สุขภาพจิตดี ชาติเจริญ ไม่เกินจริง! ผลิตความสุขไม่เป็น ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

“เคยมีการสำรวจพบว่า ทั่วโลกสูญเสียวันทำงานไปมากกว่า 1 หมื่นล้านวันต่อปี ไปกับปัญหาสุขภาพจิต

นี่คือตุ้นทุนมนุษย์มหาศาล… ปัญหาสุขภาพจิตจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่ถือเป็นความท้าทาย ของ การพัฒนาชาติ”

เป็นประโยคที่ ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) กล่าวไว้ใน งานเสวนาเปิดภาพอนาคตสุขภาพจิตคนไทย 2576 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ก.พ.67 เพื่อตอกย้ำว่า ปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกหน่วยงาน เป็นโจทย์ท้าทาย ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาประเทศได้ ด้วยการเริ่มจากคำว่า “สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนไทย”

หากเราดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน สุขภาพจิต และสุขภาวะของคนไทยแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสภาพการแข่งขัน สังคมโดดเดี่ยว มลพิษทางอากาศ สภาวะเศรษฐกิจ การเมือง ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ทางกายและทางใจ สะท้อนผ่านตัวเลขของผู้คนที่ป่วยทางจิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โดยพบว่าไทยมีผู้ป่วยจิตเวชในปี 2558 (1.3 ล้านคน) เพิ่มขึ้นเป็น (2.3 ล้านคน) ในปี 2564 ขณะที่การฆ่าตัวตายก็กลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทยสะท้อนว่าสุขภาวะทางจิตไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

เวที เปิดภาพอนาคตสุขภาพจิตคนไทย 2576 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ก.พ.67

“สุขภาพจิต” กับ “สุขภาวะทางจิต” คนละความหมาย แต่เชื่อมโยงกัน

ผศ.ธีรพัฒน์ ชวนแยกความหมายระหว่างคำว่า “สุขภาพจิต” กับ “สุขภาวะทางใจ” ซึ่งมีความหมายแตกต่างกัน โดยอธิบายว่า สุขภาพจิต หรือ Mental Health ประกอบด้วย 3 รูปแบบ 

  • การให้บริการโดยรัฐ เป็นเรื่องของ หมอ พยาบาล 
  • โรค หรือสุขภาพจิต ความเจ็บป่วย
  • ภาวะเชิงบวกของการมีอยู่ทางจิตใจ เข็มแข็ง เติบโตได้ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเอง หาความหมายของชีวิตได้อย่างไร

สุขภาพจิต จำเพาะเจาะจงอยู่เพียงแต่ “อาการป่วย โรค การบำบัดรักษา” แตกต่างจากคำว่า สุขภาวะทางจิต ที่เป็นการทำงานเชิงบวก สร้างภูมิคุ้มกันก่อนป่วย 

“เรามักมองปัญหา สุขภาพจิต เป็นแค่ “โรค” คือ ป่วย กับ ไม่ป่วย แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไม่ป่วย จะมีสุขภาพจิตที่ดี เพราะยังมีองค์ประกอบอื่น เช่น ความสัมพันธ์ สิ่งแวดล้อม ความสุข ที่บอกได้ว่า คุณมีภาวะเชิงบวกด้านสุขภาพจิตหรือไม่ “


ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS)

อาจารย์ธีรพัฒน์ ชวนจิตนาการตามว่า การมองสุขภาพจิตเป็นแค่โรค กำลังมองปัญหาเป็นเส้นเดียว คือ มีคนป่วยต้องรักษากับคนไม่ป่วย ซึ่งป่วยหรือไม่ป่วย ไม่ใช่ตัวกำหนดว่าคนคนนั้น มีความสุขหรือไม่ เพราะยังมีแกนแนวตั้งอีกแกนที่หมายถึง ภาวะเชิงบวก หรือลบ หมายถึงการมีความสุข ความสัมพันธ์ สิ่งแวดล้อมที่ดี 

ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS)

ถ้าประเทศจะรุ่งเรืองได้ สุขภาพจิตคนไทยต้องดีด้วย!

ถ้าประเทศจะดี จะรุ่งเรือง สุขภาพจิตต้องดี 4 เรื่องสำคัญที่ต้องมี คือ

  • สุขภาพจิตเป็น สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
  • สุขภาพทั้งหมดจะไม่ดีเลย หากสุขภาพจิตไม่ดี
  • ปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพจิต การจ้างงาน โอกาสการศึกษา ความเป็นอยู่ 
  • สุขภาพจิตไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพส่วนตัว หรือแค่ปัญหาสาธารณสุข ที่กรมสุขภาพจิต รับผิดชอบ แต่เป็นความท้าทายการพัฒนาชาติ 

2 ปัจจัยสำคัญ นำไปสู่ความหวัง หรือ ความกลัว คือ พื้นที่ และสภาพแวดล้อม ถัดมาคือ เรื่องนโยบายของรัฐ เป็นปัจจัยกำหนดให้เกิดพื้นที่ความสุขได้ 

ทั่วโลกสูญเสียวันทำงาน มากกว่า 1 หมื่นล้านวันต่อปี ไปกับปัญหาสุขภาพจิต นี่คือต้นทุนมนุษย์มหาศาล ไม่ไกลเกินจริงถ้าจะพูดว่า สุขภาพจิตคือ ความท้าทายระดับชาติ ประเทศจะรุ่งเรือง สุขภาพจิตคนในประเทศต้องดีด้วย…”

ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS)

ป่วยไม่ป่วยก็สุขได้ บางคนไม่ได้ป่วยจิตเวช แต่กลับหาความสุขไม่ได้เลย

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ชวนสร้างความเข้าใจ “ป่วย หรือไม่ป่วย ไม่ได้ยึดโยงกับการมีความสุข”  ในความเป็นจริง คนไม่ป่วยทางจิต ก็อาจจะเต็มไปด้วยความทุกข์ และใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุข ขณะที่คนป่วยก็อาจจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ หากรู้ว่าตัวเองป่วย รู้ว่ามีศักยภาพแบบใด รู้ว่าต้องไปรักษาที่ไหน

“ทุกคนมีสิทธิ ป่วย มีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ แต่ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าคนกลุ่มนี้จะไม่มีความสุขในชีวิต 

ตรงกันข้าม บางคนไม่ได้ป่วยเลย แต่กลับใช้ชีวิตอย่าง ไม่มีความสุขเลย… 

การสร้างความสุข ความเข้มแข็งในจิตใจ มองข้ามความทุกข์ได้ เป็นสิ่งสำคัญกว่า โดยไม่ต้องพะวงว่า เราป่วยอยู่หรือไม่”

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต

อีก 10 ปีข้างหน้า คนไทยจะป่วย หรือจะสุขเป็น! เรากำหนดได้ ?

เป็นครั้งแรกที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ร่วมกับภาคเอกชนอย่าง ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) กรมสุขภาพจิต เปิดงานวิจัยชิ้นสำคัญเพื่อสะท้อนภาพอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าเกี่ยวกับสุขภาพจิตของคนไทย

วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตอาวุโส Future Tales Lab by MQDC อธิบาย 5 ฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทย ประกอบด้วย

Terror outburst – การระเบิดของความหวาดกลัว ความเจ็บปวดจากปัญหาทางสังคมที่ถูกละเลยมานาน กลายเป็นความหวาดกลัว และก่อตัวเป็นปรากฏการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ ที่บังคับให้ทุกภาคส่วน จําเป็นต้องยกระดับการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการอย่างแท้จริง

Opportunity in adversity – วิกฤติที่แฝงด้วยโอกาส สถานการณ์ที่ผันผวนรุนแรงต่อเนื่องของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความกังวล และพยายามเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง

Packs of lone wolves – มวลชนผู้โดดเดี่ยว ผู้คนมีความสะดวกสบายในทุกด้าน แต่กลับมีความรู้สึกเหงา เครียด และกดดันมากขึ้น การใช้ชีวิตในเมืองที่ทันสมัยบีบบังคับให้เผชิญกับการแข่งขันที่สูง และวิถีชีวิตดิจิทัลที่โดดเดี่ยว

Decentralized mental well-being – สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน ผู้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สุขใจ และภูมิใจในท้องถิ่น เป็นผลจากการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นและเขตสุขภาพโดยสมบูรณ์ทรัพยากรด้านสุขภาพจิตถูกจัดสรรและออกแบบให้เข้ากับความแตกต่างของแต่ละพื้นที่

Land of smiling minds – จุดหมายแห่งความสุขประเทศไทย เป็นประเทศต้นแบบด้านสุขภาพจิต และเป็นจุดมุ่งหมายการใช้ชีวิตของผู้คนจากทั่วโลก ทุกภาคส่วนวางเรื่องสุขภาพจิตไว้ในทุกองค์ประกอบ ประชาชนรู้สึกมีความสุข และภาคภูมิใจ

วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตอาวุโส Future Tales Lab by MQDC

ซึ่งแน่นอนว่า ในโลกยุคปัจจุบันสื่อสมัยใหม่ เทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดความทุกข์สุขของผู้คนได้ การมีคู่มือ มีความเข้าใจ และรอบรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิต ไปให้ถึงระดับที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และส่งผลดีต่อคนทุกกลุ่มในสังคม

“มากกว่าการต้องรอบรู้เรื่องสุขภาพจิต เราต้องไม่ลืม “เข้าใจตัวเอง” อีก 10 ปีข้างหน้า เราอยากเห็นสังคมไทยกลายเป็นระเบิดเวลาของความหวาดกลัว หรือเป็น จุดหมายของความสุข เราสามารถกำหนดร่วมกันได้ตั้งแต่วันนี้…”

วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตอาวุโส Future Tales Lab by MQDC

กุลิสรา บุตรพุฒ นักกลยุทธ์นวัตกรรม สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) มองว่า การสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิตมีความจำเป็น แต่ยังไม่แพร่หลาย ไม่ครอบคลุม เพราะสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ก็ไม่สามารถทำงานเพียงลำพังได้ ต้องขยายงานออกไปเพื่อทำให้คนในสังคมเข้าถึงองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพจิต

“เราจำเป็นต้องมีคู่มือ Literacy หรือ การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต ในระดับที่ประชาชนอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ การใส่คำว่า “ผู้ประกอบการ” เข้าไปในการสร้างนวัตกรรมมีส่วนสำคัญมาก แต่ปัจจุบันที่ยังกระจายได้ไม่ดีพอ เพราะเราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ จำเป็นต้องหาเพื่อนร่วมทาง”

กุลิสรา บุตรพุฒ นักกลยุทธ์นวัตกรรม สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน)

กุลิสรา บุตรพุฒ นักกลยุทธ์นวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สร้าง “ชุมชน” เฝ้าระวังสุขภาพจิต สร้างสุขภาวะดี คู่ขนาน งานการแพทย์ปฐมภูมิ ลดภาระแพทย์ เสริมภูมิคุ้มกันสังคม

การทำงานสุขภาพจิตเป็นเรื่องใหญ่ “กรมสุขภาพจิต” กระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถทำงานเพียงลำพังได้ เพราะบริบทของชุมชน ท้องถิ่นแต่ละแห่งแตกต่างกัน มีปัญหาไม่เหมือนกัน การร่วมกำหนดนโยบายจึงไม่ควรมาจากส่วนกลาง และที่สำคัญมากกว่านั้น เราต้องจับมือกับองค์กร หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตเลย แต่ทุกภาคีมีส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนงานเหล่านี้

ชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เล่าให้ฟังถึงโมเดลการทำงานแบบที่ สสส. จับมือกับภาคีทำงานด้านสุขภาพจิตผ่านโมเดล “สุขเป็น” ซึ่งเวลานำร่องไปใน 9 จังหวัด วิธีคิดจิตวิทยาเชิงบวกเข้าไปทำกระบวนการร่วมกับชุมชน ทำให้ชุมชนรู้สึกว่า ไม่ใช่เรื่องทางการแพทย์ มีชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา เข้ามาสร้างพลังในการทำงาน เพื่อสร้างสุขให้กับชุมชน “สุขภาพจิต ไม่ได้แปลว่าต้องให้ยา แต่ทำให้เข้าใจว่า ตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร นี่คือหัวใจสำคัญของการทำงานเพื่อปลูกสร้างสุขภาวะที่ดีในสังคม” คู่ขนานกับการทำงานระดับประเทศโดยใช้ชุมชนเป็นฐานสำคัญของการสร้างความสุข

“นักบริการสุขภาพจิตน้อยมาก นักจิตวิทยา 1 คน ดูแลประชาชนกว่า 1 แสนคน ซึ่งไม่เพียงพอ ต้องไม่มองเรื่อง สุขภาพจิต เป็นมิติทางการแพทย์อย่างเดียว ชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สามารถลุกขึ้นมาเฝ้าระวังปัญหา สร้างสุขภาวะที่ดีจากฐานชุมชน คู่ขนานกับ รัฐ ซึ่งมีกลไกอย่าง พ.ร.บ.ปฐมภูมิ ที่ให้ความสำคัญกับการตอบสนองด้านสุขภาพจิตคนไทยอยู่แล้ว”

ชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.

บทบาท “สื่อมวลชน” สร้างนำซ่อม สร้างสุขภาวะที่ดี ต้องไม่มองปัญหาแยกส่วน

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ.ส.ส.ท. อธิบายว่า สุขภาวะที่ดี คือ ตัวกำหนดสุขภาพจิตที่ดีของผู้คน โดยเฉพาะในยุคของเทคโนโลยี  นักสื่อสารจะต้องมองให้ออกว่า สุขภาพจิตซ้อนทับกันหลายอย่าง และทุกเรื่องทับซ้อนกันอย่างไร ไม่มองการทำงานแบบแยกส่วน โดยคนหนึ่งคนจะสามารถมีความสุขได้ ต้องมองเห็นสุขภาวะทางจิตในแบบภาพวงกลมซ้อนทับกัน จากวงเล็กที่สุดเรื่องของตัวเอง ภายในของแต่ละคน, ขยับมาสู่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล, ครอบครัว, องค์กร, ชุมชน และกฎหมาย หรือนโยบายระดับภาครัฐ

สื่อจึงต้องให้ความรู้ ที่ทะลุกรอบการตีตราผู้ป่วย มีลำดับเหตุการณ์ที่ต้องรู้ว่านโยบายด้านสุขภาพจิตเหล่านี้จะเดินไปทางไหน และเป็นหนทางที่ถูกต้องหรือไม่ ในฐานะสื่อสารมวลชน ก็จะเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสื่อสารไปยังทุก ๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ.ส.ส.ท.

และเห็นด้วยกับมุมมองของ ผศ.ธีรพัฒน์ ที่มองว่า เวลานี้ มีปัจจัยเชิงพาณิชย์ ที่เอกชนจะเข้ามาช่วยงานด้านสุขภาพจิตแล้ว การจะทำให้สิ่งดีดีเหล่านี้เกิดขึ้นต่อได้ ต้องทำให้ “แนวคิดเชิงนโยบาย นวัตกรรม” เหล่านี้ไปอยู่ในธรรมเนียมปฏิบัติ แนวปฏิบัติของผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ

ซึ่งวงเสวนานี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำให้สังคม ค่อย ๆ เดินทางทำความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต และสุขภาวะทางจิต เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคที่อยู่ในกลไกการทำงาน จากนี้เป็นช่วงเวลาของการแสวงหาความร่วมมือ ที่ภาคีด้านสุขภาพจิตจะมารวมตัวกันในวันที่ 29 ก.พ.-2 มี.ค.67 ในงาน Hack ใจ เพื่อค้นหานวัตกรรม หรือนโยบายด้านสุขภาพใจ และเดินทางไปต่อได้

“เพื่อไม่ทำให้การสร้างสุขภาวะฯ เป็นแค่เรื่อง ระบบบริการสุขภาพ สื่อสาธารณะ มีบทบาทต้องสร้างความมั่นใจว่า ข้อเสนอที่มาจากเวที “Hack ใจ” จะถูกส่งต่อไปถึงผู้กำหนดนโยบาย ย้ำว่า ทุกนโยบาย จำเป็นต้องมี เรื่อง “สุขภาวะทางจิตอยู่ในนั้น…”

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ.ส.ส.ท.

เพื่อไม่ทำให้การสร้างเสริมสุขภาวะของคนทั้งชาติ เป็นเพียงเรื่องระบบบริการสุขภาพเพียงอย่างเดียว สื่อสาธารณะเอง ก็มีบทบาทที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่า ข้อเสนอที่จะมาจากเวที Hack ใจ จะถูกส่งต่อไปถึงผู้กำหนดนโยบาย “ทุกนโยบาย” ไม่ว่าคุณจะทำเรื่อง การจราจร ผังเมือง เศรษฐกิจปากท้อง การศึกษา ผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีนโยบายสุขภาวะทางจิตอยู่ในนั้น ทำอย่างไรเราถึงจะมั่นใจว่าสุขภาพทางจิตอยู่ในทุกนโยบายให้ได้ นี่คือ โจทย์ใหญ่ที่ทุกภาคีต้องมาร่วมทำงานกันนับจากนี้เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีร่วมกัน…

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน