ศึกขนมชั้น : เมื่อ ‘อเมริกา – จีน’ ห้ำหั่นใน Tech War ท้าชิง ‘ผู้นำ’ เทคโนโลยีโลก

หลังพิธีการเข้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศยกเลิกคำส่งฝ่ายบริหาร 78 ฉบับ ที่เพิกถอนคำสั่ง และแผนริเริ่มต่าง ๆ ในยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน รวมไปถึงการถอนตัวจากความตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement) ที่เกี่ยวกับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์


ทั่วโลกตั้งคำถามว่าการกลับมาของ ทรัมป์ 2.0 ในครั้งนี้ เป็นความแปลกประหลาดของการเมืองอเมริกาหรือไม่ ? การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายสหรัฐฯ อย่างสิ้นเชิงขนาดนี้ทำไปเพื่ออะไร ? หรือทรัมป์กำลังจะเป็นผู้ที่จะสร้างเทรนด์ใหม่ ความปกติใหม่ หรือโลกใบใหม่ให้กับเรา


แต่อีกด้านพญามังกร อย่าง จีน คู่ต่อกรรายสำคัญ ก็กำลังรุกคืบด้วยการทุ่มทุนทางวิทยาศาสตร์อย่างมหาศาล ซึ่งคนทั้งโลกก็ได้เห็น AI จีนเขย่าโลกอยู่ในเวลานี้


The Active ชวนมองการช่วงชิงของ 2 ชาติมหาอำนาจของโลก ผ่านมุมมอง ผศ.อาร์ม ตั้งนิรันดร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) ซึ่งอธิบายประเด็นเหล่านี้ไว้ ในงานเสวนา “Trump 2.0 วิกฤตหรือโอกาสของระบบ ววน.”


แม้นโยบายทรัมป์ 2.0 จะดูแปลกเพียงใด แต่จากการศึกษาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ Project 2025 ของ มูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) องค์กรวิจัยและให้คำปรึกษาด้านนโยบาย (think tank) ในสหรัฐฯ พบว่า แผนนี้ถูกศึกษามาอย่างดีแล้วอย่างเป็นระบบ และมีความต้องการจะหมุนอเมริกาไปในทิศทางที่ต่างจากเดิม

“มีคำกล่าวของผู้เขียนรายงานวิจัย Project 2025 บอกว่า นี่คือโอกาสเดียวของฝ่ายอนุรักษ์นิยมสหรัฐฯ ที่จะเปลี่ยนแปลงอเมริกาจากรากฐาน และมุ่งไปยังฝ่ายที่ทรัปม์เรียกว่า Deep State นี่จะเป็นสงครามทางวัฒนธรรม (culture war) ระหว่างฝ่ายซ้ายและขวาในสหรัฐฯ จึงเป็นเหมือน new deal รอบใหม่ที่ต้องการกลับทิศทางของประเทศ จากเดิมที่การสร้างระบบในสหรัฐฯ เกิดจากฝ่ายซ้าย แต่ในครั้งนี้จะเป็นการโต้กลับของฝ่ายขวา”

ผศ.อาร์ม ตั้งนิรันดร

ผศ.ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.)

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกต ว่า นโยบายของทรัมป์ 2.0 ในครั้งนี้มีความใกล้เคียงและต่อเนื่องกับนโยบายในสมัยของ โจ ไบเดน มากกว่าจะเป็นการย้อนกลับไปสู่นโยบายแบบ บารัค โอบามา


กล่าวคือ ในยุคของ โจ ไบเดน มีนโยบายที่เน้นการอุดหนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ ในขณะที่ทรัมป์เพิ่งประกาศใช้มาตรการ ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา และนโยบายทั้ง 2 ยุคยังคงมีเป้าหมายตั้งฐานอุตสาหกรรมใหม่ และลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในประเทศเพื่อแข่งขันทางเศรษฐกิจกับจีน

