ความเป็นธรรม กับ สันติภาพเชิงบวก

: วัชรฤทัย บุญธินันท์

สันติภาพ” ไม่ใช่เพียงแค่ความสงบหรือไร้สงคราม

แต่ “สันติภาพ” ยังหมายถึงสังคมที่มีการพัฒนา ความเป็นธรรม ไม่มีความเหลื่อมล้ำ

ในภาวะไร้สงคราม ผู้คนไม่ได้สู้กันด้วยอาวุธ แต่ยังคงมีความรุนแรง ไม่เป็นธรรมในสังคม ทำอย่างไรที่จะปรับเปลี่ยนความรุนแรงเหล่านั้น ให้กลายเป็นกระบวนการสร้างสันติภาพเชิงบวก เอื้อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาค

The Active  ชวนมองภาพสานฝัน สันติภาพเชิงบวก ให้เกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง กับ อาจารย์วัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

แนวคิดของสันติภาพ

ต้องทำความเข้าใจเรื่องความหมายของสันติภาพ เวลาเราพูดว่า “สันติภาพ” หลาย ๆ คนจะนึกภาพว่า อะไรที่เป็นความสงบ แล้วก็จะนึกถึงภาพว่า สันติภาพเกิดขึ้นหลังสงคราม เมื่อมีความสุข เรียบร้อย จริง ๆ สันติภาพ เกิดขึ้นมาพร้อมกับบริบทขององค์กรระหว่างประเทศ อย่าง สหประชาชาติ ที่มีหน้าที่ทำให้เกิดสันติภาพในโลก ฉะนั้น จึงมีความเข้าใจว่า สันติภาพส่วนหนึ่งก็คือ ความสงบเรียบร้อยในประชาคมโลก ไม่มีการสู้รบ ไม่ลุกขึ้นมามีอาวุธนิวเคลียร์ ประหัตประหารซึ่งกันและกัน เป็นความเข้าใจ ที่พวกเราคุ้นเคย

แต่เมื่อพูดถึงสันติภาพ มีนักวิชาการทางทฤษฎีที่ทำเรื่องสันติภาพ มองว่าโลกเราเปลี่ยนไปหลังช่วงหลังสงครามเย็น ก็ไม่ได้มีการลุกขึ้นมาสู้ ไม่ได้ใช้อาวุธมาโจมตีกันระหว่างประเทศ แต่ว่ามีสภาพสังคมและประเทศต่าง ๆ ที่รู้สึกว่า ยังไม่ใช่

ถึงแม้ว่าไม่มีสงคราม ไม่ได้สู้กันด้วยอาวุธ แต่ว่ายังมีความไม่เป็นธรรมในสังคม มีการไม่พัฒนา มีความอดอยากหิวโหยอยู่ในโลก  

นักวิชาการจึงพยายามขยายความเข้าใจเรื่องสันติภาพว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องของการไม่มีสงครามเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการอยู่ดีมีสุข ความเป็นธรรมในสังคม ในโลก ซึ่งมิติพวกนี้ถูกนิยามว่าเป็น “สันติภาพเชิงบวก” จึงทำให้สันติภาพที่เข้าใจกันแบบเดิม กลายเป็นสันติภาพเชิงลบไป ดังนั้น เมื่อต้องมีสันติภาพเชิงบวก ต้องทำยังไงให้สังคมมีการพัฒนา มีความเป็นธรรม ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ผู้คนอยู่ดีมีสุข ซึ่งหมายถึงมิติของสันติภาพเชิงบวก

ซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายว่า ถ้าเรามองสันติภาพ ทำความเข้าใจเรื่องสันติภาพ กับสิ่งที่ตรงข้ามกับสันติภาพ เราจะนึกถึงอะไร ถ้าสิ่งที่ตรงข้ามกับสันติภาพ เราก็จะนึกถึงความรุนแรง เลยพยายามอธิบายเรื่องสันติภาพ ผ่านความเข้าใจของความรุนแรง

เมื่อพูดถึงสันติภาพเชิงลบ แบบที่ไม่มีสงคราม เราก็บอกว่า มันเป็นความรุนแรงเชิงตรง ทางกายภาพ

แต่ว่ามีความรุนแรงอีก 2 มิติที่สำคัญมาก คือ ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และ ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า เวลาเราพูดถึงสันติภาพ มันมีมิติที่กว้างไกลกว่าแค่เรื่องของความสงบสุข การปราศจากสงครามในโลก

วิธีคิดแบบสันติภาพเชิงบวก

ความรุนแรงเชิงกายภาพ ไม่ใช่อย่างเดียวอีกต่อไป มันเป็นความรุนแรงที่เราอาจมองไม่เห็น เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หรือเป็นความรุนแรงที่อยู่ในวิธีคิดของเรา ความเชื่อของเราบางอย่าง เราใช้คำว่า ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม เชิงอุดมการณ์ ก็ค้ำจุนกันอยู่ ส่งเสริมกันอยู่

การที่ไม่มีสงคราม มันไม่พอแล้ว เพราะถ้าคนยังอดอยากหิวโหย ยังมีความทุกข์ยาก คนยากจนอยู่อย่างนี้ เราจะมีสันติภาพได้อย่างไร จึงมีคนตั้งคำถามว่า สันติภาพไม่น่าจะมีคำจำกัดความที่แคบแค่นั้น

กระบวนการสร้างสันติภาพเชิงบวก ในอาณาเขตของประเทศ

เรื่องสันติภาพ เราคงไม่สามารถพูดได้ในระดับระหว่างประเทศอย่างเดียวแล้ว เพราะในประเทศเอง ก็มีความรุนแรงเกิดขึ้น เช่น การต่อสู้กันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในแอฟริกาก็มีความรุนแรงเกิดขึ้น คนล้มตาย หรือการสู้รบระหว่างแนวคิดรัฐบาลพลเรือนกับเผด็จการ หรือประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล ก็มีความรุนแรงที่เป็นความรุนแรงทางตรงอยู่

ขณะเดียวกัน ประเทศที่มีความรุนแรงทางตรง ก็มีความรุนแรงเชิงโครงสร้าง กับเชิงวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ด้วย มีทุกมิติ เราไม่ได้มองแค่ระดับโลกอย่างเดียวแล้ว แต่ในระดับประเทศที่ใกล้ตัวเราเข้ามา มีทั้ง 3 มิติอยู่ร่วมกัน คราวนี้เราก็เลยต้องทำความเข้าใจว่าเวลาเราพูดถึงความรุนแรงทางตรง มันเห็นได้ชัด ถ้าคุณใช้กำลัง คุณลุกขึ้นมาต่อสู้ ทำลายล้างกัน มันก็เห็นชัด

แต่ ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง อาจจะเป็นอะไรที่มองไม่เห็น เพราะเราคุ้นชินอยู่กับระบบนี้ เราอยู่ในโครงสร้างแบบนี้ มาตั้งแต่เราลืมตาเกิดขึ้นมา แล้วเราก็โตขึ้นมา หรือวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันมา ความเชื่อ เราไม่ได้ตั้งคำถามว่า มันเป็นความรุนแรง แต่ว่าสิ่งทั้งหมดนี้ เอื้อให้เกิดความรุนแรงทางตรง

เช่น ทำไมเราถึงยอมรับการใช้กำลัง กับกลุ่มกลุ่มคนบางกลุ่มได้ โดยกลุ่มที่มีอำนาจ เพราะมันมีความเชื่อบางอย่าง หรือมีโครงสร้างบางอย่าง ที่สร้างความชอบธรรม ให้กับการใช้ความรุนแรงแบบนี้ เพราะฉะนั้น ก็เลยทำงานร่วมกัน ความรุนแรงทั้ง 3 มิติ

ยกตัวอย่างประเทศไทย ยังไม่เกิดความรุนแรงทางตรง หรือการใช้ความรุนแรงทางกายภาพแบบร้ายแรง ถ้าเราไม่พยายามทำงานกับสันติภาพเชิงบวก หรือว่าแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางโครงสร้าง หรือเชิงวัฒนธรรม ก็มีแนวโน้มสูงมาก ที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงทางตรง

ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่สามารถพูดได้ว่า เราไม่มีความรุนแรงทางตรง ก็ยังมีในมิติเล็ก ๆ เราไม่ต้องนึกถึงสงคราม แต่มิติเรื่องของการใช้กำลัง เรื่องการลงโทษ การตี มันก็ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัว

ทำไมสังคมไทยยุคหนึ่ง ถึงเห็นการใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องปกติ?

