ฟังเสียง “ควาญ” ในวันอวสาน “ปางช้าง”

“ที่นามีเท่าไหร่ ตอนนี้ไปอยู่กับ ธ.ก.ส. จำนองไว้กับธนาคาร หมดแล้ว ถ้าไม่ทำแล้วจะเอาอะไรเลี้ยงช้าง…”  

ทิพย์ ยีรัมย์ ควาญช้างตกงาน หลังปางช้างใน จ.ภูเก็ต ปิดตัวจากวิกฤตโควิด-19

คงมีความอัดอั้นตันใจอีกหลายสิ่งที่อยากจะบอก แต่น้ำตาของ “ทิพย์ ยีรัมย์” ควาญช้าง วัย 55 ปี ก็ทำเอาบทสนทนา ไปต่อไม่ได้

เขานิ่งอยู่ครู่ใหญ่ เช็ดน้ำตา แล้วก็ใช้เวลาสั้น ๆ คุยกับเราต่อ ฆ่าเวลา ระหว่างรอรับกอต้นสับปะรด เอากลับไปให้ช้างกิน

เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด วิถี “คนเลี้ยงช้าง”

ควาญทิพย์ เล่าให้ฟังว่า เขาเกิดที่ บ้านตาทิตย์ ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ แต่ต้องจากบ้านไปทำมาหากินอยู่กับปางช้างที่ จ.ภูเก็ต มา 20 กว่าปี พร้อม ๆ กับช้างอีก 25 เชือก ที่ช่วยให้เขาและครอบครัวมีอยู่ มีกิน

เขาไม่คิดมาก่อนว่า รายได้หลักหมื่นต่อเดือน เงินเก็บอีกหลักแสน จะหายวับไปกับตา ภายในเวลาปีกว่า ๆ เพราะโควิด-19 การปิดภูเก็ต ทำให้เมืองทั้งเมืองไร้นักท่องเที่ยว ประตูปางช้าง ก็แทบปิดตาย

“ควาญทิพย์ ยีรัมย์” กับเพื่อนคู่ใจ “พังพูนทรัพย์” และ “พลายธันวา”

“ผมหวังทุกวันนะ สักวันปางช้างจะกลับมา แต่จนแล้วจนรอด จากที่ช้างเคยมีที่อยู่ ก็ต้องยอมออกมาจากปางช้าง เพราะเจ้าของ เขาก็คงเลี้ยงเรากับช้างไว้ไม่ไหวแล้ว จะกลับสุรินทร์ก็ยังไม่ได้ เลยต้องเช่าที่ดินให้พวกเขาอยู่กันไปก่อน เดือน ๆ หนึ่งก็ 20,000 บาท ไหนจะค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายของเราอีก เชื่อมั้ย ไม่ถึงปี เงินเก็บก็หมด นั่นแหละถึงได้เอาที่นาที่สุรินทร์ไปจำนองมาเลี้ยงช้าง”

พอไม่มีงานหลักที่ปางช้าง งานรับจ้างทุกอย่าง ควาญทิพย์ รับหมด จนสุดท้ายไปต่อไม่ไหว เลยตัดสินใจทยอยเอาช้างกลับสุรินทร์

พังพูนทรัพย์, พลายธันวา, พลายแก้วนิล และ พลายฟ้า คือช้าง 4 เชือกแรก ที่เอากลับบ้าน มาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เล่ามาถึงตรงนี้ ควาญทิพย์ ก็นิ่งปาดน้ำตาอีกรอบ เพราะเขาเพิ่งสูญเสีย “พลายแก้วนิล” และ “พลายฟ้า” เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว จนถึงตอนนี้ที่สุรินทร์ เหลือช้างเพียง 2 เชือกที่ดูแล ส่วนที่ยังอยู่ภูเก็ต ก็คงไม่เอากลับมาแล้ว เขาตั้งใจรอจนกว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา และเขาก็พร้อมจะกลับไปสู้อีกรอบ

ดิ้นทุกทาง เพื่อ “ช้าง” อิ่ม

วันนี้ อย่างน้อย ๆ ช้าง 152 เชือก ที่ตกงานกลับบ้านมาพร้อม ๆ กับควาญทิพย์ จากหลายหมู่บ้านใน ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ และ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ คงมีอาหารประทังไปได้อีกมื้อ เมื่อมีคนใจบุญบริจาคเงินซื้อกอสับปะรดเลี้ยงช้าง ให้ถึง 3 คัน รถหกล้อ

เพราะเดือดร้อนกันทั้งหมด จึงมีข้อตกลงร่วมกัน ไม่ว่าจะได้บริจาคอาหารมาเท่าไหร่ ก็ต้องแบ่งให้เท่า ๆ กัน อย่างรอบนี้ เฉลี่ยแล้วควาญแต่ละคน ได้เอากอสับปะรดกลับไป 40 ต้นต่อช้าง 1 เชือก แน่นอนคงไม่ทำให้อิ่ม แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีกิน

ควาญช้างทยอยรับกอต้นสับปะรดที่คนใจบุญนำมาบริจาค เพื่อประทังชีวิตช้าง

“วิระวิช ภาคพรม” คือ ควาญหนุ่มอีกคน ที่ตกงานกลับมาจากภูเก็ต เขายอมรับ ทุกวันนี้เงินว่าหายากแล้ว อาหารช้างยังหายากกว่า ดีที่ใน 1 สัปดาห์ ยังมีคนใจบุญมาบริจาคให้ แต่มันก็ไม่พอ

“ตอนนี้ในหัวไม่ต้องคิดอะไรเลย นอกจากคิดอย่างเดียวว่า ตื่นเช้ามาจะหาอาหารจากที่ไหนให้ช้างกิน บางวันต้องยอมตระเวนขับรถไปหาซื้อหญ้าถึงบุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และ ศรีสะเกษ”

วิระวิช ภาคพรม ควาญช้างตกงาน

“บางครั้งก็รวมกลุ่มกัน ลงขันซื้ออ้อย, สับปะรด, กล้วย จ้างรถขนมาให้ เต็มรถหกล้อ ประมาณ 8 ตัน ค่าส่งก็เที่ยวละ 12,000 บาท ถ้ารถสิบล้อ ค่าส่งก็แพงขึ้นหน่อยเป็น 15,000 บาท แม้ว่าในพื้นที่กำลังถึงหน้าเกี่ยวข้าว จะรอซังข้าวมาให้ช้าง ก็เจอน้ำท่วม ปลูกหญ้าไว้บางพื้นที่ก็ไม่รอด จมน้ำหมด”

ช้าง(น้อย) เยียวยาใจ ในวันสิ้นหวัง

บนความทุกข์ใจของหลาย ๆ คน กลับมีสิ่งเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น พอช่วยเยียวยาจิตใจ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่บรรดาควาญช้าง และผู้คนที่บ้านตราด ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์

“น้องลิซ่า” ช้างน้อยแรกเกิด อยู่ไม่ห่าง “แม่โบว์” ช้างพัง วัย 15 ปี

กลางดึกคืนวันออกพรรษา (21 ต.ค. 64) “แม่โบว์” ช้างพังวัย 15 ปี ตกลูก ช้างน้อยเพศเมีย ที่ลืมตาดูโลก “จักรี บุญเจริญ” ควาญช้างตั้งชื่อให้ว่า “สุพรรษา” และถือโอกาสเรียกชื่อเล่นว่า “น้องลิซ่า” ตามชื่อนักร้องดังระดับโลก ขวัญใจชาวไทย และคนบุรีรัมย์

“น้องลิซ่า” ทำให้โรงเลี้ยงช้างที่เงียบเหงากลับมาคึกคัก คนเกือบทั้งหมู่บ้าน ควาญช้างจากหลายพื้นที่ มาเพื่อรับพลังใจ และรอยยิ้มจากความน่ารัก ไร้เดียงสาของช้างน้อย กลับไป

“สุพรรษา” หรือ “น้องลิซ่า” ช้างน้อย ขวัญใจควาญ และชาวบ้าน

“น้องลิซ่า เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับโควิด เพราะแม่โบว์ ตั้งท้องมาก็ 21 เดือน ตั้งแต่ยังอยู่ปางช้างที่พัทยา ทุกคนเฝ้ารอวันนี้ แม้เกิดมาในช่วงที่ต่างคนต่างก็ลำบาก ทั้งคนทั้งช้างตกงาน แต่ยังไงน้องลิซ่าก็คือสมาชิกใหม่ของครอบครัว เราต้องดูแลให้ดีที่สุด”


“คนยังอดได้ แต่ช้างต้องกินอิ่ม” คงไม่ใช่แค่คำพูดเล่น ๆ ในสถานการณ์นี้ เมื่อช้างและคน ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน ด้วยความผูกพันที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

วิกฤตที่คนเลี้ยงช้างกำลังเผชิญ พวกเขาจึงหวังเพียงส่งเสียงสะท้อนให้ภาครัฐมองเห็นปัญหา และช่วยเยียวยา ไม่ต่างจากอาชีพอื่น เพื่อทำให้คำว่า “สัตว์คู่บ้านคู่เมือง” มีความสำคัญ และสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับ “ช้างไทย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น