ให้โอกาส “พื้นที่กลาง (ใหม่)” ได้สร้างสันติภาพ

มีการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีจากภาคประชาสังคมหลากหลายกลุ่มในพื้นที่อย่างคึกคักและมีความหมาย ก่อนการพูดคุยสันติภาพทางการครั้งแรก ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีการลงนามในเอกสาร ‘ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพ’ ระหว่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย และขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ “บีอาร์เอ็น” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นับเป็นจุดเปลี่ยนในเชิงนโยบายที่สำคัญส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพลวัตความขัดแย้งยืดเยื้อชายแดนใต้/ปาตานีที่มีมาอย่างยาวนาน

และช่วงเวลาที่บทบาทของภาคประชาสังคมในฐานะ “ฝ่ายที่สาม” ข้อต่อที่สำคัญระหว่างพื้นที่กับคู่ขัดแย้ง (รัฐกับขบวนการเอกราช) รวมไปถึงบทบาทของผู้ริเริ่ม “คนในคือผู้จุดคบเพลิงสันติภาพ” สามารถลงหลักปักฐานและสัมพันธ์กับกระบวนการสันติภาพจนสามารถต่อรองกับความรุนแรงได้ อย่างมีวิชาการรองรับแล้วด้วย ‘ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี’ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ย้อนความให้เห็นว่า อย่างน้อยช่วงปี 2554 มีแนวคิดเรื่องการสร้าง “พื้นที่กลาง” (common space) ขึ้นมาแล้ว

“พื้นที่กลาง” คืออะไร ทำหน้าที่อะไร?

“พื้นที่กลาง” (common space) เป็นพื้นที่ทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายกลุ่ม มีความเป็นอิสระ แต่ละกลุ่มที่เข้ามามีความเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงออก สามารถเรียกร้องความต้องการของตนเอง ร่วมกับกลุ่มอื่น ๆ เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง ลดโอกาสในการเกิดความรุนแรง ทั้งเป็น “ตาข่ายรองรับ” (safety net) หนุนเสริมกระบวนการ พูดคุยสันติภาพ หากการพูดคุยไม่ก้าวหน้า สะดุด หรือมีปัญหาระหว่างทาง

ขณะนั้น ภาคประชาสังคม หรือ “คนใน” เองไม่มีใครคิดว่าการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นจริง ในปี 2556 และไม่สามารถปฏิเสธบทบาท “เวทีสร้างสันติภาพจากคนใน: Insider Peace Building Platform: IPP” หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ “วงไอพีพี”

“แม้ว่าภาคประชาสังคมไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพ แต่ก็มีส่วนร่วมในการติดตามอย่างใกล้ชิด (monitor) เสนอแนะแนวทางต่าง ๆ ทำให้การพูดคุยครั้งนั้นเดินไปตามเสียงเรียกร้องของภาคประชาชน สิ่งที่สะท้อนได้ดี คือ การยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน 2556 มีเสียงเรียกร้องจากภาคประชาสังคม ชาวบ้าน ผู้นำศาสนาในพื้นที่ให้ลดหรือยุติความรุนแรง เป็นครั้งแรกที่สองฝ่ายคู่ขัดแย้งตกลงกันว่าจะสร้าง “รอมฎอนสันติ” ขึ้นมา”