อย่างกรณีการลงโทษ ก็เป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัด คือมีความรุนแรงทางตรงแบบนี้อยู่ ซึ่งมาจากความเชื่อ หรือที่เราถูกปลูกฝังมาบางอย่างว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” หรือพ่อแม่เป็นเจ้าของลูก คือ เด็กเป็นสมบัติของผู้ใหญ่ จะจัดการอะไรอย่างไรก็ได้ แล้วมีระบบโครงสร้างบางอย่างที่เอื้อให้เกิดการทำแบบนี้ได้

ในอดีต ก่อนจะมีกฎหมายห้ามลงโทษในโรงเรียน ก็ลงโทษได้ ไม่ผิด แต่เมื่อเราพยายามเปลี่ยนเรื่องโครงสร้าง ออกกฎหมาย เพื่อห้ามลงโทษโดยวิธีรุนแรง แต่ในวิธีปฏิบัติ ยังเป็นอยู่ ในโรงเรียนถ้าลองไปดู หรือที่เราเห็นข่าว ครูจะบอกว่า ก็ยังต้องใช้วิธีนี้อยู่ เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุด หรือว่าครูไม่ได้ใช้โดยพลการ ครูถามผู้ปกครองก่อนถึงได้ใช้ แสดงว่าที่มันรุนแรงที่สุด ก็คือความเชื่อ วิธีคิด ที่ยากจะรื้อถอน หรือว่าเปลี่ยน ถึงแม้ว่าบางทีโครงสร้างมีการขยับเปลี่ยนในเรื่องกฎหมาย แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิด หรือหาวิธีเชิงบวกอื่น ๆ เพื่อที่จะมาสร้างวินัยให้เด็ก ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความรุนแรงตรงนี้ได้ ก็ยังมีความรุนแรงทางตรงเกิดอยู่

ยกตัวอย่างความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม หรือเชิงโครงสร้าง

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างในระบบการศึกษา ถ้าเรามองว่าการแบ่งชั้นระหว่าง เด็กเก่ง ไม่เก่ง มีห้องท็อป มีห้องบ๊วย ในคำอธิบายของผู้บริหาร อาจจะบอกว่า จะได้สอนเด็กให้ได้เหมาะสมยิ่งขึ้น เด็กที่มีศักยภาพ จะได้ไปเร็ว ๆ หน่อย เด็กอ่อนจะได้ไม่ต้องเคี่ยวเข็ญมาก แต่ถ้าในที่สุดแล้ว ถ้ามองลึก ๆ มันมีภาพของการกดทับ หรือว่าอคติ หรือเลือกปฏิบัติอะไรบางอย่าง เด็กเก่งจะได้รับการเชิดชู คุณก็ไปทำผลงานให้โรงเรียน ในขณะเด็กที่เป็นห้องบ๊วย คุณทำอะไร? ก็แค่รักษาตัวให้รอด อย่าไปเกเร  

ปฏิกริยาของครูหรือโค้ชที่มีต่อเด็กแต่ละกลุ่ม ก็อาจส่งผลให้เขารู้สึกได้ว่า ครูรู้สึกกับเขายังไง ก็เป็นการบ่มเพาะความรุนแรง นี่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และลักษณะที่มันเป็น เรียกว่าระบบของโรงเรียน บางทีเราไม่เคยตั้งคำถาม เพราะเราก็โตมาในระบบนี้เราอยู่ห้องอะไร เขาจัดยังไง เราก็อยู่ไป  มีเพื่อนเก่ง ไม่เก่ง แล้วเราเรียนดีแล้วก็โอเค เราไม่รู้หรอกว่า เด็กที่เขาเรียนไม่ดี เขาต้องเจออะไรบ้าง อันนี้ก็เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง มาพร้อมกับวิธีคิดแบบหนึ่ง ที่ส่งทอดกันมา ถ่ายทอดมาว่า เราก็ต้องมีการคัดสรรเด็กดี ไม่ดี คือมีเรื่องของความดี ความไม่ดี มาพร้อมกับความเก่ง ความไม่เก่งด้วย ซึ่งถูกปลูกฝังแบบนี้

มันเป็นจิตใต้สำนึก (Subconscious) บางทีเรารู้สึกว่า เราต้องระวังคำพูด แต่ลึก ๆ แบ่งอยู่แล้ว เพราะว่าเราโตมาในระบบที่มันแบ่งแยกแบบนี้

เราต้องค้นหาความรุนแรง ที่ซ่อนอยู่ในมิติต่าง ๆ แบบนี้ เพราะถ้าเราไม่ค้น หรือเรามองไม่เห็น เราก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ เราก็จะบอกไม่ได้ว่าอะไรมันเป็นปัญหาอยู่ ก็จะไปอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ก็จะไปเห็นตอนที่ปะทุแล้ว กลายเป็นปัญหาแล้ว เด็กไปสู้กันเอง หรือมีปัญหา ไปก่อความรุนแรงข้างนอก หรืออะไรต่าง ๆ ที่เราเห็น

สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ทำความเข้าใจกับตัวเอง มุมมองของเรา และความรุนแรงที่มักเกิดขึ้น

เป็นโอกาสที่เราจะสำรวจว่า เรามองคนอื่นยังไง เรามองความเป็นมนุษย์ของคนอื่นยังไง เรามองคนเท่ากันไหม หรือว่าเรามีอคติ หรือเรามีวิธีคิดแบบลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่นอยู่ เพราะว่าทั้งหลายทั้งปวง ก็เป็นสิ่งที่ส่งต่อให้เกิดการยอมรับว่า ถ้าเขาไม่ดี ถ้าเขามีคุณค่าน้อยกว่าเรา เพราะฉะนั้น เขาก็อาจจะถูกปฏิบัติ โดยวิธีที่เราโอเคกับมัน เขาถูกทำร้าย ก็สมควรแล้วอะไรอย่างนี้

กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ ความขัดแย้งของรัฐ กับชาวบ้านที่บางกลอย

กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่บอกว่าวิธีคิดเรื่องการพัฒนาประเทศ แยกคนออกจากป่า หรือว่าออกจากที่ทำกินของเขา อันนี้คือวิธีคิดเรื่องการพัฒนา ต้องทำเป็นโซน ใครจะอยู่ตรงไหน ต้องเป็นพื้นที่เตรียมไว้สำหรับสีเขียวเท่านั้น แต่ว่าวิถีดั้งเดิมของคน ถ้าอยู่กันมาไม่ถูกมองว่าสัมพันธ์กับการที่เขาจะมีชีวิตอยู่ได้ยังไง เป็นวิถีชีวิต เป็นที่ทำมาหากินของเขา  เป็นแนวคิดเรื่องการพัฒนา ซึ่งไม่ได้มองแบบองค์รวม วิธีการแยกแบบนี้ ถูกเสริมโดยระบบกฎหมาย ที่ทำให้ชอบธรรมมากขึ้น เช่น ประกาศเป็นเขตอุทยาน เพราะฉะนั้นเขตอุทยาน เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งใครจะเข้าจะออกตามอำเภอใจไม่ได้ แล้วก็ถูกสร้างความชอบธรรมว่า ในกรณีบางกลอย ก็มีความรุนแรงเชิงตรงด้วย ตอนที่พยายามจะย้ายเขาออก  แต่ทั้งหมดทั้งปวง ก็ถูกเรียกว่า สร้างความชอบธรรม หรือถูกค้ำจุนโดยความเชื่อ เราก็เรียนมาในตำราว่าชาวเขา หรือกลุ่มชาติพันธุ์ทำลายป่า เราก็เลยยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ว่า เป็นปฏิบัติการที่ทำให้คุ้มครองป่า ฉะนั้นเลยต้องมองเห็นความเชื่อมโยงของแต่ละมิติแบบนี้

เขาต้องดูแล เพราะว่ามันเป็นที่ทำกินของเขา ถ้าเกิดว่าเสื่อมโทรมไป เขาก็ไม่สามารถทำกินได้

วัฒนธรรมการปลูกฝังของคนในสังคม มีผลต่อวิธีคิดของกระบวนการปฏิบัติ

การปลูกฝังพวกนี้ ก็ออกตามสื่อเหมือนกัน คือสื่อก็ถ่ายทอดความคิด ความเชื่อบางอย่าง ในตำราเรียนก็มี คือระบบเรียกว่าสถาบันใหญ่ ๆ ในสังคม สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ตัวสื่อ พวกนี้เป็นตัวถ่ายทอดอุดมการณ์ เราใช้คำใหญ่หน่อย เป็นอุดมการณ์ชุดต่าง ๆ หรือว่าศาสนาเองก็ตาม ที่พูดถึงเรื่องของการแบ่งแยก บุญกรรม แล้วก็พูดถึงคนเกิดมาจน หรือว่าคนพิการ มันมีคำอธิบายว่า ทำไมแต่ละคนเกิดมาในสภาพแบบนี้  ถ้าเราใช้คำอธิบายแบบนั้น เราก็จะยอมรับ สิ่งที่เป็นอยู่ โดยที่ไม่พยายามตั้งคำถามว่า แล้วจริง ๆ มีอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า

สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ระบบคิด หรือระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมืองของเรา ไม่เอื้อให้การคุ้มครองกลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้  หรือควรจะต้องมีอะไร ที่เอื้อให้เขาเข้าถึงสิทธิ เข้าถึงโอกาสได้มากกว่าคนที่เกิดมาปกติอยู่แล้วหรือเปล่า  

หนทางเพื่อพัฒนา เพื่อสร้างสันติภาพเชิงบวกในสังคมไทย

ยากเลย ต้องเกิดการยอมรับก่อน ต้องเปิดใจก่อน เพราะว่ายังคิดว่าแต่ละคนที่โตมาในชุดความคิดบางอย่าง พอกลายเป็นความเชื่อ ความเชื่อมันลึก แล้วการตั้งคำถามกับความเชื่อ บางครั้งเหมือนกับการไปท้าทายตัวตนของคุณเลย ถ้าคุณชื่ออะไรมาก ๆ แค่มีคนไม่เชื่อ คุณก็ไม่สามารถคุยกับเขาต่อได้แล้ว เพราะไม่ใช่แค่ความเชื่อ แต่เป็นตัวตนของคุณ ถ้าคุณอินกับมันมาก ๆ ก็เข้าใจได้เลยว่า สถาบันที่มีรากลึกมาก ๆ มีโครงสร้างใหญ่โตมาก ๆ ถ้าถูกตั้งคำถาม เพื่อชวนมอง ให้เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ ความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ ก็คงรู้สึกไม่สบายใจ หรือไม่ก็อาจจะไม่พร้อม ที่จะเข้ามาคุย แต่คิดว่าสิ่งที่เราเห็นในสังคมไทยทุกวันนี้ ก็เป็นปรากฏการณ์ ของปัญหาที่สั่งสมมา แล้วจะแก้ไขได้ยังไง ถ้าไม่คลี่ปัญหาออกให้เห็นทั้งหมด

ถ้าเรามองว่าต้องการเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อที่ให้เป็นสังคมที่มีสันติภาพเชิงบวก มีสันติภาพจริง ๆ ทุกมิติได้จริง ๆ ถ้าเราเห็นความจำเป็นแบบนั้น เราก็คิดว่าคงจะต้องมานั่งคลี่ด้วยกัน แล้วก็เปิดใจมองร่วมกันว่า อะไรบ้างที่เป็นปัญหาอยู่ในสังคม ต้องการความเปิดใจ ใจกว้างระดับหนึ่งเลย ของสถาบันหลัก ๆ ในสังคมนี้

สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันอื่น ๆ จะเชื่อมโยงกับรัฐเพื่อสร้างสันติภาพได้อย่างไร?

พ่อแม่สำคัญมาก คือ พ่อแม่ต้องใจกว้าง ในช่วงที่ผ่านมามีกรณีนักเรียนออกไปประท้วง และอาจมีความขัดแย้ง ทะเลาะกับทางบ้านเพราะว่าความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องมาหาพื้นที่ร่วมที่จะฟังกัน ผู้ปกครองก็หวังดี ตัวเองก็เป็นผู้ปกครองเหมือนกัน ก็หวังดีกับลูก ไม่อยากให้มีปัญหา

แต่ว่าเราคนเป็นพ่อแม่ ก็อาจจะต้องมีความเข้าใจว่า เด็กก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เพียงแต่เขาอาจจะยังต้องการการสนับสนุน การช่วยเหลือในบางเรื่อง ตามวุฒิภาวะของเขา แต่ว่าเด็กเดี๋ยวนี้เรียกได้ว่า มีวุฒิภาวะที่โต ที่ชัวร์มากขึ้น เพราะว่าเขาได้รับข้อมูลหลายอย่าง

ฉะนั้น เราก็มองว่าเขาเป็นเด็กอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราก็ต้องฟังความคิดของเขา คือพ่อแม่อาจจะต้องตัดความคิดว่า เราเป็นเจ้าของ เป็นเจ้าชีวิตลูก ซึ่งมันยาก ถามว่าพ่อแม่เลี้ยงมา ก็มีความคาดหวังบางอย่าง วันหนึ่งลูกลุกขึ้นมาโต้เถียงอะไร ยากที่จะรับได้ แต่ว่าตรงนี้ ถ้าใช้เวลาช่วงนี้เป็นโอกาส ที่จะมาสำรวจตัวเองว่า เรามีวิธีคิดแบบไหนอยู่ กับเรื่องต่าง ๆ เราจะคุยกับลูกให้เข้าใจกันมากขึ้นได้ยังไง คนที่มีความเห็นต่างอะไร มันเป็นโอกาสในการสำรวจตัวเอง เพราะว่าความรุนแรงทั้งหลาย มันซ่อนอยู่แล้วเราไม่เคยสำรวจตัวเอง เราก็จะไม่รู้ เพราะเราไม่เห็น

เปิดใจ ฝึกเพื่อ หนทางสู่สันติภาพเชิงบวก

เวลาเปิดใจเป็นมิติแรกที่สำคัญ ว่าเราพร้อมที่จะรับรู้ เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เราก็อาจจะต้องมีชุดความรู้บางอย่างด้วย เช่น เวลาพูดถึงสิทธิมนุษยชน ถ้าเรายึดคุณค่านี้ว่าเป็นหลักการสำคัญ ที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้ นั่นหมายความว่า เวลาเราพูดถึงสิทธิมนุษยชน มันคืออะไร เวลาเราพูดถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มันคืออะไร การไม่เลือกปฏิบัติ หมายถึงอะไร ความเสมอภาคคืออะไร ซึ่งเป็นชุดความรู้ ที่ต้องมีระดับหนึ่ง เพื่อที่จะคุยภาษาเดียวกันว่า อย่างนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ คือความไม่เท่าเทียม ความไม่เสมอภาคกัน

ต้องเปิดใจ แล้วก็ต้องเห็นภาพมิติตรงนี้ด้วยกัน แล้วก็มองว่า แต่ละคนเรียกว่ามีสิทธิอะไรบ้าง สิทธิพื้นฐานของแต่ละคนมีอะไรบ้าง ซึ่งควรจะได้รับการคุ้มครอง เคารพ

บางครั้ง เราทำอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นการละเมิดคนอื่น โดยที่ไม่รู้หรือไม่ได้ตั้งใจ เรื่องเหล่านี้นอกจากองค์ความรู้ ทัศนคติก็เป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกัน ก็ต้องถูกนำไปปฏิบัติในชีวิต เช่น ในระบบโรงเรียน ถ้าเรารู้แล้วว่าครูน่าจะอยู่ในสถานะที่มีอำนาจมากกว่านักเรียน หรือผู้บริหารมีอำนาจมากกว่าครู เพราะโครงสร้างเดิมที่ถูกหล่อหลอม เราจะทำยังไงจึงจะพยายามลดการใช้อำนาจเหนือแบบนั้น มาเป็นการใช้อำนาจร่วมกัน สร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น เป็นการปรับวิถีของโรงเรียนให้นำมาสู่การสำรวจว่าวิถีแบบไหนจึงจะเอื้อให้คนได้เข้าหากัน ได้คุยกัน ได้เคารพซึ่งกันและกัน แล้ววิถีไหนเป็นการกดทับ เป็นการสร้างความแบ่งแยก การลดทอน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ กฎ กติกาอะไรที่มีมานาน บางครั้งครูก็อธิบายไม่ได้ว่า ทำไมต้องตัดผมทรงนี้ เท่าติ่งหู แต่บอกได้ว่า ทำมาอย่างนี้ตั้งนานแล้ว แล้วก็เรียนจบกันไป ทำไมคนอื่นเขาไม่มีปัญหา ทำไมเธอมีปัญหา แต่คำตอบแบบนี้ นักเรียนไม่ยอมรับ เพราะคำอธิบายไม่เพียงพอ

การปฏิรูปการศึกษา ตั้งแต่ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ก็พยายามที่จะให้เด็กคิดเป็น คราวนี้พอเด็กคิดเป็น ครูต้องเปลี่ยนตัวเองด้วย พอเด็กคิดเป็นแล้ว เขาก็ต้องถาม เขาไม่รอคำถามอย่างนี้แล้ว คำตอบอย่างนี้ไม่โอเคแล้ว เพราะฉะนั้นต้องคิดไปด้วยกัน คำตอบสุดท้ายไม่ได้อยู่ที่ครูแล้ว เราต้องสร้างองค์ความรู้ด้วยกัน เรียกว่าเป็น “Co-Creators of Knowledge” ครูต้องเปิดใจเยอะเลย แต่อันนี้คือวิถีที่จะไปข้างหน้าด้วยกัน แล้วเราจะสร้างสังคมที่ที่น่าจะเอื้ออาทร น่าจะเคารพกันและกันมากขึ้น แล้วก็ยังจะสร้างมิติในเชิงเศรษฐกิจด้วย เพราะว่าทุกคน Creative ตั้งคำถาม ถ้าคิดอะไรใหม่ ๆ ออก จะส่งผลดีในมิติอื่นด้วย

แล้วเราก็ต้องทำให้ประสบการณ์แบบนั้น มันเกิดในทุกที่ ในครอบครัว ในโรงเรียน เพราะบางทีมีโรงเรียนที่ค่อนข้างก้าวหน้า แล้วก็เอื้อให้มีพื้นที่แบบนี้ แต่พอเด็กหลุดออกไปในสังคม ไปเจออีกแบบหนึ่งหรือในครอบครัวอีกแบบหนึ่ง มีความขัดแย้ง ไม่สอดคล้องกันอยู่ (Consistent) ซึ่งก็ยากอีก สำหรับการปรับตัว การใช้ประสบการณ์จริง เลยต้องสร้างให้มีพื้นที่แบบนี้ ในทุกสถาบัน ทุกมิติของสังคม ให้ได้มากที่สุด

สังคมในภาพฝัน การสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในชีวิตจริง

เราอาจจะไม่ได้ใช้คำว่าสันติภาพ หรือสิทธิมนุษยชนตลอด เพราะบางทีเป็นคำใหญ่ แต่จริง ๆ เราก็ใช้คำใหญ่คำหนึ่ง ก็คือความเป็นธรรม แต่ดูใกล้ตัวมากขึ้นหรือเปล่า ใช้ความเป็นธรรมเพราะว่าก็เชื่อมโยง กับสันติภาพเชิงบวก และตัวสิทธิมนุษยชนด้วย

ความเป็นธรรมก็คือ การไม่เห็นการกดขี่ ไม่รัดเอาเปรียบ แล้วก็การใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ในสังคมอย่างเป็นธรรม คิดว่าอันนี้คือภาพฝัน แต่ว่าในที่สุดแล้ว มันต้องมาทำความเข้าใจในชุดคุณค่าร่วมกันอีกว่า ชุดคุณค่านี้มันคืออะไร มันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และเราถ้าเราเห็นดีงามร่วมกันว่า เราอยากได้ชุดคุณค่านี้ เป็นตัวนำสังคมเรา เราก็ต้องยอมรับด้วยว่า มันมีชุดคุณค่าบางอย่าง ที่เราใช้อยู่ตั้งแต่อดีต มันขัดกันอยู่ เพราะฉะนั้น ชุดคุณค่าที่เชื่อว่าคนไม่เท่ากัน มันขัดกันอยู่แล้ว เราจะไปเปลี่ยนตรงนั้นได้ยังไง มันก็เป็นการทำงานเชิงความคิด  การทำงานการสร้างสันติภาพ มันไม่ใช่แค่ปราบปรามแล้วจบ  จะอยู่กันได้ยังไงต่อไป ถ้าเกิดคุณไม่เปลี่ยนวิธีคิด เป็นงานการทำงานระยะยาว ในเรื่องของสันติภาพ การสร้างความเป็นธรรม มันมีมิติที่ซับซ้อน ต้องใช้วิธีคลี่ตรงนี้ ออกไปเรื่อย ๆ

ความเป็นธรรม กับการท้าทายชุดความเชื่อเดิม

การเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งหมด ต้องไปถ่ายชุดความเชื่อบางอย่างที่มีอยู่ก่อน ถึงจะเปลี่ยนได้ ถ้าชุดความเชื่อเดิม เรามักจะบอกว่า เราก็เก็บอะไรที่ดี ๆ ไว้  คราวนี้คำว่าอะไรดี ๆ แค่พูดอย่างนี้ ก็ยังมองไม่เหมือนกันว่า อันดีของคุณกับดีของเรา เหมือนกันไหม แล้วเราจะให้ดีสำหรับทุกคนได้ไหม มีไหม จุดร่วมอยู่ตรงไหน  ต้องเป็นการตกลงร่วมกัน  ระบอบประชาธิปไตย ถึงเป็นกลไกหนึ่ง  ที่ทำให้เกิดการพูดคุยตกลงแบบนี้ได้ เพราะว่าเราไม่ได้เอาความคิดของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่มาบอกว่าอันนี้ดี แล้วดีสำหรับทุกคน เพราะว่ายังมีเสียง ของคนกลุ่มบางกลุ่ม ที่บอกว่ามันไม่โอเค  

ฉะนั้นประชาธิปไตยเลยสำคัญ และประชาธิปไตยที่ฟังก์ชันจริง ๆ ก็จะทำให้คนในสังคมรู้สึกพอใจ ในระดับหนึ่ง กับการมีชีวิตอยู่ในสังคมนั้น ๆ ถ้าเกิดปรากฏการณ์ที่มีคนไม่พอใจออกมา บนท้องถนน ไม่ฟังก์ชัน ไม่ใช่ประชาธิปไตย ที่ควรจะเป็น นั่นเพราะมีอะไรบางอย่างที่ผิดพลาด ก็จะต้องกลับมาสำรวจ แล้วก็ยอมรับเรื่องตรงนี้อีกว่า มีอะไรที่ไม่โอเค  เราจะแก้ยังไง แต่ว่าถ้าไม่ได้รับการแก้ หรือว่าคนที่มีอำนาจไม่ยอมรับว่า ตอนนี้จะต้องฟังแบบนั้น จะเดินหน้าไปบางอย่างเดียว มันก็ไม่จบ จบไม่สวย

“ความเป็นธรรม”

ยังมีความจำเป็น ที่เราต้องเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ ภาษาเรื่องสิทธิมนุษยชน ถึงแม้ว่าจะเป็นภาษาที่อาจจะฟังดูแล้วเลี่ยนมาก ไม่ยอมรับเลยสำหรับคนบางกลุ่ม แต่ก็เรียกว่าภาษาสากล หลักการบางอย่าง ที่เราก็ต้องเรียนรู้ร่วมกัน หลักการชุดนี้จะเอื้อให้เราอยู่ในสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้นได้ยังไง ต้องมีความเชื่อมโยงกัน คืออาจจะเป็นเชิงยุทธศาสตร์ว่า เราเลือกใช้คำบางคำ เพื่ออย่างน้อยคนเขาฟังเราก่อน ไม่ใช่อ้าปาก แล้วก็เดินออกไป   

แต่ว่าในที่สุด เราก็อยากให้เขาฟังคำนี้ เปิดใจฟังด้วยว่า เวลาเราพูดถึงสิทธิมนุษยชนมันคืออะไร  ไม่ใช่แค่การเรียกร้องสิทธิอย่างเดียว แต่มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ควรจะได้รับการเคารพคุ้มครอง และส่งเสริม

คิดว่าเราคงต้องพยายามทำความเข้าใจร่วมกันมากขึ้นกับประเด็นพวกนี้ ที่เราไม่เคยเข้าใจมาก่อน หรือเข้าใจกันคนละอย่าง เป็นโจทย์ท้าทายของพวกเรา

ในที่สุดแล้วอาจจะมีจุดร่วมมากกว่าจุดต่างก็ได้ เพียงแต่เราไม่เคยไปถึงจุดนั้น เพราะว่าเราไม่ฟัง แต่ในที่สุดอธิบายได้ว่า ทำไมคุณคิดแบบนี้ มันเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวเพื่อน ในตัวแต่ละคนมากขึ้น ไม่ใช่แค่ว่าไอเดียนี้  ไม่ตรงกับเรา จบ แต่ว่ามองมีความเป็นมนุษย์

เราเคารพในความต่าง แล้วเรา agree to disagree ได้ ไม่ต้องลุกขึ้นมาสู้กัน ใช้ความรุนแรง เราจะอยู่กันได้ยังไง ในสังคมที่มีระบบโครงสร้าง ที่เอื้อให้ทุกคนสามารถอยู่กันได้อย่างเสมอภาค เป็นธรรม คิดว่าต้องมีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง เราไม่ต้องรักกันหมด แต่ว่าเราอยู่ร่วมกันได้ เพราะมีโครงสร้างบางอย่าง ที่ทำให้เกิดความเป็นธรรม

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว