ภารกิจหลักของ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คือการยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำให้พรรคไทยรักไทย เคยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายมาแล้ว และนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย
“บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค” อยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ในยุคนี้บัตรทองกำลังจะถูกยกระดับเป็น “บัตรทองรักษาทุกที่” ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย โดย หมอชลน่าน ประกาศใช้ชื่อนโยบายว่า “30 บาทพลัส”
เวที Policy Forumครั้งที่ 1 นโยบายสาธารณสุข ที่ไทยพีเอสจัดขึ้น เฝ้าจับตาดูการยกระดับบัตรทองว่าจะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ เพราะยังมีรายละเอียดอีกมากจำเป็นต้องมีการวางรากฐานการแพทย์ปฐมภูมิ และพัฒนาหน่วยบริการใกล้บ้านให้มีความเข้มแข็ง ประชาชนมั่นใจเข้าไปใช้บริการ ไม่เกิดการกระจุกตัวในโรงพยาบาลใหญ่ และไม่เกิดเหตุการณ์โรงพยาบาลปฏิเสธคนไข้ ไม่มีการเรียกส่วนต่างเพิ่ม ไม่ว่าจะไปรักษากับโรงพยาบาลใด
The Active นำข้อสังเกตเหล่านี้ไปตั้งคำถามกับ หมอชลน่าน ในวันแถลงนโยบายสาธารณสุขอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 ได้รับคำตอบว่า
“แม้ไม่มีบัตรประชาชนรักษาทุกที่ แต่ก็เป็นพฤติการณ์พฤติกรรมของสถานบริการที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขจะให้ความสำคัญเพราะเราถือเป็นโรงพยาบาลของประชาชน การที่จะปฏิเสธคนไข้ หรือการที่จะไปเรียกรับสิ่งที่ไม่เหมาะสมนั้น เราจะวางระบบให้เอื้อต่อการรักษาทุกที่ และยากมากที่โรงพยาบาลจะปฏิเสธคนไข้”
Q : ระบบที่วางไว้จะไม่เอื้อให้โรงพยาบาลปฏิเสธคนไข้ทำอย่างไร?
การจัดระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล การจัดบริการที่ดีมีความพร้อม ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการ ถ้าหากไม่ฉุกเฉินสามารถที่จะนัดหมายเจอแพทย์ได้ มีระบบการจ่ายยาและตรวจเลือดใกล้บ้าน วางไว้ให้เอื้อต่อการทำงาน จริง ๆ แล้วนโยบายรักษาทุกที่คือต้องการลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดขั้นตอนให้คนไข้ได้เจอหมอนานขึ้น ไม่ใช่เจอหมอแป๊บเดียวแล้วก็กลับไป
Q : (ถามย้ำ) ในยุคของท่าน ที่จะใช้นโยบายบัตรประชาชนรักษาทุกที่ จะไม่มีโรงพยาบาลไหนปฏิเสธคนไข้ และจะไม่มีการเรียกรับส่วนต่างใช่หรือไม่ ?
“เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เราจะพยายามทำความเข้าใจกับสถานบริการ ซึ่งเรามีเข็มมุ่งเดียวกัน เหตุการณ์ที่ว่านั้นคงไม่เกิดขึ้น”
ระบบคลาวน์สุขภาพ ที่ยังไม่เรียบร้อยดี
อีกประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อบัตรทองรักษาทุกที่กลายเป็นนโยบาย Quick Win ที่ต้องทำให้เห็นผลจริงเลย 100 วันแรก โดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าจะนำร่องก่อนใน 4 เขตสุขภาพคือ เขตสุขภาพที่ 1 เป็นเหนือตอนบน เขตสุขภาพที่ 4 เป็นพื้นที่ภาคกลาง เขตสุขภาพที่ 9 ภาคอีสานตอนใต้ และเขตสุขภาพที่ 12 เป็นพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
แต่หัวใจสำคัญของ ‘การรักษาทุกที่’ คือต้องเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ประวัติผู้ป่วยให้ถึงกันทุกโรงพยาบาล ซึ่งผู้วางระบบนี้คือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES)
Q : ถามว่าใน 4 เขตสุขภาพที่นำร่องบัตรทองรักษาทุกที่นั้นใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูล หรือ ระบบคลาวน์ ของใคร?
ระบบคลาวน์ของกระทรวงดีอีเอส ยังไม่เสร็จเรียบร้อยและต้องใช้ระบบของกระทรวงสาธารณสุขไปก่อน
สอดคล้องกับเสียงสะท้อนมาจากบุคลากรในพื้นที่นำร่องว่า ระบบของกระทรวงสาธารณสุขก็ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลอื่น ๆ ได้ 100% จึงน่าจับตาดูต่อไปว่าการวางระบบคลาวน์สุขภาพที่มีหน้าตาสมบูรณ์แบบเป็นอย่างไร เพราะต้องถือว่าเป็นระบบใหญ่ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของระบบสาธารณสุขไทยไปอีกฉากหนึ่ง ซึ่งจะการันตีถึงความยั่งยืนของนโยบายรักษาทุกที่
ยกระดับ รพ.สต. หายไปจากนโยบายการแพทย์ปฐมภูมิ?
หากดูจากกราฟิกนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ยกระดับ 30 บาทพลัส Quick Win 100 วัน ฉบับล่าสุดที่ใช้ในวันแถลงนโยบาย ในส่วนของการแพทย์ปฐมภูมิ พบเพียงรายละเอียดว่า ตรวจเลือด รับยา Telemedicine ใกล้บ้าน 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล และอนามัยโรงเรียน 1 อำเภอ 1 โรงเรียน
ขณะที่ Policy Forum ให้ความสำคัญกับการวางรากฐานการแพทย์ปฐมภูมิโดยเฉพาะเล็งเห็นถึงปัญหาการถ่ายโอน รพ.สต. ไปอยู่กับท้องถิ่นซึ่งบางแห่งยังไม่สามารถทำงานร่วมกันเนื่องจากติดขัดระเบียบราชการต่างสังกัด
หมอชลน่าน กล่าวว่า เราเห็นภาพปัญหาการมีหลายหน่วยงานจัดบริการโดยเฉพาะภาวะวิกฤต เราเลยแก้โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมบูรณาการกัน แม้ รพ.สต.จะสังกัดท้องถิ่น แต่การจัดบริการเราไม่ได้แย่กว่า คนในชุมชนจะเข้าท้องถิ่นหรือกระทรวงสาธารณสุข
เรามุ่งหวังว่าถ้าทำสำเร็จจะเกิด 1 จังหวัดมี 1 โรงพยาบาลที่สามารถเชื่อมโยงได้หมด เพราะเราใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการดูแลทุกที่ ก็จะแก้เชิงระบบสำคัญคือการพัฒนาคนขึ้นมารองรับ โดยเรามีสถาบันพระบรมราชชนก พัฒนาแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่จะมาเป็นทีมดูแลปฐมภูมิให้บรรลุตามเป้าหมาย และเรื่องเทคโนโลยี หากไม่มีหมอไปนั่งในชุมชนก็จะมี Telemedicine เข้าไป ความฝันคือมีโรงพยาบาลเสมือนจริง (Virtual Hospital) ที่อยู่ในชุมชนได้
50 เขต 50 โรงพยาบาลแก้ปัญหาคอขวดสาธารณสุข กทม.
ส่วนความคืบหน้าในการแก้ปัญหาสาธารณสุข กทม. หมอชลน่าน บอกว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาคนที่อาศัยอยู่ใน กทม. ไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ใน กทม. หรือไม่ หรือเป็นคนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาทำงาน มีมากถึง 12 ล้านคน จากทะเบียนบ้าน 5 ล้านคน เมื่อเจ็บป่วย การเข้ารับการรักษาในระดับทุติยภูมิไม่มีสถานบริการรองรับ แม้กทม. มีโรงพยาบาลแห่ง และมีเตียงจำนวนมาก แต่มักเป็นสถานพยาบาลเอกชนหรือเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิซึ่งรองรับผู้ป่วยจากทั่วประเทศ
ดังนั้น ในระยะแรกจะสร้างโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิขนาด 120 เตียง สามารถสร้างใหม่หรือ ต่อเติมของเดิมนำร่องเขตดอนเมือง ซึ่งได้ที่ดินมาแล้ว โดยจะสร้างในรูปแบบองค์การมหาชนเหมือนโรงพยาบาลบ้านแพ้ว แห่งที่สองเป็นองค์การมหาชนภายใต้กำกับของกระทรวงสาธารณสุข แต่มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ แม้จะอยู่ในสังกัด สธ. แต่ก็บริการดูแลคนใน กทม.ได้ ส่วนเรื่องความไม่คล่องตัว ความลักลั่นการจัดบริการ เราจะแก้ปัญหาด้วยคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ
ความฝันหรือทำได้จริง มีแพทย์ประจำ รพ.สต.
