เมื่อข้อมูลเปิด แต่ไม่ได้นำพา…ทิศทาง Open Data กับสังคมไทย

Open Data เปิดพิรุธเสาไฟกินรี แต่หลายพื้นที่ ยังเลือก อบต.หน้าเดิม ส่องวัฒนธรรมร่วมตรวจสอบอำนาจการเมืองท้องถิ่น

หลัง เพจต้องแฉ ทำงานร่วมกับ สื่อ จับพิรุธเรื่องเสาไฟกินรี ในพื้นที่ ราชาเทวะ สมุทรปราการ เพราะมีข้อสังเกตว่าสอดคล้องกับความต้องการของคนในท้องถิ่นหรือไม่ กระแสช่วงหนึ่งถกเถียงกันว่า เสาไฟกินรีมีไว้ทำไม ที่ไม่เพียงแค่การถกเถียงในสื่อสังคมออนไลน์ แต่แม้ชาวบ้านในพื้นที่ก็ตั้งคำถามไม่ต่างกัน

จากการขุดคุ้ยข้อมูลของสื่อหลายสำนักพบว่า โครงการนี้ทำมาต่อเนื่อง 7-8 ปี ซึ่งก็พอ ๆ กับ ช่วงเวลาที่ห่างหายไปจากการเลือกตั้งท้องถิ่นเลยทีเดียว

ข้อมูลจากระบบ ACT AI หนึ่งในระบบการตรวจสอบข้อมูลในรูปแบบ “Open Data” หรือ “ข้อมูลเปิด” พบว่า “โครงการเสาไฟประติมากรรมกินรีฯ” อบต.ราชาเทวะ ปีงบประมาณ 2562-2564 พบการจัดซื้อเสาไฟ 6,000 ต้น งบประมาณ 645.65 ล้านบาท เฉลี่ยอยู่ที่ราคาประมาณ 90,000 บาท/ต้น และยังพบทุจริตมีเอกชนรายเดียวดำเนินการถึง 7 โครงการ

ทรงชัย นกขมิ้น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ ในขณะนั้น ได้ออกมาชี้แจง และแม้ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะชี้มูล แต่ก็เดินหน้าประชุมสภา อบต. เพื่อร่างแผนพัฒนาท้องถิ่นต่อเนื่องปี 2561-2565 พร้อมลงสมัครรอบนี้ และเน้นย้ำจะสานต่อนโยบายเดิม

หากดูรายชื่อกลุ่มการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง อบต. ใน จ.สมุทรปราการ มี 5 ผู้แข่งขัน จาก 3 กลุ่มการเมือง คือ กลุ่มพลังราชาเทวะ กลุ่มมดงาน และคณะก้าวหน้าราชาเทวะ

“กลุ่มมดงาน” ส่ง 3 คน รวมถึง ตระกูลนกขมิ้น ซึ่งถือเป็นตระกูลใหญ่ มีเครือญาติเป็นคนไทยเชื้อสายมอญทั้งตำบล นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ล่าสุด ทรงชัย นกขมิ้น ยังคงได้รับความไว้วางใจให้เป็นว่าที่ นายก อบต.ราชาเทวะ ต่อไป และยังเตรียมจะสนับสนุนให้ลูกชาย ลงสมัคร ส.ส.สมุทรปราการ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

แม้รอบนี้ “คณะก้าวหน้า” จะส่ง”ชุติกาญจน์ ศรทอง” หญิงแกร่ง ลงชิงเก้าอี้ นายก อบต. พร้อมชูนโยบายตรงกันข้ามทั้งหมดกับบ้านใหญ่ เช่น เปลี่ยนเสาไฟกินรีที่ไร้ประโยชน์ เป็นเสาไฟส่องสว่าง ไปจนถึงนโยบายสนับสนุนคุณภาพชีวิต ที่ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวพี่น้องแรงงาน รวมถึงนโยบายเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียว และความมั่นคงด้านอาหารก็ตาม

ผลเลือกตั้งรอบนี้ สะท้อนว่า การเปิดเผยข้อมูลทุจริตเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่อาจส่งผลต่อการเลือก หรือไม่เลือก อบต.คนเดิม แต่นี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญ ของการร่วมจับตาการทำงาน อบต.หลังจากนี้

อบต. จะเปลี่ยนหน้า หรือไม่เปลี่ยนหน้า อาจไม่ใช่สิ่งชี้ขาด การเปลี่ยนท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นจะเปลี่ยนได้สิ่งสำคัญกว่า คือ การกำกับติดตามการทำงานจากคนในท้องถิ่นหลังจากนี้

ณัฐภัทร เนียวกุล ผู้จัดการโครงการข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใส เปิดเผยว่าที่ผ่านมา สถิติการเปิดเผยข้อมูลราย อบต. มากกว่าครึ่งทั่วประเทศ ยังมีค่าดัชนีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส อปท. (ITA) ต่ำกว่า 85 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ ป.ป.ช. กำหนด แต่ในความจริง การเปิดเผยข้อมูล Open Data จะส่งผลให้รัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดึงข้อมูลเหล่านี้ไปตรวจได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของระดับท้องถิ่น หรือ อบต. แต่ละแห่ง จะมีรูปแบบการนำเสนอผ่านเว็บไซต์ที่แตกต่างกันออกไป

