การเอื้อเฟื้อไม่ใช่การส่งเสริมให้เกิดอภิสิทธิ์ในสังคม
แต่คือการโอบอุ้มผู้ที่ควรจะได้รับการดูแล
ภาพดราม่าที่เกิดขึ้นบ่อยบนรถไฟฟ้า คือการที่ผู้ใช้บริการกลุ่มเฉพาะ (พระสงฆ์ คนพิการ คนชรา เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์) ต้องยืนโหนขบวนแทนที่จะได้นั่งที่นั่งสำรอง หรือ Priority seat ที่ถูกจัดไว้ให้ตามสมควร
หากสังเกตสักหน่อยก็น่าจะเห็นสัญลักษณ์ของ Priority seat ได้ไม่ยาก จากสติกเกอร์ที่ติดอยู่ ที่มีทั้งรูปภาพแสดงสัญลักษณ์ หรือข้อความ ‘โปรดเอื้อเฟื้อพื้นที่ให้กับ เด็ก คนชรา คนพิการ พระ’ แต่ปัญหามักเกิดขึ้นในหลายกรณี
เมื่อที่นั่งที่จัดไว้ให้มีอยู่จำกัด หากมีกลุ่มเป้าหมายนั่งอยู่ก่อน ทำให้คนใหม่ที่ขึ้นมาไม่ได้รับสิทธิพิเศษนั้น หรือที่แย่กว่าคือการถูกจับจองที่จากคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน คนแน่นเต็มขบวน บางคนมีโอกาสนั่งก่อน แต่เมื่อกลุ่มเป้าหมายมาถึง ก็ไม่ได้สละ Priority seat ให้
The Active ชวนสำรวจข้อมูลการรองรับคนกลุ่มเฉพาะ ผ่านการติดตั้ง Priority seat ของรถไฟฟ้าขบวนต่าง ๆ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน แล้วหากจะส่งเสริมให้สังคมเอื้อเฟื้อต่อผู้ที่ควรจะได้รับมากขึ้น มีแนวทางอย่างไร?
หรือจริง ๆ แล้วเรามีที่นั่งพิเศษน้อยเกินไป?
เมื่อสำรวจจำนวน Priority seat หรือที่นั่งสำรองในรถไฟฟ้าของแต่ละบริษัท ว่าจัดให้บริการอย่างไรบ้าง? เริ่มกันที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือที่ทุกคนรู้จักดีในนาม BTS พบว่า รถไฟฟ้า BTS (ตู้เก่า) มีที่นั่งสำรอง 6 ที่นั่งต่อตู้ เมื่อ 1 ขบวน มี 4 ตู้ เท่ากับว่ามีขบวนละ 24 ที่นั่ง ส่วน รถไฟฟ้า BTS (ตู้ใหม่) มีที่นั่งสำรอง 3 ที่นั่งต่อตู้ 1 ขบวน มี 4 ตู้ เท่ากับว่ามีขบวนละ 12 ที่นั่ง สำหรับข้อมูลคนพิการเข้าใช้บริการ 1.1-1.2 แสนคนต่อเดือน ส่วนผู้สูงอายุราว ๆ 7.5 แสนคนต่อเดือน
ส่วน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือ MRT สายสีน้ำเงิน ขบวนเก่า มีที่นั่งสำรอง 4 ที่นั่งต่อตู้ 1 ขบวนมี 3 ตู้ เท่ากับขบวนละ 12 ที่นั่ง สายสีน้ำเงิน ขบวนใหม่ มีที่นั่งสำรอง 6 ที่นั่ง ต่อตู้ 1 ขบวนมี 3 ตู้ เท่ากับขบวนละ 18 ที่นัง ส่วนสายสีม่วง มีที่นั่งสำรอง 12 ที่นั่งต่อตู้ 1 ขบวนมี 3 ตู้ เท่ากับขบวนละ 36 ที่นั่ง แต่ไม่จัดเก็บข้อมูลจำนวนผู้โดยสารคนพิการ และไม่เปิดเผยข้อมูลผู้โดยสารกลุ่มเฉพาะ
บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รถไฟฟ้าสายสีแดง มีที่นั่งสำรอง 3 ที่นั่งต่อตู้ 1 ขบวน มี 4-6 ตู้ เท่ากับขบวนละ 12 ที่นั่ง สำหรับผู้ใช้บริการ เป็นคนพิการ 1,195 คนต่อเดือน ผู้สูงอายุ 3.75 แสนคนต่อเดือน
จะเห็นว่าตัวเลขจำนวนที่นั่ง Priority seat ของ BTS กับสายสีแดงมีปริมาณพอ ๆ กัน แต่พบว่า MRT มีจำนวนมากที่สุด ซึ่งถ้าวิเคราะห์จากสถานการณ์ผู้ใช้บริการสายสีแดงมีผู้ใช้บริการน้อย ทำให้จำนวนที่นั่งที่มีอยู่ไม่เป็นปัญหา แต่กลับพบว่าดราม่ามักเกิดกับ BTS มากที่สุด เพราะมีคนใช้บริการมากที่สุด แต่ที่นั่งสำรองกลับมีจำนวนน้อยที่สุด
ที่สำคัญในอนาคตมีแนวโน้มที่ความเป็นเมืองจะขยายตัวสูงขึ้น ผู้คนเข้ามากระจุกตัวอยู่ในเมืองมากขึ้น และขนส่งมวลชนจะมีความจำเป็นมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ของผู้สูงอายุไทยก็มากขึ้นตามไปด้วย พวกเขาคือกลุ่มคนที่ต้องได้รับการรองรับ ยังไม่นับว่ายังมีคนพิการ พระสงฆ์ คนท้อง และเด็กเล็ก
เฉพาะผู้สูงอายุวันนี้ BTS รายงานว่ามีราว ๆ 2.5 หมื่นคนต่อวัน หรือ 7.5 แสนคนต่อเดือน ในปัจจุบันที่มีผู้สูงอายุราว ๆ 12 ล้านคน และจากการคาดการณ์ว่าในปี 2576 จะเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุเพิ่มขึ้นอีก 8 เปอร์เซ็นต์ ถ้าอนุมานแบบนี้เท่ากับว่าน่าจะมีผู้สูงอายุใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 8.1 แสนคนต่อเดือน แบบนี้แล้วเก้าอี้ Prioirty seat จำเป็นต้องเพิ่มขึ้นหรือไม่?
สุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ช่วงเร่งด่วนที่นั่งไม่เพียงพอแน่นอน โดยมองว่าการแก้ปัญหาคือการรณรงค์ว่า ทุกที่นั่งเป็นพื้นที่สำรองหมด ถ้าเห็นผู้โดยสารที่มีความจำเป็นผู้โดยสารคนอื่น ๆ ก็ควรลุกให้นั่งเป็นมารยาททางสังคม สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ก็ได้จัดแคมเปญมอบเข็มกลัด เพื่อให้เกิดการสังเกตเห็นได้ง่าย เพื่อให้ได้รับการดูแล พร้อมย้ำว่าขนส่งสาธารณะต้องมีความเท่าเทียมเข้าถึงได้ง่าย ส่วนในอนาคตผู้สูงวัยเยอะขึ้นต้องพิจารณาอีกที แต่ตอนนี้มีลิฟต์ให้บริการครบทุกสถานี มีห้องน้ำเฉพาะ และเทรนด์พนักงานให้สามารถรองรับกลุ่มเฉพาะได้
ด้าน สุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดง ผู้โดยสารใช้บริการไม่มาก ทำให้ที่นั่งเพียงพอแน่นอน พูดง่าย ๆ คือคนไม่แน่น แต่ถ้าคนแน่นก็อาจจะต้องวางมาตรการรองรับเพิ่ม เช่น ตอนนี้ มีแค่สติกเกอร์แปะอยู่ที่ผนัง แต่ไม่แปะบริเวณที่นั่ง ก็อาจจะไม่รู้ว่าเก้าอี้ตัวไหนบ้างที่เป็น Prioirty seat หรือป้ายสัญลักษณ์ให้โดดเด่นมากขึ้น เรื่องนี้จะนำไปพิจารณาปรับแก้ไขเพื่อพัฒนาต่อไป
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของรถไฟฟ้าสายสีแดง คือสร้างหลังประกาศกฎกระทรวง กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ทำให้สามารถเตรียมการรองรับได้ตั้งแต่ระดับนโยบาย คือ one transport for all รองรับการใช้บริการของกลุ่มเปราะบางได้ทุกประเภท เช่น ถ้าคนพิการทางสายตาเข้ามายังสถานี เจ้าหน้าที่จะดูแลพาไปยังจุดต่าง ๆ จนถึงปลายทาง กระทั่งประสานส่งต่อไปยังเส้นทางสายอื่น เป็นความร่วมมือกันในการดูแล มีลิฟต์และบันไดเลื่อน รวมแล้วเกือบร้อยจุด
ตัวอย่างการแก้ปัญหาของต่างประเทศ
สำหรับในต่างประเทศมีหลายตัวอย่างน่าสนใจ ในประเทศญี่ปุ่นมีความพยายามในการหาวิธีแก้ไขปัญหา เช่น สร้างแอปพลิเคชันจับคู่ให้คนที่อยากนั่งกับคนที่พร้อมจะสละที่นั่งได้รู้กันเมื่อเปิดแอปพลิเคชันนี้ หรือสำหรับผู้สูงอายุที่บางคนดูอ่อนกว่าวัย ขึ้นรถไฟแล้วไม่เคยมีใครลุกให้นั่ง ทางเขตก็พร้อมจะออก ‘Silver pass’ สำหรับผู้ที่มีอายุมากว่า 70 ปีพกติดตัว
ประเทศเกาหลีใต้ มีที่นั่งพิเศษตู้ละ 6 ที่นั่ง มีการจัดโซนชัดเจน ประเทศมาเลเซีย มีการแยกตู้โดยสาร ของกลุ่มเฉพาะโดยตรงเพื่อแก้ปัญหา แม้แต่การทำสีเบาะที่นั่ง สีที่พื้น และห่วงจับให้ต่างจากพื้นที่อื่นในรถไฟฟ้าก็ทำให้หลายคนฉุกคิดขึ้นได้เหมือนกันว่า “ตอนนี้เราอยู่ในโซนที่นั่งสำรองพิเศษ เราควรเอื้อเฟื้อที่นั่งให้กับคนอื่นด้วย”
ในสหราชอาณาจักร ในระบบรถไฟของ Southern Railway และ National Rail จะมีการจัดทำ Priority Card ขึ้นมา เพื่อให้บุคคลที่ได้รับสิทธิ์ Priority ใช้แสดงตนเพื่อใช้ที่นั่งบริเวณ Priority Seat
ส่วน ไต้หวัน และ ฮ่องกง คือ บุคคลทั่วไปห้ามนั่งบริเวณ Priority Seat ทุกกรณี แม้ว่าจะมีผู้โดยสารหนาแน่นก็ตาม
ทุกที่นั่งคือ Priority seat
มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนพิการ กล่าวว่า อันที่จริงแล้ว Priority seat ทุกคนสามารถใช้ได้ เพื่อให้เกิดการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเมื่อไหร่มีคนพิการขึ้นมา ทุกคนต้องขยับให้ แต่หัวใจสำคัญคือทุกคนต้องทราบเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่หลายกรณีคนที่นั่งอยู่ก่อนกลับใช้เหตุผลเรื่องสิทธิส่วนบุคคล จึงอยากรณรงค์ให้สังคมได้เข้าใจ ว่านั่นอาจเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่นอยู่
“ทุกคนต้องรู้ถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายและมีสำนึกสาธารณะ ทุกคนต้องรู้ว่าเราจะต้องดูแลคนที่อ่อนแอกว่า อยากให้รู้สึกแบ่งปัน ช่วยเหลือดูแล การวางกฎเกณฑ์ การวางกฎหมาย เกี่ยวกับการบังคับใช้ ให้คุณให้โทษ เพื่อทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น หน่วยงานต่าง ๆ ถูกกำหนดหน้าที่ชัดเจนเพื่อดูแลคนกลุ่มต่าง ๆ สำนึกของคนในสังคมอาจจะเกิดขึ้นยากหรือใช้เวลานาน แต่ต้องใช้กฎหมายเป็นข้อกำหนดและกระตุ้นให้สังคมเข้าใจเรื่องนี้”
ด้าน ผศ.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดี คณะสถาปัตยกรรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ระบุว่า ประเทศไทยกฎหมายไม่ได้มีกฎหมายรองรับในเรื่องนี้เพราะอาจจะไม่ได้ส่งผลเดือดร้อนร้ายแรง ไม่เหมือนกับกรณีที่จอดรถคนพิการที่หากมีคนทั่วไปเข้าใช้ จะมีความผิดทางกฎหมายทันที แต่มองว่าควรจะเป็นมาตรการทางสังคมมากกว่า ให้เป็นกติกาทางสังคมและหากว่ามีใครเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เช่น มีการนั่งทับที่กลุ่มเปราะบาง ก็จะต้องถูกทักท้วง
“หลายประเทศจะมีการรณรงค์ตั้งแต่ในโรงเรียนประถม มัธยม ให้เห็นความสำคัญของคนในเรื่องนี้ หลักสูตรในโรงเรียน จิตสำนึกสาธารณะการที่คนสูงอายุมาแล้วมันน่าอาย ไม่ใช่กฎหมาย ถ้าคนที่จำเป็นมาก็ควรลุกให้นั่งได้”