มองข้ามเส้นม็อบชาวบ้าน | พลวัตการเคลื่อนไหว 2563

หากจะกล่าวว่า การเคลื่อนไหวอย่างหนักหน่วงของขบวนคนรุ่นใหม่ตลอดปี 2563 แทบจะกลบเสียงเรียกร้องเชิงประเด็นของขบวนประชาชนอื่น ๆ เช่น ปัญหาป่าไม้ที่ดิน หรือปัญหาแรงงาน ที่เคยยึดครองพื้นที่การเมืองบนท้องถนนมาก่อนหน้านี้ ก็อาจจะไม่ผิดนัก

แต่นั่นไม่ใช่กับการชุมนุมของชาวบ้าน “กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น” จ.สงขลา และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ม็อบส่งท้ายปี” ที่มีภาพของการให้กำลังใจ และร่วมสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ ทั้งเข้าร่วมชุมนุม จัดทีมการ์ดดูแลความปลอดภัย ส่งเสบียงอาหารและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ไปจนถึงการชวนกันติด #SaveChana จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย ก็เป็นสิ่งสะท้อนว่า แท้จริงแล้วปัญหาชาวบ้าน ไม่ได้หายไปจากขบวนของคนรุ่นใหม่

สมบูรณ์ คำแหง หรือ “บังแกน” ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) มองขบวนเยาวชนคนรุ่นใหม่ และตอบคำถามว่า ขบวนประชาชนอยู่ตรงไหน ในความเคลื่อนไหวของการเมืองบนท้องถนน ปี 2563

ปัญหาชาวบ้าน ในความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่

สมบูรณ์ เริ่มวิเคราะห์ว่า อาจเพราะความแหลมคม ในความเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชน รวมถึงข้อเรียกร้องที่ทะลุเพดาน เลยทำให้พื้นที่ของภาคประชาชนที่มีข้อเสนอเฉพาะของตัวเองในเชิงประเด็นหลายเรื่อง ดูเหมือนจะเลือนหายไป ในขณะที่ความเป็นจริง ปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้หายไปไหน และยืนยันว่าในพื้นที่ก็ยังมีปัญหาอยู่

แต่จากกระแสการเคลื่อนไหวที่เข้มข้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่การเชื่อมต่อในเชิงประเด็น ระหว่างขบวนชาวบ้านกับคนรุ่นใหม่ อาจดูเหมือนถูกละเลยไปด้วย ประกอบกับความระมัดของภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) หรือ กลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวในเชิงประเด็น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการไม่เชื่อมต่อกันด้วย

สมบูรณ์มองว่า นี่อาจจะเป็นจุดอ่อนข้อหนึ่ง และยังเป็นข้อถกเถียงในหมู่ภาคประชาสังคมว่า วันนี้ มันถึงขั้นนั้นหรือไม่ เช่น การพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ไม่ใช่ว่าใครก็ได้จะออกมาพูด ขณะที่ในมุมของเด็กมองว่า สังคมไทยวันนี้สะสมปัญหาเอาไว้หลายเรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เรื่องที่ชาวบ้านและภาคประชาสังคมเจออยู่ เช่น ปัญหาที่ดิน ปัญหาการจัดการทรัพยากร รวมทั้งปัญหาอำนาจที่กระจุกอยู่ที่ส่วนกลางมากเกินไป

“ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์หนึ่ง ที่เป็นข้อจำกัดที่พวกเราอาจจะชวนกันคิดและวิเคราะห์น้อยเกินไป บวกกับความแหลมคมของข้อเสนอที่มาเร็วมาก เหมือนกับตอนนี้อยู่ในระหว่างการหาความพอเหมาะพอดี”

อย่างไรก็ตาม บังแกน มองว่าวันนี้หลายองค์กรชาวบ้านก็เริ่มเห็นความเชื่อมโยงและมีความเข้าใจแล้วว่า หลายประเด็นที่พยายามขับเคลื่อนกันมาตลอดนั้น เมื่อดูในเชิงโครงสร้างก็จะเห็นเหตุผลที่ทำให้หลายเรื่องไม่สามารถแก้ปัญหาได้แบบเบ็ดเสร็จ อย่างเรื่องที่ดินที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ ที่พีมูฟ (ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม) พยายามเคลื่อนไหวเรื่องนี้มานานมาก ก็เป็นปัญหาทับซ้อนกับโครงสร้างสังคมไทยที่เป็นอยู่

“ทั้งเรื่องกระจายอำนาจและการจัดสรรทรัพยากร การมีภาษีก้าวหน้า หรือกลุ่มที่เรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการ เราได้บทสรุปว่า ถ้ายังอยู่ภายใต้โครงสร้างเดิม มันยากมาก”

และไม่เพียงขบวนชาวบ้านเท่านั้น ขบวนเยาวชนเองก็เริ่มเห็นเช่นกัน จากที่เคลื่อนไหวแบบแหลมคมในเชิงโครงสร้างแบบลอย ๆ ก็เริ่มจับได้ว่าประเด็นที่เขาพูดนั้น รูปธรรมก็คือสิ่งที่ชาวบ้านเจอ

เขายังเห็นอีกว่า หากเกิดความเข้าใจร่วมกันทั้งหมด แม้กระทั่งการเสนอการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเข้าใจ ไม่ตกหลุมพรางของการสร้างวาทกรรมที่พยายามจะให้อยู่แค่การถกเถียงว่า ถ้าแก้หมวด 1 หมวด 2 คือ การล้มล้างสถาบันฯ ซึ่งวันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า “เรา” ไม่มีเจตนาในเรื่องการล้มล้างสถาบันฯ แต่ควรตั้งคำถามว่า อำนาจที่เหลื่อมล้ำนี้มีจริงไหม คำตอบ คือ มีจริง มีการเสียสมดุล จึงต้องช่วยกันสร้างดุลอำนาจใหม่ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ

“คิดว่า ถ้าสังคมเข้าใจเรื่องพวกนี้ชัดขึ้น และเห็นว่าโอกาสของการจะแก้รัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การคุยเรื่องดุลอำนาจใหม่ ก็จะเป็นโอกาสของพวกเราทั้งหมด”

สมบูรณ์ย้ำด้วยว่า ถ้าจะให้การขับเคลื่อนเกิดรูปธรรมได้จริง คนที่เคลื่อนในเชิงโครงสร้างแบบแหลมคม มาช่วยกันกับคนที่เจอประเด็นปัญหาอยู่ในพื้นที่ และทำให้เกิดความเข้าใจในสังคมโดยรวม มันก็จะไปได้โดยอัตโนมัติ แต่ถามว่ายากไหม คำตอบก็ คือ ยาก เพราะต้องใช้วิธีการพูดคุย อธิบาย ถกเถียง ทำความเข้าใจ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน

มุมมอง : ข้อดี ข้ออ่อน และอนาคต

มองย้อนกลับไป บังแกน มองเห็นจุดเด่นในความเคลื่อนไหวของเด็ก คือ การใช้พลังสร้างสรรค์ออกแบบการเคลื่อนไหวได้อย่างน่าสนใจ ถึงขนาดที่ในหมู่เอ็นจีโอคุยกันว่า มันทำลายทฤษฎีการเคลื่อนไหวแบบเดิม ๆ โดยสิ้นเชิง ซึ่งถือเป็นข้อดี แต่ก็มีจุดอ่อนด้วย เช่น การใช้บางถ้อยคำที่อาจจะฟังรุนแรงสำหรับบางคน

ถ้ามองแบบเข้าใจก็คือ เด็กต้องการกระแทกให้แรงที่สุด เพื่อให้เกิดการสั่นสะเทือน แต่ในอีกด้านของแรงกระแทกที่เกิดขึ้นนั้น มันก็ขัดแย้งกับสังคมไทยที่เป็นสังคมประนีประนอม สังคมที่เคารพผู้ใหญ่ เคารพผู้มีอำนาจ ยิ่งต่อสถาบันที่เป็นที่เคารพเทิดทูนด้วยนั้น เป็นเรื่องใหญ่มาก เลยทำให้มีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบนี้ แม้จะเห็นด้วยในข้อเรียกร้อง มันเลยเกิดช่องว่างขึ้น

“ถ้าเราใช้เหตุผลกัน ไม่ติดกับปรากฏการณ์ที่เด็กเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว แต่ให้ดูสาระสำคัญที่เขาพยายามเรียกร้อง ทั้ง 3 ข้อเรียกร้องนั้น คิดว่ามันมีเหตุผล และโดยเฉพาะข้อที่เรากังวลในข้อที่ 3 ในเรื่องสถาบันฯ จริง ๆ มันก็เป็นเรื่องปกติ เพราะในการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา หลายครั้งเราก็แก้หมวด 1 และหมวด 2 ได้ เพราะมันต้องปรับไปตามสถานการณ์”

แต่ก็ต้องยอมรับว่า การต่อสู้ในท่วงทำนองแบบนี้ ระหว่างคนที่มีความคิดแบบเดิม ๆ กับคนรุ่นใหม่ที่ไปเร็วมาก ก็ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ต้องหาคนมาช่วยกันอธิบายเรื่องพวกนี้กันพอสมควร ซึ่งมันก็ยาก เพราะคนที่จะอธิบายก็ต้องระวังตัว

ส่วนวันนี้อาจจะมีบางคนมองว่า แรงกระเพื่อมของเด็กดูจะเบาลง แต่บังแกนมองว่า ความเคลื่อนไหวอย่างหนักของขบวนเยาวชนตลอดปีที่ผ่านมา ถือว่าชนะไประดับหนึ่งแล้ว เห็นได้จากสัญญาณการปรับตัวของระบบต่าง ๆ รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เองด้วย

“ที่จะบอก คือ มันเปลี่ยนแน่นอน การเคลื่อนไหวครั้งหน้าอาจจะรุนแรงหรือไม่นั้น แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยในอนาคต คือ ความคิดของคนรุ่นใหม่ มันได้ถูกฝังลงไปแล้ว และเมื่อคนรุ่นนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะมีความคิดใหม่แล้ว แต่ถ้าสังคมไทยไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดรับกันได้ ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคตได้”

บังแกน ย้ำว่า ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางความคิดเห็นทางการเมืองก็ยังคุกรุ่น ชาวบ้านก็ยังถูกกระทำเหมือนเดิม การเคลื่อนไหวของประชาชนและคนรุ่นใหม่ก็ยังคงต้องมีต่อไป ซึ่งโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้คนในสังคมเปิดรับในสิ่งที่เด็กออกมาพูด ออกมาเรียกร้อง และวิเคราะห์ด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ความรู้สึก และท้ายที่สุด คือ พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการหาทางออกเรื่องพวกนี้ด้วย

“เตือนไปถึงฝ่ายการเมืองด้วย วันนี้การที่ข้อเสนอของเด็กผ่านกลไกทางการเมือง มีความหมายมาก แต่ถ้าฝ่ายการเมืองไม่เห็นความสำคัญเรื่องนี้ ละเลย และสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง คิดว่าก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย”

ส่วนประชาชนทั่วไป ก็ต้องช่วยกันทำความเข้าใจ ช่วยกันสื่อสาร และใช้กลไกในระบบให้สามารถทำงานได้ เพื่อข้ามผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว