Big Data หน้าตาคนจน | แมน ปุโรทกานนท์

ความจน ไม่ใช่เรื่องบุญทำกรรมแต่งหรือเรื่องเคราะห์กรรม แต่เป็นเรื่องของระบบโครงสร้างและปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทำให้จน

ในยุคที่ความยากจน ไม่อาจบ่งบอกได้ด้วยเส้นความยากจนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังมีอีกหลายมิติที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย

แม้ปัจจุบันประเทศไทย มีข้อมูลคนจนในรูป Big Data สามารถระบุว่าใครคือคนจนได้ จากเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

แต่ถึงอย่างไร ความจนก็ยังเป็นเหมือนโรคเรื้อรังของสังคมไทย เพราะยังขาดความเข้าใจสภาพการณ์ที่แท้จริง 

เพื่อต่อยอดข้อมูลที่มีอยู่ แมน ปุโรทกานนท์ หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ชวนมองทางปัญหาคนจนให้ลึกในระดับบุคคล และตอบคำถาม สำคัญ 3 ข้อ คือ คนจนอยู่ที่ไหน ปัญหาของคนจนคืออะไร และจะก้าวพ้นความจนได้อย่างไร

ใครคือคนจน?

ในอดีต การทำงานคนจนมักเริ่มจากการถามถึงนิยามคนจน เกณฑ์ที่ใช้วัดความจน ซึ่งถือเป็นประเด็นระดับสากลในการศึกษาเรื่องคนจน ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดมาตลอด 30 – 40 ปี จนกลายมาเป็น “ระบบข้อมูลคนจน” คือ การใช้ข้อมูลบ่งชี้ว่าคนจนเป็นใคร โดยอาจเป็นฐานข้อมูลที่มาจากบุคคลนั้นเคยได้รับสวัสดิการจากรัฐ หรือข้อมูลที่มาจากการสำรวจของหน่วยงานโดยเอามาซ้อนทับกัน ซึ่งระบบข้อมูลคนจนจะช่วยชี้เป้าหมายคนจนได้ชัดเจนขึ้น

แนวการศึกษาเรื่องคนจนในอดีต มีข้อถกเถียงกันว่า “คนจนไม่ได้พูดว่าตัวเองจน” ความไม่ชัดเจนระหว่าง “ยากจน” หรือ “อยากจน” นำไปสู่การพิจารณาฐานข้อมูลเดิมที่มีแต่ Survey Data หรือ ข้อมูลสำรวจ อาจไม่เพียงพอต่อการตอบคำถามว่าใครคือคนจน จึงต้องอาศัยการใช้ “Register Data” หรือ ระบบการลงทะเบียน มาเป็นส่วนเสริมในการยืนยันตนเองว่าเป็นคนจน ตัวอย่างเช่นการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการของรัฐ ทั้งนี้ การระบุว่าตนเองยากจนก็ยังคงมีปัญหาและข้อบกพร่อง ในแง่เกณฑ์วัดที่จะใช้เป็นมาตรฐานร่วมกัน และการเกิดข้อผิดพลาดทั้งใน “ส่วนที่ถูกทอดทิ้งจากฐานระบบ และส่วนที่เข้ามามากเกินในฐานระบบ” หมายถึงคนจนจริงเข้าไม่ถึงและไม่ถูกใส่ในระบบฐานข้อมูล หรือบางคนเข้ามาอยู่ในฐานข้อมูลคนจน ได้รับบัตรสวัสดิการแต่ในความเป็นจริงไม่ได้จน มีที่อยู่อาศัยสุขสบาย มีรถขับ

Survey Data สู่การสำรวจข้อมูลเชิงลึก 

ก่อนการมีระบบฐานข้อมูลคนจน เราใช้ข้อมูลสำรวจจากนักวิจัยหรือคนนอกที่เข้าไปศึกษา และบ่งชี้ว่าคนจนเป็นอย่างไร ซึ่งมองว่าข้อมูลสำรวจเพียงชุดเดียวเช่นนี้ เป็นความล้มเหลว เพราะคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายไม่ได้ยอมรับนิยามที่คนนอกแปะป้ายให้ เช่น หากศึกษากลุ่มคนที่อาศัยในเขตป่า หากกลุ่มคนสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ป่าเพื่อการดำรงชีพได้ กลุ่มคนนี้ก็จะพ้นจากความยากจน หรือแม้แต่กลุ่มคนที่อยู่อาศัยใกล้ทะเลที่มีศักยภาพในการเก็บหอยขายรายวัน จะไม่จนแน่นอนหากไม่มีสัมปทานหอยผูกขาดการใช้พื้นที่ ทำให้กลุ่มคนนั้นเข้าไม่ถึงการใช้ทรัพยากรหรือใช้ได้อย่างไม่เต็มศักยภาพ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการสำรวจเชิงลึกที่ศึกษาบริบทโดยรอบของบุคคลหรือครัวเรือนประกอบกับฐานข้อมูลเดิม นำไปสู่การค้นพบเหตุปัจจัยของปัญหาความยากจน จนอาจพัฒนาไปสู่วิธีการหรือนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

คนทั่วไปมองคนจนอย่างไร

ในสังคมไทยคนจนเหมือน “ผู้แพ้” ด้วยความคิด ทักษะความสามารถ หรือปัจจัยประกอบการเป็นครัวเรือนไม่สมบูรณ์ ซึ่ง “สังคมไทยไม่ได้สนับสนุนผู้แพ้” เรามักเลือกข้างผู้ชนะเสมอ คนจนบางคนเหมือนมีอาการเป็นโรคเรื้อรังในสังคมไทย เพราะได้รับความยากจนข้าม Generation ซึ่งการที่สังคมไทยไม่เปิดโอกาสให้คนยากจน อาจมาจากความไม่เข้าใจสภาพการณ์ที่แท้จริง 

เราอาจมองว่าคนจนเกิดเพราะระบบหรือโครงสร้างเท่านั้น แต่เรายังขาดความเข้าใจในรายละเอียด เงื่อนไขในการดำรงชีพ หรือบริบทย่อยในแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญคือคนในสังคมต้องเข้าใจว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องบุญธรรมกรรมแต่งหรือเรื่องเคราะห์กรรมแต่อย่างใดแต่เป็นเรื่องของระบบโครงสร้างและปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทำให้จน” ซึ่งหากสังคมไทยเข้าใจภาพรายละเอียดส่วนนี้ อาจนำไปสู่การมีส่วนร่วมสนับสนุนที่ไม่ใช่การช่วยเหลือเพราะความสงสาร แต่เราจะร่วมแก้ไขปัญหาอย่างสังคมสมัยใหม่ที่มุ่งพิจารณาข้อเท็จจริงหรือปัจจัยเงื่อนไขที่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับโครงการฯ จัดทำฐานข้อมูล โดย แมน มองว่า หากมีการสื่อสารบนฐานข้อมูลหรือข้อเท็จจริง จะทำให้เกิดแนวคิดหรือความเข้าใจได้ตรงกับสถานการณ์ความเป็นจริง และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค้นหาทางออกร่วมกัน มากกว่าขัดแย้งกันด้วยความคิดเห็นหรืออารมณ์ที่ปราศจากข้อเท็จจริง

เกณฑ์ชี้วัดความจน 

ในทางสากลใช้ “เส้นความยากจน” คือ รายได้ 1.9 USD ต่อวัน (ประเทศไทยมีเกณฑ์ชี้วัดจากรายได้อยู่ที่ประมาณ 32,000 บาทต่อปี) เป็นเกณฑ์ชี้วัดความยากจน โดยพิจารณาจากความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต ความจำเป็นในครัวเรือน เช่น รายได้ต่อครัวเรือน, การศึกษาของสมาชิกในครัวเรือน, สภาพที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ความจำเป็นพื้นฐานเหล่านี้ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ว่าครัวเรือนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมีลักษณะอย่างไร มีองค์ประกอบแบบไหน หรือมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ยังคงความยากจน และสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การพ้นจากความยากจน สามารถหาเลี้ยงชีพจนนำพาตนเองหลุดพ้นจากความยากจนได้

ประเทศไทยใช้ Human Development Index: HDI เป็นตัวชี้วัดความยากจน โดยมีสภาพัฒน์ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เป็นแกนหลักในการนำเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของ UNDP มาปรับใช้และจัดทำตัวชี้วัดที่ลงรายละเอียดมากขึ้นเพื่อให้ตรงกับบริบทสังคมไทย โดยตัวชี้วัดอย่าง HDI พยายามมองความยากจนของคนและครัวเรือน ผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยแบบผสมผสานหลากหลาย ไม่ใช่การศึกษาเฉพาะมิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น 

เช่น หากพิจารณาความยากจนผ่านปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือมิติด้านเศรษฐศาสตร์เพียงส่วนเดียว เราจะไม่สามารถมองเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วมีมิติทางสังคมวัฒนธรรมที่ชุมชนอาจช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเดือดร้อน หรืออาจมีที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งหากินตามธรรมชาติที่สามารถเก็บหาของป่ามาดำรงชีพได้ การมองปัจจัยที่หลากหลายนอกเหนือไปจากมิติด้านรายได้จะทำให้เราเห็นภาพความยากจนที่แท้จริง และนำไปสู่นิยามว่าคนจนคือใคร มีลักษณะอย่างไร

ความยากจน 2 รูปแบบ

  1. ความยากจนแบบสัมบูรณ์ (Absolute Property): จนมาก ๆ จนเรื้อรัง ซึ่งตัวเลขจากความยากจนรูปแบบนี้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นมาตลอด ซึ่งหมายถึงเราไม่มีคนจนที่ยากจนถึงขั้นอดตาย
  2. ความยากจนแบบสัมพัทธ์ (Relative Property): สะท้อนให้เห็นช่องว่างที่กว้างมาก ๆ ระหว่าง “คนจน” กับ “คนรวย” ซึ่งเป็นรูปแบบที่เป็นปัญหาอย่างแท้จริง และหลายประเทศให้ความสนใจโดยเฉพาะประเทศจีน (ถูกยกให้เป็นประเทศโมเดลในการศึกษาเรื่องนี้) ที่พยายามพัฒนาความยากจนรูปแบบนี้ให้หมดไป เพราะจีนไม่มีความยากจนแบบสัมบูรณ์แล้ว

จากเอกสารของ ธนาคารโลก ช่วงประมาณปี 2558 – 2559 ระบุว่าไทยสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ดีขึ้น จำนวนคนจนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศจีน ที่สามารถพัฒนาสถานการณ์ความยากจนแบบสัมบูรณ์ได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หลังปี 2560 ประเทศไทยมีรายงานระบุว่ามีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นความยากจนแบบสัมพัทธ์ คือ สภาวะที่คนรวยรวยมาก ๆ ส่วนคนจนไม่มีแม้แต่ทางออกที่จะหลุดพ้นจากความยากจน โดยยกตัวอย่างการมองความยากจนแบบสัมพัทธ์ผ่าน

  • เขตเมือง: คนที่เข้าไม่ถึงบริการหรือการพัฒนาของรัฐ ก็จะจนอยู่รอบเขตเมือง (ชานเมือง)
  • ความยากจนที่สัมพัทธ์กับสถานการณ์​ความในพื้นที่: ผู้ที่ติดอยู่ในปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ยังคงจนลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ตัวเลขโดยประมาณจากการสำรวจพื้นที่ 10 จังหวัด พบว่ามีจำนวนคนจนไม่มากในเขตที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่พบการกระจุกตัวของคนจนในพื้นที่ชายแดน
  • รายได้ผลผลิตทางการเกษตรที่ต่ำมาก: เกษตรกรขายแต่สินค้าเกษตรเบื้องต้น คือผลิตมาขายไป (ปลูกข้าว – ขายข้าว) ทำให้ยังคงยากจน

Survey Data + Register Data + HDI = BIG DATA 

หน่วยงานที่มีข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีในการจัดทำข้อมูลพยายามที่จะเอาข้อมูลจากฐานคนจนใน 2 ระบบ อย่าง Survey Data ที่ได้ข้อมูลมาจากการสำรวจของ จปฐ. (ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน) หรือข้อมูลจากหมู่บ้าน เพื่อระบุว่าใครอยู่ใต้หรือพ้นจากเส้นความยากจนและมีลักษณะอย่างไร มาซ้อนทับกับ Register Data หรือข้อมูลบัตรสวัสดิการคนจน ซึ่งจะทำให้ค้นพบ “คนจน” ที่จนทั้งในชุดข้อมูลสำรวจและชุดข้อมูลที่บุคคลระบุตัวตนเองว่ายากจน จากนั้น สภาพัฒน์จะนำข้อมูลชุดนี้ไปทำงานกับหน่วยงานราชการระดับพื้นที่ 

แมน มองว่าการมีข้อมูลชุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ข้อมูลคนจนอย่างเป็นระบบ ที่เจาะลึกลงไปถึงตัวบุคคล ซึ่งจะช่วยในการตอบคำถามว่าใครคือคนจน แต่การระบุข้อมูลคนจนรายปัจเจกเช่นนี้ยังคงมีข้ออ่อน คือ เราอาจไม่เห็นศักยภาพหรือต้นทุนในมิติอื่น ๆ ของบุคคลหรือครัวเรือน ที่อาจช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ซึ่งในทางวิชาการมองว่า “คนจน จนโดยบริบท” ทั้งบริบทครัวเรือน ชุมชน และสังคม 

ฉะนั้นโครงการ ฯ ที่ แมน ปุโรทกานนท์ กำลังทำ จึงพยายามต่อยอดจากชุดข้อมูลรายปัจเจก โดยอาศัยฐานข้อมูลที่บ่งชี้ว่าคนจนคือใคร จากนั้นโครงการฯ จึงเริ่มเข้าตรวจสอบรายละเอียดด้วยกระบวนการของแกนนำที่อยู่ในชุมชน การพูดคุยกับคนจน ทั้งคนจนเดิมที่อาจตกหล่นไปจากชุดข้อมูล Big Data และคนจนใหม่จากสถานการณ์โควิด-19 โดยเพิ่มมิติการค้นหา ศักยภาพ 5 ด้านของบุคคล ทั้งในบริบทครัวเรือนและชุมชน ที่จะเป็นปัจจัยเสริมการวิเคราะห์ว่าศักยภาพไหน ต้นทุนมิติใด ที่จะช่วยให้คนจนหลุดพ้นจากภาวะความยากจนได้ โดยเชื่อมโยงกับระบบและโครงสร้างบางอย่างของรัฐที่ดูมีความเป็นไปได้ในการช่วยสนับสนุนการหลุดพ้นตลอดทั้งกระบวนการ

ประเภทความยากจน

  1. คนจนที่ถูกกับดัก ยากที่จะพ้นจากความยากจนหรือทำให้บุคคลนั้นมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
  2. คนจนที่อยู่ในสถานการณ์ทั่วไป อันได้แก่สถานการณ์ครอบครัวที่ไม่เอื้อให้เกิดการหลุดพ้น พัฒนา หรือต่อยอด
  3. คนจน (ใหม่) อันเนื่องมาจากสภาวะฉับพลัน เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ภัยพิบัติ หรือสถานการณ์โควิด เป็นต้น คนจนประเภทนี้มาจาก คนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงความยากจน โดยเมื่อมีเหตุปัจจัยฉับพลันมากระทบทำให้บุคคลที่อยู่ในภาวะเสี่ยงกลายมาเป็นคนจน 

ความมุ่งหวังของโครงการฯ ต่อการแก้ไขปัญหาคนจน 3 กลุ่ม

  1. ความมุ่งหวังต่อคนจนประเภทติดกับดัก คือ การ Matching บริการด้านสุขภาพของภาครัฐ ที่อยู่อาศัย การศึกษา กับความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เข้าถึงและตรงตามความต้องการ)
  2. ความมุ่งหวังต่อคนจนประเภทที่ตกอยู่ในสถานการณ์ทั่วไป คือ การมุ่งหวังให้เกิดทักษะการเป็นผู้ประกอบการ เพราะมองว่าหากยังคงอยู่ในฐานะผู้ผลิตและยังต้องขายสินค้าแบบเดิม ๆ ทำให้รายได้ถูกจำกัด
  3. สำหรับความมุ่งหวังต่อกลุ่มคนจนใหม่ เบื้องต้นต้องการเพิ่มข้อมูลคนจนประเภทนี้เข้าไปในฐานข้อมูลคนจนเดิมที่มีเฉพาะข้อมูลคนจนประเภทที่ 1 และ 2 (ที่ได้มาจากการสำรวจซ้อนทับกับการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการคนจน) และมองว่าหากต้องการช่วยคนจนประเภทที่ 3 ให้หลุดพ้นจากความยากจนอาจต้องออกแบบวิธีการที่แตกต่างไปจากคนจนประเภทที่ 1 และ 2 โดยรัฐต้องวิเคราะห์บริบทปัญหาเชิงลึกเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลและครัวเรือนได้อย่างตรงจุด

ตัวแบบของจีนและตัวแบบจาก Nobel Prize กับการประยุกต์ใช้ในโครงการฯ

ตัวแบบหลักที่ใช้คือ “ตัวแบบประเทศจีน” ที่ทำเรื่องแก้ไขความยากจนด้วยการมีวาระและนโยบายระดับประเทศ ถ่ายทอดไปสู่ระดับมณฑล จังหวัด ชุมชน ทุกส่วนร่วมมือกันหมด เช่น ระดับมณฑลเข้าร่วมวางแผนการทำให้เกิดตลาดเพื่อสนับสนุนสินค้าที่จะผลิต ออกแบบสินค้าที่ควรผลิต และจัดทำแบบแผนการผลิตที่ชัดเจน โดยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายวิชาการศึกษาลงลึกสัมผัสวิถีชีวิตของคนจน ทำให้เราเห็นสายพานการแก้ไขปัญหาคนจนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งประเทศไทยเลือกเอาบางส่วนที่น่าสนใจและเหมาะกับบริบทคนจนในบางพื้นที่มาปรับใช้ เช่น การพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น

“ตัวแบบ Nobel Prize” มองว่าการพัฒนาคนยากจนโดยศึกษาเรื่องสุขภาพ การศึกษา รายได้ เป็นประเด็นที่ใหญ่และกว้างเกินไป ควรศึกษาเจาะลึกในภาพย่อยด้วยกระบวนการวิจัยเชิงทดลอง โดยเราเปิดโครงการนำร่องในพื้นที่ที่จะทดลองบางประเด็นที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบสุดกระบวน เพื่อนำข้อเสนอที่ได้มาเป็นนโยบายในระดับพื้นที่ (นโยบาย/แผนจังหวัด) 

การทำงานระดับพื้นที่ สู่การกำหนดนโยบายระดับชาติ ต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน

หากมองนโยบายในฐานะที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติจริง มีข้อเสนอ คือ การทำงานวิจัยในระดับพื้นที่ ให้เกิดความชัดเจน โดยใช้งบประมาณจังหวัดในการจัดสำรวจพื้นที่ 10 จังหวัด (7 จังหวัดในภาคอีสาน, ปัตตานี, แม่ฮ่องสอน, ชัยนาท) ซึ่งมีฐานคนจนอยู่ประมาณ 130,000 กว่าคน ทีมวิจัยต้องตรวจสอบลงลึกไปว่ามีทั้งหมดกี่ครัวเรือน หรือมีจำนวนคนจนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันวิชาการที่อยู่ในจังหวัดนั้น ๆ กับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อร่วมค้นหาศักยภาพของครัวเรือนคนจนที่อาจนำไปสู่ทางออกของความยากจน ซึ่งอาจ ต่อยอดไปสู่นโยบายระดับชาติ ผ่านการพิจารณาจากผลการวิจัย ว่าจะมีข้อเสนอเพื่อปรับปรุงแนวทางการทำงานคนจนอย่างไร

ความคืบหน้าของโครงการฯ 10 จังหวัด

ได้มีการเข้าไปจัดตั้งระบบของสถาบันที่จะทำงานในพื้นที่จังหวัด และเริ่มเข้าไปปรึกษากับผู้ว่าฯ ด้วยความพยายามที่จะให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการกับสถาบันวิชาการที่ทำงานวิจัย บนฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ตั้งแต่นิยามที่ขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละพื้นที่ เกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกัน การทำฐานข้อมูลที่เพิ่มกลุ่มคนจนเข้ามาใหม่ (เช่นจากสถานการณ์โควิด) เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน โดยอาจมีตั้งคณะทำงานร่วมกัน 

ซึ่งหลังจากนี้จะทำให้เห็นข้อมูลขนาดใหญ่ในแต่ละพื้นที่ ว่าคนจนมีศักยภาพในด้านไหนบ้าง เช่น ในบางพื้นที่มีทักษะความเป็นช่าง หรือคนที่มาจากมาเลเซียและอยู่ในปัตตานีมีความสามารถในการทำอาหาร ซึ่งเราต้องมาต่อยอดทักษะเหล่านี้ให้เกิดมูลค่าในสถานการณ์ที่บุคคลหรือครัวเรือนนั้นเผชิญอยู่ในพื้นที่ (สามารถใช้ทักษะที่มีในพื้นที่อยู่อาศัยได้) ซึ่งหลังจากได้ผลการศึกษาวิจัยก็จะนำประเด็นความรู้ที่ได้จากแต่ละพื้นที่ไปแลกเปลี่ยน/เทียบเคียงข้ามพื้นที่ เพื่อต่อยอดเป็นนโยบายในระดับพื้นที่จังหวัด

เป้าหมายของโครงการฯ ในการใช้ “ระบบ” มาวิเคราะห์หรือแก้ไขปัญหาความยากจน 

เขาบอกว่าการมีฐานข้อมูลคนจนที่เป็นหลักแหล่ง สามารถเข้าใช้งานได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น คือเป้าหมายของการใช้ระบบมาวิเคราะห์หรือแก้ไขปัญหาความยากจน และมุ่งหวังว่าจะสามารถใช้ฐานศักยภาพของบุคคล ครัวเรือน และชุมชน ที่ค้นพบ มาแก้ไขปัญหาความยากจน ทั้งในระดับพื้นที่และนโยบายของประเทศ โดยประสานความร่วมมือกับโครงสร้างการทำงานของรัฐที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดระบบโครงสร้างที่ช่วยให้คนจนหลุดพ้นจากภาวะยากจนได้อย่างแท้จริง


ดูเพิ่ม

อว. ชู แพลตฟอร์มใหม่ใช้วิจัยและนวัตกรรมแก้จนเบ็ดเสร็จ แม่นยำ เผยลงพื้นที่ปูพรม 8 เดือน ใน 10 จังหวัดยากจนที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active