ศรีสมภพ ระบุ

ทั้งนี้การออกแบบวงไอพีพีวางอยู่บนพื้นฐานความหลากหลายของผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน มีส่วนผสมของ กลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนา และอุดมการณ์ทางการเมือง ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษา และตัวแทนของฝ่ายความมั่นคง การคัดเลือกสมาชิกเข้าในวงเป็นไปอย่างมีหลักเกณฑ์และวางกระบวนการเรียนรู้ที่ชัดเจน สิ่งที่สำคัญยิ่งคือการสร้าง “พื้นที่กลาง” ให้วงเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันได้อย่างอิสระ ตามข้อตกลงสากลคือ กฎสถาบันแชทแธม ลอนดอน (Chatham House’s rule) ที่ตอกย้ำทุกครั้งก่อนเริ่มวง โดยหวังให้กลุ่มคนที่มุ่งมั่นในการสร้างสันติภาพเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สร้างบรรยากาศเพื่อผลักดันกระบวนการสันติภาพให้สามารถดำเนินต่อไปได้ และวงสามารถดำเนินมาถึงปัจจุบันได้มากกว่า 30 ครั้ง นับเป็นวงคุยต่อเนื่องที่ยาวนานอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ลักษณะเฉพาะของวงไอพีพีได้กลายรูปเป็นพื้นที่เชื่อมเครือข่ายการทำงานของผู้เข้าร่วมในแต่ละกลุ่ม รวมถึงขยายผลการทำงานในวงกว้างอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ความสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วมวงอย่างไม่เป็นทางการแต่เป็นธรรมชาติ มีการประยุกต์นำความรู้และเครื่องมือส่งต่อในเวทีย่อย ๆ ระดับชุมชนบ่อยครั้ง ตอกย้ำบทบาท “ภาคประชาสังคม” ในฐานะเป็นผู้เล่น “ฝ่ายที่สาม” ที่สำคัญในแทร็กสองของกระบวนการสันติภาพสามารถเชื่อมโยงเสียงจากชุมชนรากหญ้าในแทร็กสาม ไปให้ผู้กำหนดทิศทางของความรุนแรงในแทร็กหนึ่ง “ได้ยิน” ได้ โดยพวกเขาเข้าใจบทบทของ “คนใน” และ “คนกลาง” ที่ทำหน้าที่หนุนเสริมกระบวนการ สันติภาพอย่างคึกคักมากในช่วงปี 2555-2558

การเกิดขึ้นของ “พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน” นำไปสู่กระบวนการสันติภาพแบบหลายช่องทาง (Multi-Track) ดังภาพประกอบข้างต้น องค์กรภาคประชาสังคมต่างร่วมกันทำงานเพื่อสร้างความตื่นตัวของสาธารณชนเพื่อนำไปสู่การหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ข้อเสนอจาก “คนใน” ที่ทำได้จริง คือ การจัดเวทีสาธารณะเรื่องสันติภาพอย่างต่อเนื่อง

โดยพวกเขา: องค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ และเครือข่ายสามารถริเริ่มดำเนินการได้เอง มีการประสานจังหวะเวลา และประเด็นเพื่อให้การทำงานสอดคล้องกัน และเวทีเหล่านี้ มีส่วนอย่างสำคัญในการสื่อสาร กับสื่อมวลชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ มุ่งหมายให้ประชาชนได้รับรู้ มีความเข้าใจ และเห็นการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพจากฝ่ายต่าง ๆ ไปพร้อมกัน

ผลจากการมี “พื้นที่กลาง” และเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยนั้น ด้านหนึ่งก็กลายเป็นพื้นทีพูดคุย “นอกโต๊ะเจรจา” กลายเป็นพื้นที่ต่อรอง และ “พื้นที่ของบทสนทนา” พยายามหาทางออกทางการเมืองเพื่อออกจากปัญหาความรุนแรงอย่างสำคัญ ประเด็นที่เคยเป็นเรื่องต้องห้าม เช่น เรื่องการปกครองตนเอง และ “เอกราช” (Merdeka) สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง ได้ถูกหยิบยกมาอภิปรายในพื้นที่สาธารณะ การอภิปรายเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องเอกราชอย่างเปิดเผยเป็นเรื่องที่ยากจะจินตนาการในช่วงที่ผ่านมา

