Hack BKK เป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาล “บางกอกวิทยา” ประจำเดือนสิงหาคม ภายใต้นโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ โดยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาคมสตาร์ทอัพไทย จัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 6 – 25 สิงหาคม 2565 เพื่อให้ประชาชนและข้าราชการได้มีส่วนร่วมในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาเมืองและขับเคลือนนโยบายให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งนวัตกรรม
“วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในเทศกาลบางกอกวิทยา ที่ไม่ใช่สำคัญเฉพาะสำหรับสตาร์ทอัพ แต่สำคัญสำหรับกรุงเทพมหานครด้วย เพราะเชื่อว่าการที่เราจะพัฒนาแก้โจทย์ปัญหาของเมืองได้จำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้ความร่วมมือ ซึ่งกทม. ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเท่ากับผู้คนที่อยู่ในแวดวงต่าง ๆ ’บางกอกวิทยา’ ถือเป็นวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ของกรุงเทพมหานคร”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
The Active คุยกับตัวแทนทีมสตาร์ตอัปทั้ง 6 ทีม จาก 6 โจทย์สำคัญของ กทม. ที่รอการแก้ไขด้วยนวัตกรรม พวกเขามีมุมมองต่อปัญหาต่างๆ อย่างไร? มีแนวคิดแก้ปัญหาแบบไหน? ชวนอ่านพร้อมกันกับบทสัมภาษณ์พิเศษชิ้นนี้ …
สร้าสรรค์ดี : ระบบจองพื้นที่สร้างสรรค์ทั้งกรุงเทพฯ
ภาโรจน์ เด่นสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิปอีเว้นท์ จำกัด (Zipevent) ร่วมหารือในหัวข้อ ระบบจองพื้นที่สร้างสรรค์ทั้งกรุงเทพฯ (สร้างสรรค์ดี) เล่าว่า ปกติบริษัทได้ให้บริการแพลตฟอร์มในการจองลงทะเบียนงานกิจกรรมต่างๆ อยู่แล้ว แต่เมื่อมีโจทย์ของ กทม. ในการจองพื้นที่สร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นหอศิลป์ พื้นที่ต่างๆ ของ กทม. ก็เล็งเห็นว่าแพลตฟอร์มที่มีสามารถปรับมาใช้ได้ด้วยแนวทางการจองสถานที่ จึงมาร่วม Hack BKK เพื่อร่วมเรียนรู้ว่าปัจจุบัน กทม. มีกระบวนการจองสถานที่อย่างไร มีความยุ่งยากซับซ้อนอย่างไร และทีมสตาร์ทอัพจะมาช่วยอย่างไรได้บ้าง ทั้งให้ประชาชนมีความสะดวกในการจอง และทำให้เจ้าหน้าที่ของภาครัฐทำงานสะดวกมากขึ้นด้วย
“ลองนึกภาพปัจจุบันที่เราเห็นว่ามีอีเวนต์เกิดขึ้นทุกที่เลย ไม่ว่าจะเป็นดนตรีในสวน กิจกรรม เทศกาลต่างๆ ของ กทม. ซึ่งถ้าเรามีแพลตฟอร์มตรงนี้ขึ้นมาจะเป็นที่เก็บรวบรวมข้อมูลและทำให้คนที่อาจจะไม่รู้ว่าจะจัดงานที่ไหน ได้ดูผ่านแพลตฟอร์มได้เลยว่ามีที่ไหนว่างบ้าง สามารถลงทะเบียนทำกิจกรรมได้บ้าง จะทำให้ กทม. เป็นเมืองที่มีชีวิตมากยิ่งขึ้น”
เบื้องต้นต้องมีการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากทั้งฝั่งของข้าราชการกรุงเทพมหานครว่าด้วยกระบวนการทำงานแล้วมีข้อจำกัดเรื่องอะไร และข้อมูลปัญหาจากฝั่งของประชาชนผู้ต้องการรับบริการเดิมทีพบปัญหาในระหว่างการขอใช้บริการอย่างไร แล้วระบบแพลตฟอร์มที่เรามีจะช่วยแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน เช่นการเดินเรื่องเอกสาร ทำอย่างไรให้รวดเร็วขึ้น ให้เกิดความสะดวกและง่ายมากขึ้น สองคือการนำนวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหา และสาม ทดสอบดูว่าเมื่อนำมาใช้งานจริงแล้วสำเร็จตรงตามเป้าหมายหรือไม่ เพื่อทดลองและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
“สำหรับรูปแบบของแพลตฟอร์มจะต้องเข้าถึงการใช้งานได้ง่าย และใช้ได้สะดวกทุกเพศทุกวัย เช่น เว็บไซต์ ที่ใช้ได้ทั้งมือถือ แท็บเล็ต และโดยกระบวนการจะต้องทำให้สามารถเสิร์ชข้อมูลสถานที่ได้ง่าย จองง่ายสะดวก และรับรู้ผลตอบรับได้ง่าย รวดเร็ว เหมือนเวลาจองไปเที่ยว จองโรงแรม ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาให้ กทม.ได้ ก็จะแก้ปัญหาให้เมืองอื่น ๆ ได้ด้วย”
เศรษฐกิจดี : ระบบขึ้นทะเบียนจัดการหาบเร่แผงลอย
ผศ.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.สยาม นายกสมาคม Thai start up และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในนามผู้ก่อตั้ง iTAX กล่าวว่า ‘การเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในกรุงเทพฯ’
โจทย์คือ จะทำอย่างไรให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ผู้ประกอบการรายย่อย เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ เนื่องจากว่าปัจจุบันกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ เข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างน้อยทำให้ต้องไปพึ่งพาเงินนอกระบบวัน วันนี้ iTAX จึงมาคุยกับสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการที่จะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างถูกต้อง และมีวิธีการใหม่ ๆ ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้สะดวกมากขึ้น
เดิม กทม. มีปัญหาเรื่องการจัดระเบียบพื้นที่ แต่ที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่ว่า ถ้าหาบเร่แผงลอยเข้าสู่ระบบแล้วจะทำให้พวกเขาเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้นด้วยหรือไม่ การที่เรามีตำแหน่งที่ค้าชัดเจน หรือแพลตฟอร์มที่เราเคยทำ กับ กรมสรรพากร ตอนนี้เราทำบัญชีธนาคารให้กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์โดยจัดการภาษีได้อัตโนมัติ เราจึงพยายามนำมาดูว่าสามารถต่อยอดกันได้หรือไม่
เมื่อเข้าสู่ระบบภาษียื่นข้อมูลถูกต้องแล้ว สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบเข้าสู่สินเชื่อในระบบได้ด้วยหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราพยายามหาองค์ประกอบร่วมกัน
การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยเป็นนโยบายเร่งด่วน ของ กทม. ที่มีปัญหาเรื่องส่วยหรือเรื่องการรับเงินใต้โต๊ะ มันจัดการควบคู่กันได้หรือไม่ เรื่องนี้ กทม. พยายามแก้ปัญหาอยู่แล้ว แต่เราพยายามคิดควบคู่กันว่าหากเขาเข้าในระบบแล้วจะให้สิทธิประโยชน์อะไรกับเขา แสดงว่าการจัดระเบียบต้องมีอะไรจูงใจ และสิ่งนี้คือหนึ่งในนั้น
“ถ้าเขาจัดระเบียบถูกต้อง เข้าระบบภาษีทุกอย่างถูกต้อง ก็ควรเข้าสู่สินเชื่อในระบบที่ถูกต้องได้ ทุกคนที่ทำถูก ทุกคนที่เข้าระบบ สามารถได้ประโยชน์มากกว่าคนที่อยู่นอกระบบ คนที่อยู่ในระบบควรได้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่าและมีภาระที่น้อยกว่าคนที่อยู่นอกระบบ และไม่ทำตามระบบ คือสิ่งที่เราพยายามจะช่วยทำให้เห็นว่าคนทำได้ต้องได้รับผลตอนแทน ควรได้รางวัล เรากำลังออกแบบตรงนี้ร่วมกัน”
ทำให้กรุงเทพฯ น่าอยู่ได้ยังไง? ผศ.ยุทธนา มองว่า กรุงเทพฯ ควรจะเป็นเมืองแห่งความหวังที่ทุกคนลืมตาอ้าปากได้ หลาย ๆ ครั้งควรจะมีไอเดียที่ดี ที่ทำให้หาบเร่แผงลอยเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ จะได้มีผู้ประกอบการเยอะ ๆ มูลค่าเศรษฐกิจมวลรวม หรือ GDP จะได้เติบโตจากฐานราก อีกอย่างหนึ่ง ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบเดิม เมืองที่ดีก็ควรทำให้เขาทำธุรกิจได้คล่องตัวมากขึ้น เพราะในบางจังหวะที่อาจมีอุบัติเหตุ เช่น เจ็บป่วยและไม่สามารถค้าขายได้ ทำให้ขาดรายได้ แต่การทำให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบทำให้เขาไม่ต้องไปพึ่งสินเชื่อนอกระบบที่เข้าแล้วออกยาก ดังนั้นเมืองที่ดีจึงควรเป็นเมืองที่น่าอยู่ ทำให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานหรือสิทธิทางการเงินได้เท่าเทียมกัน
โครงสร้างดี : ฐานข้อมูลห้องพักในราคาที่เข้าถึงได้
ธนวิชญ์ ต้นกันยา ผู้ก่อตั้งบริษัท Horganice ร่วมหารือในหัวข้อ ‘ฐานข้อมูลห้องพักในราคาที่เข้าถึงได้ (โครงสร้างดี)’ กล่าวว่า โจทย์นี้เป็นการหาที่พักอาศัยให้กับกลุ่มคนทำงานตอนต้น หรือ First Jobber ให้นักศึกษาจบใหม่เพิ่งเร่ิมต้นการทำงานครั้งแรกมีที่อยู่อาศัยที่ดี เนื่องจากเราพบว่า คนกลุ่มนี้มีศักยภาพจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัยได้ประมาณ 20% ของรายได้ทั้งหมดแต่ปัญหาที่พบคือ ที่พักในราคาที่จ่ายไหวอยู่ไกลจากที่ทำงาน ดังนั้นโจทย์คือจะทำยังไงให้ความสุขของคนกรุงเทพฯ วัยเร่ิมต้นทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถทำงานใกล้ที่ทำงานได้ และเป็นที่อยู่อาศัยที่ดี เหมาะสม
กระบวนการทำงานใช้ design thinking เป็นหลัก ทำความเข้าใจจุดประสงค์ความต้องการของกลุ่ม First Jobber ต่อมาคือพยายามตีกรอบการพิจารณาปัญหาที่พวกเขาพบเจอ ข้อมูลที่ต้องแชร์กันคือ ข้อมูลที่อยู่ที่พักอาศัย อพาร์ทเมนต์ในเมืองจากภาคเอกชน และปัญหาด้านที่พักอาศัย หรือข้อจำกัดของภาครัฐใน กทม. รวมถึงการศึกษาข้อมูลจากตัวผู้เช่ากลุ่มเป้าหมาย จากนั้นก็จะมาออกไอเดียว่าเราจะมา Hack โจทย์กันอย่างไร เมื่อได้แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นเป็นต้นแบบแล้วก็จะนำไปทดลองใช้ในสนามจริงว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาและบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้มากน้อยแค่ไหน
“กลไกที่คิดว่าทำได้ อย่างแรกคือการเตรียมพร้อมข้อมูลหอพัก อพาร์ทเมนต์ ที่อยู่อาศัยต่างๆ ที่มีราคาที่เหมาะสมให้กับกลุ่ม first jobber เข้ามาคัดสรร สองคือการทดลองโฟกัสกรุ๊ปเฉพาะกลุ่มในพื้นที่ต่าง ๆ ว่าพื้นที่ไหนมีปัญหาและต้องแก้ไขในรายละเอียดอย่างไร อาจจะใช้เครื่องมืออย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ ควบคู่กับรูปแบบอื่นๆ รูปแบบที่สาม คือแก้ด้วยข้อมูลทางการเงิน ว่ากำลังซื้อของลูกค้ายินดีที่จะจ่ายกี่บาท และคนที่ให้บริการจะทำอย่างไรได้บ้างให้ราคามันไหว อาจจะมีหน่วยงานรัฐหรือเอกชนมาสนับสนุนส่วนต่างบางส่วน เพื่ออุดหนุนโดยแลกสิทธิประโยชน์บางอย่างกลับไป”
ธนวิชญ์ ขยายความว่า กลไกทางการเงินจากทางภาครัฐ เช่น สวัสดิการภาครัฐ ซึ่งอาจจะไม่ต้องอาศัยแแพลตฟอร์มอะไรเลยก็ได้ แต่มีสวัสดิการที่ทำให้ first jobber ที่ทำงานบริษัทเอกชนมาพัก แล้วเสียภาษีตรง อาจจะเอาภาษีบางส่วนกลับมาช่วยเหลือรายจ่ายด้านที่พักอาศัย หรือฝั่ง กทม. อาจจะจัดกลุ่มก้อนที่อยู่อาศัย และอุดหนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนมาแก้ปัญหาให้ค่าใช้จ่ายบางส่วนลดลงได้ แต่ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่มีการสรุป อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ กทม. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เหมาะสม ติดขัดประการได้ หรือสุดท้ายหากข้อมูลไม่พอก็ต้องรอการรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน
สุขภาพดี : การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อฉุกเฉิน
พณชิต กิตติปัญญางาม หัวหน้าทีมเป็ดไทยสู้ภัย เข้าร่วมแข่งขันในฐานะ ผู้ก่อตั้งบริษัท แอ็คโคเมท จำกัด (ZTRUS) ตัวแทนกลุ่ม Hack โจทย์ ‘การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อฉุกเฉิน’ กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรง ทีมเป็ดไทยสู้ภัยได้เอาเทคโนโลยี กับอาสาสมัครเข้ามาช่วยบริหารจัดการสถานการณ์ โดยทำงานควบคู่กับกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ได้รับบทเรียนว่า เมื่อเกิดโรคระบาด มีผู้ป่วยโรคติดต่อพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ระบบสาธารณสุขของไทยแบบเดิมรับรองไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้นมีแนวคิดใหม่ เครื่องมือ หรือการจัดการสถานการณ์ใหม่ เพื่อที่หากเกิดโรคระบาดขึ้นมาอีกครั้ง ระบบการจัดการควรจะรับมือได้ดีกว่าเดิม ส่วนตัวเชื่อว่า ถ้าวางแผนที่ดี จะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ในอนาคต
“เราคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะมีโรคระบาดเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่ เมื่อคาดเดาไม่ได้ ตั้งงบฯ รอจัดการไม่ได้ เราจะมีวิธีรับมืออย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เราเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ กทม. ทุกคนอยากให้ประชาชนมีความสุขเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ แต่มันติดกับการบริหารจัดการในอดีตที่มีแต่ระบบเป็นเงื่อนไขในการทำงาน บางคนอาจคิดว่าเทคโนโลยีคือการสร้างระบบในการทำงาน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ถ้าเราเอาประสบการณ์ของประชาชนมาเป็นที่ตั้ง และตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรถึงจะบริหารจัดการเรื่องนี้ได้ เราอาจจะแก้ปัญหาได้ดีกว่าเดิม”
พณชิต ตั้งคำถามว่า การมีประสิทธิภาพจะต้องอาศัย “การสื่อสารที่คล่องตัว” ไม่ว่าประชาชนจะสื่อสารผ่านทางไหน หน่วยงานที่รับเรื่องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแชร์ข้อมูลกันได้ เพื่อให้สามารถให้บริการได้ทั่วถึงไม่ตกหล่น “ง่าย เพียงพอ เข้าถึงได้” หากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีบางแพลตฟอร์ม จะต้องมี “อาสาสมัคร” ให้ความช่วยเหลือ รวมถึงว่า หากมี “ข้อมูรวม” แล้วจะสามารถนำไปบริหารจัดการทรัพยากรในระบบสาธารณสุข เพื่อให้คนที่ป่วยฉุกเฉินอาการหนักได้พบแพทย์ และคนที่ดูแลตัวเองได้ให้อยู่ที่บ้าน นี่คือแนวคิดของเรา
”เราเชื่อว่าถ้าเรามีข้อมูลร่วมกัน สามารถมีแนวคิดแนวทางที่แก้ปัญหาได้ และมีกาเราสามารถให้อาสาสมัครเข้ามาทำงานได้ง่าย สะดวกมากขึ้น”
โครงการ Hack BKK เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี จากการล้อมวงคุยทำให้ทราบว่า รัฐและเอกชนมีเป้าหมายเหมือนกัน คือ สุขภาพประชาชนดี สถานการณ์ด้านสาธารณสุขดี แต่บางครั้งอาจจะติดขัดในเชิงระบบ แต่เราจะช่วยกันคิดและหาทางแก้เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ตามที่คาดหวังไว้
”คนที่จำเป็นต้องเข้าถึงทรัพยากรมีอยู่จำกัดไม่สามารถที่จำจ่ายให้กับทุกคนได้ อย่างกรณีที่ยาบางตัวเหมาะกับคนบางคน บางคนอาหารหนักไม่ได้รับยา บางคนอาการไม่หนักแต่ได้ยา เรื่องพวกนี้มันจะถูกบริหารจัดการได้ดีขึ้น เราคาดหวังว่ารัฐจะบริหารจัดการทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และดูแลประชาชนได้ทั่วถึง ได้ถูกตรงเป้าหมาย”
บริหารจัดการดี : การบริการที่ทั่วถึงสำหรับคนพิการ
เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Vulcan Coalition ในฐานะตัวแทนหัวข้อ ‘การบริการที่ทั่วถึงสำหรับคนพิการ (บริหารจัดการดี)’ มองว่า กลุ่มนี้มีเป้าหมายอยากช่วยให้คนพิการโดยเฉพาะคนพิการในกรุงเทพฯ ที่มีศักยภาพได้รับการจ้างงานและสามารถทำงานที่บ้านได้ เพราะข้อจำกัดสำคัญของคนพิการคือการเดินทางทำให้ปิดโอกาสคนพิการเนื่องจากงานส่วนใหญ่ต้องทำนอกสถานที่ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้คนพิการเข้าถึงงานได้ง่ายมากขึ้น เช่น คนพิการตาบอดสามารถออกแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ถ้าเราออกแบบให้เอื้อต่อการเข้าถึง ซึ่งต้นทุนของเรามีนักโปรแกรมเมอร์ที่ตาบอด และเจ้าหน้าที่ที่พิการทางสมอง ซึ่งจะช่วยพัฒนาแอปพลิเคชันให้คนพิการใช้งานได้
เบื้องต้นทราบว่า กทม. มีช่องทาง non-voice contact center ซึ่งประชาชนมักสอบถามข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ หรือต้องการการบริการผ่านทางช่องทางแชท เราจึงพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้คนพิการมาเป็น online chat agent หรือเจ้าหน้าที่สนทนาออนไลน์ ผ่านการอบรมด้านการสื่อสาร และสามารถให้ข้อมูลประชาชนผ่านทางช่องทางแชทได้ จะช่วยให้ประชาชนคนกรุงเทพฯ ได้รับข้อมูลที่ไวขึ้น ได้รับข้อมูลที่ตรงประเด็นและแก้ปัญหาได้ ขณะเดียวกันคนพิการก็ได้งานทำด้วย
”ตัวอย่างเช่น นายเอ เป็นคนกรุงเทพฯ แล้วอยากรู้เกี่ยวกับสวัสดิการสาธารณสุขของคนกรุงเทพฯ อาจจะพิมพ์เข้ามาในแพลตฟอร์มใดก็ได้ที่มีช่องทางแชท ของกรุงเทพฯ เราก็มีคนพิการที่ทำหน้าที่ตอบสนทนาหลังบ้าน คอยสแตนบายให้ข้อมูล ตอบคำถามเพราะผ่านการอบรมความรู้มาแล้ว วิธีการนี้ทำให้ 1.คนพิการมีงานทำ 2.ประชาชนจากเดิมที่รอการตอบรับนานมากก็จะได้รับการช่วยเหลือที่เร็วขึ้นด้วยศักยภาพของคนพิการ และเราก็ทำแพลตฟอร์มกลางให้คนพิการตอบบทสนทนาได้ง่ายมากขึ้น กทม. ก็ได้ข้อมูลจากประชาชนมาวิเคราะห์การให้บริการได้ดีมากขึ้นด้วย”
เมธาวี ขยายความว่า กทม. อาจจะใช้รูปแบบการทำงานแบบนี้เป็นการนำร่องก่อน เพื่อทดสอบดูว่าทำได้ดีแค่ไหน และมีการหารือถึงแผนการจัดทำโปรเจคส์ extra ordinary lab เพื่อเป็นช่องทางการศึกษาและดูว่ามีอาชีพไหนอีกบ้างที่คนพิการสามารถทำได้
โครงสร้างดี : การเชื่อมฐานข้อมูลชุมชน ทำให้เป็น Open Data
สิภวิช ธำรงวราภรณ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมหารือในหัวข้อ ‘การเชื่อมฐานข้อมูลชุมชน ทำให้เป็น Open Data (โครงสร้างดี)’ กล่าวว่า เดิม Baania ให้บริการเกี่ยวกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น ที่อยู่อาศัยในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งโจทย์ที่ภาครัฐให้มาคือการทำฐานข้อมูลลขนาดใหญ่หรือ Big Data ในการช่วยเหลือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่ง Big Data จะช่วยในการตัดสินในดำเนินงานต่างๆ ของเมือง ทั้งเรื่องการพัฒนา หรือการให้สวัสดิการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงการลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
โดยจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลที่อยู่อาศัย ข้อมูลชุมชน ข้อมูลเกี่ยวกับผู้อยู่อาศัยด้วย ทุกกลุ่ม ทุกประเภท อย่างชุมชนแออัด ผู้มีรายได้น้อย ต้องรู้ว่าเป็นชุมชนที่มีความเสี่ยงเรื่องสาธารณสุข อัคคีภัย และอื่น ๆ ซึ่งคนที่อยู่นอกทะเบียนราษฎร์ เป็นโจทย์ยากต่อการรวบรวม ซึ่งได้มีการจัดทีมวิเคราะห์ข้อมูลเข้ามาด้วย แต่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจบริบทของชุมชน ยังต้องคุยกับ กทม. ด้วยว่าเราจะเก็บข้อมูลอย่างไร เพราะ big data ไม่ได้หมายถึงแค่ข้อมูลเยอะ แต่ต้องเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการใช้งาน จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับทั้งสำนักงานเขต 50 เขต จึงพยายามหาแนวทางให้สำนักงานเขตนำวิธีเก็บข้อมูลไปประยุกต์ใช้ จึงจะนำมาบูรณาการต่อไป
“สุดท้ายแล้ว เมื่อเก็บข้อมูลมาแล้วต้องการคัดเลือก คัดแยก จัดระเบียบ และพัฒนาตัว Dashboard (หน้าจอที่สรุปข้อมูลทุกอย่างให้อยู่ในหน้าจอเดียว เพื่อให้ผู้บริหาร ดูข้อมูลแล้วเข้าใจได้ทันที) ในทางธุรกิจเรียกว่า Business intelligent แต่ในเชิงภาครัฐอาจเรียกว่าเป็น Government Dashboard Intelligent ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของภาครัฐ เปรียบเหมือนรถกับน้ำมัน ที่จะต้องมีคู่กัน วันนี้เราพยายามที่จะทำให้เห็นภาพการทำงานร่วมกัน และนำเสนอเป็นพื้นที่เขตต่าง ๆ ด้วยแผนที่กรุงเทพฯ”
ชุมชนไหนที่มีความแออัดสูง ชุมชนไหนเกิดไฟไหม้สูง ชุมชนที่มีขยะมูลฝอยเยอะมาก ชุมชนที่มีผู้ม่ีรายได้ต่ำจำนวนมาก เราสามารถเก็บข้อมูล แล้วมาจำแนกในเชิงพื้นที่ วิเคราะห์ความเสี่ยงได้ว่า แต่ละชุมชนได้ต้องการแนวทางสนับสนุน ดูแลที่แตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ รวมถึงการประเมินความเสี่ยง วางแผนเผชิญเหตุว่าหากเกิดเหตุการณ์ตามคาดการณ์จะรับมืออย่างไรให้ทันท่วงที ตัว Data ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย machine learning ให้ช่วยในการติดตาม วิเคราะห์ ข้อมูล และให้ข้อมูลเชิงตัดสินใจได้
”ถ้าเรามีนวัตกรรมแบบนี้มาใช้ จะช่วยลดต้นทุนให้กับ กทม. ได้มหาศาล ซึ่งวันนี้เราพบว่า กทม. มีข้อมูลเยอะ แต่แยกอยู่คนละหน่วยงาน หากบูรณาการข้อมูลต่างๆ เข้ามาในที่เดียวกันจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างรวดเร็ว เช่น ถ้าวันนี้มีคนล้านคน ในอดีตจะใช้เวลานานในการประเมินผล แต่ถ้ามีตัวช่วยแล้วจะทำให้ดำเนินงานรวดเร็วมากขึ้น และคุณภาพชีวิตของคนก็จะดีขึ้น”
ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ส.ค. 65 กรุงเทพมหานครจะดำเนินการ LIVE การนําเสนอไอเดียของทีมผู้ผ่านการคัดเลือก โดยประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นได้ทางเพจเฟซบุ๊ก “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์” จากนั้น ในวันที่ 26 ส.ค. 65 จะมีการนำผลงานที่ได้รับการคัดเลือกไปเสนอในงาน Techsauce Global Summit 2022 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เขตคลองสาน