เสียงเงียบของคนจนเมือง | สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ใครคือคนจนเมืองเชียงใหม่? จุดเริ่มต้นของงานวิจัย “พลวัตคนจนและชุมชนเมืองในสังคมที่เปลี่ยนแปลง: กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่” ของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

และทำให้พบว่า การนิยาม “ความจน” เป็นเรื่องยาก ไม่สามารถวัดได้แค่จำนวนเงินที่มี บางคนเรียกได้ว่าพอมีพอกิน ไม่ได้อดอยาก แต่ต้องทำงานแบบขูดรีดตัวเอง คนจนเมืองหลายคน จึงไม่ได้วางตนเองอยู่ในระดับอดอยาก ไม่มีข้าวกิน 

แต่ “คนเกือบจน” มีจำนวนเยอะขึ้น เพราะเส้นความจนของประเทศไทยถูกกำหนดไว้ต่ำมาก คนจำนวนมากจึงพยายามดิ้นรนโดนขูดรีดในการทำงานอย่างหนัก ต้องใช้ชีวิตแบบลำบาก “เส้นความยากจนของรัฐ” จึงไม่สามารถนำมาอธิบายความยากลำบากของคนได้

นี่คือบทสนทนาที่มาจากสิ่งที่นักวิชาการด้านกฎหมายคนนี้ ค้นพบระหว่างการทำงานวิจัยฯ ภายใต้โครงการใหญ่ “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กําลังเปลี่ยนแปลง”

คนจนเมืองเชียงใหม่

งานศึกษานี้เริ่มจากการดูว่า ใครคือคนจนเมืองเชียงใหม่ ? แล้วพบว่าแรงงานชาติพันธุ์ในเชียงใหม่จำนวนมากเป็น คนไทใหญ่ จึงได้เลือกพื้นที่วัดโป่งน้อยที่มีชุมชนแรงงานไทใหญ่มาอาศัยในลักษณะเช่าบ้าน

ในงานศึกษาเรื่องคนจนเมืองที่เชียงใหม่ ได้แบ่งระดับการศึกษาออกเป็น 2 แบบ เริ่มจากการพิจารณาจากชุมชน โดยคณะวิจัยฯ สามารถแบ่งชุมชนในเชียงใหม่ได้อีกสองแบบ คือ 1. ชุมชนแออัด และ 2. ชุมชนที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ส่วนพื้นที่ของศึกษา คือ ชุมชนหัวฝาย จ.เชียงใหม่ นอกจากการมองผ่านชุมชนแล้ว อีกรูปแบบ คือ การมองผ่านอาชีพของคนจนเมืองเชียงใหม่เช่น คนขับรถตุ๊กตุ๊ก คนขับรถธุรกิจแพลตฟอร์ม เช่น คนขับ Grab พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน เมื่อได้พิจารณาผ่านอาชีพ ทำให้เข้าใจแรงงานในเมืองมากขึ้น 

รศ.สมชาย กล่าวถึงภาพรวมของงานวิจัยเกี่ยวกับคนจนเมือง ว่าที่ผ่านมามีค่อนข้างน้อย เป็นในลักษณะของงานศึกษาเมืองเสียมากกว่า เป็นงานที่ทำเพื่อหาแนวทางการพัฒนาเมืองให้เป็นที่น่าอยู่มากขึ้น ซึ่งเป็นการมองผ่านมุมมองแบบชนชั้นกลาง ไม่ได้มุ่งเข้าใจคนจนเมืองหรือคนทุกระดับของเมือง

ความพิเศษของสนามศึกษาที่เชียงใหม่ คือ มีความหลากหลายของคนจน มีกลุ่มแรงงานชาติพันธุ์ไทใหญ่ และกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสัญชาติไทย ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในทางกฎหมายของคนไทยได้ ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 พวกเขาก็ไม่สามารถรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ของรัฐไทยได้ พวกเขาไม่ได้อยู่ในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ของรัฐบาล เพราะพวกเขาไม่ใช่ “เรา” รวมถึงข้อมูลในแบบสอบถามยังบอกว่าคนไทใหญ่ไม่มีหนี้ในระบบเลย เพราะพวกเขาไม่สามารถกู้ยืมเงินได้ เนื่องจากเงื่อนไขของการกู้ยืม คือ ต้องเป็นคนไทย ในชุมชนหัวฝายที่ไปศึกษาก็เห็นได้ว่า มีทั้งคนที่เป็นหนี้ คือ คนไทย ส่วนคนที่ไม่เป็นหนี้เลย คือ แรงงานไทใหญ่

อาชีพของคนจนเมือง

อาชีพที่พวกเขาทำ เป็นอาชีพที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูง และค่าตอบแทนไม่มาก ส่วนลักษณะของงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของเมืองมีสองแบบ คือ เพิ่มเวลางานขึ้น เช่น พบว่ามีผู้ขับจักรยานยนต์ส่งอาหารกับแอปพลิเคชัน เช่น Grab อยู่แล้ว ก็เพิ่มเวลางานให้ยาวขึ้น กับอีกแบบ คือ มีแรงงานที่ไม่ได้ทำงานเดียว เพราะหากไม่เลือกทั้งสองตัวเลือก รายได้จะไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต 

อีกข้อสังเกตหนึ่งของงานที่คนจนเมืองทำ คือ เป็นงานที่มีความมั่นคงต่ำ เช่น งานขับมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารของแอปพลิเคชัน Grab หรือ Food Panda ความมั่นคงในที่นี้ก็หมายถึง งานเหล่านี้ต้องเผชิญความเสี่ยงบนท้องถนนที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุ โดยที่ระบบประกันสุขภาพอาจไม่คุ้มครองพวกเขา ประกอบกับการแข่งขันของเพื่อนร่วมอาชีพเองมีค่อนข้างสูง มีการแย่งงาน แย่งลูกค้า 

เชียงใหม่ เป็นเมืองที่พัฒนาบนฐานของเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เหตุผลที่เมืองเชียงใหม่ได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงการระบาดของ COVID-19 เพราะเป็นจังหวัดที่ผูกขาดกับท่องเที่ยวสูงมาก มีคนทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ขายของในตลาดไนท์บาร์ซา ซึ่งเป็นตลาดที่กลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลัก

ชุมชนไทใหญ่ กับเมืองที่เปลี่ยนแปลง

คนไทใหญ่ ที่เข้ามาในเชียงใหม่ในลักษณะของครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ย้ายถิ่นฐานมาจากเมียนมากันทั้งครอบครัว ลักษณะการอยู่อาศัยของชุมชนนี้ มีทั้งหอพัก บ้านเช่า และห้องแถว ด้วยธุรกิจท่องเที่ยวในเชียงใหม่ที่กำลังเติบโต งานพนักงานเสิร์ฟ และแรงงานก่อสร้างก็ต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก จึงเป็นช่องทางให้พวกเขาได้มาทำงาน ประกอบกับชุมชนหัวฝาย เป็นแหล่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับที่ทำงานของแรงงานหลายแห่ง จึงอยู่กันเป็นชุมชน เมื่อมีคนมาทำงานแล้วได้รายได้ดี จึงมีการแนะนำต่อกันเป็นทอด ๆ นำพาคนไทใหญ่จำนวนมากเข้ามาอาศัยและทำงานในเชียงใหม่

ด้านการศึกษาของลูกหลานแรงงาน ยังมีโรงเรียนบางโรงเรียน เช่น โรงเรียนบ้านโป่งน้อย หรือ โรงเรียนวัดห้วยทราย ที่เปิดรับลูกหลานของแรงงานข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์เข้าเรียนได้ โดยเป็นที่รู้กันว่าหากจบวุฒิ ม.3  ของโรงเรียนนี้ได้ ก็จะสามารถทำงานบางที่ในเชียงใหม่ได้ แต่หากอยากศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีกลับเป็นเรื่องที่ยาก เพราะพวกเขาต้องเข้าเรียนในรูปแบบของนักศึกษาต่างชาติ ที่มีค่าธรรมเนียมของนักศึกษาต่างชาติเพิ่มไปจากค่าเทอมอีก 

ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย

อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นผลกระทบจากการพัฒนาเมืองของผู้ที่มีรายได้น้อย คือ ถูกไล่รื้อชุมชน เป็นในลักษณะของการค่อย ๆ รื้อบ้านทีละ 5 – 10 หลังไปเรื่อย ๆ เพื่อนำพื้นที่ไปทำเป็นคอนโดมิเนียม กับอีกลักษณะ คือ โครงการฟื้นฟูคลองแม่ข่า เป็นโครงการในพระราชดำริฯ ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ แต่ต้องรื้อบ้านออกไปเช่นเดียวกัน กรณีนี้จะพิเศษตรงที่ผู้ดำเนินงานเป็นทหาร เรื่องนี้จึงถูกทำให้เงียบ ซึ่งปัญหาที่ตามมา คือ การไปหาที่อยู่ใหม่เป็นไปได้ค่อนข้างยาก อย่างช่วงที่มีการไล่ที่ในช่วงการระบาดของ COVID-19 บ้านเช่าหลายแห่งก็ไม่เปิดรับผู้อาศัยใหม่ เพราะกลัวเกิดการแพร่เชื้อ กลายเป็นว่าผู้ที่ถูกไล่ที่บางส่วนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน 

เรื่องนี้ก็นำไปสู่การตระหนักถึงสิทธิที่อยู่อาศัยของคนที่อยู่ในเมืองที่ต้องครอบคลุมไปถึงคนทุกระดับ โดยเฉพาะคนชายขอบของเมือง อาจแก้โดยการการหาบ้านฉุกเฉินให้คนที่ถูกไล่ที่มาอาศัย หาบ้านเช่าราคาถูกให้กับครอบครัว ในเชียงใหม่ตอนนี้แถววัดหัวฝายที่มีบ้านพักที่ดูแลโดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ก็ไม่เพียงพอต่อจำนวนคนที่ต้องการที่อยู่อาศัย

เมื่อเมืองขับเคลื่อนไปด้วยเศรษฐกิจจนเติบโต หลายคนมองข้ามว่า คนจน คือ กลุ่มสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในฐานะแรงงาน ร้านอาหาร ธุรกิจบริการต่าง ๆ มันจำเป็นต้องมีคนจนไปทำงาน แต่ในขณะนี้สิ่งที่เกิด คือ เมื่อที่ดินมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่ม กลับนำไปสู่การขับไล่คนจนที่อาศัยในเมืองออกไป เช่น ผลักไปยังบ้านเอื้ออาทร ที่ตั้งอยู่บริเวณชานเมือง ห่างไกลจากสถานที่ทำงาน 

มีช่างเย็บผ้าที่อาศัยอยู่บริเวณหลังกำแพงวัดเล่าให้ฟังว่า ความฝันของเขา คือ การมีบ้าน เขาเอารูปบ้านให้อาจารย์ดู ส่วนคนไทใหญ่ก็ฝันว่าอยากมีบ้านอยู่ในไทยสักหลัง รศ.สมชาย มองว่ารัฐควรแก้ปัญหาจากความเข้าใจเดิมเรื่องของคนจน ว่าเป็นกลุ่มคนที่ต้องไปช่วยเหลือในทางสังคมสงเคราะห์ ควรต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า พวกเขาไม่ใช่กลุ่มที่ต้องช่วยเหลือ แต่ต้องมอบสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะคนที่อยู่ในเมือง เป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องดูแล

ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนจนเมืองเชียงใหม่ แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับทุกเมืองเมื่อมีการพัฒนาเมืองเพื่อสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 

อนาคตของคนจนเมืองเชียงใหม่

ในตอนที่รัฐกำลังต้องการให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองมรดกวัฒนธรรม เป็นพื้นที่สมัยใหม่ มีทางจักรยาน สวนสาธารณะหรือพิพิธภัณฑ์ แน่นอนว่าที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่ดี แต่พอมีการพูดถึงการพัฒนาเมืองแบบนี้ คนบางกลุ่มก็มักถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จนกลายเป็นว่าเมืองอาจมีสภาพแวดล้อมดี แต่คนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ สิ่งที่อาจเห็นในอนาคต หากการพัฒนาเมืองยังเป็นไปในทิศทางนี้ ก็จะปรากฏในลักษณะเดียวกับถนนนิมมานเหนมินทร์ ที่มีคอนโดมิเนียมราคาหลักล้านขึ้นอยู่เรียงรายกับสภาพแวดล้อมที่ดี กลายเป็นว่าผู้ที่อยู่อาศัยในเชียงใหม่ได้ต้องเป็นคนที่มีฐานะร่ำรวย ไม่ใช่คนในพื้นที่ คนจนเมืองจะอยู่ยากขึ้น เพราะถูกขูดรีดมากขึ้นกว่าเดิม 

ถ้าการท่องเที่ยวในเชียงใหม่ยังทรุดตัวลงแบบนี้ต่อไป และการเยียวยาจากภาครัฐยังไร้ประสิทธิภาพ หลังจากนี้อาชญากรรมแบบเล็กน้อย เช่น การขโมยของ อาจมีจำนวนมากขึ้น เพราะในช่วงนี้การแจกอาหารให้คนไร้บ้าน คนจนก็ลดลงกว่าช่วงแรกของช่วงกักตัวอยู่บ้านมาก เพราะทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ระบาดของ COVID-19 เหมือนกันหมด

เหตุผลหนึ่งที่ปัญหาเหล่านี้ยังเกิดขึ้นอยู่ เพราะคนจนในไทยไม่ลุกขึ้นผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย หากคนจนต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้ ส่วนหนึ่งเพราะการรวมของคนจนเมืองในระดับอาชีพเป็นไปได้ยาก ด้วยเงื่อนไขในการทำงานทำให้คนในชุมชนแตกกระจายกันออกไปตามหน้าที่การงาน คือ ทุกคนแยกย้ายกันไปประกอบหลากหลายอาชีพ ไปขายของ ทำครัว ขับรถตุ๊กตุ๊ก เป็นพนักงานเสิร์ฟ สร้างความเป็นปัจเจกบุคคลสูง ทำให้คนในชุมชนเดียวกันไม่มีวิถีชีวิตร่วม นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนที่อยู่ในเมืองสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนไปตามการพัฒนาเศรษฐกิจ

แรงงานชาติพันธุ์จำนวนหนึ่งที่ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยและมาทำงานในเชียงใหม่ วางแผนการอยู่แบบระยะยาวหรือถาวร เนื่องด้วยคนเหล่านี้มองว่าการอยู่ที่บ้านเกิดทำการเกษตรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเลี้ยงชีวิตพวกเขาและครอบครัวได้ จึงย้ายถิ่นฐานมา

ในอนาคต ลูกหลานของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์รุ่นนี้ จะเข้าสู่ระบบของการทำงาน แต่กลุ่มนี้แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ตรงที่ พวกเขาไม่มีทักษะในด้านเกษตรกรรม ทำให้พวกเขาไม่สามารถกลับไปทำการเกษตรยังบ้านเกิดได้ พวกเขาก็จำเป็นต้องเป็นแรงงานในเชียงใหม่ไปเรื่อย ๆ หากระบบการจัดการที่อยู่อาศัยในเมืองยังอยู่ในลักษณะเดิม ก็จะไม่มีที่ให้คนจนเมืองกลุ่มชาติพันธุ์นี้ได้

งานของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุที่เป็นคนจนเมืองเชียงใหม่ กลุ่มนี้ใช้เวลาในชุมชนมากกว่าคนในวัยอื่นที่ต้องไปโรงเรียนหรือไปทำงานข้างนอกชุมชน ชีวิตประจำวันของพวกเขาอาจเป็นงานเสริมเล็ก ๆ เช่น พับถุงกระดาษ เก็บของเก่าไปขาย พวกเขาเป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพิงเงินช่วยเหลือจากรัฐ จากเบี้ยคนชรา บัตรสวัสดิการของรัฐ เป็นรายได้หลักของพวกเขาทุกเดือน 

อีกทางออกของผู้สูงอายุที่เป็นคนไทย คือ การไปประกอบอาชีพคนขับรถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูง คนส่วนใหญ่ขอแค่รู้ทางและขับรถได้ ก็ไปสอบใบขับขี่สาธารณะ หลังจากนั้นก็สามารถขับรถตุ๊กตุ๊กได้ แต่เมื่ออยู่ในช่วงที่การท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักตั้งแต่ช่วงที่มีไฟป่าเมื่อต้นปี 2563 และต่อเนื่องด้วยการระบาดของโรค COVID-19 คนขับรถตุ๊กตุ๊กที่พึ่งพิงกับการท่องเที่ยวก็ประสบกับความลำบากเพราะขาดรายได้ อาจเรียกว่าคนขับรถตุ๊กตุ๊กในเชียงใหม่เกิดขึ้นมาเพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเลยเสียด้วยซ้ำ 

ปัญหาการนิยามความยากจน

การนิยามความจนเป็นเรื่องที่ยาก ไม่สามารถวัดได้แค่จำนวนเงินที่มี อย่างคนจนเมืองเชียงใหม่จากที่ไปสำรวจมา พบว่าพวกเขาก็เรียกได้ว่าพอมีพอกิน ไม่ได้อดอยาก แต่ต้องทำงานแบบขูดรีดตัวเอง คนจนเมืองหลายคนไม่ได้วางตนเองอยู่ในระดับอดอยาก ไม่มีข้าวกิน แต่ก็ให้คำอธิบายว่าเป็นความลำบากในการใช้ชีวิต คือ คนยากจนอาจจะไม่เยอะ แต่ “คนเกือบจน” มีจำนวนเยอะขึ้นมาก เพราะเส้นความจนของประเทศไทยถูกกำหนดไว้ต่ำมาก

คนจำนวนมากจึงพยายามดิ้นรนโดนขูดรีดในการทำงานอย่างหนัก อย่างคนจนเมืองที่เรียกกัน พวกนี้ก็ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในคนจนตามเส้นแบ่งความจนของรัฐที่กำหนดไว้ที่ 2,000 บาทต่อเดือน กับรายได้ของพวกเขาที่อยู่ประมาณ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน แต่พวกเขาก็อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าเกือบจน เพราะใช้ชีวิตแบบลำบาก ต้องทำงานอย่างหนัก จะเห็นได้ว่าเส้นความยากจนของรัฐไม่สามารถนำมาอธิบายความยากลำบากของคนได้ 

แรงงานแพลตฟอร์ม

กลุ่มแรงงานแพลตฟอร์ม เช่น คนขับมอเตอร์ไซค์ของแอปพลิเคชัน Grab หรือ Food panda มีรายได้ค่อนข้างดี คือ สูงกว่ากลุ่มคนขับรถตุ๊กตุ๊ก แต่จุดร่วมของพวกเขาที่พบมาในการศึกษา คือ พวกเขาเป็นหนี้มากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ต้องผ่อนบ้าน รถยนต์ จ่ายเงินประกัน พวกเขากล้าที่จะซื้อสิ่งของที่ราคาสูง เทียบกับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่มีรายได้น้อยกว่า แต่ไม่เป็นหนี้เลย

มองคนจนเมืองผ่านมิติทางกฎหมาย

หากมองคนจนเมืองด้วยมิติของกฎหมาย คือ การมองเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของคน เรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก คือ การเปลี่ยนความเข้าใจของผู้คนที่คิดว่า ที่ดินที่อยู่กลางเมือง ควรจะต้องมีราคาสูง คนที่อยู่ได้ก็ต้องมีฐานะร่ำรวย ด้านนี้เป็นการมองเรื่องความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจนลืมมองถึง สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เรื่องที่อยู่อาศัย คือ รัฐควรให้คนจนเมืองร่วมมีโอกาสได้ออกแบบเมืองสำหรับพวกเขาด้วย เหมือนกับที่ออกแบบทางจักรยานให้คนอีกกลุ่ม 

ถ้ามองว่าการพัฒนาของเชียงใหม่จะเป็นไปตามกรุงเทพฯ ก็จะเห็นได้ว่าคนตั้งแต่ชนชั้นกลางลงมาถูกผลักให้ไปอยู่นอกเมือง ในเชียงใหม่ พื้นที่ชุมชนเดิมที่ตั้งใจกลางเมืองทุกวันนี้กลายเป็น Guest house ผับ บาร์ ก็เป็นการบีบคนในชุมชนให้ย้ายออกไปเพราะทนเสียงรบกวนไม่ไหว ประกอบกับตึกใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นบดบังบ้านพวกเขาไปหมด ต้องย้ายไปอยู่รอบนอกเมือง ค่าเช่าของบ้านเช่าราคาถูกของแรงงานในชุมชนก็เพิ่มขึ้นไปตามมูลค่าทางเศรษฐกิจของที่ดิน ทั้งหมดนี้ มันมาจากการพัฒนาเมืองที่มองข้ามสิทธิของผู้คน กรณีที่มี Guest house หรือ Boutique hotel เกิดขึ้นเยอะ ก็เนื่องด้วยในบางพื้นที่ห้ามสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ กลายเป็นว่าเกิดโรงแรมขนาดเล็กขึ้นมาจำนวนมาก

การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง

การแก้ไขปัญหาคนจนเมืองไม่มีที่อยู่อาศัย คงไม่สามารถใช้อำนาจหรือมุมมองทางกฎหมายได้อย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความเข้มแข็งของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการเปลี่ยนวัฒนธรรมและความเชื่อของคนในสังคม

องค์กรปกครองระดับท้องถิ่น เทศบาล มีผลต่อการพัฒนาชุมชนอย่างมากในด้านของการช่วยเหลือในวิกฤตต่าง ๆ องค์กรระดับท้องถิ่นสามารถเข้าถึงชาวบ้านได้มากกว่ารัฐส่วนกลาง เช่น ในเชียงใหม่มีหน่วยเคลื่อนที่ไปดูแลเรื่องสุขภาพ ปัญหาความขัดแย้ง มีคลินิกกฎหมายเคลื่อนที่ พวกเขารู้ว่าบริเวณไหนต้องการความช่วยเหลือมากเป็นพิเศษกว่าส่วนกลาง วิธีการเหล่านี้เป็นแนวทางที่รัฐได้สัมพันธ์กับผู้คนในระดับท้องถิ่น 

เรื่องที่น่าสนใจ คือ เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีนักวิชาการ NGOs ศิลปิน นักเคลื่อนไหวเยอะมาก มีกิจกรรมเกี่ยวกับเมืองมากมาย แต่เป้าหมายของงานเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ และที่ภาคประชาสังคมไม่แข็งแรงพอ หรือไม่สามารถแก้บางปัญหาได้ก็มาจากการที่รัฐราชการแข็งแรงขึ้นในเชียงใหม่ มี “ความกร่าง” ของรัฐราชการ กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีบ้านผู้พิพากษาที่เชิงดอยสุเทพ 

สาเหตุที่ภาครัฐแก้ปัญหาไม่ได้ ก็มาจากการบริหารงบประมาณที่ผิดพลาด โดยเพิ่มอำนาจให้กับราชการส่วนภูมิภาค เพิ่มงบประมาณถูกเทไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด อำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง เทศบาลจึงไม่สามารถแก้ไขอะไรมากไม่ได้ การเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร

อย่างไรก็ตาม ก็มีภาคประชาสังคมที่เกิดจากการจับมือกันของกลุ่มคนที่เป็นส่วนน้อยของสังคมที่พยายามผลักดันประเด็นต่าง ๆ ตลาดเกษตรอินทรีย์ของชาวบ้าน สภาลมหายใจเชียงใหม่ ที่ขับเคลื่อนเรื่องฝุ่นควัน หรือศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ “บ้านเตื่อมฝัน” (บ้านเติมฝัน) แต่ก็ยังไม่สามารถมาต่อสู้กับปัญหาระดับใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ได้ เช่น ปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า หรือผลกระทบของ COVID-19 ลำพังการร่วมมือของภาคประชาสังคมไม่เพียงพอ มีความก้าวหน้าในเชิงรณรงค์ แต่ไม่สามารถผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ที่เป็นรูปธรรมได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ อาศัยผู้ว่าราชการจังหวัดที่ต้องวางแผนให้เชียงใหม่ ว่าจะจัดการกับปัญหาแต่ละปัญหาอย่างไร จะทำให้ประชาชนอยู่รอดกับวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคระบาดที่อาจต้องอยู่ปีอีกปีหรือสองปีอย่างไร

เห็นได้ว่าปัญหาที่ได้กล่าวกันมาข้างต้นเรื่อง การผูกขาดกับการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงโรคระบาด ก็ไม่มีทั้งภาคประชาสังคมหรือภาครัฐกล้าออกมาจุดประเด็นว่า เชียงใหม่ไม่สามารถพึ่งพิงการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แล้วในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจก็เพิ่มโอกาสให้คนจนกลายเป็นคนไร้บ้านได้มากขึ้นหากไม่มีการแก้ไขกับสิ่งที่เป็นอยู่

สิ่งที่พบในระหว่างทางของการศึกษา 

คนจนเมืองในแต่ละเมืองที่ศึกษามีความแตกต่างกัน อย่างเชียงใหม่ก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เด่นชัดกว่าเมืองอื่น สิ่งที่อาจเป็นข้อเสนอในตอนนี้ คืออยากให้คืนเมืองให้คนทุกคนอย่างเท่าเทียม ส่วนคนจนเชียงใหม่ ในตอนนี้พวกเขาไม่มีเสียงในการพัฒนาเมืองเลย แนวทางตอนนี้อยู่ภายใต้การกำกับของราชการกับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองการท่องเที่ยวในฐานะเมืองมรดกโลก ไม่มีพื้นที่เสียงของคนจนเมือง คนในเมืองกำลังละเลยกับสิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญมาเป็นเวลานาน เมืองทำให้คนกลุ่มนี้ต้องอยู่ในสถานะที่ยากลำบาก 

ช่วงที่ได้ศึกษาคนจนในระดับชุมชน อาชีพ กลุ่มชาติพันธุ์ พบว่า เรื่องเหล่านี้หากสามารถทำให้เป็นเรื่องสาธารณะได้ อาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนความเข้าใจผิดหลายอย่างในสังคมได้ เช่น คนขับมอเตอร์ไซค์กับธุรกิจแพลตฟอร์มที่คนเข้าใจว่ามีรายได้สูง แต่จริง ๆ แล้วก็เป็นแค่ในระยะสั้น ประกอบกับความไม่มั่นคงมีสูงมาก

ระหว่างทางของการทำความวิจัยเรื่องคนจนเมือง ก็ได้เห็นปัญหาอื่นพ่วงไปด้วย อย่างปัญหาของนโยบายรัฐที่ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือคนจนได้ หรือเรื่องที่เราไม่มีทางเจอชาวบ้าน คนจนในเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่เลย ไม่มีป้ายห้ามว่า ห้ามคนจนเข้า แต่พวกเขาไม่เข้าห้างสรรพสินค้า เพราะมีสำนึกว่ามันไม่ใช่ที่ของพวกเขา จึงเลือกไปเดินตลาด 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active