พื้นที่บทสนทนาเหล่านี้, เกิดขึ้นผ่านรูปแบบของวิดีโอยูทูบที่เผยแพร่โดยฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น และเวทีอภิปรายสาธารณะ ซึ่งมีการถกเถียงถึงความเป็นไปได้ในการแสวงหา “ทางออก” จากความรุนแรงในหลายรูปแบบ การขยายตัวของบทสนทนาเหล่านี้ สร้างความตื่นตัวทางการเมืองในหมู่ประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง พวกเขากล้าที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นที่มีความอ่อนไหวมากขึ้น (ดังภาพประกอบ)

ช่วงเวลาทองผ่านไปอย่างรวดเร็ว, เมื่อการพูดคุยสันติภาพ “อย่างเป็นทางการ” สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปราะบาง ไปต่อไม่ได้ หลังจากฝ่ายบีอาร์เอ็นยื่นข้อเสนอ 5 ข้อต่อรัฐบาลไทย ยืนยันเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของดินแดนปาตานีและให้ยอมรับพวกเขาในฐานะนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพของชาวปาตานีไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน “วงไอพีพี” จึงร่วมกับ “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” หารือแนวทางสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ “ไม่ให้ล่ม” ทั้งทำ “โรดแม็ปฉบับภาคประชาชน” และออกแบบเอกสารเชิงนโยบาย “เราจะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้อยย่างไร?” เป็น 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ และมลายู) ส่งให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2556 (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่) ตามแนวคิด ‘ตาข่ายนิรภัย’ (safety net) รองรับจากประชาชน ทว่า การรัฐประหารในปี 2557 ก็ทำให้การพูดคุยครั้งนี้ต้องยุติลงโดยปริยาย

สิ่งที่น่าสนใจ, แม้วงไอพีพีจะบ่มเพาะมาก่อนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ เมื่อกุมภาพันธ์ 2556 แต่ก็มีปฏิกริยาจากฝ่ายไม่เห็นด้วยในหมู่นักกิจกรรมนักศึกษา คือ “กลุ่มเปอร์มัส” (PerMAS) ในขณะนั้น ที่พัฒนาเป็น “เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ” (คปส.) (ภายหลังเปลี่ยนเป็น “สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)” พวกเขาเห็นว่า กระบวนการพูดคุยที่ดำเนินอยู่นั้นไม่ใช่ “กระบวนการสันติภาพที่แท้จริง” แต่มาจากการบีบบังคับกลุ่มผู้เห็นต่างและขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐที่พำนักอยู่ในฝั่งมาเลเซียผ่านการกดดันของทาง การมาเลเซีย ที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก พวกเขาวิจารณ์บทบาทของมาเลเซียว่าไม่เหมาะสม ทั้งยังมองว่าเสียงของ “สันติภาพ” นั้น ต้องฟังคนในพื้นที่อีกมาก และโดยความหมายของ “สันติภาพ” ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งวิจารณ์บทบาทของภาคประชาสังคมว่าไม่ได้เป็น “ตัวแทน” ที่แท้จริงของชาวปาตานี ที่มีสภาประชาสังคมชายแดนใต้นำแต่ฝ่ายเดียว ส่วนพวกเขาก็ไปจัดวงพูดคุยอันร้อนแรงในพื้นที่ระดับชุมชนและหมู่บ้านที่ชื่อ “บีจารอปาตานี” กล่าวได้ว่า พวกเขาคือกลุ่มคนที่ทำงานในแทร็กสามอย่างเข้มข้นนั่นเอง

“พื้นที่กลาง” ของฝ่ายที่สามหายไป?

ช่วงเวลาที่กลายเป็นจุดพลิกผันของวิธีคิดและปฏิบัติการของ “พื้นที่กลาง” ของภาคประชาสังคม หรือของฝ่ายที่สามหายไป ‘ศรีสมภพ’ ระบุว่า หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นับจากปี 2557 เป็นต้นมา สถานการณ์ เปลี่ยนไป สิ่งที่น่าสนใจคือ รัฐบาลผู้มีอำนาจ หลังปี 2557 ยังผลักดันกระบวนการสันติภาพอยู่ ทว่า ปรับแนวคิดที่ขับเคลื่อนจากก่อนหน้านั้น ลดทอนเหลือแค่เป็นการ “สร้างสันติสุข” ไม่ใช่สันติภาพเหมือนที่ผ่านมา พยายามจะพูดคุยกับ ‘คนใน’ กุมสภาพการพูดคุย กุมสภาพการพูดคุยกลับมา ไม่ให้มุ่งเน้นแต่ในเรื่องของอำนาจการปกครองเป็นหลัก แต่ให้มีการพูดคุยเรื่องการสร้างความสงบสุขในพื้นที่ การป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนการ อยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจคือ ภาครัฐ โดยฝ่ายความมั่นคงเข้ามาจัดการ ‘พื้นที่กลาง’ นี้เอง ผ่านคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 230/2557 มีการจัดโครงสร้างกลไกการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขใหม่ เป็น 3 ชั้น มีคณะกรรม การอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ (สล.1) เป็นส่วนกำหนดนโยบายลงมา มีคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ (สล.2) และมีคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) โดย กอ.รมน ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้ดูแลจัดการอยู่

โดย “สล.3″ ที่ถูกกล่าวขานกันนั้น พยายามแสดงบทบาทเป็น “พื้นที่กลาง” ที่รัฐเป็นคนจัดการรวมเอาภาคประชาสังคมกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาทำงานร่วมกับรัฐ มีการจัดการ มีแผนงานงบประมาณส่งให้ ความหมายของคำว่า “พื้นที่กลาง” ก็เริ่มขยับออก มีภาคประชาสังคมบางกลุ่มปฏิเสธเข้าร่วมใน “พื้นที่กลางที่รัฐเข้ามาจัดสรร” นี้ เพราะมีการจัดการที่ทำให้แปรเปลี่ยนความหมายของ “พื้นที่กลาง” ที่เคยเกิดขึ้น

“‘พื้นที่กลาง’ ที่เคยเป็นอิสระ การเข้าร่วมจากหลากหลายกลุ่ม มีการสยายตัวด้วยตัวมันเอง แง่ของอาสาสมัครเข้าร่วมโดยสมัครใจ และสร้างเป็นเครือข่าย เปิดพื้นที่พูดคุยกันอย่างหลากหลายมีชีวิตชีวาก็หดหายไป”

“จากเดิมพื้นที่กลางที่เคยหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ก็กลายเป็นพื้นที่กลางโดยรัฐเพื่อไปหนุนเสริม “คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายรัฐ” (สล.2) ตามโครงสร้างอำนาจรัฐที่กำหนดลงมา จัดตั้งขึ้นมาใหม่”

“เรื่องก็ดำเนินเช่นนี้มาหลายปี เกิดข้อถกเถียงในภาคประชาสังคมกลุ่มต่าง ๆ ว่า การทำงานร่วมกับ สล.3 เป็น “พื้นที่กลาง” จริงหรือไม่ ภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งจึงทยอยถอยออกมา แม้ว่าก่อนหน้านี้พวกเขามีความปรารถนา ความตั้งใจจริงในการทำงานเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพก็ตาม และสร้างระยะห่างกับ คณะ สล. 3 มากขึ้น รัฐเองก็พยายามรวบรวมเสียงของภาคประชาสังคม ขณะนี้ มีมากกว่า 300 คน ที่ทำงานอยู่ร่วมกับ สล.3 เป็นข้อมูลที่แม่ทัพภาค 4 เคยอธิบายไว้ ซึ่งนับว่าเป็นภาคประชาสังคมกลุ่มใหญ่มากทีเดียว” ศรีสมภพ ระบุอีกว่า ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมกลุ่มอื่น ๆ ก็มีการทำกิจกรรมกันบ้างรอบ ๆ แต่ไม่ใหญ่เท่ากับพื้นที่กลางที่รัฐจัดสรรมา

ปัญหาคือ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ช่วงปี 2565 “คณะพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทย และขบวนการบีอาร์เอ็นที่ภายหลังกลับเข้ามาร่วมพูดคุยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง มีข้อสังเกตจากฝ่ายเห็นต่างจากรัฐว่า “พื้นที่กลางที่รัฐจัดให้” ลักษณะนี้ ไม่ใช่ความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย เพราะฝ่ายรัฐจัดการอยู่ฝ่ายเดียว และฝ่ายคนที่เห็นต่างจากรัฐควรมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ในการทำงาน และรวบรวมเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคมด้วย

จนมาถึงขณะนี้ คณะพูดคุยสันติสุข จชต.ชุดปัจจุบัน ฝ่ายบีอาร์เอ็น และผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ที่เพิ่งถูกแต่งตั้งขึ้นมา มีความต้องการผลักดัน “เนื้อหาสารัตถะ” หรือกรอบในการพูดคุย 3 ประเด็น: การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ยอมรับร่วมกันว่าควรเดินเส้นทางนี้ แต่ว่าการปรึกษาหารือสาธารณะ กลไกที่เป็นรูปธรรมควรเป็นอย่างไร ยังมีช่องว่าง มีแนวคิด แต่ไม่มีรายละเอียด จะใช้พื้นที่ที่รัฐสร้างขึ้นมาหลายปีนี้ ตามโครงสร้างนี้ หรือสร้าง “พื้นที่กลางใหม่” ขึ้นมาอีกครั้ง ให้คนเข้าร่วมได้อย่างหลากหลาย และมีความอิสระ รวมกลุ่มภาคประชาสังคมและกลุ่มเห็นต่างจากรัฐ เพื่อสร้างพื้นที่กลางอีกแบบหนึ่งขึ้นมาไหม?

ทำให้ “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” อยากได้ “พื้นที่กลางใหม่” ขึ้นมา (new common ground) จากแนวคิดนี้มาสู่การจัดสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 4 (ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) ชูแนวคิดนี้ขึ้นมา ให้มีลักษณะคล้ายกับตลาดนัดประเภทหนึ่ง เป็นพื้นที่อิสระ สามารถต่อรองกันได้ ใครจะเข้าจะออกก็ทำได้โดยสะดวกใจเสรี กลายเป็น “ตลาดนัดสันติภาพ” ให้มีความหมายที่กว้างขึ้น มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายได้จริง ๆ เป็นอิสระ สามารถเป็นตัวของตัวเอง แลกเปลี่ยนกันตามประสบการณ์ของตนเอง มีการยอมรับซึ่งกันและกันในการทำงานทางความคิดร่วมกัน ต่อรองกันได้ ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์

ดังจะเห็นว่า วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ในวาระ “10 ปีกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ประชาชนชายแดนใต้/ปาตานี บทเรียนและการเรียนรู้ สู่ทิศทางและความหวังในอนาคต” ที่มีสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เป็นแกนหลักในการประสานเครือข่ายกลุ่มต่าง ๆ เชิงประเด็นมาระดมสมองเกี่ยวกับสารัตถะของการพูดคุย 3 กรอบเพื่อยื่นต่อ ‘ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อาบีดีน’ ผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ และเขาร่วมกล่าวปาฐกถาย้ำจุดยืนฝ่ายมาเลเซียบริสุทธิ์ใจ คาดหวังว่าการเจรจาจะได้บรรลุแนวทางแก้ไขอันยุติธรรม ยั่งยืน “อยากเห็นทุกฝ่ายขยายการมีส่วนร่วมในสภาพแวดล้อมของแต่ละฝ่าย โดยยึดมั่นในจิตใจที่ยิ่งใหญ่ เพื่อบรรลุสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายสามารถเป็นผู้ชนะได้”

ส่วนฝ่ายคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ส่ง ‘พลเทพ ธนโกเศศ’ ผู้ช่วยเลขานุการและโฆษกฯ กล่าวแทน พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย เขาระบุว่าสถานการพูดคุยสันติสุขผ่าน “จุดที่ไม่อาจย้อนกลับ” (the point of no return) มาแล้ว เพราะถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ต้องดำเนินการตามแผนดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจว่าการพูดคุยจะมีความต่อเนื่องอย่างแน่นอน “ยืนยันการพูดคุยไม่ใช่การยัดเยียดทางออกใดทางออกหนึ่งให้กับอีกฝ่าย แต่เป็นการร่วมกันหาทางออกที่ยอมรับได้ของทุกฝ่ายว่าจะอยู่ร่วมกันได้ในอนาคต”

ด้าน ‘อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน’ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น พูดผ่านคลิปวิดีโอสั้น 23 นาทีและนำมาเปิดในที่ประชุม เขาเริ่มปาฐกภาว่า “หากเรา (บีอาร์เอ็น) ได้รับการคุ้มกันจากรัฐบาลไทยอย่างเพียงพอ เราคงจะสามารถนั่งร่วมกันได้” แม้ว่าทุกฝ่ายบนโต๊ะจะได้กล่าวถึงความคืบหน้าเชิงบวก “แผนที่นำทางของกระบวนการสันติภาพ JCPP”  หรือ “โรดแมปการพูดคุย” ที่มีกรอบเวลาชัดเจนอยู่ระหว่างการทำงานของคณะทำงานร่วมทางเทคนิค แต่ฝ่ายบีอาร์เอ็นบอกว่า ความก้าวหน้าในรอบทศวรรษนั้นเป็นนามธรรม ซึ่งจำเป็นต้องพิสูจน์ทำให้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรมในภาคสนาม แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นในกระบวนการเจรจา สามารถสร้างเครื่องมือการรื้อฟื้นที่สมดุลกับการสร้างอัตลักษณ์ และเพิ่มพูนเกียรติยศของประชาชาติปาตานี นั่นเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดของการเจรจาต่อรอง” ทั้งมีความหวังว่าทุกคนจะมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างทั่วถึง ในความพยายามที่จะแก้ไขชะตากรรมของประเทศนี้ เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อความสงบสุข มั่งคั่ง และยั่งยืนของปาตานี

ก่อนจะจบงานสมัชชาสันติภาพฯ ดังกล่าว ‘ฆอซาลี อาแว’ รองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ยืนยันว่า “ในการสถาปนา ‘พื้นที่กลางใหม่’ นี้ต้องการรวบรวมเสียงของภาคประชาสังคมให้มากที่สุด และพยายามที่จะเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่าย รวมทั้งเสียงของกลุ่มเห็นต่างจากรัฐ โดยเฉพาะขบวนการบีอาร์เอ็น ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมาอย่างไร นี่คือ จุดยืนของสภาประชาสังคม และภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งที่ตั้งใจหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ โดยไม่ถูกจัดตั้งจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือฝ่ายขบวนการ แต่เป็นการมีส่วนร่วมที่อยู่ตรงกลาง ยิ่งกลางมากก็จะยิ่งใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น และคาดหวังจะมีการเปิดพื้นที่เช่นนี้มากขึ้น

แม้เวทีดังกล่าวจะถูกวิพากษ์จาก ‘มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ’ ตัวแทนจากสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) เขากลายเป็นบุคคลที่ทุกฝ่ายห่วงกังวลมากที่สุดว่าจะปล่อยประเด็นแหลมคมและวิพากษ์วิจารณ์ภาคประชาสังคมด้วยกันเองอย่างไร และมีหลายคนพยายามโทรศัพท์หาเขาล่วงหน้าถามถึงเนื้อหาที่จะขึ้นกล่าวบนเวที

