‘Manifest’ ตั้งปณิธานปีใหม่แบบไม่เพ้อฝัน…แต่เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์

ก่อนลาจากแต่ละปี เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พจนานุกรมเจ้าดังหลายแห่งจะประกาศ “คำศัพท์แห่งปี” ที่สะท้อนถึงปรากฏการณ์ และแนวโน้มของสังคมในช่วงปีที่ผ่านมา

สำหรับปี 2024 นี้ Oxford Dictionary ได้คัดเลือกคำว่า “Brain Rot” หรือ ภาวะสมองเน่า เป็นคำศัพท์แห่งปีนี้ อันเกิดจากการเสพคอนเทนต์ไร้สาระมากเกินไปในโลกออนไลน์

ท่ามกลางการสะท้อนภาพวิกฤตของภาวะข้อมูลขยะท่วมท้นหน้าจอ พจนานุกรมดังอีกค่ายอย่าง Cambridge Dictionary ได้เลือกให้คำว่า “Manifest” เป็นคำศัพท์แห่งปีที่สะท้อนถึง กระแสการตั้งเป้าหมายในชีวิตและการใช้พลังจินตนาการเพื่อความสำเร็จ

แล้ว Manifest คืออะไร ? เหตุใดจึงเป็นคำที่ถูกค้นหาและใช้งานอย่างมากในปีที่ผ่านมา ?

The Active ชวนย้อนตั้งคำถามส่งท้ายปี 2024 ไปกับ ศรศวัส มลสุวรรณ นักคิด นักเขียนเจ้าของเพจ “คิดมาก” และ “Manifest ศาสตร์” ว่า ศาสตร์นี้จะเป็นได้จริงมากน้อยแค่ไหน เกี่ยวข้องอย่างไรกับการตั้งปณิธานปีใหม่ หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่เรื่องราวงมงายเพ้อฝันของผู้คนในยุคสมัยที่ต้องจมอยู่กับคอนเทนต์บั่นทอนปัญญา จนต้องพึงพาจินตนาการให้พาไปถึงความฝันทั้งที่ยังจับต้องไม่ได้กันแน่

Manifest คืออะไร ?

ตลอดปี 2024 ที่ผ่านมานี้ คำว่า Manifest (เมนิเฟส) ถูกพูดถึงหนาหู โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ กลายเป็นเทรนด์ในต่างประเทศรวมทั้งไทย เราจะเห็นคลิปวิดีโอมากมาย ที่เหล่าอินฟลูฯ ออกมาแชร์ว่าตนเองได้ตั้งจิตถึงบางสิ่งบางอย่างที่ปรารถนา และท้ายที่สุดก็สามารถดึงดูดสิ่งเหล่านั้นเข้ามาในชีวิตได้ตามต้องการ มีผู้เสพคอนเทนต์ต่างหลงใหลและพากันค้นหาวิธีการเพื่อทำตามมากมาย จน Cambridge Dictionary ยกให้ “เมนิเฟส” เป็นคำแห่งปี ฟังแค่นี้อาจดูเหลือเชื่อ และเพ้อเจ้อไปเสียหน่อย แต่แท้จริงแล้ว เมนิเฟส เป็นมากกว่านั้น

“เมนิเฟส คือวิธีการสร้างชีวิตของเราให้เป็นไปตามเป้าหมาย ผ่านการลงมือทำ นี่ไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่ถูกพูดถึงมานานแล้วในต่างประเทศ มีนักประสาทวิทยาทางสมองหลายท่าน เช่น ดร.ทารา สวอร์ต (Tara Swart)  หรือ ดร.เจมส์ อาร์. โดตี (James R. Doty) ที่ศึกษาค้นคว้าและพบว่า สมองของเราเป็นสิ่งที่มีพลังงานสูงมาก สิ่งใดที่สมองจินตนาการได้จนเสมือนว่าเกิดขึ้นจริง จะสร้างพลังงานบางอย่างที่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้

