ปังปอนด์ – กฤตนัน ดิษฐบรรจง (The)Modernist
Modernist เป็นสำนักข่าวของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพให้สูงขึ้น
ทะเยอทะยานที่จะทำให้ Modernist เป็นสำนักข่าวเชิงข้อมูลที่ให้พื้นที่กับทุกฝ่ายที่มีความเห็นต่าง
ทะเยอทะยานที่จะเป็นสื่อที่ไม่นำเอาอารมณ์มาชี้นำกระแสสังคม
และทะเยอทะยานที่จะนำเสนอความหลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“ปอนด์” กฤตนัน ดิษฐบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ส่องสื่อ มีเดีย แลป ที่ปรึกษาด้านคอนเทนต์ Modernist เริ่มต้นจากเพจส่องสื่อที่มีเป้าหมายในการทำข้อมูลของสื่อด้วยกันเอง และขยายความสนใจเป็นสำนักข่าวที่มีความหลากหลายขึ้น เขาเริ่มต้นและทำงานด้านสื่อด้วยตัวคนเดียวอย่างไม่หมดแพสชัน ฝ่าอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่า และไม่แม้แต่เฉพาะขวากหนามของการทำงาน แต่มันรวมถึงชีวิตของเขาตั้งแต่เด็กเอาไว้ด้วย
ครอบครัวของปอนด์แตกแยก พ่อของปอนด์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและถูกจำคุกตั้งแต่เขาอายุสี่ขวบ ปอนด์ไม่ได้รับการดูแลจากแม่มากนัก เขาจึงใช้เวลาอยู่หน้าจอทีวีตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ตั้งแต่จำความได้ เขาดูทีวีแทบจะตลอดเวลา หากจะบอกว่าเขาถูกทิ้งให้อยู่หน้าทีวีคงไม่ผิดนัก เมื่อเติบโตมาอีกสักหน่อย เขาได้รู้จักกับทีวีสาธารณะยุคแรกของประเทศ ไอทีวี ทำให้เขาสนใจงานข่าว ผู้ประกาศข่าวที่มีชื่อเสียง อย่างกิตติ สิงหาปัด เป็นไอดอลของเขา ด้วยความอยากรู้และอยากทำโดยไม่นั่งฝันกลางวัน ปอนด์ลงมือทำ ขวนขวายหาข้อมูล ในช่วงวัยรุ่นเขาเริ่มอ่านหนังสือพิมพ์อย่างจริงจัง ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด มติชน เวียนกันไปวันละหนึ่งฉบับ เพราะอยากรู้ว่าข่าวเขียนกันอย่างไร พยายามแกะโครงสร้างของการเขียน วิธีเล่าเรื่อง ประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาในแต่ละวัน
ขณะที่ในโรงเรียน ปอนด์เป็นประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน และได้รับการฝึกฝนด้านภาษาเป็นพิเศษ เมื่อนึกย้อนกลับไปอาจเป็นไปได้ว่าข้อมูลทั้งหลายที่ถูกจดจำดูดซับสั่งสม ทำให้ปอนด์เห็นความเป็นไปของระบบนิเวศสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ปอนด์ค้นพบความฝันของตัวเองอย่างรวดเร็วว่าเขาอยากทำงานข่าว อยากเป็นผู้ประกาศข่าวทางทีวี เป้าหมายของเขาชัดเจน แต่เส้นทางชีวิตของปอนด์ไม่ได้ราบรื่นนัก
“ผมเคยขายบริการทางเพศ” ปอนด์พูดขึ้นมากลางบทสนทนา
หนึ่งปีที่ระหกระเหิน
ปอนด์ตัดสินใจไม่ไปโรงเรียนและหนีออกจากบ้าน เขาอยากหางานทำ เพราะต้องการเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
อายุสิบห้าไม่รู้จะหางานอะไร ร้านสะดวกซื้อก็ไม่รับเด็กอายุเท่าเขาเข้าทำงาน งานอื่น ๆ ก็นึกไม่ออกว่าจะทำอะไรได้บ้าง เขาเคยเห็นรายงานข่าวในทีวีว่ามีเด็กวัยรุ่นจำนวนหนึ่งขายบริการทางเพศโดยการไปยืนรอคู่ขารอบสวนสาธารณะ เขาคิดว่าเขาน่าจะทำได้ การตัดสินใจวันนั้นทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปอีกทาง
ปอนด์เข้าบ้านตอนเช้า ขณะที่แม่ออกไปทำงาน อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วใช้เวลาในห้างสรรพสินค้า กินข้าวในฟู้ดคอร์ท เวลาที่เหลือเตร็ดเตร่ นอนพัก รอเวลา พอตกค่ำเขาแต่งตัวไปยืนรอคู่ขาที่สวนสาธารณะแห่งนั้น ในคืนแรกที่ลองไปยืนบนฟุตพาทหน้าสวนสาธารณะ มีคู่ขารับเขาขึ้นรถ แล้วชีวิตก็วนเวียนแบบนี้ราวครึ่งปี ก่อนที่แม่จะตามหาตัวจนพบ แล้วขอร้องให้เขาเลิกทำ แต่นั่นก็หลังจากที่เขาเคยถูกคู่ขาคนหนึ่งกักขังเอาไว้ในห้องมืด ๆ เป็นเวลาสามสี่วัน เพราะความรักและอยากได้ปอนด์เป็นเมีย และหลังจากปอนด์ตรวจพบว่าเขาเป็น HIV Positive
อุปสรรคในชีวิตยังทดสอบปอนด์ไม่เสร็จสิ้น แม่กำลังจะมีลูกคนใหม่กับสามีคนใหม่ เธอบอกกับปอนด์ว่าไม่สามารถส่งเสียให้เรียนได้อีกแล้ว ถ้าอยากจะเรียนต่อต้องหาเงินเรียนเอง ปอนด์สมัครเข้าเรียนสาย ปวช. เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย จากนั้นเข้าเรียนคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปีสุดท้ายของการเรียนมหาวิทยาลัย ปอนด์ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานบนเพจ “ส่องสื่อ” ของตัวเอง โดยเน้นการเฝ้ามองและวิจารณ์สื่อในฐานะประชาชนธรรมดา ในขณะเดียวกัน ก็เสนอแนะว่าอยากให้สื่อเป็นอย่างไร ปอนด์ทำงานคนเดียว สัมภาษณ์ ถอดเทป ถ่ายรูป ด้วยต้นทุนเท่าที่ตัวเองมีอยู่ สร้างเพจให้เติบโตทีละน้อย แล้วขยายไปสู่บล็อค และเว็บไซต์ในที่สุด เมื่อมีพอร์ตโฟลิโอการทำงานมากพอ จึงเริ่มมีคนเห็นและติดต่อส่งงานมาให้ จนกระทั่งปอนด์หยุดการเรียนไว้เพียงเท่านั้น แล้วทำงานเต็มตัว
ส่องสื่อ สร้างตัวด้วยการทำงานแบบ data journalist ที่เน้นข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นฐานข้อมูล แต่เมื่อความต้องการของผู้รับสื่อหลากหลายขึ้น ส่องสื่อจึงต้องพัฒนาและเพิ่มเนื้อหาที่กว้างขวางออกไป จึงเกิดไอเดียการสร้าง Modernist เพื่อเป็นสำนักข่าวที่เน้นข้อมูลและมีเนื้อหาที่หลากหลายในเวลาต่อมา และปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้ชื่อว่า TheModernist
คุณนิยามเพศของคุณว่าอะไร
ปอนด์ : ผมเป็นเกย์
คุณคาดหวังให้ Modernist เป็นสื่อแบบไหน ให้คุณค่ากับอะไร
ปอนด์ : Modernist พยายามจะเป็นสื่อที่ดี ซึ่งควรจะมีพื้นที่ให้กับสองฝั่ง หรือหลายฝั่ง เปิดโอกาสให้เขาได้พูดเหตุผลของเขา ตรวจสอบความถูกต้องอยู่เสมอโดยไม่ใช้อารมณ์ เพดานของ Modernist คือพูดทุกเรื่องที่เป็นไปได้ โดยวางอยู่บนข้อมูลที่รอบด้าน ตรวจสอบได้ ซึ่งมาจากการสืบค้นและการสัมภาษณ์
คุณคิดว่าคนเห็นต่างยังคุยกันได้ไหม
ปอนด์ : ผมคิดว่าคนไทยยังขาดเรื่องการฟังอย่างไม่ตัดสิน เราอาจจะไม่มีวัฒนธรรมในเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ การฟังเพื่อเข้าใจวิธีคิดของอีกฝ่าย เราไม่จำเป็นต้องให้เขาคิดเหมือนเราก็ได้ แต่เขาควรจะมีข้อมูลที่หลากหลาย
- The Active ชวนติดตามซีรีส์ “ฟังคนต่าง ฟังความต่าง” ใน The Listening