ในมุมของเขานั้น เห็นว่า “พื้นที่กลาง” ของภาคประชาสังคมไม่เคยออกจากรั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเลย “ถ้าพื้นที่กลางเป็นอิสระจริง ผู้จัดงานจะมากังวลความคิดทางการเมืองของผมทำไม ทำไมไม่เปิดพื้นที่ให้ผมและเครือข่ายร่วมจัดงานด้วยแต่ต้น ร่วมคิด ร่วมทำกัน ผมและทีมงานสามารถนำเสนอหัวข้อหรือร่วมกำหนดวาระในการขับเคลื่อนด้วย แต่ผู้จัดมีโจทย์มาแล้วว่าอยากให้ผมพูดอะไรบ้างเป็น ‘แนวทาง’ ก่อนถึงวันงาน หลายครั้งก็ทบทวนว่าควรเข้าร่วมงานนี้หรือไม่ แต่เจตจำนงของ CAP คือการทำงานร่วมกับทุกฝ่าย คุยกับทุกคน ผมยอมมาร่วมงานทั้งที่ไม่ใช่ตัวตนของผมเลย”

บทเรียนของภาคประชาสังคมหนึ่งทศวรรษการพูดคุยสันติภาพ

สำหรับ ‘ศรีสมภพ’ แล้ว ตัวแสดงอย่าง “สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)” มีความสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวการสันติภาพอย่างมาก เพราะการสร้าง “พื้นที่กลาง” นั้น ควรจะมีอย่างน้อย 2 ระดับ คือ ก. พื้นที่กลางระดับทั่วไปที่เป็นภาพกว้าง มีภาควิชาการ ภาคประชาสังคมอย่างหลากหลายเข้ามาทำงานร่วมกัน มาช่วยกันคิด อย่างที่กล่าวถึงตอนต้น และ ข. พื้นที่กลางระดับเฉพาะลงไปสู่รากหญ้า ชุมชน ต้องมีกลไกสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงระหว่างกันกัน เพื่อสะท้อนเสียงและข้อเสนอถึงโต๊ะเจรจาสันติภาพให้ได้

กลไกลระดับชุมชน ประชาชนรากหญ้านั้น ฝ่ายรัฐทำนำหน้าไปแล้ว โดยจัดตั้งเป็น “คณะกรรมการสันติสุขระดับตำบล” หรือภายหลังเปลี่ยนเป็น “ศูนย์พัฒนาประชาธิปไตยระดับตำบล” ก็มีความพยายามจากรัฐเข้ายึดกุม ระดับพื้นที่อยู่ ยิ่งต้องมีกลไกจากภาคประชาชนสร้างขึ้นมาและสร้างอย่างมีความหลากหลาย เพราะความขัดแย้งในแต่ละชุมชนนั้น ไม่เหมือนกัน มีประเด็นเฉพาะของแต่ละพื้นที่อยู่ ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้ง เช่น ประเด็นเรื่องวัฒนธรรม ศาสนา การอยู่ร่วมกัน จะมีการตั้งคณะกรรมการในการแก้ปัญหาข้างในอย่างไร หรือบางพื้นที่อาจขัดแย้งกันด้วยประเด็นทรัพยากร สิ่งแวดล้อม จากแผนงานของรัฐที่ลงมาในพื้นที่และเกิดความขัดแย้งแบ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน ก็จะต้องมีกลไกพิเศษอีกแบบหนึ่ง ที่เป็น “พื้นที่กลางเฉพาะในการแก้ปัญหา” นั้น ๆ หรือว่าด้านอื่น ๆ ด้านเศรษฐกิจชุมชน การศึกษา มีประเด็นเฉพาะในหมู่บ้านชุมชนสร้างกลไกระดับรากหญ้าขึ้นมา

และเขาคิดว่า กลไกสำคัญที่ควรเพิ่มขึ้นมาให้เชื่อมต่อกับพื้นที่กลางใหม่นี้ คือ กลไกระดับรัฐสภา ควรเข้ามามีบทบาท โดยตั้งเป็น “คณะกรรมาธิการพิเศษของสภาผู้แทนราษฎร” เพราะตัวแทนของประชาชนจาก การเลือกตั้งควรต้องมาดูแลรับรู้ปัญหาและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย เพื่อ “เพิ่มน้ำหนัก” ให้เป็นวาระแห่งชาติ

มากกว่านั้น ‘ศรีสมภพ’ ช่วยขมวดบทเรียนที่สำคัญของภาคประชาสังคมในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมาว่า แนวทางสันติภาพมี 2 แบบตามทฤษฎี คือ สันติภาพแนวเสรี (liberal peace) เป็นสันติภาพที่สามารถต่อรองกันได้ องค์กรภาคประชาสังคมเป็นอิสระและมีการส่วนร่วมจากหลายฝ่ายหลายภาคส่วน (inclusive) พูดคุยเรื่องความยุติธรรม ความเสมอภาค ประชาธิปไตย มีความร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อช่วยให้มีการแก้ไขความขัดแย้งภายในได้ด้วย เช่น กรณีอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ กับอีกแนวหนึ่ง คือ แนวทางสันติภาพแบบไม่เสรี (illiberal peace) แบบอำนาจนิยม แบบเผด็จการ ที่อำนาจรัฐสามารถเอาชนะได้ ยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นผ่านเลือดเนื้อชีวิตจำนวนมากมากมาย เช่น ในจีนที่ทำกับกลุ่มชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ ในรัสเซียที่ทำกับกลุ่มเชชเนียร์ ในศรีลังการัฐปราบกลุ่มกบฎเลย ทำให้เกิดความสูญเสียรุนแรงมาก

กระบวนการสันติภาพของไทยจะไปแนวทางไหนเป็นเรื่องน่าติดตาม เพราะรัฐ ด้านหนึ่งแข็ง มีมาตรการกฎหมายพิเศษในการจัดการกดความรุนแรงไว้ แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐยืดหยุ่นภายใน ด้วยมีการปรับตัวต่อรองได้ มีสองอย่างผสมกัน ทางฝ่ายภาคประชาสังคมเองสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพได้หรือไม่ คิดว่าเข้าไปได้บางส่วนเท่านั้นเอง และบางส่วนยังเข้าไปมีส่วนร่วมไม่ได้ ฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐเอง ก็มีความเห็นต่างในการเข้ามามีส่วนร่วม

สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ยังไม่สามารถยุติความรุนแรงได้ ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เริ่มปรากฏเหตุการณ์ความรุนแรงอีกครั้งลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ แง่นี้จึงมีอีกแนวคิดหนึ่ง ที่เป็นทางออก คือการสร้างสันติภาพแบบผสมผสาน (hybrid peace) โดยผสมหลายแนวทางเข้ามา เกิดขึ้นหลายประเทศทั่วโลกทั้งที่แอฟริกา และเอเชีย เราอาจจะลองใช้ทางเลือกนี้ แต่ต้องผสมให้ดี อย่าผสมจนเอียงไปทางรัฐมากเกินไปก็จะกลายเป็นแบบอำนาจนิยมนำ หรือผสมแล้วเสรีมากเกินไป ทางฝ่ายรัฐที่อนุรักษ์นิยมก็จะปฏิเสธกระบวนการสันติภาพอีก เหวี่ยงกลับมีอุปสรรคเยอะ ต้องรอให้อำนาจฝ่ายประชาธิปไตยมีความแข็งตัวมาก จึงจะเกิดสันติภาพแบบเสรีได้ ที่เราต้องรอดูจากการเลือกตั้งหรือการพัฒนาการทางการเมืองในอนาคต“การต่อรองของภาคประชาสังคม ยังทำได้อีกมาก บทบาทเดิมที่คิดกันเรื่อง ‘ตาข่ายนิรภัยหนุนเสริมสันติภาพ’ ทุกวันนี้ก็ยังทำสิ่งเหล่านี้อยู่อย่างมีพลัง และยังต้องทำต่อไป”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง