“ทำงานมีเงินเดือนประจำ ทำไม ? ไม่มีเงินเก็บเลย“
ความสงสัยนี้อาจมีคำตอบง่าย ๆ ในตัวเอง หากมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง ยังคงต้องใช้ชีวิตแบบ เดือนชนเดือน เพราะอุปสรรคคงไม่ใช่แค่ตัวเลขเงินในบัญชี แต่อาจกำลังหมายถึงการทำทุกวิถีทาง เพื่อบริหารจัดการรายได้ที่มีอยู่น้อยนิด เพื่อประทังชีวิตไปให้ได้จนหมดเดือน
จะว่าไปชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่ใครหลายคนกำลังเผชิญอยู่ อาจไม่ต่างกับการเล่นเกม ที่ต้องทำอย่างไร ? จึงจะฝ่าด่านเดือนชนเดือน นี้ให้ตลอดรอดฝั่ง
The Active ชวนมองชีวิต ชนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือน ที่ต่างก็เคยตกอยู่ในสถานะชักหน้าไม่ถึงหลัง แล้วถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ คือ เกม คิดว่าตัวคุณเอง…พยายามจัดการชีวิต อยู่เลเวลไหนกัน ?
“ถ้าเกมนี้มี 10 เลเวล ชีวิตฉัน คือ เลเวล 100 เป็นผู้เล่นสกิลทองคำ ที่หาตัวจับยาก สามารถใช้ชีวิตแบบนี้รอดมาทุกเดือน”
สุรเชษฐ์ ศรีลามาตย์ Artist Relation พนักงานที่เงินเดือน มักออกวันสุดท้ายของทุกเดือน ไม่วันที่ 30 ก็ 31 สำหรับเขาแล้วให้คำจำกัดความว่า ชีวิตในตอนนี้นั้น “หาตัวจับยาก” และสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์การเงินมาได้ทุกเดือน
เงินเดือนออกปุ๊บ รายจ่ายแรกที่เข้าคิวรอ คือ ค่าช็อปสินค้าออนไลน์ ตามด้วยค่าห้อง, ค่ามือถือ, ค่าบัตรเครดิต ถ้าเดือนไหนที่สุ่มเสี่ยงว่าเงินอาจจะหมดกลางเดือนก็จะเลือกตัดค่ากาแฟ อาจลดเป็นอเมริกาโน่แบบซองผสมน้ำเติมน้ำแข็ง

ส่วนอาหารการกิน ก็กินข้าวปกติ แต่จะลดพวกของหวานต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น ปกติกิน 4 มื้อ อาจจะลดเหลือ 3 มื้อ หรืออาจจะทำ fasting รวบกินเช้าเที่ยงรอบเดียวเลย
ที่ผ่านมา สุรเชษฐ์ พยายามจัดการเงินของตัวเองด้วย Make by KBANK และ ซื้อฉลากออมสิน แต่ก็ไม่ได้มีวิธีประหยัดเงินแบบตายตัว
“ที่ทำแล้วเวิร์ค คือ การหักทุก 10% ของยอดโอนเข้าบัญชีเป็นเงินเก็บ แบบจ่าย 100 หัก 10 เพื่อไว้ชื้อของชิ้นใหญ่ ๆ จะช่วยให้ตัวเองไม่สุรุ่ยสุร่ายมากนัก”
แล้วหากจะต้องบริหารเงินเดือนให้อยู่ได้นานที่สุด วิธีที่ สุรเชษฐ์ ใช้ประจำ คือ การแบ่งรายจ่ายอย่างเป็นสัดเป็นส่วน พยายามไม่ใช้เงินในอนาคตอย่าง บัตรเครดิต รวมถึงการใช้จ่าย ซื้อของเท่าที่จำเป็น (ถ้าทำได้)
และแม้จะบริหารเงินในแต่ละเดือนได้ดีแค่ไหน แต่เรื่องใหญ่ที่ทำให้ สุรเชษฐ์ กังวลใจที่สุด คือเรื่องสุขภาพ การเจ็บป่วย
“การเจ็บป่วยเป็นสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด เพราะถ้าต้องล้มป่วยเราก็ต้องเอาเงินที่แบ่งไว้ใช้จ่ายแต่ละเดือน มาเป็นค่ารักษาพยาบาล เพราะบริษัทไม่สามารถเบิกในส่วนนี้ได้”
“ไม่รู้ว่าอยู่เลเวล รู้แค่ว่าจะทำยังไงให้มีเงินเหลือใช้ไปจนถึงสิ้นเดือน อย่าคิดถึงเงินเก็บเลย เอาเงินให้เหลือกินแต่ละเดือนให้ได้ก่อน”
นั่นเป็นคำตอบของ อังคณา พลครบุรี Creative วัย 27 ปี เมื่อถูกถามว่า ถ้าชีวิตของเธอคือเกม ในด่าน ‘เงินเดือนชนเดือน’ คิดว่า ตัวเองอยู่ในเลเวลไหน คำตอบที่ได้ชี้ให้เห็นชัดเจน เพราะอย่าว่าแต่เก็บเงิน ขอแค่เหลือเงินใช้ไปถึงสิ้นเดือนก็ถือว่าเก่งแล้ว
ค่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ คือ รายจ่ายประจำ และเป็นรายจ่ายบิลแรก ๆ ที่ต้องจ่าย เพราะมีกำหนดจ่ายชัดเจน แต่จะมีรายจ่ายที่อาจไม่ใช่บิลแรก ๆ อย่างค่าผ่อนของออนไลน์ ถ้าเดือนไหนที่ประเมินแล้วว่าเงินเดือนไม่น่ารอดไปถึงสิ้นเดือน เธอจะเลิกช็อปออนไลน์ไปทั้งเดือน

นอกจากนี้ ยังมีวิธีประหยัดเงินแบบที่หลาย ๆ คนอาจจะ ถามว่า อิหยังว่ะ ? นั่นคือการ “อดข้าว อดน้ำ” ซึ่งทำจนผอมกันไปเลย
ที่ผ่านมา อังคณา เคยลองใช้แอป Make by kbank แอปจัดการการเงินให้เป็นระเบียบแอปจะช่วยแบ่งสัดส่วนการใช้เงินในแต่ละก้อน มีทั้งก้อนกิน ก้อนเที่ยว ก้อนเก็บ ช่วง ๆ แรก จัดการเงินเป็นระเบียบดีมาก แต่สุดท้ายก็เละเทะ เงินทุกก้อนกลับมารวมกันเหมือนเดิม
“ถ้าช่วงต้นเกม เลเวล ที่ 1 – 6 ตายบ่อย แน่นอนว่าเกมมันเริ่มยากกว่าเดิม กว่าจะถึงเลเวลที่ 10 ที่เป็นลาสบอส บอกได้เลยว่าพลาดไม่ได้ เพราะถ้าพลาด อาจต้องเริ่มรีสตาร์ทใหม่อีกรอบ เท่ากับต้องเริ่มต้นใหม่ในครั้งถัดไป เกมมันก็ยิ่งยากกว่าเดิม”
ณัฐพล สุบงกช นักประชาสัมพันธ์ ยอมรับถึงสถานะชีวิต ถ้าต้องอยู่ในเกมเดือนชนเดือน ว่า ลำบากไม่น้อย หากจะมองให้ติดตลกก็ต้องบอกว่า หลายครั้งที่ถึงขั้นต้องยอมตัดขาดจากกาแฟสด เปลี่ยนไปกินกาแฟซองแทน เพื่อให้ได้กินในราคาที่ประหยัดกว่า

ณัฐพล คือ มนุษย์เงินเดือน เงินเข้าตรงตามเวลาทุกเดือน แน่นอนว่ารายจ่ายแรกที่เกิดขึ้น คือ ค่าเช่าคอนโด, ค่าน้ำ ค่าไฟ โดยเขาพยายามโอนเงินส่วนนี้ให้ได้เร็วที่สุด เพราะถ้าโอนได้ไว จะได้ไม่มีปัญหากับเจ้าของห้อง
“อย่างน้อย ๆ แม้เงินก้อนนี้จะค่อนข้างเยอะ แต่มันก็การันตีว่า มีที่หลับ ที่นอนแน่ ๆ”
ณัฐพล เล่าถึงรายจ่ายที่เกิดขึ้น
แต่อย่างรายจ่ายประจำในแต่ละเดือน เขาก็เล่าวว่า จะต้องไล่จ่ายตั้งต้นจากค่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่ากิน ค่าของใช้ประจำตัวต่าง ๆ ไล่จากมากไปน้อย ถ้ามองชีวิตของมนุษย์เงินเดือนเป็นเกม ในมุมของ เขา ก็แชร์ว่า ถ้าช่วงด่านแรก ๆ อาจจะง่าย แต่ก็ใช่จะผ่านไปได้เลย
สำหรับ ณัฐพล แล้วเขาก็มีวิธีการบริหารเงินโดยโยนเงินไปหลาย ๆ บัญชีติดไว้ที่ 100 – 200 บาท ยอมรับว่าโยนจนลืม พอมาเปิดดูอีกทีก็พบว่ามีเงินเหลือ แม้ว่าหลายคนอ่านประโยคนี้แล้วแปลก แต่เจ้าของวิธีคิดนี้ยืนยันว่า “มันได้ผล”
“ถ้าชีวิตมนุษย์เงินเดือน คือ เกม ก็น่าจะอยู่เลเวล 6 จาก 10 ด่าน ยากสุดคือ เดือนที่มีโปรลดราคาในทุกแพลตฟอร์ม ไหนจะค่าใช้จ่ายซ้อน เช่น ค่าหมอฟัน ค่าคอร์สเรียน ก็จะยากมาก ๆ กว่าจะฝ่าด่านไปได้”
คือความจริงที่ ธีรวัฒน์ เลิศวานิชย์กุล Graphic Designer & Corporate Identity, BTS Thailand ประเมินตัวเอง ท่ามกลางความพยายามฝ่าฟันอุปสรรคเดือนชนเดือน ซึ่งในฐานะมนุษย์เงินเดือนผู้ที่วางแผนชีวิตอยู่ในเมืองกรุงระยะยาว ยอมรับว่า สิ่งที่กังวลที่สุดคือในเดือนที่ป่วยหนัก หรือตกงานกะทันหันการเงินพังแน่ ไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ความมั่นคงทางใจจะถูกสั่นคลอนด้วย

มนุษย์ออฟฟิศอายุเลข 3 นำหน้า ยังย้อนเล่าให้ฟังถึงเรื่องเงินด้วย โดยปกติเงินเดือน ออกวันที่ 27 หมดไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับภารกิจของเดือนนั้น ๆ แต่โดยเฉลี่ย วันที่ 1 – 25 ยังนิ่ง ซึ่งอาจมีดึงเงินสำรองออกมาใช้บ้าง
ที่ผ่านมา ธีรวัฒน์ เคยลองใช้ Budget tracker แต่ได้ผลช่วงแรก ๆ เพราะสุดท้าย “ใช้จิตสำนึกและความรู้สึกผิดแทนแอปได้ดีกว่า”
“แม้จะทำงานมา 10 กว่าปีแล้ว แต่ไม่เคยจัดการเงินได้สักที ถ้าเปรียบชีวิตเป็นเกม ตอนนี้คงเลเวล 10 ไปแล้ว ติดปีกบินได้แล้ว เพราะใช้ชีวิตแบบนี้มานานมาก จนไม่รู้จะตะเกียกตะกายอะไรแล้ว”
ความจริงที่สะท้อนจากปากของ แบต ในฐานะกราฟิกคนหนึ่งซึ่งก็อยู่ในสถานะมนุษย์เงินเดือน และแน่นอนว่า บ่อยครั้งที่ต้องใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน เขาเล่าว่า เงินเดือนออกแต่ละครั้ง เงินในบัญชีแทบสลายหายไปเกือบหมดเมื่อถึงวันที่ 5 ของเดือน จากภาระหนี้สินต่าง ๆ เหลือไว้บ้างเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนองกิเลส
“บางทีก็ถูกตั้งคำถามว่าซื้อของเล่นมาทำไม ผมชอบเก็บมาเป็นคอลเลคชัน จริง ๆ มันเป็นวิธีแก้เครียดที่ดีเลย แต่แน่นอนบางเดือนต้องยอมอดข้าว เพื่อซื้อมันมา เพื่อเติมกิเลสความอยากได้ของตัวเอง แต่จริง ๆ เวลาเงินเดือนหมดก่อน สุดท้ายก็ต้องขายของสะสมที่เราเสียเงินซื้อมันไปก็แค่นั้น”
แบต อธิบายความต้องการของตัวเอง

เห็นแบบนี้ แบต เองก็พยายามเก็บเงินทุก ๆ ทาง เขาเคยลองใช้แอปช่วยเก็บเงิน แต่ไม่สำเร็จเพราะอดใจไม่ได้
“เรารู้ว่าแอพช่วยได้ แต่เราไม่มีวินัยกับมัน วิธีการเก็บเงินสำหรับผมคือการซื้อของ อะไรก็ได้ที่เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะว่าถ้าเก็บเป็นเงินในบัญชี มันออกตอนไหนก็ได้ แต่ถ้าเป็นของเราจะรู้สึกเสียดาย”
แบต ยอมรับความจริง
แต่สิ่งที่ แบต กังวล และก็เป็นเรื่องที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน คือ ภาวะการเจ็บป่วยของตัวเอง และคนในครอบครัว ที่ต้องดูแลรับผิดชอบ เพราะนั่นหมายถึงการเงินอาจพังได้
“ผมคิดว่าสถานการณ์นั้นคือหนักสุดในชีวิตแล้ว คนในครอบครัวไม่เท่าไรนะ เพราะเรายังทำงานซัพพอร์ทได้ แต่ถ้าตัวเราเองป่วยหนักอันนั้นพังชัวร์ ๆ มันเท่ากับว่าใครจะหาเงินมาให้ เพราะคนที่หาเงินก็คือตัวเรา แต่พอเราป่วยเท่ากับว่าคนที่จะปั๊มเงินมันไม่มีแล้ว”
แบต สะท้อนความกังวล
เสียงสะท้อนจากเหล่าตัวแทนมนุษย์เงินเดือน ชี้ให้เห็นความ ตลกร้าย ของชีวิตหนุ่มสาวออฟฟิศ และกำลังทำให้เห็นว่า การมีเงินเดือนก็อาจไม่ได้การันตีความมั่นคง
เมื่อการใช้ชีวิตแบบ เดือนชนเดือน กำลังกลายเป็นเรื่องปกติของใครหลาย ๆ คน นี่อาจถึงจุดที่ต้องเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองแล้วเช่นกันว่า การจัดการรายได้-รายจ่ายของเรา มีจุดบอดตรงไหน ? หรือเรากำลังพยายามแก้ปัญหาในเกมที่ถูกออกแบบมาให้ไม่มีใครชนะ ? แต่กลายเป็นคนเล่นต้องดิ้นรนไม่รู้จักจบสิ้น
ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่อาจเริ่มเปลี่ยนแปลงได้ คือ การเรียนรู้และปรับตัว แต่หากโครงสร้างค่าแรง และ สวัสดิการสังคม ยังไม่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี คำถามสำคัญนับจากนี้ คือ ใครจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนระบบเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตดี ๆ ให้เกิดขึ้นจริง ๆ สักที