“บางคนเรียกเขาว่า เงาะป่า บางคนก็เรียกว่า ซาไก แต่ทั้ง 2 คำ พวกเขาไม่ชอบและไม่อยากให้เรียก เพราะเขามีความรู้สึกเหมือนโดนล้อเลียน โดนดูถูก ดูแคลน และแปลกแยกไปจากสังคม”
เป็นประเด็นแรกที่ ‘อ.ต้น’ – อภินันท์ ธรรมเสนา’ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เปิดบทสนทนากับ The Active เพื่ออธิบายถึง ‘กลุ่มชาติพันธุ์มันนิ’ แล้วชวนเราไปทำความรู้จัก ว่า มันนิ หรือ มานิ คือใคร?
อาจารย์ต้น บอกว่า จริง ๆ แล้วในความหมายของคำว่า ‘มันนิ’ หรือ ‘มานิ’ แปลว่า ‘มนุษย์’ ดังนั้นการที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า มันนิ ก็เท่ากับเรียกตัวเองว่าเป็นมนุษย์นั่นเอง
มันนิ อาจเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไม่กี่กลุ่มในประเทศไทย ที่ยังดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมจริง ๆ คือการหาของป่า ล่าสัตว์ และอยู่ในพื้นที่ป่าจริง ๆ ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีรูปแบบวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่อาศัยในแถบภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด’ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดตรัง, สตูล, พัทลุง และ สงขลา มีประชากรโดยประมาณ 300 คน
ส่วนมันนิ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดยะลา และนราธิวาส ในพื้นที่ป่าของเทือกเขาสันกาลาคีรี มีอยู่ประมาณ 439 คน ซึ่งกลุ่มมันนิ ในพื้นที่ชายแดนใต้กลุ่มนี้ มักถูกเรียกว่า ‘โอรังอัสลี’ (Orang Asli) หมายถึง ‘ชนพื้นเมืองดั้งเดิม’ (aborigines)
“การตั้งถิ่นฐานของชาวมันนิ จะเคลื่อนย้ายในบางช่วงเวลา แต่มีข้อสังเกตว่า เวลาพวกเขาเคลื่อนย้าย ไม่ใช่ในลักษณะการเร่ร่อน หรือเป็นกลุ่มคนเร่ร่อนนะ เพราะเราเจอระบบการเคลื่อนย้ายไป และจะกลับมาที่เดิมในบางช่วง เป็นการเคลื่อนย้ายตามฤดูกาล พืชพันธุ์อาหาร ช่วงเวลานี้อาจจะอยู่ตรงนี้ ช่วงเวลาหนึ่งก็มาอีกจุดหนึ่ง และแลกเปลี่ยนระหว่างเครือญาติกัน จะเดินทางข้ามกันไปมาระหว่างประเทศไทย กับมาเลเซียบ้าง แต่ว่าลักษณะการอยู่เป็นเครือญาติ อยู่เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่อยู่ในแถบนี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่บริเวณแถบนี้มานานมาก มีวัฒนธรรมแบบพื้นฐานของกลุ่มชนที่อยู่ในป่า”
มันนิ กับองค์ความรู้ในทุกมิติของป่า
ระบบคิด และองค์ความรู้ของมันนิ เป็นอีกเรื่องที่อาจารย์ต้น ชวนให้ติดตาม เพราะพวกเขารู้เรื่องป่าในทุกมิติ สภาพป่าแบบนี้จะเป็นยังไง? อาหารในป่าอะไรกินได้กินไม่ได้? พวกเขายังทำนวัตกรรมพื้นฐานเกี่ยวกับการล่าสัตว์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และยังมีความสามารถผลิตอาหารจากป่าได้ เช่น การเก็บหัวเผือก หัวมัน
“เขามีความรู้มาก ถ้าไปถามมันนิ จะเจอหัวมันเป็นร้อยชนิด มองด้วยสายตา คนเราอาจจะเข้าใจว่ามี 2-3 ชนิด แต่มันนิเขาจะแยกได้ชัดเจนมาก”
‘ศาสตร์การรักษาโรค’ ยังเป็นอีกเรื่องที่น่าทึ่ง ถึงขนาดว่าช่วงหลัง ๆ มานี้ เริ่มมีการวิจัย ยาที่มันนิใช้เป็นประจำ ว่ามีสรรพคุณเทียบเท่ากับการแพทย์สมัยใหม่อย่างไร ทำให้เห็นว่า ความรู้ ภูมิปัญญาของมันนิมีอยู่ทุกที่ในป่า แต่สิ่งที่ อาจารย์ต้น กังวลคือ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปิดใจ และมองว่าพวกเขาล้าหลัง เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในป่า เข้าไม่ถึงความเจริญ นี่เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพของมันนิ ถูกยึดโยงอยู่ในเรื่องของความเป็นคนป่า ถูกมองว่าเป็นคนไม่ทันสมัย เป็นคนไม่รู้เรื่องอะไร และจับเขามาล้อเลียนเป็นพวกเงาะป่า เป็นพวกซาไก จนบางครั้งเท่ากับการไปละเมิดดูถูก ดูแคลนเขาโดยที่เราไม่ตั้งใจ
โลกภายนอก กับ อคติต่อมันนิ
เมื่อมันนิ ถูกมองไม่ต่างจากกลุ่มคนที่ขาดโอกาส เขาไม่ถึงความเจริญ สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพของมันนิ กลายเป็นอคติที่คนส่วนใหญ่มอง ซึ่งอาจารย์ต้น สะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ผ่านอคติที่มองการดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม พวกเขาไม่ใส่เสื้อผ้ามิดชิดแบบคนในเมือง ไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องหากินด้วยการล่าสัตว์ ทำให้ผู้คนมองว่า พวกเขาต้องได้รับการช่วยเหลือ แต่เป็นกระบวนการช่วยเหลือที่ทำให้รู้สึกว่าเหนือกว่า รูปแบบวิธีการจึงไม่ต่างจากการสงเคราะห์
“เอาเสื้อผ้าไปให้ เอาขนมไปให้ เอาของบริจาคไปให้ ซึ่งก็เป็นการตั้งใจดีนั่นแหละ แต่อีกด้านหนึ่ง กลับไปลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเขาเหมือนกัน แทนที่เราไปส่งเสริมศักดิ์ศรี ส่งเสริมศักยภาพเขา แต่เราใช้วิธีคือว่า เอาล่ะเราเอาของไปบริจาคเขา ซึ่งของบางอย่างที่เอาไปให้เขา ก็ไม่มีความจำเป็น ถ้าลองไปดูของบริจาคที่ส่งไป บางครั้งเราเจอพวกรองเท้าส้นสูง เสื้อผ้าขนสัตว์หนา ๆ ซึ่งใช้ไม่ได้จริงในวิถีชีวิต “
การช่วยเหลือที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับการบริจาคสิ่งของเท่านั้น อาจารย์ต้น บอกว่า ในยุคสมัยหนึ่ง รัฐบาลเองก็เคยหวังดีด้วยความพยายามตั้ง ‘นิคมสร้างตนเอง’ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มาอยู่รวมกัน ไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในป่า แต่วิถีของการอยู่ในลักษณะของนิคมฯ เป็นบ้านที่ไม่ใช่วิถีชีวิตของเขา ทำให้เขาไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตเองได้เลยเป็นปัญหา จากเดิมที่เคยหาของป่า หาสมุนไพรเองได้ เมื่อมาอยู่เป็นนิคมฯ ต้องกลายเป็นแรงงานใช้แรงอยู่ในสวนยางบ้าง ต้องทำงานแลกเงินเอาไปซื้อข้าวสารกินบ้าง จนกลายเป็นคนที่รอการช่วยเหลืออย่างเดียว
“มันทำให้ศักดิ์ศรีเขา จากเดิมเคยพึ่งตนเองได้ แต่วันหนึ่งต้องมาแบมือขอ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาจะหายไป หากเราลองนึกดูว่า ถ้าเป็นเรา มีคนช่วยตลอดเวลา เรารู้สึกเกรงใจ รู้สึกด้อยกว่าคนอื่นที่ต้องมีคนมาช่วยเหลือตลอดเวลา พอเป็นแบบนี้ มันทำให้ศักยภาพ ตัวตนของเขาถูกลดทอนลงไปเรื่อย ๆ มันเป็นปัญหา และไปตอกย้ำเรื่องมายาคติลงไปอีก คือแทนที่เราจะเปลี่ยนให้เขามีศักดิ์ศรีมากขึ้น กลับไปทำให้เขาด้อยศักดิ์ศรี เขาก็สยบยอมต่อวาทะกรรมหลัก สร้างภาพเขาขึ้นมาแบบนั้นอีก มันก็เลยวนซ้ำอยู่แบบนี้ แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ กับกลุ่มชาติพันธุ์มันนิเอง เราก็ควรมองว่าวิถีชีวิตของเขาควรจะอยู่ในที่ที่เขาอยู่ แต่ว่าเราควรถามความสมัครใจ ว่า เขาพร้อมจะปรับแค่ไหน”
หนึ่งในกรณีที่สะท้อนภาพเรื่องนี้อย่างชัดเจน คือ เรื่องราวของนักเรียนชาวมันนิ ที่สอบติดพยาบาล ซึ่งชาวมันนิบางกลุ่ม เขาก็พร้อมปรับตัว รัฐเองก็ต้องให้โอกาสเขา และกรณีนี้ก็ทำให้เราเห็นว่า ชาวมันนิเองก็มีศักยภาพ ไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่น ๆ ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาได้เรียน เขาจะสามารถพัฒนาตนเองได้ และสามารถใช้พลังในตัวเองสร้างตัวตนในสังคม นี่จึงเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องคิดเพื่อหาวิธีบริหารจัดการกลุ่มชาติพันธุ์แบบใหม่ คือต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้ใช้ศักยภาพตัวเองมากขึ้น เห็นศักยภาพตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่การช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ ที่ไม่ยั่งยืนอีกต่อไป
แต่กรณีเดียวกันนี้ ถ้ามองอีกมุม อาจารย์ต้น ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า เรื่องราวที่ถูกสื่อออกไปสู่สาธารณะ ก็ทำให้เห็นนัยยะ ของอคติแฝงอยู่ในความเข้าใจต่อชาติพันธุ์ไม่น้อยเช่นกัน
“อย่างพาดหัวข่าวว่า ดีใจซาไกสอบติด ทำให้รู้สึกว่า ถ้าคนอื่นสอบติดก็คงเป็นเรื่องปกติทั่วไปใช่ไหม แต่พอซาไกสอบติดก็เป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นมา จึงมีนัยยะของความรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ด้อยกว่าเรา เวลาเขาสอบติด ถึงได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด เอาจริง ๆสื่อมวลชนก็คงไม่ตั้งใจหรอก ที่อยากจะไปดูถูกดูแคลน แต่สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า วาทกรรมที่ฝังในหัวไม่รู้ตัว จริง ๆ คือชื่นชม แต่การชื่นชมนี้ มันกลับแฝงไปด้วยอคติที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งอคติที่อยู่ข้างหลัง มันไม่เห็นตัว แต่ถูกฝังให้คิดแบบนี้ เพราะฉะนั้นนี่คือรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดว่ากลุ่มชาติพันธุ์ถูกมองด้วยอคติ แม้จะเป็นคำชมก็ตาม”
อาจารย์ต้น บอกด้วยว่า ไม่อยากให้ชาวมันนิที่สอบติดพยาบาลเป็นเพียงกรณีเดียว แต่ควรทำให้เป็นเรื่องปกติพื้นฐาน คือถ้าเราเชื่อว่าพี่น้องชาติพันธุ์ มีศักยภาพการเรียนรู้ได้ เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา เช่น ถ้าเขายังต้องอยู่ในป่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าควรมีวิชา หรือหลักสูตรอะไร ที่เขาไม่ต้องเข้าโรงเรียนตลอด มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่ให้เขาเรียนรู้ไปด้วยได้ และก็สอบวัดผล สามารถเอามาเรียนในระบบได้ เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการ ต้องจัดให้มีทางเลือกที่สอดคล้องวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งจะไม่ใช่กรณีเฉพาะแต่จะเกิดขึ้นต่อชาติพันธุ์ทุกกลุ่มด้วย
‘การพัฒนา’ ภัยคุกคาม วิถีชาติพันธุ์
ประเด็นต่อมาที่ อาจารย์ต้น อยากชวนคิด คือ ถ้าพูดถึงการพัฒนา แน่นอนว่า ใคร ๆ คงคิดว่าคือการทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่อีกด้านเราก็ลืมไปว่า การพัฒนาเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ทำลาย หลายโครงการสร้างเขื่อน ต้องทำลายป่า การเดินหน้าโครงการเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ หลาย ๆ โครงการต้องทำลายวิถีวัฒนธรรมบางอย่าง คำถามคือ จะรักษาสมดุลสิ่งเหล่านี้ไว้ได้อย่างไร
“เมื่อการพัฒนาต้องเริ่มต้นจากการทำลาย แต่สิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบมันมาจากเงื่อนไขอะไร ก็มักจะมาจากเงื่อนไขที่เรามีความคิดว่า เขาไม่ใช่คนไทย เพราะฉะนั้นเวลาที่จะทำอะไรในพื้นที่ของเขา ก็ไม่ต้องถามเขามากหรอก คือถ้าจะทำโครงการตรงนี้ ก็แค่ช่วยเหลือระดับหนึ่ง เอามาตั้งชุมชนใหม่ และก็ขอพื้นที่เดิมที่เคยทำกินอยู่ มาเป็นพื้นที่ที่จะใช้พัฒนา โดยไม่สนใจหรอก ว่าเขาจะได้รับผลกระทบอย่างไร หรืออาจมีคำพูดที่ดูสวยหรูหน่อย ว่า ขอให้พี่น้องชาติพันธุ์เสียสละเพื่อประเทศหน่อย แต่เราไม่รู้หรอกว่า ค่าความเสียสละ มันทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป และรัฐไม่มีกลไกรองรับ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในระดับที่เรียกว่าเป็นหน่วยย่อยในชีวิตของเขา เราจะอาจจะทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นผลกระทบมหภาค แต่บางทีผลกระทบต่อวัฒนธรรม ผลกระทบต่อชีวิตซึ่งจะเป็นหน่วยย่อย ๆ แม้จะเป็นคนเดียวเราไม่เคยที่จะสนใจ พอไม่สนใจ วิธีการทำโครงการพัฒนา จึงมองข้ามคนไปหมดเลย ก็จะสนใจเพียงว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่”
กรณีหนึ่งที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน คือ ชาวมันนิ ที่ จ.สตูล กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการทำเหมืองหิน ในพื้นที่อยู่ พื้นที่หากิน ของมันนิ ภาครัฐสนใจแค่ว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นยังไง คือเราสนใจแค่มิติแบบนั้น แต่ไม่เคยสนใจเลยว่า ค่าของคนจะเป็นอย่างไร สิ่งนี้ทำให้เห็นว่ารากที่มาของความคิดแบบนี้ คือมองว่า ‘คนไม่เท่ากัน’ พอเป็นเรื่องของชาติพันธุ์ ก็แทบไม่มีใครสนใจว่าจะกระทบอย่างไร
“จริง ๆ ไม่อยากจะเปรียบเทียบ แต่ลองให้นึกภาพตาม ว่าหากวันดีคืนดี จะมีโครงการทางด่วนตัดผ่านสุสานคนจีนในพื้นที่หนึ่ง นี่ก็คงเป็นเรื่องใหญ่โตมาก เพราะคนจีนเป็นผู้ที่มีอำนาจต่อรองสูงในเมืองไทย แต่พอเป็นชาติพันธุ์ที่มีอำนาจน้อย อย่างกรณีชาวมันนิ ทำได้ง่ายเลย ต่อให้เป็นการทำลายป่าก็ทำได้ ทั้ง ๆ ที่อาจกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา แต่กลับไม่สนใจ เพราะมองว่าเขาไม่มีอำนาจต่อรอง หากเป็นที่นายทุน คงต้องฟ้องร้องกันใหญ่โต นี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า รัฐคิดกับเขาก่อน เมื่อเรารู้ว่าเขาไม่มีอำนาจต่อรอง ก็ทำอะไรก็ได้ โดยไม่สนใจว่าเขาจะมีผลกระทบอะไร”
หากมองที่ประเด็นผลกระทบจากการพัฒนา อาจารย์ต้น ชวนมองไปที่ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. กระทบชัดเจน คือได้รับผลกระทบแน่คือที่อยู่อาศัย เคยอยู่กันดี ๆ ก็มาห้ามไม่ให้เขาอยู่ และก็โยกเขาไปอยู่อีกที่ ที่เขาไม่คุ้นชินเลย คล้าย ๆ เป็นผลกระทบในแง่รูปธรรม ของที่เคยทำอยู่ทำกิน มันไม่สามารถทำได้ ทำให้เขาสูญเสียศักยภาพในการพึ่งตนเอง ถ้าขาดตรงนี้ไป แทนที่เขาจะกลายเป็นคนที่ดูแลตัวเองได้ จะกลายเป็นว่าเขาจะดูแลตัวเองไม่ได้ และสุดท้ายรัฐต้องเสียเวลา เสียงบประมาณ ช่วยเหลือ นี่คือผล กระทบมหภาคหากไม่สนใจเรื่องการเสียที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของชาติพันธุ์
เรื่องที่ 2. กระทบแน่ๆ คือ ความรู้ของเขาที่เคยใช้ประโยชน์ได้ ทำอะไรได้ จะหายไปหมด ไม่สามารถทำให้ความรู้ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง เหมือนตัดความรู้เขาออกไป และเอาความรู้สมัยใหม่ใส่เข้าไปแทน และยิ่งมีปัญหาตามมา แทนที่ความรู้เดิมที่มีจะถูกสืบทอดไปได้อีก และมีวิวัฒนาการของความรู้ ก็กลายเป็นว่าความรู้ถูกตัดห้วนออกไปตรงนั้น ซึ่งพอความรู้หายไป ความสามารถพึ่งพาตนเองก็หายไปด้วย ทำให้มันนิต้องพึ่งพาความรู้จากข้างนอกอย่างเดียว
เรื่องที่ 3. คุณค่าของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ คือความรู้ที่มีอยู่ หรือคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่มี ซึ่งมันนิสามารถดูแลป้องป่าไว้ได้ เคยมีวิถีชีวิตสัมพันธ์กับป่า แต่เมื่อมีโครงการพัฒนาเข้าไป จะทำให้ความรู้ที่เขาใช้ในการจัดการป่าหายไป ก็ส่งผล กระทบตามมา สภาพป่าตรงนั้นอาจไม่สมบูรณ์แบบเดิม เพราะความรู้ที่ใช้จัดการไม่มีอีกแล้ว สิ่งนี้จะกลายเป็นปัญหา คุณอาจคิดว่าเป็นผลกระทบเล็ก ๆ ต่อคนไม่กี่สิบคน แต่คนไม่กี่สิบคนที่มีหน้าที่ในการช่วยดูแลป่า อาจช่วยสร้างประโยชน์มหาศาล ไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายในอนาคต
“หากมีสัมปทานเหมืองหินขึ้นมาในพื้นที่ จ.สตูล ไม่ใช่แค่เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ แต่กระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม กระทบเรื่องความรู้ทางวัฒธรรมด้วย ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ควรต้องให้ความสำคัญมากขึ้น คือเราประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็ต้องทำแหละ แต่ต้องประเมินผลกระทบด้านวัฒนธรรมด้วยว่า ต้องประเมินอย่างไร ในกรณีพื้นที่ชาติพันธุ์จะเจอกรณีเคสแบบนี้มากขึ้น แล้วเคสแบบนี้จะนำไปสู่เรื่องปัญหาเรื่องความขัดแย้ง และอาจนำไปสู่ความรุนแรง เช่นกรณีที่เห็นยืดเยื้อมานาน 20 กว่าปี อย่างกรณีบางกลอย ก็ไม่จบกันง่ายๆแค่เรื่องย้ายคนจากจุดนึง ย้ายไปอีกจุดนึง คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่สุดท้ายไม่สอดคล้องวิถีชีวิตเขา เขาก็จึงได้ย้ายไปอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่เราต้องทำความเข้าใจมากขึ้น“
สร้างสมดุลการพัฒนา ไม่ลืมวิถีชาติพันธุ์
ถึงตรงนี้ อาจารย์ต้น ชี้ให้เห็นทางออก ว่ามีอยู่ 2 ระดับ 1. คือทางออกของการทำเรื่องเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของชุมชน การมีอำนาจต่อรองในเชิงความรู้ และเนื่องจากปัจจุบันความรู้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้รับการยอมรับ อำนาจต่อรองก็น้อยลงไป จึงไม่มีสิทธิมีเสียงจะปกป้องสิทธิตัวเอง ดังนั้นต้องเสริมศักยภาพให้กลุ่มชาติพันธุ์ก่อน ยืนหยัดส่งเสริมความรู้ คือสิ่งที่ทำให้เขาตระหนักรู้ภูมิปัญญาของตัวเอง หรือส่งเสริมให้เขามีความสามารถสืบค้นภูมิปัญญา เอาความรู้ภูมิปัญญานั้นมาต่อรองกับความรู้สมัยใหม่ แล้วเป็นเครื่องมือต่อรองกับภาครัฐ เพื่อให้เขามีสิทธิปกป้องดูแลทรัพยากร อย่างกรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่มีงานวิจัยหลายชิ้น ถูกนำมาต่อรองเรื่องไร่หมุนเวียน จนเริ่มมีอำนาจต่อรองในระดับหนึ่ง แต่มันนิ จะมีคนช่วยทำให้เห็นได้หรือไม่
“ปรากฎการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า อำนาจการต่อรองของกลุ่มชาติพันธุ์ กับอำนาจต่อรองของกลุ่มทุนไม่เท่ากันเพราะความเป็นชาติพันธุ์มันถูกให้ค่าน้อยกว่าความเป็นนายทุน จึงให้ความสนใจต่ออำนาจต่อรองของนายทุนเวลาขอสัมปทานนายทุนได้อยู่แล้วหล่ะ เพราะว่าเขามีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อันนี้มันก็เป็นผลอย่างที่ผมบอกว่า เราควรต้องเพิ่มคุณค่า ให้อำนาจการต่อรองเชิงความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ คือเขามีความรู้เชิงวัฒนธรรมอย่างไร สามารถเป็นตัวคานงัด กับอำนาจต่อรองเชิงเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน เขาเรียกว่า เสริมทุนวัฒนธรรมให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อต่อรองกับการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ อันนี้จะทำให้เกิดความสมดุล “
ส่วนทางออกระดับที่ 2 คือการต่อรองในเชิงการทำงานกับภาคนโยบาย ซึ่งการจะทำให้นโยบายยอมรับเรื่องนี้ได้ ต้องทำให้นโยบายเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มีผลกระทบระดับมหาภาค คือสิ่งแวดล้อมของประเทศ ชักจูงภาครัฐให้มีบทบาทกับเรื่องนี้มากขึ้น แต่รัฐอาจไม่ได้มองเรื่องนี้ เพราะความเข้าใจของรัฐก็มาจากหลายฝ่าย ดังนั้นต้องช่วยกันให้เกิดความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น