เมื่อต้องพูดถึงความจน…
“ความจน” ไม่ขึ้นอยู่กับปัจเจกชน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรรมเก่า แต่ความจนนั้นสัมพันธ์กับโครงสร้างของความยากจน โดยโครงสร้างจะทำหน้าที่กำหนดความจน 2 ด้าน
กำหนดในทางตรง และ กำหนดอารมณ์และความรู้สึก หรือเรียกว่ากำหนดจินตนาการต่อชีวิตของคน ว่าจะมีจุดหมายปลางทางของชีวิตไปถึงแค่ไหน
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า การพูดถึงความจนที่เน้นประเด็นเชิงโครงสร้าง อาจไม่สั่นสะเทือนคนทั่วไปมากนัก แต่การ “กระชากพรมออกจากตีน” หรือทำให้เกิดการสั่นสะเทือนทางความรู้สึกนั้น อาจจะเข้าถึงคนทั่วไปได้มากกว่า
คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง คือ ชื่อโครงการวิจัยชุดใหญ่ ที่ ศ.อรรถจักร์ ร่วมกับนักวิชาการจากทุกภูมิภาค ศึกษาและทำความเข้าใจ “คนจน”
ระหว่างการเก็บข้อมูล พบข้อมูลว่ามีคนฆ่าตัวตายสูงขึ้น ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ราว 38 คน และถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า วิธีวิจัยไม่รอบคอบ ศ.อรรถจักร์ จึงตั้งคำถามว่า “คนตาย 38 คนนี่คุณรู้สึกไหม?” ซึ่งมนุษย์นั้นควรจะต้องมี Empathy หรือ ความเข้าอกเข้าใจความยากลำบากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราจึงควรนำข้อมูลมาทำให้คน “รู้สึก” แทนที่จะยัดเยียดข้อมูลเชิงโครงสร้างอย่างเดียวเท่านั้น และต้องทำให้คนชนชั้นกลางขึ้นไปเห็นด้วยว่า พวกเขามีความได้เปรียบในเชิงโครงสร้างที่เหนือกว่าคนอื่น และความได้เปรียบนั้น ก็มาบนพื้นฐานของการเบียดบังผลประโยชน์ของคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่าด้วยเช่นกัน
ชีวิตของคนแต่งเมือง และการกระชากพรมออกจากตีน
เมื่อปี 2540 มีคนทำงานเรื่อง “คนแต่งเมือง” ร่วมกับ รศ. ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ โดยไปดูว่าตลอดเวลา 1 วันในชีวิตคนจนเมืองนั้นสร้างอะไรให้เมืองเชียงใหม่บ้าง เช่น ตีสอง ตื่นไปขนของที่ตลาด ตีสี่ เป็นคนตั้งร้านขายของ เจ็ดโมง เริ่มทำงานเพื่อเคลื่อนองคาพยพบางอย่างของเมือง และเมืองเชียงใหม่ก็ถูกหล่อเลี้ยงด้วยคนจนเมืองเหล่านี้ งานชิ้นนี้จึงทำให้คนเชียงใหม่เห็นว่าพวกเขาจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีการอำนวยความสะดวกจากคนเหล่านี้ ดังนั้น เราจึงต้องหาวิธีที่จะนำเสนอเสียงของคนเมืองและคนที่อยู่เบื้องหลังผู้อำนวยความสะดวกให้ชีวิตของคนเมืองด้วย
การ “กระชากพรม” ในความหมายของ ศ.อรรถจักร์ ก็คือการถอดรื้อความเชื่อหรือภาพจำเดิมที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น คนที่จนก็เพราะไม่ขยันเหมือนที่คนรวยทำ อีกทั้งความเชื่อเหล่านี้ยังถูกถ่ายโอนมายังชนชั้นกลางอีกด้วย เพราะหลังวิกฤตปี 2540 นั้น ทำให้ธนาคารล้มพังและต้องเริ่มเจาะฐานลูกค้าชนชั้นกลางมากขึ้น นอกจากนั้นหลังปี 2541 เป็นต้นไป บัตรเครดิตหลายเจ้าก็ปรากฏตัวขึ้นมาให้เป็นทางเลือก กลุ่มคนชนชั้นกลางเหล่านี้จึงได้โอกาสที่จะขยับสถานะทางเศรษฐกิจของตัวเองขึ้นมา พรมทางชนชั้นจึงเป็นพรมที่มั่นคง และหากจะให้สลัดออกก็เป็นเรื่องยากสำหรับเขา