จีน – อำนาจขั้วที่ 3 ท้าทายระเบียบโลก

มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เคยออกมายอมรับผ่านการให้สัมภาษณ์ไว้ว่า โลกตอนนี้ไม่ใช่การนำเดี่ยวของสหรัฐฯ อีกต่อไปแล้ว แต่มีการเกิดขึ้นของ 3 ขั้วอำนาจ คือ อเมริกา, รัสเซีย และ จีน เป้าหมายสูงสุดของทรัมป์ 2.0 คือ ในโลกหลายขั้วอำนาจนี้ ขั้วอำนาจอื่นต้องไม่ท้าทายผลประโยชน์พื้นฐานของสหรัฐฯ และนี่คือนโยบายต่างประเทศแบบทรัมป์ที่เรียกว่า America First Foreign Policy ที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มากกว่าความร่วมมือระหว่างประเทศ

มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
(ที่มา : apnews.com)

“การที่รัฐมนตรีต่างประเทศ พูดแบบนี้มีนัยสำคัญมาก นี่เป็นการสะท้อนแนวคิดใหม่ของสหรัฐฯ ว่า ตนเองไม่ใช่ตำรวจโลก นักบุญโลก หรือผู้พยุงระเบียบโลกอีกต่อไปแล้ว เช่น การประกาศหยุดสนับสนุนทุนแก่ USAID จนกลายเป็นความปั่นป่วนทั่วโลก”

ผศ.อาร์ม ตั้งนิรันดร

การเกิดขึ้นของขั้วอำนาจที่ 3 อย่างจีน ที่ขึ้นมาท้าทายอำนาจเก่าอย่างสหรัฐฯ ทำให้ทรัมป์ 2.0 กำหนดเป้าหมายในการแข่งขันกับจีนอย่างชัดเจน


สก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ย้ำไว้ชัดเจนเช่นกันว่า มีความจำเป็นที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ใหม่ เพื่อให้มีเงินลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแข่งขันกับจีนให้มากขึ้น และยังต้องการยุติสงครามในยูเครน และตะวันออกกลางให้เร็วที่สุด เพื่อรื้อฟื้นฐานอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ กลับมา

สก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ
(ที่มา : www.wsj.com)

มีการวิเคราะห์จากนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ว่า เหตุที่มีนโยบายเช่นนี้ น่าจะเป็นไปเพื่อพุ่งเป้าสู่การแข่งขันกับจีนอย่างเต็มรูปแบบนั่นเอง

“ทั้งหมดนี้ สะท้อนแนวคิดปฏิบัตินิยม ทรัมป์เน้นการต่อรอง แลกผลประโยชน์เป็นหลัก มากกว่าจะมีแนวคิดแบบอุดมรณ์การนิยมในอดีต”

ผศ.อาร์ม ตั้งนิรันดร

สงครามการค้า (กลับมาอีกแล้ว)

เมื่อนึกถึงทรัมป์ ต้องนึกถึง สงครามการค้า แต่คำถามสำคัญ คือ ทรัมป์ 2.0 ในวันนี้ จะกลับไปเป็นหนังม้วนเดิมเหมือนกับสมัย ทรัมป์ 1.0 ในอดีตหรือไม่ ? ซึ่ง ผศ.อาร์ม ให้ความเห็นว่า ทรัมป์ทั้ง 2 สมัย มีความต่างกัน 2 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 : ไม่ใช่แค่คำขู่ แต่นี่คือของจริง

โดยวิเคราะห์ว่า ในครั้งนี้ สหรัฐฯ ไม่ได้เจรจาเพียงเพราะวางกลยุทธที่บีบให้ประเทศอื่น รวมทั้งจีนมาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เท่านั้น แต่ครั้งนี้ จะเป็นของจริงที่เปลี่ยนแปลงถึงรากฐานทางเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ และมีผลกระทบต่อไทย

ประเด็นที่ 2 : ขึ้นกำแพงภาษี เพราะทุกคนเอาเปรียบสหรัฐฯ ?

สมัย ทรัมป์ 1.0 อาจมองว่าสหรัฐฯ ถูกจีนเอาเปรียบทางการค้าจึงต้องจัดการ แต่รอบ 2.0 นี้ ทรัมป์มองว่า ทุกประเทศเอาเปรียบสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตร หรือศัตรู การขึ้นกำแพงภาษี และสงครามทางการค้าในครั้งนี้จึงไม่ได้มีเป้าหมายแค่ จีน อีกต่อไป แต่คือทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งไทยด้วย


สหรัฐฯ กำลังลดภาษีสินค้าที่ผลิตในประเทศอย่างหนัก หากสินค้ามีการผลิตภายในประเทศ จะไม่เจอกับกำแพงภาษี


การตั้งกำแพงภาษีในครั้งนี้ อาจไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการต่อสู้ทางการค้ากับจีนนัก เพราะจีนมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในไปมากแล้วเมื่อเทียบกับปี 2018 จีนลดการพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ ฐานการผลิตไม่ใช่ Made in China อีกต่อไป แต่คือ Made by china in maxico, vietnam และ Thailand ต่างหาก


ฉะนั้น ทรัมป์น่าจะมีจุดประสงค์ที่ลึกไปกว่านั้น คือ การรื้อฟื้นฐานการผลิตอุตสหกรรมในประเทศ

“ทีมงานทรัมป์บอกว่า ถ้ารถถังของสหรัฐฯยังมีชิ้นส่วนการผลิตจากจีน แปลว่าเศรษฐกิจไม่มั่นคง หรือที่ อิลอน มัส กล่าวว่า หากหน่วย research and development กับ ฐานการผลิตอุตสาหกรรม (โรงงาน) ยังอยู่คนละที่กัน (เช่น คิดค้นที่แคลิฟอร์เสีย แต่ผลิตที่เซิ่นเจิน) การพัฒนาทางวิทยมศาสตร์และเทคโนโลยีจะล่าช้า หากคิดและผลิตที่เซิ่นเจ้นเลยไปเลย ขั้นตอนการพัฒนาจะไปได้เร็วกว่า”

ผศ.อาร์ม ตั้งนิรันดร

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมทรัมป์ 2.0 จึงพยายามดึงเอาฐานการผลิตกลับมาในประเทศ ก็เพื่อให้พึ่งพาตัวเอง และแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับจีนได้นั่นเอง

จีน – เศรษฐกิจสองหน้า

หากมองมาที่สถานการณ์ในจีนตอนนี้ มีรายงานจากองค์การ Think tank บอกว่า จีนอยู่ในสภาวะ เศรษฐกิจสองหน้า คือ ด้านหนึ่งเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว แต่อีกด้าน คือ ความก้าวหน้าอย่างมหาศาลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


สถานการณ์จีนตอนนี้ ผศ.อาร์ม วิเคราะห์ว่า จีนกำลังเล่นเกมยาว เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อยู่ในขาลงของตัวเองให้ได้มากที่สุด ผ่านมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ และยังมองหาตลาดใหม่ทดแทนสหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มปิดตัวลง ในขณะเดียวกันก็ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในนั้นคือเรื่อง พลังงานสะอาด

“จีนให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องพลังงานสะอาด จีนมองว่านี่คือการปฏิวัติวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมยุคใหม่ วันนี้เราเห็นจีนผลิดอกออกผล และกำลังขึ้นมาเป็นผู้นำเรื่องพลังงานสะอาดของโลก”

ผศ.อาร์ม ตั้งนิรันดร

สงครามเทคโนโลยี : ศึก AI ใครกำลังเป็นผู้นำ ?

หากพูดถึง Tech War คนมักคิดว่า ศึก AI ระหว่างจีน และสหรัฐฯ เหมือน ศึกขนมชั้น สลับกันนำสลับกันตาม แบ่งได้ 5 ชั้น ดังนี้

ชั้นที่ 1 Application – แอปพลิเคชันที่ใช้ใน Smart city หรือ รถยนต์ไร้คนขับ จีนกำลังได้เปรียบ 

ชั้นที่ 2 Models – Generative AI สหรัฐฯ ได้รับการยอมรับมากกว่า

ชั้นที่ 3 Data – ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่ AI ต้องใช้ ซึ่งจีนอาจได้เปรียบเพราะมี Big data 

ชั้นที่ 4 Compute – พลังแห่งการประมวลผล (Computing Power) สหรัฐฯ อาจได้เปรียบเพราะมีชิปประมวลผลที่ดีที่สุด

ชั้นที่ 5 Energy – พลังงานสะอาด จีนได้เปรียบ 

ที่มา : www.goldmansachs.com

อย่างไรก็ตาม การมาถึงของ Deepseek ก็สร้างความตกใจไม่น้อยให้แก่สหรัฐฯ เพราะท้าทายความสามารถเรื่อง Computing Power ซึ่งแม้ว่าจีนไม่ได้มีชิปที่ดีที่สุด แต่การใช้เทคนิคทางวิศวกรรมที่ทำให้ AI มีประสิทธิภาพสูง และใช้ Open source model หรือ การผลิตแบบกระจายศูนย์ที่เข้าถึงทุกคน ทำให้การใช้ AI ในอุตสาหกรรมของจีนรวดเร็วมากขึ้น

“ในมุมของจีน ยุทธศาสตร์กำลังเปลี่ยนเงินลงทุนที่เคยไหลไปยังอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเป็นฐานเศรษฐกิจของจีน ไปยังวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่เป็นหัวใจเศรษฐกิจใหม่แทน และแม้ว่าเรื่องชิป จีนจะไล่ตามสหรัฐฯ ไม่ทัน แต่ยังมีอุตสหกรรมใหม่ ๆ ที่ทั้งสองเริ่มตั้งไข่พร้อมกัน”

ผศ.อาร์ม ตั้งนิรันดร

ศึกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดุเดือด : จีนรุก – อเมริกาเร่ง

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 ของจีน ถูกปล่อยออกมาเมื่อ มี.ค. 2564 ระบุว่า จีนกำลังลงทุนมหาศาลเพื่อให้ตนเองกลายเป็นผู้นำในอุตสหากรรมใหม่ต่าง ๆ เช่น AI, quantum , CI’s, fusion รวมถึง เศรษฐกิจดิจิทัล อย่าง Big Data, Smart City และ internet of thing (IoT)

“ตอนนี้ แม้เรื่องชิป (semiconductor) จีนอาจยังไม่สำเร็จเต็มร้อย แต่มีความสำเร็จชัดเรื่องอุตสาหกกรรมไบโอฟามาและพลังงานสะอาด ละยังทุ่มงบด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมต่อเนื่องปีละประมาณ 10%”

ผศ.อาร์ม ตั้งนิรันดร

หากอยากรู้ว่าการแข่งขันนี้ดุเดือดขนาดไหน ลองมาดูฝั่งสหรัฐฯ กันบ้าง…


มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Science Foundation (NSF) หน่วยงานรัฐบาลที่สนับสนุนงานวิจัยและงานด้านการศึกษาของสหรัฐฯ ได้งบบประมาณเพิ่มขึ้นจากรัฐบาล 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า


และมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเดียวกับจีน (จากข้อมูลข้างต้น) ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังลงทุนมหาศาลในเรื่องพลังงานสะอาดต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคของโจ ไบเดน


ในยุค โจ ไบเดน สหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายฉบับใหม่ ค้อ CHIPS Act of 2022 หรือที่มีชื่อเต็มว่า Creating Helpful Incentives to Produce Semiconductors for America Act (กฎหมายสร้างแรงจูงใจให้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพื่ออเมริกา) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ

พร้อมทั้งมีการเร่งสนับสนุนทุนจากรัฐบาล กว่า 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และภาคเอกชนกว่า อีก 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หนึ่งในงบประมาณที่รัฐบาลสหรัฐฯ ทุ่มทุน คือ NSTC Workforce Center for Excellence เนื่องจากสหรัฐฯ มองว่า ทักษะแรงงานที่รองรับเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Semi conductor และยังมีการทำ Tech Hub ในอีก 12 พื้นที่ในแต่ละรัฐใหญ่ของสหรัฐฯ ด้วย 


นี่จึงพอย้ำเตือนถึงการเข้าสู่ยุคที่การแข่งขันระหว่าง 2 มหาอำนาจใหญ่ของโลกดุเดือดอย่างไม่ต้องสงสัย

ไทยควรทำอย่างไร ในวิกฤตแรงกดดัน 3 บีบ

สงครามทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-อเมริกา ในครั้งนี้ อาจเป็นเรื่องดีสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย ที่พึ่งพากันและกันน้อยลง และต่างพึ่งพาตัวเองกันมากขึ้น

“บางแนวคิดบอกไว้ว่า หากมองในทางเศรษฐศาสตร์ ตอนนี้แทบทุกประเทศยากจนลง แต่สหรัฐฯอาจมองว่าเขาแย่น้อยที่สุด และจีนอาจมองว่าเขาทนได้ยาวนานที่สุด ไม่ว่าอย่างไร ดูเหมือนจีนกับสหรัฐฯจะดูแข็งแรงขึ้น ส่วนประเทศที่กำลังอ่อนแอลงคือประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายที่่ต้องเร่งปรับตัว รวมทั้งไทยด้วย”

ผศ.อาร์ม ตั้งนิรันดร

ผศ.อาร์ม อธิบายว่า หากย้อนไปในยุค ทรัมป์ 1.0 ไทยเองเคยได้รับผลประโยชน์จากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ในตอนนี้อาจไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว

“ในยุคสงครามการค้ารอบแรกนั้น จีนมีการลงทุนในไทยมหาศาล และไทยส่งออกไปสหรัฐฯได้มากขึ้น แต่ครั้งนี้ สหรัฐฯเริ่มกีดกันทางการค้าและขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย”

ผศ.อาร์ม ตั้งนิรันดร

วันนี้ โรงงานจีนจะยังมาที่ไทยอยู่ แต่เป้าหมายอาจไม่ใช่การใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ อีกต่อไปแล้ว แต่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อแข่งขันกันเองในประเทศไทย และตลาดอาเซียน ซึ่งคาดว่าต่อไปนี้ ไทยจะเผชิญจากแรงกดดัน 3 บีบ คือ

  1. ไทยไปลงทุนในตลาดสหรัฐฯยากกว่าเดิม – เนื่องจากการผลิตเกิดในสหรัฐ เพื่อตลาดภายในสหรัฐฯ

  2. สินค้าจีนทะลักมาไทยและอาเซียน – เนื่องจากสินค้าจีนถูกส่งออกมาสหรัฐฯหรือยุโรปยาก ทำให้การแข่งขันภายในประเทศดุเดือด สินค้าจากจีนจึงต้องกระจายออกมาที่ไทยแทน

  3. มีเศรษฐกิจที่ท้าทายกว่าเดิม – ยุคโลกาภิวัฒน์ที่เป็นอยู่หดตัวลงมากกว่าเดิม ทำให้ประเทศต่าง ๆ (รวมทั้งไทย) ที่มีสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมหาศาล
วิกฤตไทย เผชิญแรงกดดัน 3 บีบ

นี่อาจกำลังเป็นโลกใหม่ (New world) หรือ ยุคโลกาภิวัฒน์แบบใหม่ เรากำลังเห็นการรวมกลุ่มแบบใหม่ ๆ เป็นเศรษฐกิจที่ก้อนพายุหดตัวเล็กลงจากเดิม และ Supply chain ถูกแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ไม่มีการค้าขายแบบโลก Globalization ในอดีตอีกต่อไป 

“เราจะเห็นว่าโลกกำลังหมุนไปทางขวา เห็นกระแสการ anti-establishment เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์และเทคโนโลยีแบบ disruption ครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก ทุกวันนี้เราทุกคนกำลังรัดเข็มเตรียมนั่งโรลเลอร์โคสเตอร์ แล้วเราจะยังใช้กรอบคิดเดิม ถามคำถามแบบเดิมในโลกใบใหม่ได้อยู่อีกหรือ ? เราอาจต้องเปลี่ยนคำถามที่เคยมีว่าอยากจะรุ่งเรื่องที่สุดในยุค globalization หรืออยากเป็นส่วนหนึ่งใน supply chain ของโลกอย่างไร เป็นการทำอย่างไรให้เราแข็งแแกร่ง กลายเป็นลมปรานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แค่การส่งออกหรือท่องเที่ยวเหมือนก่อน”

ผศ.อาร์ม ตั้งนิรันดร

ทำอย่างไร ? ที่ไทยจะหาตลาดใหม่ที่ไม่ใช่แต่จีน และสหรัฐฯ ที่เคยเป็นตลาดหลักของเราเหมือนแต่ก่อน


ทำอย่างไร ? ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีใหม่ใน Supply chain ?


และทำอย่างไร ? ที่เราจะเห็นการรวมกลุ่มการค้าแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป-อาเซียน อาเชียน-อาเชียน หรือระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกัน


“เพราะทุกวันนี้ ปัจจัยเรื่องของ logistic ไม่ใช่การเชื่อมโยงระหว่าง North-south เข้าไว้ด้วยกันเหมือนในอดีต แต่เป็นการเชื่อมโยงยุโรปเข้ามาในเอเชียต่างหาก”

ผศ.อาร์ม ทิ้งท้าย