เยาวชนกับการพัฒนาเมือง : ‘สื่อ’ สร้างพลังชุมชน
ตามติดต่อเนื่องกับประเด็น ‘เยาวชนกับการพัฒนาเมือง’ โดยครั้งนี้มีตัวอย่างของเยาวชน ที่เริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองสนใจ ใช้ ‘สื่อ’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ผ่านช่อง Youtube ที่นำเสนอ ของกิน ศิลปะ วิถีชีวิต ละแวกบ้าน ซึ่งต่อมาช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ก่อนจะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ เป็นช่องทางสำหรับการสะท้อนปัญหา และ ชวนตั้งคำถาม หาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ในกรณีที่ชุมชนวัดดวงแขบางส่วนกำลังจะถูกไล่รื้อในขณะนี้
ชุมชนวัดดวงแข รองเมือง เขตปทุมวัน กทม. เป็นชุมชนแออัดที่ตั้งอยู่ติดกับสถานีรถไฟหัวลำโพง มีเพียงความหนาของกำแพงศิลปะที่กั้นไว้ คนในชุมชนทำอาชีพค้าขาย และทำงานในสถานีรถไฟหัวลำโพง แม้เดิมทีชุมชนแห่งนี้จะค่อนข้างน่ากลัวและไม่น่าอยู่ในสายตาของ เดี่ยว- กันตภณ ศิวายพราหมณ์ เยาวชนที่เกิดและอาศัยอยู่ในชุมชนนี้มากว่า 20 ปี แต่สุดท้าย ก็มีอะไรทำให้เขาต้องลุกขึ้นมาพัฒนาชุมชนแห่งนี้
Q : สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนใจและตัดสินใจเข้ามาทำงานกับชุมชน
ตอนแรกผมเล่นฟุตบอลอยู่ชุมชนแฟลตรถไฟ เพื่อนก็ชวนมาค่ายที่นี่ แต่ใจไม่ค่อยอยากมาเท่าไร เพราะกลัว เป็นคนขี้อาย กลัวที่จะต้องจับไมค์ กลัวที่ต้องเต้น ที่จะต้องทำกิจกรรมอะไรทำนองนี้ แต่ตอนนั้นได้ตอบตกลงเพื่อนไปแล้วก็เลยต้องมา แต่พอได้มาทำแล้วก็รู้สึกสนุกไม่ได้เป็นอย่างที่เรากลัวในใจ มันสนุกมากก็เลยรวมตัวกับเพื่อนเข้ามาที่นี่บ่อย ๆ ก่อนที่ผมจะได้เข้ามาทำงานเกี่ยวกับเยาวชนผมกลัวการเดินผ่านชุมชนมาก มันเป็นแหล่งแหล่งยาเสพติด
“ผมจำภาพเหตุการณ์ได้ว่าผมเดินมากับเพื่อนเพื่อที่จะมาเล่น ก็เห็นว่าเขาขายยาเสพติดต่อหน้ามันเลยรู้สึกว่าทำไมทุกอย่าง น่ากลัวขนาดนี้ รวมถึงเหตุการณ์หลาย ๆ อย่าง เช่น การทะเลาะกันเสียงดัง มันมีความรุนแรง ผมมองว่าผมจะไม่มาเหยียบตรงนี้เลย ผมไม่ชอบ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ทำให้เราต่อต้านไปเลยครับ”
จนถึงอายุ 14 ปีที่ตัดสินใจมาทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก แต่ตอนแรกที่ผมเข้ามา ผมยังไม่มองชุมชน ผมมองแค่ตัวเองก่อน เราอยากทำสื่อ เราก็มองแค่ตัวเอง รวมไปถึงภาพของชุมชนที่เรายังติดตาอยู่ เรารู้สึกว่ายังไงมันก็เปลี่ยนไม่ได้ ทัศนคติคนในชุมชน ความคิดคนในชุมชนเปลี่ยนไม่ไ ด้ เขาคงไม่ให้ความร่วมมือกับเราหรอก เราทำไปก็โดนเขาด่า ก็เลยเอาตัวเองไว้ก่อน
แต่พอเราต้องได้มาทำงานกับชุมชนจริง ๆ อย่าง เช่น การคุย การสัมภาษณ์ เราต้องลงเก็บข้อมูลทุกอาทิตย์ มันก็ทำให้เราเปลี่ยนความคิด และยังมีสิ่งแวดล้อมอย่างการเติมศิลปะ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าการเดินในชุมชนของเรา ไม่ต้องอยู่ในมุมมืดแล้ว มันกลับกลายเป็นว่าเราให้ความสนใจกับภาพวาดบนกำแพง หยุดมองแล้วตั้งคำถามกับภาพวาดว่า ทำไมมันต้องเป็นปลา ทำไมไม่วาดเป็นคนนั่งกินข้าวร่วมกันเป็นวง
