วงการสาธารณสุขไทย สูญเสียบุคคลสำคัญ นพ.มงคล ณ สงขลา หลังใช้วาระสุดท้ายรับมือกับโรคมะเร็งมานานประมาณ 1 ปี
นพ.มงคล เป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่เริ่มต้นจากการเป็นหมอในชนบท ก่อนรับตำแหน่งผู้บริหารหลายหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เช่น อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อธิบดีกรมการแพทย์ ปลัดกระทรวงฯ และรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ในช่วงเวลาสำคัญที่ดำเนินนโยบายสิทธิบัตรยา ในวาระสุดท้ายของชีวิต นพ.มงคล ได้มอบประสบการณ์การเผชิญความตายอย่างสงบไว้เป็นบทเรียนต่อคนรุ่นหลัง โดยเตรียมตัวและสั่งเสียให้จัดการพิธีศพอย่างเรียบง่าย พร้อมอุทิศร่างให้เป็นอาจารย์ใหญ่เพื่อประโยชน์ในการศึกษาของบุคลากรที่จะไปเป็นหมอของประชาชนต่อไป
บ่ายวันที่ 12 ธ.ค. 2563 ก่อนการส่งมอบร่างตามเจตนารมณ์ พิธีรดน้ำศพถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มีบุคคลใกล้ชิด อดีตผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มแพทย์ นักวิชาการ ตัวแทนภาคเอกชน รวมถึงตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม มาร่วมกันไว้อาลัย และรำลึกถึงคุณงามความดีที่ได้มอบไว้ให้กับสังคม
ผลักดันสิทธิ์ 30 บาท ปฏิวัติระบบสุขภาพไทย
สิ่งที่ นพ.มงคล หรือที่รู้จักและเรียกกันติดปากว่า หมอมงคล ได้เริ่มต้นวางรากฐานให้กับวงการสาธารณสุขไทยจนกลายเป็นนโยบายสำคัญหลายเรื่อง ได้ถูกสะท้อนผ่านคำบอกเล่าของบุคคลที่มีโอกาสทำงานใกล้ชิด หนึ่งในนั้น คือ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เล่าย้อนถึงการทำงานร่วมกับหมอมงคล เพื่อผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่ช่วยให้คนไทยเข้าถึงสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง ช่วยให้ครอบครัวผู้ป่วยไม่ต้องเป็นหนี้เพียงเพราะการรักษาพยาบาลที่มีราคาแพง แต่ทำให้คนตัวเล็ก ตัวน้อย ผู้ยากไร้ สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้อย่างเท่าเทียม
ถ้าเปรียบให้ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นผู้ริเริ่มแนวคิด เป็นหัวหน้าทีมเรื่องนี้ หมอมงคลก็ไม่ต่างจากผู้วางทิศทางการปฏิบัติงาน ซึ่งตนเองในฐานะผู้ปฏิบัติ เป็นฝ่ายจัดการดูแลเรื่องการจัดสรรงบประมาณคิดคำนวนค่าใช้จ่าย ก็ต้องร่วมกันคิดเพื่อให้เกิดงบประมาณรายหัวที่ทั่วถึงรัดกุม ซึ่งเป็นสิ่งที่ นพ.มงคล เน้นย้ำ เมื่อทุกฝ่ายช่วยกัน มีปัญหาก็ร่วมกันแก้ นโยบาย 30 บาทจึงถูกวางระบบให้เป็นรูปเป็นร่างมาจนทุกวันนี้
“พี่มงคล มองทะลุ มองเห็นอนาคตชัดเจน อยากเห็นอะไรที่รวดเร็ว แม้บางคนจะบอกว่าใจร้อน แต่จริง ๆ ที่ใจร้อนเพราะพี่มงคลมองเห็นแล้วว่ามันทำได้ และเป็นไปได้จึงไม่ควรชักช้า ต้องเร่งรัดให้เกิดผลโดยเร็ว แต่ต้องช่วยกันดูให้รอบคอบรัดกุม เพราะการเข้าถึงการรักษาของชาวบ้านบางครั้งรอไม่ได้”
