ไทยติดอันดับประเทศที่ ‘นอกใจ’ มากที่สุดในโลก!!
จากการสำรวจของเว็บไซต์ World Population Review ในปี 2566 ประเทศไทย ติดอันดับ 4 ที่มีสถิติการนอกใจสูงที่สุดในโลก อยู่ที่ 61% และเมื่อเทียบสัดส่วน ยังพบว่า ผู้ชายที่แต่งงานแล้วมีเปอร์เซ็นต์นอกใจภรรยามากกว่า
เหตุผลของคนส่วนใหญ่ที่นอกใจมักเกิดขึ้นกับ ‘คนแปลกหน้า’ หรือเป็นความสัมพันธ์แบบ วันไนท์สแตนด์ (One-night stand) มากที่สุด อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าว ไม่สามารถเหมารวม หรือตีตราคนทั้งประเทศได้ แต่ก็ต้องถือว่าเรื่องการนอกใจ สวนทางกับค่านิยมของสังคมไทย ที่มองว่าเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม และยอมรับไม่ได้
แล้วสังคมไทยคิดแบบนั้น จริงหรือ ..??
The Active ชวนหาคำตอบประเด็นนี้กับ วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา ถึงนิยาม “โลกใบที่สอง” และ กลรักลวงใจ ที่บังคับให้ผู้หญิงต้องเป็นคนเอ่ยปากจบความสัมพันธ์ก่อน รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้หญิงทุกคนกล้าออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ โดยที่คนรอบข้างมีส่วนร่วมเนื่องใน วันสตรีสากล 8 มี.ค. 2567
ค่านิยมการหล่อหลอม หญิง-ชาย ที่แตกต่าง
มีผลต่ออิสรภาพการตัดสินใจในความสัมพันธ์
ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมไทย มีผลต่อการตัดสินใจเริ่มลงหลักปักฐานสร้างครอบครัว รวมถึงความซื่อสัตย์ต่อคำมั่นสัญญาว่าจะมีกันและกัน หรือการยุติความสัมพันธ์ลง เมื่ออีกฝ่ายรู้สึกดีกับคนอื่น โดย วราภรณ์ บอกว่า แนวคิดนี้มักถูกปลูกฝังให้กับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่
“ผู้หญิงบางคนถูกสอนว่า ความสำเร็จในชีวิตคือการมีครอบครัว ดังนั้น พออยู่ในสถานการณ์คลุมเครือ ต่อให้รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นเรื่องยากที่จะหยิบเรื่องนี้มาพูด หรือต่อให้พูดไปแล้ว กลายเป็นทะเลาะมากกว่าจะพูดว่าเกิดอะไรขึ้น แม้แต่การตัดสินใจบอกเลิกก็ถูกผูกไว้ด้วยค่านิยมที่ถูกสอนมา แคร์ทุกคนมากกว่าตัวเอง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจยากกว่าผู้ชาย”
โทษของการ ‘คบซ้อน’ คือ คำขอโทษที่มีราคา!
เมื่อโลกพัฒนาทำให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น การคบซ้อน หรือ มีโลกใบที่สอง สำหรับบางคู่อาจไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลก เพียงแต่ต้องพูดคุย ตกลงกันให้เรียบร้อย ไม่ให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียใจ โดยเฉพาะคู่ที่จดทะเบียนสมรส การนอกใจถือเป็นเหตุให้อีกฝ่ายสามารถฟ้องหย่า เรียกค่าสินไหม รวมถึงฟ้องมือที่ 3 ได้ เช่น กรณีที่เคยเกิดขึ้นกับคู่รักดังบางคู่
แต่ วราภรณ์ ย้ำว่า ยังมีช่องว่าง การใช้กลลวงเพื่อเอาเปรียบภรรยา (Take Advantage) เช่น ทำเป็นไม่รู้ ไม่สนใจ ทนอยู่กันไป รอจนกระทั่งผู้หญิงทนไม่ไหวต้องตัดสินใจบอกเลิกไปเอง ที่สำคัญคือสังคมไทยกลับยอมรับที่ผู้ชายจะไปมีความสัมพันธ์นอกบ้านได้มากว่าผู้หญิง จึงมักเกิดคำที่ว่า
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการใช้โอกาสเอาเปรียบทั้งทางสังคม และจิตใจ โดย วราภรณ์ แนะว่า หากต้องการเลิกเด็ดขาดควรใช้ช่องทางตาม กฏหมาย แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น อยากให้ผู้หญิงทุกคน ฟังเสียงคนอื่นให้น้อยลง แล้วฟังเสียงตัวเองให้มากขึ้น ว่าตัวเองต้องการอะไรจากความสัมพันธ์
หากคำตอบนั้นคือความสุข แต่ปัจจุบันเรามียังมีความทุกข์ เราจะอยู่กับมันได้ไหม ? อยู่อย่างไร ? หรือต้องการที่จะออกไป อย่ามองว่า การจบชีวิตคู่เป็นความล้มเหลว แต่เป็นการที่เราได้มีทางเลือกในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
”ปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานะทางเศรษฐกิจมีส่วนในการตัดสินใจ บางครั้งผู้หญิงจะยอมสละการพึ่งพาตัวเองด้วยเพราะคำสัญญาจากสามีหรือบทบาทความเป็นแม่ก็ตามแต่ อยากให้ผู้หญิงรักษาสกิลตัวเองไว้ ให้เรารู้สึกมีพื้นที่ มีตัวตน พร้อมสำหรับสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาอยู่เสมอ เพื่อความมั่งคงทางการเงิน มั่นใจในตัวเอง เมื่อถึงวันที่เราต้องตัดสินใจกับความสัมพันธ์นั้นจริง ๆ“
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้หญิงจำนวนไม่น้อย อยู่ในจุดหักเหของความสัมพันธ์ ไม่ได้เตรียมตัวพร้อมสำหรับการก้าวไปข้างหน้า คนรอบข้างถือว่ามีส่วนสำคัญ ที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งได้รับความบอบช้ำมาอย่างมากจะมีครอบครัว พี่น้อง เพื่อน ที่คอยให้กำลังใจ ไม่ตั้งคำถามในเชิงตัดสิน ด้อยค่าว่าผู้หญิงมีส่วนที่ทำให้ความสัมพันธ์นี้ต้องจบลง
ส่วนในมิติของกฎหมาย วราภรณ์ ยอมรับว่า การบังคับใช้ค่อนข้างอ่อน ทั้งการจ่ายค่าเลี้ยงดู ค่าเสียโอกาสในชีวิต แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงไม่ควรเรียกร้องอะไรเลย เพื่อที่จะสามารถตั้งหลัก มีโอกาส ในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยไม่ยึดติดกับค่านิยม หรือเบ้าหลอม ที่กดทับให้มนุษย์คนหนึ่งด้อยกว่าอีกคนหนึ่งไม่ว่าเพศใดก็ตาม