ในช่วงที่สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ยังคงทวีความรุนแรง และไม่มีท่าทีจะยุติลงง่าย ๆ ท่ามกลางชุดข้อมูลที่หลั่งไหลให้พลเมืองโลก ได้เหลียวมอง และทำความเข้าใจดินแดนศักดิ์สิทธิ์อย่าง นครเยรูซาเล็ม และความสัมพันธ์ระหว่าง อิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ อีกครั้ง
นักวิเคราะห์ มองตรงกันว่า สภาพของอิสราเอลตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน เข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีข้อตกลงสันติภาพ เช่น “ข้อตกลงสันติภาพออสโล” แต่ ทว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง 2 รัฐกลับไม่ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมา สภาพความเป็นอยู่ของ ชาวปาเลสไตน์ทั้งในฉนวนกาซา และเวสต์แบงค์ มีข้อมูลถูกกดขี่หลายเหตุการณ์ เช่น การขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากนครเยรูซาเล็ม และรุกล้ำศาสนสถานสำคัญอย่างมัสยิดอัล-อักซอ จนนำมาสู่ สถานการณ์บานปลายไม่รู้จบ
สุดท้ายแล้ว ความสูญเสียที่เกิดขึ้น คงหนีไม่พ้นประชาชน-ผู้บริสุทธิ์ และอนาคตลูกหลานยิว หรือ มุสลิม ที่อยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ – อิสราเอล The Active สัมภาษณ์พิเศษ รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะนักวิชาการที่นับถือศาสนาอิสลามให้ช่วยเปิดข้อมูล ทำความเข้าใจวิธีคิดของมุสลิม ที่กำลังตกเป็นจำเลย ถูกมองเป็นเนื้อเดียวกันกับความรุนแรง
“ผมคิดว่าทางออก 2 รัฐ อยู่ด้วยกันได้ จะช่วยกำหนดอนาคตลูกหลานยิว-ปาเลสไตน์ ทำให้โลกมั่นใจเกิดสันติภาพที่แน่นอน อย่างน้อย ๆ บนแผ่นดิน ‘เยรูซาเล็ม’ เพราะการเปลี่ยน แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ให้กลายเป็นแผ่นดินบาป ไม่ใช่เป้าประสงค์ทั้ง 2 ศาสนา อย่างแน่นอน”
รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ ม.ปัตตานี
หาก ศาสนา ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ประเทศนั้นจะขาดความชอบธรรม
รศ.เอกรินทร์ เล่าว่า ศาสนา และความเชื่อ มักถูกโยงให้เกี่ยวกับ สถานการณ์ทางการเมือง เพราะทั่วโลกมักมีปัญหาเรื่องการแย่งชิงดินแดน รวมถึงเยรูซาเล็ม-ปาเลสไตน์ด้วย แต่ หากทั้ง 2 ประเทศ เลือกตีความศาสนา และใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือก็จะทำให้ประเทศนั้นหมดความชอบธรรม ในสายตาประชาคมโลก เพราะโลกให้คุณค่าเรื่องความยุติธรรม และความชอบธรรม
ถ้าจะต่อสู้ต้องต่อสู้ในมิติว่า “ถูกละเมิดอย่างไร ?” ไม่ควรใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ เพราะการอธิบายเชิงศาสนา เป็นการอธิบายกลุ่มก้อนของตัวเอง แต่ไม่สามารถขยายให้โลกเข้าใจได้ ซึ่งในแง่มุมรัฐศาสตร์ มิติการต่อสู้ ต้องมีความชอบธรรม โดยไม่ใช้ความรุนแรง
ขณะที่สังคมไทยก็ได้หวนมาทบทวนเรื่องนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 2 ส่วน คือ มีแรงงานไทยในอิสราเอล และมีชาวมุสลิมอีกเกือบ 10 ล้านคนในประเทศไทย
“หากประเทศใดใช้ ‘ศาสนา’ เป็นเครื่องมือ ก็จะทำให้ประเทศนั้นหมดความชอบธรรม ในสายตาประชาคมโลก เพราะโลกให้คุณค่าเรื่องความยุติธรรม ความชอบธรรม ถ้าจะต่อสู้ ต้องต่อสู้ในมิติว่า ถูกละเมิดอย่างไร ไม่ควรใช้ศาสนา เป็นเครื่องมือ”
รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ ม.ปัตตานี
มุสลิม ปลายด้ามขวาน กับ “ภาพจำ-หัวรุนแรง” กับ คนอิสลาม ที่ถูกเหมารวม
ศาสนา “อิสลาม” กับ คนมุสลิม เป็นคำที่เกี่ยวข้องกัน แต่กรณีความรุนแรง ไม่อาจนิยามว่าเกิดขึ้นเพราะคนที่นับถือศาสนาอิสลามได้ทั้งหมด เพราะผู้ก่อความรุนแรง เป็นส่วนน้อยของมุสลิมทั่วประเทศ เป็นสิ่งที่อาจารย์เอกรินทร์ กำลังชวนเราตั้งคำถามต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกตะวันออก รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย
ความรุนแรง กับ มุสลิม มักถูกอธิบายเป็นเนื้อเดียวกันอยู่เสมอ แต่ต้องไม่ลืมว่า “มุสลิม มลายู” เป็นชนกลุ่มน้อยของมุสลิมไทย ทั่วประเทศ มีมุสลิม 10 ล้านคน เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ก็ใช่ว่า ทุกพื้นที่จะมีความรุนแรง อ.เอกรินทร์ ย้ำว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็นการจัดการของรัฐไทย ที่ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐ และสิทธิมนุษยชน เช่น การปกครองตัวเอง, การพูดถึงความคิดความฝันของตัวเอง หรือแค่มองว่า “คนที่นี่นับถือศาสนาอิสลาม”
ดังนั้น ถ้าจะมองเรื่องความรุนแรงภาคใต้ต้องมองผ่านมิติ “มุสลิม มลายู ศึกษา” ไม่ใช่มองเรื่อง “อิสลามศึกษา”
“มุสลิม มลายู เป็นชนกลุ่มน้อยของมุสลิมไทย จากมุสลิมทั่วประเทศ เกือบ 10 ล้านคน แต่ใช่ว่า ทุกพื้นที่จะมีความรุนแรง …ผมย้ำว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็นการจัดการของรัฐไทยสังคมไทยต้องเปิด เพื่อโอบรับความรู้จาก มุสลิมทั่วโลก ที่หลากหลาย”
รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ ม.ปัตตานี
ความรุนแรงใน ปาเลสไตน์ ก็เป็นกลุมคนที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่อีกด้านหนึ่ง ทั่วโลกก็มีขบวนการมุสลิมนับพันล้านคน ใช้สันติวิธี แต่ไม่ได้ถูกนำเสนอให้โลกรับรู้ ประเทศมุสลิม เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ทันสมัย ไม่ได้มีแต่เหตุรุนแรง …สังคมไทยอาจจะต้องเปิดเพื่อโอบรับความรู้จากมุสลิมทั่วโลกที่หลากหลาย เช่น ในยุโรป ที่มีมุสลิม เป็นกลุ่มคนสำคัญ และเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศ
อิสลาม สิ่งสำคัญ คือ หลักบัญญัติ 2 อย่าง คือ เรื่องความยุติธรรม และทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าเราจะเป็นอย่างไร ถูกกำหนดมาด้วยบททดสอบพระผู้เป็นเจ้า เช่น เวลาชาวปาเลสไตน์ ถูกรังแก มุสลิมเข้าใจว่า การถูกรังแกจากอิสราเอลนั้น เป็นบททดสอบพระผู้เป็นเจ้า เชื่อมโยง กับ ความยุติธรรม ขณะที่ หลักคำสอน คัมภีร์ทุกเล่มเป็นนามธรรม ขึ้นอยู่กับการตีความ เช่น ใครขัดขวางการละหมาด ลุกขึ้นสู้ได้ ก็ต้องใช้สติปัญญาในการตีความ เพราะอิสลามสอนสันติวิธีด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมุสลิมต้องตีความ
2 รัฐ อยู่ร่วมกันได้ คือ อนาคตของลูกหลานยิว-มุสลิม
ถ้าจะเริ่มทำความเข้าใจ ต้องเริ่มด้วยสิ่งที่เกิดขึ้น ประเทศไทย ระหว่างประเทศกับการวางตัวเป็นกลาง โดยต้องเห็นทั้ง 2 ด้าน อ.เอกรินทร์ อ้างถึงข้อเสนอของ โนม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) นักภาษาศาสตร์ นักปรัชญา และนักกิจกรรมทางการเมือง ที่เสนอเรื่อง 2 State เพื่อยุติความขัดแย้ง ที่ผ่านมาไทยค่อนข้างชัดเจนสำหรับแนวทางการสนับสนุนให้ 2 รัฐอยู่ร่วมกันได้ และมีข้อตกลงห้ามบุกรุกกัน
ขณะที่สังคมไทยเปิดรับข้อมูลและการรับรู้เรื่องราวของอิสราเอล กับปาเลสไตน์ ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน และตั้งคำถามกับมิติต่าง ๆ ในแง่มุมประวัติศาสตร์มากขึ้น เช่น เมื่อก่อนเราไม่ค่อยเห็นว่า ปาเลสไตน์ ถูกกระทำก่อน แต่ปัจจุบันเริ่มมีตั้งคำถามว่า ทำไมอิสราเอล จึงต้องขยายดินแดนไปเรื่อย ๆ หรือ ที่เรียกกันว่าการสร้างคุกที่ใหญ่ที่สุดล้อมปาเลสไตน์อยู่ หรือแม้แต่ การกระทำของกลุ่มฮามาสในครั้งนี้ ส่งผลให้คนไทยเสียชีวิต ในฐานะคนไทยด้วยกันก็แสดงความห่วงใยและเริ่มต้นประณามฮามาสก่อนในเบื้องต้น เพราะเรามีความผูกพันกับคนไทย เพียงแต่พอผ่านไประยะหนึ่ง เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น ก็ทำให้กระแสของสังคมไทยเริ่มตั้งคำถามกับอิสราเอลด้วย
พลังของข้อมูล ความรู้ความเข้าใจระหว่างเรื่อง อิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ ทำให้เกิดข้อถกเถียงแง่มุมวิชาการ ซึ่งไม่ได้บอกใครถูกผิด แต่กำลังจะอธิบายว่า สังคมไทยมีความหลากหลายเรื่องแบบนี้ไม่ต้องเห็นตรงกันทุกเรื่อง ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ดี ทำให้สังคมฉุกคิด แต่ต้องอยู่บนจุดยืนไม่สนับสนุนความรุนแรง ไม่ใช้เฮทสปีชต่อกัน ในฐานะมุสลิมคนหนึ่ง ผมก็ขอ ชื่นชม