ความขยันแล้วจึงรวยนั้น เป็นเรื่องที่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจในปี 2540 มาช่วยด้วย ปีดังกล่าวเป็นปีที่ทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก เพราะพวกเขาสามารถเข้าถึงเงินกู้ของธนาคารได้ง่ายขึ้นผ่านอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุนการเงินและทุนธนาคารจึงกลายเป็นตัวผูกขาดเศรษฐกิจ และทำให้เกิดทุนนิยมแบบพรรคพวกขึ้นมาและยิ่งตอกย้ำภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ชัดขึ้นกว่าเดิม
การเมืองและผู้คุมการจัดสรรทรัพยากร
ก่อนปี 2516 การเมืองถูกนำโดยทหาร ซึ่งทำให้พวกเขาควบอำนาจการตัดสินใจการใช้ทรัพยากรจากส่วนกลางแต่เพียงผู้เดียว แต่หลังจากนั้นภายใต้การปกครองของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ก็เกิดการจัดระบบการเมืองและระบบการเงินขึ้นมาใหม่ จากที่เคยมีศูนย์กลางอยู่ที่ข้าราชการ ย้ายมาอยู่ฝั่งขั้วอำนาจทางการเมืองและการธนาคาร รวมถึงกลุ่มธุรกิจแทน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนส่วนหนึ่งถึงอยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นจะทำให้เกิดการกระจายทรัพยากรจากส่วนกลางลงไปถึงส่วนล่างหรือส่วนภูมิภาคได้หลากหลายมากขึ้น
การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นนี้เกิดขึ้นจากความต้องการของคนหลายฝ่าย เช่น นักการเมืองท้องถิ่นที่รู้สึกว่าอำนาจของพวกเขาไม่ได้รับการกระจายมาให้ปกครองหรือมีอำนาจในการตัดสินใจต่อกิจกรรมการพัฒนาใด ๆ อย่างน้อยที่สุด การพัฒนาในส่วนท้องถิ่นนี้ ก็จะตกมาอยู่ที่ประชาชนมากกว่าระบบของรัฐ
ยกตัวอย่างระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพก็เช่น ระบบ อสม. ที่ช่วยเรื่องการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างมาก ดังนั้น หากเราทำเรื่องการกระจายอำนาจไปท้องถิ่นได้ ก็จะเกิดการรื้อโครงสร้างทางการเมือง แม้ระยะแรกอาจจะเรียกว่าเป็นการแบ่งปันงบประมาณในการโกงกิน แต่ก็ถือว่าเป็นการกระจายงบประมาณที่มากกว่าและทั่วถึงมากกว่า
การทำให้คนรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมและความจน
ศ.อรรถจักร์ มองว่า การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และมองเห็นว่าเราได้มากกว่าเพราะเรามีโอกาสมากกว่า จึงควรต้องแบ่งปันหรือเฉลี่ยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมนี้ให้กับคนอื่นด้วย เป็นเรื่องสำคัญที่สุดต่อการทำงานเรื่องความเท่าเทียมและการต่อสู้กับความจน ซึ่งการคำนึงถึงอภิสิทธิ์ทางชนชั้นนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่เกิดปัจจัยอื่นแวดล้อมมาก่อน เช่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม การรับรู้ว่ามีปัญหาหรือการรับรู้เชิงทฤษฎีนั้น ยังแตกต่างกับการปฏิบัติอยู่มาก
ศ.อรรถจักร์ เสนอว่า เราควรเรียนจริยธรรมมากกว่าการเรียนเรื่องศาสนา แต่หากจะพูดถึงประเด็นทางศาสนาก็สามารถระบุให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนจริยธรรมก็ได้ ดังนั้น การเรียนจริยธรรมจึงเป็นการเรียนรู้เรื่องระบบความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เพื่อเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ระหว่างกันมากขึ้น
สำนึกเรื่องความต่างทางชนชั้น
ก่อนหน้านี้ความต่างทางชนชั้นไม่ถูกพูดถึงมากนักในสังคมไทย หากเราพูดถึงรัฐแบบจารีตในช่วงก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ก็จะพบว่าสมัยนั้นมีมูลนาย ไพร่ และทาส แต่ไพร่จำนวนมากของไทยคือไพร่ส่วย (เก็บของป่าส่งให้นาย แต่มีความสัมพันธ์ทางอื่นกับนายไม่มากนัก) คนพวกนี้จึงรู้สึกถึงความต่างทางชนชั้น แต่ความต่างนี้ไม่ได้สัมพันธ์กับชีวิตของพวกเขามากนัก เพราะพวกเขาไม่ถูกกะเกณฑ์ในมิติอื่น หรือในขณะเดียวกันกลุ่มมูลนายเองก็ถูกระบบบีบให้พวกเขาขูดรีดไพร่มากเกินไปไม่ได้ เพราะหากขูดรีดมากแล้วไพร่เดือดร้อน ไพร่ก็จะหนีไปหามูลนายอื่น และต่อให้นายไม่เมตตาจริงก็ต้องแสร้งว่าเมตตาเพื่อรักษาฐานอำนาจหรือไพร่ในสังกัดตัวเองไว้ ดังนั้นในความต่างทางชนชั้นนี้จึงไม่ได้ถูกทำให้บาดลึก
ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยถูกดึงให้เข้าร่วมระบบเศรษฐกิจโลกมากขึ้น และต้องเริ่มปลูกข้าวมากขึ้น เพื่อจ่ายเป็นค่าปฏิกรรมสงครามแล้วนั้น เส้นทางของแผนพัฒนาทั้งหมดก็เปลี่ยนมามุ่งเน้นภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมก็ได้เงินจากภาคการเกษตรมาหล่อเลี้ยงทั้งสิ้น
ศ.อรรถจักร์ ฉายภาพสังคมในช่วงก่อนปี 2500 ว่าสมัยนั้นคนจนมากถึงขนาดต้องนำของมาแลกไข่หรือข้าว ชาวบ้านจึงให้ความสนใจมากต่อนโยบายการปลูกข้าวเพื่อส่งออกในช่วงแรก เพราะทำให้พวกเขาได้เงินสดมาหมุน แต่หลังจากนั้นรัฐบาลก็ได้ดำเนินนโยบายพรีเมียมข้าว หรือการเก็บภาษีผู้ส่งออก ส่งผลให้ตั้งแต่การปลูกข้าวเพื่อขายในครั้งนั้น ชาวนาไทยจึงเริ่มจนต่อเนื่องและสม่ำเสมอ นโยบายของรัฐในช่วงนั้นจึงเป็นการดึงคนมาเชื่อมเข้าไว้ด้วยกันกับเศรษฐกิจของชาติ แต่ก็กดพวกเขาไว้ด้วย “พรีเมียมข้าว” เพื่อให้อุตสาหกรรมเติบโต ทำให้เห็นว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านถึงมีความยากแค้นแต่ไม่จนเพราะมีผลผลิตในชุมชนให้พอประทังชีพอยู่บ้าง แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคพรีเมียมข้าวเป็นต้นมาชาวบ้านก็เริ่มเข้าสู่สถานะของความจน ดังนั้น การผลิตอะไรสักอย่างจึงจำเป็นจะต้องสร้างให้เกิด forward & backward linkage (การเชื่อมโยงไปข้างหน้าและย้อนกลับ) อยู่ในพื้นที่เพื่อดึงผลผลิตมวลรวมสู่พื้นที่และชุมชนนั้นด้วย
เช่น ในญี่ปุ่นยังมีระบบภาษีที่คืนกำไรให้ชุมชน เรียกว่าคูโรซาโตะ ที่สามารถระบุได้ว่าอยากให้ภาษีเหล่านั้นย้อนคืนไปพัฒนาพื้นที่หรือย่านใดในญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เห็นว่าท้องถิ่นของญี่ปุ่นเป็นหน่วยที่เข้มแข็งตั้งแต่ฐานรากขึ้นมา
ศ.อรรถจักร์ ยังเล่าถึง “กลิ่นคนจน” ที่มาจากชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่มีเงินและไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ในการซักผ้าได้จนทำให้มีกลิ่นสาปติดตัว นอกจากนั้นเสื้อผ้าของคนจนยังน้อย จำเป็นต้องใส่ซ้ำกันและซักกับน้ำธรรมดาหรือน้ำด่างเท่านั้น ซึ่งทำอย่างไรก็ไม่สามารถซักเอากลิ่นที่ติดอยู่ออกไปได้
ความยากจนเชิงสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น
คนที่เกือบจนนั้น ในด้านหนึ่งก็พยายามขยับตัวเองขึ้นมา นอกจากนั้นกลุ่มทุนที่อยู่ในเศรษฐกิจแบบ informal sector (นอกระบบ) เองก็พยายามจะขยับตัวเองขึ้นมาให้กลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจแบบ formal sector (ภาคทางการ) มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีคนมองว่าการจะขยับไปอยู่ในฐานเศรษฐกิจแบบ formal sector นั้นไม่คุ้มกับมูลค่าทางเศรษฐกิจและค่ารายละเอียดต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องเสีย เช่น ร้านข้าวขาหมูที่ขายดีมาก แต่หากต้องขยับไปเปิดร้านจริงจังก็จะต้องเข้าร่วมกับระบบภาษี หรือมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ทำให้เขามีต้นทุนเพิ่มมากขึ้นไปด้วย
เงินกู้ 4 แสนล้าน และการเติบโตของ SME
การแบ่งเงินสี่แสนล้านให้ SME เพียงอย่างเดียวนั้น อาจทำให้พวกเขาอยู่ไม่รอด ดังนั้นวิธีที่ควรทำก็คือการลดค่าใช้จ่ายรายทางที่กิจการขนาดเล็กจะต้องเสีย หรือต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อย้ายตัวเองเข้ามาอยู่ในภาคเศรษฐกิจแบบ formal sector น่าจะตอบโจทย์ระยะยาวของการดำเนินธุรกิจมากกว่า เพราะมันคือการสร้างฐานการทำธุรกิจที่มั่นคง มากกว่าการให้เงินทุนตั้งต้น นอกจากนั้น ศ.อรรถจักร์ ยังเสนอว่าสิ่งที่รัฐบาลควรคิดถึงในเรื่องการกระจายเงินกู้สี่แสนล้านบาทนี้ ก็คือทำให้เกิดการจ้างงานให้มากที่สุด
ยุทธศาสตร์การปรับตัวของคนจน : ตลาดนัดเพิ่มอาชีพและรายได้
ศ.อรรถจักร์ เล่าถึงสมมติฐานที่ได้จากการสำรวจพื้นที่เชิงปรากฏการณ์ของตลาดนัดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่าเกิดการขยายตัวขึ้นสูงมาก ครึ่งหนึ่งเป็นการขายผลิตภัณฑ์ที่จากชุมชนหรือชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ตระเวนขาย การขยายตัวของตลาดนัดมีนัยต่อความจน เพราะสามารถทำให้คนในท้องถิ่นสามารถนำของที่มีอยู่ในพื้นที่บ้านหรือชุมชนมาต่อยอดเป็นการขาย หากไม่มีตลาดนัดก็อาจไม่เกิดการสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตในครัวเรือน ตลาดนัดจึงทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบครัวเรือนนอกเหนือจากเงินที่ได้รับจากแหล่งอื่น
สิ่งที่ต้องคิดหลังเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็คือ จะทำยังไงให้เกิดตลาดชาวบ้าน (local market) ตลาดเฉพาะ (niche market) และตลาดที่เข้าถึงผู้คนได้กว้างขวางขึ้น เช่น ตลาดที่ผูกอิงกับองค์กรสมัยใหม่ อย่าง ปั๊มน้ำมัน หรือห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ หรือระบบตลาดที่ผูกรายการสั่งซื้อกับครัวเรือนชนชั้นกลาง (cloud / online system) เป็นต้น คำถามสำคัญก็คือตลาดเช่นนี้จะถูกขยายออกไปอย่างไรเพื่อให้ถึงตัวชาวบ้านโดยตรง และจะขยายกลุ่มผู้ผลิตให้เข้าถึงตลาดกลางโดยตรงได้อย่างไร นอกจากนั้น เราควรต้องคิดถึงการทำตลาดในรูปแบบใหม่ เพื่อขยายฐานการบริโภคและการผลิตมากขึ้นด้วย
คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง
คนจนเมืองไม่ใช่คนจนแบบคนสลัมในภาพจำที่เคยเห็นอีกต่อไปแล้ว เราเลยต้องการดูว่าคนจนเมืองนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในเมืองที่กายภาพเองก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเมืองเปลี่ยนแปลงก็เท่ากับว่าคุณลักษณะและความสลับซับซ้อนบางอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปด้วย คณะทำงานเก็บข้อมูลทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเข้าไปดูว่าคนจนเมืองนั้นอาศัยอยู่ในเมืองเหล่านี้อย่างไร ทั้งความจนจากการขยายตัวของรัฐ การเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค และการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการอีกด้วย
จากการศึกษาพบว่า คนจนมีมิติทางชีวิตที่เชื่อมโยงกับมิติทางเศรษฐกิจและสังคมที่สลับซับซ้อนขึ้น นอกจากนั้น ยังพบว่าคนจนเดิมที่เคยต่อสู้ร่วมกับขบวนการต่าง ๆ มาก็สามารถปรับตัวขึ้นไปเป็นชนชั้นกลางได้ และในขณะเดียวกันก็เกิดการไหลเวียนของคนจากพื้นที่อื่นเข้ามาเป็นคนจนเมือง และคนจนเมืองก็เปลี่ยนพื้นที่อยู่อาศัยไปจากเดิม เช่น ย้ายจากสลัมไปอยู่ห้องเช่ากระจายแฝงตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีงานทำ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เมืองจึงเป็นพื้นที่ที่เปิดให้เห็นการขยายตัวของ informal sector มากขึ้น และคนจำนวนมากก็เข้ามาอาศัยและกลายเป็นผู้หล่อเลี้ยงเมืองมากขึ้นไปด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว หากรัฐมองเห็นพลังของคนกลุ่มนี้และมีนโยบายสนับสนุน พวกเขาก็จะสามารถยืนหยัดและเป็นกำลังสำคัญให้กับเมืองได้อีกมาก เพราะจากวิกฤตโควิดที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่า พอคนเหล่านี้เริ่มที่จะตั้งตัวได้ก็ถูกทำให้หลุดออกจากระบบทันที เนื่องจากการรองรับที่ไม่มากพอของรัฐ งานวิจัยยังบอกอีกว่ากลุ่มแรงงานในภาคเกษตรนั้นไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดหนักเท่ากับกลุ่มคนจนในเมือง เพราะกลุ่มคนจนเมืองนั้นแทบไม่มีหลักยึดใดให้พึ่งพิง ดังนั้น หากเราทำความเข้าใจคนจนเมืองกลุ่มนี้ได้ เราก็จะเห็นนิเวศที่แวดล้อมอยู่ของเมืองและเห็นว่าคนกลุ่มนี้ถูกขับออกไปจากการตัดสินใจของเมือง
เมืองที่มีความยุติธรรม
ข้อเรียกร้องสำคัญหนึ่งที่ ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา เรียกร้องคือ เมืองที่มีความยุติธรรม และแนวคิด “Right to the city” หรือสิทธิที่จะอยู่ในเมือง นอกจากนั้นเรายังต้องการทำให้คนเมืองรู้สึกว่ามันมีคนกลุ่มนี้อยู่จริงๆ และพวกเขาไม่ควรถูกผลักให้ออกไปอยู่ชายขอบของเมือง ขณะเดียวกันเมืองก็ถูกทำให้เกิดการแบ่งพื้นที่มากขึ้น และสงวนพื้นที่เมืองไว้เป็นพื้นที่ของชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งทำให้คนทุกกลุ่มนี้แทบจะไม่ได้เจอกันเลย เช่น คนจนจะไม่มีเวลาไปสวนสาธารณะ ห้าง (หากจะไปก็ไปห้างค้าปลีก) ห้องสมุด หรือพื้นที่สาธารณะอื่น เพราะฉะนั้นพื้นที่ของเมืองจำนวนหนึ่งจึงถูกสงวนไว้เป็นพื้นที่ของคนรวย ศ.อรรถจักร์ยกตัวอย่างว่าการมีอยู่ของคนจนเมืองนั้นทำให้กรุงเทพฯ เปรียบเสมือน “ชุมชนถลกชั้น” หมายความว่าแม้พวกเขาจะอยู่อาศัยในพื้นที่ร่วมกันแต่ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน และสามารถถลกชั้นหนังของแต่ละชนชั้นออกมาได้
คณะทำงานยังพบข้อมูลว่าเครือข่ายคนจนในสลัมนั้นจะช่วยเหลือกัน ทั้งการส่งต่องานเพื่อจ้างคนในสลัม หรือการช่วยกันสอดส่องดูแลอื่น ๆ เป็นต้น แต่เมื่อสลัมมีการเปิดตัวมากขึ้นก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างคนในสลัมน้อยลงไปด้วย จึงพบว่าการช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การฝากดูแลผู้สูงอายุในชุมชนทำได้น้อยลง ในด้านหนึ่งนั้นการเปิดพื้นที่สลัม ทำให้คนเข้า-ออกชุมชนมากขึ้น แต่ก็ทำให้วิถีชีวิตที่เกื้อกูลกันแบบเดิมนั้นหายไป และเกิดความเปราะบางในชุมชนมากขึ้นด้วย
ศ.อรรถจักร์ เสนอว่า การจะพยุงคนจนไว้นั้นทำได้ 2 วิธี
- เราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ของคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เกิดเป็น Social safety net ของคนในชุมชนอย่างถ้วนหน้า
- รัฐต้องหามาตรการรองรับผ่านการร่วมดูแลปัจเจกมากขึ้น ไม่ใช่ผลักภาระการดูแลตัวเองให้ปัจเจกเอง
ข้อค้นพบอื่นในงานวิจัย
ศ.อรรถจักร์ พบว่าสมัยก่อนนั้นพี่น้องในสลัมจะสัมพันธ์กับเอ็นจีโอ เพราะทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ปัจจุบันพี่น้องสลัมจะไปสัมพันธ์อยู่กับอำนาจรัฐในท้องถิ่น หรือเขต ต้องพึ่งพิงรัฐมากขึ้น เพราะสามารถได้รับประโยชน์มากขึ้นและเร็วขึ้นหากติดต่อกับภาครัฐโดยตรง ส่วนภาครัฐนั้นจะได้ผลตอบแทนจากการดำเนินงานเหล่านี้ เช่น เรียกให้ชาวบ้านไปช่วยฟ้อนการแสดงงานของเทศบาล ดังนั้น งานทั้งหมดที่จำต้องมีขบวนแห่ คนที่ต้องมาร่วมแห่และช่วยงาน ก็คือคนสลัมหรือคนจนที่ได้รับผลตอบแทนจากการร้องขอรัฐไปแล้วก่อนหน้า ขณะที่ชนชั้นกลางในเมืองนั้นจะทำหน้าที่เป็นคนดู ความบันเทิงของคนชนชั้นกลางจึงเกิดขึ้นมาจากน้ำแรงของคนจนทั้งสิ้น
ดังนั้น หากเราอยากขยับเมืองให้เกิดความเป็นธรรม จึงจำเป็นจะต้องเขยื้อนทุกอย่างจากฐานล่าง ขณะเดียวกันก็ต้องปรับโครงสร้างอำนาจที่มีส่วนในการปกครองพื้นที่หรือเมืองเหล่านั้นด้วย งานวิจัยส่วนหนึ่งของ ศ.อรรถจักร์ ยังพบว่าคนรุ่นลูกที่ขยับตัวเข้ามาอยู่ในเมืองนั้น คิดว่าตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ นั่นจึงตอบคำถามว่าเมืองเป็นศูนย์รวมของการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะฉะนั้นเมืองจึงควรมีความยุติธรรมในการพัฒนาให้มากขึ้นไปด้วย
หากไม่อยากให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น รัฐต้องคิดนโยบายเกี่ยวกับเมืองใหม่
รัฐต้องทำให้เกิดคำว่า เมืองที่ยุติธรรมมากขึ้น เพราะนโยบายเกี่ยวกับเมืองในประเทศไทยทั้งหมดนั้น เป็นนโยบายที่ปล่อยให้ทุนเป็นคนควบคุมเมือง ดังนั้น การพัฒนาเหล่านี้จึงทิ้งคนกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลังและเอื้อประโยชน์ให้คนอีกกลุ่มเสมอ นอกจากนั้น เมื่อพูดคำว่า The right to the city ก็ควรจะเป็นการทำความเข้าใจและมาจากการเคารพกันว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีสิทธิและมีส่วนร่วมในเมือง เช่น ตัวอย่างจากประเทศเยอรมนีที่มีคนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นไปยึดเอาพื้นที่คุกเดิมของนาซี (พื้นที่ว่างเปล่า) มาเป็นลานปลูกผักที่บริโภคได้ทั้งกลุ่มคนรวยและกลุ่มคนจน ในเชียงใหม่เองก็มีการยึดพื้นที่ว่างเปล่าในเมืองมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน (ยึดก่อน จากนั้นจึงไปขอเทศบาลใช้งานเพื่อสาธารณประโยชน์)
การพัฒนาเมืองให้เกิดความเหลื่อมล้ำน้อยยังต้องมาจากฐานคิดที่ว่า “เมืองไม่ใช่ของรัฐ แต่เมืองเป็นของพวกเรา” นอกจากนั้น ศ.อรรถจักร์ เชื่อว่าประเทศไทยมีกลุ่มชนชั้นกลางไม่น้อยที่พยายามจะทำอะไรเพื่อพัฒนาเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่คำถามคือเราจะยกระดับการพัฒนาเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไรให้มีทิศทางที่มั่นคงและต่อยอดไปเป็นนโยบายอย่างจริงจัง
ชั้นของการบริโภคและฐานเศรษฐกิจของคนในเมือง
ศ.อรรถจักร์ ยกตัวอย่างว่าย่านนิมมานใน จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ของชนชั้นกลางที่มีฐานะร่ำรวยและไม่ใช่ที่ที่เด็กแซ๊บจะเข้ามาท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรม ส่วนคนชนชั้นกลางเองก็จะไม่เข้าไปยุ่งในขนบของชนชั้นหรือวัฒนธรรมแบบวิถีแซ๊บ ทำให้ชีวิตเหล่านี้แยกชั้นกันอย่างสิ้นเชิงและไม่เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมต่อกันเลย นอกจากนั้นคนทั้งสองกลุ่มนี้ยังไม่รู้อีกด้วยว่าชีวิตของคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน และมีกิจกรรมรวมถึงขนบการปฏิบัติอย่างไร
การเกิดวัฒนธรรมแยกชั้นเช่นนี้ ทำให้ท้ายที่สุดผู้ที่มีอำนาจกำกับการบริโภคของเมืองนั้นกลายเป็นกลุ่มคนชนชั้นกลางหรือคนชนชั้นสูงขึ้นไป เพราะเราไม่สามารถมองเห็นกันและกันหรือมองเห็นคนกลุ่มอื่นนอกจากตนเองได้อีกแล้ว หรืออาจจะเห็นแต่ไม่ให้ความสนใจมากพอ เหตุทั้งหมดนี้จึงทำให้ความยุติธรรมในเมืองเกิดขึ้นไม่ได้
เช่น หากมีการปล่อยขายที่ดินให้เอกชนมาจัดการมากขึ้น เมืองและคนในเมืองอื่น ๆ จะได้ประโยชน์จากที่ดินเหล่านั้นน้อยมาก การพัฒนาที่ดินที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนในเมืองจึงเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง เพราะคนในเมืองต้องรับผลกระทบจากการพัฒนานั้นด้วย อีกทั้งเมืองก็จะถูกควบคุมอำนาจการ “บงการ” จากคนเพียงไม่กี่กลุ่ม จนพวกเขาสามารถขยายอำนาจปกคลุมเมืองได้ ส่วนคนจนก็ถูกลดรูปให้เป็นเพียงคนที่ต้องทำงานให้กับเมือง ทั้งหมดนี้ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น กลุ่มคนรวยยิ่งแสวงหาประโยชน์จากพื้นที่ทางอำนาจเหล่านี้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่คนจนไม่มีส่วนแบ่งต่อผลประโยชน์ดังกล่าวเลย การเกิดความกดดัน (tension) ระหว่างชนชั้นเหล่านี้ อาจจะนำไปสู่การปะทะกันระหว่างชนชั้น
คุณลูกค้า และระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่
ศ.อรรถจักร์ รู้สึกว่าการใช้คำว่า “คุณลูกค้า” เป็นการสร้างระยะห่างระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้เกิดอำนาจต่อรองระหว่างกัน และขาดความสัมพันธ์อื่นในฐานะมนุษย์ต่อกันไปด้วย ศ.อรรถจักร์ ไม่ปฏิเสธว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นแบบเดิมได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบนความสัมพันธ์แบบนี้ยังแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมอย่างที่ไม่สามารถปะติดปะต่อกันได้อีกต่อไป ในแง่หนึ่งวิถีเช่นนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการบริโภคที่เปลี่ยนไปรวมถึงการเกิดสำนึกของปัจเจกชนมากขึ้น แต่ ศ.อรรถจักร์ เห็นว่าเราไม่ควรจะสร้างปัจเจกชนที่ขาดสำนึกต่อชุมชน เราจำเป็นต้องสร้างชีวิต ที่ทุกคนมีชีวิตทางสังคมและให้พื้นที่ต่อปัจเจกชนได้ด้วยอย่างสมดุลกัน
ข้อเสนอคนจนเมือง
พวกเขาต้องการให้รัฐเปิดพื้นที่ให้เกิดการทำมาหากินมากขึ้น อยากให้มีการแบ่งสรรทรัพยากรต่างๆ มาให้เขามากขึ้น (เช่น ถนนในการขายของ ฯลฯ)
เพิ่มเติม
- เด็กแซ๊บ / zapper คือกลุ่มเด็กที่ขยับชั้นของตัวเองไม่ได้ จะเรียนในระดับปริญญาตรีก็ไม่ได้แต่จะให้ลงไปทำนาแบบพ่อก็ไม่ได้ (ขึ้นไม่ได้ลงไม่ได้) นอกจากนั้นยังอาจไม่รับรู้ความเป็นไปอื่นที่เกิดขึ้นในสังคมอีกด้วย โดยทั่วไปแล้วคนมักจะบอกว่าเด็กแซ๊บเกิดจากวัฒนธรรมการศึกษาที่ไม่ดีพอของบ้านเรา รวมถึงอ้างปัจจัยเช่น ครูเลว เพื่อนเลว การเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกมากเกินไป
- เอกสารประกอบการประชุมนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง”