ก้าวต่อไปหลัง Pride Month…เมื่อรัฐยอมรับ สังคมโอบกอด

Pride Parade

หากมองย้อนกลับไปที่ประเทศไทยในทศวรรษก่อน การที่ธงสีรุ้งสักผืนจะโบกสะบัดท่ามกลางสาธารณชน ต้องแลกมาด้วยการต่อสู้ ทั้งจากอคติ ค่านิยมของสังคม และมายาคติแบบเหมารวม บางเหตุการณ์มีความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งทางตรง – ทางอ้อม

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างน้อยสองเหตุการณ์ใน จ.เชียงใหม่ ทั้ง เสาร์ซาวเอ็ด ที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งใช้ความรุนแรงยับยั้งการจัดงานพาเหรดเกย์ไพรด์เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2552 และอีกครั้งในงานไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่ เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่กีดกันไม่ให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าร่วม

เหล่านี้ยิ่งกดทับและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ไม่ได้ลดทอนความพยายามของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ หากแต่ยิ่งเป็นแรงผลักให้ต้องเดินหน้าอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจและยกระดับการโอบรับความหลากหลายไปสู่ระดับโครงสร้างของรัฐมากยิ่งขึ้น

กว่าธงสีรุ้งจะโบกสะบัด ท่ามกลางมหาชนในทุก ๆ Pride Month หรือ มิถุนายน แห่งความภาคภูมิใจ ต้องใช้เวลายาวนานเกือบสองทศวรรษ

แล้วใน ‘วันนี้ เดือนนี้’ ที่ดูเหมือนว่าสังคมเริ่มมีการโอบรับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายผ่านการร่วมเฉลิมฉลองในขบวนพาเหรด บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024 และอีกหลายกิจกรรมในจังหวัดต่าง ๆ หรือแม้แต่ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภา วาระ 2-3 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ยังมีบางอย่างที่อาจจะยังไม่ได้ก้าวตามไปด้วยหรือไม่?

The Active ชวนคุย ‘ศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์’ คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และอดีตกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ถึงอีกมิติกับการมีอยู่ของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายในเดือนไพรด์ โดยความเสมอภาคที่เรียกร้องกันมาหลายทศวรรษของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายเหล่านี้ได้รับการยอมรับหรือมีความก้าวหน้าอย่างแท้จริงแล้วหรือยัง ?

นงเยาว์ เนาวรัตน์
ศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์

มี พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม = คนในสังคมยอมรับ ?

“ถ้าให้อาจารย์มองปรากฏการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ จากที่ทุก ๆ กลุ่มเคยปฏิเสธ

ขณะนี้ได้กลับมาโอบกอดและให้การยอมรับในความหมายของพวกเขา

ด้วยสิ่งนี้เอง เราอาจจะตีความได้ว่า นี่คือการยอมรับและการเปิดกว้างให้กับกลุ่ม LGBTQIAN+”

ศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์

ความเห็นของ ศ.นงเยาว์ มองถึงการเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน ในเรื่องการยอมรับของคนในสังคมที่มีต่อกลุ่ม LGBTQIAN+ และความคืบหน้าทั้งทางกฎหมายที่ตอนนี้ได้มีการผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แล้ว รวมถึงกระแสสังคมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับการยอมรับของคนในสังคม โดยครั้งนี้มี “ภาคีหุ้นส่วน” ร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกับกลุ่ม LGBTQIAN+ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม ทั้งกลุ่มสตรี กลุ่มแรงงาน และกลุ่มเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่เข้ามาร่วมเฉลิมฉลองและสนับสนุนให้สังคมเกิดการเคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งหากเทียบกับ 10 ปีที่แล้วในเทศกาลไม้ดอกไม้ประดับของจังหวัดเชียงใหม่ ก็เห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะขณะนั้นคณะผู้จัดในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ปฏิเสธที่จะให้กลุ่ม LGBTQIAN+ เข้าร่วม

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เดือนนี้เป็นเดือนของ LGBTQIAN+” อย่างแท้จริง ที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของพวกเขา แม้ว่าจะไม่สามารถพูดได้ในเรื่องความยั่งยืน หรือมิติอื่น อย่างความเข้มแข็งในการต่อรอง และการให้ความช่วยเหลือในประเด็นปัญหาต่าง ๆ แต่อย่างน้อยที่สุดเขาเหล่านั้นก็ยอมรับว่า กลุ่ม LGBTQIAN+ เป็นหนึ่งเดียวกัน

Pride Parade

สิทธิที่เท่ากัน หลักประกันสมรสที่เท่าเทียม

หากจะพูดถึงการยอมรับภายในชุมชนของกลุ่ม LGBTQIAN+ เอง ศ.นงเยาว์ มองว่า ทุกกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะชุมชน LGBTQIAN+ ต่างก็มีการยอมรับและไม่ยอมรับกันภายในชุมชนอยู่แล้ว ด้วยองค์ประกอบของชุมชนที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ทั้งชนชั้น อาชีพ ตัวตน ความเป็นชุมชน และความเป็นเมือง

ส่วนการยอมรับที่ไม่ใช่ภายในชุมชน LGBTQIAN+ นี้ ต้องมามองในหลายมิติ แม้ว่าทั้งเดือนมิถุนายนจะเป็นเดือนที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลาย แต่เมื่อมาวิเคราะห์ในเชิงวิชาการแล้ว การยอมรับชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่เพียงการยอมรับในเชิงของการเฉลิมฉลองอย่างเดียว

มิติแรก การยอมรับในเชิงสถาบัน นั่นคือ “การยอมรับโดยรัฐ” ว่ากลุ่ม LGBTQIAN+ มีตัวตน และเป็นพลเมืองของรัฐตามอัตลักษณ์ที่เขาเหล่านั้นต้องการจะแสดงความเป็นตัวตน ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปี กับการทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศของ ศ.นงเยาว์ ในการเรียกร้องและต่อสู้เรื่องคำนำหน้า และการให้รัฐยอมรับภาพลักษณ์ตามเพศสภาพของกลุ่ม LGBTQIAN+ แสดงให้เห็นว่า รัฐไทยปฏิเสธการยอมรับการมีอยู่ของเพศอื่น ๆ นอกจากหญิงกับชาย

“แน่นอนที่สุดถ้าเราดูจากบัตรประชาชน

เราก็รู้สึกว่ารัฐไทยยอมรับอยู่แค่ 2 เพศ

5 ปี ที่เราต้องต่อสู้ เราจะทำอย่างไรให้น้องกลุ่ม LGBTQIAN+

มีภาพถ่ายของตัวเองเหมือนกับอัตลักษณ์ที่เขากำหนด”

ศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์

นอกจากนี้ ในเรื่องของโลกการทำงาน เราต้องมาดูว่ากลุ่ม LGBTQIAN+ ได้รับการพิจารณาความสามารถโดยปราศจากอคติทางเพศสภาพที่หลากหลายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากข้อมูล การถูกเลือกปฏิบัติในฐานะเป็นกลุ่ม LGBTQIAN+ มีค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้น การยอมรับในโลกของการทำงาน จึงต้องช่วยกันต่อสู้ต่อไป

มิติที่สอง การยอมรับในสิทธิความเป็นมนุษย์หรือความเป็นพลเมือง นั่นคือ “สิทธิที่ควรจะได้รับเหมือนกันทุกคน” ทั้งสิทธิในการตั้งครอบครัวด้วยความรักไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ตาม สิทธิในการสืบทอดมรดก โดยการมีบุตร ไม่ว่าบุตรโดยตรงหรือบุตรบุญธรรม และสิทธิในการเกื้อกูลที่จะรับสิทธิในการดูแลผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งต้องมารอดูว่า ท้ายที่สุดแล้ว พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ดังนั้น ใน 2 มิติ ทั้งการยอมรับในเชิงสถาบัน และการยอมรับในสิทธิความเป็นมนุษย์หรือความเป็นพลเมือง จึงเป็นการยอมรับที่แสดงว่ารัฐยอมรับต่อการมีตัวตนของชุมชน LGBTQIAN+ จริง ๆ ไม่ใช่แค่การปิดป้ายไปกับขบวนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนเท่านั้น ซึ่งก็ต้องมาดูอีกว่า 1 เดือนไพรด์ และหลังจากเดือนไพรด์ ชีวิตของกลุ่ม LGBTQIAN+ จะเป็นอย่างไรต่อไป ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ถูกหยิบยกและถูกผลักดันมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เขาเหล่านี้มีชีวิตความเป็นมนุษย์และพลเมืองไทยได้อย่างเท่าเทียม

มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม แล้วยังไงต่อ…ใครได้ ? ใครเสีย ?

ปัจจุบันเราจะเห็นว่า แม้แต่หญิงกับชายที่มีหลักประกันในการจดทะเบียนสมรส หลายคนก็ปฏิเสธหรือรีรอที่จะเข้าสู่พันธสัญญาทางสังคมอย่างเป็นทางการ ซึ่ง ศ.นงเยาว์ มองไม่เห็นว่าการจดทะเบียนสมรสตามหลักการของกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะทำให้ใครได้หรือเสียประโยชน์ เพราะสถานะของคู่สมรสบางคู่ อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาในเชิงเศรษฐกิจของกันและกัน ไม่เหมือนกับระบบข้าราชการที่เราสามารถใช้สิทธิข้าราชการดูแลครอบครัวของเราได้ หรือระบบประกันสังคม ซึ่งผู้สมรสจำนวนหนึ่งในคู่หญิง-ชายก็คิดว่าไม่มีความจำเป็น และเชื่อว่ากลุ่ม LGBTQIAN+ ก็คิดว่าไม่มีความจำเป็นในเรื่องนี้เช่นกัน นั่นคือ สิทธิของการพึ่งพาในการดูแลกันในเชิงเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องระบบในการดูแลครอบครัวและการสืบทอดของลูก ดังนั้น คนบางส่วนจึงอาจรู้สึกว่าการจดทะเบียนแบบไหนก็ไม่มีความหมาย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สำหรับทุกคนที่ไม่เห็นประโยชน์ของการจดทะเบียนสมรส เพราะหลายคนก็มองว่าการมีทะเบียนสมรสทำให้มีหลักประกันหลายประการ โดยเฉพาะคนที่จะต้องพึ่งพาสวัสดิการของรัฐร่วมกัน หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งบางกรณี เมื่อมีบุตรแล้ว คนใดคนหนึ่งอาจจะต้องถอยออกมาจากโลกทางเศรษฐกิจเพื่อมาดูแลบุตร หรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คู่สมรสต้องแยกทาง อย่างน้อยที่สุด คนใดคนหนึ่งก็สามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องการดูแลบุตรหรือเรียกร้องในการจ่ายค่าเลี้ยงดูได้

“การมีทะเบียนสมรสไม่ว่าในรูปแบบ พ.ร.บ. ไหนก็ตาม

อย่างน้อยก็เป็นการสร้างหลักประกันให้กับคนกลุ่มหนึ่ง”

ศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์
Pride Parade

รัฐยอมรับ สังคมโอบกอด แล้วยังเหลืออะไร ?

ถ้าลูกเพื่อนบ้านเป็น LGBTQIAN+ เราจะบอกเพื่อนบ้านว่า “เธอไม่เป็นไร ไม่ต้องคิดไรมาก”

แล้วถ้าลูกสาวของเราไปเป็นแฟนกับลูกสาวของเพื่อนบ้าน เราต้องรับเขามาเป็นบุตรเขย แล้วเราจะทำยังไง?

บทสนทนาที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องขำ ๆ ในวงเพื่อน แต่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับบางครอบครัวคงมีพ่อแม่หลายคนที่ขำไม่ออก เพราะเราต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่า พื้นที่ครอบครัวของ LGBTQIAN+ เป็นพื้นที่น่าอึดอัดใจสำหรับกลุ่ม LGBTQIAN+ ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลของพ่อแม่ที่มีต่อลูกหลานว่าจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปในสังคมได้หรือไม่ จึงพยายามกีดกันและตีกลุ่ม LGBTQIAN+ ให้กลับมาสู่กรอบเดิมตามที่สังคมกำหนด ซึ่งสำหรับ ศ.นงเยาว์ มองว่า การที่จะทำให้ครอบครัวมีกำลังใจในการโอบรับลูกหลานมากขึ้น รัฐจะต้องสร้างพื้นที่ยอมรับในที่สาธารณะ ไม่ว่าในเชิงกฎหมายหรือเชิงสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องก้าวไปด้วยกันกับสถาบันครอบครัว เพราะจะช่วยให้พ่อแม่มั่นใจได้ว่าในอนาคต ลูกหรือหลานจะมีหลักประกันทางสังคม และความมั่นคงในชีวิต เพราะรัฐและสังคมได้โอบรับกลุ่ม LGBTQIAN+ อย่างแท้จริง

เช่นเดียวกับพื้นที่การศึกษา ในหลายตำราเรียนก็ได้มีการขจัดหรือลดทอนคำที่ใช้เรียกกลุ่ม LGBTQIAN+ และพยายามโน้มน้าวให้กระทรวงศึกษาธิการสร้างภาพครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ จนทำให้เกิดภาพครอบครัวที่ตายตัวอย่างที่เห็นในสังคม คือ พ่อเป็นผู้ชาย-แม่เป็นผู้หญิง เมื่อครอบครัวไหนมีความแตกต่างไปจากที่สังคมกำหนด อาจทำให้สังคมในโรงเรียนตั้งคำถามกับเด็กที่เกิดมาจากครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ และนำไปสู่การล้อเลียนในที่สุด ซึ่งในส่วนพื้นที่การศึกษาก็ต้องพยายามสื่อสารกับครูเพื่อให้สังคมในโรงเรียนมีความเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าว

ความเหมือน-ความต่าง ของกลุ่ม LGBTQIAN+ ในตะวันตกและตะวันออก

“ความเป็นเพศสภาพไม่ใช่เรื่องที่สังคมกำหนด

เจ้าของเพศสภาพต้องกำหนดตัวเองได้ นี่คือคุณค่าร่วมของกลุ่ม LGBTQIAN+ ทั่วโลก”

ศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์

ศ.นงเยาว์ บอกว่า ประมาณ 200 ประเทศ มีน่าจะเกือบครึ่งหนึ่งที่เรียกร้องในเรื่องของคำนำหน้านาม อย่างที่ประเทศไทยเรามี ซึ่งอาจจะต้องไม่มีแล้ว อย่างในภูมิภาคเอเชีย ในปี 2562 ที่ไต้หวัน ก็ได้เป็นประเทศที่ยอมรับเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แล้วก็ขยับมาแก้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือ พ.ร.บ.สมรสเดิมให้ไม่แช่แข็งตัวอยู่ระหว่างหญิงกับชาย ส่วนในยุโรปและละตินอเมริกาก็มีหลายประเทศที่ขยับจากกฎหมายเดิม ๆ ไปแล้ว

ประเด็นที่สอง คือ สิทธิในการตั้งครอบครัวที่เป็นคุณค่าร่วมที่อยากให้ความรักของกลุ่ม LGBTQIAN+ ยั่งยืนแล้วก็เป็นสถาบัน ซึ่งจะต้องผ่านการต่อสู้เรื่อง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และสถานการณ์ตอนนี้ บางประเทศก็รับกฎหมายเหล่านี้รวมแล้วประมาณ 40 ประเทศ

ดังนั้น ในขณะความก้าวหน้าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายกำลังไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ จนทำให้บางประเทศ รวมถึงไทยเองไปสู่จุดหมายอย่างการมี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่หลงลืมที่จะทิ้งปัญหาบางอย่างที่อาจจะยังไม่คลี่คลายไปพร้อมกับการเฉลิมฉลองไว้ด้วย ซึ่งยังมีอีกหลายสิ่งที่เรายังต้องช่วยกันสังเกตและทำให้ความเสมอภาคทางเพศที่หลากหลายในสังคมเกิดขึ้นได้จริง ภายใต้การโอบรับและโอบอุ้มทั้งจากสถาบันทางการเมืองและสถาบันทางสังคมต่าง ๆ