สอดคล้องกับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ย้อนเรื่องราวที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการทำงานของหมอมงคล ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ในยุคที่คุณหมอรับราชการอยู่ในพื้นที่ชนบท เมื่อได้เห็นความยากลำบากของชาวบ้านที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล ทำให้เรื่องหลักประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่เมืองไทยต้องมี และต้องเร่งผลักดันให้สำเร็จโดยเร็ว
“คุณหมอมงคลไม่มีเกียร์ถอย แม้รู้ทั้งรู้ว่าการผลักดันเรื่อง 30 บาท ถือเป็นความท้าทายสำคัญของเมืองไทยที่ต้องเดินหน้านโยบายให้ได้พร้อมกันทั่วประเทศ ท่ามกลางอุปสรรคทั้งการปรับตัวของระบบ และการอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน แต่สำหรับคุณหมอแล้วอุปสรรคว่ากันทีหลัง ค่อย ๆ แก้กันไป การทำงานภายใต้การนำของผู้นำแบบนี้ ทำให้คนทำงานมุ่งมั่นตามไปด้วย เพราะเรื่องที่ทำถูกพุ่งเป้าให้เห็นว่าประโยชน์ต้องตกอยู่กับประชาชนโดยตรง”
นพ.โกมาตร ยังเห็นว่า ชีวิตของหมอมงคลเปรียบได้กับตำราเล่มใหญ่ ที่ไม่ใช่แค่บุคลากรทางการแพทย์รุ่นหลัง ๆ จะได้เรียนรู้ แต่หมายถึงคนทุกอาชีพ ควรต้องยึดมาเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ทำงานให้กับชาวบ้าน เพื่อที่จะได้เข้าใจความเดือดร้อน นำไปสู่การแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ประโยชน์มากที่สุด
บทเรียนจากสิ่งที่หมอมงคลทำไว้ จึงสรุปได้ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. ต้องไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรค ถ้ามีปัญหาที่ระบบก็ต้องแก้ไข 2. ทำงานต้องเน้นให้รู้ซึ้งถึงปัญหาของประชาชน ตั้งคำถามอยู่ตลอดว่าที่ทำไปแล้วชาวบ้านจะได้ประโยชนอะไร ใช้งบฯ ไปแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าไม่เกิดประโยชน์ ไม่ยั่งยืน ไม่ถึงชาวบ้านก็ไม่ต้องไปเสียเวลาทำ 3. ต้องทำงานสร้างประโยชน์จนนาทีสุดท้ายของชีวิต
ประกาศ CL ยา “ความกล้า” เพื่อผู้ป่วย
อีกเรื่องที่หมอมงคลได้เข้าไปมีบทบาทจนเรียกได้ว่า ช่วยพลิกวิกฤตด้านสุขภาพให้กับเมืองไทย คือ การประกาศสิทธิ์เหนือสิทธิบัตรยา หรือ การประกาศทำ CL นี่คืออีกผลงานชิ้นสำคัญที่หมอมงคลทำไว้ให้ และยังเป็นเรื่องราวที่ เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เครือข่ายภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนการเข้าถึงยาให้กับผู้ติดเชื้อ HIV ให้คำจำกัดความว่า “ถ้าไม่มีหมอมงคล ก็ไม่รู้ว่าจะมีนักการเมืองคนไหนที่เข้าใจและกล้าทำเรื่องสำคัญแบบนี้”
เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน โรคเอดส์ คือ ภัยคุกคามด้านสุขภาพที่กระทบต่อประเทศไทย เป็นวิกฤตที่พบผู้ติดเชื้อ HIV ในสัดส่วนที่สูงมาก ตอนนั้นสิ่งที่ทำได้คือผู้ป่วยหลายคนต่างก็รอความตาย เพราะการจะเข้าถึงการรักษาถือว่าห่างไกลมาก รู้ทั้งรู้ว่ามียาแต่ยาก็มีราคาสูง มีสิทธิบัตรของบริษัทผู้ผลิตยาข้ามชาติในประเทศมหาอำนาจ
แม้ช่วงนั้นทั้งกลุ่มนักวิชาการ และภาคประชาชน พยายามชี้ให้เห็นว่า ระดับนโยบายอย่างกระทรวงสาธารณสุขสามารถประกาศทำ CL ซึ่งถือเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา หากเกิดกรณีที่มีวิกฤตรุนแรงด้านสุขภาพในประเทศที่ต้องเข้าถึงยาจำเป็น หลายฝ่ายพยายามกดดันให้ทำ แต่กลับเป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองในยุคนั้นปฏิเสธ ไม่กล้าทำ เกรงกลัวการถูกกดดันจากชาติมหาอำนาจเจ้าของสิทธิบัตรยา จนมาถึงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่หมอมงคล เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้แสดงความกล้าหาญประกาศทำ CL กับยา 7 รายการ สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ และ มะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพ ราคาถูกลงหลายเท่าตัว
“หมอมงคลทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้าน เห็นชีวิต เห็นความทุกข์ของผู้ป่วย เข้าใจประเด็น เข้าใจอุปสรรคการเข้าไม่ถึงยาราคาแพง เมื่อหลายเสียงสนับสนุน และมีช่องทางตามกฎหมายที่พอแก้ปัญหาการเข้าถึงยาให้ราคาถูกลงได้ คุณหมอก็ไม่รอช้า และทำให้ด้วยความกล้าหาญ แม้จะต้องเจอการกดดันอย่างมากในตอนนั้น แต่ต้องบอกว่าการที่ไทยประกาศทำ CL ยิ่งทำให้บริษัทยาข้ามชาติต้องปรับตัว นำไปสู่การประกาศลดราคายาลงทั่วโลก เห็นได้ชัดว่าการประกาศ CL ได้เปลี่ยนความเข้าใจผู้นำในหลายประเทศทั่วโลก ให้เล็งเห็นความสำคัญของการเข้าถึงยาของผู้ป่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยเดินหน้าทำให้เห็น และได้รับการยกย่องอย่างมากจากนานาประเทศ”
จับทุจริต(ยา) คลี่ปัญหาใต้พรมระบบราชการ
ไม่เพียงแค่การสร้างและวางรากฐานให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ ช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพเท่านั้น หลาย ๆ ปมปัญหาในแวดวงสาธารณสุข ก็ได้เห็นการเข้ามามีบทบาทที่สำคัญของหมอมงคลด้วย ชัดเจนที่สุด คือ การออกมาเปิดโปงปัญหาทุจริตยา 1,400 ล้านบาทของกระทรวงสาธารณสุข
นี่คือบทบาทของข้าราชการในฝันที่ รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะของภาคประชาชนที่เคยต่อสู้เรื่องนี้มั่นใจ เพราะที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องยากที่ข้าราชการระดับสูงในแต่ละกระทรวงฯ จะออกมารับลูกข้อร้องเรียนจากข้าราชการ จนนำไปสู่การเอาผิดกับขบวนการทุจริต และสาวไปถึงการเอาผิดนักการเมือง ถ้าย้อนไปที่ปัญหาทุจริตยาซึ่งกลุ่มแพทย์ชนบทเปิดประเด็น แต่เป็นสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขออกมาสนับสนุน โดยเฉพาะหมอมงคล ในฐานะเลขาธิการ อย. ในช่วงเวลานั้นก็ช่วยให้กระบวนการต่อจากนั้นหลายเรื่องขับเคลื่อนไปได้
“ปัญหาทุจริตยาเกิดขึ้นหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะในช่วงนั้นที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจงบฯ แต่ละกระทรวงถูกตัดหมด พอเริ่มกลับมาฟื้นฟู เริ่มมีเงินกู้เข้ามา เงินที่โดนตัดหลายเรื่องก็ถูกโอนกลับคืนสู่กระทรวง ก็เลยเป็นช่องทางให้เกิดขบวนการทุจริตเรื่องนี้ แต่ที่น่าสะเทือนใจคือการทุจริตกับงบฯ การจัดซื้อยาที่ไว้สำหรับช่วยเหลือประชาชน คนยากจน การทำงานขุดคุ้ยของภาคประชาชน ร่วมกับสื่อมวลชนในเวลานั้นเกิดขึ้นได้ก็เพราะการออกมารับลูกของข้าราชการระดับสูงของกระทรวงฯ อย่างหมอมงคล ที่เกาะติดจนสร้างแรงกระเพื่อมมีผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศลาออก เพราะคิดว่าเรื่องจะเงียบลง แต่เรื่องกลับไม่เงียบยังถูกขุดคุ้ยต่อ นี่คือสิ่งที่สะท้อนชัดเจนว่าถ้าไม่มีหมอผู้ใหญ่ออกมาเล่นด้วย ไม่ออกมาพูดเปิดโปง ทุจริตเรื่องนี้ก็คงไม่มีจุดจบ เพราะที่ผ่านมาผู้ใหญ่แต่ละกระทรวง รู้ ๆ กันอยู่ว่าเรื่องที่ไม่ดี ๆ ก็เอาไปซุกไว้ใต้พรม กลัวว่ากระทรวงจะเสียชื่อ แต่หมอมงคล มีอุดมการณ์ที่ต้องการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และทำให้องค์กรที่สังกัดอยู่ปลอดจากทุจริต เรื่องนี้จึงเดินหน้าจนสำเร็จ”
รสนา ยังชี้ให้เห็นว่า เรื่องทุจริตยา เป็นกรณีศึกษาสำคัญที่ได้เห็นบทบาทของภาคประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านสังคมที่ได้ใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้มีกลไกภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญสามารถเข้าชื่อ ตรวจสอบ ถอดถอนนักการเมืองได้ ซึ่งกรณีทุจริตยา เป็นคดีแรก ๆ ที่หากปราศจากแรงสนับสนุนจากหมอมงคล เรื่องนี้ก็อาจไม่ง่าย เพราะทุกคนรู้ว่าเป็นเรื่องภายใน แต่พอเปิดโปงออกมาก็สามารถโยงใยไปถึงรัฐมนตรี
“ทุกคนเชื่ออยู่แล้วว่านักการเมืองมีเอี่ยวทุจริต นี่จึงเป็นกรณีแรกที่เราสามารถจับทุจริตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ จนนำไปสู่การยึดทรัพย์ ได้รับโทษทางอาญาข้อหารับสินบน และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เป็นคดีสำคัญที่เปิดให้ประชานมีส่วนร่วมตรวจสอบแทบทุกขั้นตอน กรณีเรื่องทุจริตยาจึงเห็นชัดเจนว่า หมอมงคลคือฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดการตรวจสอบในแวดวงราชการจนประสบความสำเร็จ”
แง่มุมตลอดชีวิตการทำงานของ หมอมงคล ถูกรับรู้และจดจำในฐานะของผู้ที่ไม่ยอมจำนนต่อปัญหาอุปสรรค และพร้อมที่ก้าวผ่านเพื่อจุดมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ซึ่งพิธีรดน้ำศพ ดำเนินไปอย่างสงบ และเรียบง่าย ตามที่หมอมงคลสั่งเสียเอาไว้
หลังจากนำร่างเข้าสู่กระบวนการเป็นอาจารย์ใหญ่แล้ว ครอบครัวจะนำรูปถ่ายของหมอมงคล ไปประกอบพิธีสวดพระอภิธรรม ที่วัดปริวาส ถ.พระราม 3 กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 15 ธ.ค. 2563 เป็นเวลา 1 คืน จากนั้นวันรุ่งขึ้น จะประกอบพิธีฌาปนกิจด้วยรูปถ่าย สำหรับผู้มาร่วมงานหมอมงคลแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าขอให้มาตัวเปล่า หากต้องการร่วมทำบุญ ขอให้บริจาคกับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนได้ทุกแห่ง ถือว่าเป็นไปตามความปรารถนาของหมอมงคล ที่เคยฝากไว้ก่อนถึงสาระสุดท้ายของชีวิต