‘สันติภาพ’ และ ‘ปากท้อง’ ต้องมาด้วยกัน
หากพูดถึง “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” หลายคนมักนึกถึงคงจะเป็นเสียงของปืน ควันระเบิด ความขัดแย้ง ความรุนแรง รวมไปถึงความเป็นภาพสะท้อนของการใช้กฎหมายพิเศษที่ทำให้เกิดการอุ้มหายและซ้อมทรมาน
ในปี 2566 เข้าสู่ปีที่ 19 ของเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แม้ปัญหาความรุนแรงในชายแดนใต้ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่ว่ามีสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือบทบาทของนักการเมืองกับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีการทำงานร่วมกันกับภาคประชาสังคม จนมีการผลักดันพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แม้ว่าจะมีปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่เสนอให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมาย จากเดิมที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 หลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นการประวิงเวลา เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ คนที่เสียประโยชน์มากที่สุด คือคนที่มีบาดแผลต่อการกระทำการอุ้มหาย และซ้อมทรมานผู้อื่น
The Active ชวนมองบทบาทของนักการเมืองต่อการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ กับ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และ ฆอซาลี อาแว เจ้าหน้าที่วิจัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
บทบาทนักการเมืองกับการร่วมสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ ?
พญ.เพชรดาว : เส้นทางสู่สันติภาพที่เรายังไม่เห็นแสงสว่างสักเท่าไหร่ การทำงานก่อนที่เป็น ส.ส.เรื่องของสันติภาพเราก็ทำอยู่ เพราะว่ากลับมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบพอดี กรมสุขภาพจิตตั้งศูนย์สุขภาพจิตขึ้นมาเพราะเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้นมันมีความเกี่ยวโยงตั้งแต่รับราชการ จนถึงบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเชื่อมโยงกันได้อย่างดี แต่บทบาทหน้าที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เวทีที่เคยเข้าร่วมตอนสมัยเป็นผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตในฐานะข้าราชการ หลายเรื่องที่เราพูดไป เราพูดข้อความเดิม แต่เสียงเราไม่ดังเท่าตอนที่เรามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ว่าถึงเวลาจริง ๆ แล้ว เรายังไม่สามารถที่จะมีวาระพิจารณาเรื่องกระบวนการสันติภาพในจังหวัดในภาคใต้ในสภาได้เลย ทำไมเรารู้สึกว่าย่ำอยู่กับที่ เหตุผลเพราะอะไร กรรมมาธิการที่เราเสนอญัตติให้ตั้งนี้ เราจะได้ศึกษาอย่างเป็นระบบมากขึ้น คิดว่า สภาฯ รัฐสภามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีส่วนรู้เห็น ส.ส. 500 คนต้องรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นแล้วทำไมเหตุการณ์ความไม่สงบถึงยังดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้
