานรับจ้างราคาถูก หรือที่เรียกเขาว่า “คนจนเมือง” หากดูรายจ่ายของคนจนเมือง จะพบว่า ต้นทุนค่าเช่าบ้านเป็นภาระที่สูง และอาจสูงเกินครึ่งของรายรับเลยก็ว่าได้

พวกเขายอมใช้ชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานเพื่อให้ได้อยู่ในเมืองใกล้แหล่งงาน บางคนอยู่ในที่ดินบุกรุกทั้งเอกชน รัฐ บางคนเช่า แต่ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ทั้งหมดก็อยู่กันแบบเสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ เลิกเช่าได้ทุกเมื่อ และป้าเป้า คือหนึ่งในนั้น

เป้า พรหมใจ หรือ ป้าเป้า

“ตอนแรกที่เข้ามาอยู่ ป้าทำเป็นแค่เพิงหมาแหงน มีเงินก็ต่อเติมเรื่อย ๆ เจ้าของที่ดินเขาก็มาเก็บตอนแรก ๆ ปีละ 1,000 บาท ขึ้นมาเรื่อย ๆ ตอนนี้ เป็น 8,000 บาท ส่วนค่าน้ำ ค่าไฟ เราก็ขอพ่วงจากบ้านข้าง ๆ จ่ายให้เขาทุกเดือน เดือนละ 1,700 บาท”

ป้าเป้า เรียนหนังสือจบแค่ชั้น ป.2 เขียนได้อย่างเดียวคือชื่อของตัวเอง เมื่อไม่ได้เรียนก็ออกมาเป็นแรงงานรับจ้างตั้งแต่อายุ 8 ขวบ  ส่วนใหญ่คืองานแม่บ้าน และรับจ้างทั่วไป เช่น ล้างจาน 

“รับจ้างบ้านคุณนาย เป็นคนใช้เขา ให้อาทิตย์ละ 25 บาท สมัยนั้นเยอะนะ”

ไล่รื้อ = ความล่มสลายชีวิตครอบครัว

ป้าเป้า ใช้แรงงานรับจ้างมาตั้งแต่ 8 ขวบ วันนี้อายุ 65 ปีแล้ว เกือบทั้งชีวิตที่ผ่านมาของเธอ ยังไม่มีเงินเก็บ ไม่มีงานประจำ หนักกว่านั้นคือความไม่แน่นอนของที่อยู่อาศัย  

“เราไม่คิดว่าจะอยู่ตลอด รู้ว่าจะต้องมีสักวันที่ถูกเลิกเช่า คิดว่าจะออกให้เขาแหละ แต่เราก็อยากอยู่ที่นี่ เพราะงานแถวนี้มันหาง่าย”

ป้าเป้า มีลูก 2 คน คนโตอาศัยอยู่กับเธอที่บ้านย่านตลาดน้อย หลังที่กำลังจะถูกไล่รื้อ แต่เขามีปัญหาด้านสุขภาพ ทำงานไม่ได้มาพักใหญ่แล้ว

ส่วนสามี ที่เคยเป็นเสาหลักของครอบครัว เมื่อมาล้มป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ส่งผลให้ตอนนี้เป็นอัมพฤกษ์ ช่วยเหลือตัวเองได้ลำบาก แน่นอนว่าภาระทุกอย่างจึงตกอยู่ที่ป้าเป้าคนเดียว แผนที่เธอวาดไว้ในวันที่จะถูกไล่รื้อ คือยังไงก็จำเป็นต้องแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทางกับสามี

“ป้าจะไปขออาศัยอยู่บ้านลูกสาวที่นครปฐม จะเอาพี่ชายเขาไปด้วย ส่วนลุงไม่ใช่พ่อเขา ป้าว่าจะเอาไปไว้ที่สถานสงเคราะห์ เพราะเขาไม่ยอมไปด้วย ป้าก็เกรงใจลูกสาว เขาก็มีภาระเลี้ยงลูก ผ่อนบ้าน แต่เราไม่มีที่ไปก็ต้องแยกกัน เอาเขาไปไว้ที่นั่นเผื่อลูกชายเขามารับ”

บ้าน(เช่า) คนจนเมือง เอื้อมไม่ถึง

แม้ความต้องการจริง ๆ คือ อยากใช้ชีวิตต่ออยู่ในย่านนี้ แต่เมื่อไปตระเวนหาห้องเช่า ป้าเป้า ก็ยอมรับว่า สู้ราคาไม่ไหว เพราะตอนนี้ก็มีรายได้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการรับจ้างดูแลผู้ป่วยติดเตียง และก็มีรายได้จากเบี้ยคนชรา บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งต้องเจียดเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวแบบวันต่อวันเท่านั้นก็แทบไม่พอ หากไปอยู่กับลูกสาวก็อยากทำงานหารายได้แบ่งเบาภาระลูก ใจก็นึกอยากขายข้าวแกง แต่ติดปัญหาที่ไม่มีทุน 

ยังมีแรงงานรับจ้างราคาถูกในเมืองหลวงขนาดใหญ่อีกไม่น้อย ที่กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับครอบครัวของป้าเป้า 

ข้อมูลจาก ‘ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน’ ระบุว่า มีผู้สูงอายุที่ยากจนในเขตเมืองเกือบ 700,000 คน หากดูสัดส่วนประชากรของไทย ในปี 2565 เป็นปีแรกที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุถึง 20% และประมาณ 10 ปีข้างหน้า จะเข้าสู่สังคม ‘สูงวัยสุดยอด’ สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 28% ขณะที่สวัสดิการที่รองรับคนกลุ่มนี้ มีเพียงเบี้ยคนชรารายเดือน ส่วนสถานสงเคราะห์คนชรา รองรับได้เพียง 2,000 กว่าคนเท่านั้น 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส