เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ นักเขียนชาวอเมริกัน ในศตวรรษที่ 20 กล่าวถึง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เอาไว้ในครั้งหนึ่งที่เคยใช้ชีวิตในยุโรป ที่น่าจะหมายถึงการที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ไม่เคยเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งใด ๆ ในโลก และด้วยความสงบเป็นกลาง ทำให้หลายเรื่องราวความขัดแย้งถูกเจรจา แก้ไข และยุติลงที่พื้นที่แห่งนี้
จึงไม่น่าแปลกใจที่ สวิตเซอร์แลนด์ กลายเป็นที่ก่อตั้งองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น
- องค์การสหประชาชาติ (UN)
- องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO)
- คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross, ICRC)
- องค์การการค้าโลก (World Trade Organization, WTO)
- องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization, WIPO)
- องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization, ILO)
โดยทั้งหมดมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่ กรุงเจนีวา เมืองศูนย์กลางที่มีความสำคัญมากทั้งในระดับประเทศ และโลก
จากบริบททางการเมือง ธรรมชาติที่สวยงาม ความสงบสุขของประเทศ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนแล้ว ก็คงไม่ผิดนักถ้าจะทำให้หลาย ๆ คน ยกให้ที่นี่เหมาะสมกับการมาใช้ชีวิตบั้นปลายสุดท้าย เหมือนอย่างที่ฟิตซ์เจอรัลด์บอกเอาไว้
และนี่ไม่ใช่การมองด้วยสายตาอันฉาบฉวยของผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวเท่านั้น…
ปี ค.ศ. 2023 Mercer เปิดเผยผลการจัดอันดับ “เมืองที่มีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลก” หรือ “Mercer Quality of Living Survey 2023”[1] พบว่าเมือง เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก รองจากอันดับหนึ่ง คือ เวียนนา – ออสเตรีย ตามด้วย ซูริค – สวิตเซอร์แลนด์ และ แวนคูเวอร์ – แคนาดา
จาก 241 ประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลก สวิตเซอร์แลนด์ มีเมืองที่ติดอันดับ “เมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี” อันดับต้นของโลกถึง 2 เมือง (ซูริค และเจนีวา) และยังถูกจัดอันดับให้เป็น ประเทศที่มีประชากรมีความสุขที่สุดในโลกอันดับ 8 จากการจัดอันดับของ World Happiness Report 2023[2] ด้วย
จากข้อมูลอาจทำให้เราเห็นว่าการมีคุณภาพชีวิตที่ดี น่าจะสัมพันธ์กับการอยู่ดีมีความสุขของประชากรอยู่ไม่น้อย หากดูหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับ 10 ข้อแล้ว น่าจะทำให้เราพอเห็นภาพมากขึ้น[3]
หากอิงจากหลักเกณฑ์ทั้งหมด สิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนง่ายที่สุดในฐานะผู้มาเยือน เจนีวา คือ การมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและบริการขนส่งสาธารณะที่ยอดเยี่ยม
เมื่อไม่นานมานี้ The Active มีโอกาสบินลัดฟ้าไปยังเมืองเจนีวา เท่าที่เราได้สัมผัส บวกกับข้อมูลอ้างอิงมากมาย จึงอยากชวนผู้อ่านถอดรหัสกันว่า ทำไม ? ผู้คนในเมืองแห่งนี้ จึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีในลำดับต้น ๆ ของโลก
เดินไปทางไหนก็มีแต่สวน – เมื่อพื้นที่สีเขียวเยียวยาจิตใจ
เจนีวา เป็นเมืองที่มีสวนสาธารณะ หรือพื้นที่สีเขียวที่อยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งสวนขนาดใหญ่ไปจนถึงสวนเล็กสวนน้อยที่ใกล้ในแค่ระยะเดินถึง เช่น บริเวณสถานีรถไฟหลักของเจนีวา (Gare de Genève-Cornavin) ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สถานีรถไฟสายนี้เชื่อมต่อกับเส้นทางเมืองต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ จึงทำให้เป็นจุดที่มีผู้คนสัญจรไปมาตลอดทั้งวัน
ใกล้ ๆ สถานีรถไฟแห่งนี้ มีสวนขนาดเล็กใหญ่กระจายโดยรอบ และหนี่งในนั้นคือ “พาร์ก ดู โซเล (Parc du Soleil)” สวนเล็ก ๆ น่ารัก ที่อยู่ห่างจากสถานีรถไฟเพียงแค่ 300 เมตร หรือใช้เวลาเดินเท้าเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น จึงกลายเป็นจุดพักใจของทั้งผู้รอขึ้นรถไฟ รอญาติมิตร หรือคนในชุมชนเอง
ระหว่างเดินสำรวจสวน เราเห็นผู้คนออกมาใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง หนุ่มสาวพากันออกมาเดินเล่น พูดคุยหัวเราะร่า บ้างตั้งวง ร้องรำทำเพลง เด็กน้อยในวัยหัดเดินกำลังปีนป่ายม้านั่งเล็ก ๆ และคุณตายายที่กำลังเอนกายพักพิงริมต้นไม้เพื่อรอรับแสงแดดอ่อน
ภาพที่เห็นเหล่านี้คงไม่เกินเลยนักถ้าจะบอกว่า สวนสีเขียวแห่งนี้คือพื้นที่แห่งสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้ามาเก็บเกี่ยวความสุขได้ในรูปแบบของตัวเองได้โดยแทบไม่มีข้อจำกัด การใช้จ่ายเวลาในที่แห่งนี้ จึงเป็นเหมือนการซื้อหายารักษาใจและกายชั้นดีของชาวเมืองเจนีวาที่ไม่ต้องใช้เงินทองใด ๆ
แท้จริงแล้ว แนวคิดการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองได้รับความนิยมมากตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปและอเมริกาเหนือ ไม่ว่าจะเป็น สวนไฮด์พาร์ค (Hyde Park) ในกรุงลอนดอน, เซ็นทรัล พาร์ค (Central Park) ในนครนิวยอร์ค, สแตนลีย์ พาร์ค (Stanley Park) หรือในแวนคูเวอร์ แคนาดา
เนื่องจากมีแนวคิดว่าพื้นที่สีเขียวเกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งกายใจของคนในชุมชน จนนำมาสู่กระแสแนวคิดการสร้างเมืองแบบ “Garden City” คือการออกแบบวางแผนสร้างเมืองให้มีพื้นที่สีเขียวมาก ๆ และมีการเชื่อมต่อการเดินทางที่ดี
แนวคิดนี้ถูกทำให้เป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 1903 ที่ประเทศอังกฤษในนาม “เล็ทช์เวิร์ธ การ์เดน ซิตี้” (Letchworth Garden City) ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชนที่กลายเป็นแรงบันดาลใจและทำให้เกิดโครงการในลักษณะคล้ายคลึงกันอีกมากเพื่อเป็นทางเลือกในการลดสภาพความแออัดในกรุงลอนดอน
เมื่อมาถึงปัจจุบัน ยิ่งชี้ชัดว่าแนวคิดเรื่องพื้นที่สีเขียวในเมืองเกี่ยวข้องกับสุขภาพกายใจอย่างชัดเจน มีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า เมืองสีเขียวช่วยลดภาวะซึมเศร้า ลดความเครียด บรรเทาอาการผิดปกติทางจิต (เช่น โรคสมาธิสั้น หรือ ออทิสซึม) และยังมีผลต่อสมอง ทั้งในเรื่องสมาธิและความจำด้วย
งานวิจัยที่น่าสนใจจากประเทศอังกฤษ นักวิจัยทดลองใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนเพื่อติดตามตำแหน่งผู้คนที่สัมผัสกับกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติจำนวน 100 จุด จากนั้นประเมินความรู้สึกและอารมณ์ผู้นั้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์
งานวิจัยชิ้นนี้สรุปว่า การได้อยู่ในที่โล่งแจ้ง ได้ยินเสียงนกร้อง ได้มองเห็นต้นไม้ หรือหากได้สัมผัสกับธรรมชาติ จะทำให้มีอารมณ์และสุขภาพจิตที่ดีขึ้น (และเห็นได้ชัดในกลุ่มตัวอย่างที่มีนิสัยวู่วามใจร้อน)
หากเราเดินเล่นในสวนกลางเมืองเจนีวา จะเห็นผู้คนมาออกกำลังกาย เดินจูงสุนัข พาเด็ก ๆ มาวิ่งเล่น หรือนอนปิกนิกกลางแจ้ง ชาวเมืองล้วนดื่มด่ำกับธรรมชาติ สัตว์เลี้ยง ผู้คน และกิจกรรมที่อยู่ตรงหน้าเสียจนแทบไม่เห็นใครจับโทรศัพท์มือถือด้วยซ้ำ บางครั้งเราได้เห็นคนแปลกหน้าเดินสวนกันและกล่าวทักทายด้วยหัวข้อง่าย ๆ อย่างสัตว์เลี้ยงหรือดินฟ้าอากาศ
นั่นอาจเพราะเมืองสีเขียวคือพื้นที่ที่เอื้อให้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งแบบที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า หรือการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่จัดในพื้นที่สาธารณะ อย่างการเต้นรำ และเล่นกีฬา สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนในชุมชนรู้สึกยึดเหนี่ยวผูกพันธ์กับสถานที่ และรู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้น (เหมือนกับเวลาเราไปวิ่งตามสวนที่ไหนบ่อย ๆ แล้วเรารู้สึกใกล้ชิดและเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นั้น)
จึงไม่เกินเลยนัก หากจะกล่าวว่า พื้นที่สีเขียวหรือสวนจะกลายเป็น “พื้นที่แห่งความเสมอภาคทางสุขภาพ” ที่ไม่ว่าร่ำรวย หรือยากจน ทุกคนก็มีสิทธิ์ใช้ด้วยกันได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นรากฐานหนึ่งของความพึงพอใจในชีวิตและนำมาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย
แค่เห็นน้ำ เห็นฟ้า ก็อาจมีอายุยืนถึงร้อยปี
“พื้นที่สีน้ำเงิน (blue space)” ก็มีส่วนกำหนดคุณภาพชีวิตคนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำ ทะเลสาบ คลอง สภาพแวดล้อมกลางแจ้งที่มีน้ำ หรือแม่แต่น้ำพุ
เจนีวา ยังมีแลนด์มาร์คที่สำคัญของเมือง คือ “ทะเลสาบเจนีวา (Lake Geneva)” เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และติดกับประเทศฝรั่งเศส
ไม่ต้องบรรยายถึงน้ำสีฟ้า – เขียว ที่สะอาดหมดจด ตัดกับเส้นขอบฟ้าสดใส แต่ที่นี่คือพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนออกมาทำกิจกรรม ทั้งเดินเล่นริมทะเลสาบปะทะลมเย็น ว่ายน้ำ หรือแม้กระทั่งแล่นเรือใบ (แม้แต่สุนัขตัวน้อย เราก็เห็นลงไปว่ายน้ำเล่นด้วย) หากเดินไปเรื่อย ๆ เราจะพบกับ “น้ำพุจรวดเจ็ทโด (Jet d‘Eau)” ที่พุ่งสูงถึง 400 ฟุต และเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมือง
องค์ประกอบที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ทำให้เจนีวากลายเป็นเมืองสีน้ำเงินโดยสมบูรณ์แบบ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการเดินริมทางเท้าเลียบคลอง การได้เห็นความระยิบระยับเป็นประกายจากน้ำพุ หรือแม้กระทั่งนั่งมองสายน้ำที่สงบเรียบริมฝั่ง ย่อมส่งผลเชิงความรู้สึกแน่นอน แม้ว่าปัจจุบัน หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าพื้นที่สีน้ำเงินส่งผลเชิงบวกต่อสุขภาพจิตของผู้อยู่อาศัยยังอยู่ในระยะแรกเริ่ม แต่หลายปีมานี้ เราได้ยินคำว่า “Blue Zone” กันมาบ้าง
Blue Zone คือ นิยามที่ใช้เรียกดินแดนที่มีผู้สูงอายุวัย 90-100 ปี ที่ยังมีสุขภาพดี แข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งมีอยู่เพียง 5 แห่งในโลกเท่านั้น ได้แก่ เกาะโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น, เกาะอิคาเรีย ประเทศกรีซ, คาบสมุทรนิโคยา ประเทศคอสตาริกา, โลมาลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี
สิ่งที่ทำให้ผู้คนในดินแดนแห่งนี้อายุยืน นอกจากจะเป็นเรื่องของอาหาร วัฒนธรรม และความเป็นอยู่แล้ว จุดน่าสังเกตคือ ทุกประเทศล้วนอยู่ติดน้ำ นี่จึงอาจเป็นหนี่งปัจจัยที่ทำให้ผู้คนในเมืองมีความคุณภาพชีวิตที่ดีและส่งผลให้มีอายุยืนยาวก็เป็นได้
ผังเมืองที่เท่าเทียม ความสะดวกสบายที่กระจายไปถึงทุกคน
เรามีโอกาสได้เดินเล่นในย่านเมืองเก่าของเจนีวา (Old Town Geneva) ย่านเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงามเกินกว่าที่จะบรรยายด้วยคำพูด อาคารทุกหลังล้วนมีเสน่ห์และถูกอนุรักษ์ไว้ราวกับเมื่อหลายร้อยปีก่อน รวมถึงบ้านของ ฌอง-ฌาคส์ รุซโซ (Jean-Jacques Rousseau) นักเขียนและนักปรัชญาที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนี่งของโลกในยุคแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) ที่ยังคงสภาพเดิมไว้เป็นอย่างดีด้วย
ชาวเจนีวา ไม่เพียงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่สิ่งปลูกสร้างก็เช่นกัน เหตุที่เรายังเห็นอาคารเก่าที่คงสภาพเดิมรอบเมืองนั้น เพราะการขยายตัวของพื้นที่อยู่อาศัยในเมืองเป็นไปได้ยาก อาคารที่อยู่อาศัยจึงอยู่ในลักษณะเช่าอยู่มากกว่าซื้อขาย เมื่อไม่มีการจับจองเป็นเจ้าของ จึงทำให้เราได้เห็นอาคารเก่าอายุหลายร้อยปีที่ถูกบูรณะและดูแลอย่างดีอยู่ทั่วเมือง
อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การวางผังเมืองอย่างเท่าเทียม โดยเจนีวามีการกระจายตัวของคลินิก โรงพยาบาล และร้านค้าอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในโซนไหนของเมืองก็สามารถเข้าถึงบริการและการขนส่งได้อย่างสะดวกสบาย ไม่กระจุกตัวอยู่แต่เพียงใจกลางเมืองหรือโซนใดหนึ่งเท่านั้น
เมืองหลายแห่ง ถูกวางผังเมืองอย่างแบ่งแยก พื้นที่กลายเป็นตัวกำหนดชนชั้นทางเศรษฐกิจของคนในเมืองทำให้มีย่าน คนจน-คนรวย อย่างชัดเจน ในหลายเมืองถูกแบ่งด้วยหลักการ “เส้นแบ่งตะวันตก-ตะวันออก (west-east divide)” โดย ชาวเมืองผู้ร่ำรวยจะอยู่ในโซนตะวันตก แต่คนยากจนจะอยู่โซนตะวันออก ซึ่งมาจากการแบ่งตามทิศทางลมที่จะพัดจากตะวันตกไปตะวันออก ทำให้มลพิษกองสะสมในฝั่งตะวันออก
จึงกลายเป็นย่านที่ไม่มีใครอยากอยู่อาศัยนอกจากคนจนที่จำต้องอยู่ และแน่นอนว่า ความเจริญทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ หรือโรงพยาบาลก็กระจุกตัวอยู่แค่ฝั่งเดียว ทำให้ดึงดูดชาวเมืองผู้ร่ำรวยเข้าไปอยู่อาศัยเฉพาะในแถบนั้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แผนที่เส้นทางรถไฟจูบิลิ (Jubilee underground train) ที่มีการคาดการณ์ว่า อายุขัยของประชากรจะลดลงทุก 1 ปี ตลอดทุกสถานที่ จากฝั่งตะวันตกไปตะวันออก
หรือในบางเมือง มีการแบ่งแยกผู้อยู่อาศัยแบบ รูโดนัท (donut-hole pattern) คือ มีผู้ร่ำรวยกระจุกอยู่ใจกลางเมือง ส่วนชุมชนคนยากจนก็จะกระจายตัวออกไปรอบ ๆ สิ่งอำนวยความสะดวกก็จะอยู่แค่ในใจกลางเมือง
