“สำหรับผม ความตายเป็นทั้งมิตรและศัตรู ในวันที่ผมจมจ่อมอยู่กับความโศกเศร้า คำถามหนึ่งที่อยู่ในใจผมตลอดเวลา คือ วันนี้เรากำลังทำอะไรกันอยู่ ?”
“เมื่อวันตายของผมมาถึง ผมไม่รู้หรอกว่าวันนั้นผมจะรู้สึกเช่นไร ผมไม่รู้หรอกว่าตอนนั้นผมจะได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมหรือยัง แต่หากตอนยังมีชีวิต เราได้ใช้ทุกชั่วขณะของชีวิตให้มีประโยชน์ต่อผู้อื่น นี่ต่างหาก คือชีวิตที่มีความหมายอย่างแท้จริง”
ทรรศนะเรื่อง ‘ความตาย’ ในความหมายของ อ.ตุล – ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ The Active ชวนให้กลับมานึกถึงกันอีกครั้ง… ไม่เพียงต้องการให้สังคมร่วมกันระลึกถึงสิ่งที่ อ.ตุล ได้เคยฝากคำอธิบาย พร้อมแง่คิดเอาไว้ แม้ในวันที่ตัวเขาเองจากไปแล้ว
แต่การค้นหาความหมายของความตาย น่าจะเป็นอีกความพยายามที่นักวิชาการด้านปรัชญา ศาสนา คนนี้ ให้สติแก่สังคม ในสภาวะร่วงหล่น สั่นไหว ในยามที่ใครก็ตามต้องเผชิญกับความทุกข์เมื่อคนที่รักจากไป ซึ่งอาจทิ้งรูโหว่ขนาดใหญ่ในจิตใจ ที่ไม่เคยเลือนหายไปแม้แต่วันเดียว
เนื้อหาต่อจากนี้ The Active ถอดความจากสิ่งที่ อ.ตุล เคยอธิบายเอาไว้ในงาน “ตาย ก่อน ตาย Live Exhibition” ที่จัดโดย Peaceful Death เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 หรือเมื่อเกือบ 7 ปีก่อน… โจทย์ในตอนนั้น คือ ความตาย ในความหมายของ อ.ตุล คืออะไร ?

ความตายของแม่ – ช่องว่างในใจที่ไม่เคยเลือนหาย
อ.ตุล เปิดมุมมองเรื่องความตายในแบบฉบับของตัวเอง โดยสะท้อนเรื่องราวเมื่อครั้งที่ต้องสูญเสียแม่ ที่ อ.ตุล ย้ำว่า เป็นคนที่เขารักที่สุดในชีวิต
“แม่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง กว่าจะรู้ว่าเข้าสู่ระยะสุดท้าย แม่ก็มีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่ 2 อาทิตย์ และเป็น 2 อาทิตย์ที่พวกเราอยู่ด้วยกันตลอดเวลาจนกระทั่งวันสุดท้าย แม่ไม่ใช่คนแรกในครอบครัวที่จากไป แต่เแม่เป็นคนใกล้ชิดที่สุดที่เสียชีวิต มันกลายเป็นช่วงเวลาที่ผมตระหนักถึงความตายได้อย่างแท้จริง”
ในช่วงวาระสุดท้ายของแม่ อ.ตุล ถ่ายทอดเรื่องราวให้ฟังว่า ได้คุยกับหมอ และพยาบาลทุกวัน โดยตั้งคำถามตลอดเวลาว่า “เรายังพอมีความหวังบ้างไหม ?” จนกระทั่งมีอยู่วินาทีหนึ่งที่รู้ชัดแล้วว่า “แม่ต้องตายแน่นอน”
เมื่อรู้แบบนั้น อ.ตุล ยอมรับว่า ความหวังทั้งหมดที่มีอยู่ในชีวิตพังพินาศ
“ผมอยากวิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมอยากทำทุกอย่างที่ทำได้ แต่ก็รู้ว่าทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว”
ชั่วขณะนั้น ความตายมายืนใกล้แค่คืบเดียว อ.ตุล เล่าว่า ได้ย้อนนึกถึงคำโบราณ เวลาอ่านตำนานธรรมว่า “เมื่อความตายมาเยือนจะมียมฑูตมายืนข้าง ๆ ตอนนั้น ผมรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ ผมเห็นเขายืนอยู่ปลายเตียงพร้อมจะพาแม่ไปทุกเมื่อ”
วินาทีนั้น จึงรู้แล้วว่าความตายเป็นของจริง ตัวเริ่มสั่นสะท้านไปด้วยความกลัว สูญเสียการควบคุม สติเลือนลาง แต่ก็พยายามอย่างถึงที่สุด ให้แม่ได้เดินทางไกลในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด
“ตอนนั้น ผมไม่รู้หรอกว่าแม่รู้สึกกลัวบ้างไหม กลัวมากแค่ไหน หรือจริง ๆ แล้วท่านจิตใจสงบ ผมไม่รู้อะไรทั้งนั้น ผมตอบตัวเองได้คลุมเครือมาก เราพาแม่กลับบ้าน ท่ามกลางเสียงสวดมนต์ภายในห้อง แม่เสียชีวิตในอ้อมกอดของพวกเราอย่างสงบ แม่จากไปแล้ว เราจัดงานศพตามประเพณีอย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แม่เป็นคนชอบเต้นรำ มีวันหนึ่งเราจึงนำดนตรีมาเล่น จัดงานเต้นรำที่งานศพให้แม่”
หลังงานศพแม่ผ่านพ้นไป มีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจที่ อ.ตุล รู้สึกว่า มันเป็นรูโหว่ขนาดใหญ่ เหมือนหลุมดำมืดในหัวใจ แต่ละวันที่ผ่านไปอาจดูเหมือนใช้ชีวิตที่ปกติสุขดี แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน รูโหว่นี้ก็ยังอยู่ “ผมไม่รู้เลยว่าจะทำให้มันหายไปได้ยังไง”

เวลาเรียนธรรมะไม่ว่าจะในบทสวด หรือคำสอน จะมีคำที่บอกว่า การตายเป็น สุญญตา การเกิดก็เป็น สุญญตา ไม่มีทั้งความตายและการเกิด นี่คือสิ่งที่ อ.ตุล เพียรพยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าใจ ตีความ แสวงหาความหมายของสิ่งนี้ เพื่อจะหาคำตอบว่า “ตกลงแม่ผมตายจริง ๆ ไหม ?”
“ผมระแวดระวังที่จะจินตนาการถึงความตายของแม่ ระแวดระวังที่จะสร้างความหวังให้ตัวเอง ระแวดระวังที่จะกลายเป็นคนเพ้อเจ้อ แต่สุดท้าย ผมไม่เคยได้คำตอบอะไรทั้งสิ้น รูโหว่ขนาดใหญ่นั้นยังคงติดอยู่ในใจของผมจนถึงวันนี้ ความตายสำหรับผม จึงเป็นทั้งมิตรและศัตรู ในวันที่ผมจมจ่อมอยู่กับความโศกเศร้า มีคำถามหนึ่งที่อยู่ในใจผมตลอดเวลา แล้ววันนี้ เรากำลังทำอะไรกันอยู่ ?”
สำหรับคนที่ยังมีชีวิต ผมเชื่อว่า
“มรณานุสติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
คือความตายของคนที่เรารัก”
แม้ที่ผ่านมา จะจินตนาการถึงความตายไปได้ไกลเพียงใด แต่มันเป็นได้แค่เพียงแค่จินตนาการ เราอาจเคยทอดร่างกายลงไปในโลง (ซ้อมตาย) ตอนนั้นอาจรู้สึกอึดอัด รู้สึกถึงความเงียบ
แต่ในวันที่ความตายแท้จริงมาเยือน ไม่ว่าจะเป็นของตัวเราเอง หรือคนที่เรารัก โลงจะแคบ จะกว้าง จะเป็นพื้นไม้แข็ง หรือบุด้วยเบาะอ่อนนุ่มเพียงใด แต่เราจะไม่รู้สึกอะไรอีกแล้ว นั่นจะเป็นช่วงขณะที่เราจะไร้ที่พึ่งอย่างถึงที่สุด สิ่งเดียวที่ช่วยเราได้คือจิตใจที่ฝึกฝนมาเท่านั้น
“ผมตระหนักในคำพูดของพระธรรมจารย์หลายรูปในทิเบตที่กล่าวว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะทำให้เราตระหนักในความเป็นอนิจจังหรือความตายได้ มีแต่พระธรรมเท่านั้น ผมคิดว่านี่ไม่ใช่คำพูดสวยหรู หรือสูตรสำเร็จ นั่นเพราะชีวิตเป็นความลี้ลับที่มนุษย์ไม่เคยตอบได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่างหาก”
อ.ตุล บอกด้วยว่า ครูบาอาจารย์เคยพูดไว้คำหนึ่ง ซึ่งคิดว่ายิ่งใหญ่มาก คือ “หากเราจะถมรูโหว่ในใจนั้นได้ คงต้องเอาสรรพสัตว์ทั้งหลายมาถมถึงจะเต็ม ฉะนั้นแล้ว ในห้วงเวลาที่เราระลึกถึงความตาย โดยเฉพาะความตายของคนใกล้ชิด เราแปรเปลี่ยนความรู้สึกนั้นเป็นความกรุณาได้”
“วินาทีที่แม่ผมเสียชีวิต ความรู้สึกของผมเต็มไปด้วยทุกข์อย่างใหญ่หลวง เป็นความทุกข์ที่เป็นจริงจากการสูญเสียคนที่รักที่สุดในชีวิต ในห้วงเวลานั้น ผมตระหนักขึ้นมาได้ว่า ไม่ได้มีเราคนเดียวในโลกที่เผชิญทุกข์เช่นนี้ แต่ทุกคนในโลกล้วนเคยเผชิญกับการจากไปของใครบางคน เรามีเพื่อนที่ทุกข์เช่นเดียวกับเราจำนวนมหาศาลบนโลกใบนี้ ไม่มีใครเลยที่หลีกหนีได้ เพราะความตายเป็นของจริงแท้ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด”

‘ความงดงาม’…ของความตาย
สิ่งสำคัญที่ อ.ตุล สะท้อน คือ บางคนต้องการงานศพ ต้องการความเรียบง่ายที่สุด ไม่มีแม้กระทั่งดอกไม้ แต่ที่บ้านนอกบ้านของเขาเอง ต้องมีดอกไม้ มีไฟประดับวิบวับหน้าโลง ต้องมีอาหารเลี้ยง หากย้อนกลับมาถามว่า เราสามารถออกแบบความตายหรืองานศพเราได้มากแค่ไหน คงต้องคิดว่าสิ่งใดคือสิ่งที่มีความหมาย และไม่มีความหมายต่างหาก
“ดอกไม้อาจดูเป็นของสิ้นเปลือง แต่สำหรับผม มีดอกไม้ในงานศพเสียหน่อยอาจทำให้เบิกบานได้ในเวลาเศร้าหมอง และยังสะท้อนอนิจจลักษณะให้เราดูด้วย (การเกิดขึ้นและสลายไป) เราคงไม่อาจชะโงกหน้าไปดูศพที่กำลังเน่าเปื่อยได้ แต่ดอกไม้ที่เหี่ยวแห้งลงไปทุกนาที ทำให้เราเห็นว่าทุกช่วงเวลาที่โรยรามีความงามซ่อนอยู่ และเราชื่นชมกับความสวยงามและร่วงโรย (อนิจจลักษณะ) นี้ได้”
อีกสิ่งที่ อ.ตุล ให้มุมมอง คือ หากพูดถึงดอกไม้ ความตายคงสวยสดงดงาม แต่ความตายยังคงเป็นความจริง และเป็นความทุกข์อย่างใหญ่หลวง จึงคิดว่าสิ่งนี้คือจิตวิญญาณของความตาย โดยเฉพาะในแบบพุทธศาสนา ฝึกฝนให้ชื่นชมกับอนิจจลักษณะ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องผ่านการฝึกฝนจิตใจ
ท้ายที่สุดแล้ว อ.ตุล ยอมรับ ไม่รู้ว่าประสบการณ์ของตัวเองนั้นจะช่วยให้ผู้คนเข้าใจความทุกข์ หรือความตายในแง่มุมไหนได้บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่อยากแบ่งปันคือ
“หากเราเปลี่ยนความทุกข์ และความตายในชีวิต
กลายเป็นความกรุณาได้
ชีวิตของเราจะมีความหมาย”
และเมื่อวันตายของตัวเองมาถึง ก็ไม่รู้หรอกว่า วันนั้นจะรู้สึกเช่นไร ไม่รู้หรอกว่าตอนนั้นจะได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมหรือยัง แต่หากตอนยังมีชีวิต เราได้ใช้ทุกชั่วขณะของชีวิตให้มีประโยชน์ต่อผู้อื่น
นี่ต่างหาก คือชีวิตที่มีความหมายอย่างแท้จริง ขอให้ทุกท่านมีความรักและความเมตตาต่อกัน และต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย…ทั้งหมดคือสิ่งที่ อ.ตุล ฝากทิ้งท้าย ในมุมมองต่อเรื่องความตาย ที่เคยให้ความหมายเอาไว้เมื่อเกือบ 7 ปีก่อน…
รับชมคลิปเต็มได้ที่ : เราจะรู้ซึ้งถึงความตาย เมื่อเห็นคนที่เรารักตาย | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง | ตาย ก่อน ตาย Live Exhibition