‘วิชาแห่งความสุข’ หลักสูตรที่ให้คุณสอบตกบ้างก็ได้… 

เข้าเรียนไปกับ ครูมะขวัญ-วิภาดา แหวนเพชร

การทำให้ตัวเองอยู่ในมุมที่มีความสุข อาจเป็นสิ่งที่หาได้ยากสำหรับบางคนในเวลานี้ เมื่อทุกสิ่งรอบตัวล้วนพาคุณดำดิ่งได้อยู่เสมอ แต่ภายใต้แต่ร่มไม้ของอาคารเรียน ครูมะขวัญ วิภาดา แหวนเพชร กำลังพยายามเปลี่ยนช่วงเวลาแสนสาหัสนี้ให้พบความหมายของคำว่าความสุข

ความสุข ความสัมพันธ์ ดูหนัง คือรายวิชาที่ครูมะขวัญ เปิดสอนในหมวด General Education ให้กับนักศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แม้ตลอด 4 ปีของการสอน ต้องเจอกับเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายมาแล้วถึง 7 คน แต่ครูมะขวัญกลับบอกว่า นี่เป็นงานที่เธอรักมากที่สุด

The Active ร่วมพูดคุยกับเธอถึงสิ่งมหัศจรรย์ที่ได้ค้นพบในคาบวิชานี้

ความสุข

ความสุข สอนกันได้ด้วยหรอ ?

ทุกคนตอนมาลงเรียนวิชานี้จะคิดเสมอว่า วิชานี้ต้องสอนให้เราหาความสุขได้แน่เลย แล้วก็ต้องมีความสุขตลอดเวลา แต่ว่าสิ่งแรกที่เราทำเลยทันทีที่รู้ว่าตัวเองต้องสอนวิชานี้ คือ อยากให้เด็กกลับมาเห็นแหล่งพลัง หรือความแข็งแรงในใจของเขา และรู้ที่ใช้เป็นวิธี เครื่องมือในการเยียวยา ก้าวข้ามปัญหาได้ จริงๆ มันก็จะเหมือนวิชาแนะแนวมัธยม แต่ประเด็นของวิชานี้ก็คือ เราจะทำ 3 อย่าง ใน 15 คาบ

  1. เด็กต้องรู้ว่าความสามารถ ความแข็งแกร่ง พลังความดีงามของตัวเองคืออะไร ความสุขถึงจะเกิดขึ้นได้
  2. เมื่อเกิดปัญหาขึ้นพวกเขาจะสามารถใช้แหล่งพลังนั้นดูแล เยียวยาหัวใจได้อย่างไร
  3. การใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย และมีความหมาย ตอบคำถามบางอย่างในตัวเองได้
ครูมะขวัญ ความสุข

วิชาแห่งความสุข เด็กทุกคนต้องมีความทุกข์มาก่อนหรือเปล่า

ซึ่งก็จริงนะ (หัวเราะ) คือ 1 ปีเราจะได้เจอเด็กที่สนใจเรื่องนี้มีทั้งเด็กที่อยากรู้ว่าคืออะไร มีเด็กที่มาลงเรียนตามเพื่อน มาเพราะวิชานี้ง่ายดี แต่ครึ่งหนึ่งโดยเฉพาะตั้งแต่โควิด-19 เป็นต้นมา คือต่อให้เป็นเด็กที่เราประเมินจิตใจได้ว่าเขาก็อยู่ในภาวะปกติดี เขาก็มีความทุกข์มากเลย ทั้งกับอนาคตจะเป็นยังไง พ่อแม่ การเรียน ทั้งหมดนี้เขาต้องเผชิญทั้งหมดคนเดียว

อย่างยุคเรามันยังมีเพื่อนที่ชวนไปกินหมูกระทะแล้วก็นั่งปรับทุกข์กัน แต่เด็กทุกวันนี้เขาต้องแบกรับหลายๆ อย่างไว้คนเดียว เก็บไว้ข้างใน เขาเลยต้องการพื้นที่แบบเรามากๆ เลย เท่าที่เราแลกเปลี่ยนกัน

ความสุข

เครียดอยู่แล้ว ทำไมยังต้องมาเรียน สอบเอาคะแนนเหมือนวิชาทั่วไปอีก

งายวิจัยความสุขพูดตรงกันที่สุดอยู่ 2 เรื่อง คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีความสุขคือความสัมพันธ์ที่ดี และอย่างที่สองสติ สมาธิ หรือความมั่นคงทางจิตใจมีความสัมพันธ์อย่างมากกับความสุข พอรู้แบบนี้เราก็ออกแบบวิชาเอาไว้ 3 ช่วง

Who am I เรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาทั้งหมด คือ คนเราจะมีความสุขได้อย่างไรถ้ายังไม่รู้ว่าร่างกาย จิตใจเราเป็นยังไง ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับเราอยู่ รวมถึงรู้จักว่าความสุขของเราหน้าตาเป็นอย่างไร หลักการเยียวยาเบื้องต้น กลับมารักตัวเองอย่างแท้จริง

ความสัมพันธ์ พอเขาแข็งแรงขึ้นเราก็จะเรียนเรื่องความสัมพันธ์ล้วนๆ เลย เช่น การดูแลความสัมพันธ์ การสื่อสารกับคนอื่นให้ดีได้อย่างไร ไปจนถึงชวนกันมาคุยเรื่องความรัก

ชีวิตและโลก จะเป็นมิติของสติ และสมาธิ จนสามารถสร้างความมั่นคงทางใจได้เลย

ส่วนวิธีการวัดผลเราใช้ชื่อว่า “Happy 7 Day” เขาต้องไปทดลองดูแลตัวเอง 7 วัน ในมิติต่างๆ ที่เรียนกันมา โดยที่เขาเองต้องเป็นคนเลือกวิธีการที่ถูกจริตกับตัวเขาเอง และเขาต้องไปทดลองกับตัวเองวันละ 15 นาที – 1 ชั่วโมง ดูแลร่างการ จิตใจ เราก็จะมีวิธีการบันทึกผล

สิ่งที่เราได้เรียนรู้ทุกเทอมและรู้สึกว่ามันงดงามมากก็คือ เด็กๆ บอกว่าความสุขเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องเดี๋ยวนี้ คนมักจะชอบคิดว่าต้องได้สิ่งนั้นก่อนสิ่งนี้ก่อนถึงจะมีความสุข แต่เด็กๆ เขาได้คำตอบของตัวเองแล้วว่า 5 นาทีของเขาแค่ได้มองต้นไม้ ช่วยเหลือคนอื่นเล็กๆ น้อยๆ  ก็มีความสุข และเขาต้องเติมสิ่งนี้เข้าไปในทุกๆ วัน  ความแข็งแรงทางใจมันไม่สามารถที่ล้มแล้วจะตั้งขึ้นมาได้

ความสุข

ดูเป็นวิธีแก้ปัญหาที่โรแมนติก ในโลกที่ส่วนใหญ่ยึดติดกับทุนนิยม

มีงานวิจัยความสุขชิ้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ ศ.มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) บอกว่าความสุขมี 3 ระดับ

ระดับที่ 1 เราอยากได้อะไรก็ได้ อย่างเราอยากได้โทรศัพท์มือถือก็ได้มา แต่ถ้าเราติดอยู่ในความสุขระดับนี้ เราจะเริ่มรู้สึกว่างเปล่าเหมือนมีอะไรขาดหายไป

ระดับที่ 2 ทำอะไรที่อยู่ในโฟลว์ (Flow) คือการทำงาน กิจกรรม ที่ทำแล้วรู้สึกเหมือนลืมเวลา เป็นตัวของตัวเองมากๆ พออยู่ในภาวะนี้จะเป็นความสุขที่ลึกขึ้น เต็มขึ้น

ระดับที่ 3 ใช้ทักษะที่มีแชร์ให้กับคนอื่นๆ ได้รู้สึกมีความหมาย ในทางกลับกันเราก็จะรู้สึกถึงด้วยเช่นกัน ซึ่งการแชร์ไม่จะเป็นต้องเป็นต้องกับคนเท่านั้น กับธรรมชาติ ต่อต้นไม้ต้นหนึ่งก็ได้ ความสุขระดับลึกที่สุดก็คือการรู้สึกถึงความหมายของสิ่งๆ นั้น

วิชาความสุข

สอนแต่เรื่องความสุข ครูมะขวัญ พบความทุกข์แสนสาหัสของเด็กๆ ยังไงบ้างที่จำได้ไม่ลืม

ต้องยอมรับว่า สอนที่นี่มาสี่ปี เจอเด็กฆ่าตัวตายไปเจ็ดคน แต่เป็นเด็กที่เราช่วยทันทั้งหมด เราไม่ใช่นักจิตบำบัด พอเราเห็นว่าเด็กมีภาวะเสี่ยงเราก็จะเข้าช่วยเหลือเลย แนะนำไปพบจิตบำบัดก่อนไหม หรือถามว่าตอนนี้หนูมีเพื่อนรับฟังหรือเปล่า ที่บ้านมีใครฟังไหม มีบางปีที่เด็กเป็นไบโพลาร์มากๆ หรือพยายามฆ่าตัวตายตลอดเวลา เด็กที่เราพบหนักที่สุดแค่จะพูดออกมายังพูดไม่ได้เลย ให้เขียนหนึ่งเรื่องเขียนออกมาได้ไม่เกินสิบคำ และสิบคำที่เขียนออกมา คือ ผมอยากตาย..ผมอยากตาย หรือมีเด็กบางคนที่อยู่ๆ ก็เดินมายื่นข้อมือแล้วก็เปิดเสื้อให้ดู คือ กรีดข้อมือไปแล้ว อันนั้นเราก็รีบส่งตัวรักษาก่อนเลย ครั้งหนึ่งมีเด็กบอกว่าผมแค่ไม่อยากตื่นมาแล้วอยากตาย เราจะถามเลยว่า ต้องการประคองตัวเองใช่ไหม ถ้าอย่างนั้น 15 คาบนี้มาเรียนกับครูได้เลย ลองมาสนุกกัน

ความสุข

คิดว่าเรื่อง “จิตบำบัด” กับ “การเรียน” จำเป็นต้องทำควบคู่กันในอนาคต

จริงๆ มันควรเกิดขึ้นได้แล้ว เรื่องการตั้งศูนย์ดูแลจิตใจทุกคณะควรจะมีสิ่งนี้อยู่ประจำเลย เพราะปัญหาตอนนี้มันไปไกลกว่านั้นแล้วเราจะทำหลับหูหลับตาไม่ได้แล้ว เรามาสอนฟิสิกส์เด็กให้จบๆ ไป แล้วอยู่ๆ เด็กหายไปนั่นคือความรับผิดชอบของเรา จะเป็นศูนย์หรือมีนักบำบัดประจำศูนย์ก็ได้ เรากล้าพูดได้เลยว่าเราเหนื่อยมากเพราะวันหนึ่งเราต้องรับฟังเด็กสองคน และต้องช่วยเบื้องต้นเพื่อประเมินว่าเค้าไปไหนได้บ้าง เรารู้สึกว่าการไปโทษว่าเด็กอ่อนแอมันไม่ใช่ ถ้ามีเด็กคนหนึ่งฆ่าตัวตายมันต้องโทษตั้งแต่ในบ้านว่าเกิดอะไรขึ้น มหาวิทยาลัยดูเด็กยังไง สังคมดูแลเด็กยังไง ประเทศชาติเกิดอะไรขึ้นถึงทำให้เยาวชนคนหนึ่งที่อยากสร้างอนาคต เลี้ยวไปอยากตาย

ความสุข

ต้องใช้งบประมาณสร้างสถานที่ครบวงจร จ้างจิตแพทย์ในมหาวิทยาลัยไหม

แค่มีนักบำบัดหนึ่งคนก็มีประโยชน์แล้วค่ะ มันมีเป็นสิบๆ ครั้งที่เราต้องนั่งใต้ต้นไม้กับเด็กถึงสองทุ่ม สถานที่ไม่ใช่ปัญหา นักบำบัดมีเพิ่มขึ้นเยอะมากๆ แค่มีนักบำบัดสักคนหนึ่งที่แห่งนั้นก็ปลอดภัย ในความรู้สึกเรามันจะดีถ้ามีคนที่เชี่ยวชาญกว่าเราแล้วส่งเด็กไปให้เขาช่วยดูแลต่อ หรือถ้ายังไม่มีงบประมาณสามารถแทรกสิ่งนี้เข้าไปในกิจกรรมช่วงต้นแทบจะทุกวิชา ชวนเด็กถามตอบเรื่องชีวิตปกติให้เห็นถึงความห่วงใยจากครู แค่นั้นเด็กก็ใจชื้นแล้ว

ข้อดีที่สุดของการแทรกซึมเข้าไปในรายวิชาก็คือ ถ้าเราไปพบนักจิตบำบัดเราไปพบเขาครั้งหนึ่งเขาอาจจะไม่มาอีกเราไม่รู้ว่าชีวิตเขาเป็นยังไง แต่การอยู่ในรายวิชามันเช็คได้เลยว่าอาทิตย์นี้เขาเป็นยังไง อาทิตย์หน้าเค้าแย่ลงจะต้องแก้ยังไง เราจะได้อยู่กับเด็กจริงๆในช่วงเวลาสี่เดือนของชีวิตเขาจนได้เห็นว่าเค้าแข็งแรงขึ้นถึงจะไป

อย่างเด็กที่กรีดข้อมืออยู่กับเราแล้วเรายังต้องดูแลเขาไปอีกถึงหนึ่งปี เราคิดว่าพวกคอร์สอบรมพัฒนาครูจริงๆ จังๆ จากผู้เชี่ยวชาญที่สามารถพาครูไปจนถึงการให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา ที่สำคัญเราคิดว่าการมาสอนเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัยไม่ทันแล้วสิ่งนี้น่าจะได้ดูแลตั้งแต่อนุบาล ความแข็งแรงทางใจ มันแปลว่าจริงๆ วิชาแนะแนวไม่ควรพุ่งเป้าว่าสอบติดคณะไหน แต่มันควรจะมาที่มิติว่าดูแลเด็กให้มีความสุขได้อย่างไรด้วย สอบติดไปถ้าเด็กไปฆ่าตัวตายตอนปีสองก็ไม่มีประโยชน์ขึ้นมา

ความสุข ครูมะขวัญ

ทำมาหลายอย่าง นี่คืองานที่ครูมะขวัญรักที่สุด

เรียกว่าเป็นงานที่ทำแล้วมีความสุขที่สุดในชีวิต เป็นคนที่ตื่นเต้นและสนุกกับการไปทำงาน งานที่ทำให้เรามีความสุขไม่ใช่ว่าเราจะต้องมีความสุขตลอดเวลา เราจะเจอความทุกข์กับมันเป็นระยะ เราไม่ใช่คนที่ทำอะไรถูกตลอดเวลา เราทำผิดกับเด็กมามากบางอย่างสอนเด็กเยอะเกินไป เด็กก็มาระบายกับเรา แต่เราจะรีบลุกขึ้นมาแก้ไขเลย แต่จุดที่วัดว่าเรามีความสุขก็คือ เรายังมีความสนุกที่ได้ทำงานตรงนั้น อยากทำงานแบบนั้นไม่สิ้นสุด และทำที่มันใหญ่ไปกว่านั้นในประเทศไทยด้วย และเราก็คิดการใหญ่บางอย่างแล้วว่าอยากทำสิ่งนี้ให้เข้าถึงเด็กทั่วประเทศ เป็นคอร์สออนไลน์อะไรก็ได้เพราะเราเริ่มได้องค์ความรู้อะไรบางอย่างแล้ว

ความสุข

สุดท้ายแล้วการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย คือการรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า และรู้ว่าเราอยู่ไปในแต่ละวัน เพราะเราอยากทําสิ่งๆ นั้นเพื่ออะไร

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์