ในขณะที่ชานเมืองขาดการเชื่อมต่อและปราศจากการขนส่งที่ดีและทั่วถึง (หรือบางที่อาจเป็นในทางตรงข้ามแต่มีรูปแบบเดียวกัน เช่น คนรวยต้องการกระจายตัวไปรอบ ๆ เพื่อพื้นที่โล่งและปลอดภัยกว่า ในขณะที่คนจนต้องอยู่ใจกลางเมืองที่แออัดและไม่ปลอดภัย)
เมืองแห่งจักรยาน คนพิการ และการเดินทางสำหรับทุกคน
ไม่ว่าต้องการจะไปที่ไหนในเจนีวา (หรือแม้แต่ในสวิตเซอร์แลนด์) ทุกคนสามารถเดินทางได้ด้วยตัวเอง โดยการใช้เพียงขนส่งสาธารณะ ไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัวเลย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถราง หรือรถบัส ตารางเดินรถจะถูกแสดงอย่างชัดเจน เวลาออกรถและถึงที่หมาย จะตรงเวลาระดับนาที ป้ายบอกเส้นทางที่ชัดเจนออกแบบให้ผู้ใช้เข้าใจง่าย มีทั้งทางจักรยานและทางเท้าที่เป็นมิตรกับผู้พิการและผู้สูงอายุ
เพราะทุกการขนส่งเดินทางถูกออกแบบมาอย่างเท่าเทียมหรือที่เรียกว่า Universal Design การออกแบบเมืองที่ดีนี้ทำให้เราได้เห็นคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งเด็กเล็ก ได้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้อย่างอิสระ พึ่งพาตัวเองได้เป็นอย่างดี เมืองในลักษณะนี้จะเอื้อให้คนออกมามีกิจกรรมทางกายและส่งผลต่อสุขภาพจิต
การออกแบบสิ่งแวดล้อมให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มยังมีผลต่อความรู้สึกของผู้ใช้โดยตรง เพราะคนในเมืองจะรู้สึกเป็นส่วนหนี่งของชุมชน เป็นคนที่มีคุณค่า และไม่ถูกแบ่งแยกแม้ว่าจะเป็นคนต่างเชื้อชาติหรือเป็นผู้ใช้แรงงาน
นั่นทำให้การออกแบบที่ไม่เหมาะสมจะเป็นการกีดกันคนบางกลุ่มออกไปจากสังคมจนนำไปสู่การลดทอนคุณค่า ผลักให้คนไปสู่ชายขอบของสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจและเกิดปัญหาในระยะยาวตามมา
สำหรับเมืองเจนีวาแล้ว สิ่งที่มีส่วนกำหนดให้เป็นเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และประชากรที่มีความสุขอันดับต้นของโลก ย่อมมาจากหลายปัจจัย แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งมาจากบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่ถูกวางรากฐานมาอย่างแข็งแรงยาวนาน
แต่การเป็นเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สีเขียว หรือสีน้ำเงิน รวมถึงการวางผังเมืองที่ดี การขนส่งสาธารณะที่สะดวก ง่าย และเข้าถึงได้สำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมนี้ ก็อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่มีส่วนกำหนดวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความคิด ความพึงพอใจ และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวเจนีวา จนกลายเป็นเมืองที่คนทั่วโลกอยากมาอยู่อาศัยมากที่สุดก็เป็นได้
[1] https://www.mercer.com/insights/total-rewards/talent-mobility-insights/quality-of-living-city-ranking/
[2] https://www.sdgmove.com/2023/03/21/world-happiness-report-2023/
[3] https://mobilityexchange.mercer.com/insights/article/measuring-expatriate-quality-of-living#:~:text=Data%20for%20our%20QOL%20reports,objective%2C%20neutral%2C%20and%20consistent.