“เป็นอันตรายถึงตายหากชกต่อ” สมมติฐานที่ยังไร้ข้อพิสูจน์ แต่สร้างความเกลียดชังต่อ “อิมาน เคลิฟ” นักชก Intersex

“ข้อถกเถียงทั้งหมดนี้ทำให้ฉันรู้สึกเสียใจ และต้องขอโทษคู่ต่อสู้ของฉันด้วย ถ้า IOC อนุญาตให้เธอแข่งได้ ฉันก็เคารพการตัดสินใจนั้น”

แองเจลา คารินี

แองเจลา คารินี นักชกหญิงชาวอิตาลี ที่ถอนตัวจากการแข่งขันโอลิมปิก 2024 หลังขึ้นชกกับ อิมาน เคลิฟ นักชกจากแอลจีเรีย ภายในเวลา 46 วินาที กล่าวถึงการกระทำของเธอหลังการแข่งขัน พร้อมกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากได้เจอกับ เคลิฟ อีกครั้ง เธอจะกอดให้กำลังใจเคลิฟ

อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงถึงความยุติธรรมในวงการกีฬา จากกรณีที่เคลิฟเคยถูกตัดสิทธิในการแข่งขันที่นิวเดลี อินเดีย ด้วยสมาคมมวยสากลนานาชาติ (ไอบีเอ) ตรวจพบว่าระดับฮอร์โมนเพศชาย หรือ เทสโทสเตอโรน สูงเกินเกณฑ์ และการให้สัมภาษณ์ของคารินี ว่า “ฉันขอยอมแพ้เพื่อรักษาชีวิตตัวเอง” ทำให้เคลิฟถูกมองว่าเธอไม่ควรอยู่ในกีฬาของผู้หญิง หรือร้ายแรงกว่านั้น คือการใช้สรรพนามด้วยคำว่า “เขา” แทนที่จะเรียกว่า “เธอ” ตามเพศที่ติดตัวเคลิฟมาแต่กำเนิด 

แม้กีฬาโอลิมปิกจะเปิดโอกาสให้นักกีฬาข้ามเพศ (Transgender) เข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรกในปี 2020 ณ ประเทศญี่ปุ่น และในโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) มีการเพิ่มข้อจำกัดที่เข้มงวดขึ้น เพื่อให้ยุติธรรมต่อนักกีฬาหญิง โดยเฉพาะด้านสรีระและมัดกล้ามเนื้อ ระบุว่า นักกีฬาข้ามเพศที่จะลงแข่งในโอลิมปิกครั้งนี้ ต้องผ่านการแปลงเพศก่อนอายุ 12 ปี เพราะหากเกินวัยแรกรุ่นไปแล้ว ร่างกายจะได้เปรียบนักกีฬาหญิง ซึ่งไม่ยุติธรรม

แต่กรณีของ เคลิฟ ซับซ้อนกว่านั้น เพราะเธอเป็น Intersex

อ้างอิงจากแถลงการณ์ของกลุ่ม Intersex Thailand ระบุว่า intersex หรือ คนที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาไม่ชัดเจน, คนที่มีเพศทางชีววิทยาที่หลากหลาย หมายถึง คนที่มีลักษณะเพศ ที่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย อาจมีลักษณะเข้าข่ายทั้งหญิงและชาย หรือไม่เข้าข่ายทั้งหญิงหรือชาย ปรากฏได้ทั้งรูปแบบเพศสรีระที่มองเห็นได้ด้วยตา เช่น อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก ไปจนถึงการตรวจพบด้วยกระบวนการทางการแพทย์ เช่น อวัยวะสืบพันธุ์ภายใน ต่อมเพศ โครโมโซมหรือฮอร์โมน ทั้งนี้ อาจพบตั้งแต่แรกเกิดหรือภายหลังก็ได้ 

ดังนั้น เพศ intersex คือ บุคคลที่เกิดมาพร้อมกับร่างกายตามธรรมชาติ ที่ไม่ตรงกับกล่องของ “เพศหญิง” หรือ “เพศชาย” ขึ้นอยู่กับ 5 อย่างในร่างกาย

  • โครโมโซมเพศ 
  • อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก 
  • อวัยวะสืบพันธุ์ภายใน 
  • ระดับฮอร์โมนเพศ 
  • ต่อมเพศ

ซึ่งกรณีของเคลิฟ ไอโอซี ออกโรงแถลงในวัน 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่า การตรวจระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ของ เคลิฟ นั้นอยู่ในระดับที่ “ไม่สมบูรณ์แบบ” พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพในตัวนักกีฬา รวมถึงสื่อต่างประเทศหลายสำนักที่ปล่อยภาพที่คาดว่าจะเป็นเคลิฟตอนเด็ก ที่มีรูปร่างและลักษณะเป็นเพศหญิงตามปกติ 

แล้วความวิตกกังวลต่อ “เคลิฟ” มาจากไหน ?

ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งอาจมาจากไอโอซี ที่ไม่แถลงความชัดเจนต่อสาธารณะให้ชัดเจนว่า “ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน” นั้น สำคัญต่อการได้เปรียบต่อของนักกีฬามากน้อยอย่างไร ซึ่งกรณีของ “เคลิฟ” ที่ชกชนะในรอบที่ผ่านมา อาจเป็นส่วนหนึ่งของความกลัว วิตกกังวล และส่งผลต่อการตัดสินใจขอยอมแพ้ของคารินี ในวินาทีที่ 46 เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ากำลังใจถือว่ามีส่วนสำคัญของการแข่งขันกีฬา

อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ยังคงมีการศึกษากันอย่างต่อเนื่อง มีข้อค้นพบว่าระดับเทสโทสเตอโรนไม่มีความเชื่อมโยงกับประสิทธิภาพในการแข่งขันกีฬาหญิงหลายชนิด แต่ในการแข่งขันที่เน้นพละกำลังอย่างการวิ่งระยะสั้น การขว้างจักร รวมถึงพุ่งหลาวนั้น ระดับเทสโทสเตอโรนยังคงมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่

ซึ่งถ้าย้อนดูสถิติการขึ้นชกของเคลิฟ ก็พบว่า เธอทำสถิติการชกรวม 51 ไฟต์ ชนะ 42 ไฟต์ (ภายหลังถูกดิสควอลิฟาย 4 ไฟต์) เป็นการชนะน็อก 6 และ ในจำนวนนี้เคยพ่ายแพ้ให้นักชกหญิงคนอื่นมาแล้ว 9 ไฟต์

หรือในโตเกียวเกมส์ 2020 มีนักกีฬาข้ามเพศลงแข่งขันครั้งแรก ลอเรล ฮับบาร์ด นักยกน้ำหนักวัย 43 ปีจากนิวซีแลนด์ รุ่นน้ำหนักมากกว่า 87 กิโลกรัมหญิง ก็ยกไม่ผ่านทั้ง 3 ครั้ง และหากตัดองค์ประกอบของการทุ่มเทฝึกซ้อมออกไปก็อาจไม่เป็นธรรมกับผู้ที่พยายามฝึกซ้อมมาอย่างหนัก

ช่วงหนึ่งในแถลงการณ์ของกลุ่ม Intersex Thailand ยังยกตัวอย่าง #ผู้เขียนบทความเมื่อเป็นนักกีฬา ว่า เราจะสามารถเหลือพื้นที่ให้เจ้าตัวเป็นคนกำหนด ว่าตนเองเป็นเพศอะไร บ้างหรือไม่ ในเมื่อตอนเกิดเราก็ถูกกำหนดให้เป็นเพศอะไรโดยแพทย์ เพราะเราเล่นเก่งชนะคนอื่น เราก็ถูกบอกว่าควรไปตรวจโครโมโซมเพราะว่าคุณไม่ใช่ผู้หญิงโดยคู่แข่ง พร้อมทั้งแปะป้ายว่าเป็นคนขี้โกง

“เมื่อคู่แข่งบอกว่าคุณขี้โกง คุณต้องไปตรวจโครโมโซมเพราะว่าคุณเก่งเกินไป ตรวจออกมาแล้วถ้าคุณไม่ผ่านคุณไม่ใช่ผู้หญิง แล้วก็ถูกแขวนไว้อยู่อย่างนั้น ตกลงฉันเป็นตัวอะไร ตัวประหลาด ? ตรวจแล้วพบว่าไม่ใช่ผู้หญิง คนอื่นก็หันหน้าไปแข่งกันต่อ แล้วฉันล่ะ สิ่งที่ฉันซ้อม สิ่งที่ฉันทำ ความลำบากที่ฉันผ่านมา เวลาที่ฉันต้องแลกไปกับการฝึกซ้อมอย่างหนัก ทำไมไม่ถามว่าฉันซ้อมหนักแค่ไหน ทำไมไม่มีใครถามว่า ฉันฝึกฝนมามากเท่าไหร่ เพราะฉันไม่ได้อยู่ในภาพจำของความเป็นผู้หญิง ที่สังคมตั้งค่าไว้อย่างนั้นหรือ ?”

พร้อมตั้งคำถามกับการ “บังคับ” ให้ตรวจโครโมโซม เป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ ไปจนกระทั่ง การตรวจสอบโครโมโซมที่เป็นทางลับ กลับมีข้อมูลมากมายที่เจ้าตัวไม่ใช่คนให้เผยแพร่ออกมา 

“สื่อ” องค์ประกอบสำคัญต่อการสร้างความเกลียดชังผู้มีความหลากหลายทางเพศ

บทความ จับกระแสวงการกีฬา ไทยพีบีเอส ระบุว่า การตรวจเพศนักกีฬาเริ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1930 นั้นเอง โดยมีตั้งแต่การตรวจด้านเอกสารยืนยันทางการแพทย์ แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักฐานที่หนักแน่นมากนัก ประเด็นเกี่ยวกับเพศสภาพของนักกีฬาได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการศึกษาเกี่ยวกับ “ความเป็นผู้หญิง” โดยสรุปรวมทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรมเพื่อนำมาไปสู่นิยามที่ยอมรับได้ในกีฬาระดับชาติ และการตรวจเพศก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญหลังทศวรรษที่ 1960

ตัวแปรสำคัญในครั้งนี้คือความสำเร็จของทีมนักกีฬาหญิงจากสหภาพโซเวียตและเยอรมนีตะวันตก ทำให้องค์กรกีฬาในยุโรปแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นหญิง ยังมีสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ร่วมพูดคุยถึงประเด็นเรื่องเพศโดยเฉพาะกรณีของพี่น้องอิรินา และทามาร่า เพรส ทว่าความน่าสงสัยที่นำไปสู่การตรวจเพศกลับไม่เคยเกิดขึ้น (ที่ ณ เวลานั้นยังไม่มีขั้นตอนอย่างเป็นทางการ เป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้น) เนื่องจากทั้ง 2 ได้ขอถอนตัวไปเสียก่อน สิ่งนี้ยิ่งเติมเชื้อไฟให้กับข้อถกเถียงว่า การตรวจเพศควรทำอย่างไร ?

ถึงตอนนี้การตรวจเพียงเอกสารทางการแพทย์ที่ยืนยันเรื่องเพศไม่เพียงพออีกต่อไป ในช่วงปีทศวรรษที่ 1950 (1952-1967) มีการตรวจเพศที่ใช้วิธีการที่เรียกกันว่า Physical Examination เป็นการให้แพทย์ตรวจดูอวัยวะเพื่อยืนยันว่าตรงกับเพศ แน่นอนว่านักกีฬาหญิงมากมายรู้สึกไม่ดีกับวิธีการดังกล่าว ทั้งยังมีข้อครหา เช่น แพทย์อาจวินิจฉัยว่านักกีฬาหญิงคนนั้น ๆ มีลักษณะทางเพศเป็นชายมากเกินไป อย่างการไม่มีหน้าอก หรือมีกล้ามเนื้อที่ใหญ่เกินกว่าจะเป็นผู้หญิง และถูกตัดสิทธิ์ได้

การตรวจด้วยโครโมโซม (chromosomal test) ถูกค้นพบและนำมาใช้ในปี 1967 เอวา โคลบูคอฟส์กา (Ewa Kłobukowska) นักวิ่งระยะสั้นหญิงจากโปแลนด์กลายเป็นเคสแรก ๆ ที่ผ่านการตรวจด้วย Physical Examination แต่ไม่ผ่านการตรวจเพศด้วยโครโมโซม ซึ่งในเวลาต่อมาหลังจากที่เธอถูกริบรางวัล เธอยังคงใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงและมีลูก การตรวจด้วยโครโมโซมเริ่มถูกตั้งคำถามถึงการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตามการเผยแพร่ข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน ปราศจากข้อมูลในช่วงแรกของการชกระหว่างแองเจลา คารินี และ อิมาน เคลิฟ มีการตั้งข้อสังเกตว่าละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ 

เช่น แถลงการณ์จาก เฟมินิสต์ปลดแอก ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิทางกีฬาของบุคคล Intersex และ Trans ระบุว่า กรณีการนำเสนอข่าวดังกล่าว สื่อมวลชนหลายสำนักในประเทศไทย ได้มีการนำเสนอข้อมูลผิดพลาดเรื่องเพศของอิมาน เคลิฟ โดยใช้คำเรียกเธอว่า นักชกข้ามเพศ นักมวยเพศชายทางชีวภาพ นักมวยชายชนะนักมวยหญิง และนำเสนอหลักฐานประกอบข่าวที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ผลการตรวจเพศสรีระ (sex verification) ของ ไอบีเอ ส่งผลให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดและสร้างกระแสความเกลียดชังคนข้ามเพศและอินเตอร์เซ็กส์ ในการนี้จึงขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนที่ได้มีการรายงานข่าวในลักษณะดังกล่าวออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องและนำเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นธรรมกับนักกีฬาตามมาตรฐาน IOC

“All sport for All people กีฬาเพื่อทุกคน”

“Sport is Basic Human Right กีฬาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน”

พร้อมย้ำถ้อยคำของ ปิแอร์ เดอ กูแบร์แต็ง ในฐานะผู้ประกาศเจตนารมณ์ในการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือสร้างความเท่าเทียมระหว่างชนชั้นและเพศไว้ล่วงหน้ากว่า 40 ปี ก่อนจะริเริ่มพัฒนาโครงการโอลิมปิกยุคใหม่ แสดงให้เห็นถึงแก่นของการจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกที่มากไปกว่าชัยชนะในการแข่งขัน แต่เป็นการสร้างพื้นที่ทางโอกาสให้กับทุกเพศได้ใช้ร่างกายแสดงศักยภาพอย่างสุดความสามารถผ่านกีฬาชนิดต่าง ๆ 

แต่ปัจจุบันเกณฑ์การแข่งขันกีฬาในงานโอลิมปิกและการแข่งขันกีฬาทั่วโลกยังผูกติดกับแนวคิดแบบสองเพศ (Gender Binary) ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างเกณฑ์และกติกาที่เป็นธรรมและครอบคลุมความหลากหลายทางเพศในร่างกายมนุษย์ทั้งในมิติโครโมโซมเพศ ฮอร์โมนเพศ อวัยวะทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ แถลงการณ์ฉบับนี้จึงเขียนเพื่อยืนยันถึงสิทธิการเข้าถึงกีฬาของทุกเพศและเรียกร้องให้หน่วยงานด้านกีฬาทั้งในไทยและต่างประเทศใช้องค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางเพศในทุกมิติในการสร้างกติกาที่เป็นธรรมและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักกีฬาทุกเพศ

อย่างไรก็ตามงานวิชาการ และการเปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในวงการกีฬา ยังเป็นข้อถกเถียงในระดับสากล หากแต่การพูดคุยในเรื่องนี้พูดคุยถึงกติกา และมาตรฐานที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยปราศจากอคติที่มาจากความเกลียดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างไร

โดยเฉพาะในนัดถัดไปที่ “เคลิฟ” มีโอกาสได้พบกับ “จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง” ของไทย เราจะสามารถมีพื้นที่ในการพูดคุย ที่นำไปสู่พื้นที่กลางแห่งความเข้าใจ และตรงวัตถุประสงค์ของกีฬาโอลิมปิก มหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ เพื่อเชื่อมโยงผู้คนไว้ด้วยกันได้หรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน