จาก “ห้องทดลองนโยบาย” สู่การถอดรหัส “สุขภาพใจ”

คุยกับ ‘ฑิฟฟาณี เชน’ แห่ง Thailand Policy Lab

ฑิฟฟาณี เชน
Thailand Policy Lab, UNDP

เมื่อความป่วยไข้ทางจิตใจใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที…

เราเห็นข่าวการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของเยาวชนอายุน้อย เราเห็นข่าวความรุนแรงที่พัวพันกับปัญหาทางจิตเวชซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำร้าย เมื่อหันหน้าไปทางไหน ก็เห็นแต่ความเจ็บป่วยทางใจจากคนรอบข้างไม่เว้นวัน สวนทางกับจำนวนของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดอย่างสิ้นเชิง

เอกชนหลายภาคส่วนเร่งออกนโยบายดูแลจิตใจพนักงาน ขณะที่ภาครัฐเองเริ่มออกนโยบายดูแลสุขภาพจิตกับคุณภาพชีวิตประชากร และเมื่อนโยบายดี คุณภาพชีวิตประชาชนเองก็น่าจะดีตามไปด้วย

แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า นโยบายที่เกิดขึ้นดีพอไหม? เหมาะสมกับประชาชนจริงหรือเปล่า? หรือเป็นเพียงแค่นโยบายหอมหวานที่ชวนให้ประชาชนมีความหวัง แต่กลับละลายงบประมานมหาศาลเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

The Active ชวนพูดคุยกับ ‘ฑิฟฟาณี เชน’ นักทดสอบนโยบาย จาก Thailand Policy Lab แห่งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ถึงเรื่องราวการถอดรหัสนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพจิต ด้วยกระบวนการและเครื่องมือชิ้นสำคัญ ผ่าน โครงการ ‘HACK ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน’ ด้วยกลไกแบบแฮกกาธอน ที่เชื่อว่า ไม่ว่าใครหรือองค์กรไหน ๆ ก็สามารถนำเครื่องมือไปใช้ เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและออกแบบนโยบายที่ใช่แบบไม่ต้องใช้ทางลัด

ทำไมต้อง Policy Lab ? – ร่วมถอดรหัสนโยบายสาธารณะไปสู่วิถีที่ดีกว่า

“ที่ผ่านมา ปัญหาของประชาชนแทบไม่เคยถูกแก้ไขได้อย่างตรงจุด เพราะปัญหาในสังคมมันซับซ้อนขึ้นทุกวัน แต่รัฐกลับใช้นโยบายและการทำงานแบบเดิม ๆ เราจึงอยากสร้างพื้นที่ใหม่ขึ้นมาให้เป็นเหมือนห้องเรียนรู้”

เมื่อโลกหมุนไปไวและใจคนไม่หยุดนิ่ง ปัญหาในสังคมมีความซับซ้อนในหลายระดับมากกว่าอดีตโดยเฉพาะด้านสุขภาพจิต การใช้นโยบายของภาครัฐแบบเดิม ๆ อาจไม่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้ตรงจุดอีกต่อไป ฑิฟฟาณี เล่าให้เราฟังถึงที่มาของ Thailand Policy Lab (TP Lab) หรือ ห้องปฏิบัติการนโยบาย ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 2564 ที่เกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลไทยอย่าง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย หรือ UNDP

เพื่อให้เป็นห้องทดลองและสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายแบบที่ประชาชนได้มีส่วนร่วม ทำงานแบบวิเคราะห์ปัญหา ตีแผ่นโยบาย เพื่อนำไปสู่การหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในสังคมเพื่อให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดจากปัญหาในโลกสมัยใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น

“เราอยากสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่แห่งการทดลองและค้นหา เปิดให้เป็นพื้นที่ของคนหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน หากล้มเหลว ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ แต่หากสำเร็จ นั่นคือการส่งต่อทางเลือกใหม่ ๆ”

แต่อย่าเพิ่งตกใจ งานใหญ่ขนาดนี้ TP Lab ไม่ได้ทำเองคนเดียว แต่เป็นการร่วมกันทำงานกับหลายภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป โดยเน้นย้ำว่า ภาครัฐควรจะนำข้อค้นพบไปใช้ต่อหากคิดว่าเกิดประโยชน์

“TP Lab หรือ UNDP ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เราเป็นเพียงแค่กลไกหรือตัวประสานให้เกิดเท่านั้น ฝ่ายที่สำคัญและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ ยังคงต้องเป็นภาครัฐ ที่ต้องเข้าใจและอยากนำมาใช้”

ฑิฟฟาณี เน้นย้ำ

3 เสาหลักแห่งการเปลี่ยนแปลง

TP Lab ไม่ได้ทำงานอย่างไร้ทิศทาง แต่ขับเคลื่อนด้วย 3 เสาหลักที่จะเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ได้แก่ 1. Policy Innovation Exploration and Experimentation (การพัฒนากระบวนการและพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย) 2. Capacity Building on Policy Innovation (การยกระดับขีดความสามารถของผู้จัดทำนโยบาย) และ 3. Community of Innovators and Policymakers (การสร้างและพัฒนาเครือข่ายนวัตกรและผู้จัดทำนโยบาย)

สำหรับเสาแรก อย่าง Policy Innovation Exploration and Experimentation ฑิฟฟาณี เล่าให้เราฟังว่า ในขานี้เป็นเหมือนการสำรวจปัญหาที่เจอในสังคม ทีมจะลองลงไปพัฒนา ตลอดจนแก้ปัญหา กระทั่งเกิดเป็นโปรเจกต์ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษาแนวทางการเพิ่มสัดส่วนประชากรวัยเยาว์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถฯ การใช้นวัตกรรมเพื่อเข้าใจผู้ใช้นโยบายด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาเมือง

และยังมีอีกหลายโปรเจกต์ รวมไปถึงโปรเจกต์สำคัญ อย่าง นโยบายด้านสุขภาวะทางจิตของเยาวชน (Mental Health Policy foy Youth by Youth)

เสาที่ 2 คือ Capacity Building on Policy Innovation พูดให้ง่าย คือ การให้เครื่องมือหรือแนวคิดแก่ผู้ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านหลักสูตรที่ออกแบบมา

“ถ้าเราบอกให้คุณเปลี่ยนแปลง แต่กลับไม่มีเครื่องมือ หรือไม่มีองค์ความรู้อะไรเลย แล้วคุณจะเปลี่ยนแปลงได้ยังไง? เราคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก จึงลงไปทำกระบวนการกับมหาวิทยาลัยค่อนข้างเยอะ เพราะเยาวชนคือกลไกสำคัญที่จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (catalyst) และเราเชื่อว่า หัวใจของผู้นำการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีแค่เรื่องทักษะ แต่ต้องมีเรื่องจริยธรรม (ethic) เพื่อสร้าง mindset ที่ดีในการทำนโยบายด้วย”

ฑิฟฟาณี เสริมว่า ที่ผ่านมาเลือกลงไปทำงานกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในเมืองและต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นในระดับปริญญาตรี ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับปริญญาโท ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยขอนแก่น และตอนนี้ทำร่วมกับ โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) ด้วย

สุดท้ายคือเสาที่ 3 Community of Innovators and Policymakers หรือการสร้างนวัตกร เพราะทั้ง 2 เสาที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีคนที่มาขับเคลื่อน เมื่อเราสร้างเครือข่ายให้คนที่เห็นปัญหาแบบเดียวกัน ติดเครื่องมือให้เขา มันจะพัฒนาไปด้วยกันได้ไกลมาก

“เราเชื่อว่าคนในพื้นที่คือคนที่รู้ปัญหาดีที่สุด เจ้าของโจทย์จึงต้องเป็นประชาชน เวลาเราลงไปทำกระบวนการในพื้นที่ เราไม่เคยตั้งโจทย์เอาเองว่าอยากทำเรื่องอะไร แต่จะระดมความเห็นจากหลายภาคส่วนในพื้นที่นั้น ไม่วาจะเป็น รัฐ เอกชน ประชาชน รวมถึงสถานศึกษา

“อย่างการลงพื้นที่ภาคเหนือ เราได้โจทย์เรื่องเพศ (gender) ภาคใต้ เราได้โจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหาร (food security) หรือภาคกลาง เราได้โจทย์เรื่องอัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว นั่นเพราะคนในพื้นที่เห็นว่าเรื่องพวกนี้เป็นปัญหาในบ้านเขาจริง ๆ”

ทั้งหมดทำให้เราเห็นว่าการทำงานของ TP Lab จะตั้งต้นจากปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่ เพราะเชื่อว่านโยบายไม่จำเป็นต้องมาจากส่วนกลางอย่างภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่างหาก

เมื่อสุขภาพใจ ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป

หนึ่งในหลายโปรเจกต์ของ TP Lab คงหนีไม่พ้นเรื่อง ปัญหาด้านสุขภาพจิต และโปรเจกต์หนึ่งที่ ฑิฟฟาณี เลือกหยิบยกมาเล่าให้เราฟังคือ ‘Youth Mental Health’ – นโยบายสุขภาพจิต เพื่อเยาวชน โดยเยาวชน

เพราะเมื่อเราพูดถึงนโยบายประชาชน เรากลับหลงลืมไปว่าแทบไม่มีการพูดถึงเยาวชนในนั้น ทั้งที่จริงแล้ว เยาวชนวันนี้คือคนที่ต้องเติบโตขึ้นมาและกลายเป็นผู้ใช้นโยบายในวันหน้า

นี่เองจึงทำให้ทีมเริ่มตั้งต้นตั้งคำถามว่า “ปัญหาที่เป็นเรื่องเร่งด่วนของเยาวชนจริง ๆ คืออะไรกันแน่?”

ทีมงานลงทำสำรวจว่าเยาวชนสนใจเรื่องอะไร พบว่า มีทั้งเรื่องการศึกษา ความยากจน สุขภาวะที่ดี รวมถึงเรื่องสุขภาพจิต และเมื่อลงใช้เครื่องมือรับฟังเสียงคนบนโลกออนไลน์ (Social Listening) ด้วยคีย์เวิร์ด 117,991 คำ และการมีส่วนร่วม (engagement) บนโลกออนไลน์กว่า 30,910,952 ครั้ง

พบว่า ปัญหาสุขภาพจิต เป็นประเด็นที่เยาวชนให้ความสนใจเยอะที่สุด จึงเป็นที่มาของการจัดกระบวนการแฮกกาธอน (Hackaton) เพื่อออกแบบนโยบายสุขภาพจิตร่วมกับเยาวชนและผู้เชี่ยวชาญ ผ่านกระบวนการออกแบบนวัตกรรมนโยบาย 8 ขั้นตอน

“ตอนนั้นเป็นช่วงโควิด-19 นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ เราเจอเสียงจากโลกออนไลน์ว่าเขาพูดเรื่องสุขภาพจิตเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นความเหงา โดดเดี่ยว หรือแม้กระทั่งการ burnout ในการเรียน เขาเรียนไม่รู้เรื่อง และไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ด้วยซ้ำ เราจึงเลือกประเด็นนี้มาทำกระบวนการแฮกกาธอน”

ฑิฟฟาณี เล่าสิ่งที่ค้นพบจากการเก็บข้อมูล

ในกระบวนการมีเยาวชนจากหลายพื้นที่เข้าร่วม โดยมีพี่เลี้ยงคอยดูแล พวกเขาคือกลุ่มเด็กที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง การพูดคุย ระดมความเห็นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและปรับจูนกันแล้วว่าสิ่งใดที่น่าจะสามารถทำได้ จนกระทั่งเข้าถึงกระบวนการแซนด์บ็อกซ์ (sandbox) ซึ่งเป็นขั้นตอนการทดสอบนโยบาย โดยเลือกในระดับชั้นมัธยมต้นเพราะเชื่อว่ายิ่งทำในกลุ่มเด็กที่อายุน้อยเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดี

“จากการที่ถอดปัญหาออกมา เราพบว่าเมื่อเขาเด็ก ๆ มีปัญหาด้านจิตใจ เขาไม่รู้จะต้องติดต่อใคร หรือเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างไร การเรียนออนไลน์ก็ทำให้ว้าเหว่ เราจึงคิดว่าควรวางนโยบายเพื่อทดสอบ 2 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มทักษะการดูแลให้คนรอบข้าง และการสร้างความสัมพันธ์”

ครูและบุคลากรในโรงเรียนจำเป็นต้องมีการอบรมให้มี ‘ทักษะการดูแล’ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเชิงลึก การให้คำปรึกษา หรือความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต เพราะเชื่อว่ากลไกหนึ่งที่สำคัญในการดูแลสุขภาพจิตคือ การป้องกัน (prevention) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นหมอ แต่ทำได้โดยคนใกล้ตัวเด็กต่างหาก

ขณะที่เรื่อง ‘ความสัมพันธ์’ เป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ ทีมมีสมมติฐานว่า อาจเพราะครูกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ไม่ใกล้ชิดกันพอ เมื่อเด็กเจอปัญหา เขาจะเลือกปรึกษาเพื่อน ซึ่งเป็นคนในวัยเดียวกัน พบเจอปัญหาคล้ายกัน จึงไม่สามารถนำพาออกจากปัญหาได้ จึงเป็นที่มาของการสร้างแอปพลิเคชันสำหรับสร้างความสัมพันธ์ในห้องเรียน นักเรียนสามารถใช้ได้ผ่านมือถือ สามารถสะท้อนสิ่งที่อยากเห็น หรือบอกความต้องการของตัวเองกับครูได้เหมือนเพื่อนคุยกัน

“ท้ายที่สุด เราคาดหวังว่า เมื่อจบขั้นตอนแซนด์บ็อกซ์แล้ว เราอยากให้กระบวนการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ได้มา ถูกนำกลับไปใช้ในโรงเรียน และกลายเป็นกลไกหรือคำแนะนำตัวอย่างที่ส่งต่อไปให้โรงเรียนอื่น ๆ ต่อไปได้ ก่อนที่ปัญหาด้านสุขภาพจิตจะกลายเป็นปัญหาที่สายเกินแก้”

โปรเจกต์นี้ เริ่มตั้งแต่ พฤศจิกายน 2564 และเข้าสู่กระบวนการแซนด์บ็อกซ์ไปแล้วในโรงเรียน 2 แห่ง ได้แก่ รร.สามเสนนอก กรุงเทพฯ และ รร.วอแก้ววิทยา จ.ลำปาง และจะเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2567 นี้

Hack ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน

จากวิกฤตสุขภาพในสังคมที่เห็น ประกอบกับเสียงจาก Social Listening ทำให้เห็นชัดเจนว่าเรื่องสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องของใครคนเดียวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของทุกคน ไม่เพียงแต่ภาครัฐ แต่หลายองค์กรเร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และคงไม่เกินเลยไปนัก หากจะเรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติ

เมื่อต่างฝ่ายต่างเห็นปัญหาตรงกัน จะดีกว่าไหมถ้าทุกคนมาทำงานร่วมกัน และนี่จึงเป็นที่มาของการจัดงาน ‘Hack ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน ด้วยการร่วมกันของพาร์ทเนอร์ 8 หน่วยงานที่มีความสนใจ ได้แก่

  • นวัตกรรม (Innovation) –  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
  • เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) – สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
  • ระบบยุติธรรม (Justice system) – กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
  • ผู้บังคับใช้กฎหมาย (Law enforcer) – กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
  • การสื่อสาร (Communication) – AIS
  • การออกแบบเมือง (Property & Urban) – ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC)
  • ธุรกิจประกัน (Insurance) – กรุงเทพประกันภัย
  • องค์กรแห่งความสุข (Food) – บาร์บีคิว พลาซ่า

“วันนี้ เราปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องของทุกคน เราเห็นพาร์ทเนอร์ทั้ง 8 กลุ่ม ต่างมาจากหน่วยงานที่หลากหลาย และไม่ได้ทำงานด้านสุขภาพจิตโดยตรง แต่มีความสนใจร่วมกัน ทำให้เกิดมุมมองต่างกัน นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะมีพื้นที่ให้ได้พูดคุยและระดมสมอง

เพราะเรื่องแบบนี้ ถ้าทำคนเดียวอาจเดินได้ช้า แต่ถ้าทำด้วยกัน เราจะเคลื่อนไปด้วยกันได้ไกลกว่า” ฑิฟฟาณี กล่าว

กิจกรรม Hack ใจ จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและป้องกันเป็นหลัก (promotion & prevention) เน้นผ่านกระบวนการแน่น ๆ แบบจัดเต็มถึง 3 วัน ใครสงสัยว่าเขาทำอะไรกับบ้างนั้น The Active มาสรุปให้ฟัง

กระบวนการ 5 ขั้นตอนจะเกิดขึ้นตามลำดับ เป้าหมาย คือ สามารถหาปัญหาที่แท้จริงออกมาได้ จนนำมาสู่แผนปฏิบัติ และกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

  1. Persona & Hope & Fear
  2. Problem Statement
  3. How Might We?
  4. Ideation Flower
  5. Ideation Canvas

1. Persona & Hope & Fear : ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ความหวัง และ ความหวาดกลัว

persona คือ เครื่องมือที่ทำให้เราทำความเข้าใจกลุ่มคนหนึ่ง ๆ ได้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานอย่าง เพศ อายุ ครอบครัว ภูมิลำเนา การศึกษา อาชีพ และลึกลงไปถึงปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิต เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาและความต้องการได้อย่างตรงจุดที่สุด

“สิ่งสำคัญแรกคือ การหาให้เจอว่า ‘ปัญหาคืออะไร ?’ และ ‘ใครที่อยู่ในปัญหานั้น?’ เราห้ามคิดเองเออเองว่า คน ๆ นั้น ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่มันมาจากการตั้งคำถามที่ดี ต่างหาก”

การจะได้ persona ที่ตรงตามความจริงที่สุดนั้น จำเป็นต้องเริ่มจากชวนคุยและตั้งคำถามที่ดี เพราะจะทำให้เห็นถึงความต้องการ ความคาดหวัง และความหวาดกลัว แต่สิ่งนี้กลับไม่ใช่เรื่องง่าย

ฑิฟฟาณี เล่าให้เราฟังว่า ความคิดของผู้คนก็เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง เมื่อความคิดมีหลายระดับ ปัญหาที่เรามองเห็น อาจไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงก็เป็นได้

“เราอาจมองว่าปัญหาของเขาคือ รถติด หรืออากาศไม่ดี พวกนี้คือยอดภูเขาน้ำแข็งที่เรามองเห็น แต่ลึกลงไปกว่านั้นมันมีความจริงบางอย่างซ่อนอยู่ นี่เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องหาให้เจอ

“เราเคยทำทำเวิร์กชอปให้กับนักศึกษา พอเราขุดภูเขาน้ำแข็งลงไปกลับเจอสิ่งที่น่าตกใจมาก ใต้ภูเขาน้ำแข็งแห่งปัญหาของเขาคือ  ‘ความกตัญญู’ 

เพราะความกตัญญูมีหลายสิ่งซ้อนอยู่ด้านล่าง ทั้งความคาดหวัง ความเชื่อมั่น และมันแฝงมาด้วย commitment บางอย่างที่ลูกต้องมีต่อพ่อแม่ และเมื่อเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกหรือตัดสินใจบางอย่าง ความกตัญญูนี้เองกลายเป็นสิ่งที่ฉุดรั้ง จนกลายเป็นรากของปัญหาด้านสุขภาพจิต”

ฑิฟฟาณี เสริมว่า แม้กระทั่งการทำเวิร์กชอปในเรื่องที่ต่างออกไป ก็เจอสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งอันน่าตกใจไม่ต่างกัน

“ในเวิร์กชอปเรื่องรัฐสวัสดิการ เราสงสัยว่าทำไมคนจนถึงไม่อยากใช้บัตรสวัสดิการของรัฐ เมื่อขุดลงใต้ภูเขาน้ำแข็งเราพบว่า เขาไม่ชอบคำว่า ‘บัตรคนจน’ ‘บัตรคนพิการ’ หรือ ‘บ้านเอื้ออาทร’ มันทำให้รู้สึกว่าเขาคือคนไร้ความสามารถ และไม่อยากถูกตีตราจากสังคมด้วยคำเหล่านั้น แม้เขาต้องการได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน”

ฉะนั้น หากเรายังหาความต้องการที่แท้จริงไม่เจอ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดจริง ๆ

2. Problem Statement : ระบุปัญหาที่เขากำลังเจอ

หัวใจของขั้นตอนนี้คือการ ‘การถามคำถามที่ถูกต้อง’ เพื่อนำไปสู่การ ‘ระบุปัญหาที่ชัดเจน’ เพราะท่ามกลางปัญหามากมาย อาจทำให้เราสับสนว่าแล้วอะไรคือปัญหาที่แท้จริงกันแน่

“เราจะไม่ถามคำถามเพื่อหาคำตอบ แต่ต้องเป็นการถามเพื่อสร้างคำถาม แล้วเปิดพื้นที่ให้หาคำตอบ เราเชื่อว่าไม่มีมีคำตอบเดียวที่ดีที่สุดในทันที เพราะระหว่างทางนั้น มีวิธีแก้ปัญหาอื่น ๆ เกิดขึ้นได้มากมาย เพราะคำถามที่ถูกต้องจะสร้างความคิดที่ดี และวิธีแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ได้จริง ๆ”

การสร้างคำถามที่ดี เกิดขึ้นจากการใช้ 3 คำถาม ได้แก่ Who ? (ใคร) What ? (มีปัญหาอะไร) Why ? (เพราะอะไร) เพื่อหา insight เชิงลึกที่จะทำให้เข้าใจปัญหาให้มากที่สุด และสิ่งสำคัญคือ อย่าเพิ่งใช้คำถามว่า How ? (แก้ไขอย่างไร) เพราะจะเป็นการปิดกั้นกระบวนการคิด

3. How Might We? : เราจะทำอย่างไรให้ … ?

เป็นการชวนให้ตั้งคำถามจากประเด็นที่พูดคุยแบบเปิดโอกาสไปเรื่อย ๆ ให้ได้หลากหลายมากที่สุด เพื่อให้ฝึกมองปัญหาแบบเปิดกว้าง เช่น

“เราจะทำอย่างไรให้พนักงานออฟฟิศไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเหงาใจ ?”

“เราจะทำอย่างไรให้ลูกหลานรู้สึกไม่กังวลเมื่อพ่อแม่ออกจากบ้านคนเดียว ?”

“เราจะทำอย่างไรให้พื่นที่สาธารณะเป็นมิตรกับผู้สูงอายุได้มากขึ้น ?”

คำถามที่หลากหลายเหล่านี้ จะทำให้เราเห็นว่า คำถามไหนกันแน่ที่จะตอบโจทย์เรามากที่สุด

4. Ideation Flower : ให้ไอเดียเบ่งบานราวกับดอกไม้

เมื่อได้คำถามที่สำคัญที่สุดออกมาแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการคิดไอเดีย ซึ่งในหลายครั้ง ไอเดียแรกมักไม่ใช่ไอเดียที่สุด การพยายามระดมให้ไอเดียออกมา ผลิบาน แตกหน่อ ต่อยอด ให้มากที่สุดจึงเป็นวิธีที่ดีกว่า

“อยากให้ลบภาพคนที่มีไอเดียแล้วหลอดไฟปิ๊งขึ้นมาบนหัวออกนะ” (หัวเราะ) 

“มันจะมีสักกี่คน สักกี่ครั้ง ที่คิดไอเดียแรกออกมาแล้วปิ๊งทันที ทุกคนล้มเหลวมาเป็นร้อยพันครั้ง เหมือนกว่าที่เอดิสันจะประดิษฐ์หลอดไฟออกมาได้นั่นแหละ กว่าจะเกิดไอเดียที่ดีที่สุดมันต้องมีการเบ่งบานของไอเดียไปเรื่อย ๆ เหมือนกับกลีบดอกไม้ที่บานได้ไม่มีที่สิ้นสุด” ฑิฟฟาณี กล่าวด้วยเสียงหัวเราะ

ในกระบวนการนี้อาจจะยากสักหน่อย แต่ทีมก็ไม่ได้ปล่อยให้ผู้เข้าร่วมคิดกันอย่างว้าเหว่ facilitator พี่เลี้ยงจะคอยช่วยไกด์คำถามโดยใช้เทคนิค ‘คำถามกระตุกไอเดีย (Prompt Questions)‘ เพื่อให้ไอเดียไม่ตีบตัน และใช้เครื่องมือในการช่วยเลือกที่เรียกว่า ‘ตารางการจัดลำดับความสำคัญของการเลือก (Priority Metrix)’ เพื่อประมวลว่า ไอเดียไหนมีผลกระทบอย่างไร และมีความเป็นไปได้แค่ไหนเพื่อเลือกไปใช้ต่อ

5. Ideation Canvas

เมื่อตกตะกอนได้แล้วว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และใครเป็นเจ้าของปัญหา ใครที่เกี่ยวข้องบ้าง และจะแก้ไขได้อย่างไร ขั้นตอนสุดท้าย คือการแปลงเป็น Action Plan 

จากนั้นจะได้รับ feedback จากเพื่อนกลุ่มอื่น โดยเน้นย้ำว่าต้องเป็น constructive feedback หรือ คอมเมนต์เชิงสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่การตำหนิ

สุดท้ายแล้ว 8 ไอเดีย จาก 8 กลุ่มนี้ จะถูกถอดรหัสออกมาในรูปแบบ Visual Note และ Knowledge Management: KM พร้อมคู่มือแฮกกาธอนนโยบายสุขภาพจิต 

หากใคร หรือหน่วยงานใดสนใจ ก็สามารถดาวน์โหลดไปทดลองใช้ได้เองฟรี ๆ ที่เว็บไซต์ thailandpolicylab.com 

Hack ใจ, Hack ชีวิต ตัวเองได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องรอใคร เพราะทุกคนสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ใครป่วยใจไปเสียก่อน

ติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรม ‘Hack ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน’ ระหว่างวันที่ 29 ก.พ. – 2 มี.ค. 67 ที่ ได้ที่ The Active และ Thai PBS


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง