ทำไม ? ครอบครัวไทยยุคนี้จึงไม่อยากมีลูก…เป็นคำถามตัวโต ๆ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงหลังมานี้ แต่ก็เต็มไปหลากหลายเหตุผล หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นปัญหา อุปสรรค ในสิทธิ สวัสดิการ ของมนุษย์แม่ ที่ยังเป็นกังวลระหว่าง งานที่ต้องทำ กับ การดูแลลูก ซึ่งยังไม่อาจหาสมดุลให้ไปด้วยกันได้
สิทธิการลาคลอดจึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญ ที่ภาคประชาชน และเครือข่ายแรงงาน ออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาขยายจากเดิม เพื่อหวังให้ชีวิตหลังคลอด แม่ได้อยู่กับลูกให้นานที่สุด สิ่งนี้น่าจะเป็นผลระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตการเติบโตของเด็กคนหนึ่งได้ไม่น้อย
ที่ผ่านมาความพยายามขยายสิทธิลาคลอดในบ้านเราขับเคลื่อนกันไปถึงไหน ? และเป็นไปได้หรือไม่ ? สำหรับเรื่องนี้ The Active ชวนหาคำตอบผ่านบทความของ บัณฑิต แป้นวิเศษ จากมูลนิธิเพื่อนหญิง
จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2566 พบว่า จำนวนประชากรประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 70.08 คน ในจำนวนนี้อยู่ในกำลังแรงงาน 40.28 ล้านคน เป็นสตรีที่อยู่ในวัยแรงงาน อายุ 18 – 59 ปี จำนวน 20,415,761 คน ซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคม ประมาณ 24.47 ล้านคน
แบ่งเป็นผู้ประกันตนใน มาตรา 33 จำนวน 11.69 ล้านคน มาตรา 39 จำนวน 1.87 ล้านคน มาตรา 40 จำนวน 10.91 ล้านคน
ทั้งนี้ มีรายงานจากสำนักงานกองทุนประกันสังคม ตั้งแต่เดือน มกราคม – กรกฎาคม 2566 มีผู้ใช้สิทธิคลอดบุตร จำนวน 138,814 คน และใช้สิทธิสงเคราะห์บุตร จำนวน 1,268,775 คน
จากสถิติข้อมูลดังกล่าว ประกอบกับสถานการณ์ด้านประชากรศาสตร์ และการจ้างงานที่มีการปรับรูปแบบการจ้างงานที่ซับซ้อน และไม่ปฎิบัติให้เป็นไปตามสัญญาจ้างงาน โดยเฉพาะการจ้างงานในลูกจ้างภาครัฐ และการคุ้มครองแรงงาน ที่โยงใยไปกับสิทธิการขยายวันลาคลอดของแรงงานหญิงภาคเอกชนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

32 ปี ประกันสังคม กับการขยายวันลาคลอด 90 วัน สู่ 180 วัน
หลังการประกาศใช้กฎหมายประกันสังคม เมื่อ ปี 2533 ที่ขบวนการแรงงานนำโดยแรงงานหญิง ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน และนักวิชาการด้านแรงงาน รวมถึงข้าราชการจำนวนหนึ่งผลักดัน เคลื่อนไหว และตีแผ่สถานการณ์แรงงานหญิง ที่ชีวิตถูกเลือกปฎิบัติทั้งการจ้างงาน ค่าจ้าง และสวัสดิการ อย่างไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะกับลูกจ้างหญิงในภาครัฐ ที่ได้สิทธิการลาคลอดมากกว่าแรงงานหญิงภาคเอกชน
กล่าวคือ ลูกจ้างหญิงภาครัฐได้สิทธิการลาคลอด จากเดิม 60 วัน เป็น 90 วัน ทำให้เกิดกระแสการเปรียบเทียบ และนำมาสู่การเรียกร้อง รณรงค์ผลักดัน อย่างเข้มข้น ในปี 2535 เรื่องแรงงานหญิงเอกชน ก็ควรได้รับสิทธิลาคลอด 90 วัน ได้รับค่าจ้างเต็ม จากประกันสังคม 45 วัน จากนายจ้าง 45 วัน
โดยปี 2536 มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่13) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2536 ให้รวมไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย (พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 5) กระทั้ง ปี 2562 ได้มีการแก้ไข กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ปี 2541 รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง ครม.เห็นชอบหลักการร่างและประกาศให้ลูกจ้างมีสิทธิลาคลอดบุตรได้รับค่าจ้างเท่าเวลาที่ลาตามอัตราที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 98 วัน ซึ่งเป็นการเอามาตราฐานขั้นต่ำสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เสนอโดยกฤษฎีกา มาใช้ในการให้ขยายสิทธิวันลาคลอดเพิ่ม
แต่ปัญหาการเพิ่มวันลา อีก 8 วัน เป็นการลาเพื่อให้ลูกจ้างหญิงลาไปเพื่อการตรวจครรภ์ และถูกบอกว่า ให้ถือเป็นการลาป่วยโดยต้องไปเบิกกับนายจ้าง ทำให้ลูกจ้างหญิงยังคงลาคลอดได้เพียง 90 วันเหมือนเดิม
ในปี 2565 กระแสคนรุ่นใหม่กับพรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกล (ปัจุจุบัน คือ พรรคประชาชน) ได้ชูนโยบาย การเมืองไทยก้าวหน้า หนึ่งนโยบายที่ได้รับความสนใจจากสังคมคือ สิทธิการลาคลอด 180 วัน ตามมาตราฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) อีกทั้งให้พ่อ แม่ แบ่งกันเลี้ยงลูกได้ โดยขยายวันลาคลอดให้กับลูกจ้างจาก 90 วัน เป็น 180 วัน พ่อ แม่แบ่งกันได้ และเป็นมาตราฐานที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้
กระทั่งการผลักดันร่างการแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฯ ว่า ด้วยเรื่องการขยายวันลาคลอดฯ และการคุ้มครองลูกจ้างภาครัฐ โดยพรรคก้าวไกล (ประชาชน) ได้ยื่นร่างกฎหมายฯ เข้าสภาฯ แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จึงต้องให้นายกรัฐมนตรี ลงลายเซ็นเพื่อนำเสนอต่อ ครม. และ เข้าสภาผู้แทนราษฎร สมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาถึงสมัยรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน การเสนอร่างกฎหมายไม่สำเร็จ และถูกตีกลับ โดย ครม. ให้ส่งกระทรวงแรงงาน โดยให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ไปยกร่างแก้ไขกฎหมายฯ เสนอเข้ามาใหม่
กระทั่งพรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมรัฐบาล และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน จึงได้เสนอร่างกฎหมายฯ ของพรรคภูมิใจไทย ที่มีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาของร่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่มีสาระสำคัญ ว่าด้วย การให้สิทธิขยายวันลาคลอด จากเดิม 90 วัน เพิ่มเป็น 98 วัน ซึ่งเป็นมาตราฐานขั้นต่ำขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เข้ามาประกบคู่กับร่างกฎหมายฯของพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชน)

วันที่รอคอย ความหวัง กับการขยายสิทธิเพิ่มวันลาคลอด
ปลายปี 2566 มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้รับการประสานจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้นำเสนอความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทำให้มูลนิธิเพื่อนหญิง ส่งหนังสือแสดงความคิดเห็นกลับไปยังสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นเครือข่ายแรงงานหญิง และองค์กรแรงงาน เครือข่ายเด็กเท่ากัน เครือข่ายรัฐสวัสดิการ นักวิชาการแรงงาน นักวิชาการสังคมสงเคราะห์จากสถาบันการศึกษา อาทิ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การระหว่าประเทศที่ทำงานด้านเด็ก สตรี ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. จึงได้จัดตั้ง เครือข่ายขับเคลื่อนลาคลอด 180 วัน เพื่อติดตาม และประสาน ขับเคลื่อนผลักดัน นำเสนอข้อเสนอทางวิชาการ และข้อเสนอจากแรงงาน และประชาชน เพื่อผลักดันให้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในส่วนของการเพิ่มวันลาคลอด
วันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติรับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ และได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. ที่น่าดีใจเมื่อมติคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีมติเสียงข้างมาก แม้นว่าเป้าหมายเครือข่ายฯ ที่ยึดหลักวันลาคลอดที่ 180 วัน อันเป็นความต้องการเดียวกับร่างกฎหมายฯ ของพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชน) และพรรคภูมิใจไทย ที่เสนอ การขยายสิทธิวันลาคลอดที่ 98 วัน
แต่ด้วยบรรยากาศการทำงานพิจาณาร่วมของกรรมาธิการฯ ทุกคนมีทัศนะคติมุมมองที่สอดคล้องกัน ในการปรับขยายวันลาคลอด มาคนละครึ่งทาง กล่าวคือ การขยายวันลาคลอดให้ลูกจ้างหญิงสามารถ ลาได้ 120 วัน และให้ลูกจ้างหญิงลาได้อีก 15 วัน ถ้าลูกเจ็บป่วย หรือพิการ อีกทั้งให้คู่สมรสลางานมาช่วยเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วัน ซึ่งขณะนี้ได้นำเสนอรายงานการพิจารณาแก้ไขกฎหมายฯเข้าสู่การพิจารณา ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร วาระ 2

ในโอกาส 8 มีนาคม ‘วันสตรีสากล’ ปี 2568 กับการครบรอบ 168 ปี (ค.ศ. 1857 – 2025) ที่จะมีการเฉลิมฉลอง พร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของสตรี ที่ยังเผชิญปัญหาที่สลับซับซ้อนของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เรื่องหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงกันมาก คือ เรื่องการลดการเกิดของเด็ก การแต่งงานช้า หรือไม่แต่งงานเลย การเพิ่มประชากรของผู้สูงอายุจำนวนมาก ทำให้มีประเด็นการขยายวันลาคลอดของลูกจ้างหญิง และสิทธิในการช่วยเลี้ยงดูบุตรในคู่สมรส ที่กำลังมีการแก้ไขกฎหมายฯ ดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น
32 ปี การเดินทางของประกันสังคม กับการเพิ่มสิทธิประโยชน์การขยายวันลาคลอด ที่ต้องล้อกับการแก้ไขในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง ว่า รัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะสนับสนุน เร่งผ่านกฎหมายฯ นี้เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันสตรีสากล
และมอบเป็นของขวัญให้กับแรงงานหญิง ครอบครัว รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้กับคนหนุ่มสาววัยแรงงานอยากมีลูก มีครอบครัวที่มีคุณภาพ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการเร่งให้มีการออกกฎหมายฯ อย่างเร่งด่วนที่สุด