“ปัญหาอย่างหนึ่งของไทย คือ ข้อมูลกระจัดกระจายมาก เรามี อบต. 5,300 กว่าแห่ง ก็มีรูปแบบการนำเสนอข้อมูล ผ่านเว็บไซต์หลายพันแบบ จึงไม่สามารถเห็นข้อมูลภาพรวมแบบเรียลไทม์ได้อย่างชัดเจน… การเปิดเผยข้อมูล หรือ Open Data จึงเป็นผลกระทบทางอ้อมที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบโดยตรง จึงอาจจะไม่ใช่นโยบายหลักที่ทำให้ท้องถิ่นนั้นได้คะแนนเสียงโดยตรง แต่เป็นประเด็นทางอ้อมที่เริ่มเห็นคนให้ความสนใจมากขึ้น”

ณัฐภัทร เนียวกุล

ข้อมูลจึงเป็นเหมือนเครื่องมืออย่างหนึ่ง หากไม่หยิบใช้ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ผู้จัดการโครงการข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใส คาดหวังไปไกลถึง “การจัดการงบประมาณแบบมีส่วนร่วม” เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่อยู่ใกล้มากที่สุด ให้ประชาชนสามารถสะท้อนความต้องการ และจัดการงบประมาณท้องถิ่นด้วยตัวของเขาเอง เมื่อประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของงบประมาณ การติดตาม ตรวจสอบ และสนใจกับงบประมาณก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER มองประเด็นเสาไฟกินรี เป็นเพียงปรากฏการณ์เดียว เพราะหากตรวจสอบภาพรวมทั่วประเทศ ก็เป็นประเด็นทุจริตที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ การเข้าถึงข้อมูลเปิดของหน่วยงานรัฐ จึงไม่ใช่เรื่องของสื่อสารมวลชนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ควรเข้าถึงภาคประชาชน เพื่อให้การเลือกตั้งท้องถิ่นสามารถพลิกโฉมได้อย่างแท้จริง เพราะประชาชนตื่นตัว และมีส่วนร่วมในงานการตรวจสอบอย่างแท้จริง

เพราะมองไปไกลกว่านั้น ประโยชน์จากการใช้ Open Data ยังทำให้เกิดการเปิดโปงข้อมูลการทุจริตจัดซื้อจัดอีกไม่น้อย เช่น อุทยานราชภักดิ์ ที่เกิดจากการรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายมาเป็น Open Data, ทริปไปฮาวาย 20 ล้านบาท ของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยข่าวที่ได้ข้อมูลเปิดก็ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์มากขึ้นหลังมีการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การทำ Data virtualization

“สถานการณ์ Open Data ของไทยเคยเป็นขาขึ้นอยู่ช่วงหนึ่ง กระทั่งการเข้ามาของ พลเอก ประยุทธ์ และพรรคพวก ช่วง 6-7 ปีก่อน ที่ชอบพูดว่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่พอถึงเวลาจริง ๆ กลับมีความยากในการตรวจสอบ หรือ ถ่วงเวลาการให้ข้อมูลที่อยากได้ ทำให้เราแทบไม่รู้ตัวว่าสถานการณ์การเปิดเผยข้อมูลค่อย ๆ ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกปิดข้อมูลแบบ Step by Step”

พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์

พงศ์พิพิฒน์ ระบุว่า แม้จะไม่มีตัวเลขชัดเจนในการเข้าถึงข้อมูลที่ยากขึ้น แต่สะท้อนได้จากภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในไทย ที่มีคะแนนต่ำกว่าครึ่ง และอยู่ในอันดับรั้งท้ายต่อเนื่อง ซึ่งจากการทำงานสายสื่อสารมวลชนก็ยังพบการปกปิดข้อมูลหนักขึ้น เช่น ป.ป.ช. หลังออกกฎหมายฉบับใหม่ปี 2561 ทำให้ข้อมูลสำคัญที่ถูกปกปิดมีหลายรายการ โดยเขายกตัวอย่างให้เห็น 2 ข้อ

  1. ความคืบหน้าคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวน ทั้งที่ความจริงแล้วมีความจำเป็นที่ประชาชนและสื่อมวลชนจะใช้เพื่อตรวจสอบติดตามคดี
  2. บัญชีทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยออกระเบียบให้ค้างประวัติไว้บนเว็บไซต์ 180 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคการยื่นตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองและบุคคลสาธารณะ เช่น กรณีนาฬิกายืมเพื่อนของ พลเอก ประวิตร ก็ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินอีกหลังปี 2557 เป็นต้นมา

พงศ์พิพัฒน์ ทิ้งท้ายว่า ข้อมูลแบบเปิด หรือ Open Data เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ และต้องการจะลุกขึ้นมาตรวจสอบภาครัฐได้มากขึ้นในอนาคต โดยในฐานะของสื่อสารมวลชนที่เคยผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ซึ่งเวลานี้รอบรรจุเข้าวาระ 1 ก็มีความกังวลถึงการตีความเรื่องความมั่นคง ว่าอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลที่มีแนวโน้มดิ่งลง ดังนั้น นอกจากการผลักดันกฎหมายแล้ว ยังจำเป็นต้องสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูล ภาครัฐให้มากขึ้นในสังคมไทย

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์