ภาวะทางจิตใจของคนรุ่นใหม่ ทำไม ‘เราไม่เก่ง’ เท่าคนอื่น
บางช่วงเวลาของชีวิต การเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยอาจทำให้หลายคนหวั่นกลัวกับการเติบโต เพราะเมื่อหันไปมองสังคมที่กว้างใหญ่ก็พบว่ายังมีคนจำนวนมากที่กำลังแข่งขันกัน ซึ่งตัวเราก็เป็นหนึ่งในนั้น เราจึงอดที่จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้คนมากมายไม่ได้ แม้ว่าจะพยายามแค่ไหน ทำไมยังรู้สึกว่าเราไม่เก่งเท่าคนอื่น
ความหวั่นกลัวอาจเกิดขึ้นอยู่เสมอภายในใจของใครหลาย ๆ คน ซึ่งมักตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราไม่เก่งสักเรื่อง ทำอะไรก็ห่วย เพื่อนคนอื่นเก่งกว่าเราตั้งเยอะ อีกทั้งยังเกิดความกดดันจนเห็นแต่ด้านลบของตัวเอง ซึ่งการมีความรู้สึกแบบนี้ทางด้านจิตวิทยา เรียกว่า ‘imposter syndrome’
ภาวะ ‘imposter syndrome’ คืออะไร
วันเฉลิม คงคาหลวง นักจิตวิทยาการปรึกษาอิสระ และเจ้าของเพจ ‘Trust.นักจิตวิทยาการปรึกษา’ ได้อธิบายภาวะ ‘imposter syndrome’ ว่า เป็นภาวะที่เราพยายามเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว เมื่อเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เรามองว่าเก่งกว่า หรือคนที่เราอยากเป็นเหมือนเขา ก็ทำให้เกิดอาการผิดหวังกับตัวเอง อาจเกิดเป็นความรู้สึกเศร้าหรือนำไปสู่การเป็นซึมเศร้าได้เช่นกัน
“imposter syndrome เริ่มต้นจากการเกิดความสงสัยในความสามารถ สงสัยในคุณค่าของตัวเอง แล้วก็พยายามเปรียบเทียบ เหมือนเราพยายามหาไม้บรรทัดมาวัดคุณค่าตัวเอง แต่เราดันไปเลือกไม้บรรทัดที่สูงเกินไป ไม้บรรทัดที่อาจจะไม่เหมาะกับเรา แล้วไม่ได้เข้ามาตระหนักกับปัญหาจริง ๆ ของตัวเองว่ามันคืออะไรกันแน่ ทำไมถึงมีความรู้สึกแบบนี้”
วันเฉลิม คงคาหลวง – นักจิตวิทยาการปรึกษาอิสระ
คนที่เกิดภาวะ ‘imposter syndrome’ อาจมีความรู้สึกเหล่านี้ซ่อนอยู่ภายในจิตใจ แต่ไม่ได้แสดงออกผ่านบุคลิก ส่วนมากจะอยู่ในช่วงวัยรุ่น แต่กว่าจะเกิดความรู้สึกที่ชัดเจนก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมของแต่ละคนด้วย ซึ่งอาจเติบโตขึ้นมาในบริบททางสังคมที่ต่างกัน บางคน อายุ 15 ปี ก็อาจเกิดภาวะนี้แล้ว ส่วนช่วงอายุ 18 – 35 ปี ก็เป็นช่วงอายุที่มีการเปลี่ยนผ่านในหลายด้าน ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน และการหาตัวตน อย่างการถามหาความมั่นคงในชีวิตจนถึงการถามหาคุณค่าของตัวเอง
ไม่ยอมรับความสามารถของตัวเอง ปฏิเสธการถูกชื่นชม
“อาจจะขาดการยืนยัน ขาดคนที่คอยยอมรับตัวตน และความสามารถตั้งแต่แรก มันก็เหมือนกับส่วนสำคัญมันหายไปตั้งแต่แรก เลยเป็นส่วนที่ขาดไม่สามารถเติมให้เต็มได้”
วันเฉลิม คงคาหลวง – นักจิตวิทยาการปรึกษาอิสระ
คงต้องหาสาเหตุว่า ‘ทำไม’ เราถึงเลือกปฏิเสธคำชื่นชมจากคนอื่น นั่นอาจเป็นเพราะการไม่ยอมรับความสามารถของตัวเอง คิดว่าเราไม่ดีพอที่จะได้รับคำชื่นชม มักมีความคิดว่า ‘ขนาดเรายังไม่ชื่นชมตัวเองเลย แล้วคนอื่นมั่นใจได้อย่างไรว่าเก่งแล้ว’ โดยจะมีการตั้งคำถามกับตัวเองตลอด ซึ่งความรู้สึกนี้อาจมีความคาบเกี่ยวกับ ‘imposter syndrome’ แต่ก็มีจุดต่างที่ว่า
“คนที่มีภาวะ ‘imposter syndrome’ เขายังปรารถนาได้รับคำชื่นชม การยืนยัน การยอมรับจากอีกคนหนึ่งอยู่ ก็จะมีความรู้สึกหวาดกลัวว่า ถ้าทำอย่างนี้อีกฝ่ายจะผิดหวังไหม มันก็เป็นความรู้สึกแบบนี้ที่เกิดขึ้นมา”
วันเฉลิม คงคาหลวง – นักจิตวิทยาการปรึกษาอิสระ
การที่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเป็นหนึ่งในภาวะที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งอยู่ในวัยเรียน และวัยทำงาน ที่กำลังตามหาความสำเร็จอยู่ เพราะการเติบโตในสังคมที่มีการแข่งขันสูงย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนกับการแข่งขันในรายการเซอร์ไววัลที่ต้องเอาตัวรอดในแต่ละด่านให้ได้ หลาย ๆ คนเลยกลัวว่าจะล้มเหลวก่อนถึงเส้นชัย แต่บางครั้งที่ล้มก็ดันกลายเป็นตัวเราเองที่ไปซ้ำเติมบาดแผลของตัวเองอีกรอบ ด้วยการลดทอนคุณค่าตัวเอง
หยุนเทียน วัย 23 ปี และ บิว วัย 25 ปี เป็นตัวอย่างเสียงของคนรุ่นใหม่ที่สะท้อนภาวะทางจิตใจออกมา เพราะทั้งแรงกดดันจากตัวเองและสังคมรอบข้างส่งผลให้ทั้งสองคนเกิดความรู้สึกที่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
“รู้สึกว่ามันกลายเป็นสิ่งที่ติดอยู่กับตัวเราไปแล้ว ตอนแรกเราแค่รู้สึกว่าไม่เก่ง พอเวลาผ่านไปด้วยสังคมรอบข้าง เพื่อน คนรอบตัว มีแต่คนเก่ง มีแต่คน outstanding ยิ่งทำให้มันไม่ใช่รู้สึกแค่เราไม่เก่ง มันกลายเป็นว่าเราไม่มีอะไรดีเลยสักอย่าง”
หยุนเทียน
หยุนเทียน เป็น first jobber ที่เริ่มเข้าทำงานหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ได้เล่าเรื่องราวชีวิตของเธอตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย จนถึงการเริ่มทำงานให้เราฟัง น้ำเสียงของหยุนเทียนดูมีความมั่นใจ และเป็นคนกล้าแสดงออก หากมองในมุมของคนทั่วไปก็ถือว่าชีวิตของเธอนั้นดูมีทางเลือกที่หลากหลายทั้งในแง่การศึกษา และการใช้ชีวิต เธอเติบโตมาในครอบครัวที่สามารถมอบทางเลือกเหล่านี้ให้ได้ แต่ชีวิตย่อมมีสองด้านเสมอถึงแม้หยุนเทียนมีโอกาสได้เรียนในมหาวิทยาลัยและคณะที่หลายคนอยากเรียน แต่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยก็ทำให้เธอพบกับอะไรมากมายที่กดดันความสามารถของเธอ
หยุนเทียน เริ่มมีความคิดว่าตัวเอง ‘ไม่เก่ง’ ตั้งแต่ช่วงเข้ามหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 รู้สึกว่าสังคมในคณะมีแต่คนเก่ง ทุกคนโดดเด่น จนทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองธรรมดาเกินไป เพราะไม่มีประสบการณ์และทำกิจกรรมเยอะเหมือนคนอื่น ๆ การอยู่ในที่ที่รายล้อมไปด้วยคนเก่ง ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองหดเล็กลง ต้องพยายามทำอะไรหลายอย่างให้เยอะขึ้นเพื่อที่จะได้วิ่งตามคนอื่นให้ทัน แต่สุดท้ายก็กลับรู้สึกว่ายังเก่งไม่พออยู่ดี
“เหมือนสิ่งนี้มันขยายใหญ่ขึ้นในตัวเรา เราก็ใช้ชีวิตอยู่กับความรู้สึกนี้ โดยที่รู้สึกชินชาไปแล้ว ว่าแบบทำอะไรไม่ได้ ก็เราเป็นแบบนี้ สุดท้ายเราก็ไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ”
หยุนเทียน
เมื่อมองย้อนเรื่องราวชีวิตของหยุนเทียนที่ผ่านมา ความกดดันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งความผิดหวังเรื่องการเรียน และความคาดหวังจากครอบครัว ส่งผลต่อสภาวะจิตใจของเธออย่างมาก จนเคยมีอาการที่รับมือไม่ได้กับทุกเรื่องที่ถาโถมเข้ามา เกิดการโทษตัวเอง จึงเลือกเข้ารับการปรึกษาจากนักจิตวิทยา ในช่วงกำลังเรียนอยู่
เวลาของชีวิตมหาวิทยาลัยผ่านพ้นไป เข้าสู่ช่วงเริ่มทำงาน แต่ความรู้สึกคิดว่าตัวเองไม่เก่งของหยุนเทียนไม่ลดลงเลย ยังคงรู้สึกแบบนี้อยู่ทุกวัน ยังคงเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ เช่น เมื่อเพื่อนร่วมงานได้รับคำชม กลับทำให้หยุนเทียนตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘เรายังไม่เก่ง ไม่ดีพอ เพื่อนทำได้ แต่เราทำไม่ได้’
หยุนเทียนเคยพยายามลองปรับความคิดของตัวเอง โดยการพูดคุยกับรุ่นพี่ ซึ่งอยากให้ลองพยายามพูดดี ๆ กับตัวเอง ให้กำลังใจตัวเอง ‘ถ้ายังมองว่าตัวเองไม่เก่งแล้วคนอื่นจะมองว่าเราเก่งได้อย่างไร’ ซึ่งหยุนเทียนมองว่าก็เป็นคำแนะนำที่สมเหตุสมผล แต่เมื่อพยายามปฏิบัติแล้วมันไม่ได้ง่ายเลย เธอไม่ได้มีความเชื่อมั่นขนาดนั้น
เมื่อเราถามหยุนเทียนว่า ‘ชอบตัวเองตอนไหนมากที่สุด’ เธอให้คำตอบกับเราว่า เธอจำครั้งสุดท้ายที่ชอบตัวเองไม่ได้แล้ว ก็ทำให้เรารู้สึกถึงภาวะนี้รุนแรงมากขึ้นในตัวหยุนเทียน
“แล้วเราจะทำได้เหมือนเขาไหม ในอายุที่ไล่เลี่ยกัน เราจะสามารถมีเงินเดือนได้เท่าเขาไหม จะมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานเท่าเขาไหม”
บิว
บิว เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ที่กำลังตั้งคำถามกับตัวเองเกี่ยวกับเป้าหมายของการทำงาน ซึ่งการทำงานในวงการวิชาการทำให้เขาต้องพบเจอกับผู้เชี่ยวชาญเก่ง ๆ จนทำให้อดที่จะเปรียบเทียบการทำงานของตัวเองกับคนอื่นไม่ได้
บิวเล่าให้ฟังว่าจุดเปลี่ยนของความกดดัน เริ่มขึ้นตั้งแต่ไปเรียนปริญญาโทที่ไต้หวัน เขารู้สึกว่าในขณะที่เพื่อนคนอื่นเริ่มหางานทำ แต่เขากลับเลือกที่จะเรียนต่อในสายวิชาที่ไม่ใช่ Hard Skill ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความคิดว่าเรียนจบแล้วจะไปต่อในทิศทางไหน ทักษะที่มีจะเพียงพอในการทำงานหรือไม่ กังวลว่าการเรียนปริญญาโท 2 ปีจะคุ้มค่าไหม การไปเรียนต่อที่ไต้หวันเป็นครั้งแรกที่บิวได้เจอกับสังคมชาวต่างชาติ ได้เจอกับโลกที่กว้างขึ้น บิวจึงค้นพบว่าทักษะที่ตัวเองมียังไม่พอ‘เราสู้เขาไม่ได้’ ในเวทีนานาชาติยังมีคนที่มีความสามารถมากกว่า
หลังเรียนจบ บิว ได้เข้าสู่การทำงาน แต่ความกดดันยังคงอยู่ พร้อมกับความรู้สึกที่ว่าจะสามารถอยู่ในสายงานนี้ได้นานแค่ไหน จนเกิดความเครียดว่างานนี้มันใช่สำหรับตัวเองหรือเปล่า นอกจากนี้บิวยังมองภาพของโลกทุนนิยมที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งทำให้เขาลดทอนความสามารถของตัวเองด้วยการมองภาพว่าคนอื่นว่าดีกว่า
“แล้ววันหนึ่งมันเกิดคำถามว่าเราจะสามารถก้าวไปเป็นเหมือนเขาได้หรือเปล่า ทำให้มีความรู้สึกลึก ๆ ว่าเรายังไม่เพียงพอ ยังไม่เก่งเพียงพอ เราต้องการหาประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น หาความรู้เพิ่มมากขึ้น เพื่อที่วันหนึ่งเราก็อยากที่จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเหมือนกับคนอื่น ๆ ในวงการ”
บิว
แต่ในอีกมุมหนึ่งบิวก็พยายามปรับตัวเพื่อรับมือกับความรู้สึกนี้ เขามองหาจุดอ่อนของตัวเองว่าควรปรับตรงจุดไหน เพื่อที่จะทำให้ความรู้สึกที่ว่า ‘เราไม่เก่งว่ะ’ มันค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ’ ในตอนแรกเขาไม่สามารถรับมือได้กับความรู้สึกนี้ ได้แต่เก็บไว้ในใจ เพราะไม่รู้จะปรึกษาใคร แต่ก็ค้นพบว่า ‘การพูดคุย’ เป็นวิธีที่ทำให้เขาหลุดพ้นจากความรู้สึกนี้ ซึ่งบิวได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่เรียนอยู่ไต้หวัน ในเรื่องการปรับตัวและมุมมอง เพราะไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แต่เราควรเอาการเปรียบเทียบมาเป็นแรงผลักดัน ในการพัฒนาความสามารถให้เพิ่มขึ้น ‘ในเมื่อรู้สึกว่าไม่เก่ง ก็ต้องขวนขวายหาความรู้มาเติมเต็ม’
เมื่อเราถามว่า ‘ชอบตัวเองตอนไหนมากที่สุด’ บิวตอบเราอย่างภูมิใจว่า การที่ผลงานวิชาการหรืองานวิจัยของเขาได้ถูกเผยแพร่ ทำให้เขาอยากทำต่อไปเรื่อย ๆ ‘งานที่เราทำ งานที่เราเหน็ดเหนื่อย เขียนมา วิจัยมา มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่เห็นคุณค่าแล้วเอางานเราไปเผยแพร่ต่อในวารสารวิชาการ’ เพราะการเอาความรู้ที่มีไปเผยแพร่ให้กับคนอื่นหรือคนที่อยู่ในสาขางานเดียวกัน เขาจะได้รับความคิดเห็นต่าง ๆ ที่จะนำกลับมาพัฒนาตัวเองต่อไป
เสียงสะท้อนจาก ‘หยุนเทียน’ และ ‘บิว’ ทำให้เราเห็นภาพของสังคมที่ส่งผลต่อสภาวะจิตใจของคนหนึ่งคน ความกดดันของคนรุ่นใหม่กลายเป็นสิ่งที่เราพบเจอได้มากขึ้น ซึ่งแต่ละคนก็มีมุมมองความรู้สึกของการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นต่างกัน มีวิธีการรับมือที่ต่างกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมของแต่ละคน
“เราสามารถมองคนอื่นด้วยความรู้สึกที่คิดว่าเขาดี แต่ไม่สามารถมองตัวเองว่าตัวเองดีได้”
หยุนเทียน
หยุนเทียน มองว่า โซเชียลมีเดียทำให้เราเห็นแต่ภาพดี ๆ ของคนอื่น เพราะเห็นแต่มุมที่คนนั้นประสบความสำเร็จ การที่เราเห็นทั้งด้านดีและไม่ดีของตัวเองเยอะที่สุด เราจึงเอาตัวเองไปเปรียบเทียบแต่ด้านดีของคนอื่น ยิ่งมีแต่ทำให้เราตัวเล็กลง
ส่วนบิวให้ความเห็นเรื่องความเข้าใจด้านสุขภาพจิตของคนรุ่นใหม่ ว่า การที่ผู้ใหญ่มองว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่สู้งาน หรือ มีปัญหาเรื่อง mental health เป็นเรื่องผิดปกติในมุมมองของพวกเขา แต่บิวมองว่าเป็นเรื่องปกติของคนรุ่นใหม่ที่สามารถเกิดปัญหานี้ได้ ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรทำความเข้าใจให้มากกว่านี้
คำแนะนำจากนักจิตวิทยาก็อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สามารถบรรเทาความรู้สึกนี้ได้ แต่สิ่งที่ ‘หยุนเทียน’ กับ ‘บิว’ บอกตรงกันคือ ‘การพูดคุย’ เป็นวิธีที่ช่วยทำให้รู้สึกนี้ดีขึ้น แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องอาศัยความมั่นคงทางจิตใจของแต่ละคนในการก้าวข้ามภาวะ ‘imposter syndrome’ นี้ไปได้