จากจุดเริ่มต้น “มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย” ที่ถูกประกาศใน พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ก่อนจะมาเป็น “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” วันที่ 10 ธันวาคม 2475
ผ่านมา 88 ปี ความขัดแย้งจากการช่วงชิงอำนาจ ด้วยการช่วงชิงการเขียนรัฐธรรมนูญ ยังคงไม่สิ้นสุด และตอนนี้ยิ่งถลำลึกไปกว่าทุกครั้ง เพราะ “ความขัดแย้งก็ไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว”
The Active สนทนากับผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันว่ายังมีทางออก หาก “นายกรัฐมนตรี” รับผิดชอบ และฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง
ช่วงชิงอำนาจการเมือง ต้องช่วงชิงการเขียนรัฐธรรมนูญ
คือรัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่ว่าด้วยเรื่องของอำนาจว่า อำนาจมาจากไหน ใครคือผู้ใช้อำนาจ และใครเป็นผู้เลือกตัวบุคคลที่จะใช้อำนาจต่างๆ คือเพื่อจะ ช่วงชิงการมีอำนาจ ก็ต้อง ช่วงชิงการเขียนรัฐธรรมนูญ
ถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็คือ ประชา เป็นเจ้าของอธิปไตยที่เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ มีกติกาก็จะเป็นเรื่องการปกครองตนเองของประชาชนเจ้าของประเทศ
โดยกติกามีทั้งการใช้ระบบการปกครองผ่านตัวแทน เนื่องจากการปกครองโดยตรงมีข้อจำกัดเพราะมีคนจำนวนมาก มีเรื่องการเลือกตั้ง มีเรื่องของพรรคการเมืองเพื่อให้เกิดการแข่งขันนำเสนอนโยบายในการบริหารบ้านเมืองผ่านรัฐบาล มีฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อออกกฎหมาย มีศาลเป็นผู้ตัดสินว่าใครทำผิดกฎหมาย เป็นการถ่วงดุลกันใน 3 อำนาจแบบนี้ ส่วนรัฐธรรมนูญก็จะเป็นการออกแบบว่า นิติบัญญัติมีกี่สภา แล้วสภามาจากวิธีใด ใครเป็นคนเลือก ถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตยก็ต้องให้ประชาชนเป็นคนเลือก
“นี่คือเรื่องของรัฐธรรมนูญ ต้องวางหลักการเลือกของอำนาจว่าจะถูกใช้อย่างไร ถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องมีหลักแบ่งแยกอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติมีกี่สภาและมายังไง รัฐบาลมายังไง ศาลมีกี่ศาล มายังไง แล้วประชาชนจะได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากแค่ไหน มันคือเรื่องของรัฐธรรมนูญว่าจะขียนอย่างไร”
แล้วเกี่ยวกับประชาธิปไตยหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่าใครเป็นคนร่าง พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นพระบิดากฎหมายไทย ท่านกล่าวว่า ชนชั้นใดร่างกฎหมาย ก็ย่อมเป็นไปเพื่อชนชั้นนั้น จึงเห็นได้ว่าถ้ารัฐธรรมนูญ ร่างโดยคนที่ คณะปฏิวัติ เป็นคนเลือกมา รัฐธรรมนูญก็จะ เป็นไป เพื่อคณะปฏิวัติ ส่วนจะเป็นได้เต็มที่แค่ไหน อยู่ที่ประชาชนว่าจะยอมแค่ไหน
รัฐธรรมนูญฯ ฉบับสืบทอดอำนาจ
ถ้ารัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีอำนาจตามมาตรา 44 จะมีอำนาจทุกสิ่งอย่าง นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ถ้าเป็นฉบับถาวร คือประกาศใช้หลังรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าการ สืบทอดอำนาจ แล้ววิธีการสืบทอดอำนาจก็จะผ่าน ส.ว.ที่ตัวเองเลือก และมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นี่คือการออกแบบของผู้ซึ่งได้รับการเลือกมาจากคณะผู้ยึดอำนาจ
“ถ้าหากรัฐธรรมนูญ 2560 มาจากกระบวนการที่มี สสร. ที่มาจากการเลือกของประชาชน ผมถามว่าจะมีไหม รัฐธรรมนูญหน้าตาแบบนี้ เนื้อหาแบบนี้ ไม่มีหรอก มันจะเป็นแบบอื่น มันจะเป็นการมาตกลงกันว่าจะเอายังไงในการปกครอง แต่มันจะไม่ใช่ รัฐธรรมนูญฉบับยึดอำนาจแก่ผู้ยึดอำนาจ”
รัฐธรรมนูญ 2560 ถ้ากล่าวโดยสรุป ก็คือมีการสืบทอดอำนาจ มากยิ่งกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา เป็นเรื่องปกติที่คณะรัฐประหารจะวางกลไกสืบทอดอำนาจ โดยผ่าน ส.ว. ที่ตัวเองเป็นคนเลือก แต่ไม่เคยมี ส.ว. ชุดใดจะมีอำนาจมากเหมือนกับชุดปัจจุบันนี้ ไม่เคยมี ส.ว. ชุดไหนจะมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว. ที่มาจากคณะรัฐประหารเป็นคนเลือก แล้วเลือกนายกฯ ได้เท่ากับผู้แทนของประชาชน นี่เป็น ครั้งแรกในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย ไม่เคยมีอย่างนี้มาก่อน
ปี 2534 เคยพยายามทำแบบนี้มาแล้ว คือให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ถูกต่อต้าน นักศึกษาออกมาประท้วงไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในขณะนั้นจึงยอมตัดอำนาจนี้ออกไป
แต่ถามว่าปี 2560 มีอำนาจนี้ได้อย่างไร มันแตกต่างจากปี 2534 เพราะไม่ได้มาในการร่างครั้งแรก โดยร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ร่างแรกยังไม่ได้ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจดังกล่าวมาพร้อมกับคำถามเพิ่มเติมหรือ คำถามพ่วง แล้วปัญหาคือคนก็ไม่ได้อ่านให้ละเอียดว่าคืออะไร คนไม่อ่าน รัฐธรรมนูญทั้งฉบับด้วยซ้ำ เพราะอยากให้มีเลือกตั้ง และคำถามพ่วงก็ดูแล้วปลอดภัย เพราะถามว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้าต่อไป มีความต่อเนื่อง ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ถ้าในช่วง 5 ปีแรก ให้การเลือกนายกรัฐมนตรีกระทำโดยที่ประชุมรัฐสภา
“ฟังดูปลอดภัย ไม่เห็นมีปัญหา คนก็เห็นชอบคำถามเพิ่มเติมไปด้วย ประเด็นคือ ถ้าคนรู้ว่าความหมายแท้จริงของคำถามเพิ่มเติมคืออะไร คนจะไม่เอา แล้วคำถามเพิ่มเติมนี้เองที่เป็นสาเหตุของการประท้วงในปัจจุบัน”
หลังจากนั้น ร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านประชามติ 61% ส่วนคำถามพ่วงที่ให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีได้ 58% คำถามคือคนที่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามเพิ่มเติมโดยที่ไม่ได้อ่านเนื้อหาข้างใน รับเพียงเพราะต้องการให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อและมีการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าจะเอาเหตุนี้มาบอกว่า อย่าไปแก้ อย่าไปเปลี่ยน มันฟังไม่ขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญคือกติกาในการปกครองบ้านเมือง เพราะกติกานี้มีการสืบทอดอำนาจ และการเลือกตั้งไม่ได้จบที่หีบบัตรเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง ไม่ได้จบที่หีบบัตรเลืกตั้ง
ปกติ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ จบที่หีบบัตรเลือกตั้ง หนึ่งคน หนึ่งเสียง เท่ากันหมด ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกพรรคการเมืองแตกต่างกัน เห็นต่างกันได้ ขัดแย้งกันได้ แต่มันจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาล พรรคที่ได้เสียงข้างน้อยก็เป็นฝ่ายค้าน อีก 4 ปีค่อยว่ากันใหม่หรือยุบสภา
แต่คราวนี้ไม่ใช่ มี ส.ว. ขึ้นมา ปัญหาเลยไม่จบที่หีบบัตรเลือกตั้ง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา นายกรัฐมนตรีจากคนกลางที่เข้ามายุติความขัดแย้ง ก็ เปลี่ยนสถานะ กลายเป็น ความขัดแย้ง เสียเอง แล้วความขัดแย้งก็เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญ เพราะหากนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ไม่มี ส.ว. มาโหวตให้ การประท้วงแบบนี้ก็จะไม่มี
“ถ้า ส.ว.ไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้เป็นต่อ เพราะพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส. แค่ 116 คน จากทั้งหมด 500 คน ต่อให้บวกพรรคเล็กก็ได้ไม่ถึง 125 คน หรือ 1 ใน 4 แต่ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เพราะ ส.ว. ที่ท่านเลือกไว้”
นอกจากนี้ สว. ยังมีอีกอำนาจสำคัญมากคือการให้ความเห็นชอบ องค์กรอิสระ และ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือเป็นคนเลือก ก็เลยเกิดความยึดโยงระหว่างรัฐบาล องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจริง ๆ แล้วอำนาจ ส.ว. ในการเลือกองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็ให้ ส.ว. เป็นคนเลือก แต่ที่ต่างคือ ส.ว. เมื่อปี 2540 ประชาชนเป็นคนเลือก แต่ตอนนี้มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคนเลือก
แล้วพอคนรู้สึกว่า กลไกตรวจสอบถ่วงดุลไม่ทำงาน เลือกตั้งไปก็ได้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ดี พอจะใช้กลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่มีก็ไม่ทำงาน สุดท้าย ทางเลือกเหลือแค่ลงถนน นี่คือปัญหาที่ตัวรัฐธรรมนูญที่ต้องไปแก้ ต้องทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นกติกาในการปกครองตนเองอย่างเสมอกัน หนึ่งคน หนึ่งเสียง ไม่ใช่ คสช. เลือก ส.ว. มาเลือกตัวเอง
ตอนนี้มีคนต่อต้านรัฐธรรมนูญปี 2560 มากกว่ารัฐธรรมนูญปี 2534 แล้ว และมีแนวโน้มจะเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องมาทำกติกากันใหม่ เป็นกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ การทำประชามติที่ผ่านมามันไม่จบเพราะเป็นประชามติที่ไม่สมบูรณ์ ต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่ และจากนี้ก็จะขัดแย้งกันภายใต้กติกาที่ตกลงกัน
“เราเห็นหมดแล้ว ถ้าหากปล่อยไปเรื่อย ๆ มันจะจบด้วยเหตุการณ์แบบไหน เราเรียนรู้และมีบทเรียนแล้ว หลังจากเหตุการณ์นองเลือดปี 2535 ก็ต้องมีการร่างใหม่ ผมว่าเราไม่ต้องรอให้เกิดเหตุการณ์นองเลือด เราแก้เลยตอนนี้ เรามีบทเรียนอยู่แล้ว”
สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
ขณะนี้กำลังมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมให้มี สสร. ซึ่งร่างของรัฐบาลกับฝ่ายค้านผ่านชั้นรับหลักการไปแล้ว แต่เรื่องใหญ่สุด คือที่มาของ สสร. เมื่อรัฐสภาไม่รับร่างที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชน ดังนั้น ในชั้นแปรญัตติก็ ต้องฟังประชาชน ให้มาก และที่ประชาชนเรียกร้องกันมาก คือที่มาของ สสร. ที่ต้องมาจากประชาชนทั้งหมด
เปรียบเทียบเรื่องของเจ้าบ้านกับสถาปนิกผู้ออกแบบบ้าน บ้านที่มีความซับซ้อนก็ต้องการผู้ออกแบบที่เชี่ยวชาญ การเขียนรัฐธรรมนูญก็เช่นเดียวกัน มันคือการสร้างบ้านให้คนไทยเกือบ 70 ล้านคน ที่มีความต้องการที่แตกต่างและมีความคิดทางการเมืองที่หลากหลาย จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมบ้านคือประเทศเดียวกันได้อย่างสันติ และมีความยุติธรรมร่วมกัน
ปัญหาของเราคือ ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบบ้านชอบ คิดแทนเจ้าของบ้าน คือทำตัวเป็นเจ้าของบ้าน ขณะเดียวกันบางทีเจ้าของบ้านก็ไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้มันต้องการผู้เชี่ยวชาญ บางทีก็จะออกแบบบ้านกันเองโดยไม่สนใจผู้เชี่ยวชาญ
ปัญหาคือ มันอาจจะไม่เร็ว อาจใช้เวลานานถึง 2 ปี แต่ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้วถ้าไม่รีบแก้ไข อาจทำให้เรามีปี 2564 ที่การเมืองจะแรงกว่าปี 2563 ถ้าหากนายกรัฐมนตรีไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะเรื่องการสืบทอดอำนาจ ต้องรีบแก้ก่อน
“น่าเสียดายที่รัฐบาลได้ทิ้งโอกาสนี้ไป เพราะร่างแก้ที่ตัดอำนาจ ส.ว. รัฐสภาไม่รับ ผมว่าเรื่องนี้เรื่องใหญ่ ถ้าทำมันเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่า จากนี้ใปใครเป็นรัฐบาล เป็นเรื่องของประชาชน รัฐบาลนี้ก็อยู่ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ถ้าต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ส.ว.ไม่เกี่ยวแล้วนะ ก็จะผ่อนไปได้ครึ่งหนึ่ง”
อำนาจประชาชน จุดเริ่มต้นรัฐธรรมนูญ
วันที่ 10 ธ.ค. เป็นวันรัฐธธรรมนูญ เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475 แต่ความจริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2475 เป็นฉบับที่สอง เพราะฉบับแรกเป็นฉบับที่ประกาศใช้เมื่อ 27 มิ.ย. 2475 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น แต่สาเหตุที่วันที่ 27 มิ.ย. 2475 ถึงไม่ใช่วันรัฐธรรมนูญ เพราะในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่า ระยะเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับแรกสั้นมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเติมคำว่า ชั่วคราว ลงไป และรับสั่งให้ นายปรีดี พนมยงค์ ไปปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์แบบ โดยใช้เวลาปรับปรุง 4 เดือนต่อมาก็ทูลเกล้าฯ อีกครั้ง รัชกาลที่ 7 จึงทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2475
มีประเด็นที่อยากจะกล่าวถึงคือ คำปรารภและมาตรา 1 ของ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรา มีคำปรารภว่า “โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระบัญญัติขึ้นไว้ โดยมาตราต่อไปนี้ มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย ประชาธิปก ปร. ประกาศ ณ วันที่ 27 มิ.ย. 2475”
จาก ระบอบราชาธิปไตย ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของพระราชา ประเทศไทยก็ได้กลายมาเป็น ระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาเป็นเจ้าของอธิปไตย และการปกครองตนเองของประชาชนเจ้าของประเทศ ก็เริ่มต้นนับแต่บัดนั้น
“ผมกลับไปสู่จุดเริ่มต้นว่าเราผิดพลาดเพราะอะไร เรามีรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา เรามีการเมืองที่มีปัญหา เราไม่ยอมแก้ไขกันภายในกรอบระบอบประชาธิไตย เราเลือกการฉีกรัฐธรรมนูญ การปฏิวัติยึดอำนาจ มันก็เลยเกิดปัญหาที่แก้ไม่สำเร็จมาจนทุกวันนี้ และถลำลึกลงไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ยิ่งถลำลึกไปทุกครั้ง เพราะความขัดแย้งก็ไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไปแล้ว”
หลัก The King can do no wrong
หลักประกันการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ทรงอยู่ เหนือความขัดแย้งทางการเมือง เพราะเมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ท่านก็เพียงแต่ทรงโปรดเกล้าฯ ลงมาตามที่ผู้แทนปวงชนได้ทูลเกล้าฯ ขึ้นไป นี่คือหลักเดียวกับ The King can do no wrong พระมหากษัตริย์ไม่อาจกระทำผิด เพราะท่านเพียงแต่ทรงโปรดเกล้าฯ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯ ขึ้นไป ดังนั้น คนผิดคือนายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติ มาจากคำว่าบัญญัติของพระราชา คือต้องให้พระราชาทรงลงพระปรมาภิไธยถึงจะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ แต่ในหลวงท่านไม่ได้เป็นคนร่างกฎหมายเอง รัฐสภาเป็นคนร่าง เสร็จแล้วนายกรัฐมนตรีก็ทูลเกล้าฯ ดังนั้น กฎหมายไม่ดีต้องโทษนายกรัฐมนตรี โทษคนร่าง ไม่ใช่โทษพระมหากษัตริย์
“พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ให้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน แต่พระองค์ท่านไม่ได้เลือกนายกฯ เอง คนเลือกคือ ส.ส. และ ส.ว. ที่ บทเฉพาะกาลให้เลือกใน 5 ปีแรก ดังนั้น ต้องโทษใคร โทษคนโปรดเกล้าฯ ได้ไหม ต้องโทษ ส.ส. ซึ่งก็ต้องโทษประชาชนต่อด้วย”
แต่โทษแค่นั้นไม่ได้ เพราะประชาชนเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ถึง 1 ใน 4 ขณะที่พรรคการเมืองที่ให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อก็มีไม่ถึง 125 คน จาก 500 คน ต้องโทษ ส.ว. ด้วย จะไปโทษพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ แม้พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส.ว. แต่ ส.ว. ก็มาจากการแนะนำของ หัวหน้า คสช. ท่านโปรดเกล้าฯ ตามที่หัวหน้า คสช. เลือก โดยมีกรรมการสรรหาที่มีประธานคือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
“นี่คือหลัก The King can do no wrong ซึ่งผมเข้าใจว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะไม่เข้าใจหลักข้อนี้ ทำให้การประท้วงเลยลุกลามไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จุดเริ่มต้นมาจากการสืบทอดอำนาจของนายกฯ และลุกลามไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ นายกฯ ต้องออกหน้า รับผิดชอบต่อเรื่องราวทั้งหมด และผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่เริ่มต้นมาจากการสืบทอดอำนาจ และรัฐธรรมนูญต้องแก้”
โอกาสเปิดที่จะมีทางออกแล้ว ถ้ารัฐบาลจะแก้ปัญหา
ตอนนี้โอกาสเปิดแล้วที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมาเร็วกว่าในอดีตปี 2534 ที่กว่าจะมีรัฐธรรมนูญ หรือมี สสร. ก็ 5 ปี และความตื่นตัวหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนก็มากกว่าในตอนนั้น การต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน ก็มีมากกว่าในตอนนั้น และเรื่องสำคัญมากคือ การเข้าชื่อของประชาชนมากกว่าแสนชื่อแต่รัฐสภาไม่รับพิจารณาเลย จึงต้องฟังประชาชน ต้องฟังเสียงนอกสภาให้มาก และเสียงนอกสภาก็คืออยากให้ สสร. มาจากประชาชน
“ก็จะไปกลัวอะไร ในเมื่อ สนช. นั้น คสช. เป็นคนเลือกเองทั้งหมด ก็ทำมาทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ ทำไมจะไม่ยอมให้ประชาชนเลือก สสร.”
ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ก็ไปอยู่ในพวกยกร่าง แล้วการยกร่างอย่ายกเพียงแค่มีทางเลือกเดียว ต้องยกร่างหลายทางเลือก ประชามติก็ไม่ต้องมีคำถามเดียว เช่น อาจถามว่าประเทศควรเป็นสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ ระบบเลือกตั้งชอบแบบไหน สามารถถามได้มากกว่าหนึ่งคำถาม
“ความจริงมันไม่ยาก ถ้าจะทำ ทางออกของปัญหามีหมดแล้ว ถ้าจะใช้ แต่หากรัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเพียงแค่แก้ปัญหาทางการเมืองเพียงเพื่อให้รู้สึกว่าได้พิจารณาแล้ว แต่ไม่ยอมเอาจริง เรื่อง สสร. จะถูกมองเป็นการเตะถ่วง ซื้อเวลา และสุดท้ายก็จะแก้ปัญหาไม่สำเร็จ และสิ่งที่เราไม่อยากเห็น ก็จะเกิดขึ้นมาได้อีก”
มองย้อนประเทศไทย 2563
เป็นครั้งแรกที่มีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย มีข้อเรียกร้องทางการเมืองถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการสืบทอดอำนาจและการไม่ยึดในหลัก The King can do no wrong ของนายกรัฐมนตรี และเป็นปีที่มีความหมิ่นเหม่หวาดเสียวว่าจะเกิดเหตุรุนแรงขึ้นมา
วิธีแก้ปัญหาอย่างที่ผ่านมาไม่สำเร็จ มันไม่สามารถใช้วิธีอย่างที่ผ่านมาไปตลอดได้ เช่น การตั้งกำแพงตู้คอนเทนเนอร์สูง 2 ชั้น ล้อมเอาไว้ จะทำได้ทุกครั้งหรือไม่ ผู้ชุมนุมเขาแค่ใช้โซเชียลมีเดียคุยกันเขาก็เปลี่ยนที่ชุมนุมแล้ว ปัญหานี้มันต้องคิดยาว ๆ เพื่อให้ปี 2564 เป็นปีแห่งการแก้ปัญหา ปีแห่งการคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 22 พ.ค. 2557
“ผมคิดว่าวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืน วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือ เรื่องการสืบทอดอำนาจ กับการต้องยึดมั่นในหลัก The King can do no wrong และปี 2564 จะเป็นปีแห่งการคลายปัญหา เป็นการลงของ คสช. เพื่อการกลับมาของประชาธิปไตยที่เป็นการปกครองตนเองของประชาชน”