“การเรียนรู้ คือ ชีวิต” และ “ชีวิต คือการเรียนรู้”
แล้วธรรมชาติของมนุษย์เรา เรียนรู้ไปทำไม? เรียนรู้กันอย่างไร? และเรียนรู้อะไรกัน? ที่จะทำให้ชีวิตเรา อยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย
มันมีปรัชญาการศึกษา หรือทฤษฎีการเรียนรู้อยู่มากมายทั่วมุมโลก ส่วนตัวผมเองชอบแนวคิดการเรียนรู้จากวงสุนทรียสนทนา ที่พูดถึงพัฒนาการของมนุษย์หรือการเรียนรู้ของมนุษย์เรา คือ “ปัญญา 3 ฐาน สมอง 3 ชั้น” ที่ผมมีโอกาสได้เรียนรู้กับ อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู และแนวคิดหลักของการเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Learning) ของสถาบันอาศรมศิลป์ เปิดพื้นที่การเรียนรู้ด้วยหัวใจ (Heart) สมอง (Head) และสองมือ (Hands) ตามธรรมชาติอย่างเต็มศักยภาพ ขอขยายความพอให้เข้าใจสั้น ๆ คือ
1. ฐานกาย (Willing) สมองชั้นต้น ทำหน้าที่ควบคุมเรื่องการแสดงออก ถ้าอยู่ในโหมดปกติ จะแสดงออกถึงความมุ่งมั่น ความกล้า ส่วนโหมดปกป้อง จะแสดงออกตรงกันข้ามกับโหมดปกติ เป็นความไม่มั่นคง ความกลัว การได้ลงมือทำจริง ฐานกายนี้คือช่วงของการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอดและปลอดภัย ที่จะพัฒนาสู่ฐานใจที่นำมาสู่ความรู้สึกและการรู้ตัว
2. ฐานใจ (Felling) สมองชั้นกลาง ทำหน้าที่ควบคุมเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ถ้าโหมดปกติ ก็จะแสดงความรู้สึกด้านบวก ถ้าเป็นโหมดปกป้องก็จะแสดงความรู้สึกด้านลบ การเรียนรู้หรือพัฒนาการช่วงนี้สำคัญมากเพราะการเข้าใจตนเอง คือจุดเริ่มต้นของการเข้าใจ หรือเห็นใจผู้อื่น จะเป็นการผสานทั้งฐานกาย (Willing) และใจ (Felling) ไปด้วยกันที่ว่าของเราเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย
3. ฐานคิด (Thinking) สมองชั้นนอก ทำหน้าที่ควบคุมเรื่องความคิด การเชื่อมโยง การวิเคราะห์ การจดจำ จินตนาการ โหมดปกป้อง จะยึดติดแบบแผนเก่า ๆ เดิม ๆ โหมดปกติ จะคิดสร้างสรรค์ ยืดหยุ่น ฐานนี้จะผสานทั้ง 3 ฐาน กาย (Willing) ใจ (Felling) คิด (Thinking) เข้าด้วยกัน
ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ยังสอดคล้องกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาในหลัก “ไตรสิกขา” คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือแม้แต่ “สติปัฏฐาน 4” กาย เวทนา จิต ธรรม จากแนวคิดและหลักธรรมดังกล่าวข้างต้น มีอิทธิพลต่อผมไม่น้อยในการออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับตนเองและผู้เรียน ได้น้ำได้เนื้อบ้าง ไม่ได้บ้าง ตามเหตุและปัจจัย แวดล้อม
“ห้องเรียนธรรมชาติ และชุมชน”
เป็นอีก 1 ชุดประสบการณ์เล็ก ๆ ที่ผมออกแบบขึ้นกับคนในชุมชนช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 ระบาดหนักระลอก 4 เอาเข้าจริงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลยกับการชวนนักเรียนไปเรียนรู้ และทำกิจกรรมกันในป่า ในชุมชน หรือนอกห้องเรียนกับคนในพื้นที่
แต่ในสถานการณ์นี้ ผู้คนเต็มไปด้วยความกลัว ความกังวล จนต้องกลับไปสู่พื้นที่ปลอดภัย คือ บ้านของตัวเอง ลดการพบปะ และเข้าหาผู้คนในชุมชน และสังคม รวมทั้งโรงเรียนเองก็เลือกใช้การเรียนการสอนออนไลน์ไปก่อนในสถานการณ์ดังกล่าว แน่นอนว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด ทั้งเรื่องของความปลอดภัยและประสบการณ์เรียนรู้ของผู้เรียน เพราะความจริงที่เราต่างรู้ชัดกันดีอยู่แล้วการเรียนการสอนออนไลน์ช่วยได้นิดเดียว ตราบใดที่อุปกรณ์พื้นฐานอย่างโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ที่เป็นฮาร์ดแวร์ โปรแกรมการเรียนรู้ แอปพลิเคชัน ปฏิบัติการที่เป็นซอฟต์แวร์ หรือระบบไฟฟ้า และระบบอินเทอร์เน็ต ยังไม่ได้ถูกจัดการดูแลอย่างทั่วถึง ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้จริง
มากกว่านั้น คือทักษะชีวิตในการเอาตัวรอด และอยู่ร่วมกับสถานการณ์โลกยุค VUCA World และอุปนิสัยของผู้เรียนที่มีนิสัยของการใฝ่เรียน ใฝ่รู้ และมีวินัยในการนำพาหรือจัดการเรียนรู้ให้กับตัวเองที่ยังเป็นโจทย์ให้ครู คนในวงการการศึกษา และคนในสังคม กลับมาทบทวนบทบาทของตนเองว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรกันอยู่ และปัจจุบันเราต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ทักษะและอุปนิสัยดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง ๆ กับผู้เรียนในปัจจุบันที่พวกเขาจะเป็นพลเมืองขับเคลื่อนสังคมในอนาคต
“ตอบโจทย์อะไร ตอบโจทย์อย่างไร”
การเรียนการสอนออนไลน์ ตอบโจทย์ครู หรือ ผู้เรียนบางกลุ่ม แต่ยังมีอีกหลายคน หลายกลุ่ม ที่ตกหล่นและกำลังจะหลุดหายไปจากระบบการศึกษาที่มีโรงเรียนทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน
“ห้องเรียนธรรมชาติ และชุมชน” จึงเป็นทางเลือกน้อย ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับครู และกลุ่มนักเรียนดังกล่าวที่เข้าไม่ถึงการเรียนทางไกล หรือเข้าถึง แต่พลังสายตาและหัวใจอ่อนล้า และเหน็ดเหนื่อยเหลือเกินกับการเรียนออนไลน์ โดยเริ่มต้นจากผมเอง ที่มองเห็นปัญหาจากความทุกข์ของตนเอง และความทุกข์ของนักเรียน ที่ต้องทำอะไรสักอย่าง
เราเริ่มต้นจากการสำรวจนักเรียนของโรงเรียนตนเองว่าในชุมชนนี้มีอยู่กี่คน แล้วจำนวนดังกล่าวมีใครบ้างที่เจอปัญหากับการเรียนออนไลน์ หรือมีปัญหาการเข้าไม่ถึง ทางโรงเรียนเองก็ให้พื้นที่และโอกาสในการสร้างสรรค์ห้องเรียนธรรมชาติและชุมชน
เราโฟกัสที่นักเรียนของโรงเรียนที่ผมสอนก่อนเป็นอันดับ 1 จากนั้นค่อยขยายไปยังนักเรียนในชุมชนที่ผมอยู่ ในช่วงแรก ๆ มีนักเรียนสนใจร่วมกิจกรรม “ห้องเรียนธรรมชาติ และชุมชน” อยู่ 8 คน และห้องเรียนก็เติบโตขึ้นจนถึง 32 คนในครั้งล่าสุด และขยายความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงผู้เรียนกับธรรมชาติและชุมชน ต่อยอดไปไกลหลากหลายมิติ โดยเริ่มต้นครั้งแรก
“ภูเขาหลังบ้านที่อยู่ใกล้แค่นี้ แต่แปลกใจหลาย ๆ คนไม่เคยได้ไปเยือน“
“ครูคะ รองเท้าที่หนูใส่มาขึ้นเขาวันนี้ หนูยืมเขามา หนูว่าไม่น่าจะรอดค่ะวันนี้”
“หน่อไม้นี้กินได้ไหมคะครู เพิ่งเคยเห็นครั้งแรกเลย”
“ต้นนี้เหรอครับ ต้นช้างร้อง ที่มันคัน ๆ ร้อน ๆ แสบ ๆ”
“อยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย”
เสียงสะท้อนบางส่วนจากการร่วมชั้นเรียนห้องเรียนธรรมชาติในครั้งเริ่มแรก ที่เราเลือกเส้นทางเดินป่า ศึกษาธรรมชาติ ตามรอยเส้นทางของคนในชุมชนที่ให้เส้นทางนี้ในการหาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ กันอยู่แล้วเป็นปกติ หรือผมเองก็เคยมีประสบการณ์กับเส้นทางนี้ในวัยเด็ก ทำให้ความทรงจำในอดีตของผม และน้อง ๆ ในทีมงานเองก็กลับมาปะติดปะต่อเป็นเรื่องราว ได้เล่าเรื่องให้นักเรียนรับรู้ และแชร์ประสบการณ์ปัจจุบันตรงหน้า และอดีตสู่กันฟัง แม้ขนาดภูเขาที่ชาวบ้านเรียกว่า “ภูช้าง” ตามลักษณะที่เหมือนช้างจะไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมาย แต่ก็มีคนหลงป่า สูญหายระหว่างทางอยู่บ่อย ๆ
ฝนเริ่มลงเม็ด จากเบา ๆ กลายเป็นหนักขึ้นเรื่อย ๆ การขึ้นเขาของพวกเราเริ่มทุลักทุเล พวกเราและนักเรียนเกือบสิบชีวิตต้องรีบเอาตัวเองหลบฝน หลบใต้ต้นไม้ใหญ่บ้าง ซอกหลืบหินบ้าง ดูทุกคนยังมีร้อยยิ้ม และตื่นเต้นกับประสบการณ์แม้เพียงเริ่มต้นก็พบอุปสรรคตรงหน้าที่มาเร็วกว่ากำหนด
สภาพทางเดินเล็ก ๆ ขึ้นเขา ที่เป็นดินเหนียวเมื่อเจอน้ำ คือความลื่นไหลเป็นสไลด์เดอร์ หลายคนลื่นล้ม เสียงหัวเราะ และเสียงกรี๊ดดังสลับกันเป็นระยะ แต่ทุกคนยังสนุก ชุดนักท่องเที่ยวสายชิลล์ก่อนขึ้นเขา บัดนี้ได้กลายเป็นนักผจญภัยสายเลอะเทอะเปื้อนดินในที่สุด ทั้งครูนักเรียนตอนนี้เราต่างเอาตัวรอด จากการเดินขึ้นเขาสุดหิน และภาพสุดประทับใจงดงามไม่แพ้พืชพรรณนานา คือการอยู่ร่วม ที่ทุกคนช่วยกันดูแลประคับประคองให้เราไปยังจุดเป้าหมายร่วมกันให้ได้และปลอดภัย
ฝนหยุดตกแล้ว ความชื้น และละอองฝนจากพื้นล่าง ค่อย ๆ เคลื่อนลอยเป็นกลุ่มหมอกและเมฆขาวไหลผ่านพวกเราใกล้เพียงเอื้อมมือ ในบ่ายวันนี้ ที่ริมหน้าผาจุดหมายปลายทางของพวกเราที่มาถึง
“นี่บ้านเรา มันสวยขนาดนี้เลยเหรอครับ ผมไปอยู่ไหนมา ทำไมไม่เคยรู้มาก่อนว่าบ้านเราเจ๋งขนาดนี้”
“ครูคะ มันเกินคาดจริง ๆ ที่หนูมาวันนี้ …เหนื่อยมาก โหดมาก แต่ทำไมหนูสนุกและมีความสุขมาก ๆ เลยค่ะ”
“วิวแบบนี้ และหมอกวิ่งไหลผ่านหน้า มันเหมือนในฝันเลย”
“นั้นไงครับ หลังคาโรงเรียน และแท็งก์น้ำประปาหมู่บ้านพวกเรา”
ทุกคนหอบตัวเองตัวเปียกปอนมาจนถึงจุดหมายปลายทาง และของขวัญตรงหน้าคือวิวทิวทัศน์ด้านล่างที่มองเห็นความงดงามของอ่างเก็บน้ำในชุมชน ภูเขาน้อยใหญ่ ทุ่งกว้างสีเขียวอยู่ใกล้ ๆ คืออ้อย พืชเศรษฐกิจของชุมชน และเหมือง โรงโม่หินขนาดย่อม คือความจริงตรงหน้าติดกับความงาม สะท้อนความจริงที่เกิดคำถามมากมายจากนักเรียน และสมาชิกของห้องเรียนธรรมชาติครั้งนี้
“ผมเห็นตอต้นไม้ใหญ่ หลายต้นมากครับระหว่างทางบนเขา เขาเอาลงไปได้อย่างไร”
“ครูครับโรงโม่หินนี่ มันมีนานแค่ไหนคับ”
“ก่อนหน้าที่โรงโม่หิน ตรงนี้หน้าตามันเป็นอย่างไร”
“ถ้าหนูไม่ได้ขึ้นมาจุดนี้ คือไม่รู้เลยว่า โรงโม่หินมันจะใหญ่และกว้างขนาดนี้”
“แล้วหินบ้านเรา จากภูเขาบ้านเรา มันถูกขนส่งไปไหนต่อคะครู”
“แปลกใจค่ะ ทำไมโรงโม่หินก็อยู่ใกล้ แต่ทำไมถนนหนทางบ้านเรายังแย่อยู่เลย”
ดูเหมือนวิวความงาม และความจริงตรงหน้า จะเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึก ความคิด ให้ประเด็นความสงสัย สนใจใคร่รู้กับผู้เรียนห้องเรียนธรรมชาติและชุมชนครั้งนี้อยู่ไม่น้อย
หลายคำถาม มีคำตอบ และหลายคำถาม ก็ไม่มีคำตอบจากครู และผู้ร่วมเรียน แต่สิ่งที่เราเห็น รู้สึก และสัมผัสได้ในประสบการณ์สั้น ๆ เกือบ 5 ชั่วโมงภาคบ่ายวันพุธครั้งนี้ คือบทเรียนธรรมชาติที่เราต้องเอาตัวรอดให้ได้จากการเดิน ปีน และมุดป่าขึ้นเขา อยู่ร่วมกันในการดูแลกันและกัน แบ่งปันน้ำ ขนม
และมากกว่านั้น เราได้ตั้งคำถาม สนทนาถึงความงาม ความดี ความจริงตรงหน้า ที่ผมตีความเอาเองว่าคืออาการอยู่อย่างมีความหมาย และจากการตั้งคำถาม หาคำตอบ จากจุดเล็ก ๆ นี่แหละ ที่จะนำไปสู่การลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่าเดิมตามศักยภาพ กำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญาของเรา
ห้องเรียนธรรมชาติและชุมชนครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่นำพาตัวเองและผู้เรียนได้ออกจากจอห้องเรียนออนไลน์ ปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอมือถือ มาเปิดประสบการณ์ให้อายตนะทั้ง 6 ได้เปิดประตูและสัมผัสรับรู้ ความดี ความงาม และความจริงตรงหน้า เพื่อปลุกพลัง เห็นความเชื่อมโยงของตนเองกับธรรมชาติ และชุมชน ดึงศักยภาพภายใน และทักษะชีวิตของผู้เรียนให้มีชีวิตชีวาร่วมกันอีกครั้งในสถานการณ์ที่ความกลัว และความกังวลของโรคระบาด
ห้องเรียนธรรมชาติและชุมชน เรายังมีเรื่องเล่า บทเรียนที่ทำต่อเนื่องกันมาตลอดเกือบ 3 เดือน มาแบ่งปันกันยาว ๆ ในตอนต่อไปนะครับ