ยอมรับมาเสียดี ๆ ว่า เราล้วนเคยส่องเฟซบุ๊กชาวบ้านแล้วก็แสนจะอิจฉาตาร้อนกับคนมีชีวิตดี ๆ พร้อมกับความรู้สึกนอยด์ ๆ ไป 3 วัน 7 วัน
เปิดดูซีรีส์ มองพระนางในจอแล้วก็แสนจะอิจฉา อยากได้เสื้อผ้า หน้าผม หรือแม้คนรักในฝันแบบนั้นมาครอบครองบ้าง
หรือแม้กระทั่งนั่งกินข้าวกับเพื่อน จานของเพื่อนยังดูน่ากินกว่าของเราเลย
ความอิจฉาตาร้อนนี้ส่งผลกระทบกับมนุษย์ได้ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างจานอาหารของชาวบ้าน ไปจนถึงเรื่องยิ่งใหญ่อย่างภาพฝัน เป้าประสงค์ และความหมายในชีวิตเลยทีเดียว
แต่แท้จริงแล้ว ความอิจฉา ไม่ได้ผิดปกติอะไร เพราะเป็นสภาวะอารมณ์อันแสนสามัญของมนุษย์ทั่วโลก ดั่งสำนวนฝรั่งอันเก่าแก่ ที่ว่า
“the grass is always greener on the other side of the fence”
หญ้าบ้านข้าง ๆ เขียวกว่าบ้านเราเสมอ หมายถึงว่า
เรามักเห็นชีวิตคนอื่นดีกว่าชีวิตตัวเราเองเสมอ
แต่ชุดความคิดเหล่านี้ อาจนำมาซึ่งผลกระทบเชิงลบมากกว่าบวก มองข้ามสิ่งที่ตัวเองมี โฟกัสแต่สิ่งที่ตัวเองขาด และนำมาสู่อารมณ์และการปฏิบัติเชิงลบต่อผู้อื่น
The Active ชวนนักจิตวิทยา บุณยาพร อนะมาน จาก PSYCH-CEO คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาทำความเข้าใจอารมณ์ คนขี้อิจฉา ในมุมมองทางจิตวิทยาให้อย่างแจ่มแจ้งมากขึ้นกว่าที่เคย
เทสต์ที่สร้าง กับ ร่างที่เป็น
ก่อนจะไปถึงเรื่อง คนขี้อิจฉา ขอนำผู้อ่านมาเข้าใจ ตัวตน ของมนุษย์คนหนึ่ง ผ่านคอนเซปต์ที่เกี่ยวข้องก่อน
มีทฤษฎีหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาอธิบายแนวคิดเรื่องตัวตนอยู่บ่อย ๆ คือ Self-Theory โดย Carl Rogers นักจิตวิทยาสายมนุษยนิยม (Humanistic Psychologist) ที่เชื่อว่า มนุษย์แต่ละคนมีศักยภาพแตกต่างกันไป สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจลงลึกไปในมนุษย์นั่นคือ ตัวตน
แนวคิด Self-Theory อธิบายว่า ตัวเราหนึ่งคนนั้น มีตัวตน 3 แบบ ได้แก่
- ตัวตนตามที่ตนมอง (Self – Concept) – สิ่งที่เราคิดว่าเราเป็น
- ตัวตนตามความเป็นจริง (Self- Image) หรือ Real Self – สิ่งที่เราเป็นจริง ๆ
- ตัวตนในอุดมคติ (Ideal – Self) – สิ่งที่เราอยากเป็น

แน่นอนว่า หากตัวตนของเราทั้ง 3 ส่วนนี้ ไปในทิศทางเดียวกัน และยิ่งสอดคล้องกันมากเท่าไร เราจะเป็นคนที่มีบุคลิกภาพมั่นคง เห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) มากเท่านั้น แต่หากไม่สอดคล้องกัน และยิ่งแตกต่างกันมากเท่าไร จะมีความสับสน อ่อนแอในบุคลิกภาพ
นักจิตวิทยา อธิบายว่า เมื่อไรที่เราเห็นคนอื่นได้ดีแล้วรู้สึกแย่ นั่นเป็นเพราะว่าภายในใจเรากำลังสงสัยและเปรียบเทียบ ทำให้ self-concept ถูกสั่นคลอน และยิ่ง ideal-self แตกต่างจาก real-self มากเท่าไร ยิ่งกระทบต่อความมั่นใจ (self-confidence) ความมีคุณค่า รวมถึงการรับรู้ความสามารถของตัวเอง (self-advocacy)
เช่น เรามีตัวตนในอุดมคติ (Ideal Self) ว่า อยากผิวขาวสวยแบบดาราเกาหลี แต่ตอนนี้ ตัวตนที่เรามองเห็นตัวเอง (self-image) เราเป็นคนมีผิวสีน้ำผึ้ง ก็อาจส่งผลให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (low self-esteem) และนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์
“ทันทีที่เราเห็นว่าคนอื่นประสบความสำเร็จ เขาจึงเป็นภาพสะท้อนที่ทับซ้อนกับตัวตนในอุดมคติของเรา (ideal-self) แต่ในความเป็นจริง ตัวตนตอนนี้ (real-self) เราไม่ได้เป็นแบบนั้น นั่นทำให้เราเกิดอารมณ์เชิงลบ ความวิตกกังวล ความเครียด ขัดแย้ง คับข้องใจ ผิดหวัง เสียใจ และอาจนำไปสู่ความไม่ยินดี หรืออิจฉาริษยาก็ได้”
อย่างไรก็ตาม คนเราก็ไม่ได้อิจฉาชาวบ้านเขาไปได้เสียทุกเรื่อง เราจะอิจฉาในสิ่งที่เราให้ คุณค่า หรือเป็นสิ่งที่ สังคมส่วนใหญ่ให้คุณค่า เช่น ในยุคปัจจุบัน สังคมมีคนในอุดมคติว่าต้องประสบความสำเร็จ ต้องร่ำรวย มีใบหน้าสวยหล่อ ผิวขาวสวย นั่นทำให้เราเผลอไปยึดถือคุณค่าส่วนตัวให้ล้อไปตามค่านิยมสังคม และเมื่อเราเป็นไม่ได้ ก็เกิดความรู้สึกทุกข์ทันที
สรุปคือ ตัวตนของเราอาจไม่ได้สอดคล้องกับภาพฝันในอุดมคติที่เราอยากจะเป็น ทำให้เราจะรู้สึกแย่กับตัวเอง เมื่อเราไม่สามารถเป็นในสิ่งที่เรายึดถือเป็นคุณค่าของเราได้ ทำให้เรามีความเชื่อมั่นในตนเองต่ำลง และอาจพาลไปถึงความอิจฉาคนที่มีภาพแสดงสิ่งที่เราฝันใฝ่แต่ไปไม่ถึงก็เป็นได้
อย่ารังเกียจนางร้ายขี้อิจฉา
เพราะเป็นอารมณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ทุวัน
หากดูละครไทย เราจะเจอนางร้ายขี้อิจฉาที่วีนฉ่ำแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน พลอยทำให้เรามีภาพจำว่า การอิจฉาคือนิสัยชั่วร้าย ต้องกดข่มไว้ ห้ามไม่ให้เกิด แต่ในทางจิตวิทยาแล้ว ความอิจฉา คืออารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ และห้ามไม่ได้เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ควรทำคือ การรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง
“เมื่อไรที่มีความรู้สึกนี้ อย่าโทษว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี แต่ให้เริ่มจากรู้เท่าทันอารมณ์ก่อน โดยการพูดคุยกับตัวเองอย่างจริงใจ ถามตัวเองว่า เรารู้สึกอย่างไร เราไม่พอใจมาก ๆ กับอะไร เรากำลังอิจฉาอยู่ใช่ไหม ? และหันกลับมามองว่าเรามีอะไรอยู่ตอนนี้บ้าง และเราจะพัฒนามันให้ไปถึงสิ่งที่เราต้องการได้อย่างไร ?”

บุณยาพร ยังอธิบายว่า ให้เริ่มจากการรู้ตัวก่อนว่า เรากำลังรู้สึกอิจฉา จากนั้นถอยกลับมามองตัวเองตามจริงว่า เรามีอะไร และไม่มีอะไร และให้ลองคิดถึงความเป็นไปได้ จะช่วยลดอารมณ์เชิงลบได้มากทีเดียว
“เมื่อไรที่เกิดความรู้สึกอิจฉา ให้ลองย้อนกลับมาคุยกับตัวเองอย่างจริงใจ แม้ตอนนี้เราไม่ได้สอดคล้องกับอุดมคติที่เราอยากเป็น แต่ขอให้ดูว่า ตอนนี้เรามีข้อดีอะไร และสิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตเราเป็นอย่างไร จากนั้นพิจารณาว่า เราจะพัฒนาอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้นได้ยังไงบ้าง”
ในเชิงจิตวิทยามีคำพูดหนึ่งที่บอกว่าให้ “คุยกับตัวเอง” นี่ไม่ใช่การพูดคนเดียว แต่คือการสำรวจความรู้สึกลึก ๆ ของตัวเอง อาจเริ่มง่าย ๆ จากการสังเกตสีหน้าตัวเองในกระจก ว่า เราดูเหนื่อยหรือมีความสุข และถ้าดูเหนื่อย ให้ลองหาสาเหตว่าเกิดจากอะไร ? หรือถ้ามีสุข สิ่งนั้นมาจากอะไร วิธีง่าย ๆ นี้จะทำให้เรารู้จักมองตัวเอง เอาอารมณ์ทั้งหมดออกมาวางตรงหน้า จะทำให้เราจัดการกับมันได้ง่ายขึ้น
“ทันทีที่เรารู้ว่าเรามีความสามารถในการพัฒนา เมื่อเห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดี ก็มีความคิดว่าฉันเองก็เป็นแบบนั้นได้เหมือนกัน ความรู้สึกอิจฉาจะแทบไม่เกิดขึ้น เพราะคือการเชื่อมั่นว่าฉันเองก็จะทำได้เหมือนกัน”
“ก็ฉันไม่ได้รวยแบบเขาไง ถ้าฉันมีเงินก็ทำได้เหมือนกันแหละ”
กลไกป้องกันตัวเองของคนขี้อิจฉา
บ่อยครั้งที่เห็นใครได้ดี เราจะเผลอไปสรุปอย่างเป็นเหตุเป็นผลเสียแล้ว ว่า เพราะเขามีอย่างนั้น อย่างนี้ไง เขาถึงประสบความสำเร็จ พฤติกรรมนี้ ทางจิตวิทยาอธิบายว่า คือ กลไกการป้องกันตนเอง (defense mechanism) เพื่อปกป้องตัวเองจากอารมณ์ทางลบโดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม ในทางจิตวิทยา อาจสรุปไม่ได้ว่าความคิดนี้ถูกหรือผิด แต่กลไกที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นการโฟกัสผิดจุด นั่นคือการย้ำกับตัวเองว่า “ถ้าฉันเป็นอย่างนั้น..ฉันจะได้อย่างนี้” หรือเป็นการอยู่กับ การสมมุติซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน (here and now) ซึ่งทำให้ความคิดของเราออกห่างจากสิ่งที่เราเป็นจริง (real-self) เข้าไปทุกที
แรงอิจฉา – พลังขับเคลื่อนชีวิตเชิงลบ ?
บุณยาพร บอกอีกว่า มีคนจำนวนมากนำแรงอิจฉามาเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิต แน่นอนว่าอาจเหนื่อยสักหน่อย แต่อาจกลายเป็นพลังให้ถึงเป้าหมาย ในทางจิตวิทยาคงไม่สามารถพิพากษาได้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ แต่สิ่งเดียวที่ต้องระวังคือ แรงขับนี้กำลังสร้างผลกระทบเชิงลบต่อผู้อื่นหรือเปล่า
“ในทางจิตวิทยา ไม่มีว่าจะเลือกแบบใด ก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด เพราะทุกสิ่งเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ให้ลองสังเกตพฤติกรรมที่ตามมาหลังความอิจฉาของเรา ว่า เป็นในเชิงบวกหรือลบ สำหรับบางคน แรงอิจฉาก็กลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีที่ทำให้พัฒนาตัวเอง แต่กลับบางคนกลายเป็นความพยาบาท”
เช่น เมื่อเกิดความอิจฉาเข้าแล้ว บางคนคิดว่า “สักวันฉันจะดีแบบนั้นให้ได้ แต่บางคนคิดว่า สักวันแกต้องแย่กว่าฉันให้ได้” 2 แนวคิดนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง และเริ่มส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้อื่น ทำให้คนอื่นเดือดร้อน หากมาถึงจุดนี้ ต้องพยายามจัดการอารมณ์ให้ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
แค่อาบน้ำ สระผม โลกจะใจดีกับคุณ
แน่นอนว่า ยุคนี้หนึ่งในชนวนเหตุกระตุ้นความอิจฉาของมนุษย์มากที่สุด คือ โซเชียลมีเดีย เราเห็นด้านดี ๆ ของคนอื่นมากมายขยายใหญ่ขึ้นเต็มไปหมด พร้อม ๆ กับความเชื่อมั่นในตนเองที่หดเล็กจิ๋วลงไปเรื่อย ๆ นี่เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เราไม่ได้กลับมาสำรวจชีวิตของตนเองอย่างจริงจัง
“เมื่อก่อนเราไม่ได้เห็นชีวิตคนอื่นมากขนาดนี้ เราทุกคนต่างโฟกัสที่ตัวเอง ได้อยู่กับตัวเอง ได้คุยกับตัว มันทำให้เรามองเห็นชีวิตของตัวเองในหลาย ๆ ด้าน จากเดิมที่เราอาจจะไม่ได้ทุกข์ร้อนกับชีวิตตัวเอง แต่พอเราไถจอมือถือเท่านั้น ทำให้เราเฉยไม่ได้อีกต่อไป เราจะเริ่มไม่แฮปปี้กับตัวเองเพราะเกิดการเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับคนอื่นโดยอัตโนมัติและวนลูปไปเรื่อย ๆ”
บุณยาพร แนะนำว่า Social Detox เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ได้ผลมาก การไม่รับรู้ชีวิตคนอื่นระยะหนึ่งจะทำให้เรามีมุมมองต่อโลกใบนี้ที่เปลี่ยนไป มีสมาธิและเวลากับการกลับมาโฟกัสชีวิตตัวเองจริง ๆ มากขึ้น ได้เห็นทั้งสภาพความเป็นจริงความรู้สึก และ จินตนาการที่เรามีต่อตัวเอง ที่เป็นเหมือนเป็นปฏิบัติการเชิงความคิด นักจิตวิทยา ยังแนะนำด้วยว่า อีกสิ่งที่ทำควบคู่กันไปได้คือการ self-care หรือการดูแลตัวเอง
“การกลับมาดูแลตัวเอง มันทำได้ง่ายมาก อาจเป็นแค่การได้กินของอร่อย ได้อาบน้ำ สระผม ให้รู้สึกสะอาดสะอ้าน หรือนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ สามารถทำให้ตัวเรารู้สึกดีกับตัวเองได้ทันที และช่วยให้ค่อย ๆ กำจัดอารมณ์เชิงลบออกไปได้ง่ายดายกว่าที่คิด”
โดยสรุปแล้ว ความอิจฉาไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจ เพราะเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามกลไกธรรมชาติ แต่บางครั้งอาจสร้างความทุกข์ใจอย่างใหญ่หลวงทั้งแก่ตัวเอง และกระทบต่อคนรอบข้าง
คำแนะนำทางจิตวิทยา คือ อย่าปฏิเสธ แต่ขอให้รู้เท่าทันอารมณ์ และย้อนกลับมาดูตัวตนและความต้องการของตัวเองอย่างถ่องแท้
การหันกลับมาดูแลตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ จะทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง ชอบตัวเอง และคนที่มีความรู้สึกเชิงบวกต่อตนเอง จะมีแนวโน้มที่จะไม่ใช้ ความอิจฉาในทางร้ายต่อผู้อื่น แต่กลับใช้ใช้ไปในทางบวก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า “สักวันฉันก็ทำได้เหมือนกัน”