นี่คือสิ่งที่ ศรศวัส ให้คำจำกัดความ พร้อมทั้งอธิบายว่า เมนิเฟสมักถูกตีความว่าเป็นไสยศาสตร์ หรือ มูเตลู แต่ที่จริงแล้วเป็นการหลอมรวมกันของวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาต่างหาก

ในแง่ ประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) เชื่อว่า สมองของมนุษย์มีความยืดหยุ่น สามาถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิตผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์ ฉะนั้น การเตรียมสมองที่ขจัดความคิดบั่นทอนจิตใจ จะช่วยให้สมองเปิดรับโอกาสและนำไปสู่การปรับพฤติกรรมได้ และการปรับพฤติกรรมนี้เองที่เปรียบเสมือนยอดอาชาที่จะพาอัศวินมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายตามที่ต้องการ

ศรศวัส มลสุวรรณ 
นักคิด นักเขียน เจ้าของเพจ “คิดมาก” และ “Manifest ศาสตร์”

“อธิบายอย่างง่าย เมนิเฟสคือขั้นตอนที่นำเราไปสู่เป้าหมาย เราอาจเคยได้ยินแนวคิดเรื่องกฎแรงดึงดูดที่ชื่อว่า เราคิดแบบไหน คบหาคนแบบไหน ชีวิตก็จะดึงดูดเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในแบบเดียว ฉะนั้น หากเราคิด รู้จัก หรือมองเห็นสิ่งใด ชีวิตจะดึงดูดให้พบเจอสิ่งนั้นเสมอ นั่นเพราะธรรมชาติของสมองเราจะไปจับโฟกัสกับสิ่งที่เราสนใจ หากกฎแรงดึงดูดคือวิธีคิด เมนิเฟสคือการลงมือทำ”

“เช่น คุณผ่านถนนเส้นหนึ่งทุกวัน คุณอาจไม่เคยสังเกตเห็นร้านก๋วยเตี๋ยวนี้เลย แต่วันหนึ่งเมื่อคุณได้เลี้ยวรถเข้าไปแล้วนั่งกิน จากนั้นไม่ว่าคุณจะผ่านเส้นทางนี้อีกกี่ครั้ง ก็จะมองเห็นร้านก๋วยเตี๋ยวนี้เสมอ แบบนี้เรียกว่ากฎแรงดึงดูด แต่ เมนิเฟสคือการบอกว่า ถ้าคุณต้องอยากไปกินก๋วยเตี๋ยวนี้ทุกวัน คุณต้องเดินทางไปยังไง”

นักเขียนผู้ศึกษาด้านเมนิเฟส อธิบาย

4 ขั้นตอนสู่ปณิธานแห่งปรารถนา

 ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ความจริงหนึ่งเดียวนั้น อาจไม่ได้จริงตลอดไป”

ในช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่แบบนี้ เมนิเฟส ถูกนำมาพูดกันอย่างหนาหูอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ปณิธานหรือเป้าหมายในปีถัดไปสำเร็จเป็นจริงได้เสียที

ก่อนหน้านี้ The Active  ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผ่าน Zocial Eye ระหว่างวันที่ 23 มิ.ย. – 29 ธ.ค. 67 พบว่าผู้คนในโลกออนไลน์พูดถึง เมนิเฟส มากถึง 2,928 ข้อความ มีจำนวนมากถึง 529,210 Engagement และถูกพูดถึงมากที่สุดใน X 82.62% และสำหรับเมนิเฟสแล้วผู้คนในโลกออนไลน์ พูดถึงอะไรบ้าง ? สิ่งที่ค้นพบ คือ เรื่องความรัก 48% สุขภาพ 28% และการเงิน 24%

ศรศวัส อธิบายว่า ศาสตร์ของเมนิเฟสเปรียบเสมือนตำราเล่มใหญ่ที่ไม่ได้สอนให้เราหลีกหนีความจริง แต่คือการลงมือทำเพื่อความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่จะสร้างความจริงใหม่ด้วยตัวเราเอง เมนิเฟสมีวิธีการหลายแบบ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การสวดอ้อนวอนภาวนา แต่คือวิถีปฏิบัติที่ปุถุชนทั่วไปสามารถทำได้จริงในชีวิตประจำวัน และนี่คือขั้นตอนบางส่วนที่เราสามารถทำตามได้ง่าย ๆ

เนื้อหาบางส่วนจาก MANIFEST 7 STEPS TO LIVING YOUR BEST LIFE 
โดย Roxie Nafousi

ขั้นตอนที่ ตั้งปณิธานให้หาญกล้า

“เมนิเฟส คือ การพาให้เราย้อนกลับไปถามตัวเองอย่างจริงจัง ถึงเป้าหมาย ความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงนของเราอีกครั้ง ว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นเป้าหมายของเราจริง ๆ หรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่เป้าหมายของคนอื่น” 

ขั้นตอนนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด เพราะการถามตัวเองว่าความปรารถนาที่ลึกที่สุด จริงแท้ที่สุดของเรานั้นคืออะไร และขอให้นึกถึงมันซ้ำ ๆ สมองเราจะโฟกัสกับสิ่งนั้น คัดกรองข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องออก ให้เหลือแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา และตอบสนองด้วยการปรับพฤติกรรมจนนำไปสู่เป้าหมาย

“หากยากเกินไป ให้ลองนึกถึงว่าการมีชีวิตแบบไหนที่ทำให้เรามีความสุข แล้วนึกให้ชัดเจนลงไปอีกว่า องค์ประกอบอะไรบ้างที่ทำให้เราจะมีชีวิตเช่นนั้นได้ เช่น เราต้องเป็นคนแบบไหน ตื่นมาพบเจอหน้าใคร อยู่ในที่แบบไหน ออกเดินทาง หรือมีรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไร ภาพแบบไหนกันแน่ที่รองรับการรู้สึกมีความสุขเขาเรา”

ศรศวัส ขยายความ

ขั้นตอนที่ กล้ามีความหวัง อย่าหวั่นไหว อย่าแคลงใจ อย่าสงสัยในตัวเอง

อนุญาตให้ตัวเองกล้าฝัน กล้าหวังถึงเป้าหมาย ปรับความรู้สึกให้เป็นบวก กำจัดอารมณ์เชิงลบ หากกังขาสงสัย หรือรู้สึกไม่มั่นใจหรือรู้สึกว่าเราไม่ดีพอที่จะได้รับก็ไม่เป็นไร แต่ให้ค่อย ๆ แก้ไขโดยระบุความกลัวหรือสิ่งติดค้างในใจให้ชัดเจน 

ศรศวัส แนะนำวิธีง่าย ๆ ผ่าน การเขียน เพราะการรู้สึกขอบคุณ และให้อภัยจะช่วยให้ปล่อยวางได้ง่ายขึ้น

“การขอโทษคือการทำให้เราปลดปล่อยตัวเองจากอดีต ให้อภัยกับตัวเองจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น และมองตัวเองในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งที่ผิดพลาดได้ ขอให้ยอมรับข้อผิดพลาดนั้นและปล่อยมันออกไป อีกสิ่งที่สำคัญคือ การชื่นชมตัวเอง สิ่งนี้จะทำให้เรากลับมามองเห็นคุณค่าของตัวเอง ซึ่งเป็นกุญแจบานแรกที่จะไขไปสู่การรักตัวเองได้อีกครั้ง และเชื่อว่าตัวเราสมควรได้รับสิ่งดีที่เราปรารถนา”

ศรศวัส เน้นย้ำ

ขั้นตอนที่ “Fake it til you make it”  แกล้งทำมันไป จนกว่าคุณจะกลายเป็นสิ่งนั้น

ขั้นตอนนี้ ศรศวัส เชื่อว่า ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญแห่งการบรรลุเป้าหมาย นั่นคือการ ปรับพฤติกรรม ขอให้ลองคิดจริงจังกับเป้าหมาย ว่าพฤติกรรมแบบไหนที่นำเราไปสู่สิ่งนั้น แล้วปรับให้กลายเป็นนิสัย นำไปผนวกกับกิจวัตรประจำวัน และทำอย่างต่อเนื่อง อาจเริ่มจากเขียนแนวปฏิบัติในชีวิตประจำวัน 2-3 ข้อ แล้วทำต่อเนื่องกัน 60 วัน จากนั้นค่อยเพิ่มขึ้นเมื่อพร้อม

“คุณไม่สามารถไปถึงเป้าหมายด้วยการคิดถึงมันแต่อย่างเดียว แต่คุณต้องปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสิ่งที่คุณอยากเป็นด้วย เช่น ผมตั้งเป้าหมายปีนี้แล้วว่าอยากลดน้ำหนัก ผมก็ปรับอารมณ์ให้เป็นบวก มุ่งมั่น และเชื่อว่าตัวผมเองต้องทำได้แน่ ๆ จากนั้นผมก็ต้องปรับพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย เพราะคิดเสมือนว่านี่คือพฤติกรรมของคนที่มีน้ำหนักลดลงแล้วจริง ๆ

ศรศวัส อธิบาย

ขั้นตอนที่ 4 อดทน วางใจ…กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในคืนเดียว

หากไปเปิดตำราเมนิเฟส เราอาจได้ยินถึงคำว่า จักรวาล อยู่บ่อย ๆ แต่แท้จริงแล้ว จักรวาลจะเป็นอะไรก็ได้ รวมทั้ง ตัวเรา เองด้วย หากเราลงมือทำมันอย่างดีแล้ว ในขั้นตอนนี้ก็ขอให้เชื่อมั่นในตนเอง อดทน รอเพียงแค่รอจังหวะเวลาอันเหมาะสม (Divine Timing) กระบวนการแห่งการรอคอยนี้ ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าขั้นตอนก่อนหน้าเลย เพราะจะทำให้เรามีสติกับปัจจุบันและนำไปสู่จิตใจที่เข้มแข็งเมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นดั่งใจ

“ผมคิดเสมอว่าขั้นตอนนี้คือการ ‘trust the universe’ ไม่ว่าจักรวาลของคุณจะเป็นอะไร ขอให้อดทนและไว้วางใจและยอมรับผลของมัน” 

ศรศวัส สะท้อนมุมมอง

นักเขียนผู้ศึกษาด้านเมนิเฟส ยังอธิบายด้วยว่า โดยปกติแล้ว ผลที่จะเกิดขึ้นมี 3 แบบ คือ “เป็นน้อยกว่าที่เราฝัน”, “เป็นมากกว่าที่เราฝัน” และ “เป็นเท่าที่เราฝัน” แน่นอนว่าแบบสุดท้ายมีความเป็นไปได้น้อยที่สุด หากเมนิเฟสแล้วไม่ได้สิ่งที่ต้องการทั้งหมด นั่นอาจะเพราะสิ่งนั้นไม่ได้เหมาะสมกับเราจริง ๆ แต่อย่างน้อยจะได้บางสิ่งติดตัวมาด้วยเสมอ ไม่มากก็น้อย

“ตอนเด็ก ๆ ผมมีความฝันอยากเป็นนักเขียนนวนิยาย ผมเพียรพยายาม ตั้งเป้าหมายแน่วแน่ เคยพยายามส่งต้นฉบับหลายครั้ง แต่สุดท้าย งานก็ถูกโยน ‘ลงตะกร้า’ หรือถูกปฏิเสธทุกครั้งไป ผมเคยกลับมาถามตัวเองเหมือนกัน ว่าความพยายามมันสูญเปล่าไหม แต่สุดท้ายแล้ว มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ตอนนั้นผมหวังอยากเป็นนักเขียนที่มีนวนิยายพิมพ์ออกมากสักเล่ม แต่วันนี้ผมก็กลายเป็นนักเขียนในแง่มุมอื่นที่ออกหนังสือ 35 เล่ม ถามว่าตรงเป้าหมายในวันนั้นไหม ก็ไม่ตรงอย่างสิ้นเชิง แต่ชีวิตเราก็เป็นแบบนี้แหละ บางทีที่เรายังไม่ได้ในเป้าหมายที่เราต้องการ อาจะเพราะมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่และคู่ควรกว่ารอเราอยู่ก็เป็นได้”

ศรศวัส อธิบาย

ทำไม ? ‘Manifest’ กลายเป็นเทรนด์โลก

เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วน สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ สงคราม โรคระบาด และภัยพิบัติในโลกแห่งความเป็นจริง และยังเต็มไปด้วยเรื่องราวอีกสารพัดทั้งจริงและไม่จริงในโลกออนไลน์ เมนิเฟสอาจเป็นเครื่องมือเชิงบวกที่ทำให้ผู้คนหันกลับมารู้เท่าทันตนเอง ตั้งมั่นกับเป้าหมายกับสิ่งที่ตนเองต้องการจริง ๆ ผ่านการลงมือปฏิบัติที่ไม่ใช่เพียงแค่ความเพ้อฝันหรือรอคอยวาสนา

“ทุกวันนี้ทั่วโลกกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่าน สังคมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ไม่ได้เป็นไปในเชิงบวกนัก โดยเฉพาะสังคมเมืองที่โดดเดี่ยว เช้าแต่ละวัน เราไปเรียน ไปทำงานเหมือนเดิมทุกวัน เจอเพื่อนร่วมงานที่น่ารักบ้าง ไม่น่ารักบ้าง ตกเย็นก็กลับบ้านแล้วอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ไม่เจอใคร เราใช้ชีวิตวันต่อวันโดยลืมไปว่าความฝันหรือเป้าหมายของเราจริง ๆ คืออะไร ชีวิตที่เหลือมีแต่ความหดหู่ สุขภาพจิตก็ย่ำแย่ คนจำนวนมากจึงต้องการแสวงหาหนทางและวิธีการเยียวยาตัวเองเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม และเมนิเฟสเข้ามาตอบโจทย์นี้”

ศรศวัส สะท้อนภาพความจริง

ศรศวัส ย้ำชัดว่า ด้วยสภาพสังคมที่ทำให้ผู้คนขาดที่พึ่งเช่นนี้ ไม่น่าแปลกใจที่คนจำนวนหนึ่งเลือกเข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือมูเตลูแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล เมนิเฟสเองก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ต่างออกไป

“เมนิเฟสไม่ได้บอกให้เราอ้อนวอนขอร้องต่อสิ่งที่สูงส่งกว่าแต่อย่างใด แต่คือการย้อนมามองเป้าหมายตัวเราเอง ไว้วางใจ เชื่อมั่น และศรัทธาในความสามารถของตัวเราว่าจะสามารถหลุดพ้นจากชีวิตที่ไม่ดี และไปสู่การมีชีวิตที่เราต้องการได้จริง ๆ ผมจึงนิยามว่ามันคือมนุษยนิยมรูปแบบหนึ่ง”

“และในทางจิตวิทยา นี่คือการมีแนวคิดแบบ Growth Mindset ที่เชื่อมั่นว่าศักยภาพของตัวเองไม่มีที่สิ้นสุด และพัฒนาได้อย่างไม่มีขีดจำกัด สิ่งที่เราเป็นวันนี้ไม่ใช่จุดสุดท้ายของชีวิต แต่เรายังเป็นคนที่ดีขึ้น เก่งขึ้นได้อีกไม่ว่าด้านหนึ่ง”

ศรศวัส สะท้อนมุมมอง

สิ่งที่หวังจะไม่ใช่แค่ฝันอีกต่อไป – ตั้งปณิธานปีใหม่ด้วย Manifest 

ถึงตรงนี้ ธรรมเนียมยอดนิยมวันสิ้นปีคงหนีไม่พ้นการตั้งปณิธานปีใหม่ แต่จะมีสักกี่คนที่ทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย ศรศวัส บอกกับเราว่า ก่อนจะเขียนเป้าหมายในปีหน้าลงไป ให้ลองหันมาทบทวนบทเรียนปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปศึกษาอดีต มีสิ่งใดที่เราได้เรียนรู้และเติบโต อะไรที่ทำให้เป้าหมายเราไปไม่ถึงฝัน จากนั้นให้กำจัดปัจจัย 2 ข้อ ปณิธานปีใหม่จะไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป

  • ปัจจัยแรก คือ เรามองไม่เห็นเป้าหมายที่ชัดเจนพอ เรามักตั้งเป้าหมายที่ ความอยาก เช่น อยากมีความสำเร็จ แต่กลับไม่รู้ว่าอะไรคือความสำเร็จของเรา นี่คือสิ่งแรกที่คุณต้องรู้

  • ปัจจัยที่สอง คือ เราไม่อดทน และไว้วางใจในเป้าหมายนั้นนานพอ เช่น ผ่านไป 3 เดือนแล้ว น้ำหนักไม่ลด คนส่วนใหญ่ก็ถอดใจ นั่นเพราะคุณเชื่อมั่นในตัวเองไม่มากพอ

เขาแนะนำว่า ให้ลองตั้งเป้าหมายระยะสั้น กลาง ยาว (3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี) พร้อมทั้งคอยกลับมาทบทวนเป้าหมายใหม่เรื่อย ๆ ว่ายังเดินมาในเส้นทางที่ถูกต้องหรือเปล่า และอาจจะพบว่า เราอาจไม่จำเป็นต้องมีปณิธานปีใหม่ทุกปีก็ได้ 

“คุณอาจตั้งเป้าหมายชีวิตอย่างดี แต่ระหว่างทางกลับมีอุปสรรคจนอยากจะล้มเลิก ขอให้รู้ว่าชีวิตมีจังหวะเร่ง และจังหวะหน่วง ขอให้อดทนรอจนผ่านจุดที่แย่ที่สุด น่าอึดอัดที่สุด น่าเบื่อที่สุดไปให้ได้ เพราะไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในวันนี้จะหนักหนาสาหัสเพียงใด สุดท้ายแล้ว เวลาจะทำให้มันกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย และเรื่องเพียงเล็กน้อยพวกนี้ไม่สามารถทำให้คุณสูญสิ้นศรัทธาการมีชีวิตที่ดีตามที่คุณเคยตั้งปณิธานเอาไว้ได้ ไม่ว่าจะตอนปีใหม่ หรือวันใหม่ก็ตาม”

ศรศวัส ทิ้งท้าย

สุดท้ายไม่ว่าเราจะเรียก เมนิเฟส ว่าอะไรก็ตาม แต่อย่างน้อย นี่คือวิธีการง่าย ๆ เพียงไม่กี่ขั้นตอนที่ทำให้เรา หันกลับมาทบทวนเป้าหมาย จัดระเบียบสุขภาพร่างกาย จิตใจ และเรียกคืนความศรัทธาในตัวเองกลับมาอีกครั้ง

และการทำเมนิเฟส ไม่จำเป็นให้รอถึงปีใหม่ในเดือนมกราคมของทุกปีก็ได้ เพราะ “ทุกวันพรุ่งนี้” ก็สามารถเป็นปีใหม่ของเราได้เสมอ เท่าที่เราต้องการ