ต้องบอกว่าคุณพ่อเป็นนักการเมือง ฉะนั้นจึงเห็นบทบาท เห็นนักการเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกพรรคมารวมตัวกันผลักดันในสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ต้องการ บรรยากาศต่าง ๆ ที่เอื้อต่อกระบวนการสันติภาพตอนนั้นสำคัญ เราไม่ได้พูดประเด็นพูดคุยเจรจาบนโต๊ะเท่านั้น เช่น คุณพ่อผลักดันมากเรื่องธนาคารอิสลาม เรื่องของ พ.ร.บ. กิจการ เรื่องของศาสนา ดังนั้นความเข้าใจการพูดคุยก็มีมาเป็นลำดับขั้นตอน มีพลวัตมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ต้องบอกว่าบทบาทของนักการเมืองในแต่ละยุคแต่ละสมัยเป็นบทบาทสำคัญมากในการที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนที่สะท้อนปัญหาให้กับรัฐสภา ซึ่งสามารถที่จะมีกฎหมายสามารถที่จะแก้ไขด้วยกระบวนการต่าง ๆ ผ่านหน่วยงาน พอเข้ามาในสมัยที่เป็น ส.ส.ป้ายแดง เข้ารัฐสภาครั้งแรกพูดในสภาคือเรื่องด่านจุดตรวจเป็น 1,000 จุด ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมสงขลาเป็น 4 จังหวัด เรื่องที่ 2 คือเรื่องกำหนดให้วันสารทเดือนสิบ ของพี่น้องชาวไทยพุทธเป็นวันหยุดราชการ ไม่ว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 70-80 % เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ขณะเดียวกันคนส่วนน้อยเป็นเสียงที่เราต้องรับฟัง และสามารถที่จะเข้าใจ เคารพในสิ่งที่ต่างคนต่างนับถือ ต่างคนต่างมีวัฒนธรรมประเพณี คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศไทยไม่ใช่แค่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้เท่านั้น จังหวัดภูมิภาคอื่น ๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะได้หยุดในวันสำคัญของประเพณีแต่ละพื้นที่ด้วย
ความเปลี่ยนแปลงระหว่างภาคประชาสังคมในพื้นที่กับนักการเมือง
ฆอซาลี : เห็นมิติของภาคการเมือง มองว่านักการเมืองทุกยุคทุกสมัยจะ lead ประเด็นชายแดนภาคใต้ทุกครั้งไป แต่ว่าประเด็นสำคัญของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พี่น้องประชาชนเหมือนกับมีความหวังที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ในกลไกหรือในกระบวนการวิถีทางการเมือง เพราะว่ามันเป็นการแก้ไขในเชิงโครงสร้างและเชิงนโยบาย แต่ถ้าเราไปแก้ไขในระดับล่างเป็นจุด ๆ ก็ไม่สามารถที่จะครอบคลุม ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที
ภาคประชาสังคมกับนักการเมือง มิอาจจะแยกส่วนได้ เพราะว่านักการเมืองในชายแดนภาคใต้ มีความซับซ้อนไม่เหมือนกับภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะเรื่องของอัตลักษณ์ภาษา วัฒนธรรม ที่ผูกเชื่อมโยงความเป็นศาสนา ความเป็นอิสลาม ความเป็นมุสลิม ความเป็นมลายู มีประวัติศาสตร์ของตนเอง อย่างเรื่องของธนาคารอิสลามคือธนาคารทั่วไปที่มีอยู่แล้ว แต่ว่าต้องผูกโยงกับความเป็นอัตลักษณ์ตัวตนของคนที่นั่น เรื่องของการศึกษาก็ต้องมีอิสลามศึกษา วิถีหรือการแต่งกายก็ต้องคลุมฮิญาบ
ประเด็นที่ 2 คือการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 ฝ่าย สิทธิมนุษยชนหรือความเป็นธรรมในพื้นที่ ถ้าสมมุติมีความไม่เป็นธรรม ประชาชนถูกรังแกก็จะมีการลุกขึ้นมาต่อสู้ บทบาทของภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ประเด็นเด็กสตรี เยาวชน ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและประเด็นอื่น ๆ การสื่อสาร ศาสนา วัฒนธรรมสิ่งเหล่านี้ เราพยายาม support องค์ความรู้ให้กับผู้แทนของตนเอง เพื่อที่จะไปสื่อสารกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่
อีกพลวัตหนึ่งคือ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา โดยการนำของอาจารย์โคทม อารียา อาจารย์มักจะพูดว่า… “การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องแก้ด้วยโครงสร้าง” อาจารย์เลยไปพบปะกับหลายคน หนึ่งในนั้นคือคุณเด่น โต๊ะมีนา คุณพ่อของของ พญ.เพชรดาว คุณเด่นแนะนำว่า..เราต้องมาเจอกับ ส.ส.ที่อยู่ในพื้นที่ทุกพรรคการเมือง ตอนนั้นคุณเด่นเป็น ส.ส. ในพื้นที่อยู่ด้วย เลยทำให้เกิดโครงการที่สถาบันสิทธิมนุษยชนทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ การสานเสวนาระหว่างนักการเมืองชายแดนใต้ ตั้งแต่ธันวาคม 2554 เป็นต้นมา จนถึงปลาย ๆ ปี 2561 เป็น process ของโครงการทำให้ ส.ส.ทุกพรรคแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อาจจะคิดต่างกันก็ได้ แต่ว่าบางอย่างเรามีจุดร่วมเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาชายแดนใต้
อันนี้เป็นการเริ่มต้นของฝ่ายภาคการเมือง ส่วนภาคประชาสังคมมาร่วมกันในโครงการของที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ได้ดำเนินการในพื้นที่ชายแดนใต้ คือการพูดคุยปี 2556 ได้เปิดพื้นที่สานเสวนาให้กับกลุ่มผู้หญิงสตรี เด็ก ผู้นำศาสนามา สร้างความเข้าใจของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ภาคประชาสังคมมีข้อเสนอ ข้อแลกเปลี่ยน รวบรวมข้อเสนอต่าง ๆ ให้กับผู้แทนที่จะลงรับสมัครและพอได้รับการเลือกตั้งแล้ว เราก็อยากจะทำงานร่วมกัน แต่ว่าเสียดายช่วงนั้นเราไม่ได้ทำงานอย่างแข็งขัน ด้วยอุปสรรคและข้อจำกัดหลาย ๆ ข้อ แต่ว่าอย่างน้อยเรามีประเด็นร่วมที่เราทำงานระหว่างภาคประชาสังคม กับ ส.ส. ในพื้นที่ก็คือการผลักดันกระบวนการวิสามัญพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ เราอาจจะต้องยกเครดิตให้กับ ส.ส. ที่ยื่นเสนอญัตตินี้โดยเฉพาะและคนแรกคือคุณหมอเพชรดาวที่ยื่นวาระนี้
กระบวนการในการนำเสนอญัตติ
พญ.เพชรดาว : ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องจบที่สภา! พูดมาตลอดว่า กระบวนการพูดคุยที่รัฐทำ ตั้งแต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลา แทบจะไม่มีบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปอยู่ตรงนั้นเลย ทั้งที่เวลาเราลงพื้นที่หาเสียงสะท้อนจากประชาชน เรารับฟังรวบรวมปัญหาไว้หมด แต่พอถึงการพูดคุยระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐมาพูดคุย บทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่ตรงนั้นเลย
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการพูดถึงเรื่องของอัตลักษณ์ภาษาวัฒนธรรมศาสนา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้หญิงของ 3 จังหวัดมานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน มีประเด็นอะไรเขาจะส่งให้ ส.ส. ภาคประชาสังคมจะเป็นผู้รวบรวม ภาคประชาสังคมมีความสำคัญในการรวบรวมประเด็น แต่ละพรรคสามารถที่จะนำไปเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ด้วย ฉะนั้นภาคประชาสังคมนักการเมือง แกนนำกับประชาชนทั้งหมดมีส่วนสำคัญที่จะเชื่อมโยง ต้องมีการติดตามต่อเนื่อง เรื่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าจะมีความรุนแรงมานาน แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องบอกตรง ๆ ว่ายังไม่ให้ความสำคัญ
ข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะร่วมกันแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้
พญ.เพชรดาว : ปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ปัญหาความรุนแรงเท่านั้น ต้องกลับไปดูที่โครงสร้างเลย ทำไมยังยากจนที่สุดในประเทศไทย ทำไมการศึกษายังเป็นลำดับท้าย ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นเท่านั้น นี่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างเชิง เชิงวัฒนธรรม ความรุนแรงที่เราเห็นการบาดเจ็บ เสียชีวิตเป็นสิ่งที่เห็นชัด เร้าความรู้สึกได้อย่างเร็ว คนเลยไปมุ่งเน้นเรื่องยุติความรุนแรงต้องมาก่อน โดยทิ้งประเด็นอื่น ๆ ไว้ข้างหลังแทนที่จะทำควบคู่กันไป
ตอนที่หาเสียงพรรคภูมิใจไทยปี 2562 อยากให้มีกฎหมาย พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะ ซึ่งมีบริบทของการศึกษาศาสนาวัฒนธรรม ต้องยอมรับว่าภาคประชาสังคมกับคนในพื้นที่ อาจมีความเห็นที่แตกต่างบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือการเปิดพื้นที่ ต้องฟังอย่างมีสติ ฟังอย่างสงบ ไม่มีประเทศไหนที่อยากฟังว่า มีคนของเขาอยากจะแบ่งแยกดินแดน แต่คิดว่า ถ้ามีคนที่คิดอย่างนั้นจริง ๆ รัฐต้องฟังอย่างตั้งใจ อย่างเข้าใจว่า ทำไมอยู่กับประเทศไทยแล้วไม่ดีตรงไหน สามารถแก้โครงสร้างอะไรได้บ้าง ต้องเปิดกว้าง ทุกภาคส่วนต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ฆอซาลี : ภาคประชาสังคมมีความพยายาม ไม่ว่าประชาสังคมที่ทำงานในมิติใดก็ตาม เช่น ในช่วงที่เราเห็นกลุ่มเครือข่าย ผู้หญิงชายแดนใต้ ไม่ปลอดภัยในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ว่าไม่ได้สำเร็จ อย่างน้อยก็มีการริเริ่ม เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็จะมีเทรนด์อื่น แล้วบวกกับยุคที่เป็น คสช. เมื่อปี 2557 ทำให้กระบวนการพูดคุยก็ชะงักด้วย
กระบวนการพูดคุยที่เป็นพื้นที่ทางการเมืองในชายแดนภาคใต้ถูกแช่อยู่ระดับหนึ่ง ภาคประชาสังคมก็ไม่ได้พูดคุยอย่างที่เคย พอมีโอกาสของการเลือกตั้งโดยเฉพาะประชาสังคมชายแดนใต้ก็พยายามที่จะรวบรวมข้อเสนอ รวมองค์กร 13 องค์กรเครือข่าย และรวบรวมข้อเสนอ 8 ประเด็น ได้แก่
- ประเด็นแรก ประเด็นของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเกือบทุกองค์กรมองว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญอันดับต้น ๆ
- ประเด็นที่ 2 ประเด็นกระบวนการพูดคุยสันติภาพหรือสันติสุข
- ประเด็นที่ 3 การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ประเด็นที่ 4 การสื่อสารกับสังคม
- ประเด็นที่ 5 การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
- ประเด็นที่ 6 การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่
- ประเด็นที่ 7 รูปแบบการปกครองและการพัฒนา
- ประเด็นที่ 8 กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
โดยทาง พญ.เพชรดาว ก็ได้เสนอเรื่องของญัตติ ‘กรรมาธิการวิสามัญเรื่องกระบวนการพูดคุย’ ตอนนั้นเราในฐานะภาคประชาสังคมเองก็ติดตามลุ้นว่า เมื่อไหร่จะมี เรามองว่าคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สูญเสียทุกวันมีเหตุการณ์เกือบทุกวัน และงบประมาณที่มาลงในการแก้ปัญหาตรงนี้ เท่านี้หลาย ๆ ฝ่ายยังมีความรู้สึกว่ามันเป็นวาระของทุกคนไหม? หรือเป็นเฉพาะวาระของจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนี้คือมุมมองของคนในพื้นที่รู้สึกว่ายังไม่สำคัญ ยังไม่เร่งด่วนอีกหรือ การแก้ปัญหาต้องสร้างความเข้าใจของคนทั่วประเทศด้วย เพราะว่าหลาย ๆ ภูมิภาคก็ยังมองว่ามันเป็นเรื่องของภาคใต้ ยังไม่เป็นเรื่องของทุกคนในชาติที่จะต้องมาร่วมแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาของทุก ๆ คน ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนในพื้นที่
พญ.เพชรดาว : เป็นเรื่องที่คุยกันมานานมาก จำได้ว่าในปี 2548 มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ที่ท่านอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน เรามีคณะทำงานเรื่องของการสื่อสารให้กับสังคม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทางกรมประชาสัมพันธ์มีงบประมาณให้ไปตามภูมิภาคต่าง ๆเพื่อที่จะไปบอกเล่าให้กับภูมิภาคอื่น ๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้คืออะไร คือพูดจบ อบรมจบ หลังจากนั้นก็จบ ไม่ได้มีการขยายต่อ ต้องบอกว่าถ้าไม่ใช่พี่น้องตัวเองประสบปัญหา หรือว่าบาดเจ็บเสียชีวิต ความรู้สึกตรงนี้ไม่มีความรู้สึกร่วม
กฎหมายอะไรบ้าง ที่เรามีในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พ.ร.บ.การบริหารชายแดนภาคใต้ เราก็มี แต่ว่าพอมีการปฏิวัติรัฐประหาร ถูกครอบด้วยหน่วยงานความมั่นคง ฉะนั้นความอิสระในการบริหารจัดการไม่ใช่ตามเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ในกฎหมาย คงต้องมาจัดระบบกฎหมายว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนมากน้อยแค่ไหนในแต่ละเรื่อง ที่จะพาระบบการศึกษาทั้งอิสลาม ทั้งศาสนิกอื่น ๆ เรื่องของภาษา จริง ๆ แล้วพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษ เขาพูดภาษามลายูได้ แต่ทำไมรัฐไม่สร้างเสริมภาษามลายู ถ้ายกระดับสอนเพิ่มเติมให้รู้เรื่องภาษามลายู เราก็สื่อสารกับประเทศมาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ได้ ฉะนั้นถ้ามีนโยบายที่ทำได้จริงจังจึงบอกว่าแค่นโยบายไม่มีกฎหมายรองรับ พอหมดสมัย 4 ปีก็เปลี่ยนอีก
“ผมเชื่อเหลือเกินว่า ณ วันนี้มีความเข้าใจในกระบวนการ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าการสื่อสารของผู้ที่ไปพูดคุย หรือกลไกอะไรต่าง ๆ ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจ และให้การรับรู้ และ ผมเชื่อว่า พี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการสันติภาพ และอยากจะเห็นการพัฒนาในทุกมิติต่อไปในอนาคต”
ฆอซาลี อาแว เจ้าหน้าที่วิจัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
“ที่เราต้องมานั่งพูดคุยกันคือ ความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความรุนแรง แต่การแก้ไขปัญหานอกเหนือจากยุติความรุนแรงแล้ว คือความเข้าใจการสร้างความเข้าใจจากทุกภาคส่วนให้เกียรติซึ่งกันและกัน ต้องบอกว่านักการเมืองกับการนำนโยบายไปสู่ปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้น คือการทำงานร่วมกันกับภาคประชาสังคมที่มีศักยภาพและการทำงานต่อเนื่อง”
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย
สิ่งสุดท้ายที่ต้องพูดถึงคือประชาชนในพื้นที่มองว่า สันติภาพที่เขาอยากจะได้ มันไม่ใช่แค่สันติภาพที่ลดความรุนแรง แต่สันติภาพที่เขาอยากได้ คือปากท้องต้องอิ่ม ต้องมีที่อยู่ที่สามารถนอนอุ่นอยู่สบายด้วย ฉะนั้นเศรษฐกิจปากท้องและ สันติภาพต้องมาด้วยกัน
The Active Podcast 2022 EP. 107: 18 ปี ไฟใต้ นักการเมืองกับการสร้างสันติภาพ