ฉากทัศน์ประเทศไทย ก้าวข้ามโจทย์ระยะสั้น ดึงประชาชนร่วมถักทออนาคตตัวเอง

ทำ ‘ประชาธิปไตย’ กับ  ‘อนาคตประเทศ’ ให้เป็นเรื่องเดียวกัน I สุวิทย์ เมษินทรีย์

สัญญาณอันตรายจาก ‘นโยบาย’ ที่พรรคการเมืองออกมาซื้อใจประชาชน แบบ ‘เกทับบลัฟแหลก’ ทำให้นักวิชาการต้องรีบออกมาส่งสัญญาณเตือน ทั้งในมุมของภาระงบประมาณที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 ล้านล้านบาท เสี่ยงกระทบไปถึงหนี้สาธารณะ และในมุมของนโยบายที่มุ่งหวังคะแนนเสียงเฉพาะหน้า มากกว่าการพัฒนาระยะยาว อีกทั้งยังก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก 

แนวคิดเรื่อง  ฉากทัศน์ หรือ Scenario และ การคาดการณ์อนาคต  หรือ Foresight จึงกลับมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงนี้ และเริ่มเห็นความพยายามปลุกกระแสชวนคนในภาคส่วนต่าง ๆ  มาร่วมกันออกแบบนโยบาย  ตั้งต้นจากการวาดภาพอนาคต และหาทางเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย พร้อมสะท้อนไปถึงพรรคการเมืองให้นำประเด็นเหล่านี้ไปขับเคลื่อน  ไม่ต้องรอให้พรรคการเมืองมาเป็นฝ่ายเสนอเหมือนเดิมอีกต่อไป   

ในฐานะที่ทำงานด้าน Scenario และ Foresight มาอย่างต่อเนื่อง  สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม อธิบายถึงความสำคัญของการคาดการณ์อนาคตและทำฉากทัศน์ ในสถานการณ์ปัจจุบัน เริ่มต้นจากการประเมินสถานการณ์ ณ เวลานี้ ซึ่งพบว่า นโยบายพรรคการเมืองไทยที่เห็น ส่วนมากยังคงเป็นแบบแจกจ่าย มีการลดแลกแจกแถม  มีส่วนน้อยมากที่พรรคจะพูดถึง  Fundamental change  หรือการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ซึ่งอาจจะเพราะเป็นนโยบายที่ขายยาก หรือประชาชนทั่วไปไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องเอาอะไรที่โดน ๆ ก่อน 

‘นโยบายประชานิยม’ กำไรระยะสั้น สูญเสียระยะยาว

สุวิทย์  ขยายความว่า เท่าที่ฟังนโยบายตอนนี้ยังเป็น populism policy (นโยบายประชานิยม) อยู่ 80-90% แต่ก็มีมิติใหม่ ๆ เกิดขึ้น  เช่น พรรคพลังประชารัฐชูเรื่องการลดความขัดแย้ง  พรรคก้าวไกล ก็จะมาในเชิงโครงสร้างเยอะ ในส่วนของพรรคอื่น ๆ เท่าที่ดูโดยทั่วไปยังเป็นแบบเดิม ๆ ซึ่งเป็น ‘กับดัก’ คือ มีกำไรระยะสั้น แต่เกิดการสูญเสียระยะยาว (short term gain, long term lost)

“การโปรยเงินเป็นส่วนของประชานิยม  populism แต่เป็น long term lost ของทุกคนในประเทศ  ซึ่งไม่ผิดที่จะมีมัน อาจจะต้องมีเพื่อประทัง  เหมือนเลือดที่กำลังไหลแล้วต้องรีบห้ามไว้”

แต่จะมีสักกี่พรรคที่พูดถึงนโยบายไกล ๆ เช่น การศึกษาแบบจริงจัง หรือเรื่องของรัฐสวัสดิการจริง ๆ ที่ไม่ใช่สวัสดิการแห่งรัฐ หรือการแสดงออกจริง ๆ เกี่ยวกับการแปลงนามธรรม เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำเท่าเทียม   ซึ่งยังมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่ไหน ๆ สี่ปีมีการเลือกตั้ง มันต้องสร้างความหวัง แต่ความหวังที่เกิดจะต้องเป็นความหวังแบบยั่งยืน (sustainable hope) พรรคการเมืองจะต้องทำให้ประชาชนมีความรู้สึก จะเลือกหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่สิ่งที่ทำอาจจะเป็น short term lost แต่เป็น long term gain (สูญเสียระยะสั้นแต่กำไรระยะยาว)  พวกเราอาจจะทุกข์ร้อนในระยะสั้นแต่ทุกคนจะรอดหมดในระยะยาว ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าหาญพอที่จะทำนโยบาย short term lost,  long term gain แต่ทำ short term gain, long term lost ที่มีแต่เป็นภาระของประเทศ

ทั้งนี้ เป็นโอกาสให้ประชาชนออกมาแสดงพลังเพื่อให้ policy maker (ผู้กำหนดนโยบาย) เหล่านั้นปรับเปลี่ยนมายังทิศทางอย่างที่บอก โดยปกติประชาชนก็ใช้โซเชียลมีเดีย อยู่ที่ว่าเราจะใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียมากน้อยแค่ไหน ต้องลุกขึ้นมา และสื่อฯ ต้องช่วยทำให้เกิด social movement (การเคลื่อนไหวทางสังคม) เรากำลังอยู่ในโลกที่มีความหลากหลายเยอะมาก ปัญหาก็เลยหลากหลาย เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเป็นนักการเมืองที่ดีคุณจะต้องฟังความหลากหลายต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย  ยกตัวอย่าง เรื่อง LGBTQ ที่เป็นเรื่อง human right (สิทธิมนุษยชน) แต่จะมีสักกี่พรรคการเมืองที่ออกมาชูในเรื่องของสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิขั้นพื้นฐาน

Common Ground สู่ Common Goal

ในแง่ความสำคัญ ‘ฉากทัศน์’ ถือเป็นเรื่องเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นเรื่องของการมองแบบ “เหลียวหลังแลหน้า” ในเมื่อทุกคนอยู่ด้วยความหวัง จึงให้ความสำคัญกับสองอย่างคือ  Better world  มีโลกที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร และ Brighter future จะมีอนาคตที่สดใสกว่าวันนี้ได้อย่างไร  ดังนั้น การมองการณ์ไกล  ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ  จึงเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้เรารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง  ถ้าเรารู้ว่าจะเกิดอย่างนี้ แล้วสิ่งที่ดีเราจะต้องเริ่มต้นปฏิบัติอย่างไร  หรือถ้าเป็นสิ่งที่เราไม่พึงประสงค์ จะต้องปฏิบัติอย่างไร นำไปสู่การออกแบบเชิงนโยบาย เชิงยุทธศาสตร์

“นี่คือสาระสำคัญที่ผมคิดว่าการมองการณ์ไกลเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะ foresight หรือการคาดการณ์อนาคตมักจะมาคู่กับการวางแผนฉากทัศน์  Scenario planning เช่นเดียวกับเรื่องของการออกแบบทางความคิด  (Design thinking)  จริง ๆ เป็นเรื่องเดียวกันหมด แต่ประเด็นก็คือมันมีเสน่ห์ตรงที่มีความหลากหลาย ที่ผมมองจากประสบการณ์ของผมจากเคยมีส่วนร่วมมาก็คือมันยังไม่มี momentum (แรงกระตุ้น) คือพอทำเสร็จแล้วมัน  ‘หยุด’ ที่แค่ ‘รู้แล้ว’ แต่รู้แล้ว แล้วไง อย่างฉากทัศน์ที่น่าสนใจ

…กรณีที่แอฟริกาใต้เขาทำเรื่องความขัดแย้งมากมาย แล้วทำออกมาเป็น 4  ฉากทัศน์ 4 เรื่อง แต่เขาลงมือทำด้วย จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคม จริง ๆ ในที่สุด แอฟริกาใต้กลายเป็นประเทศที่กลับมาสู่ความสงบสุขอีกครั้ง ผมอยากให้ตรงนั้นเป็นต้นแบบมากกว่า”  

พูดง่าย ๆ ว่าบางเรื่องประชาชนเองก็เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความรู้สึกว่ามันควรจะต้องมีอะไรดีกว่านี้ บางยุคเราก็พูดว่าเราเป็นประเทศที่ล้มเหลว (Failed state) นั่นนี่ เราบ่นเยอะ เราบ่นเรื่องการเมืองเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ดี แต่จริง ๆ แล้วเราไม่เคยมาคิดว่ามีอะไรบ้างแล้วมาคิดร่วมกัน เพราะฉะนั้น การมองไกลจึงเป็น common ground (ความเข้าใจพื้นฐานที่เห็นพ้องต้องกัน) ที่จะ set common goal (ตั้งเป้าหมายร่วมกัน) ดังนั้น ถ้าจะให้ออกมาดีจะต้องทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมจากหลากหลายไอเดียที่ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน แต่เรามาสร้างขึ้นจาก common ground หรือจากความคิดง่าย ๆ  พื้น ๆ ก่อน หลังจากนั้นความหลากหลายมันจะถูกถักทอขึ้น  แต่ในที่สุดก็จะต้องนำไปสู่การลงมือทำ

เรื่องการมองไกลจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเริ่มเห็นเส้นทางลาง ๆ ที่น่าจะเป็น ควรจะเป็น หรืออยากจะเป็น แต่มันตามมาด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องถักทอขึ้นมาอีกเยอะ

โลกปัจจุบัน ยิ่งมีพลวัตสูง ยิ่งจำเป็นต้องมองการณ์ไกล    

หลายครั้งที่รัฐบาลหรือคนในภาครัฐพูดถึงการปฏิรูป แต่พอเราพูดถึงการปฏิรูปในตอนนี้ก็จะเบื่อหน่ายกันแล้ว ทั้งที่จริง ๆ แล้วเป็นคำที่มีความสำคัญมาก  ส่วนหนึ่งที่จะทำให้การปฏิรูปเห็นผลจะต้องมีทิศทาง พูดง่าย ๆ การมองการณ์ไกลจะเป็นตัวบอกว่าเราเองว่าเราอยากจะเป็นสิ่งนี้  แต่มันมีช่องว่างอีกเยอะเลย เราจะเติมเต็มมันยังไง บางส่วนเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง บางอย่างเป็นการแค่ ปะผุ  พูดง่าย ๆ มีแต่จะนำไปสู่เรื่องของอะไรที่ต้องซ่อม เสริม หรือ สร้าง มันก็มีประโยชน์ เพียงแต่ว่าในแง่ของผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายมีความเข้าใจหรือเห็นความสำคัญของเรื่องนี้หรือเปล่า

“โลกทั้งโลกตอนนี้มีการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก จะมัวไปยึดโยงแผน 20 ปี แผนสภาพัฒน์ แล้วไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงเลยในตลอดระยะเวลา 4-5 ปี หรือ 20 ปี มันเป็นไปไม่ได้ โลกยิ่งมีพลวัตยิ่งสูง ยิ่งจะต้องนำเรื่องของการมองเหตุการณ์ล่วงหน้ามาใช้ เพียงแต่ว่าจะต้องนำมาสู่กระบวนการสองกระบวนการต่อไป ก็คือ conceptual design (การออกแบบแนวคิด) และที่สำคัญที่สุดคือ mechanism design (การออกแบบกลไกการขับเคลื่อน) เพื่อให้เกิดสิ่งนี้หรือเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งนี้ได้อย่างไร”

วางแผนอนาคตสู่เป้าหมาย โลกที่ดีขึ้น อนาคตที่สดใสขึ้น

หากมองแบบพลวัตเชิงระบบ (System dynamics) เราจะเห็นภาพที่ไม่นิ่ง เป็นพลวัตเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้ามองไปในสิบปีข้างหน้าจะเป็นโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สิ่งที่เราเริ่มเห็นและยิ่งมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแรกคือ “ภาวะโลกรวน” จากการมองในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วจากความเป็นโลกขั้วเดียว (Unipolar world) อเมริกาเป็นผู้นำหลังสงครามเย็น ตอนนี้พูดง่าย ๆ คือมันมาสู่โลกหลายขั้วแล้ว

ต้องตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบนโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งมิติ ในด้านของภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ หรือแม้กระทั่งเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ วันนี้เราเริ่มเห็นวิกฤตเป็นเรื่องปกติ อย่างคลองเวนิสอยู่ดี ๆ น้ำก็แห้งลง เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้มันเป็นตัวกำหนดฉากทัศน์ในเบื้องหน้า เพียงแต่ว่ามันจะทอดยาวไปอีกสิบปีข้างหน้าหรือไม่ ฉากทัศน์ของประเทศไทยหรือของที่ไหน ๆ ในโลกอาจจะต้องตั้งอยู่ในข้อสันนิษฐานก่อนว่าโลกไม่เหมือนเดิม ถ้าหากไม่มีการลงมือปฏิบัติเราจะอยู่ยากขึ้น แล้วคำว่า Better world & brighter future ก็จะเป็นไปไม่ได้เลย

Systemic transformation เรื่องที่ต้องทำ แต่ไม่ง่าย

ฉากทัศน์อีกสิบปีต่อไปจะต้องตั้งอยู่บนสมติฐานดังต่อไปนี้  (หนึ่ง) พลวัตโลกเป็นยังไง  (สอง) โลกจะอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า สุขด้วยกันทุกข์ด้วยกัน แต่สุขไม่เท่ากันและทุกข์ไม่เท่ากัน คำถามคือประเทศไทยอยู่ตรงไหน (สาม) ประชาชน หรือว่า policy maker ภาครัฐเข้าใจบริบทนี้หรือไม่ ไม่ใช่มัวแต่ไปมองบริบทว่าเราจะสร้างขีดความสามารถเหนือคนอื่น หรือมัวแต่จะแก้ปัญหาเฉพาะของตัวเอง มันเป็นภาวะที่เราต้องอยู่พึ่งพิงกับโลก

“สิบปีข้างหน้าผมมองว่า ฉากทัศน์ประเทศไทยหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลง จะเร็วหรือช้า หนักหรือเบา บางคนมองว่าประเทศไทยหนีไม่พ้นเรื่องการปฏิรูป สำหรับผมตั้งขึ้นมาเองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบทั้งระบบ (Systemic transformation) ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ต้องทำแต่ ไม่ง่าย”

อีกแนวทางหนึ่งก็คือ ประเทศไทยก็อยู่กันอย่างนี้แหละ ให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป (Incremental change) ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ปรับ  ซึ่งเรากำลังเลือกแนวทางที่สอง ทั้ง ๆ ที่เราเคยต่อสู้กันในเรื่อง “เลือกตั้งก่อนปฏิรูป” หรือ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” แต่ตอนนี้เราเป็น  incremental change ซึ่งไม่สอดรับกับโลกปัจจุบัน เพราะโลกปัจจุบันเป็นภาวะเฉียบพลัน เมื่อคุณเจอกับการชะงักแบบเฉียบพลัน (disruption) จริง ๆ คำตอบคือเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง แต่คำตอบของเราเมื่อเจอกับการชะงักแบบเฉียบพลัน ความคิดของเราคือการปรับตัวเท่านั้น ซึ่งน่ากลัว

ประชาธิปไตยเทียม’ ปัจจัยสู่วงจรอุบาทว์

“ฉากทัศน์ประเทศไทยดูยากมาก” สุวิทย์   ยกตัวอย่างถึงเรื่องการเมือง หลังเลือกตั้ง​เชื่อว่าไม่ได้ต่างไปจากเดิม การเมืองอาจจะมีเส้นโค้งแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning curve แต่ประเด็นก็คือว่า 8-9 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้มีการปฏิรูปอย่างจริงจังในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นมันจะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ประมาณนี้ การเมืองซึ่งเป็นตัวกำหนดชะตาฉากทัศน์ของประเทศไทยได้ด้วยจึงไม่น่าสดใสเท่าไหร่ เพราะประเทศไทยยังเป็นการเมืองแบบล้าหลัง ยังมีฝั่งอนุรักษ์นิยม และฝ่ายเสรีนิยม ถ้าการเมืองไทยยังเป็นแบบนี้จะยังไม่มีคำตอบ

“ผมเรียกมันว่าเป็น  ‘ประชาธิปไตยเทียม’ ผมเรียกมันว่าเป็น ‘วงจร 3 ป’ ด้วยซ้ำ เพราะเคยเสนอท่านนายกฯ ไป ท่านบอกว่าอย่าเรียก ‘3 ป’ ได้ไหม มันเริ่มด้วยประชาธิปไตยเทียม จึงเกิดการประท้วง และนำมาสู่การปฏิวัติรัฐประหาร แล้วก็กลับมาสู่ประชาธิปไตยเทียมอีกเรียกว่าเป็นวงจรอุบาทว์ เพราะฉะนั้น ต่อให้สีสันทางการเมืองเริ่มแบบนั้นแบบนี้ แต่ผมว่ามันก็ยังอยู่ในวงจรนี้อยู่”

เศรษฐกิจกระจุก สังคมน่ากลัวและอ่อนแอ

การเมืองบ้านเรามันยังไปไม่ถึงไหน people power ยังไม่มี ทั้งที่จริง ๆ แล้วในอนาคตเราต้องสร้างให้เกิดการ empower (มอบอำนาจให้ประชาชน)​ การกระจายอำนาจเราก็ยังไม่ไปถึงไหน เพราะ หนึ่งอำนาจเรายังเป็นอำนาจแนวตั้ง สองเศรษฐกิจ​เกิดการกระจุกมากขึ้น การเอื้อพวกพ้องกันเอง (Cronyism) ยังมีเยอะมาก เป็นสังคมพึ่งพิง ความเหลื่อมล้ำจึงตามมา

เราไม่เคยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจริง ๆ มีแต่คำพูดอย่างเดียว ใน 4-5 เรื่อง อาทิ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม การต่างประเทศ มันทรุดตัวลงหมด เพราะฉะนั้น ถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ สิบปีข้างหน้าจะแย่กว่านี้ เพราะเศรษฐกิจเราไม่ได้ถูกครอบงำเฉพาะรายใหญ่ แต่ถูกครอบงำโดย underground economy (เศรษฐกิจใต้ดิน) การพนัน ทุนสีเทา ที่มาจากสัญชาติอื่น ๆ เราปล่อยปละละเลยมาก

เรากำลังซื้อเวลาในระบบที่ใกล้จะล้มเต็มที

อดีตรมว. กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มองว่า พื้นที่ทั้งหมดที่ว่ามา ส่วนใหญ่จะปกครองโดยระบบราชการ ​ โดยไม่อยากจะเรียกว่ามันคือ Dysfunction หรือ ความผิดปกติ ความอัปยศเสื่อมเสีย แต่มันเป็นยิ่งกว่านั้น ไม่ใช่ว่ามันทำงานไม่มีประสิทธิภาพ​ แต่มันมีเรื่องของ ‘ทุจริต’ และ ‘การเมือง’ สองเรื่องนี้เหมือนเป็นฝาครอบ

“เพราะภาพเหล่านี้ผมเลยไม่กล้ามองว่า อีกสิบปีข้างหน้าฉากทัศน์ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เพราะถ้ามองจากภาพที่เป็นอยู่วันนี้คือมันน่ากลัว มันเหมือนกับระบบที่ใกล้จะล้มเต็มที่แล้ว และมันจะล้มหลาย ๆ ระบบไปพร้อมกันหรือเปล่า ตอนนี้เหมือนเราซื้อเวลาอยู่ เปรียบเสมือนกบที่อยู่ในหม้อต้มที่คิดว่าสามารถปรับอุณหภูมิได้เรื่อย ๆ แต่จริง ๆ แล้ววิธีการก็คือต้องใช้น้ำร้อนสาดเพื่อให้กบกระโจนออกมาให้ได้ แต่เรานึกกันไปว่าใช้การปรับอุณหภูมิเอาจนสุกแล้วยังไม่รู้ตัวกันอยู่อีก ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงสูงมาก แต่เราไม่เปลี่ยนแถมยังมีแนวโน้มที่จะไม่แข็งแรงอีก”

การเลือกตั้ง 2566 คือโอกาสสร้างปรากฏการณ์ร่วม ในการปรับตัวหรือมีโอกาสเปลี่ยนฉากทัศน์ได้จริง  ถ้าประชาชนตื่นตัวจริง ๆ มันต้องเปลี่ยนได้ในระดับหนึ่ง คล้าย ๆ กทม. ที่ประชาชนออกมาบอกว่าไม่เอาแบบเดิม ๆ อีก และเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเขาจะเลือกแบบไหนก็แล้วแต่เขา ​แต่ให้เขาออกมาจริง ๆ เพื่อสะท้อนความเป็นจริง ตรงนั้นถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ายังเป็นคนใต้การปกครองแบบ Passive citizen (พลเมืองตั้งรับ) ยังเป็นบ้านใหญ่ที่มีหัวคะแนนมันก็ไม่ต่างจากเดิม

ทำให้พรรคการเมืองร่วมชี้ชะตาประเทศร่วมกับประชาชน

ไม่ใช่คิดเองอยู่แค่การตอบโจทย์ระยะสั้น

สุวิทย์  มองว่า ในระยะเวลา 2-3 เดือนก่อนถึงวันเลือกตั้ง ​ถือว่าเป็นโอกาสของประชาชน ณ ช่วงเวลาที่นักการเมืองจะต้องฟังประชาชน จะทำยังไงให้สิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นนี้เกิดการมีส่วนร่วมในการเป็นพลเมืองของชาติ (Political engagement) ทำให้พรรคการเมืองมีส่วนร่วมชี้ชะตาประเทศร่วมกับประชาชน ไม่ใช่คิดเองทำเองอยู่แค่ตอบโจทย์ระยะสั้น

“เพราะฉะนั้นเรื่องมุมมองการณ์ไกลหรือเรื่องของฉากทัศน์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่เช่นนั้นเราก็จะมีแต่เวทีดีเบต เถียงกันไปมาในแต่ละหัวข้อเล็ก ๆ บางหัวข้อ แต่เราไม่เคยมาร่วมกันกำหนดอนาคตประเทศระหว่างพรรคการเมืองด้วยกันกับประชาชน ตรงนี้เป็นกุญแจสำคัญ หนึ่ง คือจะทำยังให้ให้เห็นภาพร่วมกัน การเมืองจะเปลี่ยนก็ต่อเมืองพรรคการเมืองมี common ground เดียวกัน และ common goal เดียวกัน มันไม่ใช่ว่าพรรคใครดีกว่าพรรคไหน เพราะว่าเราอยู่ในวิกฤตและอยู่ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม ถ้าโลกนิ่งพอคุณก็แข่งกันไป แต่โลกมันยังไม่นิ่งและยังแย่อยู่ คุณจึงต้องทำงานร่วมกัน”

เพราะฉะนั้น แต่ละคนหรือพรรคการเมืองแต่ละพรรค มีไอเดียกันอย่างไรในการช่วยกันกำหนดประเทศ มันต้องมีอะไรที่ common (พื้นฐาน)​ อยู่แล้ว อีกหน่อยเมื่อคุณเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล คุณต้องทำนะและคุณต้องเคารพคนอื่น ๆ ด้วยว่าสิ่งที่เขาเสนอมีเรื่องอะไรบ้าง คุณต้องช่วยผลักดัน ไม่จำเป็นต้องทุกเรื่อง จะเอาเรื่องการศึกษา เรื่องปัญหาสังคม ฯลฯ แต่ที่เหลือคุณจะโดดเด่นในเรื่องอะไรก็เป็นเรื่องของคุณ

วันนี้เรายังต่างคนต่างคิด ไม่มีภาพอนาคต ภาพใหญ่เดียวกัน

สุวิทย์ อธิบายต่อว่า ปัญหาอยู่ที่ว่าจะต้องมีเวทีที่จะให้พรรคการเมืองกับพรรคการเมือง เวทีประชาชนกับประชาชน เวทีประชาชนกับพรรคการเมือง ทำ Common goal & common ground ตรงนี้แหละคือ ‘ฉากทัศน์’  หลังจากคุณมีแล้ว จะไปดีเบตก็ตามใจคุณ เพราะว่าบางคนอาจจะมีความคิดต่างในรายละเอียด แต่ภาพใหญ่ต้องเป็นภาพเดียวกัน ณ วันนี้เราไม่เคยมีภาพใหญ่เดียวกัน แล้วอนาคตประเทศอยู่ตรงไหน มันไม่มีไง ต่างคนต่างฉายภาพอะไรของคุณ ทำไมไม่มาช่วยกันทำให้เป็นภาพเดียวกัน แล้วฝีมือของแต่ละคนในการต่อจิ๊กซอว์แตกต่างกัน ก็ให้ประชาชนไปเลือกเอา

“ผมคิดว่าบรรยากาศในสองเดือนนี้จะดีนะ เป็นบรรยากาศที่พรรคการเมืองจะเลือกฟังเสียงประชาชน แต่หลังจากนั้นอย่าหยุด​ไม่ใช่ว่ามาจบกันที่วันเลือกตั้งหรือวันที่มีรัฐบาล แต่เวทีแบบนี้จะต้องต่อเนื่อง มานั่งทบทวนกันว่าสิ่งที่เราพิสูจน์แล้วใครเป็นคนที่มี power to lead ​(พละกำลังที่จะนำประเทศ) อย่างน้อยก็ต้องมีอนาคตประเทศไทยร่วมกันอยู่ในมือด้วยนะ หลังจากนั้นอีก 3 เดือน 6 เดือน มันควรจะมีหน่วยงานรัฐที่ให้ความยำเกรงประชาชน มาตอบโจทย์ประชาชนว่าภาพประเทศไทยตามที่เราพูดกัน มีบางอย่างที่ต้องซ่อมแล้วซ่อมอะไรไปบ้างแล้ว บางอย่างที่ต้องสร้างต้องเสริมคืออะไร ไม่ใช่มาทิ้งน้ำหนักเรื่องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซ่อมอยู่ 80-90% พอแค่นี้แล้ว ในสภาฯ ควรจะมานั่งคุยกันในระดับนี้​มากกว่าการคุยแค่ประเด็นที่เป็นอยู่”​

ทำ ‘ประชาธิปไตย’ กับ  ‘อนาคตประเทศ’ ให้เป็นเรื่องเดียวกัน

สุวิทย์ ฝากถึงพรรคการเมือง ซึ่งมีหน้าที่เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ว่า คุณต้องฟังความคิดเห็นของคนอื่นของพรรคอื่น นำมาวิเคราะห์สังเคราะห์แล้วมาร่วมกันกำหนดอนาคตประเทศ มาร่วมกันทำให้มีสิ่งที่เรียกว่าความมุ่งมั่นทางการเมือง (Political commitment) ไม่ใช่การยอมรับของคุณเพียงพรรคเดียว แต่มันเป็นสิ่งที่เหนือพรรคเพราะมันคือชาติ คือประเทศของเรา ตรงนี้แหละที่สำคัญที่สุด และสิ่งนี้จะมีพลังมหาศาล เพราะว่าคุณมีความชอบธรรมเพราะประชาชนเลือกคุณมาไม่ใช่ให้มานั่งทำเฉพาะเรื่องที่คุณสนใจหรือเรื่องที่คุณพูดหาเสียงอยู่เท่านั้น

ประชาชนเลือกคุณที่มีศักยภาพในการ representative (เป็นตัวแทน) ของประชาชน แต่คุณต้องทำในสิ่งที่เหนือพรรคเหนือพวกก็คือเรื่องของชาติ เรื่องของ ฉากทัศน์ที่จะต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่อ้างสิ่งที่มีอยู่แล้วอย่าง แผนยุทธศาสตร์ แผนสภาพัฒน์ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เขียนโดยประชาชน ไม่ได้มาจากการฟังเสียงของประชาชนในอารมณ์จากการเลือกตั้ง ผมถึงบอกว่าเสน่ห์ของประชาธิปไตยอยู่ตรงนี้ แต่ต้องทำให้เรื่องประชาธิปไตยกับเรื่องของอนาคตประเทศให้เป็นเรื่องเดียวกัน”​

สิ่งที่เราทำเรื่องฉากทัศน์ประเทศ เป็นข้อต่อสำคัญที่จะทำให้ความคิดความอ่านและเสียงของประชาชนไม่ใช่ความคิดเฉพาะปัจจุบัน แต่มันคือความฝันที่เขาอยากเป็น  ฝันที่เขาอยากมี ถูกรับฟังจากฝ่ายการเมืองที่มาช่วยกันถักทอ ไม่ใช่ต่างคนต่างเก่งต่างคนต่างคิด แล้วมาทำอะไรร่วมกัน

“ตรงนี้เป็นคีย์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงว่าไม่ใช่เรื่องการเลือกตั้งแล้วจบ แต่เป็นเรื่องของการที่อารมณ์ของกระบวนการประชาธิปไตยเกิด แต่เป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แค่จับต้องได้เฉพาะเรื่องระยะสั้น แต่มันเห็นอนาคตประเทศด้วย”

ก้าวสู่ Active Citizens  หลุดพ้นจากการเมืองแบบเดิม ๆ  

วันนี้ทุกคนมองแต่ว่าที่เหลือคือคู่แข่ง แต่จริง ๆ ถ้าพรรคการเมืองรับฟังเสียงประชาชน จะเห็นว่าต้องมีบางอย่างทำร่วมกันมันถึงจะเกิด  และฉากทัศน์จะสร้างสปิริตใหม่ของการเมืองไทย ในลักษณะที่ฝ่ายการเมืองจะมีความรู้สึกว่า บางเรื่องต้องจับมือร่วมกัน บางเรื่องต้องแข่งขันกัน แต่ทั้งหมดนี้คุณกำลังทำเพื่อที่จะทำให้ประเทศไปข้างหน้า ถ้าที่เหลือคือฝีมือคุณทำได้ดี ประชาชนก็จะเลือกคุณเองเราจะได้หลุดพ้นจากการเมืองแบบเดิม ๆ ที่ใช้เงิน ใช้บารมี ฯลฯ

“ผมว่าวิธีการนี้ประชาชนเองมี learning curve (เส้นโค้งการเรียนรู้) แล้วนะ ระยะเวลา 7-8 ปี เขารู้ว่าจะมีความสุขจากที่เคยเป็นอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไรให้เขามีความรู้สึกว่าจริง ๆ ไม่ใช่เพราะคุณเป็นจิตอาสา หรือ passive citizen​ เพียงแต่เพราะคุณไม่ทำตัวเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ หรือ active citizen ต่างหาก ไม่ต้องสร้าง ขอให้คุณตื่นรู้ว่าจริง ๆ แล้วมันมีอะไรที่ดีกว่านี้ สิ่งที่ทำไม่ได้ทำระยะสั้น แต่ทำเพื่อลูกหลานตัวเองได้อีกเยอะ”

มากกว่า ‘เลือกตั้ง’  คือการ ถักทอ คน การเมือง นโยบาย เข้าด้วยกัน

งานนี้ต้องเป็นงานที่ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่เป็นงานถักทอเรื่องของ “การเมือง-คน-นโยบาย” เข้าด้วยกัน politics เมื่อหลอมรวมกับ people จะรู้ว่า policy ที่ต้องทำคืออะไร แต่ทั้ง 3 วงนี้จะต้องมองเหมือนกับว่าอย่างน้อยมีฉากทัศน์ที่ไม่ว่าพรรคการเมืองไหน  หรือประชาชนกลุ่มก้อนไหนมองคล้าย ๆ กัน และมองว่าอะไรที่ไม่อยากจะเป็นถ้าปล่อยไว้จะเกิดอย่างนี้ และอะไรที่อยากจะเป็นดังนั้นต้องทำอะไร สิ่งที่จะต้องทำอะไรเพื่อไม่ให้มันเกิดไม่ให้มันเป็น หรือสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้มันเกิดให้มันเป็นคือ commit  ไม่ว่าพรรคไหน ในเมื่อมันเป็นฉากทัศน์ร่วมกันแล้ว มันก็คือเรื่องทั่วไป เพียงแต่เขาเชื่อคุณ เขาเลือกคุณ แล้วคุณก็มาเป็นฝ่ายรัฐ คุณจะขับเคลื่อนตามนี้ มากกว่าที่จะมาบอกว่าของคุณได้มา 400 ของคนนั้นได้ไป 700 มันไม่ใช่ มันยังเป็นแบบเดิม ๆ อยู่เลย

“บ้านเราชอบการประคบประหงมหรือประทังด้วยความหวังชั่วครั้งชั่วคราว แต่สิ่งที่ผมคิดว่าทุกคนไม่เถียงผมแน่คือทำอย่างไรให้เกิด Sustainable hope (ความหวังอย่างยั่งยืน) ไม่ใช่แค่ตัวเองแต่เพื่อลูกหลานเรา ทุกคนต้องมองเผื่อลูกหลานตัวเองอยู่แล้วจึงต้องเอาสิ่งนี้มาเป็นตัวตั้ง แต่ทุกวันเราเอาสนุกนำ เอาการเมืองมาฟาดฟันกัน เอามาเป็นตัวตั้ง  วัน ๆ เราเสพข่าวการเมืองเหมือนดูหนังดรามา  เราไม่ได้มองว่าจะใช้การเมืองให้เกิดประโยชน์ยังไง  ‘ฉากทัศน์’ ส่วนหนึ่งมันเป็นเหมือนตัวบังคับให้ทุกคนเข้ามาสู่จุดเดียวกัน” สุวิทย์​กล่าวทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active