กลายเป็นข้อถกเถียง ตามด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทันที ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติให้เลื่อนการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ออกไปอีก 3 สัปดาห์ โดยให้เหตุผล เรื่องความไม่เหมาะสมของบางถ้อยคำในกฎหมาย และกังวลว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แต่อีกด้าน นักวิเคราะห์การเมือง, สส.ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน มองว่า อาจไม่ใช่เหตุผลตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง โดยตั้งข้อสังเกต ว่ามีเบื้องลึก เบื้องหลัง ที่อาจไปกระทบบางกลุ่มจนทำให้สูญเสียอำนาจ ผลประโยชน์ หากกฎหมายชาติพันธุ์ มีผลบังคับใช้ พวกเขาจึงเชื่อว่า เรื่องนี้มี กระบวนการแทรกแซงทางการเมือง เตะตัดขาให้กฎหมายฉบับนี้ต้องสะดุด และถูกเลื่อนการพิจารณาออกไป
‘เพื่อไทย’ เคลียร์ไม่ลง!
อำนาจรัฐ – ทุน – กลุ่มเสียประโยชน์ สกัดกั้นกฎหมาย ?
รศ.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย วิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับ The Active โดยย้ำว่า เหตุผลของการเลื่อนพิจารณากฎหมายนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะกฎหมายชาติพันธุ์ คือ หนึ่งในร่างกฎหมายหลัก เป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และความเห็นจากกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ที่ผ่านมาพรรคร่วมรัฐบาลจึงไม่มีปัญหากับกฎหมายนี้ และ ผู้อาวุโสในพรรคเพื่อไทย ก็ได้ทำความเข้าใจต่อกฎหมายนี้ ซึ่งหลายคนก็เห็นด้วยกับการสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว
แต่การประชุมสภาฯ ในการพิจารณากฎหมายนี้หลายครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุด (15 ม.ค. 68) ตัวแทนพรรคเพื่อไทย 4 คน คือ วรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล สส.แพร่, นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สส.แพร่, ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.มหาสารคาม และ อดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ ยกมือลุกขึ้นอภิปรายในเชิงไม่เห็นด้วย และขอให้เลื่อนพิจารณากฎหมายนื้ จึงชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทย ยังเคลียร์กันไม่ลงตัว ส่วนตัวเชื่อว่า มีเบื้องหลังของกลุ่มที่เกรงการสูญเสียการผูกขาดอำนาจ หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ เข้าแทรกแซงการเมือง
“ผมทราบดีว่า ในกระบวนการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ มีการล๊อบบี้กันหลายฝ่าย ฝ่ายที่เห็นด้วยกับกฎหมายในพรรคเพื่อไทยก็มีหลายคน แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เนื่องจากถูกล๊อบบี้ข้ามพรรค โดยพรรคที่รับผิดชอบ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็มีอยู่ 4 คนนี้ เลยกลายเป็นประเด็น ว่า พรรคเพื่อไทยเคลียร์กันไม่ลงตัว เพราฉะนั้นถ้าผลักดันกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ พรรคเพื่อไทยก็หมดความน่าเชื่อถือ”
รศ.ธนพร ศรียากูล
ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย วิเคราะห์ด้วยว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะไปคัดคานผู้ผูกขาดอำนาจในการจัดการทรัพยากร เนื่องจาก ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยถูกผูกขาดอำนาจเข้ามาสู่ส่วนกลาง ตั้งแต่ตั้งกรมป่าไม้ แต่กฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจชุมชนพี่น้องชาติพันธุ์ที่เขาอยู่กันมาเป็นร้อย ๆ ปี มีส่วนร่วมและมีบทบาทในการจัดการทรัพยากรด้วยกฎ กติกาชุมชน ซึ่งเท่ากับว่า จะไปสลายอำนาจของรัฐบาลกลางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จึงทำให้มีการขัดขวางกฎหมายนี้
ส่วนข้ออ้างที่ยกขึ้นมาเป็นประเด็นใหญ่ โดยกังวลว่ากฎหมายชาติพันธุ์จะไปละเมิดกฎหมายอื่น ๆ ทั้งกฎหมายอุทยานแห่งชาติฯ และกฎหมายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รศ.ธนพร ย้ำว่า ในเนื้อหาสาระสำคัญจริง ๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น กระทรวงที่เกี่ยวข้องไม่ต้องกลัว เพราะจะเป็นการรองรับสิทธิชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิม
ขณะเดียวกันพี่น้องชาติพันธุ์ ก็จะมีภาระหน้าที่ในการช่วยดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รักษาให้เกิดความยั่งยืน และก่อนการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องตกลงร่วมกันระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ และผ่านคณะกรรมการตามกฎหมายนี้อยู่แล้ว จึงเป็นการทำงานร่วมกัน และจะลดความขัดแย้งที่มีอยู่เดิมของรัฐและชาวบ้านด้วยซ้ำ
แบคใหญ่ ใครก็ไม่กล้าขวาง
วัดใจ นายกฯ ทุบโต๊ะ กล้าตัดสินใจเรื่องนี้
รศ.ธนพร ยังตั้งข้อสังเกตถึง 4 ขุนพล พรรคเพื่อไทย ที่แสดงออกชัดเจนในการอภิปรายไม่เห็นด้วย และขอให้เลื่อนการพิจารณากฎหมายนี้ไปก่อน ซึ่งก็ชัดเจนว่า ล้วนเป็นนักการเมืองอาวุโสของพรรค รู้กันว่าเป็น สส.ในกลุ่มสายตรงของ “เจ๊แดง” – เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องรักของนายใหญ่ ทักษิณ ชินวัตร หรือเป็นอาของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้คนในพรรคที่แม้เห็นด้วยกับร่างกฎหมายชาติพันธุ์แต่ก็ไม่กล้าขัด จึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ความกล้าหาญของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ว่า จะยืนข้างผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์หรือไม่
“จริง ๆ แล้ว ทั้ง 4 ท่าน เป็นนักการเมืองอาวุโส แน่นอนว่าการรู้จักกันต่างพรรคมีอยู่แล้ว การขออะไรกันมันก็ต้องมี และทั้ง 4 ท่าน ก็เป็นสส. หรือเคยทำงานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อันสมบูรณ์ ซึ่งแน่นอนว่าการสนิทสนมคุ้นเคยกับกลไกของรัฐ ที่ทำหน้าที่อยู่ตรงนั้นก็มี เพราะฉะนั้น การทำหน้าที่ของสส. ทั้ง 4 ท่าน จึงผิดไปจากท่าที และนโยบายพรรคที่พูดมาตลอดว่าจะส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์และคนทุกกลุ่ม ซึ่งอันนี้เป็นหน้าที่ของนายกฯ หรือ นายน้อย ต้องเคลียร์ เพราะเป็นหน้าตาของพรรคเพื่อไทย ถ้าไม่ยอมรับนโยบายพรรค ต้องขับ 4 คนนี้ออก งานนี้จะเห็นแก่ความสัมพันธ์ลูกน้องของคุณอา หรือ ประโยชน์ของประชาชน งานนี้จึงวัดใจนายกรัฐมนตรี“
กม.ชาติพันธุ์ สะดุด! ‘เพื่อไทย’ เสียมากกว่าได้
ย้อนกลับไปตั้งแต่พรรคเพื่อไทย เข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล บรรดาแกนนำตั้งแต่อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน, เสริมศักดิ์ พงษ์พานิชย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จนถึง สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนล่าสุด ในรัฐบาลแพทองธาร ต่างแสดงท่าที และย้ำในคำมั่นสัญญาที่รัฐบาล และพรรคเพื่อไทยจะให้การสนับสนุนและส่งเสริมวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ยังแนะให้กลุ่มชาติพันธุ์ ภาคประชาชน ช่วยกันจับตาการพิจารณาร่างกฎหมายชาติพันธุ์นับจากนี้ รวมไปถึงการแสดงออกเพื่อเคลื่อนไหวทวงสัญญาจากรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจไม่ใช่วิธีการเรียกร้องลงถนนเท่านั้น แต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือมีแคมเปญการแสดงออกทางออนไลน์ โซเชียลมีเดีย เพื่อส่งเสียงไปยังรัฐบาล ว่า ประชาชนจับตา และต้องการกฎหมายนี้
ฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ไม่สมศักดิ์ศรี ปล่อยตามเกมวิปรัฐบาล
ส่วนการอภิปรายของฝ่ายค้านในสภาฯ จากมุมมองของ รศ.ธนพร ก็ยังเห็นว่า ขาดความกล้าหาญเพื่อช่วยยืนยันถึง สิทธิชุมชน สิทธิชาติพันธุ์ที่ควรได้รับ แต่กลับไปเล่นตามเกมรัฐบาล ทำให้มติเสนอเลื่อนการพิจารณากฎหมายจบลงอย่างง่ายดาย และเป็นการยื้อเวลาออกไป แทนที่จะได้เดินหน้าพิจารณากันต่อ เพราะฉะนั้น 2 ฝ่าย จะทั้งรัฐบาล และ ฝ่ายค้าน ล้วนไม่ได้เห็นแก่ประชาชน
เชื่อ ‘อำนาจรัฐ – ทุนเหมือง’ เบื้องหลังขวาง ‘กม.ชาติพันธุ์’ ?
และทันทีที่ร่างกฎหมายชาติพันธุ์ถูกเลื่อนพิจารณาออกไปนั้น เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคประชาชน โพสต์ความเห็น โดยตั้งข้อสังเกตต่อกรณีการเสนอเลื่อนพิจารณากฎหมายฉบับนี้ มองว่า ไม่ใช่การคัดค้านด้วยเหตุผลด้านกฎหมาย หรือความคิดเห็นส่วนตัวอย่างแน่นอน เพราะได้รับทราบจากวิปฝ่ายรัฐบาล ว่า สส. อาวุโสที่เป็นนักกฎหมายหลายคนในพรรครัฐบาล ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่มีประเด็นขัดต่อรัฐธรรมนูญ
จึงน่าเชื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นถูกผู้มีอำนาจ ข้าราชการประจำในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะสูญเสียผลประโยชน์ที่ผูกขาดมาโดยตลอด เช่น การบริหารงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการจัดสรร และสินบนจากการอนุมัติอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าเพื่อกิจการต่าง ๆ เช่น การทำโครงสร้างพื้นฐาน การขอสัมปทานพื้นที่ป่าของเอกชน เป็นต้น
เลาฟั้ง ยังเชื่อว่า อีกกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังสกัดกฎหมายชาติพันธุ์ คือ กลุ่มนายทุนเหมืองแร่ จะเสียผลประโยชน์มหาศาล เนื่องจากพบว่า พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่จำนวนหนึ่งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวกับที่ดินทำกิน หรือป่าชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ เหมืองบางแห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ บางแห่งอยู่ระหว่างขออนุญาตดำเนินการ เช่น เหมืองถ่านหินที่อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และหลายพื้นที่กระจายตามพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ และหลายพื้นที่มีการคัดค้านอย่างแข็งขัน
สำหรับการประชุมสภาฯ (15 ม.ค. 68) ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ระบุ เหตุผลที่ต้องเสนอเลื่อนญัตตินี้ออกไปก่อน เพราะว่าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ค้างการพิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีเนื้อหาสาระในบางส่วน ที่เพื่อนสมาชิกหลายคนมีความกังวล ว่า อาจจะไม่เหมาะสมหรือไม่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ พรรครัฐบาลได้มีการประชุมในพรรคของตนเอง ซึ่งแต่ละพรรคมีข้อกังวลใจเรื่องนี้ จึงอยากให้ทางกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ได้มีโอกาสนำกลับไปทบทวนเพื่อปรับปรุงร่างให้มีความชัดเจนก่อน เพื่อนำกลับมาพิจารณาต่อให้ราบรื่น ในวันที่ 5 กุมภาพันธุ์ 2568
ระหว่างนี้กรรมาธิการฯ จะประชุม และเปิดให้ สส. ที่ยังมีข้อห่วงกังวลในถ้อยคำ หรือประเด็นต่าง ๆ ในร่างกฎหมายได้เข้ามาหารือ เพื่อให้มีความพร้อมต่อการนำร่างกฎหมายกลับเข้าไปพิจารณาในสภาฯ อีกครั้ง
นอกจากการทำหน้าที่ของกรรมาธิการฯ สิ่งสำคัญ คือ ต้องวัดใจท่าทีของพรรครัฐบาล โดยเฉพาะแกนนำอย่าง พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ นายกฯ แพทองธาร ที่ประกาศสนับสนุนร่างกฎหมายชาติพันธุ์มาตั้งแต่ต้น จะสามารถยืนเคียงข้างประชาชนได้หรือไม่…นี่จึงเป็นปรากฎการณ์สำคัญ ที่อาจมีผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ นับจากนี้