“สิ่งที่หายไปจากการเมืองไทย คือ กติกาและกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรม วิธีการนับคะแนนและการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาล ไม่ควรถูกตั้งคำถาม แต่ควรสะท้อนฉันทามติเสียงประชาชนและต้องปราศจากความรุนแรง”
ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ
นี่คือความหวังต่อการเลือกตั้งในมุมมองของ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ลูกชายของ สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและนักการเมืองชาวไทย ที่ให้สัมภาษณ์ไว้กับ The Active ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2566 ก่อนการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่กลายมาเป็นแฮชแท็กร้อน #กกตมีไว้ทำไม และ #กกตควรติดคุก
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดและควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมาย และเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่หลายครั้งกลับกลายเป็นหน่วยงานที่ถูกตั้งคำถาม ถูกร้องเรียน หรือแม้แต่เคยตกเป็นจำเลยในกระบวนการยุติธรรม ว่าจัดการเลือกตั้งไม่เป็นธรรมเสียเอง
นี่อาจนับเป็นหนึ่งใน “กติกาที่เป็นธรรม” ที่หายไปจากการเมืองไทย ที่เขาหมายถึง
The Active คุยกับ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ Pre-Doctoral Fellow สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ ชวนมองอนาคตไทยหลังการเลือกตั้ง ในฐานะคนที่สนใจการเมืองประวัติศาสตร์และการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ที่ยังศรัทธาในครรลองของประชาธิปไตย กลไกถ่วงดุลอำนาจ เพราะเชื่อว่าจะนำพาเสียงของประชาชนสู่การแก้ปัญหาระดับชาติ
ประเทศไทยในปี 2575 ที่อยากเห็น
ประเทศไทยที่ความเห็นต่าง ความขัดแย้งเบาลง ไทยเดินหน้าได้ มีเส้นทางชัดเจนที่จะเป็นประเทศที่เราชอบไปเที่ยวได้เหมือนที่อื่น ๆ อยากให้เราไปถึงจุดนั้น เศรษฐกิจดี เหลื่อมล้ำลดลง จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่บันไดล่างสุดขยับขึ้นมาได้
ส่วนสิ่งที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นและกลัว คือ ความโกลาหล ไม่ชัดเจน การเจริญเติบโตที่มีแค่คนบางกลุ่มได้ผลประโยชน์ ไม่ได้ถูกแบ่งทั่วถึง กลายเป็นความคับแค้น ปะทุขึ้นมา การเสียเลือดเนื้อ หรืออัดอั้นจนทำให้ตัวเองเสียชีวิต นี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น รัฐไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น ทุกคนควรมองเห็นโอกาสที่จะเติบโต คนรุ่นผม คนรุ่นใหม่เลือกที่จะไม่มีลูก เพราะไม่เห็นความหวังในประเทศไทย ไม่เห็นความหวังในตัวเอง ไม่เห็นความหวังในผู้นำ ที่จะพาเขาเดินต่อไปในอนาคต เขาไม่สามารถกำหนดเส้นทางการพัฒนาของตัวเอง เพราะมีคนรุ่นหนึ่งบล็อกเขาอยู่ จึงอยากให้มีการพูดคุย เปิดโอกาส คนที่อยู่ในระดับผู้นำพยายามเข้าใจคนรุ่นใหม่
เลือกตั้ง 66 คือความหวัง?
มีหวัง เชื่อว่าความขัดแย้งเบาบางลง แต่มันบอกไม่ได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นไหม บอกยาก แต่ก็มีจุดที่มีความหวังว่าการไปเลือกตั้งอาจสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือการรักษาบางอย่างไว้ มันเป็นเวทีที่สร้างความหวัง ขอแค่ดำเนินไปอย่างยุติธรรม ทุกคนยอมรับได้ ไม่โกง หรือถูกตั้งคำถามถึงชัยชนะที่ได้มา การนับคะแนนที่ไม่ถูกต้อง ถ้ามีการตั้งคำถามต่อสิทธิ์ต่อเสียง มีปัญหาแน่นอน
ความกังวลหลังเลือกตั้ง
ความไม่ชัดเจนของวิธีการนับคะแนนจะเป็นปัญหาอีกไหม ต้องยอมรับว่ารัฐบาลขึ้นมาสู่อำนาจด้วยสมการทางตัวเลขมากกว่าฉันทามติของประชาชน รอบนี้ขอให้ กกต. แจงให้ละเอียดว่านับคะแนนแบบไหนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่ายังไม่รู้วิธีการ ตรงนี้จะเป็นหลุมดำทำให้ทุกคนอึดอัด และการเลือกตั้งรอบนี้ปัญหาใหญ่ยังอยู่ที่รัฐธรรมนูญ สว. ยังเลือกนายกรัฐมนตรีได้ มีประโยชน์ทับซ้อน สว. มีอำนาจเกินประชาชน หากไม่มีการเปลี่ยนตรงนี้ ก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีได้ยากขึ้น
แต่ยังไงเราก็ต้องไปเลือกตั้ง สิทธิ์ยังเป็นของเรา ไปใช้สิทธิ์เพื่อบอกว่าเราอยากเปลี่ยนแปลง เลือกพรรคที่จะนำอุดมการณ์ นำความคิดของเราได้ เช่น ถ้าเราอยากแก้รัฐธรรมนูญ พรรคไหนจะแก้ก็เลือก ถ้าไม่อยากแก้ก็ไม่ต้องเลือก เราเลือกผู้แทนของเราไปออกกฎหมายแทนเรา หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้มีอำนาจ มันจึงสำคัญการใช้สิทธิ์เพื่อเลือกอนาคตที่เราอยากเห็น
“เราเลือกผู้แทนของเราไปออกกฎหมายแทนเรา หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้มีอำนาจ มันจึงสำคัญ การใช้สิทธิ์เพื่อเลือกอนาคตที่เราอยากเห็น”
ในทางการเมือง การเลือกตั้งคือสิ่งที่แสดงความหวัง ถ้ามีการนับคะแนนชัดเจนแล้ว มันออกมาไม่ได้ดั่งใจ ค่อยไปแก้กันครั้งต่อไป สิ่งที่สำคัญ คือ อยากให้กลุ่มคนที่กุมอำนาจปล่อยให้มันเป็นครรลองประชาธิปไตย ให้มันแก้ไขด้วยตัวมันเองได้ ถ้าเสียงประชาชนอยากให้แก้รัฐธรรมนูญ ก็ควรแก้ ไม่ควรปิดฝา อย่างต่างประเทศเขาก็มีความต่าง คนรุ่นใหม่ อาวุโส คิดต่างมีอุดมการณ์ต่าง มองอนาคตไม่เหมือนกัน แต่เขามีครรลองที่ตัดสินแบบนี้นะ ไม่มีใครก้าวก่ายปรับเปลี่ยนกฎแบบบ้านเรา มันต้องมีกฎกติกาที่ทุกคนเห็นพ้องร่วมกัน เชื่อในครรลองของกฎเกณฑ์ แต่ของเราล้มกระดาน ฉีกกฎหมาย ฉีกรัฐธรรมนูญ และบ้านเราไม่มีบทลงโทษของการเปลี่ยนกฎ
การเมืองไทยถ้าให้เปรียบเหมือนสัตว์ชนิดใด?
การเมืองไทยเปรียบเหมือนนกแก้วที่ถูกล่ามโซ่ นกแก้วมันพูดตามใครสักคนที่สอนมัน มีกลุ่มที่คอยควบคุมหลายอย่าง สอนให้มันพูดดีก็พูดดี สอนไม่ดีก็ไม่ดี มันอยากบินก็บินไม่ได้เพราะถูกล่ามโซ่ แต่มันมีสีสันสวยงาม เนื้อแท้มันสวยงามนะ
ประชาธิปไตยสำคัญ? เครื่องมือของการแก้ปัญหาระดับชาติ
ปัญหาในเชิงโครงสร้างแก้ยากมากหากการเมืองไม่ดี ในเชิงมหภาค เสียงประชาชนไม่ถูกตอบสนองถ้าไม่ใช่ประชาธิปไตย หัวใจของประชาธิปไตย ถ้าเขาไม่ทำ เขาก็ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ เพราะมีการถ่วงดุลอำนาจได้ เช่น ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาระดับชาติของชาวเหนือและอีกหลายคนด้วย เราอยู่ในเชียงใหม่ ส่วนกลางไม่ได้เห็นถึงปัญหาที่เราเจอ เรามีคุณภาพอากาศที่แย่ที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก มีสิ่งแวดล้อมที่แย่ที่สุด ผมมองว่ามันรุนแรงเหมือนแผ่นดินไหวที่ตุรกี แต่เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้ยินเสียงของเรา หรือพรรคการเมืองไม่ได้สนใจมากเท่าที่ควร ผมว่าทางแก้เรื่องนี้ ต้องจับพรรคการเมืองมาลงสัตยาบัน ใครไม่เซ็นคือแกะดำ ไม่จริงจัง ทุกอย่างต้องเป็นทางการ ฉันทามติที่เป็นทางการ และไม่ควรเป็นกระดาษเพียงอย่างเดียว แต่เป็นครรลองการเลือกตั้ง ถ้าเราเลือกเขาแล้วแก้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องเลือก มันต้องเปิดโอกาสให้เรามีสิทธิ์ทำแบบนั้น มีระบบถ่วงดุล ตรวจสอบ ทำให้เห็นในยุทธศาสตร์ชาติ พูดถึงความเหลื่อมล้ำเอาไว้ ทุกหน่วยงาน รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่ถ้าไม่ทำมีความผิด ถูกฟ้องได้ เรื่องฝุ่นเหมือนกัน แต่จะทำแบบนี้ได้การเมืองเราต้องไม่ใช่การดำเนินกฎหมายเฉพาะกับพรรคที่เห็นต่างเท่านั้น
ฝุ่นซับซ้อนเกิดขึ้นทุกปี ถ้าเราไม่สามารถยึดโยงหรือลงโทษนักการเมืองที่แก้ไม่ได้ มันจะเป็นปัญหาใหญ่มาก ประชาธิปไตยจะเป็นเส้นทางเดียวที่เราจะทำแบบนั้นได้ เพราะถ้ารัฐบาลทำไม่ได้ เราก็เตะเขาออกจากเก้าอี้ มีโอกาสที่จะเลือกคนอื่น พรรคอื่นมาแก้ แต่ถ้าไม่ใช่ประชาธิปไตยเราจะทำแบบนั้นได้หรือไม่
นอกจากนี้ ในระยะ 5 – 10 ปีนี้ ยังมีสถานการณ์ที่สำคัญแต่ไทยเองยังไม่ให้ความสนใจมากนัก คือ สถานการณ์การต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ฝั่งเมียนมา ที่มีหลายกลุ่มมากต้องการอพยพมาหลบภัยการต่อสู้ที่ฝั่งไทย เช่น หมอ นักธุรกิจ นักศึกษา หากไทยเราเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้ จะถือเป็นโอกาสมากกว่าวิกฤต ทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ไทยจะได้ประโยชน์ แต่ยังไม่เห็นว่าเราทำเรื่องนี้ หรือเตรียมรับมือจริงจังอะไรเลย