เมื่อการดูแลชีวิต “ก่อนตาย” ไม่ได้มีได้รูปแบบเดียว
ความตายออกแบบได้จริงไหม ?
The Active ชวนฟังเรื่องราวของผู้ที่เข้าใกล้ “ความตาย” และเลือกออกแบบชีวิตในวาระสุดท้ายของตัวเองในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งการยื้อชีวิตจนถึงที่สุด การดูแลแบบประคับประคอง และการดูแลด้วยการแพทย์ทางเลือก
แต่ไม่ว่าจะเป็นความตายรูปแบบไหน หากเจ้าของชีวิตได้มีโอกาสใช้ชีวิตในช่วงวาระสุดท้ายที่สมดั่งใจปรารถนา อาจคือหนึ่งการเคารพศรัทธาความเป็นมนุษย์ของผู้นั้นก่อนจากไปอย่างท้จริง
สไปรท์ พนักงานบริษัท วัย 33 ปี
ลูกสาวบนทางสองแพร่ง
สไปรท์ เป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัว ทั่งพ่อและแม่คือข้าราชการวัย 60 ปี ที่มีความฝันร่วมกันคือการออกเดินทางท่องเที่ยวหลังเกษียณ
เรื่องราวพลิกผันเหมือนฝันสลาย เมื่อแม่คลำเจอก้อนที่คอ อาการป่วยทำให้ให้แม่ไปตรวจต่างกายอย่างละเอียด และพบมะเร็งต่อมไทรอยด์ระยะที่ 4
สไปรท์ รู้ข่าวเป็นคนแรกของครอบครัว เธอยอมรับว่าตกใจ แต่ด้วยสติ ทำให้เธอตัดสินใจว่าจะไม่ฟูมฟาย เธอกลายเป็นแกนหลักของครอบครัวที่จะพาให้ทุกคผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้
“เราไม่อยากให้แม่ตื่นตูม เลยพยายามอธิบายข้อเท็จจริงว่ามะเร็งระยะที่ 4 คือระยะแพร่กระจายขอโรค ไม่ได้แปลว่าแม่จะตาย การเจ็บป่วยครั้งนี้ไม่ใช่เรือ่งเศร้า”
เมื่อหันมามองที่พ่อ ผู้ที่ใกล้ชิดกับแม่ที่สุด สไปรท์อธิบายว่า การสื่อสารกับคนในครอบครัวก็ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เธอค่อย ๆ อธิบายให้พ่อเข้าใจสถานการณ์ เพื่อเตรียมใจกับเหตุการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“พ่อคือคนที่ใกล้ชิดแม่ที่สุด เราเห็นสถานการณ์ของแม่แล้ว เลยอยากให้พ่อรีบเตรียมตัว เราคุยกับพ่อหน้าห้องหน้าห้องผ่าตัดตอนนั้น เพราะไม่รู้ว่าแม่ออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร เราบอกให้พ่อเตรียมตัว 3 ระยะ คือ 1. แม่รอด รักษาหาย 2. แม่รอด แต่ติดเตียง และ 3. แม่ไม่รอด เราทั้งคู่ใช้เหตุผลในการคุยกัน พ่อเข้าใจสถานการณ์ทุกอย่าง การคุยกับพ่อครั้งนั้นเลยผ่านไปได้ด้วยดี”
หลังจากผ่าตัด ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี ผ่านไปไม่นาน อาการของแม่เริ่มทรุด ต้องมีการต้องกลืนแร่ แต่รพ.หาดใหญ่ที่รักษาอยู้ไม่พร้อม เราเลยพาแม่ขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อมากลืนแร่ที่รพ.จุฬาภรณ์
ทั้งหมดอาจถือเป็นความโชคดีของครอบครัว โชคดีที่พ่อ-แม่มีสิทธิข้าราชการช่วยลดภาระทางการเงินครอบครัว โชคดีที่สไปรท์ทำงานที่กรุงเทพ การดูแลรักษาแม่จึงไม่ใช่เรื่องยากัก แต่ก็ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะเป็นเช่นนี้
แม่มีมะเร็งลุกลาม และเป็นมะเร็งชนิดที่ไม่สามารถให้ให้คีโมได้ หนทางสุดท้ายคือการใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) แต่หมอแนะนำว่าอาจจะมีข้อเสียมากกว่า เพราะร่างกายแม่ไม่แข็งแรงนัก
ล่าสุดแม่เข้าห้องฉุกเฉิน เพราะมะเร็งลามไปที่ลำไส้ หมอให้ได้แค่ยามอร์ฟีนระงับปวดเพราะรักษาทางการแพทย์ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
“ตอนนี้แม่ผอมเหลือแต่กระดูก เราอยากให้แม่หยุดขวนขวาย เราอยากให้เขายอมรับว่าเขาจะรักษาไม่หายอีกแล้ว และอยู่กับมันให้ได้ แต่เรารู้สึกว่าแม่ยังอยากสู้ แม่ยังอยากไปเที่ยว แม่ยังอยากอุ้มหลาน
“เราเคยคุยกับแม่เหมือนกัน ว่าทำไมถึงหวาดกลัวความตายนัก แม่ตอบว่าเพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้ใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ ความฝันทั้งหมดเลยวางแผนว่าจะทำตอนวัยเกษียณ แต่ตอนนี้เหมือนฝันนั้นมันพังลงมา”
สไปรท์ เล่าว่า เธออยากให้แม่เข้าสู่ระบบการดูแลแบบประคับประคอง แต่พ่อแม่กลับไม่มีความรู้เรื่องนี้เลยและยังยอมรับกับความตายไม่ได้
สุดท้าย การตัดสินใจในวาระสุดท้ายของแม่จะเป็นอย่างไร เธอบอกว่าหากแม่ตัดสินใจเองไม่ได้แล้เว ก็ขอให้พ่อเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะถือว่าเป็นคนที่ใกล้ชิดแม่มากที่สุด และหากเขาอยากยื้อชีวิต เธอก็จะไม่บังคับเขา
“เราเห็นลูกหลานหลายบ้านวางแผนให้ผู้ป่วยตามความต้องการตัวเอง เพราะคิดว่าทางเลือกนั้น ทางเลือกนี้ดีที่สุด แต่สำหรับเราในฐานะลูก แม้เราอยากให้พวกท่านยอมรับสิ่งที่เกิดมากแค่ไหน แต่เราจะไม่บังคับ
“เราขอแค่ให้เขาพูดออกมาชัด ๆ ว่าต้องการแบบไหนในวาระสุดท้าย เราตั้งใจแล้วว่าจะเคารพการตัดสินใจของเขา เพราะสำหรับเรา ในวันที่เขายังมีชีวิตอยู่ เราได้ดูแลเขาอย่างเต็มที่แล้วในฐานะลูก และสำหรับแม่ ชีวิตที่เหลือคือกำไรชีวิต ไม่มีอะไรต้องเสียดายอีกต่อไป”
เชิดพงษ์ ศรีสุธรรม วัย 56 ปี
ผู้ป่วยมะเร็งที่ปฏิเสธทุกการรักษา เยียวยาด้วยวิถีธรรมชาติและการปฏิบัติธรรม
“ตุลาคม 67 หรือราว 5 เดือนก่อน พี่โอ๋ (เชิดพงษ์) เดินมาหาพวกเราที่สำนักฯ (ที่ทำงาน) แจ้งข่าวว่าตนเองกำลังเผชิญกับโรคร้าย หลังเผชิญอาการเจ็บป่วยต่อเนื่องยาวนาน หมอแจ้งว่า พี่โอ๋เจอมะเร็งระยะที่ 4 ตอนนั้นทุกคนตกใจมาก ไม่คิดว่าจะร้ายแรงขนาดนี้”
เพื่อนร่วมงานของเชิดพงษ์ เล่า หลังจากสังเกตเห็นอาการน้ำหนักลดและไอต่อเนื่องยาวนาน เมื่อเชิดพงษ์ไปตรวจ พบว่าปอดเป็นฝ้า จึงไปตรวจร่างกายเพิ่มอย่างละเอียด พบว่าเจอว่าเป็นมะเร็งตับลุกลามไปยังปอด
“พวกเราเป็นทีมทำรายการโทรทัศน์ หนึ่งในนั้นคือรายการด้านสุขภาพ พวกเราจึงมีคอนเนคชันเป็นหมอเยอะมาก ทุกคนในทีมพยายามแนะนำให้พี่โอ๋ไปตรวจเพิ่มเติม เช่น เอาชิ้นเนื้อไปตรวจ และเข้าสู่กระบวนการรักษาตามขั้นตอน”
แต่พี่โอ๋ปฏิเสธ
“ตอนนั้น พี่โอ๋บอกกับเราว่า คงไม่ไปตรวจรักษาเพิ่มแล้ว เพราะการหาหมอไม่ต่างจากการไปนอนเฉย ๆ แล้วภาระร่างกายนี้ให้เป็นหน้าที่ของหมอ แล้วเราจะดูแลตัวเองได้อย่างไร พี่โอ๋จึงตัดสินใจกลับมาดูแลตัวเองด้วยองค์ความรู้ทางธรรมชาติ และการักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกแทน
เชิดพงษ์เลือกดูแลตัวเองด้วยแนวทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรม

Credit : Facebook – Cherdpong Srisutham
“พี่โอ๋มีความรู้เรื่องการแพทย์ทางเลือกมากอยู่แล้ว ตอนพวกเราไปเยี่ยมพี่โอ๋ที่บ้าน เราเห็นแกต้มยาหม้อ ทำอาหารกินเอง มีกิจวัตรประจำวัน คือการเดินออกมารับแดดยามเช้า และการนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรมในช่วงใกล้เที่ยง มันเป็นชีวิตที่สงบมาก ๆ ในสายตาผม
“ผมเคยสงสัยว่า พี่โอ๋ไม่เจ็บ ไม่ปวดบ้างหรืออย่างไร แต่ก็ไม่มีใครรู้ เพราะพี่โอ๋ไม่แสดงท่าทีเช่นนั้นออกมาแม้แต่น้อย อาจมีบางครั้งแค่ดูเหมือนอ่อนแรงไปบ้างในบางเวลาเท่านั้นเอง
“ในช่วงท้าย เราเห็นเขาอ่อนแรงไปมากกว่าเดิม แต่ยังคงไม่เคยได้ยินถึงความเจ็บปวดเช่นเคย จนในวาระสุดท้าย ครอบครัวเล่าว่าพี่โอ๋นั่งสมาธิจนกระทั่งจากไปอย่างสงบที่บ้านพักในวัย 56 ปี
“พี่โอ๋เคยบอกว่า เมื่อร่างกายเป็นของเรา คนที่ต้องมีหน้าที่ดูแลคือตัวเราเอง ไม่ใช่หมอ นี่เป็นความรับผิดชอบต่อชีวิตที่พวกเรามองเห็นในตัวเขาอย่างสูงสุด และเป็นการการเลือกเส้นทางชีวิตด้วยตนเอง จวบจนวาระสุดท้ายอย่างแท้จริง” – เพื่อนร่วมงาน
ปัญจนี ทิพโกมุท
บทเรียนการยื้อชีวิตจากพ่อ ที่ไม่ขอให้แม่ซ้ำรอย
“แม่อายุ 90 กว่าแล้ว แต่แข็งแรงมาตลอด กระทั่งวันหนึ่งแม่หกล้มสะโพกหัก หมอที่รพ.บอกว่าต้องผ่าตัดแต่มีความเสี่ยงเพราะแม่อายุมาก พวกเรากลับมาตัดสินใจว่าจะให้แม่ผ่าตัดดีไหม เรากับพี่ชายเห็นตรงกันว่า ถึงผ่าตัดคงไม่มีอะไรดีขึ้น เลยปฏิเสธและพาแม่กลับบ้าน
“พอเราพาแม่กลับ อาการก็ทรุดหนักอยากเห็นได้ชัด พวกเราพาแม่ไปรพ.อีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นรพ.เอกชน
“ทีมแพทย์เริ่มดูแลแม่ตามขั้นตอน มีการเสียบท่อ ต่อสายนั่นนี่เยอะแยะไปหมด เรารู้แล้วว่าแม่กำลังเข้าสู่กระบวนการยื้อชีวิต เพราะนี่คือภาพเดียวกับที่เราเห็นตอนพ่อได้รับการรักษาในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต
พ่อของ ปัญจนี ป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้และได้รับการรักษาตามกระบวนการ ในระยะท้าย พ่อเข้าสู่กระบวนการยื้อชีวิตกระทั่งจากไปความทุกข์ทรมานจากการเห็นความเจ็บปวดของพ่อกลายเป็นบทเรียนราคาแพงที่ผู้เป็นลูกสาวไม่อยากให้เกิดซ้ำรอย เธอจึงเลือกใช้ให้แม่เข้าสู่การดูแลแบบประคับประคอแทน
ปัญจนี เล่าว่า รู้จักการดูแลแบบประคับประคองครั้งแรกจากการตามเพจ ‘เยือนเย็น’ วิสาหกิจเพื่อสังคม โดยจุดเริ่มต้นคืออยากศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมของตนเอง
แต่เมื่อแม่อาการทรุดหนัก เธอจึงเสนอทางเลือกนี้ให้กับคนในครอบครัว แต่กลับแทบไม่มีใครรู้จัก แม้แต่พี่ชาย แต่ครอบครัวก็เห็นด้วยจึงติดต่อไป

“วันรุ่งขึ้น คุณหมอมาหาที่บ้านเลย คุณหมอมาดูอาการแล้วเจอว่าแม่เป็นงูสวัดพอดี จึงจ่ายยาต้านไว้รัสได้ ทำแผลที่ลุกลามจากการเป็นแผลกดทับ รวมถึงสอนวิธีการดูแลผู้ป่วยที่บ้านให้เรา เป็นการดูแลตามอาการให้แม่แฮปปี้ที่สุด
“ในช่วงสัปดาห์ท้าย แม่เริ่มกินไม่ได้ กลืนลำบาก พอเราพยาบามป้อนอาหาร แม่ก็ยกมือปิดปากทันที เราถามว่าเหม็นไหม พะอืดพะอมหรือเปล่า แม่ก็พยักหน้า..
“เรารู้สึกเป็นห่วงที่แม่ไม่กิน ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็บอกว่าถ้าคนป่วยไม่ยอมกินข้าว จะเหี่ยวแห้งตาย ครอบครัวเลยเราเริ่มลังเลว่าจะพาไปรพ.ดีไหม ทำอย่างไรให้แม่กินข้าวดี ตอนนั้นเอง เราติดต่อกับทีมเยือนเย็นทางไลน์ เจ้าหน้าที่อธิบายให้พวกเราอย่างละเอียด ว่าอาการของคนไข้ที่เข้าสู่วาระสุดท้ายจะเป็นอย่างไรบ้างอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และหนึ่งในนั้นคือการเริ่ม ไม่กินอาหา
“เราถามหมอว่า ถ้าแม่ไม่ยอมกินข้าว หมอให้อาหารแม่ทางสายยางแทนได้ไหม แต่หมออธิบายว่า ที่คนไข้ไม่อยากกิน เพราะว่ากระเพาะอาหารและลำไส้ไม่ได้ทำงานปกติอีกต่อแล้ว ถ้าแม่ไม่อยากกิน ก็ไม่ต้องให้กิน การให้อาหารทางสายยางคือการพยายามยัดเยียดที่ผิดธรรมชาติ แม่จะทรมาน”
ในช่วงระยะท้ายจริง ๆ ปัญจนี เล่าว่า เธอเริ่มเห็นแม่มีผิวลอก กระสับกระส่าย หอบเหนื่อย จึงได้ใช้มอร์ฟีนที่พยาบาลให้ไว้เพื่อช่วยให้แม่เคลิ้มหลับไปได้อย่างสุขสบาย แตกต่างจากตอนที่ดูแลพ่อขณะพ่อป่วยหนักอย่างสิ้นเชิง
“พ่อเราป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ ในช่วงวาระสุดท้าย พ่อถูกพาเข้าไอซียู โดนกรีดหน้าท้อง ผ่าลำไส้ เจ็บซ้ำซ้อน พอพ่อเริ่มหายใจไม่ออกก็โดนสอดท่อช่วยหายใจ เราเห็นพ่อต้องอ้าปากตลอดเวลาเป็นเดือน ๆ เชื่อว่าพ่อคงทรมานมาก
“แล้วพอเอาท่อช่วยหายใจออก พ่อก็โดนเจาะคออีก ภาพจำของพ่อในวันท้าย ๆ สำหรับเรา ร่ายกายมีแต่ท่อเสียบและสายระโยงระยางไปทั้งตัว ระหว่างทางมีแต่ความเจ็บปวดจนวันสุดท้ายของชีวิต
“เราไม่อยากให้แม่เราเป็นอย่างนั้นอีกแล้ว จึงให้แม่สู่การดูแลแบบประคับประคอง ถ้าแม่รู้สึกไม่สบายตัว ก็ให้มอร์ฟีนตามอาการ ในวันสุดท้าย แม่นอนอยู่ที่บ้านพร้อมกับหมอนผ้าห่มที่คุ้นเคย และกุมมือพี่ชายเราไว้จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต”
“แม่จากไปเมื่อเดือนที่แล้ว จากวันนั้นถึงวันนี้ เราคิดว่าตัดสินใจไม่ผิด การพาแม่กลับมาดูแลที่บ้าน ไม่ยื้อชีวิตเป็นการเลือกที่ที่ดีที่สุดของพวกเราแล้ว ในวันข้างหน้า หากเราเจ็บป่วยเช่นนี้ก็จะขอเลือกวิธีเดียวกัน” ปัญจนี ทิ้งท้าย
จิตใส ปัญญวรรณศิริ
ภรรยาที่ดูแลสามีที่ผ่านการยื้อชีวิตอย่างหนัก จนกระทั่งได้รู้จักการดูแลแบบประคับประคอง
“สามีเราอายุ 68 ปี แต่เป็นคนแข็งแรงมาก ตีกอล์ฟสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่เมื่อ 11 เดือนก่อน เราเห็นเขาตัวเหลือง ทั้งที่ไม่ได้เจ็บปวดอะไร เลยไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล
“หมอเจอว่าเขาเป็นมะเร็งตับอ่อนระยะลุกลาม พวกเราในบ้านตกใจมา พยายามตามหาว่าหมอที่ไหนเก่งที่สุด รพ.ไหนดีที่สุด จะพาเขาไปรักษาให้ได้”
จิตใส เล่าว่า ช่วง 7 เดือนแรก ครอบครัวเต็มไปด้วยทุกข์และความเหน็ดเหนื่อยจากการรักษา ทั้งกับตัวคนไข้เอง และผู้ดูแลอย่างเธอ
“เราต้องตื่นตี 5 ครึ่ง เพื่อพาเขาไปไปเข้าคิวสำหรับทำคีโมบำบัด การทำคีโมฯ แต่ละครั้งต้องใช้เวลามาก อดอาหารเพื่อเจาะเลือด รอผลเลือดออกและพบหมอตอน 4 โมงเย็น กว่าจะให้คีโมเสร็จก็ 3 ทุ่มกว่าแล้ว แต่ละวันเป็นวัฏจักรที่ทรมานมาก เหนื่อยล้าทั้งคนป่วย และผู้ดูแล
วงจรชีวิตแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จิตใส เล่าว่า ในช่วงหลังสามีเริ่มปฏิเสธการรักษา เราเลือกที่จะหยุด แต่ไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไรต่อดี จนมีเพื่อนแนะนำเรื่องการดูแลแบบประคับประคองให้รู้จัก ทั้งที่ก่อนหน้าไม่เคยรู้จักคำนี้มาก่อนเลย”
ครอบครัวของจิตใสติดต่อไปที่ “เยือนเย็น” วิสาหกิจเพื่อสังคม ภายในเวลาไม่นาน ครอบครัวของเธอก็ได้รับการลงเยี่ยมบ้าน มีการชวนพูดคุย family meeting กับเธอและลูก ๆ
สำหรับจิตใสแล้ว เธอบอกว่า การตัดสินใจนำสามีกลับมาดูแลที่บ้านเป็นการเลือกที่ถูกต้องที่สุด เพราะมันตอบโจทย์ครอบครัว ไม่ต้องพากันไปเข้าคิวที่รพ. หรือพาสามีออกไปเสี่ยงการติดเชื้อนอกบ้าน ลดค่าใช้จ่ายจากการพยายามยื้อชีวิตอย่างน้อย 3-4 หมื่นบาท และพวกเรารู้สึกได้เลยว่าสามีมีความสุขมาก
“ตอนหมอมาเยี่ยมที่บ้าน เขาชวนสามีเราคุยถึงวาระสุดท้าย ว่าอยากเห็นตัวเองเป็นยังไว เราได้ยินสามีตอบชัดเจนว่าไม่ต้องการการเจาะคอ ต่อสาย หรือปั๊มหัวใจ และหากเขาหมดสติไปแล้ว ก็ขอให้ปล่อยเขาไปเลย อย่ายื้อชีวิต
“สามีเราเป็นคนชอบกินของอร่อย ทั้งเหล้า เบียร์ ไวน์ ตอนนั้นหมอแนะนำว่า หากชอบกินอะไร ก็กินได้เต็มที่ถึง พวกเราก็ดูแลเขาตามนั้น เสาร์-อาทิตย์เราก็พากันออกไปหาของที่เขาชอบกินกัน แม้ในระยะท้าย สามีเราจะกินอะไรไม่ได้มากอีกแล้ว แต่คำแนะนำของหมอก็ทำให้เขาเอนจอย และมีความสุขมาก
“โดยปกติ อาการของมะเร็งตับอ่อนจะลุกลามไปยังกระดูกและเส้นประสาท เขาจะเจ็บปวดมาก แต่พอย้ายกลับมาอยู่บ้าน ได้ใช้ชีวิตแบบที่อยากมี ได้กินของที่อยากกิน ได้อยู่กับลูก ๆ อาการพวกนั้นก็แทบจะหายไป
“ในวันสุดท้าย เขาหลับตาฟังพวกเราคุยกัน แล้วค่อย ๆ จากไปแบบนั้น เหมือนในวาระสุดท้าย เราได้ส่งเขาไปสวรรค์อย่างสงบอย่างสวยงาม”
จากบทเรียนแห่งชีวิตนี้ จิตใส บอกกับเราว่า เธอโชคดีมากแค่ไหนที่ได้รู้จักการดูแลแบบประครับประคอง เพราะทำให้ครอบครัวได้ดูแลสมาชิกที่เป็นเสาหลักของบ้านได้จากไปอย่างมีความสุข รพ.รัฐควรมีทางเลือกให้กับคนไข้แบบนี้เช่นกัน
“สิ่งที่เราเจอมา คือ หมอดูผลเลือดผู้ป่วย 2-3 นาที แล้วส่งไปทำคีโมฯ เลย แต่กลับไม่เคยมีทางเลือกหรือถามความต้องการผู้ป่วยสักคำ เราคิดว่า หมอทุกคนควรในรพ.ควรมีความรู้เรื่องการดูแลแบบประคับประคองบ้าง อย่างน้อยก็ในระดับพื้นฐาน เราอยากให้หมอฟังความรู้สึก ความต้องการของคนไข้ และให้ทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบท เพราะหมอเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ AI ” จิตใสทิ้งท้าย
นงลักษณ์ พิทักษ์ธรรมนาถ
ผู้ดูแลพ่อแม่ยาวนาน 30 ปี หลังพ่อแม่จากไปทิ้งไว้แต่เพียงอิสระที่ไม่คุ้นเคย
นงลักษณ์ พิทักษ์ธรรมนาถ หนึ่งในผู้รับหน้าที่ลูกสาวผู้ดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยเรื้อรังด้วยความเต็มใจยาวนานหลายสิบปี การพาพ่อแม่เข้าออกรพ.กลายเป็นกิจวัตร ตลอดจนการดูแลที่บ้านจนวาระสุดท้ายของชีวิต
วันนี้ แม้พ่อแม่จากไปแล้ว แต่สิ่งที่หลงเหลือไว้คือ ความเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส การสูญเสียโอกาสบางอย่างในชีวิต การเติบโตในหน้าที่การงาน ความขัดแย้งในครอบครัว และความป่วยไข้ทางจิตใจ
“พ่อผ่าตัดหัวใจตอนอายุ 68 ปี และอายุยืนยาวจนถึง 88 ปี จึงเสียชีวิต สำหรับเรา ช่วง 20 ปี หลังจากพ่อผ่าตัดหัวใจ เราต้องพาพ่อเข้า-ออกรพ. นี่คือช่วงเวลาแห่งการดูแลที่เรียกได้ว่า ‘ของจริง’

“เวลาพาเขาไปรพ. คนหนึ่งต้องทำหน้าที่ขับรถเพื่อแวะส่งลงก่อน แล้วค่อยวนไปหาที่จอด ส่วนอีกคนต้องคอยเข็นรถเพื่อพาไปยื่นเอกสาร สิทธิ และสวัสดิการต่าง ๆ รพ.ที่เราไปค่อนข้างใหญ่ ต้องเดินเข้าตึกนั้น เดินออกตึกนี้ เราเคยคำนวณระยะทางการเดิน คือ 3 กิโลเมตรกว่า ๆ เรายังเคยพูดเล่น ๆ กับเพื่อนเลยว่า ถ้าแม่ลุกขึ้นมาเดินกับเราได้คงหายป่วยไปแล้ว (หัวเราะ)”
ลักษณ์ เล่าว่า การไปหาเจ้าหน้าที่แตะละจุดมีแต่คำว่า “การรอคอย” บางครั้งก็ติดพักเที่ยงบ้าง ติดประชุมบ้าง แต่ละขั้นตอนใช้เวลายาวนานจนเป็นเรื่องปกติ การพาคนป่วยสักคนไปรพ.จึงต้องใช้ผู้ดูอย่างน้อย 2 คน (หากเป็นในสภาวะฉุกเฉินอาจมากกว่านั้น) และใช้เวลา 1 วันเต็ม ๆ หรือหากเป็นช่วงการให้ยาคีโม ต้องนอนพัก 72 ชม. ก็ต้องมีคนอยู่เฝ้าคนไข้ จะใช้เวลาและกำลังคนมากขึ้นไปอีก
ด้วยภาระอันหนักหน่วงนี้ ทำให้ลักษณ์จำเป็นค่อย ๆ ถอยออกมาจากงานประจำ และรับงานในรูปแบบพาร์ตทามแทน นั่นคือสิ่งที่ความคาดหวังของทุกคนทำให้เธอต้องเลือกเส้นทางนี้
“เมื่อก่อน เราทำงานประจำที่บริษัท แต่พอต้องดูแลพ่อแม่ การเดินทางไปออฟฟิศทุกวัน รวมถึงความกดดันทั้งจากการทำงานและการดูแลไปพร้อมกันทำให้เราเริ่มไม่ไหว ทำให้เริ่มค่อย ๆ ถอนตัวออกมาเพื่อหางานฟรีแลนช์หรือพาร์ตทามทำแทน
“ช่วงที่พ่อแม่ยังพอไหว เราอาจยังพอออกไปทำงานต่างจังหวัดหรือต่างประเทศได้บ้าง แต่พอพวกเขาเริ่มเข้าสู่ระยะเจ็บป่วยที่เข้มข้นในช่วงปีหลังทำให้เราไปไหนไม่ได้เลย ทำให้ต้องปฏิเสธบางงานไปด้วย”
เมื่อความเจ็บป่วยของพ่อแม่เริ่มเดินทางมาถึงช่วงท้าย การเลือกถอยออกมาจากอาชีพการงานหลัก มารับอาชีพ “ลูกสาว” เต็มเวลา ทำให้เธอสูญเสียโอกาสหลายอย่างในชีวิตหลายอย่าง ทั้งการสูญเสียรายได้ ไร้ความก้าวหน้าในการงาน หลงเหลือไว้เพียงความอ่อนล้า และสภาวะจิตใจที่แตกสลาย
การดูแลผู้ป่วยเป็นงานหนัก ต้องใช้ทั้งพลังกายและใจ ยิ่งด้วยการดูแลในสถานะลูก ที่มากไปกว่าการดูแลแค่ทางร่างกาย แต่หมายถึงการดูแลทางใจ ด้วยสายสัมพันธ์ และความรู้สึกที่มากไปกว่าอีกด้วย
“ความเหนื่อยมันมีมากอยู่แล้ว เราเหมือนแบกพ่อแม่เอาไว้ทั้งชีวิต ต่างจากหมอ-พยาบาลที่ดูแลแบบมืออาชีพ มีการเข้ากะ และรู้จักวิธีการถอดถอนความรู้สึก แต่สำหรับเรา การดูแลพ่อแม่ตัวเองมันคือการเอาเราไปทั้งตัวและหัวใจ
“เช้าก็เรา คำ่ก็เรา กลางคืนก็เรา เป็นอยู่แบบนี่ 24 ชั่วโมง การเงินเราก็เริ่มขาด เราดูแลพ่อแม่อย่างดีจนถึงลมหายใจสุดท้ายของเขา แต่ระหว่างทาง เราก็เสียอะไรไปเยอะเหมือนกัน”
แม้วันนี้ พ่อแม่จากไปหมดแล้ว แต่สิ่งที่หลงเหลือไว้ คือ “อิสระที่ไม่คุ้นเคย” ลักษณ์เปรียบเทียบตัวเองเสมือน “ว่าวที่ไร้สายป่าน”
“ตอนที่พ่อแม่ยังอยู่ ไม่ว่าเราจะออกไปไหน พอเริ่มตกค่ำ เขาจะโทรมาตามเรากลับบ้านแล้ว แต่วันนี้พ่อแม่จากไปแล้ว มันไม่มีเสียงโทรศัพท์นั้นอีกแล้ว พวกท่านไม่ได้อยู่เพื่อโทรหาเราอีกแล้ว เรารู้สึกเหมือนเป็นว่าว ที่แต่ก่อนไม่ว่าจะลอยไปทางไหน ก็พวกท่านคอยดึงกลับมา แต่ตอนนี้ ว่าวตัวนี้มันถูกปล่อยเชือกให้ลอยละล่อง ไม่รู้จะลอยไปทิศทางไหนอีกต่อไปแล้ว เป็นอิสระที่ไม่คุ้นเคย”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ตายดี’ ไม่มีทางลัด…วาระสุดท้ายที่ออกแบบได้
- การดูแลแบบประคับประคอง เมื่อ ‘คุณภาพชีวิต’ สำคัญกว่า ‘การยื้อชีวิต’
- ถอดรหัส 1 ปี นโยบายสถานชีวาภิบาล
- สถานชีวาภิบาล บ้านหลังสุดท้ายของใคร?
- ไร้คน ไร้ตำแหน่ง ไร้ความชัดเจน : การดูแลแบบประคับประคองไทยจะโตไปได้อีกไกลแค่ไหน?
- เมื่อ ‘การุณยฆาต’ อาจไม่ใช่สวรรค์…มอง ‘สิทธิเลือกตาย’ ผ่านมุมคิด 2 ผู้สร้างซีรีส์
- อยู่ไม่ไหว แต่ตายไม่ได้ “สิทธิเลือกตาย” พร้อมไหม ถ้าไทยจะมี “การุณยฆาต” ?
- ชุมชนกรุณา’ ปฏิบัติการทางสังคม สนับสนุนการอยู่ดี-ตายดี
- เช็ก ‘สถานชีวาภิบาล’ รับบริการได้ที่ไหนบ้าง
- แพทย์ ชี้ดูแล ‘ผู้ป่วยระยะท้าย’ ทำได้หลายวิธี ต้องออกแบบให้ตรงบริบทพื้นที่ – ตามความต้องการ
- พร้อมไหม ‘การุณยฆาต’ ? เมื่อระบบยังมีข้อจำกัด มองโอกาส ‘สิทธิตายดี’ ที่ต้องไปให้ถึง
- นโยบาย ตายดี (สถานชีวาภิบาล) ใน Policy Watch
- ความตาย ที่เรามีสิทธิ์เลือก : BEHIND THE POLICY
- รู้จักหนังสือแสดงเจตนา (e-Living Will) ทำไมจึงสำคัญ
- 6 ข้อเสนอ สู่ ‘สิทธิการตายดี’
- 1 ปีนโยบาย “ชีวาภิบาล” หลายปัญหาที่ต้องสะสางสู่สิทธิตายดี
- ส่องนโยบาย ‘สถานชีวาภิบาล’ ผ่านมาแล้ว 2 ปี ก้าวหน้าแค่ไหน