ณ ใจกลางมหานครที่ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความเจริญ นิทรรศการ “เท่าหรือเทียม” เปิดประมวลภาพและข้อมูลการสำรวจปัญหาความยากจนในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่เมือง นำเสนอผ่านกรณีศึกษาที่น่าสนใจ จากชุดสารคดีคนจนเมือง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
กิจกรรมจัดแสดงภาพถ่ายและชุดข้อมูลนี้ได้รับเสียงตอบรับมากมายจากผู้เข้าชม ผ่านกิจกรรมการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นถึงความเท่าเทียม ความจน หรือให้กำลังใจ รวมถึงการพูดคุยกับผู้ชมงาน ที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นการเปิดประสบการณ์ที่ทำให้ “ความจน” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
ความหดหู่ที่จับต้องได้ และ ภาพสะท้อนที่ไร้เสียง
ปาล์ม หนึ่งในผู้เข้าชมที่เดินทางมาจากเชียงใหม่ได้ให้ความเห็นถึงความรู้สึกแรกหลังจากได้ชมว่า “ดูงานแล้วสงสารเด็กค่ะ” โดยเลือกเจาะไปที่กรณีของ “น้องปูแป้น” ที่ถูกนำเสนอในฐานะ “เดอะแบก” ของครอบครัว ปาล์มสังเกตการแบกทั้งแม่และพ่อของปูแป้นด้วยแววตาที่ว่างเปล่าในภาพถ่าย “ไม่ยิ้มเลย” ซึ่งสะท้อนความหดหู่ใจอย่างยิ่ง

ตรงกันข้าม ปาล์มมองภาพกลุ่มผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุว่า เป็นผู้มีภูมิคุ้มกันชีวิตมามากพอ อาจจะไม่ได้สงสารมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม ภาพเหล่านี้ช่วยทำให้ปาล์มได้เห็นชีวิตอื่น ๆ ที่ต้องเผชิญหน้ากับความจริงอันโหดร้าย
นอกเหนือจากกลุ่มคนไทยที่ได้เวียนมาชมนิทรรศการแล้ว ยังมีผู้เข้าชมชาวต่างชาติจากหลากหลายประเทศ แวะเวียนกันมาชมเนื้อหา ข้อมูล และความรู้สึกผ่านภาพที่จัดแสดงอยู่

ซาร่าห์ จากประเทศอินโดนิเซีย มองว่าเนื้อหางานเท่าหรือเทียมมีความน่าตกใจ และเปิดโลกทัศน์ของซาร่าห์อย่างมาก เพราะข้อมูลเหล่านี้ ไม่ได้มีให้เธอเห็น แม้ว่าจะลองหาข้อมูลเกี่ยวกับกรุงเทพมหานครผ่านทางออนไลน์มาแล้วก็ตาม เธอยังเชื่อมโยงสถานการณ์ความจนในเมืองไทยไปกับ “จาการ์ตา” เมืองที่เธอพักอาศัยอยู่ โดยงานนี้ทำให้เธอนึกถึง “ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน” ที่ขยายกว้างขึ้นไปเรื่อย ๆ
ซาร่าห์ ชื่นชอบภาพ “auntie sex worker” หรือภาพป้าเข็มที่ทำงานเป็นสาวบาร์มากที่สุด และมองว่าภาพชุดนี้แตะโยงกับประเด็นปัญหาสังคมอีกมากมาย อย่างประเด็นการท่องเที่ยวแบบ “exotic sex tourism” หรือการท่องเที่ยวทางเพศอย่างแปลกใหม่ในพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาพชุดนี้จึงโดนใจซาร่าห์ มากที่สุด
ขณะที่ แหม่ม-นุชนารถ แท่นทอง ผู้ที่นิยามตัวเองเป็น “คนจนเมือง” และต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัยและความยากจนมากว่า 30 ปี กล่าวว่าภาพที่ออกมาในนิทรรศการนั้น “สื่อความหมายได้ดีมาก” และทำให้ “รู้สึกขนลุกเลย” เพราะในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ ไม่เคยมีโอกาสได้เก็บภาพหรือทำบรรยากาศแบบนี้ออกมาให้สังคมได้รับรู้ การจัดงานครั้งนี้จึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนที่ออกมาให้ผู้อื่นได้ดี
“เพราะคนสลัมเองก็ไม่เคยได้สะท้อนตัวตนของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ แต่กลับถูกสังคมตัดสินไปแล้วว่าเป็นอาชญากรหรือเป็นแหล่งเสื่อมโทรม”
เคี้ยง ผู้เข้าชมอีกท่านยังกล่าวเสริมว่า นิทรรศการนี้ทำให้เห็นว่า “ความจนมันไม่จำเป็นต้องมีแค่รูปแบบเดียว” และบางครั้งมันก็ “ใกล้ตัวเรามาก” แม้เราจะเป็นชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาแล้วก็ตาม ซึ่งรวมถึงปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้คนจนลง เช่น การที่คนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไต หรือลูกพี่ลูกน้องที่หลุดจากระบบการศึกษา ต่างทำให้อยู่ในภาวะเสี่ยงจนได้
‘ภาพถ่าย’ เล่าเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่แก้ไม่ตก
ความยากจนในพื้นที่เมืองถูกฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาที่ซับซ้อนและเรื้อรัง ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวอย่าง ตั้ม ช่างภาพผู้ติดตามกรณีไรเดอร์ในเมืองหลวง
ตั้ม เล่าถึงเคสที่ได้ติดตามว่า อยากใช้ภาพสะท้อนให้เห็นความรักของคนเป็นแม่ “เป็นตัวตนที่ต้องดูแลลูกตั้งแต่เล็กยันโต” ตั้มมองคุณแม่ไรเดอร์เป็นคนสู้ชีวิต ที่ต้องทำงานตั้งแต่เช้ายันดึก “กว่าจะกลับบ้านก็ดึก ซึ่งก็ไม่ได้ไปรับลูก ต้องให้ลูกดำเนินชีวิตเองตั้งแต่ยังเด็กยังเล็กน่ะครับ” ภาพชีวิตของคุณแม่ท่านนี้ก็ทำให้เห็นได้ชัดว่า นี่คือชีวิตที่ลำบาก

หรืออย่าง บิว-สุภณัฐ รัตนธนาประสาน เล่าถึงการได้ไปถ่ายชุดภาพนิ่งในกรณีของน้องปูแป้น ที่ต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยครอบครัวหาเงิน
บิว ตังใจจะถอดรหัสความจนผ่านภาพ ว่าการใช้ชีวิตของพวกเราเป็นอย่างไร และจะสามารถช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสมก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้บิวมองไม่เห็นหนทางที่จะช่วยน้องเลย
“ต่อให้เวลาผ่านไปยังไง มีการช่วยเหลือยังไง คนจนเมืองก็จะเป็นคนจนเมืองอยู่ดี มันดูไม่สามารถดีขึ้นได้ ไม่ว่าทางไหนก็ตาม” บิว กล่าว
ขณะที่ เจฟ-วิศรุต วีระโสภณ ช่างภาพผู้ถ่ายทอดเรื่องของ ‘อาชุม’ และ ‘น้องเอมี่’ เผยว่าความต้องการพื้นฐานของพวกเขาเพียงแค่ “อยากจะหลุดพ้นความยากจน” และเป็นแค่ “ชนชั้นกลาง เป็นคนธรรมดา” ที่ลูกได้รับการศึกษาที่ดีและเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น เจฟ ยังเชื่อว่า “การศึกษา” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะเปลี่ยนชีวิตได้

ในมุมมองของ แบงค์-ปฏิภัทร จันทร์ทอง ผู้ที่ถ่ายทอดชีวิตของ “ป้าบาร์เบียร์” หรือผู้สูงอายุ (63 ปี) ที่ทำงานหนักแต่ไม่ได้รับการยอมรับ เน้นย้ำถึงปัญหาการเข้าถึงสิทธิและโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ “Sex Worker” ถูกกฎหมาย ซึ่งจะทำให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลและการยอมรับทางสังคม
เรื่องราวของคนจนเมืองเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตเล็ก ๆ ในเมืองใหญ่ ที่ต้องสู้ชีวิตอย่างหนักเพื่อดูแลตัวเองและครอบครัว

“ภาพถ่ายเหล่านี้มันสื่อความหมายออกมาน่ะครับ ผมพูดแทนทุกคนว่าพวกเราทุกคนน่ะตั้งใจให้ภาพถ่ายมันเป็นสะพานส่งต่อความรู้สึกให้กับคนที่มาดูรูป” บิว สุภณัฐ กล่าว
“พวกเราช่างภาพคงมีหน้าที่ถ่ายทอดอารมณ์จองแต่ละเคสของทุกคนมา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไปเห็นไปเจอกันมาผ่านรูปภาพทั้งหมด ผมก็พยายามคิดนะครับว่าคนที่มาดูคงจะเข้าใจบริบทในภาพทุก ๆ ใบน่ะครับ”

ผู้ถ่ายภาพชุดคนจนเมืองนี้ ต่างเชื่อว่า “ภาพถ่ายเป็นสะพานส่งต่อความรู้สึก” ให้กับผู้ชมได้ และสิ่งที่นิทรรศการนี้มอบให้ผู้เข้าชมมากที่สุดจากมุมมองของคุณปาล์มคือการกลับไปพร้อมกับคำว่า “ใจดีกับผู้อื่นบ้าง” การ “ใจดี” นี้ไม่ได้หมายถึงการต้องให้เงินทองเสมอไป แต่อาจรวมถึงคำพูดหรือเวลาที่มอบให้เพื่อนมนุษย์
แหม่ม ยังได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่นิทรรศการอาจยังไม่ได้เน้นย้ำมากนัก นั่นคือ “ระบบสาธารณูปโภค” ซึ่งคนจนต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟแพงมาก และยังคงเป็น “ประชากรชั้น 2” ที่ขอทะเบียนบ้านชั่วคราวและไม่สามารถเข้าถึงระบบน้ำไฟได้เหมือนคนทั่วไป เธอเน้นย้ำว่า “ความเท่าเทียมมันเกิดขึ้นไม่ได้หรอก” เพราะคนเกิดมาไม่เท่ากัน แต่ “ความเหลื่อมล้ำ” สามารถลดลงได้ด้วยการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ เช่น ที่ดิน ที่อยู่อาศัย การศึกษา การมีงานทำที่ดี และค่าแรงที่สอดคล้องกับรายจ่าย
อย่างไรก็ตาม ปาล์ม มองว่า “คงไม่คาดหวังการเปลี่ยนแปลงอะไร” ไม่ว่าจะเป็นนโยบายใด ๆ ในเศรษฐกิจแบบนี้ เพราะคนจนนั้น “สู้” อยู่แล้ว และนโยบายของรัฐหลายอย่างก็ยังไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่เข้าใจความจนที่แท้จริงของการ “ไม่มีกิน”
แหม่มเองก็เห็นว่า แม้จะมีการผลักดันนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่หลายครั้งนโยบายก็เป็นเพียง “นโยบาย” ที่ไม่ถูกนำมาปฏิบัติจริง
สร้างความเข้าใจ เพื่อ “ใจดีกับผู้อื่น” แล้วจึงจะแก้ปัญหาได้
แม้จะมีความรู้สึกหมดหวังกับนโยบาย แต่ผู้จัดนิทรรศการและผู้เข้าชมต่างมองเห็นคุณค่าของกิจกรรมนี้ อย่างเสียงของเคี้ยง ที่มองว่านิทรรศการเป็น “จุดเริ่มต้นที่ดี” ที่ทำให้เราได้ “เห็นคนจนว่าเขามีตัวตนอยู่จริง” และการได้เห็นตัวตนของพวกเขา หรือแม้แต่เห็นว่าตัวเราเองก็มีความเสี่ยงที่จะจนได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนในสังคมสามารถ “จับเข่าคุยกัน” และบูรณาการองค์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
นิทรรศการ “เท่าหรือเทียม” ณ หอศิลปวัฒนธรรม ครั้งนี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่การจัดแสดงภาพถ่ายและข้อมูลเรื่องความจน แต่เป็นกระจกที่สะท้อนความจริงของสังคม ทำให้ผู้เข้าชมเห็นความยากจนเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น และกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจ การเห็นอกเห็นใจ และการเริ่มต้นที่จะ “ใจดีกับผู้อื่น” เพื่อสร้างสังคมที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
เชิญชวนทุกท่านร่วมงาน “เท่าหรือเทียม: เส้นทางความเหลื่อมล้ำ คนจนเมือง” จัดโดย ไทยพีบีเอส (The Active) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับการสื่อสารประเด็นทางสังคม และสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
งานนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 27 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
โดยพบกับกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ:
- Photo Gallery “หน้าตาความจน”: ภาพถ่ายบุคคลและบริบทที่สะท้อนถึงความยากจนและความเหลื่อมล้ำจากสารคดี “คนจนเมือง” ของ The Active เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมว่าคนเหล่านี้คือเพื่อนร่วมสังคมกับเรา (บริเวณผนังโค้ง ชั้น 3, 15 – 20 กรกฎาคม 2568)
- Data Wall “นโยบายแก้จน”: นำเสนอเส้นทางนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (บริเวณผนังโค้ง ชั้น 3, 15 – 20 กรกฎาคม 2568)
- Exhibition “เส้นทางความเหลื่อมล้ำ”: นิทรรศการแบบมีส่วนร่วมที่จำลองชีวิต “เกิด – เรียน – งาน – เจ็บ – แก่ – ตาย” เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ตรงและเข้าใจถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ (ห้องนิทรรศการ ชั้น 3, 15 – 27 กรกฎาคม 2568)
เข้าร่วมงานฟรี และสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อรับของที่ระลึกได้ที่:
- เว็บไซต์: https://eventticket.thaipbs.or.th/Events
- LINE: เพิ่มเพื่อน @ThaiPBS หรือคลิก www.thaipbs.or.th/AddLINE พิมพ์คำว่า “คนจนเมือง” ในช่องแชท
นอกจากนี้ ยังสามารถรับชมสารคดี “คนจนเมือง” ทั้ง 5 ซีซัน ได้ทาง https://www.thaipbs.or.th/program/UrbanPoorDoc/ หรือแอปพลิเคชัน VIPA ที่ https://watch.vipa.me/cFD0ZrWzRUb