‘จันทร์แจ่ม’ ดวลหมัด ‘เคลิฟ’ ชี้ชะตา หาจุดร่วมให้นักกีฬา Intersex ได้ไหม ?

การแข่งขันมวยสากลรอบรองชนะเลิศ หรือ รอบชิงเหรียญเงิน ใน โอลิมปิก ปารีส 2024 กำปั้นหญิงไทย จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง โคจรมาพบกับ อิมาน เคลิฟ จากแอลจีเรีย ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เวลา 03.34 น. (คืนวันที่ 6 ส.ค. 67) ตามเวลาประเทศไทย ณ สนามนอร์ท ปารีส อารีน่า

จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง นักชกมวยสากลชาวไทย รุ่น 66 กิโลกรัม (ภาพ : AFP)

สำหรับสถิติที่เคยพบกันแม้ เคลิฟ เอาชนะ จันทร์แจ่ม ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 5-0 แต่ก็ถูก สหพันธ์มวยสากลนานาชาติ (ไอบีเอ) ตัดสิทธิ์และปรับแพ้ เนื่องจากตรวจเพศไม่ผ่าน โดยพบว่า ระดับฮอร์โมนเพศชาย หรือ เทสโทสเตอโรน สูงเกินเกณฑ์

แต่ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ไฟเขียวให้ เคลิฟ รวมถึง หลิน ยู่ติง นักชกจากไต้หวัน เข้าร่วมการแข่งขันในรายการมวยสากลหญิงโอลิมปิก ปารีส ได้ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความยุติธรรมของการจัดแข่งขัน โดยไอโอซีให้เหตุผลว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเล่นกีฬาได้โดยไม่มีการแบ่งแยก และนักกีฬาทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันชกมวยในโอลิมปิก เกมส์ 2024 ได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การมีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน และกฎเกณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่กำหนด โดยหน่วยกำกับกีฬาชกมวยปารีส 2024 (Paris 2024 Boxing Unit หรือ PBU)

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาทั้งสองคนนี้
มีพื้นฐานมาจากการตัดสินใจโดยพลการอย่างสิ้นเชิง
ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีขั้นตอนที่เหมาะสม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่านักกีฬาเหล่านี้
เคยแข่งขันในรายการระดับสูงมาหลายปีแล้ว”

โอโอซี
อิมาน เคลิฟ จากแอลจีเรีย (ชุดแดง) ในวันทำการแข่งขันกับ แองเจลา คารินี จากอิตาลี (ภาพ : AFP)

ไฟดรามาของ เคลิฟ ยิ่งลุกโชนหนักขึ้นในรอบ 16 คน เมื่อ แองเจลา คารินี นักชกหญิงชาวอิตาลี ขอถอนตัวหลังขึ้นชกกับ เคลิฟ แค่ 46 วินาที ซึ่ง คารินี ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ระบุว่า

“สู้เพื่อประเทศชาติอย่างสมเกียรติเสมอ แต่ครั้งนี้ไม่สามารถสู้ได้อีก เพราะไม่เคยเจอหมัดที่หนักขนาดนี้มาก่อน”

แองเจลา คารินี

แม้ภายหลัง คารินี จะออกมากหยุดการถกเถียงทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งเธอรู้สึกเสียใจ และขอโทษ เคลิฟ  ถ้า IOC อนุญาตให้แข่งได้ก็เคารพการตัดสินใจนั้น พร้อมกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากได้เจอกันอีกครั้ง เธอจะกอดให้กำลังใจเคลิฟ แต่ก็ไม่พอดับไฟดรามาที่กำลังลุกโหมอย่างหนักลงได้

“ผู้ชายไม่ควรอยู่ในกีฬาของผู้หญิง”

“พาราลิมปิก…นั่นคือทางออกของผู้มีความบกพร่อง”

“หญิง = หญิงแท้ xx”

นี่เป็นคอมเมนต์บางส่วนในโลกออนไลน์ ไม่นับรวมการใช้ภาพที่ด้อยค่า สร้างความเกลียดชัง ไม่ใช่แค่กับนักกีฬา แต่ยังส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของบุคคล Intersex ทั่วโลก

กลายเป็นประเด็นที่กลุ่ม Intersex Thailand และผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ในประเทศไทย แสดงความกังวลในนัดที่ เคลิฟ และ แจ่มจันทร์ จะพบกัน หากเป็นการเชียร์ที่พุ่งเป้าโจมตีไปที่ตัวนักกีฬา

ณฐกมล ศิวะศิลป กลุ่ม Intersex Thailand

พรีส – ณฐกมล ศิวะศิลป จากกลุ่ม Intersex Thailand และในฐานะที่ตัวเองเป็น Intersex เปิดเผยกับ The Active ว่า ข่าวสาร และคอมเมนต์ในโลกออนไลน์ต่อประเด็นดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา สร้างความบอบช้ำให้กับบุคคลที่เป็น Intersex ในประเทศไทย แม้คณะกรรมการโอลิมปิก จะมีความตั้งใจดีเพื่อสร้างความเท่าเทียมในวงการกีฬา แต่จำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่สร้างความคลุมเครือให้กับนักกีฬาคนอื่น ๆ หรือผู้ที่ติดตาม ซึ่งสิ่งที่จะลดอุณภูมิลงได้ คือ การออกมาให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องของบุคคล Intersex

ปัจจุบันบุคคล Intersex ถูกค้นพบว่ามีมากกว่า 44 รูปแบบ แต่ละรูปแบบมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน และไม่ว่าจะเป็น ผู้ชาย หรือ ผู้หญิง สามารถมีระดับฮอร์โมนเพศชาย เพศหญิง ผสมกันในตัวของคนนั้น ๆ เพียงแต่บางคนมีระดับฮอร์โมนเพศชาย หรือ เพศหญิงสูงกว่า เพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิด

“ยังเป็นคำตอบที่นักวิทยาศาสตร์ การแพทย์ นักชีววิทยา ผู้จัดการแข่งขัน และกลุ่มองค์กรที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนต้องมานั่งคุยกันว่า สรุปแล้ว ความยุติธรรมของเธอ ความยุติธรรมของฉัน และความยุติธรรมของเรา จุดกึ่งกลางที่จะสร้างให้การแข่งขันมีความยุติธรรม ก้าวหน้า และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล”

ณฐกมล ศิวะศิลป

ถ้าฉันไม่ใช่ผู้หญิง แล้วฉันเป็นอะไร ?

คงต้องยอมรับว่ามุมมองที่มีต่อนักกีฬา Intersex มาจากชุดความคิดทางสังคมที่ตั้งไว้ว่า ผู้หญิง ที่อยู่ในอุดมคติควรมีลักษณะ รูปลักษณ์อย่างไร เมื่อมองแล้วตัวนักกีฬา Intersex ไม่ได้อยู่ในกล่องบรรทัดฐานของความเป็นหญิงที่สังคมตั้งค่าเอาไว้ มักจะถูกด้อยค่าให้เป็นอื่นอยู่เสมอ

อิมาน เคลิฟ นักชกชาวแอลจีเรีย (ภาพ : AFP)

เช่น ภาพการตะโกน ยกแขนชูกำปั้น เห็นเส้นเลือด หรือมัดกล้าม ทำให้ดูตัวใหญ่เกินจริง หรือดูอันตราย ผลกระทบเหล่านี้ยังทำให้คู่ต่อสู้หรือคู่แข่งขัน มีความหวาดกลัว หรือในกรณีจันทร์แจ่มนัดล่าสุดที่การันตีเหรียญทองแดงไปแล้ว ก็สื่อบางประเทศเลือกใช้รูปที่หลุดกรอบจากความเป็นหญิง บอกว่า ควรไปตรวจโครโมโซมเพศ หรือเป็นคนข้ามเพศหรือไม่

ณฐกมล จึงอยากให้สื่อระมัดระวังเรื่องการใช้ภาพ หรือถ้อยคำ ที่กระตุ้นปลุกเร้าจิตใจ ชี้นำสังคมให้เกิดความเกลียดชัง เพราะผู้ได้รับผลกระทบจากการวิพากษ์ วิจารณ์ หลังจากนั้น คือบุคคล Intersex ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมหลังจากนั้น

“สื่อควรหยุดสร้างเนื้อหาที่นำมาซึ่งความเกลียดชัง โดยอาศัยไฟที่กำลังลุกโชนจากความรักในการเป็นชาติ และต้องการจะได้รับชัยชนะ โดยลืมว่าจริง ๆ แล้วยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ดูอยู่ และกำลังรับความเกลียดชังที่ซ้อนทับภาพตัวเองกับคนที่เป็นนักกีฬาที่เป็นประเด็นอยู่”

ณฐกมล ศิวะศิลป

1.7% ของประชากรทั่วโลก เกิดมาเป็นบุคคลที่เป็น Intersex ในทางการแพทย์ถือว่ามีความซับซ้อนเพราะไม่มีรูปแบบตายตัว บางคนอาจจะเกิดมาพร้อมโครโมโซมเพศหญิง แต่ไม่มีมดลูก และรังไข่ หรือเกิดมาพร้อมโครโมโซมเพศชาย แต่อวัยวะเพศคล้ายผู้หญิง หรือ บางคนอาจมีทั้งอวัยวะเพศชายและหญิงได้เช่นกัน

ค่านิยมที่ยึดเพียงเพศชาย-หญิง ยังส่งผลทำให้มีเด็กจำนวนไม่น้อย ถูกผู้ปกครองเลือกเพศให้ตั้งแต่เกิด เมื่อเติบโตขึ้นหากอยู่ในสังคมที่กติกากำหนดให้ต้องเข้ารับการตรวจยืนยันเพศ ก็อาจไม่มีพื้นที่ตามกล่องเพศที่กำหนดไว้

หากแต่ดรามาโอลิมปิก ปารีส ในครั้งนี้ จะนำไปสู่จุดร่วมในการสร้างพื้นที่ด้านกีฬา ที่รวมคนทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน ตามวัตถุประสงค์ของกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ อาจเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่สังคมจะโอบรับ เคารพการมีอยู่ของบุคคล Intersex ทั่วโลก และความแตกต่างหลากหลายอื่น ๆ ได้อย่างแท้จริง

และแน่นอนว่าที่กล่าวมาทั้งหมด อาจเริ่มต้นในนัดชี้ชะตาระหว่าง จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง และ อิมาน เคลิฟ 7 ส.ค. นี้เลยก็ได้  

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน