หายนะ(ใต้) ‘แลนด์บริดจ์’… ชีวิต และ ทรัพยากร ที่รัฐมองข้าม ?

ไม่ใช่แค่ ความคุ้มค่า เท่านั้นที่ยังอยู่ภายใต้เครื่องหมายคำถาม สำหรับอภิมหาเมกะโปรเจกต์ แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร มูลค่า 1 ล้านล้านบาท แต่ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในแทบทุกมิติ ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายพยายามส่งเสียงสะท้อนถึงรัฐบาล ว่าอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงถ้าหากโครงการแลนด์บริดจ์ จะเดินหน้าโดยปราศจากการศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบ รอบด้านมากพอ


นั่นเป็นที่มาให้ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw), Beach for Life, มูลนิธิภาคใต้สีเขียวเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ ร่วมกันศึกษาวิจัยผลกระทบโครงการแลนด์บริดจ์ในหลายมิติ ตั้งแต่ทรัพยากรบนแผ่นดิน ไปจนถึงใต้ทะเลชายฝั่ง 2 มหาสมุทร ที่ว่ากันว่าผลการศึกษาโดยหน่วยงานที่รัฐลงทุนยังไปไม่ถึง หรือไม่อยู่ในขอบเขตการศึกษา ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งกฎหมายที่รัฐพยายามให้เกิดขึ้นอย่าง พ.ร.บ.SEC


อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for Life ให้ข้อมูลกับ The Active โดยเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงการศึกษาในพื้นที่โครงการ ว่า มีข้อค้นพบสำคัญ คือ ชาวบ้านมองว่าพื้นที่ตัวเองมีค่า มีความหมาย แต่ภาครัฐที่เอาโครงการไปลง คือ มองว่าพื้นที่ต้องถูกพัฒนา งานศึกษาที่เกิดขึ้นจึงประกอบด้วย

  • ที่มาของโครงการท่าเรือน้ำลึกแลนด์บริดจ์ ชุมพร – ระนอง

  • สังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากรในที่ตั้งโครงการฯ

  • ผลกระทบของการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ต่อชายฝั่งทะเล และสิ่งที่ประชาชนควรรู้

  • แลนด์บริดจ์ และ ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ. … (พ.ร.บ.SEC)

ย้อนจุดเริ่มต้น ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อมอ่าวไทย – อันดามัน

อภิศักดิ์ อธิบายว่า โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการเชื่อม 2 ฝั่งทะเล หากดูภาพรวมที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นําเสนอ มีทั้งหมด 4 โครงการย่อย ได้แก่

  1. โครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมริ่ว บริเวณฝั่งอ่าวไทย อ.หลังสวน จ.ชุมพร 

  2. โครงการท่าเรือน้ําลึกอ่าวอ่าง บริเวณแหลมอ่าวอ่าง จ.ระนอง 

  3. โครงการรถไฟรางคู่

  4. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 

โดยในการศึกษาของ Beach for Life ที่ร่วมกับภาคี มีทั้งการศึกษาต้นทุนศักยภาพชายฝั่งทะเลชุมพร ระนอง, การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งและสมุทรศาสตร์, การวิเคราะห์วิพากษ์ ร่าง พ.ร.บ. SEC จากการศึกษา พบว่า โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นแนวคิดที่โบราณ เป็นถูกพูดถึงมาตั้งแต่สมัยยุคพระนารายณ์ มีความพยายามที่จะเชื่อม 2 ฝั่งทะเลโดยการขุดคลอง และถูกถ่ายทอดมาเรื่อย ๆ และเริ่มชัดเจนมากขึ้นในสมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ภายใต้ โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern seaboard) มีความพยายามเปลี่ยนโฉมภาคใต้ กระตุ้นเศรษฐกิจ


จนมาถึงยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร (ปี 2544-2549) มีความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตต้มยํากุ้ง เป็นครั้งแรกที่ถูกศึกษาอย่างจริงจัง มีทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ มีการออกแบบท่าเรือน้ําลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เชื่อมกับ โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 อ.จะนะ จ.สงขลา รวมทั้งการศึกษาโครงการรถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือ 2 แห่ง ต่อมาในยุครัฐบาล คสช. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ปี 2560) มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่ท้ายที่สุดถูกภาคประชาชนในพื้นที่คัดค้านทำให้โครงการยุติลง

“มันก็เงียบมาพักหนึ่งแล้ว อยู่ ๆ มติ ครม. 2561 เส้นจากสงขลา ปากบารา ก็ถูกเปลี่ยนกลายมาเป็น ชุมพร ระนอง และต่อด้วยสมัยรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน เป็นที่ชัดเจนมากในการพยายามผลักดันโครงการ ถ้าไล่เรียงแบบนี้เราจะเห็นว่าแนวคิดในเรื่องของการพยายามเชื่อม 2 ฝั่งทะเล เพื่อที่จะไม่ต้องไปอ้อมแหลมมะละกา มีมาตลอด แล้วก็มันเปลี่ยนที่ เปลี่ยนเส้นทางมาตลอด เหมือนโดนไล่จากจุดหนึ่งก็ไปอีกจุดหนึ่ง แล้ววันนี้ก็มาตกอยู่ที่ ชุมพร ระนอง”

อภิศักดิ์ ทัศนี

อภิศักดิ์ บอกอีกว่า ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริง ท่าเรือน้ําลึกแหลมริ่ว จ.ชุมพร จะมีงานถมทะเลที่ใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าท่าเรือแหลมฉบัง มีงานขุดร่องน้ํา ตัวท่าที่จะเกิดขึ้นที่เกาะพะงัน มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้องถมทะเลประมาณเกือบ 7,000 ไร่ ซึ่งโครงการมีการทำ รายงานการประเมินผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดย สนข. ว่าจ้าง 6 บริษัทที่ปรึกษาดําเนินการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงการทบทวนร่างรายงาน คาดว่าจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ในเดือนสิงหาคม 2568 

“สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับโครงการฯ คือ มันเสนอมาพร้อมกับ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งถ้ามันออกมาพร้อมกัน กระบวนการนี้อาจจะถูกปรับเปลี่ยนไป เพราะในร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ระบุว่าขั้นตอนในการทํา EIA ในการพิจารณากําหนดเวลาไว้ 120 วัน ในการที่จะให้ผ่านไปได้เลย ปกติ EIA จะใช้เวลานาน อันนี้ก็คือความแตกต่าง ถ้าเราเห็นว่าโครงการนี้มันเกิดขึ้นแล้วมันไปพร้อมกับกฎหมายพิเศษ มันก็จะเร่งกระบวนการให้ โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร ระนอง เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น

อภิศักดิ์ ทัศนี

ตั้งคำถาม ศักยภาพ ชุมพร-ระนอง เหมาะเป็นท่าเรือ ?

สำหรับ การศึกษาต้นทุนศักยภาพ จ.ชุมพร จ.ระนอง โดยการลงพื้นที่คุยกับชาวบ้าน เก็บแบบสอบถาม สัมภาษณ์ ในพื้นที่นาน 8 เดือน เก็บแบบสอบถาม 105 ชุด ในฝั่ง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร 30 กว่าชุด โดยใช้สูตรคำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่าง (Yamane) ในการสำรวจ แต่ในการเราลงพื้นที่จริง ก็มีการสุ่มไปด้วย เพื่อให้มีความครบถ้วน

อภิศักดิ์ เล่าว่า ฝั่ง จ.ระนอง มีสิ่งที่พิเศษมากสําหรับชุมชน คือ ดอนตาแพ้ว เป็นที่ดอนขนาดใหญ่ ราว 2,000 – 3,000 ไร่ บริเวณหลังเกาะพยาม ชาวบ้านเรียกว่า “ขุมทรัพย์ของทะเลระนอง” เพราะเป็นแหล่งชุกชุมของสัตว์ทะเลหลายชนิด รอบพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ มีแนวปะการังเกือบ 1,400 ไร่ ซึ่งไม่ได้อยู่ในของเขตการศึกษาของ สนข.

“แต่ว่าบังเอิญไม่ได้อยู่ในรัศมีศึกษา เพราะรัศมีศึกษาโครงการนี้มันแค่ 5 กิโลเมตร แต่ปะการังมันอยู่ห่างออกไปที่กิโลเมตรที่ 6 กิโลเมตรที่ 7 พื้นที่โครงการก็อาจจะไม่ได้ถูกนับในรายงานศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาที่ไปศึกษา แล้วก็มีสัตว์น้ําเยอะมาก ฝั่งชุมพรก็เช่นเดียวกัน ก็มีศักยภาพ มีต้นทุนทางทรัพยากรที่แบบหลากหลายมากอยู่ในพื้นที่”

อภิศักดิ์ ทัศนี

‘ชุมพร’ พื้นที่อ่อนไหว เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

สำหรับที่ตั้งโครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมริ่ว จ.ชุมพร พื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร มีประชากรกว่า 7,000 คน เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีพื้นที่อ่อนไหว อย่างเช่น สถานพยาบาล, โรงเรียน, รพ.สต. อยู่ในพื้นที่โครงการจํานวน 16 แห่ง มีครัวเรือนที่อาจจะได้รับผลกระทบ จากการ ดําเนินโครงการท่าเรือ 2,500 กว่าครัวเรือน ข้าง ๆ พื้นที่โครงการมี สุสานหอยล้านปี ติดกับตัวท่าเรือมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลนคลองริ้ว ที่เป็นป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี ที่อยู่ในพื้นที่โครงการเช่นกัน มีพื้นที่ลุ่มน้ํา 1B และพื้นที่ชั้นลุ่มน้ําชั้น 2


จากการเก็บข้อมูลแบบสอบถาม และการประเมินมูลค่าจากประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบ จากโครงการมากที่สุด รวมถึงเป็นกลุ่มที่เขาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่สุด พบว่า ครัวเรือนมีรายได้จากการทําประมงพื้นบ้าน ประมาณ 29,450.75 บาทต่อเดือน เมื่อวิเคราะห์มูลค่าทางเศรษฐกิจประมงพื้นบ้านใน อ.หลังสวน ประมาณ 500 ลํา รายได้ของคนที่นี่จะอยู่ที่ 79,163,616 บาทต่อปี 

เกาะพิทักษ์ จ.ชุมพร

“จากการไปสัมภาษณ์ชุมชน ทะเลฝั่งชุมพรไม่ได้เป็นทะเลร้าง ไม่ได้เป็นทะเลที่ไม่มีอะไรทํา ทําท่าเรือดูดถมทะเลเป็นพันไร่จะไม่กระทบ ไม่ใช่ มันมีสัตว์น้ําอยู่เกือบ 108 ชนิด มีสัตว์น้ําทางเศรษฐกิจ อย่าง กุ้งแชบ๊วย, หมึก, ปลาทู, ปลาอินทรีย์, ปลาเก๋า รายรอบพื้นที่โครงการ เจอสัตว์น้ําที่คอยรักษาระบบนิเวศ เช่น เต่า, ฉลาม, จั๊กจั่นทะเล พบแนวปะการังใกล้ ๆ พื้นที่โครงการ แต่ไม่ได้อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร พบปะการังน้ําตื้น บริเวณเกาะพิทักษ์ ซึ่งห่างออกไปแค่ประมาณกิโลเดียว”

อภิศักดิ์ ทัศนี

อภิศักดิ์ ย้ำว่า อ.หลังสวน จ.ชุมพร คือ แหล่งวางไข่ปลาทูในช่วงฤดูปิดอ่าว ดังนั้น ถ้าถมทะเล และการขุดลอกร่องน้ำ อาจจะกระทบ กับพื้นที่วางไข่ของปลาทู ซึ่งปลาทูไทยขณะนี้เข้าสู่วิกฤติ โซนที่เป็นพื้นที่วางไข่ปลาทู ตั้งแต่หาดแม่รําพึงยาวลงมาจนถึงหลังสวน ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะว่าปลาทูวางไข่ในพื้นที่น้ําไม่ได้ลึกมาก อยู่โซนน้ําตื้น เพราะเขาต้องอาศัยสารอาหารจากริมชายฝั่งทะเลในการเติบโต

“มันไม่ใช่แค่ประมงพื้นบ้าน แต่ธุรกิจประมงพื้นบ้าน ก่อเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เช่น ชาวบ้านจับปลามาแปรรูป แปรรูปเสร็จเอาไปขาย ทั้งในและต่างประเทศ ขายออนไลน์ และมันยังเกิดการท่องเที่ยวชุมชน เช่น เกาะพิทักษ์ มีโฮมสเตย์และท่องเที่ยวชุมชนเยอะมากใกล้พื้นที่โครงการแค่ 1 กิโลเมตร”

อภิศักดิ์ ทัศนี

แหลมริ่ว จ.ชุมพร

สังคม เศรษฐกิจ ฐานทรัพยากร และสิทธิมนุษยชน
เสียงถูกทำลาย จาก ‘แลนด์บริดจ์’ ?

อภิศักดิ์ ให้ข้อมูลอีกว่า จ.ระนอง มีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และศักยภาพสูง พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่ 7 ชุมชน ในรัศมี 5 กิโลเมตร ตามที่ รายงาน สนข. ประเมินไว้ แต่พบว่า มีประชากร 36,913 คน ตั้งแต่ปากน้ํากระบุรี ไปจนถึงปากน้ํากะเปอร์ อาจกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด เพราะพวกเขาใช้พื้นที่อ่าวอ่างประกอบอาชีพ และจุดที่จะมีสะพานเชื่อมท่าเรือยื่นออกไป คือจุดที่ใกล้ ดอนตาแพ้ว พร้อมนำเสนอหลังฐานการเดินทางของชุมชนที่ใช้ประโยชน์จากดอนตาแพ้ว มี 3 อําเภอ แต่ไม่ได้ถูกนับอยู่ในงานศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา

“อีกกลุ่มคนที่เราอาจจะต้อง concern เป็นพิเศษ คือ ระนองมีกลุ่มชาติพันธุ์ มีชาวไทยพลัดถิ่น มีชาวเลมอแกน โดยเฉพาะชาวเลมอแกน ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก เขาคือกลุ่มผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากที่สุด และงานศึกษาของเราที่ลงไปคุยกับเขา มันพิสูจน์ชัดว่าเขาคือกลุ่มคนที่น่ากังวลที่สุด ซึ่งชาวเลมอแกนกระจายอยู่ในพื้นที่ 3 เกาะ ได้แก่ เกาะพะยาม เกาะเหลา เกาะช้าง  รวม 400 กว่าคน ”

อภิศักดิ์ ทัศนี

พื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ ยังเฉียดพื้นที่อุทยานฯ ใกล้พื้นที่ป่าชายเลน แหล่งปะการัง โดยอ้างอิงข้อมูลมาจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะเห็นว่า มีพื้นที่สําคัญที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการ และที่สําคัญคืออยู่ในพื้นที่ แรมซ่าไซต์ พื้นที่ สงวนชีวมณฑล ที่คลุมพื้นที่ลงมาจนถึงท่าเรือ และพื้นที่สงวนชีวมณฑล กําลังจะถูกยกระดับให้เป็นมรดกโลก ซึ่งรัฐบาลก็พยายามเสนอเรื่องนี้อยู่ แต่ก็มีโครงการแลนด์บริดจ์ขึ้นมา มองว่า ทิศทางการพัฒนาที่ย้อนแย้งกันพอสมควร


ขณะที่การสํารวจข้อมูลประมงพื้นบ้าน พบว่า ระนอง จากการทําประมง 31,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน สูงกว่ารายได้เฉลี่ย ของระนอง 15% (27,000 บาท) ซึ่งพอเอาเรือประมงพื้นบ้านที่มีอยู่ประมาณเกือบ 2,000 ลำ มาคํานวณเรื่องของรายได้ พบว่า มีมูลค่ารายได้ 2 อําเภอรวมกัน ประมาณ 500 กว่าล้านบาทต่อปี หมายความว่า ถ้ามีโครงการแลนด์บริดจ์ รายได้นี้อาจจะหายไป เพราะทับพื้นที่ทํากิน

มองคุณค่า นิเวศวิทยา ‘อ่าวอ่าง’ ผ่านชุมชนพหุวัฒนธรรม

ขณะที่ อาภา หวังเกียรติ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุถึงข้อมูลที่ได้ร่วมลงพื้นที่ศึกษา เห็นว่างานศึกษาแลนด์บริดจ์ ควรเป็นข้อมูลที่มีมุมมองบูรณาการขยายไปถึงเรื่องของนิเวศบริการ หรือ การให้บริการของระบบนิเวศ


โดยมองว่า การทํารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในโครงการแลนด์บริดจ์ คือ การกําหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบตามลักษณะกายภาพทางภูมิศาสตร์เท่านั้น เช่น ศึกษารัศมี 5 กิโลเมตร รอบโครงการที่ได้รับผลกระทบ แต่ในความเป็นจริงลักษณะของนิเวศที่เป็นอ่าว ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้


ยกตัวอย่าง ชุมชนบ้านเกาะหาดทรายดํา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เกาะกั้ง ซึ่งอยู่ห่างออกไป 6 กิโลเมตร กล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่ตกหล่นจากขอบเขตการศึกษาการทํารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ดอนตาแพ้ว เป็นแหล่งทำมาหากินเช่นกัน

“ชุมชนนี้ พหุวัฒนธรรมมาก ๆ มีมาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 2 มีทั้งคนไทย คนจีน เมียนมา มีทั้งชาวพุทธชาวมุสลิม อยู่บนเกาะเดียวกัน ประมาณ 200 ครัวเรือน 760 กว่าคน แต่ที่น่าสนใจก็คือว่า ชุมชน 90% ไปหากินที่ดอนตาแพ้ว เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจของชุมชนนี้จะได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างท่าเรือน้ําลึกแน่นอน”

อาภา หวังเกียรติ

อาภา ยังเสริมข้อมูลในประเด็นความน่าเป็นห่วงของชุมชนชาวมอแกนด้วยว่า ชาติพันธุ์ชาวเลมอแกน ที่มีวิถีชีวิตอาศัยอยู่กับทะเล ดำรงชีวิตด้วยการออกเรือ ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรง ที่สำคัญชาวเลมอแกน เป็นกลุ่มประชากรที่มีต้นทุนในการดำรงชีวิตน้อยกว่าประชากรทั่วไป เช่น ส่วนใหญ่ใช้เรือมือสอง อวนหรืออุปกรณ์ทำประมงมือสองที่สภาพไม่ดี ซึ่งเป็นที่มาของรายได้ที่เกิดจากอาชีพประชมง และจากการสอบถามขอมูลเชิงลึกกับชาวบ้านในพื้นที่เกาะพยาม และเกาะช้าง ที่ออกหาปลาที่ดอนตาแพ้วและอ่าวอ่าง พวกเขาต่างมีความกังวลกับโครงการแลนด์บริดจ์

“พวกเขามีความกังวลอย่างยิ่งต่อโครงการท่าเรือน้ำลึกและนด์บริดจ์ฝั่งระนอง เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบต่อระบบนิเวศ กระทบต่อดอนหาปลาตามธรรมชาติ ชาวเลต้องดำน้ำหาปลา โดยฟังเสียง หากมีการขุดลอก มีการถมทะเล อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินชีวิตได้”

อาภา หวังเกียรติ

อาภา ยังบอกด้วยว่า จากประสบการณ์ลงพื้นที่หลายแห่ง พบว่า อ่าวอ่าง เป็นพื้นที่ที่มี ลักษณะพิเศษเฉพาะ หรือ อาจกล่าวได้ว่า อ่าวอ่างเป็นพื้นที่ที่น่าจะอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในอันดามัน เพราะเชื่อมต่อกับป่าชายเลนบนบก มีพื้นที่เกือบประมาณ 2 แสนไร่ มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และหากเปรียบเทียบกับพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ อย่าง ตรัง, กระบี่, ภูเก็ต, พังงา จะเป็นพื้นที่ที่ถูกรบกวนระบบนิเวศน้อยที่สุด

“ถ้าโครงการนี้ลงมา อาชีพประมงก็จะค่อย ๆ ลดไป แล้วเศรษฐกิจของชาวบ้านก็เปลี่ยนไป ซึ่งเรื่องนี้อยู่นอกขอบเขตพื้นที่ศึกษา”

อาภา หวังเกียรติ

จึงมีข้อเสนอว่า โครงการอาจจะต้องมีการศึกษาการให้บริการของนิเว หรือนิเวศบริการของอ่าวอ่างในเจาะลึก และลงรายละเอียดมากกว่านี้ รวมถึงต้นทุนของทรัพยากร ที่ต้องมีการประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิตของโครงการการสร้างท่าเรือน้ำลึก 

นิเวศทะเลที่เปลี่ยนไป ถ้ามี ‘แลนด์บริดจ์’ ?

สอดคล้องกับ รศ.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงจาก อดีตถึงปัจจุบัน 2 ฝั่งทะเล โดยวิเคราะห์ในหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น บริเวณหาดบางเบน บางส่วนของเกาะพยาม จากโครงการท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง และ อ่าวทองโข หาดบางน้ําจืด ถึงปากน้ําหลังสวน จากโครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมลิ่ว จ.ชุมพร วิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์แบบจำลอง โดยวิเคราะห์ กระแสน้ํา ระดับน้ํา ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากลม จากกระแส น้ําขึ้น-น้ําลง หรือมีอะไรมาขวางการเดินทาง หรือ อุทกศาสตร์เปลี่ยน


โดยการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นหากมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ของโครงการแลนด์บริดจ์ มีสิ่งที่ประชาชนต้องรับรู้ ประกอบด้วย

  1. การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำที่กัดเซาะชายฝั่ง เช่น บางพื้นที่จะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้นเนื่องจากคลื่นและกระแสน้ำตามธรรมชาติถูกเบี่ยงเบนไปทางอื่น บางพื้นที่อาจมีทรายสะสมมากเกินไปทำให้ชายฝั่งมีการเปลี่ยนแปลงยังสมดุล ผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่ใกล้ท้องทะเลต้องประเชิญกับน้ำทะเลกัดเซาะถึงที่อยู่อาศัยอาจทำให้ต้องย้ายถิ่นฐาน

  2. ผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและอาชีพประมง กล่าวคือ ปริมาณสัตว์น้ำจะลดลงเนื่องจากแหล่งอาศัยและวางไข่ถูกทำลาย ชาวประมงอาจจะปลาได้น้อยลงส่งผลต่อรายได้และวิถีชีวิตของชุมชน ระบบนิเวศเสียสมดุล เนื่องจากห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเลเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้น้ำเสียจากท่าเรือและขยะจากเรือสินค้าอาจทำให้น้ำทะเลสกปรก อาจทำให้สัตว์น้ำตายหรือคุณภาพของอาหารทะเลที่จับได้ลดลง ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว 

  3. มลพิษจากเรือขนาดใหญ่ ซึ่งหากไม่มีมาตรการจัดการที่ดีคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลอาจเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว อาจเกิดได้จ้ะน้ำมันรั่วไหลขยะจากเรือที่สำคัญ เสียงดังจากเรือขนาดใหญ่อาจรบกวนสัตว์น้ำที่ใช้คลื่นเสียงในการสื่อสาร เช่น โลมา วาฬ

  4. ฝุ่นควันและเสียงดังจากการก่อสร้าง หากไม่มีมาตรการควบคุมจะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต

  5. การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตและการท่องเที่ยว เนื่องจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกทำให้ชายหาดและธรรมชาติที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลง รายได้ของคนพื้นที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้อาจทำให้เศรษฐกิจของชุมชนที่เคยพึ่งพาการท่องเที่ยวต้องเผชิญกับความยากลำบาก

ผลกระทบ แหลมริ่ว จ.ชุมพร

จากการศึกษาผลกระทบเบื้องต้นหากมีการสร้างท่าเรือแหลมริ่ว จากโปรแกรม DSAS และแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ GENESIS เพื่อดูว่าหากจำลองว่ามีโครงสร้างสะพานท่าเรือและท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่จริงจะส่งผลอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลหาดบางน้ำจืด และอ่าวทองโข โดยพยากรณ์จากแนวชายฝั่งในปี 2567 ที่ยังไม่มีโครงการไปถึงปี 2583 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระยะโครงการที่ 1 แล้วเสร็จ และเมื่อโครงการดำเนินไปแล้ว 5 ปี คือปี 2588 และ โครงการดำเนินไปแล้ว 10 ปี คือปี 2593 พบว่า อนาคตแนวชายฝั่งมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงทั้งในรูปแบบของการกัดเซาะและการทับถมดังนี้

  • ปี 2583 บริเวณทะเลบางน้ำจืดพบว่า ในทางพื้นที่ที่เกิดการทับถมและพื้นที่ถูกกัดเซาะอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีไม่มีโครงการพบว่าค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงใช้ฟังอยู่ที่ 0.01 เมตร หมายถึงมีผลกระทบไม่มากนัก ส่วนบริเวณหาดทองโข จะเกิดการทับถมของตะกอนทราย ระยะการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยเมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการอยู่ที่ 0.06 เมตร 

  • ปี 2588 บริเวณหาดบางน้ำจืด พบว่ายังคงมีลักษณะการทับถมและการกัดซ้อผสมกันคล้ายกับปี 2588 แต่การเปลี่ยนแปลงโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการอยู่ที่ -0.01 ซึ่งหมายถึงมีแนวโน้มเกิดการกัดเซาะเล็กน้อย บริเวณหาดทองโข พบว่าเริ่มได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแนวชายฝั่งบริเวณทิศเหนือและทิศใต้ มีระยะการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งโดยเฉลี่ยเทียบกับกรณีไม่มีโครงการอยู่ที่ -0.17 กล่าวคือใช้หากสูญเสียพื้นที่ไปจากการกัดเซาะเล็กน้อย

  • ปี 2593 ทะเลบางน้ำจืดยังคงพบรูปแบบการเปลี่ยนแปลงใกล้เคียงกับปี 2588 โดยมีการทับถมและกัดเซาะเกิดขึ้นในบริเวณที่มีการก่อสร้างทางเชื่อมถ้าเทียบเรือระยะการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งเฉลี่ยเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีไม่มีโครงการอยู่ที่ -0.01 เมตร หาดทองโข แนวโน้มการกัดเซาะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในบริเวณเดิมแต่ความรุนแรงลดลงเล็กน้อยจากปี 2588 โดยยังมีระยะการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งเฉลี่ยอยู่ที่ -0.14 เมตร 

“จากการคาดการณ์ผลกระทบของโครงการในระยะยาวพบว่าผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดคือพฤติกรรมกัดเซาะและทับถมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากกรณีมีและไม่มีโครงการ” 

รศ.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง

รศ.สมปรารถนา สรุปภาพรวมของผลกระทบบริเวณ โครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมริ่ว จ.ชุมพร ในประเด็นที่มีความน่ากังวล คือ การไหลเวียนของน้ำจะลดลง เนื่องจากท่าเรือขนาดใหญ่ ที่อยู่ด้านหน้าอ่าวเป็นอุปสรรคขวางการไหลของกระแสน้ำตามธรรมชาติ เกิดการสะสมของตะกอนในอ่าวมากขึ้น เนื่องจากกระแสน้ำที่ไหลออกจากอ่าวอาจถูกกีดขวางโดยตรงสร้างท่าเรือทำให้ตะกอนที่เคยถูกพัดออกไปยังทะเลเปิด ตกสะสมภายในอ่าวมากขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำวนในอ่าว หากท่าเรือมีขนาดใหญ่มาก อาจเปลี่ยนแปลงทิศทางของกระแสน้ำที่เคยไหลเวียนรอบอ่าวไปเลย คุณภาพน้ำอาจแย่ลง เป็นผลมาจากการกระจายตัวของสารอาหารและออกซิเจนในน้ำลดลงรวมถึงของเสียจากเรือหากมีการระบายน้ำเสียจากฝั่งน้ำเสียอาจสะสมในอ่าว และ เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่น ซึ่งอาจทำให้เกิดคลื่นสะท้อนกลับจากโครงสร้างท่าเรือและพุ่งเข้าใส่ชายฝั่ง ในจุดที่ไม่เคยได้รับผลกระทบมาก่อนซึ่งอาจส่งผลให้พื้นที่ชุมชนริมอ่าวมีชายฝั่งที่ทรุดตัวเร็วขึ้น และเมื่อทรายในอ่าวเปลี่ยน อาจเกิดหาดใหม่ขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดคลื่นสะท้อนกลับจากโครงสร้างท่าเรือ และพุ่งเข้าใส่ชายฝั่ง ที่ไม่เคยได้รับผลกระทบมาก่อนซึ่งอาจส่งผลให้พื้นที่ชุมชนริมอ่าว มีชายฝั่งที่ทรุดตัวเร็วขึ้น และเมื่อทรายในอ่าวเปลี่ยนอาจเกิดหาดใหม่ขึ้น 

จำลองผลกระทบ อ่าวอ่าง จ.ระนอง

ในส่วนของบริเวณอ่าวอ่าง จ.ระนอง รศ.สมปรารถนา ได้ศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดจากท่าเทียบเรือน้ำลึก ผ่านการวิเคราะห์โดยการจำลองลักษณะทางกายภาพปัจจุบันของพื้นที่รอบตำแหน่งที่คาดว่า จะเป็นพื้นที่ตั้งของท่าเรือและสะพานเชื่อมท่าเรือ ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สองมิติ เพื่อศึกษาลักษณะของพลศาสตร์ชายฝั่งทะเล หรือ การไหลเวียนของน้ำทะเลอันเกิดจากการขึ้นลงของน้ำทะเลตามธรรมชาติความเร็วและทิศทางลมและความลึกของทะเล ในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (พ.ย.-ก.พ.) มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (พ.ค.-ต.ค.) และช่วงเปลี่ยนฤดูกาล (มี.ค.-เม.ย.) ซึ่งทำการศึกษารวมทั้งหมด 12 กรณี ผลการศึกษามีข้อค้นพบว่า แม้ระดับน้ำทะเลก่อนและหลังการดำเนินโครงการ จะไม่แตกต่างกัน แต่กระแสน้ำและทิศทางการไหลของน้ำในบริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน คือ

  • การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ โดย กระแสน้ำในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีความเร็วลดลง หลังจากมีโครงการขณะที่กระแสน้ำในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ กลับมีความเร็วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบชายฝั่งและโครงสร้างท่าเรือที่ส่งผลต่อการไหลของน้ำ

  • พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ ได้แก่ บริเวณกระแสน้ำที่มีความเร็วสูงสุดระหว่างเกาะพยามกับท่าเรือซึ่งอาจทำให้เกิดการกัดเซาะของพื้นที่ทะเล และตะกอนฟุ้งกระจายส่งผลกระทบต่อแนวปะการังและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ส่วนบริเวณที่กระแสน้ำมีความเร็วต่ำที่สุดบริเวณระหว่างแหลมไผ่ กับท่าเรือซึ่งอาจทำให้เกิดการสะสมของตะกอนในบางพื้นที่และอาจส่งผลต่อคุณภาพน้ำรวมถึงการไหลเวียนของสารอาหารในระบบนิเวศทางทะเล

  • ผลกระทบต่อแหล่งทำมาหากินของชาวประมง โดยจะมีผลกระทบแตกต่างกันออกไปแต่ละฤดูกาล และแตกต่างกันไปตามพื้นที่ เช่น ช่องว่างระหว่างแหลมไผ่กับท่าเรือ เกาะพยามกับท่าเรือ และดอนตาแพ้ว

รศ.สมปรารถนา บอกอีกว่า การศึกษานี้แม้จะเป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ อาจจะยังไม่สามารถสะท้อนสภาพความเป็นจริงได้ทั้งหมด เนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูลและความซับซ้อนของธรรมชาติ แต่ผลการวิเคราะห์นี้ก็ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบสำคัญที่อาจเกิดขึ้นกับประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำบริเวณเส้นทางเดินเรือ และแหล่งทำมาหากินของชาวประมง ซึ่งหากโครงการก่อสร้างทำให้กระแสน้ำบริเวณดังกล่าวไหลเร็วขึ้น ก็จะทำให้ชาวประมงจับปลาได้ยากขึ้น เพราะกระแสน้ำพัดอวน และเครื่องมือออกจากจุดที่วางไว้


ขณะที่เรือขนาดเล็กหัวใจของประมงพื้นบ้านก็จะควบคุมได้ยากขึ้นในกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว อีกทั้งกระแสน้ำที่เปลี่ยนอาจทำให้สัตว์น้ำย้ายถิ่นฐานบริเวณที่กระแสน้ำที่สงบกว่า แหล่งหากินของประมงชาวบ้านก็เปลี่ยนไปและอาจต้องออก เรือไป ไกลขึ้นส่งผลต่อต้นทุน ในทางกลับกันหากกรณีที่กระแสน้ำไหลช้าลง ก็อาจเกิดการสะสมของตะกอนที่พื้นทะเลบางแห่งตื้นเขิน ส่งผลต่อแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำ ที่สำคัญกระแสน้ำที่นิ่งเกินไปอาจทำให้ ของเสียจากเรือและมลพิษสะสมอยู่ในพื้นที่ได้นานขึ้น คุณภาพน้ำแย่ลงและกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล แม้ว่ากระแสน้ำที่สงบอาจจะเอื้อให้บางพื้นที่กลายเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำแต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำประมงแบบดั้งเดิม

ร่าง พ.ร.บ. SEC ทางลัด เปิดทาง แลนด์บริดจ์

เช่นเดียวกับ อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ ได้อธิบายถึงผลการศึกษา แลนด์บริดจ์ กับ ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.SEC พี่พบว่า มีการรวบอำนาจและการสร้างระบบละเว้นในทางกฎหมาย ปัญหาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเรื่องของกลไกการตรวจสอบ เนื่องจากในระหว่างที่มีโครงการแลนด์บริดจ์ ก็มีความพยายามที่จะเสนอกฎหมายที่จะกําหนดให้ภาคใต้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ปัจจุบัน มีทั้งหมด 3 ร่างฯ ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกัน 


ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. SEC ถูกตีเป็น พ.ร.บ.การเงิน ตามขั้นตอนคือจะส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร และเป้าหมายของทั้ง 3 ร่างฯ พบว่า มีรายละเอียดในมาตราที่เหมือนกัน 60 กว่ามาตรา โดยเริ่มแรกกําหนด 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการขยายได้ถึง 10 จังหวัด

“ปัญหาของร่าง พ.ร.บ. SEC คือ เรื่องของการรวบอํานาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การตัดสินใจไปที่คณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ. คือ มีอํานาจในการที่จะอนุมัติ อนุญาต หรือให้ความเห็นชอบตามกฎหมายอื่น ๆ ได้ โดยที่คณะกรรมการ คนที่เป็นประธานก็คือนายกรัฐมนตรี หรื ครม.น้อย ฉะนั้น ครม.น้อยอนุมัติ ครม.ใหญ่ ก็ย่อมอนุมัติไปโดยปริยาย”

อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย

ระบบยกเว้น ใน ร่าง พ.ร.บ. SEC

อธิวัฒน์ อธิบายอีกว่า ภายในกฎหมายฯ ยังมีการกำหนดอํานาจของเลขาธิการคณะกรรมการในการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ หรือรับจดทะเบียนตามกฎหมายอื่นได้ รวมทั้งในเรื่องการเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายแก้ไขกฎหมายเพื่อที่จะให้สอดรับกัน ร่างกฎหมายฯ ยังมีระบบยกเว้น กฎหมายปกติที่มีการใช้ในพื้นที่อื่น เช่น พ.ร.บ.ร่วมการลงทุน, กฎหมายว่าด้วยผังเมือง หากมีการ มีการพิจารณาตาม พ.ร.บ. ก็ได้รับการยกเว้น หมายถึง ไม่ต้องใช้ตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง การเวนคืน คือ มีกฎหมายเฉพาะ รวมไปถึงการจัดซื้อ จัดจ้าง ปฏิรูปที่ดิน กฎหมายเรื่องประมวลที่ดิน กฎหมายอาคารชุด

“ประเด็นที่ดินที่มันมีการพูดถึงคือประเด็นเรื่อง 99 ปี มีการยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ในเรื่องของการเช่า 30 ปี ก็ไม่จําเป็นต้องมาบังคับใช้โดยพูดไปถึง 99 ปี กฎหมายว่าด้วย ที่ราชพัสดุก็มีอํานาจที่สามารถที่จะใช้ได้เลย”

อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย

อธิวัฒน์ อธิบายต่อถึงกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กับ ร่าง พ.ร.บ.SEC ที่จะมีการนำแรงงานเข้ามาในพื้นที่ โดยไม่ต้องใช้กฎหมาย ว่าด้วยการเข้าเมือง การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ภาษีนำเข้าทั้งหลายก็จะได้รับการยกเว้น การยกเว้นเกี่ยวกับการควบคุมการประกอบวิชาชีพ วิชาชีพไหนขาดแคลนก็ได้รับการยกเว้น

“อันนี้ก็จะเป็นเรื่องของการร่วมอํานาจและสร้างระบบยกเว้น ก็เป็นในเรื่องของทําให้กฎหมายอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการที่จะพัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถูกยกเว้นไม่ต้องนํามาใช้ ก็คือใช้ พ.ร.บ.SEC นี้แทน เราเรียกว่า Super Law เป็นเรื่องของการที่จะไปลบล้างหรือยกเว้นกฎหมายอื่น และสามารถที่จะแก้ไขในรายละเอียดได้ด้วย นั่นหมายถึงว่า เป็นกฎหมายที่มีอํานาจเบ็ดเสร็จ ยากต่อการที่จะเข้าไปตรวจสอบ”

อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย

ปัญหา พ.ร.บ. SEC ในรัฐธรรมนูญ

สำหรับปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ อธิวัฒน์ ย้ำว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กําหนดสิทธิในที่ดิน ว่า ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน การเวนคืนก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเรื่องว่าด้วยการเวนคืน เสรีภาพในการประกอบอาชีพ สิทธิชุมชน หน้าที่ของรัฐในการอนุรักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แต่การมีกฎหมายพิเศษ จะไปลิดรอนสิทธิ ย่อมเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่


ขณะที่ปัญหากลไกในการตรวจสอบจากที่อธิบายว่ามีปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ จะสามารถมีกลไกที่จะทำให้เกิดการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายนี้หรือไม่ ? 

“พูดโดยรวมทั้งหมด ว่า ร่าง พ.ร.บ. SEC ถ้ามันเกิดขึ้นมันก็จะเป็นทางลัดในการที่จะไปละเว้นกฎหมายปกติที่จะเป็นอุปสรรคต่อเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด และจะเป็นตัวเร่งให้เกิด การอนุมัติ อนุญาตที่ไวขึ้น อย่างการทำ EIA สามารถที่จะพิจารณาได้ภายใน 120 วัน จึงกังวลว่า ข้อห่วงกังวลว่า จะทําให้การมีส่วนร่วมไม่เกิดขึ้น การตรวจสอบทำได้ยากขึ้น”

อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทิ้งท้าย


อ่านเพิ่ม : Land Bridge Effect ผลกระทบโครงการท่าเรือน้ำลึกแลนด์บริดจ์ ชุมพร – ระนอง