แม้บุคลากรสาธารณสุขบางส่วนจะตั้งคำถามถึงแนวคิดเรื่องการมีนายแพทย์ไปประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ว่าจะทำได้อย่างไร เพราะจากปัญหาภาระงานแพทย์และปัญหาขาดแคนบุคลากรทางการแพทย์ในหน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถแก้ได้ ขณะที่ รพ.สต. บางแห่งยังไม่มีแม้กระทั่งพยาบาลวิชาชีพประจำหน่วยบริการ
แต่ “สันติ พร้อมพัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่หวั่นต่อความกังวลเหล่านี้ และยืนยันเดินหน้า ในแนวคิดที่อยากให้มีหมอประจำ รพ.สต. ให้ได้ เขาบอกว่าที่ผ่านมา รพ.สต.ไม่เคยมีแพทย์ประจำอยู่เลย ดังนั้น การยกระดับ รพ.สต. ด้วยการให้มีแพทย์ประจำเพื่อดูแลประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ และได้หารือกับหมอชลน่านแล้วพร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการเติมบุคลากรแพทย์เข้าไปอยู่ใน รพ.สต.ทั้ง 8,500 แห่งทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะต้องมีแพทย์ 2.5 หมื่นคน คอยประจำและหมุนเวียนการทำงานใน รพ.สต. แห่งละ 3 คน
สันติ บอกอีกว่าตั้งเป้าผลิตแพทย์ให้ได้จำนวน 2.5 หมื่นคนในระยะเวลา 12 ปีและจะครอบคลุม รพ.สต.ทั่วประเทศ โดยโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณราว 1 แสนล้านบาท โดยการผลิตแพทย์ 1 คนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปี และต้องใช้เงินประมาณ 4 ล้านบาทต่อคน ฉะนั้นหากจะทำให้ครบตามโครงการก็ต้องใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่ผลที่ได้จะคุ้มค่า
กระทรวงสาธารณสุข จะคัดเลือกเด็กในภูมิลำเนาเพื่อให้มาเรียนแพทย์ เรียนจบแล้วก็กลับไปเป็นแพทย์ประจำ รพ.สต. ในภูมิลำเนาของตัวเอง ซึ่งจะทำให้ รพ.สต. มีแพทย์คอยดูแลรักษา และส่งเสริมป้องกันโรคให้กับคนในท้องถิ่น
“เราอยากให้ลูกหลานแต่ละจังหวัด แสดงความประสงค์เลยว่าอยากเป็นแพทย์เอาคนที่เก่งที่สุด 300-400 คน มาสอบแข่งขันเพื่อไปเรียนแพทย์ ตามจำนวนที่แต่ละจังหวัดต้องการ ประชาชนก็จะได้ลูกหลานของตัวเองมาเป็นหมอประจำในพื้นที่ของตัวเอง”
สันติ
สอดคล้องกับความเห็นของ Policy Forum ที่ต้องการให้มีแพทย์ประจำ รพ.สต. ที่เรียกว่า “หมอครอบครัว” แพทย์กลุ่มนี้จะจบเฉพาะทางในด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งแพทยสภาต้องกำหนดโควต้าในการผลิตแพทย์กลุ่มนี้ขึ้นมาให้ชัดเจน หมอครอบครัว จะเป็นข้อต่อสำคัญที่ทำให้ลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ได้อย่างแท้จริง ทำให้ประชาชนพบหมอในหน่วยบริการปฐมภูมิได้ง่ายขึ้น และเมื่อเกินศักยภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิ ก็มั่นใจได้ว่าจะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายที่เชื่อมโยงถึงได้ทันท่วงที