หลายครั้งที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบและความขัดแย้งขึ้นในบ้านเมือง ข้อเสนอเรื่อง “การปรองดอง” ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อหลักในการพยายามหาทางออก
ในจำนวนนี้มีถึง 3 ครั้ง ที่ถูกเสนอผ่านประสบการณ์ของผู้อาวุโสแห่งวงการกฎหมายไทย ‘ศาสตราจารย์พิเศษ คณิต ณ นคร’ อดีตอัยการสูงสุด ที่ถูกเรียกตัวทุกครั้ง ในยามผู้กุมอำนาจรัฐต้องการหา “คนกลาง” ให้ช่วยชี้ทางออกให้กับบ้านเมือง
“แต่ก็ไม่มีใครทำอะไร” กลับเป็นสิ่งที่ ‘อาจารย์คณิต’ พบทุกครั้ง หลังจากให้ “วิธีการออกจากความขัดแย้ง” ต่อผู้มีอำนาจรัฐ
เมื่อบทเรียนที่ผ่านมาไม่เคยถูกทบทวน ในวันที่ดูเหมือนจะมี “สัญญาณ” ความขัดแย้งขึ้นอีกครั้ง ยังมีทางออกที่จะไม่ทำให้เกิดความรุนแรงเหมือนในอดีตหรือไม่
The Active กลับไปถาม “คณิต ณ นคร” อีกครั้ง
ข้อเสนอปรองดอง : บทเรียนที่ไม่เคยถูกทบทวน
ชีวิตผมที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองถึง 3 ครั้ง ครั้งแรก คือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ตอนนั้นได้ช่วย ศาสตราจารย์พิเศษ โสภณ รัตนากร (ประธานศาลฎีกา) พอตรวจสอบเสร็จแล้ว ก็มีรายงานไปถึงรัฐบาลโดยไปอยู่ที่กระทรวงกลาโหม แต่ตอนที่ไปทำงานที่ คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) ผมไม่มีรายงานนี้แม้แต่ฉบับเดียว ผมต้องไปขอ อาจารย์โสภณ เอามาดู นั่นเป็นครั้งแรก
ครั้งที่สอง คือ เหตุการณ์ฆ่าตัดตอน อันเป็นผลจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็ทำจนเสร็จ รีบสรุป เพราะจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นสมัคร สุนทรเวช ก็ชี้ว่า การฆ่าตัดตอนเป็นเรื่อง Crime Against Humanity เป็นความผิดต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งความผิดนี้จะต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเราก็ Approve ด้วย แล้วก็จบไป ไม่มีใครทำอะไร ซึ่งจริง ๆ แล้วเมื่อมีการชี้ความผิด กระบวนการยุติธรรมก็ต้องไปตรวจสอบว่าใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง แต่ไม่มีใครทำอะไร นั่นเป็นครั้งที่สอง
ครั้งที่สาม คือ เหตุการณ์ที่เหลืองกับแดงปะทะกัน คุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) มาที่บ้านผมขอร้องให้ผมช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ก็โทรมาให้ช่วย เราก็ทำงานจนจบ แล้วผมก็เขียนหนังสือ “ประชาธิปไตยกับการตั้งข้อรังเกียจทางสังคม” แจกไปทั่ว แต่ก็ไม่มีใครทำอะไร
มา ครั้งสุดท้าย หลังคุณประยุทธ์ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ยึดอำนาจก็ตั้ง ปยป. (คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง) อาจารย์ปณิธาน (รองศาสตราจารย์ปณิธาน วัฒนายากร) ก็โทรมาหา ชวนผมไปร่วมในกรรมการชุดนี้ด้วย ผมก็เอาหนังสือเล่มนี้มอบให้คุณประยุทธ์ 300 เล่ม แต่ก็เงียบ
“ผมเป็นห่วง และคิดว่าทุกคนก็เป็นห่วงว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้น ก็ได้แต่ภาวนาว่าอย่าเกิดความรุนแรงเลย ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ๆ เราต้องหาคนไปทำงานอีก ก็ต้องหาคนที่เป็นกลาง แต่หาได้ไหมบ้านเราในตอนนี้ จะหาใครที่เป็นกลาง ที่จะช่วยสะสางปัญหาได้ ข้อเรียกร้องของนักศึกษาก็เป็นเรื่องปกติ เมื่อเราต้องการการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย จะไปสกัดเขาได้อย่างไร”
บ้านเมืองไม่สงบ เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่มีประสิทธิภาพ
ผมเป็นห่วง ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง อยากให้บ้านเมืองสงบ แล้วบ้านเมืองเราที่ไม่สงบก็เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เมืองไทยเราถ้าเปรียบเทียบกับเมืองนอก ในเรื่องความรับผิดชอบต่อประชาชน หรือ Public Accountability
มีข้อสังเกตว่าบ้านเมืองเราที่มีการยึดอำนาจหลายครั้ง ก็สืบเนื่องมาจากการกล่าวหาว่าทุจริต ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 ก็กล่าวหาว่าที่สนามบินสุวรรณภูมิมีการทุจริตเครื่อง CT-X แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่เห็นผลการศึกษาออกมา คือ กระบวนการยุติธรรมเราไม่เวิร์ก ไม่จริงจัง
“ปัญหาความวุ่นวายในประเทศ ไม่ใช่มาจากการไม่เคารพในกระบวนการยุติธรรม เขาก็เคารพ แต่กระบวนการยุติธรรมเราไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน รัฐบาลชุดนี้ก็บอกว่าจะปฏิรูปตำรวจ ผมยังไม่เห็นเลย ก็อยากดูเหมือนกันว่าจะปฏิรูปตำรวจกันอย่างไร”
ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม : ทางออกจากความขัดแย้ง
ถามว่าประชาธิปไตยเราต้องการไหม ผมคิดว่าทุกคนต้องการ “การตั้งรังเกียจทางสังคม” ซึ่งเรื่องนี้บ้านเราอ่อนมาก ท่านปยุตฺโต (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) เคยกล่าวว่า เรื่องพรมวิหาร 4 คนในบ้านเมืองเรา เมตตาดี กรุณาดี มุทิตาก็ดี แต่อุเบกขานี่เข้าใจผิด อุเบกขาไม่ใช่การวางเฉย แต่คือต้องอัปเปหิกับคนไม่ดี คือ การตั้งรังเกียจคนไม่ดี
ตอนทำงาน คอป. เรามีข้อเสนอครอบคลุมทุกมิติ แต่ไม่เห็นขับเคลื่อนสักอย่าง ทั้งข้อเสนอแนะระยะเร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว มีหมด แต่ไม่มีใครเอาไปใช้เลย ถามว่านายกรัฐมนตรีอ่านหนังสือผมไหม ผมไม่แน่ใจ
ผมเสนอเรื่องการปฏิรูประบบทหารด้วย มีประเทศไหนมีถึง 4 กองทัพ เขามีแค่ 3 กองทัพเท่านั้น บก เรือ อากาศ ของเรา “ตำรวจ” ก็เป็นกองทัพด้วย ดังนั้น ถ้าจะให้บ้านเมืองสงบ ผมว่าต้องเลิกกองทัพตำรวจ ตำรวจเป็นกองทัพไม่ได้ ถึงอยากรู้ว่าปฏิรูปตำรวจจะทำให้กองทัพตำรวจหมดไปไหม ไม่มี พอยึดอำนาจ ตำรวจก็เป็นตัวจักรสำคัญ
ลองศึกษาข้อเสนอแนะของ คอป. ผมพูดทุกมิติ รากเหง้าของรัฐธรรมนูญกับความขัดแย้ง ตอนนี้ก็จะร่างรัฐธรรมนูญกันอีกแล้ว ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดคือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ผมไปผลักดันเรื่องศาลว่าจะจับได้ต้องมีหมายศาล จะค้นได้ต้องมีหมายศาล ศาลต้องมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ที่ยะลาที่ผู้พิพากษายิงตัวตาย แสดงว่าไม่มีความอิสระ
“ถามว่ามองกระบวนการยุติธรรมบ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไร ก็ต้องถามกลับว่าคุณเชื่อกระบวนการยุติธรรมเราไหม องค์กรไหนที่คุณว่าเชื่อได้ ไม่น่าเชื่อแม้แต่องค์กรเดียว องค์กรที่ผม เคย อยู่ ก็อย่างที่เห็น”
ถ้าเราปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้จริง ผมคิดว่าบ้านเมืองเราก็จะสงบ เพราะกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญ ผมทำเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่เป็น สสร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) เมื่อปี 2540
แต่พอเสร็จแล้วก็เป็นแค่ตัวอักษรนอนนิ่ง…