ตอนนั้น เราดู YouTube เยอะ เราเลยมีความรู้สึกอยากจะทำสื่ออยากจะมีช่อง YouTube เป็นของตัวเอง พอกลับมาจากการทำกิจกรรมและเข้าค่ายกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ก็เลยลองเอาเรื่องนี้ไปคุยกับพี่สาว (เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก) พี่สาวก็ตอบว่า โอเค ให้รวมกลุ่มมาแล้วก็ไปคุย อันนั้นก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเริ่มจะสนใจการทำงานและสื่อ
ตอนแรกถือว่ายากมากด้วยความที่เราเป็นเด็กใจร้อน ที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าตัวเองทำงานออกมาดีแล้วแต่พอ เอาไปให้เขาดูเค้าบอกว่ายังไม่ดีมันต้องแก้ไข เราก็ไม่ยอมเพราะเรารู้สึกว่ามันดีแล้ว ถ้าพูดจริง ๆ ก็เหมือนเราเอาแต่ใจมากเกินไป ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะไม่ทำเลยไม่ชอบก็จะไม่ทำจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้แต่ตอนนี้เราก็พูดคุยมากขึ้นเพื่อที่จะดูช่วยกันว่าไม่ดีตรงไหนแล้วจะเปลี่ยนแปลงกันยังไงมันก็จะเบาลงกว่าแต่ก่อนถ้าเทียบกับเมื่อก่อนผมจะทิ้งไม่ทำเลย
Q : สนใจทำช่อง YouTube เพื่อใช้ทำอะไร
อยากทำ แค่วาไรตี้สนุก ๆ แค่นั้นเลยครับ ตอนนั้นไม่ได้คิดถึงขั้นที่ว่าจะต้องทำให้ ความรู้ หรือ ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนเลยครับ แค่เป็นความสนุกส่วนตัวและความชอบส่วนตัว เหมือนตอนนั้นเราดู YouTube มากเกินไปก็เลยอยากจะทำตามเขาบ้าง
“ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนยังไม่ได้เริ่มทำเลย เพราะตอนนั้นเราต้องไปอบรม “รู้เท่าทันสื่อ” ต้องบอกว่า โห อบรมอยู่หลายปีมาก กว่าจะได้จับกล้อง กว่าจะได้คิด และวางแผนว่าสื่อมันอันตรายอย่างไรกว่าจะได้จับก็หมด passion เพราะรู้สึกว่าเราอยู่ในทฤษฎีมากเกินไป แต่พอได้เริ่มทำมันก็ทำให้เรากลายเป็นคนที่คิดเยอะขึ้นเยอะ ถ้าเราจะทำหนึ่งประเด็นขึ้นมา เราจะต้องมีข้อควรระวังอะไรยังไงบ้าง จะมีผลกระทบต่อตัวเองหรือชุมชนอย่างไรบ้างทำให้เรารอบคอบมากขึ้น”
ถ้ามองย้อนกลับไปดูตัวเองตอนนั้น และเทียบกับตอนนี้ รู้สึกว่าพัฒนาขึ้นมาก ตอนแรกเราจะเป็นคนที่แค่อยากจะทำก็ทำเลย เราไม่ได้มีการวางแผนว่าเราต้องเตรียมกระบวนการเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง เราจะเลือกที่ไปทำหน้างานเลย แต่พอเราได้ใช้เวลาอยู่กับการทำความเข้าใจรู้เท่าทันสื่อมาก เรามีทีมและมีการวางแผนมากขึ้นมันทำให้เรา จัดการเวลาและแบ่งหน้าที่กันชัดเจน
แต่ก่อนหน้านั้นคือไม่มีเลยใครอยากทำอะไรก็ทำเลย ไม่มีกระบวนการที่ชัดเจนแต่ตอนนี้ก็วางแผนกันเรียบร้อยว่าเราจะทำอะไรกันบ้าง ทำให้การทำงานราบรื่น ไม่ต้องมาตามว่าช่วงนี้ทำไมยังไม่เสร็จ ไม่ได้มีปากเสียงกัน เพราะพอเราชัดเจนว่าเราจะทำตรงไหนแบบไหนมันก็ทำให้การทำงานเราไหลลื่นขึ้น
Q สื่อที่ทำสำคัญกับชุมชนอย่างไร ได้รับความสนใจมากไหม
สื่อสำคัญมาก สิ่งแรกที่เราเลือกใช้สื่อในการสื่อสารคือ เรื่องของการกิน ของชุมชน เราถ่ายทอดว่าชุมชนเรามีของกินอะไรดีบ้างเพื่อให้นักท่องเที่ยวมาเดินดู และเราก็ไปถ่าย ตรงร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ด เป็นสิ่งแรกของเราที่เราทำวิดีโอขึ้นมาครับคนดูประมาณ 100 กว่าคนก็ดูกันเองนี่แหละครับมันไม่ได้เยอะมาก
ความสำคัญของสื่อกับชุมชน ผมว่าเยอะเลย อย่างรูปภาพผมว่ามันสามารถถ่ายทอดให้กับคนในชุมชนได้ เล่าเรื่องคนในชุมชนได้ อย่างที่เป็นรูปของยายผมมันทำให้เห็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนและมันทำให้สามารถผลักการเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้วัยรุ่นก็เข้ามาถ่ายรูปได้ สื่อเข้ามาช่วยได้เยอะเลย ครึ่งต่อครึ่งเลย เพราะถ้าเราไม่ได้ใช้สื่อเข้ามาช่วยเลยมันก็จะรับรู้ได้เพียงคนกลุ่มหนึ่ง ถ้าเปรียบเทียบอย่างเรามีนาฬิกา คนที่จะรู้ก็เป็นเพียงแค่คนกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าเรามีรูปลงในโซเชียล คนอีกจำนวนมากก็จะเห็น ผมก็เลยทำเพลงเพื่อที่จะ โพรโมต ชุมชนเพราะผมก็มองว่ามันไม่ได้แย่ มันสามารถเข้ามาถ่ายรูปได้ ต้องบอกว่าสื่อเป็นเครื่องมือสำคัญ
Q หลังทำงานกับชุมชน ภาพและความหมายของชุมชนสำหรับเราเปลี่ยนไปไหม
การช่วยเหลือ การให้ความร่วมมือ การแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไรก็ตาม นี่คือความเป็นชุมชนสำหรับผม ในสมัยก่อน ถ้าให้ประชุมหรือออกความคิดเห็นเขาก็ตาม ๆ กันไป เทียบกับสมัยก่อนถ้ามีการเรียกประชุมจะไม่มีใครมาซึ่งเราก็จะเห็นภาพนั้นอยู่แล้วแต่พอมาตอนนี้ ชุมชนมีปัญหาเรารู้สึกว่าทุกคนเดินมารอเพื่อที่จะประชุมและพูดคุยกันยอมเสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อมารับฟัง
“ตอนนี้มองชุมชน เข้นแข็งมากขึ้น ให้ความร่วมมือมากขึ้น มันทำให้เรารู้สึกว่าเป็นชุมชนจริง ๆ”
ตอนแรกผมไม่เข้าใจด้วยซ้ำคำว่าชุมชน เพราะผมรู้สึกว่า ความเป็นคนก็ต้องอยู่ใครอยู่มันอยู่แล้ว มันก็ไม่มีใครที่จะมาเดือดร้อน แต่พอได้เจอเหตุการณ์ที่ “ชุมชนวัดดวงแขบางส่วนกำลังโดนไล่รื้อ” มันทำให้เราเห็น ว่ามันคือคำว่าชุมชนจริงๆ และครอบครัวจริง ๆ ตรงซอยงูเหลือมที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนวัดดวงแขกำลังโดนไล่รื้อ เหมือนกับมีจดหมายมาติดหน้าบ้าน ให้เวลาเรา 15 วัยในการรื้อถอน ในขณะที่ทุกคนกำลังใช้ชีวิตทำงานหาเช้ากินค่ำกัน ก็พบว่ามีหนังสือไล่รื้อติดที่หน้าประตูบ้าน ( บ้านของ ‘เดี่ยว’ เป็นหนึ่งในนั้น) ทำให้รู้ได้เลยว่าเราไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง แต่ทุกคนช่วยกัน
Q : ภาพฝันของชุมชนในอนาคต
ผมอยากให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งหนึ่ง เพราะมันอยู่ใกล้หัวลำโพงด้วย อยากให้นักท่องเที่ยวที่มาลงที่นี่เขา เข้ามาเดินชมชุมชนและยังจะมีไกด์เด็กที่พานำเที่ยว อยากให้ทำที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่หนึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก็แวะมาดูที่ชุมชน นั่นคือภาพฝัน
ในความเป็นจริงเป็นไปได้ไหม มันก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ได้สูงขนาดนั้นเพราะหนึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องไกด์นำเที่ยวและต้องนำเงินจำนวนนั้นมาแบ่งให้ชุมชนด้วย มันอาจจะมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเรื่องนี้ บวกกับหัวลำโพงก็กำลังจะย้ายด้วย
Q : ถ้าหัวลำโพงย้ายความฝันของเรายังจะเป็นจริงไหม
ผมไม่ได้มองถึงความเป็นจริง ผมมองว่ามันอาจจะเป็นจริงได้ยาก แต่ถ้าจะให้คนมาเดินชุมชนมาเที่ยวชุมชนอันนี้อาจจะเป็นไปได้ แต่ถ้าจะให้มันเป็นอารมณ์นึกถึงหัวลำโพงแล้วนึกถึงชุมชนเรามันก็จะยาก ด้วยความที่ตอนนี้หลายอย่างกำลังพัฒนา
Q การพัฒนากำลังส่งผลอะไรต่อชุมชนวัดดวงแข
ถ้าหากมองในมุมกว้างการพัฒนามันก็อาจจะทำให้สังคมดีขึ้นแต่ถ้ามองในภาพรวมของชุมชน มันก็อาจจะส่งผลต่อคนในชุมชนอย่างคนที่เขาทำงานในหัวลำโพง อาชีพค้าขายมันก็อาจจะทำไม่ได้แล้ว รายได้พวกเขาก็จะหายไป ผมก็คิดมาตลอดนะครับ เพราะด้วยความที่บ้านเรามันเป็นที่สาธารณะไม่มีโฉนดที่ดิน ผมรู้สึกว่าวันนึงเขาก็ต้องมาเวนคืนไม่นาน ไม่ช้าก็เร็ว ก็ต้องมาเอาที่สาธารณะตรงนี้คืน แต่อยู่ที่ว่าเขาจะเอาคืนแล้วเอาที่ตรงนี้ไปทำอะไรมากกว่า
“ถ้าเขาจะมาเวนคืนไปแต่มันก็ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ไปมากกว่าให้เราอยู่ที่นี่ เราใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ผมมองว่าแบบนี้เขาก็ไม่ควรเอาคืน
เมื่อถึงตอนนั้นชาวชุมชนก็จะไม่มีที่อยู่แล้วหลายครอบครัวที่อยู่ที่นี่ เขาไม่ได้มีฐานะดี ผมเชื่อว่าพวกเขาไม่มีที่ไปแน่นอน นอกจากว่าบางคนอาจจะกลับต่างจังหวัดก็จริง แต่มันเหมือนกับว่าเราถูกพรากอะไรไปบางอย่าง อันนี้ผมมองว่ามันเป็นผลกระทบโดยตรง และรุนแรง
Q : สื่อที่มีช่วยอะไรบ้าง ในสถานการณที่ชุมชนเรากำลังจะถูกไล่รื้อ
ผมว่ามันช่วยได้ ในช่วงที่มีเหตุการณ์ไล่รื้อผมเสนอเลยนะ ว่าเราควรจะต้องทำเพราะมันสามารถสะท้อนอะไรได้หลายอย่างมันอาจจะช่วยได้เยอะเลยหรืออาจจะช่วยได้เลยก็ได้
ตอนแรกที่เกิดปัญหาเราก็ค่อนข้างที่จะสับสนว่าจะทำยังไง แต่ผู้ใหญ่ในชุมชนก็คาดหวังเราด้วยความที่เราเข้าใจสื่อและใช้สื่อเป็นเขาก็คาดหวังให้เราเป็นกำลังหลักอยู่แล้ว เพื่อที่จะช่วยเขาส่วนเขาก็จะเป็นคนช่วย Support เรา
ถ้าผมจะทำผมมองว่าผมจะใช้สื่อตัวนี้สะท้อนอะไร เพื่อให้คนที่เห็นและดู ตั้งคำถามกับการไล่รื้อครั้งนี้ว่าทำไมจะต้องไล่รื้อ ทำไมไม่มองสิ่งที่ชุมชนสร้างขึ้นมาแล้วได้รับประโยชน์ร่วมกันไม่ใช่เพียงแค่ชุมชนแต่หมายถึงหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งที่การทำของเราไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนจากพวกเขาเลยแม้กระทั่งคำขอบคุณเราก็ไม่ได้ต้องการ
“แต่สิ่งที่มันเป็นจุดอ่อนของเราก็คือเรื่องของกฎหมายแต่ถ้ามองเรื่องความเป็นจริงกฎหมายก็ไม่ได้ยุติธรรมกับทุกคนเสมอไป บางทีก็อาจไกล่เกลี่ยและพูดคุยกันได้สำหรับมุมมองของผมนะ”
ตอนนี้เราทำงานมาไกลแล้วทุกคนก็จะมีเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับเมืองทุกคนก็จะช่วยกันสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้เข้ามาช่วยให้เข้ามาวางแผนร่วมกันว่าจะแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร เราจะปรับเปลี่ยนและใช้ปัญหาตรงนี้เพื่อสื่อสารสร้างสื่อขึ้นมาอย่างไร ความกลัว ความกังวลถามว่ามีไหมมันก็กลัว แต่อย่างที่บอกว่าคนในชุมชนเขาก็พูดคุย มันก็ทำให้ความกลัวที่อยู่ในตัวเรามันค่อยค่อยหายไปและลุกขึ้นมาสู้ช่วยชุมชนมากขึ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง