อยู่ไม่ไหว แต่ตายไม่ได้ “สิทธิเลือกตาย” พร้อมไหม ถ้าไทยจะมี “การุณยฆาต” ?

เจ็บปวดสาหัส รักษาก็ไม่หาย ขอตายเลยได้ไหม ชีวิตเราขอเลือกเอง ?

“หมอพาลิ” เป็นใคร ? กำหนดความตายได้ไหม ?

เป็นไปได้ไหม ถ้าไทยจะมี “การุณยฆาต” ?

และอีกหลากหลายคำถามสำคัญที่สังคมยังไม่เข้าใจ

The Active พาไปนั่งข้างโต๊ะนักเขียน ชวนสนทนาไปกับ “หมอแซม – พ.ญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร” แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หรือที่เรียกว่า “หมอพาลิ” และนักเขียนเจ้าของนามปากกา “Sammon” เจ้าของนวนิยาย “การุณยฆาต” ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ทางช่อง one31 และกำลังสร้างปรากฏการณ์และเขย่าสังคมไทยในเวลานี้ ที่พาเปิดพื้นที่สนทนาถึง “สิทธิในการเลือกตาย” พร้อมคำถามสำคัญว่า ประเทศไทยพร้อมไหม กับการมี “การุณยฆาต”?

พ.ญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หรือ หมอพาลิ
และผู้เขียนนวนิยาย “การุณยฆาต” เจ้าของนามปากกา “Sammon”

“หมอพาลิ” เป็นใคร ?

“หมอพาลิ” ย่อมากจาก หมอพาลิทีฟ (Palliative) หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยที่เข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิตหรือที่เรียกว่าการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) หมอพาลิต่างจากหมอทั่วไป คือ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อ “ยื้อชีวิต” หรือ “รักษาตัวโรค” ของคนไข้ให้หายอีกต่อไปแล้ว แต่มีหน้าที่ในการลดความทรมานทั้งทางร่างกาย จิตใจ โดยยึดความต้องการของคนไข้เป็นสำคัญ เพื่อให้ได้มีวาระสุดท้ายและจากไปอย่างมีคุณภาพที่ดีที่สุด

พ.ญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร หรือ หมอแซม แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หรือที่เรียกตัวเองว่า “หมอพาลิ” เล่าให้เราฟังว่า หมอพาลิจะทำงานกับผู้ป่วยระยะท้าย ที่ถูกส่งต่อมาหลังจากได้รับการประเมินแล้วว่าคงเหลือเวลาอยู่ในโลกนี้อีกไม่นาน

“ผู้ป่วยโรคร้าย เขามักจะผ่านการรักษาเฉพาะทางมาแล้วระยะหนึ่ง เมื่อตัวโรคดำเนินมาสู่จุดที่ไปต่อไม่ไหว ทีมแพทย์เริ่มลงความเห็นว่าน่าจะมีเวลาชีวิตเหลือจำกัด เขาจะกลายเป็นผู้ป่วยแบบประคับประคอง ทีมพาลิจะเข้ามารับช่วงดูแลต่อ”

ทีมพาลิ ไม่ได้มีแค่ “หมอพาลิ” เพียงคนเดียว แต่รวมถึงพยาบาล เภสัชกร นักจิตบำบัด และนักสังคมสงเคราะห์ จากหลากหลายสหสาขาวิชาชีพมาดูแลร่วมกัน สำหรับผู้ป่วยที่มาถึงจุดนี้ ส่วนมากเป็นมาจากกลุ่ม “โรคมะเร็ง” เป็นหลัก เมื่อหมอมะเร็งวินิจฉัยแล้วว่า คนไข้เริ่มไม่ตอบสนองต่อยา หรืออยู่ในระยะแพร่กระจายรุนแรงแล้ว น่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน – 1 ปี จึงเป็นหน้าที่ของทีมพาลิเข้าดูแลจัดการ

“หากทีมพาลิเห็นตรงกันแล้วว่า คนไข้กำลังเข้าสู่ระยะท้าย อีกไม่นานคงต้องจากโลกนี้ไป หน้าที่สำคัญของพวกเราคือ การดูแลให้ช่วงเวลาสุดท้ายของเขาเจ็บปวดน้อยที่สุด ไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่รวมถึงจิตใจ และจิตวิญญาณ ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมไปถึงดูแลครอบครัวที่ต้องรับมือกับความสูญเสียที่กำลังต้องเผชิญ”

และนอกจากผู้ป่วยมะเร็งแล้ว ยังมีโรคอื่น ๆ ที่เข้าสู่กระบวนการดูแลแบบพาลิทีฟได้เช่นกัน เช่น โรคไตวายระยะท้าย ที่ถูกวินิจฉัยให้ต้องยุติการฟอกไต ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่นอนติดเตียงและมีภาวะแทรกซ้อน หรือโรคทางระบบประสาทบางประเภท เช่น ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) ที่ สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) ต้องเผชิญ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งการหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด 

การทำงานของหมอพาลิจะเริ่มตั้งแต่การอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงปลายทางที่ต้องเผชิญว่าในวาระสุดท้าย รวมถึงกระบวนการที่ต้องได้รับหากเลือกการยื้อชีวิต หากผู้ป่วยไม่ต้องการ ทีมพาลิจะสร้างข้อตกลงร่วมกับคนไข้

“เราจะเอาภาพการใส่ท่อ เจาะคอ ให้ผู้ป่วยดู ว่านี่คือสิ่งที่เขาจะเจอหากต้องการยื้อชีวิต หากเขาตกลงว่าไม่ต้องการยื้อความตาย เราจะสร้างข้อตกลงร่วมกัน ว่าเขาตัดสินใจจะเสียชีวิตตามธรรมชาติ (Allow natural death: AND)”

แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องการเช่นนั้น มีคนไข้บางคนที่ต้องการจะยื้อชีวิตด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป ซึ่งหากเป็นความประสงค์ของคนไข้ ทีมพาลิก็จะออกแบบการรักษาให้อย่างเหมาะสม

“คนไข้บางคนไม่ได้อยากตายตามธรรมชาติ เขาอยากต่อสู้เพื่ออะไรบางอย่าง บางคนบอกว่าเมื่อถึงตอนนั้นทำยังไงก็ได้ให้เขามีชีพจร ไม่จำเป็นต้องรู้ตัวมีสติก็ได้ คนเหล่านี้มีเหตุผลส่วนตัวนะ บางคนต้องการยื้อชีวิตตัวเองเพราะอยากเป็นกำลังใจให้ลูกที่กำลังจะสอบ เขารู้ว่าเขาคือกำลังใจเดียวของลูกหากยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่ว่าจะต้องการแบบไหน หากแจ้งตั้งแต่ตอนมีสติสัมปชัญญะ ทีมพาลิก็จะช่วยเหลือเต็มที่”

เพราะหน้าที่หลักของหมอพาลิ ไม่ใช่การกำหนดชะตาชีวิตคนไข้ แต่คือ การวางแผนตามความต้องการของคนไข้ร่วมกัน (Goal of Care) ในความเป็นจริง คนไข้แต่ละคนมีความต้องการแตกต่างกัน บางคนต้องการความสุขสบาย (Comfort Care) แต่บางคนกลับต้องการการยื้อชีวิต (Extend Life) เพื่อให้มีชีวิตได้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ไม่ว่าเลือกอะไร หมอพาลิจะเคารพการตัดสินใจ เพียงแต่ให้ข้อมูลว่าคนไข้ต้องแลกกับความเจ็บปวดรูปแบบใด และคนไข้ยอมรับได้หรือไม่เท่านั้น

“หมอพาลิ” มิใช่ผู้กำหนดความตาย แต่ทำให้วาระสุดท้ายสุขสบายมากที่สุด

เมื่อมีคนไข้สักคนถูกส่งต่อเข้าสู่ระบบการดูแลแบบประคับประคอง สิ่งที่ทีมพาลิต้องประเมินมีหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการแน่ใจว่า ผู้ป่วยสิ้นสุดการรักษาที่ควรได้รับแล้วจริง ๆ และเมื่อต่อจากนี้คือช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต หมอพาลิจะจัดการดูแลตามอาการของโรค และส่งผู้ป่วยให้จากไปตามธรรมชาติเมื่อเวลาของเขามาถึง

ทีมจะเริ่มจากดูข้อมูลคนไข้ เพื่อให้แน่ใจว่าเขาได้รับการรักษาจนสุดทางแล้ว เพราะบางเคสถูกส่งมาหาทีมพาลิเร็วมาก หากทีมประเมินแล้วว่าเขายังมีโอกาสรักษา ยังมีหนทางมีชีวิตโดยที่การรักษานั้นไม่ทำให้ทุกข์ทรมานมาก เราจะเชียร์ให้ไปต่อ

แต่เมื่อรักษาตัวโรคมาแล้วอย่างเต็มที่ แล้วผู้ป่วยไม่สามารถหายจากตัวโรคได้ และมีชีวิตอยู่อย่างจำกัด ทีมพาลิจึงจะเข้ามามีบทบาทในการดูแลคนไข้ต่ออย่างเต็มรูปแบบ”

คนไข้แต่ละคนมาด้วยตัวโรคที่แตกต่างกัน หน้าที่ของทีมพาลิคือการวางแผนร่วมกันเพื่อ “จัดการอาการ” ที่ทำให้เกิดความไม่สุขสบายต่อผู้ป่วย และออกแบบวิธีการดูแลเขาไปจนกระทั่งเสียชีวิต

อาการไม่สุขสบาย 2 อันดับแรก ที่คนไข้ะระยท้ายต้องเผชิญ คือ ‘ปวด’ และ ‘เหนื่อย’ อาการอื่นที่อาจมีได้ คือ กินไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือ นอนไม่หลับ บางรายขับถ่ายไม่ได้หากมีลำไส้อุดตันจากโรคมะเร็งลำไส้ หมอพาลิจะจัดการอาการต่าง ๆ เหล่านี้ให้เขาสบายตัวที่สุด

“สุดท้ายแล้ว คนไข้จะจากไปตอนไหน ตัวโรคจะเป็นคนกำหนดความตายโดยธรรมชาติ ไม่ใช่จากการกำหนดโดยหมอพาลิ หรือยาที่จ่ายให้แต่อย่างใด เพราะทีมพาลิมีหน้าที่แค่จัดการอาการต่าง ๆ ให้เท่านั้นเอง” หมอแซมเน้นย้ำ

อีกหนึ่งความท้าทาย เมื่อคนไข้อยาก “ตายที่บ้าน”

ผู้ป่วยระยะท้ายในเมืองกับภูมิภาคความต้องการแตกต่างกัน หนี่งในนั้นคือเรื่อง “สถานที่ตาย” หมอแซมเล่าถึงประสบการณ์ที่พบว่าผู้ป่วยในต่างจังหวัดจำนวนมากต้องการกลับไปตายที่บ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายในการวางแผนของทีมพาลิ ที่ต้องจัดการดูแลให้เป็นไปตามความปรารถนาของคนไข้ เพราะนี่คือหัวใจสำคัญที่สุดของการดูแลแบบประคับประคอง

ในเขตภาคเหนือ คนไข้จำนวนมากอยากกลับไป ‘ตายดี’ ที่บ้าน ทีมพาลิจะต้องช่วยกันวางแผน ว่าจะจัดการรักษากันอย่างไร กินยาได้ไหม หากกินยาไม่ได้ ต้องวางแผนให้ยาทางหลอดเลือดดำแทน บางรายใกล้เสียชีวิต หลอดเลือดดำยุบไปหมด จะให้ยาใต้ผิวหนังแทนได้ไหม มันมีรายละเอียดเยอะมากไปกว่าการจัดการอาการเท่านั้น

หมอแซมอธิบายถึงวิธีการทำงานของทีม ที่มากไปกว่าการดูแลทางกาย และยังต้องประเมินถึงสิ่งแวดล้อม ครอบครัว จิตใจ และจิตวิญญาณของทุกคนในครอบครัว เพื่อให้การตายดีที่บ้านของคนไข้ได้เป็นไปสมความตั้งใจและไม่มีอะไรติดค้าง

เมื่อส่งคนไข้กลับบ้าน เราต้องประเมินรอบด้านขึ้น เช่น เขาอยู่กับใคร มีกันกี่คน ฐานะเป็นยังไง ชุมชนเป็นอย่างไร คนไข้มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนไหม ซึมเศร้าหรือวิตกกังวลใจหรือเปล่า รวมไปถึงมิติจิตวิญญาณ เช่น นับถือศาสนาอะไร พิธีกรรมของเขาคืออะไร หรืออะไรเป็นคุณค่า เป็นพลังใจให้เขา ทั้งหมดนี้ถูกรวมอยู่ในการวางแผนการดูแลทั้งหมด

มีคนไข้รายหนี่งที่นอนอยู่ รพ.นานมาก เขาดูไม่ค่อยตื่น แทบไม่ค่อยลืมตา และอาการทรุดหนักไปเรื่อย ๆ นานร่วมเดือน สุดท้ายครอบครัวตกลงว่าจะพากลับไปตายที่บ้านตามความต้องการ  ทีมพาลิจึงเริ่มวางแผน เพื่อพาผู้ป่วยกลับไปถอดท่อช่วยหายใจที่บ้าน

“ญาติเล่าว่า จากที่คนไข้แทบไม่เคยลืมตาตื่นขึ้นมา แต่เมื่อกลับถึงบ้านเขาก็ลืมตาขึ้น แล้วมองดูบ้านที่เขาสร้างมาด้วยมือของเขาเอง เหมือนเขารับรู้แล้วว่าได้อยู่ในสถานที่ที่เป็นบ้านของเขาแล้ว จากนั้นไม่นานก็จากไปอย่างสงบ นี่คือหนึ่งในเคสที่เรารู้สึกว่าเขาได้ ‘ตายดี’หรือ Good Death ที่เราอยากให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกคนได้รับ”

ความตายต้องพูดได้ จะอยู่หรือไป คนไข้ต้องมีสิทธิรู้

อีกหนี่งหน้าที่ของหมอพาลิคือการ “แจ้งข่าวร้าย” เมื่อคนไทยยังขาดวัฒนธรรมการ “พูดเรื่องความตาย” อย่างตรงไปตรงมา การแจ้งข่าวความตายแก่ผู้ป่วยจึงยังมีข้อจำกัดอยู่มากในสังคมไทย

เราเจอญาติที่ปิดบังความจริงกับคนไข้เยอะมาก ครอบครัวไม่ต้องการให้ผู้ป่วยรู้ตัวว่าตัวเองกำลังเป็นโรคที่รักษาไม่หายและต้องตาย การคุยจึงต้องหลบเลี่ยง บ่ายเบี่ยงไปเรื่อย ๆ และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ คนไข้ไม่เคยรับรู้ว่าทำไมตัวเขาถึงรักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

เมื่อคนไข้ไม่รับรู้ว่าเขาเผชิญอะไรอยู่ ก็ทำให้เขาไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าในวาระสุดท้ายของชีวิตต้องการหรือไม่ต้องการอะไร หรือประสงค์ให้ทำอย่างไรกับร่างกายของเขา มันน่าเศร้าสำหรับหมอพาลิเหมือนกันนะ ว่าสิ่งที่เราทำกับคนไข้ลงไป (ใส่ท่อช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ ฯลฯ) เป็นสิ่งที่คนไข้ต้องการจริง ๆ หรือเปล่า

หมอแซมขยายความว่าแท้จริงแล้วหมอมีสิทธิจะแจ้งข่าวร้ายกับคนไข้ได้โดยตรง แต่ด้วยบริบทแบบไทย อาจทำให้ญาติไม่พอใจและมีปัญหาตามมา

บางทีหมอพาลิก็ต้องใช้วิธีตรงกลาง คือ ให้ญาติบอกคนไข้เองโดยมีหมออยู่ด้วย เราเข้าใจดีว่าบริบทบ้านเราแตกต่างกับต่างประเทศ ครอบครัวไทยดูแลกันด้วยพื้นฐานความห่วงใย กลัวคนไข้รู้ความจริงแล้วจะทรุดหนัก เสียกำลังใจ 

“แต่ในความเป็นจริงแล้ว การให้คนไข้ได้รู้ความจริงจะช่วยให้เขาได้เตรียมจิตใจ จัดการกับสิ่งติดค้าง และวันนั้นมาถึง จะไม่เป็นภาระในการตัดสินใจแก่ญาติ เนื่องจากได้สื่อสารความต้องการอย่างแท้จริงไว้แล้ว นี่ยังคงเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องค่อย ๆ ปรับตัวกันต่อไป”

ในประเทศไทย การแจ้งข่าวร้ายกับคนไข้ของหมอพาลิจึงต้องใช้ความประนีประนอมเป็นหลัก ซึ่งต่างกับในบางประเทศที่ยึดถือว่า “การรู้ความจริงเป็นสิทธิของคนไข้” และหากพบว่าทีมหมอร่วมกันปิดบังอาจไปถึงขั้นการฟ้องร้องคดีความได้ด้วย

“การุณยฆาต” ทางเลือกของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ?

“ถ้าการุณยฆาตได้ ช่วยทำให้ฉันด้วยค่ะ”

นี่คือหนี่งในผู้ป่วยหลายรายที่เมื่อรู้ความจริงว่าเวลาเหลืออีกไม่นาน และตนเองต้องเผชิญกับช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างทุกข์ทรมานร้องขอ และสำหรับบางบ้านยังสร้างภาระมหาศาลให้กับครอบครัว ไม่น่าแปลกใจที่ “การุณยฆาต” กลายเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในสังคมเป็นระยะ 

การุณยฆาต หรือ ยูแทนนาเซีย (Euthanasia) เป็นการยุติชีวิตให้แก่ผู้ป่วยระยะท้ายที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หาย เป็นการทำเพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากความทรมานตามความประสงค์ของผู้ป่วย ซึ่งแน่นอนว่าในประเทศไทยยังคงไม่มีกฎหมายรองรับ

หมอแซมเล่าว่า หลายครั้งที่มีคำถามมาถึงหมอพาลิว่า “ไทยจะทำแบบสวิตเซอร์แลนด์ให้ได้ไหม ?” จากกรณีที่มีคนไทยบินไปเพื่อขอรับการจบชีวิตตัวเองที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่ยังคงติดอยู่ในความทรงจำอย่างยาวนาน

“คนไข้ผู้หญิงคนหนึ่งเข้าสู่ระยะท้าย เขาสื่อสารไม่ได้ จึงระบุใน Living Will ว่าขอปฏิเสธการรักษา พร้อมลายมือที่เขียนไว้ว่า ‘ถ้าการุณยฆาตได้ ช่วยทำให้ฉันด้วยค่ะ’

นั่นเป็นครั้งแรกที่เราเจอคนไข้พูดถึงเรื่องการุณยฆาต มันติดตราตรึงใจเราเหมือนกัน เพราะสิ่งที่เราทำให้เขาได้ คือ ไม่ปั๊มหัวใจ ไม่ใส่ท่อ ไม่ยื้อชีวิตให้เขาตามที่ต้องการ แต่ด้วยขอบเขตกฎหมาย เราทำให้เขาเสียชีวิตตามที่ต้องการไม่ได้

แม้ Living Will หรือ หนังสือแสดงเจตนาในการรับบริการหรือปฏิเสธการรับบริการทางการแพทย์ จะถูกต้องตามกฎหมาย มาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 แต่ “การุณยฆาต” ยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในไทย และแม้ในต่างประเทศ การทำการุณยฆาตให้ผู้ป่วยแต่ละรายไม่ใช่เรื่องง่าย 

ในต่างประเทศ การทำการุณยฆาตให้กับคนไข้สักคนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านความเห็นจากหมอหลายคน หลายแผนก ดูตัวโรคว่าผ่านการรักษามาจนสุดทางหรือยัง เข้าถึงยาเพียงพอไหม และมองไปถึงสาเหตุที่คนไข้อยากจบชีวิต 

คนไข้บางคนให้เหตุผลว่า ต้องการจบชีวิตเพราะทนความเจ็บปวดไม่ไหว ทีมจะต้องกลับมาประเมินว่าเขาได้ยามอร์ฟีนเพียงพอหรือไม่ ? และได้รับการระงับปวดอย่างดีและเต็มที่หรือยัง ? เพราะหากได้รับการดูแลที่ดีขึ้น เขาอาจเปลี่ยนใจก็ได้ รวมถึงประเมินสติสัมปชัญญะว่าอยู่ครบถ้วนไหม และความยินยอมพร้อมใจของคนไข้และครอบครัวด้วยซึ่งแต่ละประเทศจะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป

แม้ฟังดูแล้ว หากคนไข้ได้รับการดูแลมาจนสุดทางจนไปต่อไม่ไหว การุณยฆาตจึงเป็นทางเลือกที่จะจัดการกับความทุกข์ทรมาน และช่วยให้คนไข้จบชีวิตลงอย่างสวยงามตามปรารถนา แต่จุดสำคัญ คือ การออกแบบหลักเกณฑ์ให้ตรงตามบริบทของแต่ละประเทศ

หากเกณฑ์อ่อนเกินไป ใคร ๆ ก็จะไปทางการุณยฆาตกันหมด อาจทำให้คนไข้บางคนพลาดโอกาสการรักษาไปทั้ง ๆ ที่ยังมีโอกาสมีชีวิตอยู่ หรือหากเกณฑ์แข็งเกินไป คนไข้บางคนอาจต้องทนกับทุกข์ทรมานไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

“แต่ในบ้านเรามีปัญหาซ่อนอยู่มากกว่านั้น ผู้ป่วยระยะท้ายบางคนมีโอกาสมีชีวิตต่อไปอีกได้หากได้รับยาคีโมเพิ่ม แต่ครอบครัวจ่ายไม่ไหวและยังมีข้อจำกัดเรื่องผู้ดูแล เคสแบบนี้จะถูกผลักเข้าสู่การุณยฆาตหมด ทำให้เสียโอกาสในการมีชีวิต”

การุณยฆาตยังห่างไกล หากพาลิทีฟในไทยยังไม่แข็งแรง

สำหรับในประเทศไทย จะมีการุณยฆาตได้นั้นคงยังเป็นเส้นทางอีกแสนยาวไกล เนื่องจากความซับซ้อนของการจัดการ กฎหมาย และความเชื่อ อีกทั้งบ้านเรายังมีความเข้าใจเรื่องดังกล่าวยังมีน้อยมาก แม้กระทั่งกับบุคคลากรทางการแพทย์ด้วยกันเอง

“ตอนทีมพาลิไปดูผู้ป่วยที่วอร์ด เราเคยได้ยินแผนกอื่นพูดกันว่า ‘นี่ไง ทีม ยูแทนนาเซีย (euthanasia) มาแล้ว’ มันน่าเศร้าตรงที่บุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันยังไม่เข้าใจเลย หรือบางคนเข้าใจว่าเป็นการให้หมอช่วย suicide ให้ตามต้องการโดยที่ไม่เข้าใจเรื่องข้อบ่งชี้ต่าง ๆ ด้วยซ้ำ”

ในความเป็นจริงแล้ว การดูแลแบบประคับประคอง กับ การุณยฆาต เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกันอยู่ไม่น้อย ดังที่กล่าวมาข้างต้น ว่าถ้าหากคนไข้ต้องการการุณยฆาตเนื่องจากความเจ็บปวดทรมาน คำถามที่จะถูกโยนกลับมา คือ คนไข้ได้รับการ “จัดการความเจ็บปวด” อย่างถึงที่สุดแล้วหรือยัง ? ซึ่งนั่นเป็นคำถามที่ย้อนไปว่า คนไข้ได้เข้าสู่การดูแลแบบพาลิทีฟอย่างถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ? ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่คือ “ไม่” เพราะระบบพาลิทีฟบ้านเรายังไม่แข็งแรงและเข้าถึงยากเกินไปอยู่นั่นเอง

ตอนนี้การเข้าถึงการดูแลแบบพาลิทีฟในไทยมีเฉพาะใน รพ.ใหญ่ ๆ เท่านั้น ส่วนใน รพ.เล็ก ๆ ในชุมชน แทบไม่มีคนทำงาน ไม่มีระบบ และไม่มีโครงสร้างรองรับเลย คนทำงานก็ใช้แต่ใจทำงานโดยไม่มีความก้าวหน้าเลย

“การจะมีการุณยฆาตได้หรือไม่นั้น เรามองว่าการดูแลแบบพาลิทีฟในบ้านเราต้องแข็งแรงก่อน ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ และหากความทุกข์ทรมานเจ็บป่วยไม่หายไป จึงค่อยไปถึงการุณยฆาตหรือเปล่า? แต่ตอนนี้ไทยยังไปไม่ถึงขั้นแรกเสียด้วยซ้ำ”

สิ่งที่หมอพาลิ และนักเขียนนวนิยายเรื่อง “การุณยฆาต” สะท้อนมาทั้งหมดนี้ อาจชวนให้ผู้คนในสังคมหันกลับมาตั้งคำถามว่า ก่อนจะไปถึงการถกเถียงเรื่อง “การุณยฆาต” นั้น

สังคมไทยควรหันกลับมาใส่ใจ และให้ความรู้กับกระบวนการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หรือ Palliative Care ให้มากกว่านี้เสียก่อน เพื่อให้ผู้ป่วยระยะท้ายทุกคนสามารถเข้าถึง และได้รับการจัดการอาการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม